ชีวิตที่พอเพียง : ๑๘๙๕. ความคิดและความใฝ่ฝันของนักคิดไทย ๖๐ ปี ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์



          หนังสือ ความคิดและความใฝ่ฝันของนักคิดไทย  ๖๐ปีปรีชาเปี่ยมพงศ์สานต์  กนกศักดิ์ แก้วเทพ บรรณาธิการ (๒๕๔๔) ทำให้ผมรู้จัก ดร. ปรีชา  เปี่ยมพงศ์สานต์มากขึ้น  ได้รู้ว่าท่านเรียนมหาวิทยาลัย ฮัมบูร์กตั้งแต่ปี๒๕๐๓- ๒๕๑๔ เป็นเวลาถึง ๑๒ ปี 

         และทราบว่าท่านเป็นคนแรกที่สอนวิชาเศรษฐศาสตร์การเมืองในประเทศไทย ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี ๒๕๑๙ 

          ได้เรียนรู้ว่าสำนักเศรษฐศาสตร์การเมืองกำเนิดที่จุฬาฯ โดย “สามทหารเสือ” คือ ดร. วารินทร์ วงศ์หาญเชาว์, ดร. ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์, และ ดร. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา  โดยวงการนี้เขายกย่อง อ. สุภา  ศิริมานนท์ ว่าเป็นนักวิชาการที่เดินแนวทางนี้มาก่อน เคยสอนเรื่อง แคปิตะลิสม ที่ธรรมศาสตร์ เมื่อปี ๒๔๙๔

          ผมได้นิยามที่ชัดเจนของ “เศรษฐศาสตร์การมือง” จากหนังสือเล่มนี้เอง (น. ๖๖) ว่า


ความแตกต่างประการแรกระหว่างเศรษฐศาสตร์การเมืองกับ เศรษฐศาสตร์ที่เรียนในมหาวิทยาลัยก็คือ  ในขณะที่วิชาเศรษฐศาสตร์นั้นมักจะปิดบังตนเองในแง่จุดยืนด้านผลประโยชน์  โดยนำเสนอว่าตัวเองเป็นวิชาการที่เป็นกลาง (value free, neutral)  เป็นเพียงเครื่องมือการวิเคราะห์เท่านั้น  แต่เศรษฐศาสตร์การเมืองนั้น จะเปิดเผยตนเองว่า เป็น ศาสตร์แห่งชนชั้น’ (เข้าข้างผู้ที่เสียเปรียบเป็นศาสตร์ที่มีพันธกิจทางประวัติศาสตร์  (ต้องการพัฒนาสังคมให้มีความยุติธรรม เสมอภาคเท่าเทียมมากกว่าปัจจุบันและเป็นภาคทฤษฎีที่ต้องประสานกับภาคปฏิบัติ  (ในถ้อยคำของ มาร์กซ คือ มิใช่เรียนรู้ไปเพื่อเข้าใจโลกเท่านั้น แต่เพื่อเปลี่ยนแปลงโลกด้วย)”


          คำว่า “เพื่อเปลี่ยนแปลงโลก” ข้างบน  ทำให้ผมนึกถึง 21st Century Skills ที่ระบุว่า คนทุกคนในโลกสมัยใหม่ ต้องเรียนรู้พัฒนาตนให้อยู่ในโลกสมัยใหม่ได้ โดยมีทักษะเพื่อการดำรงชีวิตชุดหนึ่ง  ที่เรียกว่า ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ และองค์ประกอบหนึ่งของทักษะนั้น คือ ทักษะภาวะผู้นำ (Leadership Skills) ซึ่งก็คือทักษะในการทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงสังคม  คือการเรียนรู้สมัยใหม่ต้องพัฒนาคน (ทุกคน) ไปเป็นchange agent 

          คนเราต้องเรียนเศรษฐศาสตร์การเมืองตั้งแต่ก่อนชั้นอนุบาล

          ไฮไล้ท์ ของหนังสือเล่มนี้ อยู่ที่บทสุดท้ายที่เขียนโดย ดร. ปรีชา  เรื่อง แลไปข้างหน้ากับเศรษฐศาสตร์การเมือง  ที่ผมทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย  เห็นด้วยกับแนวคิด เพื่อแปรรูปเศรษฐศาสตร์การเมืองให้มี ๒ มิติ พร้อมกัน คือ  หนึ่ง  เป็นทฤษฎีแห่งการปฏิบัติ (theory of praxis)  และ สอง เป็นการปฏิบัติตามทฤษฎี (praxis of theory)  ในที่นี้ ทฤษฎีคือ ยูโทเปียแห่งจิตวิญญาณของอนาคิสม์ใหม่ (New Anachism)”

          แต่ไม่เห็นด้วยกับแนวปฏิบัติของนักเศรษฐศาสตร์การเมืองที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน  ที่ยังใช้วิธีหรือเครื่องมือทำงานไม่หลากหลายพอ  เครื่องมือหนึ่งสำหรับทำงานภายใต้วงจร “ ทฤษฎีแห่งการปฏิบัติ- ปฏิบัติตามทฤษฎี ”  ที่มีพลังยิ่งคือการจัดการความรู้(Knowledge Management - KM)  ผมคิดว่า นักเศรษฐศาสตร์การเมืองยังใช้พลังของการปฏิบัติไม่มากพอ 

          ผมคิดว่า นักเศรษฐศาสตร์การเมือง ทำหน้าที่เป็น “ผู้เฝ้ามอง” หรือนักทฤษฎีมากเกินไป  เข้าไปคลุกคลีกับการปฏิบัติน้อยไป  คือเอาทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติน้อยไป  ในสถานการณ์เช่นนี้เครื่องมือ KM จะช่วยลดความแปลกแยกนี้ได้  เพียงแต่ว่า นักเศรษฐศาสตร์การเมืองจะยอมรับเครื่องมือใหม่หรือไม่  


วิจารณ์  พานิช

๒๔ ก.พ. ๕๖


   


หมายเลขบันทึก: 533648เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2013 09:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 เมษายน 2013 09:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท