ครูฝรั่งผู้มากับจิตอาสา



                       Jim (วาดภาพล้อโดยผู้เขียน)                          Mariann (วาดภาพล้อโดยผู้เขียน)

ครูฝรั่งผู้มากับจิตอาสา

ด้วยทักษะมนุษยสัมพันธ์อันยอดเยี่ยมของหัวหน้า ทำให้พวกเราได้รู้จักกับฝรั่งสองสามีภรรยา นักท่องเที่ยวจากแคนาดา Jim กับ Mariann  ที่มาพำนักกับเพื่อนสนิทร่วมสัญชาติและมีภรรยาเป็นคนไทย ด้วยความที่มีอุปนิสัยคล้ายคนไทย เปิดเผย วางตัวเรียบง่าย มิตรภาพจึงเจริญงอกงามขึ้นอย่างรวดเร็ว ที่น่าสนใจก็คือ ทั้งคู่เคยเป็นครูสอนนักเรียนประถมและครูมัธยมในแคนาดามาก่อน ทำให้พวกเราตั้งสมมุติฐานว่า อาชีพครูในประเทศโลกตะวันตกนั้นย่อมเป็นที่รู้กันว่า ครูที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นครูนั้นต้องผ่านการทดสอบความเป็นครูอย่างหนักหน่วงเพียงใด ดังนั้น Jim กับ Mariann  จึงน่าจะการันตีได้ว่า สามารถเป็นครูสอนภาษาอังกฤษให้พวกเราได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในภาวะที่ประเทศของเรากำลังเตรียมตัวใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางอาเซียน ที่มั่นใจมากก็คือ แคนาดาเป็นประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ ทำให้พวกเราหลายคนเกิดความรู้สึกดีๆ ที่จะได้เรียนภาษากับครูฝรั่ง  (ก็มีบ้างที่เป็นประเภทที่กลัวฝรั่ง หรือเกลียดภาษาอังกฤษเข้ากระดูกดำ)  ในที่สุดหัวหน้าก็ทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยม สามารถชักนำนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ มาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษของพวกเรา ในช่วงที่ภารกิจประจำเบาบาง ได้เป็นผลสำเร็จ (ช่วงโรงเรียนปิดเรียนภาคฤดูร้อน มีครูมาติดต่องานน้อย)

Jim กับ Mariann  เต็มใจมาทำหน้าที่เป็นครูสอนภาษาอังกฤษให้พวกเรา (คนสำนักงาน) โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ด้วยเหตุผลว่า พวกเขาเป็นนักท่องเที่ยวไม่ใช่ครูที่มาหารายได้พิเศษ  แม้พวกเราจะเสนอค่าใช้จ่ายให้เป็นรายชั่วโมงโดยไม่มีเงื่อนไขก็ตาม นับเป็นความประทับใจในเบื้องแรก พวกเราจึงต้องวางแผนกันใหม่ ให้บรรยากาศการเรียนภาษาครั้งนี้เป็นไปอย่างเป็นธรรมชาติ มีแต่ความรู้สึกดีๆ ไม่กระทบกับงานประจำ  โดยพวกเราทำงานประจำกันแต่เช้า ให้ครูฝรั่งมาสอนตอน 5 โมงเช้า พอเที่ยงก็เลี้ยงอาหารกลางวัน เอาวงอาหารเป็นสถานการณ์การเรียนภาษาไปด้วย อิ่มแล้วเรียนต่อถึงบ่ายสองโมง เลิกเรียนก็ทำงานต่อเก็บงานให้เสร็จ วันหยุดก็วางแผนเยี่ยมบ้านสมาชิก ปรากฏว่า ผอ.เขตพื้นที่ก็เห็นชอบและอนุมัติเพราะเห็นว่า เป็นประโยชน์ ได้พัฒนาบุคลากรโดยไม่ต้องลงทุน (ลงแต่แรง)  

ลีลาการสอนแบบครูมืออาชีพ ทำให้ผมเกิดศรัทธายอมรับและฝากตัวเป็นศิษย์อย่างสนิทใจ  Jim กับ Mariann  สอนภาษาด้วย Base  basic ที่สนุกสนานเป็นกันเอง พูดช้าๆ ใช้คำศัพท์ง่ายๆ เน้นการออกเสียงให้ใกล้เคียงเจ้าของภาษา ฟังออกง่าย มั่นใจที่จะพูด ออกแบบการสอนตามพื้นฐานประสบการณ์เดิมของผู้เรียน เน้นการสนทนา ง่ายๆ จากสถานการณ์ชีวิตประจำวันปกติ เรียนรู้บริบทของภาษาตามประสบการณ์รายบุคคล เรียนรู้คำศัพท์ด้วยเกมต่อคำ เรียงคำ ใบ้คำ ใช้บัตรคำ รูปภาพ แถบประโยค  เสริมแรงด้วยคำชม “good”… “very good”… “excellence” มีการประเมินเป็นระยะ บรรยากาศในการเรียนไม่เคยขาดเสียงหัวเราะ การกระเซ้าเย้าแหย่  ผมเองรู้สึกว่ามีพัฒนาการออกเสียงคำได้แม่นยำขึ้น จากการฝึกฝนคำจากฐานเสียง wh, sh, ch, th, f, s, t, d, oy, n, m, b, ow, br, fr, a, h, tw, ad, oo, c, um, ……รู้จักเลือกใช้คำที่สุภาพ นุ่มนวล ในการสนทนา แต่สิ่งหนึ่งที่ผมประทับใจ ก็คือ เทคนิควิธีสอนที่น่าศึกษา นั่นคือ รูปธรรมของกระบวนการสอนแบบ “Child Center” ที่สนุก ยืดหยุ่น ซึ่งสามารถมองเห็นภาพตลอดแนว สรุปตามการรับรู้ได้ดังนี้

1.  ครูฝรั่งเตรียมการสอนอย่างดี มีสื่อที่เรียบง่ายแต่ให้ concept ที่ดี มาใช้ในกิจกรรมการเรียนทุกครั้ง

2.  เรียนรู้ลีลาการเรียนของผู้เรียนทุกคน จนเข้าใจอุปนิสัยผู้เรียนทุกคน สามารถนำเอาจุดเด่นของแต่ละคนกระเซ้าเย้าแหย่ เสริมแรง สร้างแรงจูงใจให้เกิดความพยายามพัฒนาตนเองได้อย่างสนุก น่าประหลาดใจ

3.  จำลองความเป็นเด็กให้พวกเราอย่างแนบเนียน ทำให้มีความรู้สึกอยู่ในโลกของเด็กจริงๆ รู้สึกลืมหัวโขนที่สวมอยู่ (ลืมตัวตนไปชั่วขณะ) ทำให้แสดงออกตามการรับรู้ที่แท้จริง ไม่เกร็ง ไม่คิดว่าเป็นการสมมุติ ทำให้เกิดความสนุก ชื่นใจในคำชม ดีใจที่ได้รางวัลเล็กๆน้อยๆ (แบบเด็กๆในชั้นเรียน)

4.  ครูฝรั่งชอบใช้เวลาว่างเยี่ยมหมู่บ้าน เยี่ยมบ้านลูกศิษย์ ทำความคุ้นเคยวัฒนธรรมท้องถิ่น ค้นคว้าหาความรู้ใหม่ๆ อินเตอร์เน็ต แล้วนำองค์ความรู้มาเรียบเรียงเป็นบทเรียน ฝึกอ่านออกเสียง ฝึกทบทวนคำศัพท์ด้วยเกม เพลง  ฝึกตั้งคำถาม ฝึกอธิบายความด้วยภาษาง่ายๆ เป็นประสบการณ์ทางภาษาจากเรื่องราวใกล้ตัว ในชุมชน ท้องถิ่น (ภาษาการศึกษา น่าจะเป็นการออกแบบการเรียนรู้)

5.  ไม่เคยปล่อยให้ผู้เรียนคนใดนั่งใจลอย นั่งจินตนาการสร้างวิมานในอากาศ ทุกอาการอยู่ในสายตาครูฝรั่งหมด “Sammy!!, are you dreaming?” ผมสะดุ้งทุกที หลังจากเผลอนั่งเหม่อ สร้างความครื้นเครงกับเพื่อนๆ เสมอ ตลอดเวลาเรียน ไม่เคยขาดเสียงหัวเราะ เสียงผู้เรียนออกเสียงพลางหัวเราะพลางที่บังคับลิ้นไม่ไปตามที่ครูบอก

6.  หลายครั้งที่พวกเราช่วยกันค้น ช่วยกันคิด ช่วยกับหาคำตอบ จับคู่สนทนา ทบทวนประโยค (ทางการศึกษาบอกว่า เป็นการเรียนรู้ร่วมกันบนพื้นฐานความแตกต่าง ลักษณะคนรู้สอนคนไม่รู้  ครูไม่ควรสอนอยู่คนเดียวกับผู้เรียนนับสิบๆ คน ไม่งั้น เหนื่อยแย่)

7.  ประเมินผลทันทีเมื่อเรียนจบ ทำให้รู้ข้อบกพร่องของตนเองแล้วรีบแก้ไข พวกเราไม่เคยเกิดความรู้สึกเรียนแบบแข่งขันกัน มีแต่เรียนแบบช่วยเหลือพึ่งพา เรียนเป็นกลุ่ม เรียนตามที่อยากเรียน

ฯลฯ

เทคนิควิธีการสอนเหล่านี้ ครูทุกคนทราบดี และได้รับการฝึกอบรมมานับครั้งไม่ถ้วน แต่น้อยคนที่สามารถ

นำไปสู่การปฏิบัติในชั้นเรียนอย่างชัดเจนเป็นปกติ ด้วยมีเหตุปัจจัยหลายอย่าง ทั้งเป็นเรื่องที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้  จนบ้านเราปฏิรูปการเรียนรู้กันมาหนึ่งทศวรรษแล้วยังไม่คืบหน้า หรือว่า เราปฏิรูปหลักการแนวคิดบนตัวหนังสือจนละเอียดยิบ สร้างรูปแบบสร้างผังตามทฤษฎีได้ยอดเยี่ยม แต่เข้าไม่ถึงแก่นแท้ของการเรียนรู้ (studying not learning) หรือว่าเป็นเพราะการประเมินผลงานวิชาการครูไปเน้นที่เอกสาร หลักฐาน ด้วยมีข้อจำกัดในการประเมินตามสภาพจริง (กระบวนการต้องตรวจสอบด้วยสภาพจริง) ผลที่ตามมาก็คือ ผู้สอนขาด Concept ดีๆ ขาดตัวอย่างดีๆ นำไปสู่การปฏิบัติในชั้นเรียน กลายเป็น “ครูใบงาน” ไปอย่างช่วยไม่ได้

 

  ผมไม่ได้ตั้งใจยกย่องเชิดชูว่า ครูฝรั่งมังค่านั้น ดีกว่าครูไทย เพียงแต่ต้องการสะกิดสะเกา ให้ผู้เกี่ยวข้องในวงการศึกษาได้หันมาพินิจใคร่ครวญ ทบทวนการปฏิรูปศึกษาที่สอดคล้องกับความเป็นจริงแห่งยุคสมัย เด็กไทยควรติดอันดับคุณภาพของโลก อย่างน้อยก็เป็นหนึ่งในประเทศกลุ่มอาเซียน บทสรุปตอนนี้ Jim กับ Mariann จะเป็นใครมา มาจากไหน ไม่สำคัญเท่ากับ ความประทับใจในความมีจิตอาสาในการทำงานอย่างทุ่มเทโดยไม่คิดถึงสิ่งตอบแทน  การสอนภาษาอังกฤษสไตล์แคนาดาที่สนุกสนานอย่างครูมืออาชีพ  และความแจ่มแจ้งในการปฏิรูปการเรียนรู้  องค์ความรู้นอกตำราซึ่งหาเรียนยากในมหาวิทยาลัยใดๆ โชคดีจริงๆ.... 


หมายเลขบันทึก: 532667เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2013 07:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2013 07:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท