การขับเคลื่อน ปศพพ. สู่สถานศึกษา: อีสานตอนบน_40 ปัญหาสำหรับเรา คือ เขียนเรื่องเล่ายังไม่ "เร้าพลัง"


วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2556  เราเริ่มกันด้วยคำถาม 4 ข้อ คือ 

  1. อุปนิสัยพอเพียงคืออะไร
  2. จัดการเรียนรู้อย่างไรให้เกิดอุปนิสัยการเรียนรู้
  3. จะรู้ได้อย่างไรว่า อุปนิสัยพอเพียงที่ต้องการเกิดขึ้นหรือไม่
  4. ถ้ายังไม่เกิดจะทำอย่างไร ต่อไป


ข้อแรกให้ทุกคนเขียนใส่ "บัตรความคิด" ข้อที่สอง ให้เขียนเป็นเรื่องเล่า ข้อที่สาม น่าจะได้คำตอบจากวิทยากรที่เชิญมาบรรยาย ส่วนข้อสุดท้าย คงได้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ผมพบว่าคำถาม "อุปนิสัยพอเพียงคืออะไร" เป็นคำถามที่ทั้งดีและไม่ดี ที่ว่าดีคือ สามารถตรวจสอบได้ว่า ผู้ตอบมีความรู้ความเข้าใจใน "หลักความพอเพียงหรือไม่" ที่ว่าไม่ดี คือ ผู้ตอบมักไปยึดติดกับคำว่า "อุปนิสัย" แล้วเอาความรู้ความเข้าใจในหลักความพอเพียง มาบวกเข้ากับความหมายของคำว่า "อุปนิสัย" จึงได้คำตอบเหมือนทฤษฏีสามห่วงสองเงื่อนไขสี่มิติ ไม่ได้ลักษณะหรือวิธีการสังเกตว่านักเรียนมีอุปนิสัยพอเพียงหรือไม่ 

สิ่งที่ผมประทับใจคือ คำตอบของคนเกือบ 80 คล้ายกันมากๆ ว่า

......อุปนิสัยพอเพียง คือ คุณลักษณะนิสัยที่เมื่อจะทำอะไร จะคิดพิจารณาอย่างเป็นเหตุเป็นผล ว่าพอดีเหมาะสมพอประมาณ ถูกต้องตามตามหลักวิชาการ และสำนึกในคุณธรรมความดี ไม่เดือดร้อนต่อตนเองและผู้อื่น เมื่อลงมือทำ ก็ทำอย่างมีสติระวังและรอบคอบ มีการเรียนรู้ตรวจสอบประเมินผลเพื่อพัฒนาให้ดีขึ้น สู่ความสมดุลและยั่งยืน.....

ผมเองสรุปเป็นคำให้จำง่ายๆ ว่า

....คิดก่อนทำ ทำอย่างระวังและรอบคอบ ตรวจสอบประเมินตน ฝึกฝนเรียนรู้และพัฒนา.... โดยทั้งหมดนี้ให้อยู่ภายใต้ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข 4 มิติ


ข้อที่สอง เราแจกกระดาษ ขนาด A4 มีบรรทัด ให้ทุกคนเขียนเรื่องเล่าใช้เวลาเพียง 15 นาที เกี่ยวกับ วิธีการจัดการเรียนการสอนของตน เพื่อให้เกิดอุปนิสัยพอเพียง .....

ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างเรื่องเล่าของครู ณ วันนี้ที่เราขับเคลื่อนมาแล้ว 1 ปี

นางศุภมิต  ศิริโสภณภิวัฒน์ ร.ร.เชียงขวัญพิทยาคม


                           "เรียนรู้เหตุผล รู้ตนรู้จิต รู้พอประมาณในชีวิต บนหลักคิด ชีวิตเปี่ยมคุณธรรม"

...ตลอดระยะเวลา 36 ปี  ของชีวิตที่ลองผิดลองถูก สู่ 3 ปีแห่งการเรียนรู้คำว่า “ความพอเพียง” อย่างแท้จริง ทำให้ดิฉันรู้จักหลักคิด ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานแก่พสกนิกร หากใช้ใจสัมผัสใช้เหตุผลพิจารณา นำมาปฏิบัติด้วยตัวเอง จะสามารถรับรู้ถึงคุณค่าของคำว่าพอเพียงได้อย่างชัดเจน

การนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอพียงมาเป็นหลักคิดในการปฏิบัติในบทบาทในการเป็นครู โดยการจัดการเรียนการสอนรายวิชาวิทยาศาสตร์ จากการสะท้อนตน ของดิฉัน คือ มีความชอบ สนใจและมีความสามารถ ในการส่งเสริมกิจกรรมการเรียนการสอนผ่านโครงงาน จึงได้วิเคราะห์เนื้อหา เชื่อมโยงสู่กิจกรรม กระตุ้นความคิดแก่ผู้เรียนให้สามารถตั้งวัตถุประสงค์ในการทำโครงงานต่างดำเนินการโดยใช้ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่เหมาะสม สอดคล้องกับกิจกรรม อีกทั้งครูยังเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้คำแนะนำ มากล้ำความรู้สู่ความกระจ่างแก่ผู้เรียนได้ ความเป็นลำดับ ขั้นตอนการทำโครงงานจะนำพาให้ผู้เรียนสนุก และมีความสุขกับความสำเร็จในแต่ละชิ้นในส่วนที่สำคัญ คือ ดิฉันต้องมีความอดทน จริงใจ และรับผิดชอบในการสอน ทั้งต่อตนเองและนักเรียน ใช้ความพอประมาณในการสอน โดยการระบุเนื้อหาให้เหมาะสมกับระดับชั้น จัดกลุ่มเหมาะสมกับจำนวน นักเรียน กิจกรรม อุปกรณ์ สไตล์การเรียน และปัจจัยสัมพันธ์ ที่เอื้อต่อความสำเร็จในการทำโครงงานของนักเรียน โดยการสอนด้วยกิจกรรมโครงงานนั้นได้สอดแทรกคุณธรรมให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน คือ กระตุ้นความใฝ่รู้ โดยใช้คำถามกระตุ้นความคิด เทคนิคเร้าความสนใจ กระตุ้นความอดทน โดยให้งานที่เหมาะสมกับความสามารถ สู่เงื่อนไขความสำเร็จ  กระตุ้นความเอื้อเฟื้อ โดยการเสริมแรงทางสังคม  กระตุ้นความรับผิดชอบ โดยใช้กระบวนการกลุ่ม การติดตาม  ในการสะท้อนผลการดำเนินงานกลุ่มด้วยรูปแบบการระดมความคิด หาจุดติดขัด ปัญหาอุปสรรค แนวทางสู่เป้าหมายและการพัฒนา

จากการดำเนินงานการสอนแบบโครงงาน โดยใช้หลักพอเพียง ดิฉันมีความมุ่งหวังให้ผู้เรียนเกิดคุณลักษณะความพอเพียงทั้งทางกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา สามารถวัด สังเกตผลที่เกิดผู้เรียนได้ทั้งการถอดบทเรียน การสังเกตพฤติกรรม การสอบถาม สัมภาษณ์ ทั้งนี้ การดำเนินตามขั้นตอน ภูมิรู้ ภูมิธรรม พอประมาณ,ด้วยเหตุผล ส่งถึงการมีภูมิคุ้มกันในตัวเองของครูมีความมั่นใจ เชื่อมั่น ดำเนินกิจกรรมอย่างราบรื่นและมีความสุขในการทำงาน สามารถพัฒนาศักยภาพของตนไปพร้อมกันนักเรียน เพราะคำว่า พอเพียง อยู่ในใจของทุกคนจะเกิดผลอย่างไร อยู่ที่เราจะเลือกใช้หรือไม่ เลือกใช้อย่างไร เพื่อให้สามารถอยู่อย่างพอเพียงและมีความสุขบนพื้นฐานความพอเพียงอย่างแท้จริง...

เนื่องจากผมรู้จัก ท่านอาจารย์มาก่อนตอนที่ได้ไปเรียนรู้ที่เชียงขวัญ จึงไม่สงสัย เพราะมั่นใจในการระเบิดจากภายในของท่าน แต่ลองอ่านข้อสะท้อน (Reflection) ต่อไปนี้ เท่าที่ผมเห็น แต่ไม่จำเป็นต้องเชื่อนะครับ 

  1. เรื่องเล่านี้เห็นแนวคิดหรือเห็นกระบวนทัศน์ ในการจัดการเรียนรู้ของท่าน ชัดครับ
  2. แต่ยังไม่เห็น แนวปฏิบัติ หรือกระบวนการ ทำให้คนอ่านยังไม่น่าจะทราบว่า แต่ละ "คำ" จะทำอย่างไร เช่น "กระตุ้นความใฝ่รู้ โดยใช้คำถามกระตุ้นความคิด เทคนิคเร้าความสนใจ กระตุ้นความอดทน โดยให้งานที่เหมาะสมกับความสามารถ สู่เงื่อนไขความสำเร็จ  กระตุ้นความเอื้อเฟื้อ โดยการเสริมแรงทางสังคม  กระตุ้นความรับผิดชอบ โดยใช้กระบวนการกลุ่ม"
  3. ผมคิดว่า เรื่องเล่านี้ยังไม่ "เร้าพลัง" อาจจะเป็นเพราะ ในขณะอ่าน ยังไม่เกิดภาพจริง จินตนาการภาพตามยาก....ความจริงที่คนชอบดูหนัง เพราะมันมี "เรื่องราว" "เห็นภาพ" และเน้นการกระตุ้นอารมณ์ นั่นเอง


นางละออ ผาน้อย ร.ร.สนามบิน สพป.ขอนแก่น 1


  ...ข้าพเจ้าสอนวิชาการงานอาชีพ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 สอนเรื่องการพับดอกไม้จากใบเตย ในชั่วโมงนี้ การที่จะเกิดอุปนิสัยพอเพียงได้นั้นมิใช่ จะสอนชั่วโมงเดียวแล้วเกิดเป็นอุปนิสัย การที่จะเกิดเป็นอุปนิสัยพอเพียงได้นั้นต้องเริ่มจาก
  1. การสอนที่ถูกต้อง เช่น อุปนิสัยในการเรียน การทำงานฯ ซึ่งจะต้องให้นักเรียนมีความรู้ มีความเข้าใจเกี่ยวกับ อุปนิสัยหรือพฤติกรรมที่ครูจะสอน ซึ่งนักเรียนจะต้องมีการประพฤติปฏิบัติตนที่ดีในการเรียน ต้องมีอุปกรณ์การเรียน มีความตั้งใจ มีความสนใจ โดยวิชาการงานอาชีพ มีการใช้เครื่องมือเครื่องใช้ พฤติกรรมหลังการทำงานต้องเก็บรักษาเครื่องมือ เครื่องใช้ วัสดุอุปกรณ์ และสถานที่ให้เรียบร้อย คือ
1.1 การใช้เครื่องมือ เครื่องใช้ วัสดุอุปกรณ์ ที่ถูกต้องประหยัดและปลอดภัยในการทำงาน ในชั่วโมงนี้ ต้องทำอย่างไร
1.2 การใช้คำถามของครูต้องกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความคิด ด้วยเหตุด้วยผล  โดยใช้คำถามที่เชื่อมโยงสาระเดียวกัน คือ อะไร ทำอย่างไร เกิดผลอย่างไร ถ้าไม่ทำ-ถ้าทำจะส่งผลกระทบต่อตนเอง ต่อสังคม ต่อประเทศชาติอย่างไร
1.3 พฤติกรรมการสอนของครู ต้องดึงความเก่งของนักเรียนออกมาให้ปรากฏ  จากการใช้คำถามในระดับพฤติกรรม การนำไปใช้ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และการประเมินค่า  ถึงสร้างสรรค์ เพราะถ้าครูใช้คำถามเก่งๆจะเป็นการดึงสมรรถนะของผู้เรียนออกมาได้ ตามศักยภาพของนักเรียน เนื่องจาก ความพอประมาณของนักเรียนแต่ละคนจะต่างกัน
  2. ให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกลุ่ม ในห้องเรียนได้ฝึกการวางแผนการทำงานร่วมกับการปฏิบัติงาน การตรวจสอนงาน การวิจารณ์ข้อดี-ข้อเสียของงาน การบอกข้อเสนอแนะปรับปรุงแก้ไขงาน ของตนเองและผู้อื่น โดยมีข้อมูลเพื่อเป็นเหตุเป็นผล เกี่ยวกับการทำงานอุปนิสัยในการทำงาน เมื่อฝึกแล้ว ให้ปฏิบัติทุกวันจนเกิดเป็นอุปนิสัย
  3. ครูและนักเรียนร่วมกันสรุปองค์รวมของการปฏิบัติงาน โดยเน้นย้ำถึง อุปนิสัยพอเพียง  ในการเรียนในชั่วโมงนี้ ควรมีลักษณะอย่างไร
3.1 การใช้เครื่องมือ เครื่องใช้ วัสดุอุปกรณ์ การใช้อย่างพอเพียงทำอย่างไร
3.2 การปฏิบัติงาน ทำอย่างไรจึงจะเหมาะสมกับเวลาขั้นตอนการทำงาน
3.3 การตรวจสอบผลงาน การวิจารณ์ผลงานของตนเองและผู้อื่น
  4.  ครูและนักเรียนร่วมกันสรุปการทำงานตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
4.1 ทำไมต้องใช้เครื่องมือ เครื่องใช้วัสดุอุปกรณ์ให้พอเหมาะ พอดี ถูกวิธีไม่ฟุ่มเฟือย/สอดคล้องกับหลักการใด
4.2 ถ้าทำงานไม่พอดีกับเวลา และไม่เป็นตามลำดับขั้นตอนจะเกิดผลอย่างไร/สอดคล้องกับหลักการใด
4.3 ถ้าไม่ตรวจสอบผลงาน ไม่มีการวิจารณ์ผลงาน จะเป็นอย่างไร/สอดคล้องกับหลักการใด

คุณครูละออ ผาน้อย เป็นครูพอเพียงที่ ระเบิดจากข้างใน ผมเองคงต้องเรียนรู้จากท่านอีก หาคนที่โชคดีที่มีโอกาสพบกัลยาณมิตรมากอย่างผมไม่ง่าย โดยเฉพาะโลกที่กำลังถูกทำลายในปัจจุบัน
ผมมีข้อคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่องเล่านี้ ดังนี้ครับ
  1. เห็นแนวคิดหรือ "กระบวนทัศน์" ในการจัดการเรียนรู้ชัดมากครับ
  2. เห็น "กระบวนการ" และ "วิธีการ" ในการจัดการเรียนรู้ชัดพอสมควร เช่นกันครับ คนที่ได้อ่าน สามารถนำไปเป็นแนวปฏิบัติได้เลยครับ
  3. เรื่องเล่านี้ ไม่เหมือน "เรื่องเล่า"  เป็นเหมือน แนวคิด แนวปฏิบัติ ที่สกัดออกมา เป็น Explicit Knowledge ในลักษณะของ แผนการจัดการเรียนรู้ หรืองานวิชาการมากกว่า ......
  4. ทำไม คนส่วนใหญ่ชอบอ่าน นิยาย นวนิยาย บทละคร ฯลฯ มากกว่างานวิชาการ ก็เพราะ มันสนุกกว่า มีความสุขมากกว่า  ความสุขความสนุกของคนทั่วไป มักเกิดจากความเพลิดเพลิน กับเรื่องราว เหตุการณ์ โดยเฉพาะกับเรื่องคล้ายประสบการณ์ของตนเอง....
  5. วิธีที่จะทำให้เรื่องเล่า "เร้าพลัง"  คือการเขียนให้ "ชวนคิด" "ชวนติดตาม" "ท้าทาย" หรือ "เห็นภาพ" ฯลฯ

แต่โปรดอย่าเชื่อผมนะครับ ... ผมใช้ฐานคิดเป็นหลัก.....


ครูนาตยา  โยธาศิริ โรงเรียนโพนทองวิทยายน




  ...จากผลคะแนนสอบเรื่องยีนและโครโมโซม ปรากฏว่าผลคะแนนได้น้อยจนน่าตกใจโดยเฉพาะเมื่อให้นักเรียนเขียนบรรยาย เกี่ยวกับโครงสร้างของ DNAนักเรียนเขียนอธิบายได้ไม่ชัดเจนบางคนเขียนสับสน จากจุดนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำวิจัยในชั้นเรียนเรื่องความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของคำว่า ยีน โครโมโซมและ DNA เมื่อทำวิจัยและทราบว่านักเรียนมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของคำว่า ยีน โครโมโซม และ DNA จึงได้ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้โดยบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นกิจกรรมการเรียนการสอนแบบสืบเสาะ(5E)ให้นักเรียนช่วยกันออกแบบโครงสร้างของ DNA และใช้โครงสร้างของ DNA ที่นักเรียนออกแบบมาเป็นสื่อการเรียนการสอนในเนื้อหาด้วย โดยครูมีกรอบแนวคิดว่าก่อนทำ ระหว่างทำ และหลังทำ นักเรียนวางแผนอย่างไร โดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและนักเรียนมีความรู้สึกอย่างไรเมื่องานสำเร็จ ที่สำคัญในการทำงานเมื่อมีปัญหา อุปสรรค นักเรียนแก้ปัญหานั้นอย่างไรตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเมื่อนักเรียนออกแบบโครงสร้างของ DNA เสร็จแล้วนักเรียนร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และครูเชื่อมโยงสื่อที่นักเรียนทำ(โครงสร้างของDNA) เข้ากับเนื้อหา/สาระการเรียนรู้ที่เรียน
       จากการสังเกตพฤติกรรม/สอบถามนักเรียน/การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และผลงานนักเรียน ปรากฏว่า นักเรียนมีความสุขกับการเรียน(สังเกต/อ่านจากอนุทินของนักเรียน) นักเรียนช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สามัคคี แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ  มีการสืบค้นข้อมูลแหล่งต่างๆมีความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบ  ผลงานถูกต้องตามหลักวิชาการ ฯลฯ ที่สำคัญนักเรียนได้ฝึกกระบวนการคิดตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และปฏิบัติตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
       ผลจากการเรียน เรื่อง ยีนและโครโมโซม ของนักเรียนดีขึ้นนักเรียนมีความรู้ที่คงทนและเรียนรู้อย่างมีความหมายสามารถเชื่อมโยงความรู้เรื่องยีนและโครโมโซมกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้และสมารถนำไปปรับใช้กับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้ นอกจากนี้ครูก็มีความสุขกับการจัดการเรียนการสอน การออกแบบกระบวนการจัดการเรียนการสอน

ผมมั่นใจว่า ครูอ้อ นาตยา โยธาศิริ เป็นครูพอเพียง ที่เหมาะจะเป็นไม่เฉพาะ "ครูแกนนำขับเคลื่อน" แต่เหมาะจะออกมาเป็น "นักขับเคลื่อนฯ" "นักวิชาการ" และ "นักวิจารณ์" ซึ่งเป็นบทบาทที่ผมกำลังฝึกฝนตนเองอยู่ในขณะนี้ ..... สำหรับเรื่องเล่าที่ครูอ้อเขียนนั้น ผมมีความเห็นดังนี้ครับ

เป็นเรื่องเล่า เกือบจะ "เร้าพลัง" เพราะมีเรื่องที่เป็น "เหตุ หรือปัญหา หรือที่มา" และมีมิติของ "ผล หรือผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น" ว่า สามารถแก้ปัญหานั้นสำเร็จได้ ..... แต่ที่ขาดไปคือ เรื่องราว how to  ฯลฯ.... ผมสงสัยว่า นิสิตที่เราจ้างถอดพิมพ์ ทำเอกสารหายไปหรือเปล่า...ฮา


สรุป ตามที่ผมรู้สึก เรื่องเล่าที่ดี จะต้องมีสิ่งต่อไปนี้ครับ

  1. เห็นกระบวนทัศน์ หรือ เห็นแนวคิดของผู้เขียน หรือหากเป็นเรื่องต่อ คือ เห็นภาพ เห็นเรื่องราว  ให้นึกถึง ตอนสมัยเราเป็นเด็ก ที่คอยเฝ้าฟังผู้เฒ่าเล่านิทาน....
  2. เห็นกระบวนการ ไม่เฉพาะเห็นวิธีการ แต่เห็นเหตุ เห็นผลของการเปลี่ยนแปลง หากเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับคน ก็คือการ เล่าให้เห็นประสบการณ์นั่นเอง ...... "หลัก" คือ ประสบการณ์คือสิ่งที่เกิดจากการเรียนรู้  ดังนั้นคำว่าเล่าให้เห็นประสบการณ์ ก็คือเล่าให้ผู้ฟังได้เรียนรู้นั่นเอง ..... การเรียนรู้นี่แหละครับ เคล็ดลับของความสนุก
  3. เห็นมิติของ "เหตุ" เช่นความเป็นมาเป็นไป หรือเห็นปัญหา เพราะ "หลัก" คือ เขียนให้ชวนคิด ท้าทาย ชวนทำ ฯลฯ
  4. เห็นมิติของ "ผล" เช่น คำตอบของปัญหาตามข้อ 3.  ควรจบแบบ Happy Ending  หรือ ทิ้วปมปัญหา ไว้ให้ผู้อ่านช่วยคิด ....
ผมว่า...ผมฟุ้งมากไปแล้ว....ฮา  พอแค่นี้ก่อนครับ


หมายเลขบันทึก: 532416เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2013 23:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 เมษายน 2013 06:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท