(18) บริการภาครัฐ : เหตุเกิดเมื่อพยาบาลป่วย


"หลังบ่ายสามโมง เวลาสำหรับตรวจบุคลากร... ลองเดินเตร่ออกมาดูหน้าห้องตรวจนะ หากมีบุคลากรไปนั่งกองรวมกันหน้าห้องแพทย์ท่านใด หมายความว่าแพทย์ท่านนั้นได้รับความนิยมมากที่สุดในวันนั้น ในจำนวนแพทย์ที่ออกตรวจทั้งหมด"

ใครๆ ก็เคยป่วยทั้งนั้นแหละ แพทย์ป่วยได้ พยาบาลก็ป่วยได้ ดิฉันเคยถูกสัมภาษณ์เพื่อสอบเข้าเรียนปริญญาโทว่า "อยู่โรงพยาบาลบ้าแล้วไม่เป็นบ้าหรือ?" ดิฉันก็ตอบอย่างชินชากับคำถามนี่้ว่า "ถ้าเป็นเช่นนั้นที่โรงพยาบาลโรคเรื้อน หมอ-พยาบาลก็เป็นขี้เรื้อนกันหมดละซิ" เออหนอ.. คนเลี้ยงวัวยังไม่กินหญ้า คนเลี้ยงหมายังไม่กินขี้ มีแต่นักการเมือง.. บางเผ่าพันธุ์.. ที่กินบ้านกินเมือง ..ขออภัย ต้องโทษคุณถางทางที่ทำให้ดิฉันอารมณ์ค้างมาจากบทความเรื่อง "6 นโยบายที่ทักษิณก็ไม่มีทางคิดตามทัน"

กลับมาเรื่องของเรา เมื่อดิฉัน พยาบาลโรคจิต ป่วยด้วยโรคทางกายได้ไปรับการรักษาจากโรงพยาบาลของรัฐหลายแห่ง ดังนี้

(1) ผ่าตัดคลอดลูกสาว 2 คน 2 ครั้ง ที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดแห่งหนึ่ง //บุคลากรหน่วยผู้ป่วยนอก (OPD) ที่ไม่ทราบว่าเราเป็นพยาบาล บริการดี-ดีมาก //พยาบาลห้องคลอดที่ทราบว่าเราเป็นพยาบาล บริการพอใช้-ดี //แพทย์ที่เราฝากพิเศษ บริการดีมาก-มากที่สุด (เพราะเราบังคับให้แพทย์ผ่าคลอดให้ได้ แต่ยังบังคับให้ทำหมันไม่ได้)

(2) ใส่เฝือกขาขวาที่หัก ที่โรงพยาบาลทหารในจังหวัด //บุคลากรทุกระดับ ทุกประเภท ทั้งที่ทราบและไม่ทราบว่าเราเป็นพยาบาล บริการดีที่สุดเท่าที่เคยมี rating มา โดยเฉพาะแพทย์ทหารคนที่ดูแลเราครั้งแรก และคนที่รับช่วงดูแลต่อ เรารักโรงพยาบาลทหารที่สุดเลย

(3) ใส่เฝือกขาซ้ายหัก ที่โรงพยาบาลทหารในจังหวัดโรงเดียวกัน //บุคลากรทุกระดับ บริการดีมาก-มากที่สุด ยกเว้นแพทย์ (คนละคนกับครั้งก่อน) ท่านเหลือบตามองแล้วเขียนคำสั่ง แล้วก็มีคนมาลากเราออกไปจัดการ ช่วงหลังนี้เขามีการสื่อสารทางกระแสจิตกันด้วยหรือนี่ ไม่เคยรับบริการแบบส่งผ่านกระแสจิตมาก่อนเลยให้คะแนนไม่ถูก

(4) รักษาโรคไทรอยด์ ที่โรงพยาบาลระดับแนวหน้าใน กทม.แห่งหนึ่ง เป็นโรงเรียนแพทย์ //บริการแย่มาก ไม่เคยทุกข์ทรมาณขนาดนี้มาก่อน ทั้งการมาทำบัตรครั้งแรกและการมาตามนัดทุกเดือน ทุกครั้งที่มาตรวจต้องพักร้อนหรือลางาน เสียค่าเครื่องบินไปกลับ ค่าโรงแรม ค่าแทกซี่ อดหลับอดนอนทั้งคนป่วยและกองเชียร์ที่ตามไปเป็นห่วงอีกหลายคน ไปรอแย่งบัตรคิวตั้งแต่ก่อน 6.00 น. จะได้คิวที่ 2 (ไม่มีบัตรคิวหมายเลข 1?) หรือคิวรองสุดท้ายก็ได้ตรวจ 11.30-12.00 น.เสมอ บางครั้งบอกว่าแพทย์ติดธุระ (บอกหลัง 11.00 น.) ให้นัดมาตรวจใหม่! ต้องยกมือไหว้อ้อนวอนว่าหมอไหนๆ ก็ตรวจเถอะเพราะตอนนี้อาการไม่ดีใกล้จะอาละวาดเต็มทีแล้ว เวลาผ่านไปหลายเดือน ประเมินตัวเองว่าอาการคงที่และแพทย์ไม่เปลี่ยนยาจึงขอนัดห่างออกไปหน่อย ค่อยยังชั่ว

(5) รักษาโรคความดันโลหิตสูง ที่โรงพยาบาลระดับแนวหน้าใน กทม.อีกแห่งหนึ่ง เป็นโรงเรียนแพทย์เช่นกัน //บุคลากรหน่วยผู้ป่วยนอก (OPD) ที่ไม่ทราบว่าเราเป็นพยาบาล บริการครั้งแรกดีมาก-มากที่สุด ครั้งต่อมามาตามนัดทุกเดือน บริการแย่ลงเรื่อยๆ ครังสุดท้ายให้พอใช้-ไม่พอใจ

(6) รักษาอากรเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ที่โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ จ.อุบลราชธานี ที่ดิฉันปฏิบัติงานอยู่ ที่นี่เราดูแลกันเหมือนลูกหลานญาติพี่น้อง คุณหมอทั้งหลายหากอาวุโสก็รุ่นเดียวกับดิฉัน รุ่นนี้ไม่ค่อยตรวจบุคลากรแล้ว หากตรวจก็ไม่ค่อยได้รับความนิยม เพราะรู้ทันกัน อ้อนไม่ได้! แพทย์ที่ตรวจบุคลากรจะเป็นแพทย์รุ่นลูก หนุ่มสาวหน้าตาดี บุคลากรก็จะเลือกตรวจตามอัธยาศัย ปกติจะติดป้ายหน้าห้องว่าแพทย์ใดออกตรวจบ้าง แต่ส่วนใหญ่พวกเราก็จะไปออกันอยู่หน้าห้องแพทย์ที่เราพอใจ ดิฉันเคยเห็นแพทย์ท่านหนึ่งเดินออกมาหน้าห้องตรวจ แต่ได้ยินเสียงออกมาก่อนตัวว่า "ไม่มีใครมาตรวจ... เลย ...หรือ...?"

ที่ทำจุดๆ ไว้ในเครื่องหมายคำพูด เพราะขณะที่พูดยังไม่ขาดคำท่านก็เดินออกมาถึงหน้าห้องตรวจพอดี คงรู้สึกตกใจ ประหลาดใจ และเสียใจ .. ที่เห็นบุคลากรไปนั่งกองรวมกันห้องแพทย์อื่นที่ไม่ใช่เวรตรวจ จะทำอะไรได้อีกล่ะ นอกจากผลุบเข้าห้องตรวจไปโดยเร็ว

ครั้งหนึ่งเมื่อดิฉันมีโอกาสพูดคุยกับแพทย์ท่านหนึ่ง ที่มาปฏิบัติงานใหม่ปีแรก ดูเหมือนท่านปรับตัวได้ช้ากว่าแพทย์ท่านอื่นที่มาในเวลาใกล้เคียงกัน จึงยังเข้าไม่ถึงวัฒนธรรมของคนพระศรีฯ ดิฉันได้แนะนำแพทย์ท่านนี้ว่า

"คุณหมออยากทราบไหมคะว่าตนเองได้รับความนิยม หรือการยอมรับจากคนพระศรีฯ มากน้อยแค่ไหน?"

ท่านพยักหน้าหงึกๆ ดิฉันได้โอกาสก็สอนให้รู้ว่า

"หลังบ่ายสามโมง เวลาสำหรับตรวจบุคลากร คุณหมอจะใช่เวรตรวจหรือไม่ก็ตาม ลองเดินเตร่ออกมาดูหน้าห้องตรวจนะ หากมีบุคลากรไปนั่งกองรวมกันหน้าห้องแพทย์ท่านใด หมายความว่าแพทย์ท่านนั้นได้รับความนิยมมากที่สุดในวันนั้น ในจำนวนแพทย์ที่ออกตรวจทั้งหมด"

ดิฉันไม่ทราบว่าแพทย์ท่านนี้ออกมาประเมินความนิยมของตนเองหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คือตอนนี้ท่านปฏิบัติงานในโรงพยาบาลฝ่ายกาย ที่มีผู้ป่วยไปหาท่านที่คลินิกมากที่สุดคนหนึ่ง.


หมายเลขบันทึก: 532961เขียนเมื่อ 14 เมษายน 2013 22:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2015 09:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท