สถานการณ์ใต้ ตอนที่ 11: ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับปัตตานี : ยุคสมบูรณาญาสิทธิราช ตอนที่ 2


    มาถึงการเมืองในปัตตานีกันต่อครับ

     วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2444 กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ออกระเบียบบริหารราชการ 7 หัวเมือง มณฑลปาตานี รศ. 116

     วันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2444 พระยาศักดิ์เสนีย์ ผู้สำเร็จราชการมณฑลปาตานี นำกำลังทหารเจ้าหน้าที่ ศุลกากรบังคับให้เจ้าเมืองปาตานี คือ ตึงกูอับดุลกอเดร์ ลงนามรับรองระเบียบการปกครองใหม่ รศ. 116 เจตนาคือต้องการปลดตำแหน่งของตึงกูอับดุลกอเดร์ในฐานะเจ้าเมืองปาตานี ซึ่งเป็นสัญลักษณ์อธิปไตยของปวงชนชาวปาตานี จึงทำให้ตึงกูอับดุลกอเดร์โกรธเคืองเป็นอย่างยิ่ง แต่ทางสยามข่มขู่กลับด้วยการจับตัว ต่วนลือเบะห์ เจ้าเมืองรามันไว้ ทำให้ชาวปาตานีรวมตัวกันขึ้นทั้งที่ปัตตานี รามัน ระแงะ สายบุรี ยะลา ยะหริ่ง และหนองจิก ด้วยความคาดหวังว่าฝรั่งเศสที่มีอำนาจและอิทธิพลทางแหลมอินโดนจีนจะเข้าโจมตีสยามทางทิศตะวันออก อันจะเป็นโอกาสให้เจ้าเมืองมลายูทั้งหลายประกาศเอกราชเป็นอิสระจากสยาม การเตรียมการลุกขึ้นสู้ครั้งนี้ของเจ้าเมืองมลายูได้ขอความช่วยเหลือสนับสนุนไปยังประเทศตะวันตกต่างๆ และล่วงรู้ไปถึงกรุงเทพฯ

      23 ตุลาคม พ.ศ. 2444 พระยาศรีสหเทพ รัฐมนตรีช่วยมหาดไทย ได้เข้าพบตึงกูอับดุลกอเดร์ เจ้าเมืองปาตานี เพื่อขอทราบเหตุผลความไม่พึงพอใจและได้รับการชี้แจงว่า กรณีความขัดแย้งนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่สยามได้แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการและข้าราชการสยามมาปกครองปาตานี ทำให้ความเป็นอยู่ของเจ้าเมืองปาตานีถูกดูหมิ่นและถูกลิดรอนอำนาจ ราษฎรต้องได้รับเคราะห์ในหลายๆเรื่อง เพื่อแก้ปัญหานี้เจ้าเมืองปาตานีมีข้อเสนอ ดังนี้

      1. เจ็ดหัวเมืองขอปกครองเหมือนเคดะห์ (เขตปกครองพิเศษ) ส่วนใดที่เป็นอำนาจของสุลต่านสามารถนำกฎหมายอิสลาม (ชารีอะห์) ซึ่งเป็นกฎหมายพื้นฐานของอิสลามออกมาบังคับใช้เองได้ ยกเว้นการพิจารณาคดีที่ลงโทษถึงขั้นประหารชีวิต

       2. ให้ใช้ภาษามลายูเป็นภาษาราชการ

        จะเห็นได้ว่าทั้งสองข้อเสนอข้างต้นมีความคล้ายคลึงกับข้อเรียกร้อง 7 ข้อของหะยีสุหลง (เรื่องนี้จะมีการพูดถึงในตอนหลัง) มีการยกตัวอย่างของรัฐเคดะห์ที่อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษขึ้นมาเปรียบเทียบ ภายใต้นโยบายของอังกฤษในแหลมมลายูที่ให้อิสระแก่หัวเมืองมลายูในการปกครองตัวเองระดับหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากนโยบายของสยามที่ปกครองหัวเมืองมลายูแบบบังคับควบคุมหัวเมืองมลายูจึงต้องการอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษมากกว่าสยาม

        สยามจึงต้องแสดงให้อังกฤษเห็นว่าปาตานีและหัวเมืองทั้ง 7 ยอมรับการปกครองของสยาม พระยาศรีสหเทพจึงได้เดินทางเข้าพบตึงกูอับดุลกอเดร์ด้วยหนังสือฉบับหนึ่งที่เป็นภาษาไทย อ้างว่าเป็นหนังสือคำร้องเรียนของตึงกูอับดุลกอเดร์เพื่อนำเสนอต่อกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระยาศรีสหเทพรับรองว่าหนังสือดังกล่าวไม่ใช่เอกสารสัญญาและไม่มีข้อผูกพันใดๆ ตึงกูอับดุลกอเดร์ขอให้ล่ามแปลเป็นภาษามลายูเสียก่อน พระยาศรีสหเทพจึงได้จัดให้มีคนมาแปลและให้คำรับรองว่าหนังสือไม่เกี่ยวกับสัญญาที่มีข้อผูกมัด หากจะให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารขึ้นใหม่ก็สามารถทำได้ภายหลัง ตึงกูอับดุลกอเดร์จึงได้ลงนามในเอกสารนั้น พระยาศรีสหเทพรีบเดินทางต่อไปยังสิงคโปร์เข้าพบ Sir Frank A. Swettenham ข้าหลวงใหญ่อังกฤษซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ว่าการตะวันออกเฉียงใต้ของอังกฤษ และแสดงหนังสือที่ตึงกูอับดุลกอเดร์ลงนามไว้ว่ามีการยอมรับรูปแบบการปกครองใหม่ของสยามที่ได้กำหนดขึ้น และได้รายงานว่าปัญหาความไม่พอใจของชาวมลายูปาตานีนั้นไม่มีแล้ว

       ฝ่ายตึงกูอับดุลกอเดร์นั้น หลังจากที่พระยาศรีสหเทพได้เดินทางออกไป ก็ได้ให้เลขานุการแปลเอกสารดังกล่าว ปรากฎว่าแตกต่างตรงข้ามกันจากที่พระยาศรีสหเทพและล่ามคนสยามได้แปลไว้ แต่เอกสารที่พระยาศรีสหเทพได้นำไปแสดงต่อกรมพระยาดำรงราชานุภาพซึ่งตึงกูอับดุลกอเดร์ลงนามไปแล้วนั้นเป็นเอกสารแสดงเจตจำนงยอมรับในการปกครองตามระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน รศ.116 ต่อมาพระศรีสหเทพเรียกประชุมเจ้าหัวเมืองทั้ง 7 เพื่อชี้แจงรูปแบบการปกครองเมืองปาตานีใหม่ แต่ตึงกูอับดุลกอเดร์ไม่ยอมเข้าร่วมประชุมด้วย

     จากนั้นมีการรวมหัวเมืองปาตานีใหม่ตามกฎหมาย รศ.116 เป็น 2 เขตคือ

     1. ส่วนของปาตานีจะรวม ปาตานี หนองจิก รามัน ยะลา

      2. ส่วนของสายบุรี จะรวมสายบุรี กะลาพอ และระแงะ

      ในแต่ละส่วนจะมีการแต่งตั้งผู้ว่าราชการ ผู้ช่วยผู้พิพากษา หัวหน้าการคลังรวมทั้งผู้ช่วยของแต่ละฝ่าย โดยเฉพาะผู้ว่าฯ จะรับผิดชอบการบริหารราชการทั้งปวงภายใต้การดูแลของผู้สำเร็จราชการ มีอำนาจคัดค้านและยกเลิกคำสั่งของเจ้าเมืองที่ขัดต่อกฎหมายของสยาม อำนาจที่ปลัดเมืองหรือเจ้าเมืองไม่อาจกระทำได้คือ

     1. การออกกฎหมาย

      2. การรับเหมาเก็บภาษีจากประชาชน

       3. การให้สัมปทานเหมืองแร่ ทำไม้ กับบริษัทหรือองค์กรต่างประเทศ

       4. การลงโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิตแก่จำเลย

        เงื่อนไขทั้งสี่ข้อนี้เท่ากับเป็นการลิดรอนอำนาจทั้งหมดของเจ้าครองนครต่างๆ ตึงกูอับดุลกอเดร์ไม่ยอมลงนาม พร้อมทั้งได้ทำหนังสือคัดค้านมอบให้พระยาศรีสหเทพเพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระจุลจอมเกล้า แต่กรุงเทพฯ ไม่สนใจต่อการคัดค้านจากเจ้าเมืองมลายูปาตานี เพราะต้องการยกเลิกการปกครองแบบสุลต่านหรือราชาของชาวมลายู ในหนังสือถึงกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวว่าท่านเสียใจมากต่อการกระทำดังกล่าวของสยามซึ่งได้เคยให้เจ้าเมืองมลายูปาตานีได้ปกครองบ้านเมืองตัวเองเป็นปกติสุขอย่างที่เคยปกครองมาแต่อดีต ทั้งๆ ที่อดีตพระมหากษัตริย์ได้ออกหนังสือแต่งตั้งและรับรองให้เจ้าเมืองปาตานีได้ปกครองบ้านเมืองของตัวเองอย่างเป็นธรรมเช่นเดียวกับบรรพบุรุษในอดีต ในหนังสือท่านได้เตรียมข้อเสนอ เพื่อความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสยามกับปาตานี ความว่า สยามต้องให้เกียรติ์และเคารพต่อเอกราชของปาตานีเพื่อเป็นการรักษารูปแบบการปกครองเมืองมลายูปาตานีในอดีต”  

     ข้อเสนอของเจ้าเมืองปาตานีต่อสยามในขณะนั้น ได้แก่

     1. เจ้าเมืองปาตานีต้องมีอำนาจในการแต่งตั้งหรือถอดถอนข้าราชการสยามที่กระทำผิด

      2. เจ้าเมืองปาตานียินยอมที่จะให้กำลังตำรวจ 60 นาย พร้อมอาวุธปฏิบัติในดินแดนมลายูปาตานี

    3. ให้ใช้ภาษามลายูเป็นภาษาในการติดต่อราชการไม่ใช่เฉพาะภาษาสยาม

     4. ยินยอมที่จะส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทองให้ทางกรุงเทพเช่นเดียวกับประเพณีที่ปฏิบัติมาในอดีต

     ทั้งนี้ สยามได้ขอให้ Swittenham ในฐานะข้าหลวงใหญ่ที่รับผิดชอบอาณานิคมในภาคตะวันออกเฉียงใต้เป็นตัวกลางในการเจรจากับเจ้าเมืองปาตานี

     ข้อเสนอของสยามต่อเจ้าเมืองปาตานีในขณะนั้น ได้แก่

     1. สยามไม่ต้องการพิจารณาข้อเรียกร้องต่างๆ ของเจ้าเมืองปาตานีและต้องการตัดทอนอำนาจเจ้าเมือง

      2. ตั้งผู้แทนจากอังกฤษเข้าไปในปาตานีเพื่อพิสูจน์ความจริงที่อังกฤษตั้งข้อกล่าวหา

      3. สยามมอบความไว้วางใจแก่อังกฤษทำความเข้าใจกับเจ้าเมืองมลายู ส่วนการปกครองในเมืองปาตานี สยามจะให้คนปาตานีปกครองเอง

     Swittenham จึงขอให้ปาตานีส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทองไปยังเมืองหลวงเหมือนเดิม

      การเจรจายืดเยื้อต่อไป Swittenham  ขอให้เจ้าเมืองมลายูได้ใช้ภาษามลายูเป็นภาษาราชการในเมืองปาตานี กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงปฏิเสธการที่ตึงกูอับดุลกอเดร์จะเป็นตัวแทนเจ้าเมืองมลายูทั้ง 7 เพื่อต่อรองเกี่ยวกับกฎระเบียบฉบับใหม่ พระองค์ทรงเห็นว่าการต่อรองเท่ากับเป็นการท้าทายอำนาจสยาม

     วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2445 เวลาบ่ายสามโมงเจ้าหน้าที่สยามไปตามตึงกูอับดุลกอเดร์มาพบพระยาศรีสหเทพ เมื่อละหมาดฟัรดูอาซัรเรียบร้อยแล้ว ตึงกูอับดุลกอเดร์พร้อมด้วยผู้ติดตาม 20 คน เดินทางไปพบพระยาศรีสหเทพ พระยาศรีสหเทพได้ขอให้ตึงกูอับดุลกอเดร์ ลงนามในเอกสารเห็นด้วยกับระเบียบในการปกครองส่วนภูมิภาค แต่ตึงกูอับดุลกอเดร์ไม่ยอมลงนาม จึงถูกจับกุมตัวลงเรือเพื่อนำไปยังจังหวัดสงขลา ตึงกูอับดุลกอเดร์ถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏและถูกสั่งจำคุก 10 ปี โดยถูกนำเข้าคุมขังที่จังหวัดพิษณุโลก ตำแหน่งเจ้าเมืองปาตานีของตึงกูอับดุลกอเดร์ถูกประกาศให้สิ้นสุดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2445ตึงกูอับดุลกอเดร์จึงเป็นพระยาเมืองชาวมลายูที่ปกครองปาตานีเป็นคนสุดท้าย

      วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2445 ผู้สำเร็จราชการมณฑลนครศรีธรรมราช พระยาสุขุม ได้รับคำสั่งให้จับกุมเจ้าเมืองระแงะ ตึงกูเงาะห์ วัมซูดิน พร้อมด้วยบริวาร 8 คน และนำตัวไปควบคุมไว้ที่จังหวัดสงขลา เจ้าเมืองสายบุรี ตึงกูอับดุลมุตตอลิบ ก็ถูกจับกุมด้วยอีกคนหนึ่ง ต่อมาต่วนลือเบะห์ ลงรายา เจ้าเมืองรามันก็ถูกจับกุมตัวถูกนำไปไว้ที่สงขลา ระหว่างที่นำตัวไปกรุงเทพ ท่านได้เสียชีวิตลงโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ประชาชนในแหลมมลายูและหนังสือพิมพ์ต่างๆ ที่ออกในมลายูต่างเรียกร้องให้อังกฤษเข้าไปแทรกแซง ให้สยามปลดปล่อยปาตานีไปอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษเช่นเดียวกับเมืองมลายูอื่นๆ

       Swittenham แสดงความผิดหวังและไม่พอใจต่อสยามที่กระทำต่อมลายูเช่นนั้น Swittenham ได้จัดสถานที่ให้อดีตเจ้าเมืองและชาวปาตานีลี้ภัยเข้าไปอยู่ในดินแดนมลายูภายใต้การปกครองของตน

       ภายหลังสยามได้ตัดสินใจปล่อยบรรดาเจ้าเมืองที่ถูกคุมขังและจองจำให้เป็นอิสระ ตึงกูอับดุลกอเดร์ได้รับการปล่อยตัวเป็นคนสุดท้าย เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2447 หลังจากถูกควบคุมตัวนาน 27 เดือน กล่าวว่าเป็นเพราะผู้ว่าพิษณุโลกบังคับให้ยอมรับว่าการที่ฝ่าฝืนไม่ยอมลงนามตั้งแต่แรกเพราะการยุยงของ Swittenham ผู้แทนอังกฤษ หลังจากถูกปล่อยตัวปีรุ่งขึ้น พ.ศ. 2449 ตึงกูอับดุลกอเดร์พร้อมด้วยครอบครัวเดินทางออกจากปาตานีไปอาศัยอยู่ในรัฐกลันตัน

      กล่าวโดยสรุป ปัตตานีได้มีการเปลี่ยนแปลงจาก 7 หัวเมืองอีกครั้ง โดยแยกรวมกันใหม่อีกคือ ปาตานี หนองจิก ยะหริ่ง รวมเป็นจังหวัดปัตตานี  รามัน ยะลา รวมกันเป็นจังหวัดยะลา ตะลุบัน ระแงะ สายบุรี รวมกันเป็นจังหวัดสายบุรี ภายหลังให้สายบุรีไปรวมในจังหวัดปัตตานี และแยกระแงะไปรวมกับจังหวัดนราธิวาส เป็นอันสิ้นสุดอาณาจักรปาตานี รัฐมลายูอิสลาม      

     การประกาศใช้ข้อบังคับดังกล่าวมีอุปสรรคอยู่หลายประการ เช่น การไม่ให้ความร่วมมือจากเจ้าเมืองต่างๆ ตลอดจนบรรดาข้าราชการในเมืองนั้น ๆ เพราะระบบใหม่ได้บีบบังคับให้บรรดาเจ้าเมืองเหล่านั้น ซึ่งแต่ก่อนเคยดูแลเมืองในนามของกษัตริย์เท่านั้น แต่ต้องเปลี่ยนมาทำตามคำสั่งของกษัตริย์ และกฎหมายที่ออกมาจากเมืองหลวงทำให้ขาดเสรีภาพ และถูกลดอำนาจด้านการปกครองตนเอง ประจวบกับสยามเองต้องเสียดินแดนบางส่วนให้กับอังกฤษตามสนธิสัญญาพ.ศ.2445 และในปีเดียวกันนี้ พระยาวิชิตภักดี หรือ ตึงกูอับดุลกอเดร์ (Tengku Abdul Kadir Kammaruddin ibni AL-Marhum Sultan Sulaiman Shariffuddin Syah(พ.ศ. 2442-2445) ซึ่งเป็นเจ้าเมืองปัตตานีถูกจับและขังไว้ที่บ่อในวัดแห่งหนึ่งของจังหวัดพิษณุโลก ในข้อหาพยายามก่อการขบถ

      สิ่งที่เกิดขึ้นกับปัตตานีในรอบร้อยปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเมื่อใส่ใจกับขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นอิสระของปัตตานี เป็นความสัมพันธ์ระหว่าง“ความจริง”กับ“ความรุนแรง” แต่ไม่ว่าความรุนแรงจะส่งผลให้“ความจริง”ที่ปรากฏในแต่ละยุคแต่ละตอนเป็นเช่นไร เหตุการณ์ปลายปี พ.ศ. 2444 และต้นปี 2445 ที่มักถูกเรียกกันว่า“ขบถเจ้าแขกเจ็ดหัวเมือง”หรือ พระยาแขกเจ็ดหัวเมืองคิดขบถ” ในฐานะเหตุการณ์ที่เป็นสิ่งอ้างอิงซึ่งจะแปรสภาพเป็นปริบททางประวัติศาสตร์ของปัตตานี ไม่ว่าจะในฐานะชัยชนะแห่งการปฏิรูปการปกครองของสยาม หรือความอัปยศอย่างที่สุด ของผู้คนจำนวนหนึ่งในปัตตานี ก็เริ่มต้นขึ้นด้วยประวัติศาสตร์แห่งความลวงที่ทิ้งร่องรอยไว้กับสังคมไทยเป็นเวลาร่วมหนึ่งศตวรรษ

       เมื่อพิจารณาจากประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับหัวเมืองมลายูประเทศราช จะเห็นได้ว่ากลุ่มบุคคลชั้นผู้นำของหัวเมืองมลายูดังกล่าว โดยเฉพาะผู้สืบเชื้อสายเจ้าเมืองปัตตานีมักตระหนักถึงประวัติศาสตร์แห่งความเจริญรุ่งเรืองของดินแดนของตน ซึ่งตนมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะต้องปกปักรักษาเอากลับคืนมาให้ได้ ในกรณีที่ถูกยึดครองโดยศูนย์อำนาจอื่น จึงมักใช้วิธีการ“ต่อสู้”ต่อต้านศูนย์อำนาจนั้นๆ ซึ่งในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19-24 คือราชอาณาจักรไทย โดยเฉพาะในยามที่ไทยมีปัญหาหรือดำเนินนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อการสูญเสียสถานภาพเดิมของผู้นำท้องถิ่น ฝ่ายไทยก็จะมองว่าปฏิริยาดังกล่าวเป็น“การกบฏ”หรือ“แข็งเมือง”ซึ่งจะต้องยกทัพมาปราบปรามเพื่อให้อยู่ในขัณฑสีมาตามเดิม ในขณะที่ชาวพื้นเมืองปัตตานีจะมองว่าการกระทำของพวกตนเป็น“การต่อสู้เพื่ออิสรภาพหรือดำรงไว้ซึ่งเอกราชของตน”ลักษณะเช่นนี้จะดำเนินต่อมา แม้เมื่อหัวเมืองประเทศราชมลายูได้เปลี่ยนฐานะมาเป็นสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยแล้ว

หนังสืออ้างอิง

กฤตยา อาชวนิจกุล, กุลภา วจนสาระ,และหทัยรัตน์ เสียงดัง. ความรุนแรงและความตายภายใต้นโยบายรัฐ : กรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้. http://www.ipsr.mahidol.ac.th/IPSR/AnnualConference/ConferenceII/Article/Article12.htm เข้าถึงเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2556

วศินสุข. ข้องใจในประวัติศาสตร์ปัตตานี.

http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2006/12/K4950974/K4950974.html เข้าถึงเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2556.

รัตติยา สาและ .(2544). การปฏิสัมพันธ์ระหว่างศาสนิกที่ปรากฏในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

สุภัตรา ภูมิประภาส. : สี่กษัตริยาปตานี : บัลลังก์เลือด และตำนานรักเพื่อแผ่นดิน. http://www.oknation.net/blog/print.php?id=209991 เข้าถึงเมื่อ 5 มีนาคม 2556

อ. อับดุชชะกูร์ บินชาฟิอีย์(อับดุลสุโก ดินอะ). ยุทธศาสตร์การเข้าใจ เข้าถึงและพัฒนาชุมชน

มุสลิมจังชายแดนภาคใต้. http://www.oknation.net/blog/print.php?id=84138 เข้าถึงเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2556.

.ไม่มีชื่อผู้แต่ง. บทความประวัติเมืองปัตตานี. http://atcloud.com/stories/23146. เข้าถึงเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2556.



หมายเลขบันทึก: 532143เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2013 20:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 เมษายน 2013 20:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท