แนวทางการเขียนรายงานการวิจัยในชั้นเรียนแบบง่ายๆ


         การวิจัยในชั้นเรียน เป็นอีกภารกิจหนึ่งที่ครูต้องให้ความสนใจ เพราะผลที่ได้จากการทำวิจัยดังกล่าว จะช่วยปรับปรุงพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนของครูได้เป็นอย่างดี และยังส่งผลโดยตรงไปยังผู้เรียน ให้เขาได้พัฒนาเต็มตามศักยภาพอีกด้วย

  จากประสบการณ์ของผู้เขียนที่ได้อ่านผลงานวิจัยในชั้นเรียนทั้งภายในโรงเรียนและต่างโรงเรียน ตลอดจนเป็นวิทยากรรับเชิญตามโครงการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนแต่งตั้งให้มีและเลื่อนวิทยฐานะเป็นชำนาญการพิเศษและเชี่ยวชาญ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรีสมุทรปราการ และเป็นวิทยากรบรรยายหัวข้อการวิจัยในชั้นเรียนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ณ จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้ทราบว่าครูจำนวนมากยังขาดทักษะในการเขียนรายงานการวิจัยในชั้นเรียน จึงต้องการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนผู้บริหารและครูเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว เพื่อให้ครูสามารถพัฒนาทักษะการเขียนรายงานวิจัยในชั้นเรียนของตนเอง ทำให้เกิดการเรียนรู้ผลการวิจัยร่วมกันภายในโรงเรียน และสามารถเผยแพร่เพื่อให้เกิดประโยชน์ในวงวิชาการได้อีกด้วย

  การเขียนรายงานการวิจัยในชั้นเรียนนั้น ครูบางท่านคิดว่าจะต้องเขียนแบบรายงาน 5 บทเหมือนวิทยานิพนธ์ ซึ่งก็ถูกต้องในบางส่วน เพราะในกรณีที่ครูต้องการนำเสนอรายงานเต็มรูปแบบที่จะสามารถนำไปประเมินเพื่อขอวิทยฐานะ จะต้องดำเนินการเขียน 5 บท ซึ่งแน่นอนว่าครูหลายท่านไม่สามารถเขียนได้เพราะมีภาระงานมาก บางท่านบอกว่าไม่เคยเรียนปริญญาโทจึงไม่ทราบว่าจะเขียนอย่างไร ขนาดครูที่จบปริญญาโทแล้ว ยังเขียนได้ไม่สมบูรณ์เลยก็มี ผู้เขียนจึงขอแนะนำให้ครูเขียนรายงานแบบง่ายๆ ที่เราชอบเรียกว่า งานวิจัยหน้าเดียว ซึ่งจริงๆ แล้วหน้าเดียวคงไม่พอ เพราะอาจขาดหัวข้อสำคัญๆ ไป แต่เรามักเรียกว่า วิจัยหน้าเดียว เพื่อให้ครูเกิดความสบายใจ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้แปลว่าจะต้องเขียนรายงานเป็นสิบๆ หน้า

  สำหรับหัวข้อสำคัญที่ครูควรจะนำมาเขียนในรายงานวิจัยชั้นเรียนฉบับย่อหรือแบบง่ายๆ นี้ ประกอบด้วย  ชื่อเรื่อง  ความเป็นมา  วัตถุประสงค์  สมมติฐาน  ตัวแปรที่ศึกษา  วิธีดำเนินการ  ผลการวิจัย และข้อเสนอแนะ โดยแต่ละหัวข้อ มีรายละเอียดที่สำคัญสรุปได้ ดังนี้

  1.  ชื่อเรื่อง  การตั้งชื่อเรื่องงานวิจัย ควรประกอบด้วย 3 สิ่งสำคัญได้แก่ ปัญหาที่ครูต้องการพัฒนา วิธีการพัฒนา และประชากรที่วิจัย เช่น

  ตัวอย่างที่ 1  การพัฒนาแบบฝึกทักษะการอ่านภาษาอังกฤษ สำหรับนักเรียนชั้น ป.4

  ปัญหาที่ครูต้องการพัฒนาคือ  ทักษะการอ่านภาษาอังกฤษ

  วิธีการพัฒนาคือ  แบบฝึกทักษะการอ่าน

  ประชากรคือ  นักเรียนชั้น ป.4

  ตัวอย่างที่  2  การใช้เกมการละเล่นพื้นบ้านเพื่อพัฒนาความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตนเอง สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาล 3

  ปัญหาที่ครูต้องการพัฒนาคือ  ความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตนเอง

  วิธีการพัฒนาคือ  การใช้เกมการละเล่นพื้นบ้าน

  ประชากรคือ  นักเรียนชั้นอนุบาล 3

  2.  ความเป็นมา  ครูควรระบุปัญหาในชั้นเรียนหรือปัญหาของผู้เรียนรายบุคคล เพื่อแสดงให้เห็นว่าส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้หรือพัฒนาการของผู้เรียน ซึ่งมีความจำเป็นต้องแก้ไขหรือพัฒนา โดยมีหลักฐานหรือข้อมูลอ้างอิง เช่น ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ผลการประเมินระดับชาติ (O-NET)

  3.  วัตถุประสงค์  ควรเขียนเป็นข้อๆ ทุกข้อเริ่มต้นด้วยคำว่า “เพื่อ” แล้วตามด้วยคำกริยาที่สะท้อนว่าครูจะดำเนินการวิจัยอย่างไร เช่น

  1.  เพื่อพัฒนาแบบฝึกทักษะการอ่านภาษาอังกฤษ สำหรับนักเรียนชั้น ป.4

  2.  เพื่อเปรียบเทียบผลการอ่านภาษาอังกฤษก่อนและหลังใช้แบบฝึกทักษะการอ่าน ของนักเรียนชั้น ป.4

  จากข้อความที่ขีดเส้นใต้นี้ ทำให้ครูทราบว่าจะต้องดำเนินการวิจัยอย่างไรนั่นเอง

  นอกจากนี้ครูต้องไม่เขียนวัตถุประสงค์ในลักษณะของประโยชน์ที่ได้รับ เช่น

1.  เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ด้านการอ่านของผู้เรียน

2.  เพื่อให้ผู้เรียนสามารถอ่านออกเสียงภาษาอังกฤษได้อย่างถูกต้อง

ทั้งสองข้อนี้ เป็นประโยชน์ที่ได้จากการทำวิจัย ไม่ใช่วัตถุประสงค์การวิจัย

  4.  สมมติฐาน  ในกรณีที่ครูใช้นวัตกรรมต่างๆ ในการพัฒนาหรือแก้ปัญหาผู้เรียนนั้น ควรตั้งสมมติฐานการวิจัยให้สอดคล้องกับงานวิจัยของครูด้วย เช่น

  การพัฒนาแบบฝึกทักษะการอ่านภาษาอังกฤษ สำหรับนักเรียนชั้น ป.4

  วัตถุประสงค์ คือ เพื่อพัฒนาแบบฝึกทักษะการอ่านภาษาอังกฤษ และ เพื่อเปรียบเทียบผลการอ่านภาษาอังกฤษก่อนและหลังใช้แบบฝึกทักษะการอ่าน

  สมมติฐาน คือ นักเรียนที่ใช้แบบฝึกทักษะการอ่าน มีผลการสอบอ่านหลังใช้แบบฝึกทักษะสูงกว่าก่อนใช้แบบฝึกทักษะ

  5.  ตัวแปรที่ศึกษา  ครูควรระบุให้ได้ว่า งานวิจัยในชั้นเรียนของตนเองนั้น อะไรคือตัวแปรต้น อะไรคือตัวแปรตาม ตัวแปรต้นนั้น หมายถึงสิ่งที่ส่งผลต่อตัวแปรตาม ทำให้ตัวแปรตามเกิดการเปลี่ยนแปลง ในที่นี้คือ นวัตกรรมที่ครูใช้นั่นเอง  ส่วนตัวแปรตามหมายถึง ผลที่เกิดจากตัวแปรต้นกระทำ นั่นคือ ผลการพัฒนาของผู้เรียน  จากตัวอย่างที่ได้ยกมาในแต่ละหัวข้อนั้น สามารถระบุตัวแปรได้คือ

  ชื่อเรื่อง  การพัฒนาแบบฝึกทักษะการอ่านภาษาอังกฤษ สำหรับนักเรียนชั้น ป.4

  ตัวแปรต้น  คือ  แบบฝึกทักษะการอ่านภาษาอังกฤษ

  ตัวแปรตาม  คือ  ผลการอ่านภาษาอังกฤษของนักเรียน (ทักษะการอ่าน)

  6.  วิธีดำเนินการ  ในหัวข้อนี้จะประกอบด้วยหัวข้อย่อยอีก 5 หัวข้อ ได้แก่ ประชากรหรือกลุ่มเป้าหมาย ระยะเวลาดำเนินการ  เครื่องมือวิจัย การดำเนินการวิจัย และการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

  6.1  ประชากรหรือกลุ่มเป้าหมาย  สำหรับวิจัยในชั้นเรียนนั้น ส่วนใหญ่ครูจะดำเนินการทั้งห้อง หรืออาจเลือกเฉพาะนักเรียนที่มีปัญหาจริงๆ มาทำวิจัย

  ในกรณีที่ครูทำวิจัยทั้งชั้นทั้งห้องแล้วเปรียบเทียบคะแนนก่อนและหลังเรียน สามารถใช้คำว่า ประชากรที่ศึกษา คือ นักเรียนชั้น ป.4/1 จำนวน 30 คน ได้เลย

  สำหรับครูที่ต้องการพัฒนาผู้เรียนเป็นรายบุคคล อาจใช้คำว่า กลุ่มเป้าหมาย เช่น กลุ่มเป้าหมายคือ นักเรียนที่มีปัญหาการอ่านภาษาอังกฤษ ชั้น ป.4 จำนวน 10 คน

  6.2  ระยะเวลาดำเนินการ  ขอให้ครูระบุว่าจะดำเนินการ กี่สัปดาห์ หรือกี่เทอม หรือตลอดปีการศึกษา เช่น

  ระยะเวลาดำเนินการ คือ  8  สัปดาห์ ระหว่างวันที่  3  มิถุนายน  2556 ถึงวันที่  26  กรกฎาคม 2556

  ระยะเวลาดำเนินการ คือ ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2556

  6.3  เครื่องมือวิจัย  สำหรับเครื่องมือวิจัยนั้น แบ่งได้ 2 ประเภท คือ 1) นวัตกรรมที่ครูใช้ กับ 2) เครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูล  ให้ครูระบุว่า ใช้นวัตกรรมอะไรในการพัฒนา และใช้เครื่องมือใดเก็บข้อมูล เช่น

  นวัตกรรมที่ใช้  คือ  แบบฝึกทักษะการอ่านภาษาอังกฤษ

  เครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบทดสอบการสอบ แบบบันทึกคะแนน

  6.4  การดำเนินการวิจัย  ครูสามารถเขียนเรียงลำดับเป็นข้อๆ ได้เลยว่า ครูได้ดำเนินการอย่างไร อาจเริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์ปัญหาผู้เรียน การสร้างนวัตกรรม การจัดทำแผนการสอน การสังเกตบันทึกผล และการนำผลมาวิเคราะห์

  6.5  การวิเคราะห์ข้อมูล  ครูหลายท่านวิตกกังวลกับสถิติ ซึ่งขอเรียนว่าการวิจัยในชั้นเรียนไม่จำเป็นต้องใช้สถิติอะไรมากมาย ใช้สถิติเบื้องต้นก็เพียงพอแล้ว เช่น ความถี่ ร้อยละ หรือค่าเฉลี่ยของคะแนนที่ได้ แต่ครูต้องระบุให้ได้ว่า ใช้สถิติตัวใดเพื่อวิเคราะห์อะไร เช่น

  -  ใช้ค่าร้อยละเพื่อเปรียบเทียบจำนวนนักเรียนที่ได้คะแนนทดสอบการอ่านสูงขึ้น

  -  ใช้ค่าเฉลี่ยเพื่อเปรียบเทียบคะแนนก่อนและหลังเรียน

  7.  ผลการวิจัย  ครูสามารถเขียนผลการวิจัยที่พบได้ง่ายๆ สั้นๆ หรืออาจลงรายละเอียดให้เข้าใจมากขึ้นก็ได้ เช่น

ผลการวิจัย พบว่า นักเรียนที่ใช้แบบฝึกทักษะการอ่านภาษาอังกฤษเมื่อเปรียบเทียบ

คะแนนก่อนเรียนและหลังเรียนแล้ว มีคะแนนผลการทดสอบการอ่านสูงขึ้น หรือ

     ผลการวิจัย พบว่า นักเรียนที่ได้รับการปรับพฤติกรรมด้วยวิธีการสร้างเงื่อนไขมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ลดลง

  8.  ข้อเสนอแนะ หลังจากที่ครูสรุปผลการวิจัยแล้ว ควรที่จะได้ให้คำแนะนำในการใช้ผลการวิจัย หรือแนะนำครูท่านอื่นที่ต้องการนำไปพัฒนาต่อยอด เช่น

  จากผลการวิจัยดังกล่าว ครูควรพัฒนาการจัดการเรียนรู้ด้านทักษะการอ่านให้มากขึ้นซึ่งจะส่งผลต่อการเรียนรู้ในรายวิชาอื่นๆ หรือ

  จากผลการวิจัยดังกล่าว ครูควรวางแผนซ่อมเสริมให้แก่นักเรียนเกี่ยวกับการอ่านออก

เสียงและการอ่านเป็นประโยคหรือย่อหน้า

  จากตัวอย่างที่ผู้เขียนได้เสนอแนะนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากการที่มีโอกาสได้อ่านงานวิจัยในชั้นเรียนมาพอสมควร รวมทั้งพูดคุยกับเพื่อนครูต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้ ครูสามารถศึกษาเพิ่มเติมด้วยตนเองได้จากตำรา หนังสือ ตัวอย่างงานวิจัย หรือแม้กระทั่งในเว็บไซต์ต่างๆ เพื่อเพิ่มพูนทักษะการทำงานวิจัยในชั้นเรียนของตนเอง

ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความนี้จะช่วยจุดประกายให้ครูได้ทำวิจัยในชั้นเรียนกันมากขึ้น อาจเริ่มต้นจากเรื่องง่ายๆ ที่ครูสามารถทำได้ แล้วค่อยพัฒนาต่อยอดมาเรื่อยๆ จนสุดท้ายครูก็จะสามารถพัฒนาผลงานวิจัยในชั้นเรียนได้เทียบเท่าผลงานทางวิชาการซึ่งครูภาครัฐจัดทำเป็นผลงานขอวิทยฐานะ อย่างไรก็ตามผู้เขียนอยากให้ครูได้ระสึกเสมอว่า เราไม่ได้ทำวิจัยเพราะต้องการตำแหน่ง แต่เราทำเพื่อพัฒนาผู้เรียน เพื่อยกระดับคุณภาพผู้เรียน ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาการศึกษาของชาติไทย ขอเป็นกำลังใจให้ครูทุกท่าน พัฒนาผลงานวิจัยในชั้นเรียนของตนเองครับ.

หมายเลขบันทึก: 532683เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2013 10:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2013 10:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณมากครับ พอดีเขียนจากประสบการณ์ เลยไม่มีบรรณานุกรมไว้ให้ศึกษาเพิ่มเติม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท