เรื่องดีที่ มวล. : Senior Project การดูแลนักศึกษา และผู้ช่วยสอน


โลกการเรียนรู้เปลี่ยนไปแล้ว เป็นการเรียนรู้ด้วย content ใหม่ วิธีใหม่ ที่ไม่ใช่ครูเป็นคนบอก

เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2556 เวลา 09 น. มีการเสวนาคณบดี ครั้งที่ 3/2556 ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 1 อาคารวิชาการ 3 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ครั้งนี้สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ (อ่านที่นี่เป็นเจ้าภาพและเป็นผู้นำเสนอผลงานดีๆ ของตนเอง

รศ.ดร.พูลพงษ์ บุญพราหมณ์ คณบดีสำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ เริ่มต้นด้วยการนำเสนอ VDO ที่ทำขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์หลักสูตรต่างๆ ของสำนักวิชาฯ สร้างเนื้อหาในมุมมองของเด็ก ในเวลาเพียงประมาณ 5 นาทีที่สื่อสารออกไป เราเชื่อว่าเด็กจะรู้ว่าแต่ละหลักสูตรเน้นอะไร เรียนอะไร

ต่อจากนั้นได้เสนอแนวทางในการพัฒนา Senior Project ของนักศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับการนำไปประกอบอาชีพ เราได้รู้ถึงวิสัยทัศน์ของสำนักวิชาฯ จำนวนอาจารย์ จำนวนนักศึกษา ห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยและมีศักยภาพเกี่ยวกับ Motion Capture, Simulation Lab., Virtual reality, Augmented reality

แนวทางในการพัฒนา Project/การวิจัย/การบริการวิชาการ จะเน้น Digital content เน้นที่ความต้องการของภาคอุตสาหกรรม สามารถประยุกต์ใช้กับภาคธุรกิจได้ ฯลฯ อาจารย์พูลพงษ์ได้นำผลงาน Senior Project ของนักศึกษาหลักสูตรต่างๆ มาแสดงให้เห็น เช่น

  • งานของหลักสูตรเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมนครศรีธรรมราช ทำระบบเรื่องอุตสาหกรรมหมู ตั้งแต่ Order processing การผลิต การคำนวณค่าใช้จ่าย การทำ Packaging, Shipping จนถึงการทำรายงาน แบ่งนักศึกษาเป็นทีมๆ ทำงานแต่ละส่วน แต่เชื่อมโยงกันได้ งานแบบนี้สามารถให้บริการแก่ภาคธุรกิจได้
  • หลักสูตรวิทยาการคอมพิวเตอร์ เป็นงานที่ใช้ Kinect applications (ใช้ท่าทางในการควบคุมการนำเสนอ) สถาปัตยกรรมเชิงบริการสำหรับอุปกรณ์ mobile (CES Application) เป็นงานที่ทำให้ศูนย์บริการการศึกษา (เอางานของมหาวิทยาลัยเป็นโครงการ)
  • หลักสูตรการจัดการสารสนเทศ เป็นงานของนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ซึ่งส่งเข้าประกวดด้วยคือเรื่องบทเรียนอาหาร 5 หมู่ สำหรับเด็กเล็กที่ออกแบบตามโจทย์ของ TK Park
  • Multimedia Animation
  • นิเทศศาสตร์ ส่วนใหญ่เป็นสารคดี เราได้ชมสารคดีเรื่อง คนสร้างภาพ (วาดภาพโฆษณา) ที่ดี น่าประทับใจทั้งภาพและเนื้อหา ไม่แพ้สารคดีที่เราได้ชมทางทีวี
  • ได้ชมการสาธิตการใช้โปแกรม Augmented reality ที่พัฒนาเอง แสดงภาพ 3 มิติ

ที่น่าประทับใจอย่างยิ่งคืออาจารย์พูลพงษ์เล่าว่าเด็กที่เข้ามาเรียนส่วนใหญ่ไม่ใช่เด็กเก่งจากมัธยม (ดูจากเกรด) แต่เมื่อเรียนแล้วสามารถสร้างผลงานที่ดีได้อย่างน่าชื่นชม

คณบดีหลายสำนักวิชาได้ชมได้ฟังผลงานของนักศึกษาและศักยภาพของสำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์แล้ว มองเห็นงานที่จะต่อยอดได้เยอะมาก ทั้งในส่วนที่จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเอง และต่อการเรียนการสอนของสำนักวิชาอื่นๆ 

ผศ.ดร. หมุดตอเล็บ หนิสอ คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ เสนอให้ใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ในการสร้าง “เมืองจำลอง” ป้องกันน้ำท่วม สร้างระบบคูคลองว่าน้ำจะไหลอย่างไร สร้างเมือง มวล.จำลอง ว่าถ้ามีต้นไม้อะไร อยู่ตรงไหน หน้าตาของมหาวิทยาลัยจะเป็นอย่างไร เพื่อกระตุ้นการสร้างเมืองสีเขียว

อาจารย์ ดร.เลิศชาย ศิริชัย ให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า 

  • ความเข้มแข็งของสำนักวิชา มีอยู่จริง แต่ทำไมไม่ปรากฏในภาพใหญ่ของมหาวิทยาลัย (สิ่งที่มีคุณค่าระดับสำนักวิชา) 
  • เป็นการพิสูจน์ว่าโลกการเรียนรู้เปลี่ยนไปแล้ว เป็นการเรียนรู้ด้วย content ใหม่ วิธีใหม่ ที่ไม่ใช่ครูเป็นคนบอก ได้ไอเดียในการปรับกระบวนการเรียนหมวดวิชาศึกษาทั่วไป (ที่เป็นอยู่โลกของเด็กและโลกของครู มันคนละโลก โลกของครูไม่ response กับคนเรียน)
  • โลกเทคโนโลยีเปลี่ยนวิธีคิดและวิถีชีวิตของผู้คน... ชีวิตเป็นส่วนๆ ไม่จำเป็นต้องโยงกัน คนทำอะไรได้พร้อมกันหลายๆ เรื่อง (ฟังบรรยายไป เล่นเกม สื่อสารทางออนไลน์ไปด้วย) ต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสังคมจึงจะปรับตัวได้ เด็กสามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ได้...มีทั้งเรื่องดี เรื่องไม่ดี เราต้องสร้างระบบที่จะช่วยให้นักศึกษาตัดสินใจได้ (เพิ่มศักยภาพการเลือกของเด็ก)

คณบดีหลายคนเห็นศักยภาพของอาจารย์และนักศึกษาสำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ อยากใช้บริการในเรื่องการทำ VDO ประชาสัมพันธ์ การสร้างสื่อช่วยการเรียนการสอน เป็นต้น

ประเด็นต่อไปเราคุยกันเรื่องการพัฒนานักศึกษา ซึ่งในวันนี้หัวหน้าส่วนกิจการนักศึกษา คุณปิยวัชน์ คงอินทร์ พาทีมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาร่วมคุยและรับฟังความเห็นด้วย เราได้รู้ว่าส่วนกิจการนักศึกษามีงาน/โครงการ/กิจกรรมอะไรบ้าง มีงบประมาณมากน้อยเพียงใด กำลังทำเรื่องระบบที่ปรึกษาสุขภาวะทางเพศร่วมกับสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์และองค์การแพธ ฯลฯ

หอพักได้ถูกออกแบบให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้วย บางกลุ่มที่เรียนจบช้ามีปัญหา/นำปัญหาเข้ามา มีปัญหาเรื่องการซ่อมแซมที่ล่าช้า จึงมีโครงการ “ซ่อมหอ รอน้อง จ้างนักศึกษามาทำ

รศ.ดร.สมนึก เอื้อจิระพงษ์พันธ์ คณบดีสำนักวิชาการจัดการ เสนอแนะว่าควรจะแยกหอพักออกมาเป็นวิสาหกิจ วิเคราะห์ operation cost เอารายได้มาซ่อมแซมหอให้น่าอยู่หรือสร้างอาคารใหม่... ส่วนกิจการนักศึกษาต้องพาตัวเองมาเป็นส่วนหนึ่งของสำนักวิชา เช่น เข้าร่วมประชุมกับสำนักวิชา รายงานปัญหา เอาข้อมูลจากสำนักวิชาไปทำแผนพัฒนานักศึกษา เข้าร่วมกิจกรรมกับสำนักวิชา เป็นต้น

ผศ.พญ.มยุรี วศินานุกร คณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ เล่าว่าสำนักวิชาฯ ดูแลนักศึกษาใน 2 เรื่องคือดูแลความเป็นอยู่ทั่วไป และกิจกรรมเสริมหลักสูตร เสริมทักษะศตวรรษที่ 21 มีเจ้าหน้าที่สนับสนุนกี่คน แต่ละคนรับผิดชอบเรื่องใด และยังพูดถึงความสำคัญของการสร้างแรงบันดาลใจ

พูดคุยกันอีกหลายเรื่อง เช่น Mind set เรื่องของการรวมบริการ ประสานภารกิจ “ผลงานของเขาคืองานของเรา” เรื่องสุดท้ายที่คุยกันคือการจ้างผู้ช่วยสอน (TA) ว่ามหาวิทยาลัยควรดำเนินการอย่างไร ควรใช้หลักเกณฑ์ใดในการกำหนดจำนวน TA ใครควรเป็นผู้กำหนดภาระงานและเงินเดือน มีผู้ให้ข้อคิดว่าน่าจะให้คณบดีสามารถออกแบบการใช้ TA เพื่อแก้ปัญหาการเรียนการสอนในหลักสูตรทุกระดับได้ ไม่ควรไปยึด function ของ TA แบบ conservative

อาจารย์เลิศชายได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับการทำงานของผู้บริหาร (ระดับหนึ่งในมหาวิทยาลัย) ที่ดิฉันคิดว่าผู้บริหารระดับใดก็นำไปใช้ได้ว่า “ผู้บริหารต้องคอยเงี่ยหูฟัง แล้วสนับสนุน ต้องสมาทานกับความคิดเห็นที่หลากหลาย สร้างบรรยากาศของการหาทางออก ต้องอดทนมากกว่าคนอื่น...”

การเสวนาคณบดีครั้งนี้ ได้สาระและความคิดเห็นดีๆ มากมาย ปิดการเสวนาเมื่อเกือบ 12.30 น. 

วัลลา ตันตโยทัย


หมายเลขบันทึก: 532252เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2013 19:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 เมษายน 2013 19:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท