Be green
กลุ่มงานส่งเสริมและเผยแพร่ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 14

ร้านรับซื้อของเก่าสีเขียว


ปี 2556 ส่วนส่งเสริมการจัดการสิ่งแวดล้อม สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 14 ได้รับมอบหมายดำเนินงานโครงการเสริมร้างสมรรถนะการบริหารจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายชุมชน ซึ่งประกอบด้วย 6 โครงการย่อย โดยแต่ละโครงการย่อยมุ่งส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการจัดการขยะทั้ง 4 ประเภท ได้แก่ ขยะอินทรีย์ ขยะรีไซเคิล ขยะอันตราย และขยะทั่วไป

เนื่องจากโครงการย่อย 6 โครงการ มีรายละเอียดการดำเนินงานอีกมาก เจ้าหน้าที่ส่วนส่งเสริมฯ จึงประชุมจัดทำแผนการปฏิบัติงานของทั้ง 6 โครงการ และโครงการแรกที่เริ่มต้น คือ โครงการร้านรับซื้อของเก่าสีเชียว

โครงการร้านรับซื้อของเก่าสีเขียว มีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ร้านรับซื้อของเก่ามีระบบการจัดการร้านที่ดี ไม่ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนข้างเคียง และส่งเสริมสนับสนุนร้านรับซื้อของเก่าในการพัฒนาการบริหารจัดการร้านให้เป็นต้นแบบที่ดี และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่อื่นต่อไป

รูปแบบการดำเนินงาน คือ คณะกรรมการในระดับพื้นที่ตรวจประเมินร้านรับซื้อของเก่าที่สมัครเข้าร่วมโครงการ  โดยกำหนดการผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 3 ระดับ คือ ระดับพื้นฐาน ระดับดี และระดับดีเยี่ยม

ที่ผ่านมา กรมควบคุมมลพิษ หรือสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเป็นผู้ดำเนินงานร้านรับซื้อของเก่าสีเขียว  และเมื่อสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 14  ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการ ในปี 2556 


เริ่มต้นการดำเนินงานร้านรับซื้อของเก่า

ด้วยการสอบถามจากผู้ที่เคยทำมาแล้ว..คือ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสุราษฎร์ธานี (ทสจ.สุราษฎร์ธานี) ......ที่ผ่านมา

-  ข้อมูลเกี่ยวกับร้านรับซื้อของเก่าต้องติดต่อใคร....จากปกครองจังหวัด

-  ปีที่แล้วมีร้านเข้าร่วมมากน้อยแค่ไหน.....ประมาณ 10 ร้าน แต่ปีที่แล้ว 2555 กรมควบคุมมลพิษดำเนินการเอง แต่เมื่อปี 2554 ทสจ.สุราษฎร์ธานี ดำเนินการ มีร้านเข้าร่วม 19 ร้าน

-  มีการเริ่มต้นอย่างไรบ้าง ... ขอรายชื่อร้านรับซื้อของเก่าจากปกครองจังหวัด ซึ่งจะมีชื่อร้าน ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์  ส่งหนังสือเชิญประชุมชี้แจงโครงการ ในวันประชุมชี้แจงโครงการ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงาน  หลักเกณฑ์การประเมิน และสิ่งที่ร้านจะได้รับเมื่อเข้าร่วมโครงการ โดยให้ร้านสมัครเข้าร่วมโครงการในวันนั้น  จากนั้นจึงแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจประเมินร้านับซื้อของเก่า เพื่อติดตามตรวจประเมินร้าน จำนวน 2 ครั้ง และส่งผลการตรวจประเมินให้แก่กรมควบคุมมลพิษ

ในส่วนคณะกรรมการตรวจประเมินร้านฯ มีการประชุมเพื่อชี้แจง สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การประเมิน และให้ข้อมูลร้านรับซื้อของเก่า  ก่อนจะไปประเมินร้าน

จุดอ่อน ที่ผ่านมา ผลประโยชน์ที่ร้านจะได้รับจากการเข้าร่วมโครงการฯ

เมื่อเข้าใจ มองเห็นภาพการทำงาน แล้ว จึงกลับมาวิเคราะห์ วางแผน ทำงานกันต่อ

ขั้นตอนที่ 1  คือ ต้องได้จำนวนและรายชื่อร้านที่สมัครเข้าร่วมโครงการร้านรับซื้อของเก่าสีเชียว

ปุจฉา คือ ทำอย่างไรร้านรับซื้อของเก่าจะเข้าร่วมโครงการ และร้านที่เข้าร่วมจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง ?

ช่วยกันคิด  โดยส่วนใหญ่เจ้าของร้านรับซื้อของเก่าจะไม่ค่อยมีเวลาที่จะเข้าร่วมประชุม ถ้าใช้รูปแบบของ ทสจ.ก็เป็นการประหยัดเวลา คือการจัดประชุมชี้แจงสร้างความเข้าใจ โครงการฯ และให้สมัครเข้าร่วมโครงการในคราวเดียวกัน เพื่อจะทำให้การตัดสินใจเข้าร่วมเป็นไปอย่างไม่มีข้อสงสัย  เนื่องจากการสมัครเข้าร่วมโครงการ ต้องเป็นความสมัครใจของเจ้าของร้าน

คิดต่อ... ในวันประชุมเมื่อเจ้าของร้านรับซื้อของเก่าเสียสละเวลา ให้ความร่วมมือแล้ว เขาควรจะได้อะไรกลับไปบ้าง ประกอบกับการสร้างจูงใจว่า เข้าร่วมโครงการแล้วจะได้ประโยชน์อย่างไร

จึงเห็นว่าร้านรับซื้อของเก่าเป็นธุรกิจอย่างหนึ่ง ถ้าให้ผู้ประกอบการที่ทำในเรื่องเดียวกัน และเข้าร่วมโครงการร้านรับซื้อของเก่าสีเขียว แล้วผ่านเกณฑ์มาตรฐานในระดับดี หรือ ดีเยี่ยม มาคุยให้ฟังเพื่อเป็นตัวอย่างแก่ผู้ประกอบอื่นๆ น่าจะได้รับความสนใจ

อีกประเด็นหนึ่ง ในบางครั้งร้านรับซื้อของเก่าอาจรับซื้อภาชนะบรรจุสารเคมี หรือวัตถุอันตราย และนำมาเก็บไว้ภายในร้าน หากไม่มีการป้องกัน ก็อาจส่งผลเกิดอุบัติเหตุระเบิดได้ ดังตัวอย่างจากข่าวที่เกิดขึ้น ดังนั้น จึงควรให้ความรู้เรื่องสารเคมีและวัตถุอันตราย  การจัดการของเสียอันตราย การเรียนรู้พิษภัยที่จะเกิดขึ้นกับสุขภาพ

วิสัจฉนา

ด้านเนื้อหา เชิญวิทยากรให้ความรู้ ได้แก่ ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการร้านรับซื้อของเก่าสีเขียวและได้รับรางวัลดีเยี่ยม  ผู้แทนจากกรมควบคุมมลพิษ ผู้แทนจากสำนักป้องกันควบคุมโรคที่ 11

ด้านผู้ประกอบการ  ส่งหนังสือเชิญเข้าร่วมประชุมโครงการฯ ก่อนวันประชุมได้โทรประสานการตอบรับเข้าร่วมประชุม ซึ่งได้รับการตอบที่ดี

ด้านคณะกรรมการ  จัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามประเมินร้านรับซื้อของเก่าสีเขียว โดยก่อนทำคำสั่งได้โทรประสานในเบื้องต้นต่อการเข้าร่วมเป็นกรรมการ ซึ่งได้รับการตอบรับด้วยดี และเชิญคณะกรรมการเข้าร่วมการประชุมชี้แจงโครงการในคราวเดียวกัน เพื่อมีความเข้าใจร่วมกันในการดำเนินงาน

เตรียมการเรียบร้อย

วันประชุมชี้โครงการ วันที่ 29 มกราคม 2556  เป้าหมายผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน 50 คน ปรากฏว่ามีผู้เข้าร่วมประชุม รวมทั้งหมดประมาณ 20 คน โดยได้ประสานไปยังร้านต่างๆ ส่วนใหญ่จะเป็นเหตุผลและได้รับคำตอบคล้ายกัน คือ  “ ต้องขอโทษจริงๆ  งานยังยุ่งมาก  คงไม่สามารถไปร่วมประชุมได้ แต่ถ้ามีอะไรยินดีให้ความร่วมมือ”  ในขณะที่เป้าหมายที่กำหนดไว้ คือ มีร้านสมัครเข้าร่วมโครงการ ไม่น้อยกว่า 30 ร้าน  แต่มีร้านสมัครเข้าร่วมโครงการ 4 ร้าน และบางส่วนมาประชุมแทนต้องนำเรื่องกลับไปแจ้งเจ้าของร้านอีกครั้ง 


หลังจากการประชุม ส่วนส่งเสริมจึงได้ล้อมวงคุยกัน ทบทวน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำอย่างไรจะมีร้านสมัครเข้าร่วมมากขึ้น ได้ย้อนกลับไปว่า ร้านรับซื้อของเก่ามีหลายขนาด บางร้านมีลูกจ้างบ้าง  บางร้านก็ไม่มีบ้าง ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องทำแทบเองทุกอย่าง ทำให้ไม่มีเวลาปลีกตัวออก  จึงคิดในมุมกลับไปว่า “เมื่อเขามาไม่ได้  เราก็ไปหาเขาเอง” ซึ่งจะเป็นผลดีได้อย่าง คือ การเข้าถึงตัว สร้างความเข้าใจ  ความคุ้นเคยได้มากกว่า ข้อเสีย คือต้องใช้เวลาพอสมควร


ข้อสรุป ปรับแผนการทำงาน คือ ““เมื่อเขามาไม่ได้  เราก็ไปหาเขาเอง”

ทำการหารายชื่อ โทรประสานจะเข้าไปพบ นัดหมายเวลาเรียบร้อย

ลงพื้นที่พบเจอผู้ประกอบการ  ชี้แจงโครงการ สร้างความเข้าใจ เป้าหมายของโครงการ และเชิญชวนสมัคร พร้อมมอบเอกสารคู่มือการปฏิบัติงานร้านรับซื้อของเก่า

สิ่งที่ได้รับกลับมา แม้จะมีเวลาคุยกันน้อย  บางร้านก็มีลูกค้ารอคิว  แต่มีรอยยิ้ม และยินดีสมัครเข้าร่วมโครงการเป็นอย่างดี และได้ข้อมูลแนะนำไปยังร้านต่างๆที่อยู่ใกล้เคียง


สุดท้ายแล้ว มีร้านสมัครเข้าร่วมโครงการ 16 ร้าน 

บทสรุปของขั้นตอนที่ 1  ข้อแนะนำสำหรับการดำเนินงานในขั้นตอนนี้ คือ

ควรติดต่อร้านรับซื้อของเก่า โดยการลงพื้นที่คุยกับทางร้านสร้างความเข้าใจก่อน  เมื่อได้ร้านที่สมัครเข้าร่วมเรียบร้อยแล้ว จึงทำการประชุมชี้แจงโครงการ ซึ่งทางผู้ประกอบการจะได้รับทั้งองค์ความรู้ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้ประกอบการร้านด้วยกัน ซึ่งเป็นไปตามความคาดหวังของผู้จัด

ขั้นตอนที่ 2 คือ การติดตามประเมินร้านรับซื้อของเก่า โดยคณะกรรมการที่แต่งตั้งในระดับจังหวัด จะเร่มดำเนินการเดือนเมษายน 2556 ผลเป็นอย่างไร


หมายเลขบันทึก: 532227เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2013 14:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 เมษายน 2013 14:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท