ก้าวต่อไป.....โรงเรียนของลูก


       อีก 2 เดือนข้างหน้า ก็จะครบ 6 ปีที่ได้ทำหน้าที่ “แม่”  เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก ใช้คำนี้บ่อยมาก ไม่รู้ทำไมรู้สึกแบบนี้จริง ๆ  ยิ่งลูกโตขึ้น ยิ่งรู้สึกว่าเราต้องหาความรู้มากยิ่งขึ้น  แต่ละช่วงวัย ก็มีปัญหา มีเรื่องให้ต้องคิดอยู่เสมอ ๆ  หันมามองเขาตอนนี้  สำหรับตัวเองแล้วก็พอใจและมีความสุขแบบพอเพียง 

    เกือบ 6 ปีที่ผ่านมาไม่น่าเชื่อว่าชีวิตจะเปลี่ยนไปมากมาย ทั้งความคิด และวิถีชีวิต  ย้อนกลับไปเมื่อครั้งแรกที่ต้องส่งลูกเข้าโรงเรียน ลูกอายุประมาณ 3 ขวบ ครั้งนั้นเป็นทุกข์ที่ ทุกข์เหลือเกิน ทุกข์จนน้ำตาไหล สงสารลูก เป็นห่วงงลูก กังวลสารพัด  มีปัญหามากมาย ทั้งปัญหาที่ควรจะเป็นปัญหา และไม่ควรเป็นปัญหา ไม่ได้มีสติปัญญาที่จะแยกแยะมันออกจากกันได้ ยำใหญ่รวมกัน ทุกอันจัดเป็นปัญหาใหญ่หมด ทุกเรื่องต้องจัดการ เพื่อลูก คิดแบบนั้น คงไม่ต้องถามว่าทุกข์มากขนาดไหน  ทุกข์สาหัส ทุกข์เพราะใจเรา ทุกข์เพราะวางใจไม่เป็น 

  สติและปัญญาพัฒนาขึ้นตามลำดับ วันนี้ลูกกำลังจะเข้าเรียนในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และต้องเปลี่ยนโรงเรียนใหม่  ช่วงก่อนหน้าที่จะได้โรงเรียนใหม่ช่วงนั้นจำได้ว่าก็ทุกข์อีกล่ะ  แต่ทุกข์แบบวางลงได้บ้าง ไม่ได้บ้าง หากเป็นเมื่อก่อนจะวางไม่เป็น  ด้วยแนวความคิด ตั้งแต่แรกคือ อยากให้ลูกได้เรียนรู้ไปตามวัย ไม่เร่งเรียน เขียน อ่าน  แต่ด้วยกระแสสังคมในปัจจุบันที่เป็นกระแสหลัก คือ เด็กต้องเรียนเยอะๆ และต้องเก่ง การแข่งขันสูงจริง ๆ  บอกตามตรงว่าไม่เหมาะกับนิสัยของลูกเลย  เด็กบางคนอาจไม่มีปัญหา แต่สำหรับเจ้าคนนี้มีปัญหาแน่ๆ  พยายามเสาะแสวงหาโรงเรียนทางเลือก  ผลคือ ไม่มีทางเลือกได้ ทั้งไกล และราคาค่าเทอมนั้นแพงแสนแพง ด้วยฐานะครอบครัวอย่างเราคงจ่ายไม่ไหว  ตัดใจและกลับมามองโรงเรียนใกล้บ้านและคิดว่าสังคมน่าจะดีในระดับนึง

  อย่างที่เคยบอกไว้บ่อย ๆ หากเราจะอยู่อย่างไม่ต้องทุกข์มากนัก เราต้องรู้จักยอมรับ เรียนรู้ ที่จะอยู่กับปัจจุบันให้ได้  และตอนนี้ก็ทำแบบนั้น  ตัดสินใจเลือกง่ายมากมีตัวเลือก 2 ที่ ตัดสินใจโดย....ใครเป็นคนเรียน คนนั้นเป็นคนตัดสินใจ พาลูกไปดูโรงเรียน ชวนพูดคุย บอกทั้งข้อดีและเสียเท่าที่เราพอจะมีข้อมูล (ทำการเก็บข้อมูลมาพอสมควร)  สำหรับตัวเองนั้นแต่ละที่มีข้อดี และข้อเสีย ที่แตกต่างกันมากๆๆ เลือกยากมาก  สุดท้ายเจ้าตัวเล็กไปดูบอกเลือกโรงเรียนนี้ ด้วยเหตุผลว่า สนามเด็กเล่นที่นี่ใหญ่กว่า มีเครื่องเล่นมากกว่า และมีบ่อทรายที่ชอบ  ค่ะ...ง่าย ๆ แบบนี้เลย 

  และด้วยความคิดว่า ลูกเรานั้นปรับตัวยาก จึงตัดสินใจเตรียมความพร้อมทางใจ ด้วยการส่งให้เรียนซัมเมอร์ เพื่อให้คุ้นชินกับสถานที่ ครู เพื่อน ๆ  ก่อนหน้าตั้งแต่เขาอยู่อนุบาล 3 ก็มีการเตรียมความพร้อมปูพื้นกันแต่เนิ่น ๆ เรื่องการย้ายโรงเรียน และการขึ้นชั้นประถม  ไม่มีวิชาการแต่อย่างใด เตรียมด้านสภาพจิตใจล้วน ๆ ฮ่าๆๆ  อ๋อ...มีช่วงนึงที่เป๋ๆ  มีคิดจะเตรียมความพร้อมเรื่องการเขียน อ่าน เพราะรู้ว่าโรงเรียนที่เขาเลือกนั้น เข้มวิชาการ เขาลือกันหนาหูฮ่าๆๆ  แต่ก็ฟุ้งไปสักพักค่ะ ไม่นาน ก็กลับมาจุดยืนเดิม เรียกสติ เรียกพลังให้ตัวเองด้วยการกลับไปอ่านบทความเก่า ๆ ที่เก็บไว้สร้างพลัง 

  มันอธิบายไม่ถูก หลายคนก็งง ว่าทำไมจึงเลือกเรียนที่นี่ ในเมื่อแนวความคิดเป็นแบบนี้  เอาเป็นว่ามันลงตัวที่สุดแล้ว และที่สำคัญลูกเป็นคนตัดสินใจเลือกเองด้วยฮ่าๆๆ  ตอบง่ายไหม  วันแรกที่ไปเรียนซัมเมอร์ ไม่ร้องไห้สักนิด ทำเอาเรารู้สึกประหลาดใจ ผิดคาดมาก  แต่วันต่อ ๆ ไป ส่วนมากก็ร้องไห้ตามปกติเช่นเดิม ไม่รู้สึกว่าแปลก หรือผิดปกตินะคะ แบบนี้คือปกติของลูกเรา  ที่ไม่เป็นห่วงเพราะตอนเย็นไปรับก็ร่าเริง แจ่มใส ไม่กลับง่าย ๆ เล่นต่อ ดูมีความสุข สนุกสนานดี 

  เมื่อใจเราเบา ๆ ตั้งแต่แรกที่เข้า ไปแบบไม่คาดหวัง  ทำใจไว้แต่เนิ่น ๆ อะไรจะเกิดจะยอมรับ และเรียนรู้กันไป  คิดแบบนี้  ตั้งธงแบบนี้ตั้งแต่ต้น  ประสบการณ์เก่าที่ได้รับมาเรื่องโรงเรียน มันสอนอะไรเราหลายเรื่อง ได้ข้อคิดดี ๆ มากมาย  หากเรากังวล เครียดตั้งแต่ต้น ลูกก็จะได้รับอิทธิพลความคิดแบบนี้ไปด้วย ถึงปากเราจะบอกว่า โรงเรียนดีขนาดไหน สนุกยังไง สารพัดจะปูพื้นมากมาย แต่ใจเราไม่ไปตามปาก ก็ยากที่ลูกจะเชื่อได้  เขารับรู้ได้ค่ะ  เขาจะเครียด กลัว กังวล อันนี้ประสบการณ์ตรงเลย  พอมาโรงเรียนนี้สบายมากค่ะ  ถึงเขาเจอปัญหาอะไรกลับมา เราก็เป็นคนคอยรับฟังอย่างตั้งใจ อาจมีถามว่าแล้วลูกคิดว่าจะทำอย่างไร หรือมีอะไรให้แม่ช่วยหรือไม่  ส่วนใหญ่เขาจะบอกว่าไม่เป็นไร เขาจัดการเองได้ 

  ปัญหาหลาย ๆ เรื่องหากเป็นสมัยก่อนจะเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับเรา รอไม่ได้ ต้องเข้าไปจัดการให้ทันที  เมื่อเราคิดว่าใหญ่มาก ลูกก็จะคิดแบบเราเช่นกัน ดังนั้นปัจจุบัน คือฟังอย่างไม่ตัดสิน ไม่พิพากษา ฟังๆๆๆ  แต่ไม่ใช่ว่าเขามาเล่าว่า เขามีปัญหาแบบนี้ แบบนั้น แล้วเราจะบอกเขาว่า “ไม่เป็นไรครับเรื่องแค่นี้เอง”  ไม่ใช่พูดแบบนี้นะคะ  อันนั้นเดี๋ยวจะทำให้ลูกรู้สึกว่า แม่ไม่เห็นความสำคัญของปัญหาของเขา  ก็รับฟัง เช่น เหรอลูก  อืม...  แล้วลูกคิดว่ายังไง  แม่คิดว่าแบบนี้ อะไรพวกนี้  แต่ละครั้งที่เขาเลือกที่จะตัดสินใจแก้ไขด้วยวิธีของเขาเอง เราจะติดตามและรอฟังว่าเป็นอย่างไร  อาจแก้ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่ที่รู้สึกได้ ว่าเขาก็สามารถอยู่ได้อย่างไม่เป็นทุกข์มากนัก ซึ่งต่างจากเมื่อก่อนมาก  เวลาที่เกิดเรื่องให้กระทบใจ กระทบกายบ้าง ลองถามเขาว่า แล้วลูกคิดยังไง  มีเรื่องให้ประหลาดใจ คือ เขาสามารถคิดบวกได้เอง เช่น มีรุ่นพี่คนนึงมักจะดุเขาบ่อย ๆ เขาก็ไม่สบายใจ ไม่ค่อยจะอยากไปโรงเรียน พอชวนคุยๆๆๆไปเรื่อย ๆ เขาสบายใจขึ้นเขาก็พูดเองว่า  “ดีนะแม่ ที่พี่เขาก็แค่ดุ ไม่ได้ทำร้ายดีโด้” หากเป็นเมื่อก่อนไม่มีทาง ต้องให้แม่ไปจัดการแน่ๆๆ  หรือมีเรื่องกับเพื่อนโดนเพื่อนหยิก กัด สารพัด ถึงจะมาบ่นระบายว่าเจ็บ แต่ก็บอกว่า อันที่จริงเพื่อนคนนี้เขาก็เล่นสนุก  ชอบเล่นด้วยกัน อะไรประมาณนี้

  วันนี้ที่ฮึดมาพิมพ์บทความ เพราะอยากใช้ตัวเองเป็นอีก 1 ตัวอย่าง ให้หลาย ๆ ท่านที่เป็นพ่อแม่และกำลังจะส่งลูกเข้าโรงเรียนเป็นครั้งแรกได้ลองอ่าน ยิ่งลูกคนเแรก ลูกคนเดียว ด้วยเพราะเข้าใจในหัวอกพ่อแม่มือใหม่เนอะ  ฝากไว้ เผื่อใครจะได้ประโยชน์อะไรบ้างจ้า

 


หมายเลขบันทึก: 533526เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2013 19:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 เมษายน 2013 19:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)


สวัสดีครับ

             เป็นประโยชน์ทั้งแม่และครูด้วยครับ   ขอบคุณที่นำมาแบ่งปันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท