เมื่อไหร่เราควรจะจัดการความรู้


การจัดการความรู้มันอยู่กับเราทุกวินาทีครับ แม้แต่การหายใจยังต้องใช้ความรู้เลยครับ เพราะถ้าไม่มีความรู้ในการหายใจคงตายไปนานแล้วครับ

หลังจากผมตอบคำถามนักศึกษาและให้ความเห็นของงานนักศึกษาที่เขียนมาใน blog ผมได้ความรู้สึกว่านักศึกษาหลายท่านหรือคนอื่น ๆก็ตาม ไม่ค่อยเข้าใจคำว่า การจัดการความรู้ ว่ามันคืออะไรกันแน่ และทำไมต้องทำ  บางคนมอง KM เป็นยาขมหม้อใหญ่ ไม่อยากกิน อึดอัด ไม่สบายใจ ทำไปไม่เห็นจะได้อะไร ผมก็เลยมานั่งคิดว่า เอ๊ะ แล้วผมจะพูดกับคนเหล่านี้ว่าอย่างไรดี ผมฝากถึงนักศึกษาของผมด้วยนะครับว่า

 

ตั้งแต่เกิดจนตาย ชาตินี้และชาติหน้าท่านขาด KM ไม่ได้ครับ  ท่านทำอยู่แล้วโดยไม่รู้ตัว ทำไมจึงทำครับ ถ้าไม่ทำก็แก้ปัญหาไม่ได้สิครับ เรามีปัญหาทุกวันไม่ใช่หรือครับ เมื่อเรามีปัญหาเราก็ต้องแก้ปัญหา การแก้ปัญหาก็คือการจัดการความรู้ เราก็คงจะเริ่มจากการค้นหาแหล่งความรู้ต่างๆ มาใช้ในการแก้ปัญหา ยกตัวอย่างง่าย ๆ ตื่นเช้ามารถสตาร์ทไม่ติด เราต้องหาสาเหตุว่าเพราะอะไร ไม่รู้ก็ต้องถามคนอื่น โทรศัพท์กันพัลวัน ตามคนข้างบ้าน หรือตามช่างมาช่วยเข็นก็แล้วแต่ นี่คือการจัดการความรู้ครับ มีการค้นหา  มีการรวบรวม  มีการวิเคราะห์  มีการสังเคราะห์  และมีการทดลองใช้ จนกระทั่งมีการติดตามประเมินผลว่าได้หรือไม่ ดีหรือไม่ดี ชอบหรือไมชอบ มีความสุขหรือไม่มีความสุข เห็นไหมครับ การจัดการความรู้มันอยู่กับเราทุกวินาทีครับ แม้แต่การหายใจยังต้องใช้ความรู้เลยครับ เพราะถ้าไม่มีความรู้ในการหายใจคงตายไปนานแล้วครับ ดังนั้น การจัดการความรู้บางทีก็มีปัญหาในตัวเอง เช่น มีความรู้มากไม่รู้จะเอาอะไรมาใช้ตอนไหน เหมือนกับนักศึกษาของผมในปัจจุบัน ตอนนี้ทุกคนมีความรู้ท่วมหัว แต่ยังไม่มีใครเอาตัวรอดสักคน เขียนบล็อกกันวันละ 10 เรื่อง ผมอ่านแทบไม่ทัน ก็ยังไม่เห็นวี่แววว่าจะเข้ากรอบวิทยานิพนธ์ตอนไหน ตะล่อมแล้วตะล่อมอีก จนเมื่อยแล้วนะครับ พอตะล่อมขวาก็หลุดทางซ้าย พอตะล่อมซ้ายก็หลุดทางขวา ผมก็เลยอยากจะเห็น การเลิกใช้ความรู้ซะทีเหมือนกัน เพราะดูเหมือนจะเอาตัวไม่รอดครับ เราเปลี่ยนกันดีไหมครับ เปลี่ยนเป็นปัญญาซะ เพราะไม่เคยมีใครมีปัญญาท่วมหัวเอาตัวไม่รอด โดยอาศัยการพัฒนาปัญญาจากความผิดพลาดต่างๆ ให้มาเป็นบทเรียน จึงจะทำให้การจัดการความรู้เป็นการสร้างปัญญาที่แท้จริง ดังเช่น มีคำกล่าวว่า ถ้าไม่ผิดพลาด ก็ไม่มีบทเรียน ขอให้ทุกคนโชคดีครับ แล้วก็ใช้ KM ตลอดชีวิตนะครับ อย่าเว้นแม้แต่วินาทีเดียวนะครับ ไปไม่รอดแน่! ครับ

คำสำคัญ (Tags): #km
หมายเลขบันทึก: 53276เขียนเมื่อ 4 ตุลาคม 2006 17:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มีนาคม 2012 12:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • เป็นข้อคิดที่ดีมาก ๆ เลยครับท่านอาจารย์
  • ส่วนใหญ่ผมก็เรียนรู้จากความผิดพลาดครับท่าน ดร.แสวง
  • การเรียนรู้จากความผิดพลาดเป็นสิ่งที่ทรงพลังมาก ๆ ครับ
  • ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์ที่เขียนบันทึกดี ๆ และคอยแนะนำและตักเตือนผมเสมอครับ
  • ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ

คุณ ปภังกร,

ขอบคุณครับ ผมก็พยายามแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อการจัดการความรู้เพื่อชีวิตอย่างที่ผมตั้งชื่อไว้นั่นแหละ คุณก็เป็นหนังสือที่น่าสนใจอีกเล่มหนึ่งที่ผมกำลังอ่านเช่นกัน เพราะมีส่วนคล้ายผมในอดีตอย่างมาก อย่างที่เล่าให้ฟังนั่นแหละครับ

แสวง

๕ ตค ๔๙

  • สวัสดีครับท่านอาจารย์ ดร.แสวง
  • ต้องขอบพระคุณอย่างสูงอีกครั้งครับที่ท่านอาจารย์มีสิ่งดี ๆ มาให้ผมและพวกเราเสมอครับ ทั้งในตลอดช่วงระยะเวลาที่อยู่อุบลฯ ก็ดีและถึงแม้กระทั่งในขณะนี้ก็ดี อาจารย์ได้สอนและบอกกล่าวถึงการจัดการความรู้เพื่อชีวิตแก่ผมอย่างมากมายเลยครับ
  • หากอาจารย์ยังจำได้ ในวันที่ผมเจอกับท่านอาจารย์ครั้งแรกที่มีการประชุมกัน พร้อมกับท่าน ศ.ดร.อภิชัย นั้น ผมได้เคยบอกทุก ๆ ท่านในที่ประชุมนั้นว่า การมาเรียนที่อุบลฯ นี้ ผมขอทำงานวิจัย 2 เล่ม ซึ่งเล่มแรกผมได้ทำเสร็จไปแล้วครับ เป็นการทำแบบ "ติ๊ดชึ่ง Research" อย่างที่ท่านอาจารย์เคยพูดไว้ในห้องเรียนครับ
  • ระยะเวลากว่า 3 เดือนที่ผมเริ่มงานทั้งวางแผนและลงมือปฏิบัติโดยใช้บันทึกต่าง ๆ ผ่านบล็อก อย่างเช่นที่อาจารย์บอกครับ "กว่าวันละ 10 บันทึก" ซึ่งในขณะนั้นผมคิดว่า วิจัยเล่มนี้ซึ่งเป็นงานส่วนร่วมและทุก ๆ คนจะได้รับประโยชน์ เป็นสิ่งที่ควรทำก่อนดุษฎีนิพนธ์ของผมเองซึ่งเสมือนกับหนึ่งว่าเป็นงานส่วนตัว ผมจึงได้เลือกทำเล่มนั้นก่อนตามลำดับความสำคัญครับ
  • ถึงแม้ว่าในวันนี้การทำ ติ๊ดชึ่ง Research ที่พัฒนบูรณาการศาสตร์นั้น จะส่งผลทำให้ผมไม่ได้เรียนในวันนี้ ผมก็ไม่รู้สึกเสียใจครับ เพราะดั่งเช่นที่อาจารย์พูดไว้ข้างบนครับว่า ความผิดพลาดต่าง ๆ จะทำให้เราเกิดปัญญา แล้วก็จะเอาตัวรอดได้
  • วิจัยเล่มนั้นที่มีชื่อว่าพัฒนบูรณาการศาสตร์ เป็นเล่มที่ทำให้เกิดปัญญาอย่างมากเลยครับ
  • สำหรับวิจัยอีกเรื่องหนึ่ง (เรื่องที่สอง) หรือดุษฎีนิพนธ์ตั้งใจจะทำนั้น เพิ่งจะเริ่มก่อร่างสร้างตัว และเริ่มคลอดเริ่มทำได้แค่ไม่ถึงสัปดาห์ครับก่อนที่จะทราบผลการพิจารณาทุน
  • เป็นสิ่งที่ผม Review และทบทวนสิ่งต่าง ๆ ตั้งแต่เคยทำงานมาในทุก ๆ ภาคส่วน ผนวกกับสิ่งที่ได้เรียนรู้ตลอดระยะเวลากว่า 3 เดือนที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งรายละเอียดเป็นแบบนี้ครับหัวข้อเรื่องและกรอบแนวคิดเกี่ยวกับดุษฎีนิพนธ์
  • ตอนนี้ผมก็ยังดำเนินการอยู่ครับ แต่ดำเนินการโดยมิได้มุ่งหวังเพื่อแลกกับใบปริญญา เพราะตอนนี้ที่พัฒนบูรณาการศาสตร์ ผมขอ Drop ไว้ก่อนครับ (กำลังเก็บเงินค่าเทอมครับ) ตอนนี้ผมยังดำเนินการอยู่ตลอดครับ โดยทำงานมุ่งหวังเพื่อแลกกับความรู้เพื่อทำให้เกิดปัญญาดั่งเช่นที่อาจารย์กล่าวไว้ครับ
  • สัปดาห์หน้าผมก็จะเริ่มงานตาม Action Plan ที่ได้เขียนไว้ในกรอบงานดังกล่าวครับ ณ โครงการหลวง จังหวัดเชียงใหม่ครับ
  • ถ้าได้ผลคืบหน้าอย่างไร ผมจะขออนุญาตกราบเรียนปรึกษาท่านอาจารย์บ้างนะครับ
  • ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์ล่วงหน้าเป็นอย่างสูงครับ

                                               ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ

ดีใจที่ที่คุณยังเป็นคนมองโลกในแง่บวกในภาวะวิกฤติของตนเอง มันแสดงถึงความแกร่งในจิตใจครับ หายาก และทำได้ยากครับ

ด้วยความยินดีเสมอครับที่จะมีโอกาสได้ช่วยเหลือพึ่งพากันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท