ทักษะพื้นฐานการบรรเลงดนตรีไทย


จรรยาบรรณของนักดนตรีไทย

เรียนรู้ทักษะพื้นฐานดนตรีไทย


  โดย เข็มป่า


เมื่อวันที่ 25 - 29 มีนาคม  2556 ที่ผ่านมาข้าพเจ้าได้เข้าร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง
“ทักษะพื้นฐานการบรรเลงดนตรีไทยเพื่อการปรับวงในการประกวด”  จัดโดยศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ มีท่านอาจารย์นัฐพงศ์  โสวัตร , อาจารย์จีรพล  เพชรสม, อาจารย์ มัณฑนา  อยู่ยั่งยืน และ อาจารย์ไพฑูรย์  บุญพึ่ง มาเป็นวิทยากรให้ความรู้ โดยมีครูในภาคใต้เข้าร่วมสัมมนาประมาณ 30  คน  เพลงที่ใช้ประกอบการฝึกปฏิบัติคือเพลงคลื่นกระทบฝั่ง  2  ชั้น และเพลงการเวกเล็ก(เถา) ก็น่าจะเป็นเพลงที่ใช้ประกวดกันในปีนี้ สำหรับครูท่านอื่นที่เข้าฝึกอบรมก็คงจะนำความรู้ไปถ่ายทอดต่อให้กับลูกศิษย์เพื่อเข้าสู่เวทีการแข่งขันต่อไป แต่สำหรับข้าพเจ้าต้องการใช้เวลาว่างที่มีอยู่เก็บเกี่ยวความรู้เรื่องดนตรีไทยให้เพิ่มขึ้นเนื่องจากห่างหายจากวงการนี้ไปนานด้วยภาระงานหลักที่ต้องรับผิดชอบจึงไม่ค่อยมีโอกาสได้ฝึกฝนฝีมือ(ซึ่งมีอยู่ค่อนข้างน้อย) แต่ด้วยหัวใจที่ยังผูกพันอยู่กับดนตรีไทยก็อดไม่ได้ที่จะแวะเวียนเข้ามาถึงตอนนี้จะไม่มีโอกาสได้ใช้ให้เกิดประโยชน์กับผู้อื่นสักเท่าไรนัก


                      ในการมาร่วมสัมมนาแต่ละครั้งก็ได้ความรู้และข้อคิดดีๆ จากครูไปทุกครั้ง หลังจากพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ ครูเฉียบ (ครูนัฐพงศ์)ก็ได้พูดถึงประเด็นสำคัญของการบรรเลงดนตรีไทยก็คือทักษะพื้นฐานแต่ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือจรรยาบรรณของนักดนตรีไทยนักดนตรีถึงแม้มีฝีมือมากแค่ไหนก็ตามแต่ถ้าขาดคุณสมบัติของการมีคุณธรรมจริยธรรม  ก็ไม่สมควรต่อการเคารพยกย่อง    คุณครูนัฐพงศ์   เป็นครูที่มีความรู้ความสามารถ    มากมายเป็นที่เคารพยกย่องในแวดวงของคนดนตรี ท่านบอกว่าจากอดีตที่เคยเป็นศิลปินแต่ด้วยภาระหน้าที่ในปัจจุบันทำให้บทบาทของศิลปินลดลงมาเป็นนักพูด(สอน) แต่ถ้าคนที่เป็นนักพูดไม่ได้พูดจากประสบการณ์ หรือความรู้ความสามารถของตนเอง ก็จะเป็นนักพูด(ถึง) ผลงานและประสบการณ์ของคนอื่น ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นสิ่งสำคัญที่จะลืมไม่ได้คือการให้เกียรติบุคคล ต่าง ๆ โดยการอ้างอิงถึงแหล่งที่มาของความรู้และผลงานนั้น ๆอย่าทำเป็นลืมแล้วให้คนฟังเข้าใจว่าเป็นผลงานของตนเอง ก็เท่ากับว่าหลอกลวงประชาชนหรือผู้ฟัง  เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะเป็นนักพูดก็ควรเป็นนักอ่านและนักปฏิบัติไปด้วยเพราะมีความสำคัญพอๆ กัน ท่านย้ำให้คุณครูทั้งหลายที่สร้างนักดนตรีไทยอย่าได้ละเลยเรื่องการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมให้กับเด็ก ๆ รุ่นใหม่ไว้ด้วย

         นอกจากทักษะพื้นฐานในการปฏิบัติเครื่องมือแล้วการปรับวงให้ได้มาตรฐานก็เป็นเรื่องจำเป็นที่ครูต้องเข้าใจ 
ครูก็เลยจัดให้มีการบรรเลงรวมกันเพื่อเรียนรู้การปรับวง โดยเรียกผู้เข้าสัมมนาขึ้นมาบนเวทีที่ผู้จัดได้เตรียมเครื่องดนตรีไว้แล้วแต่ละคนที่ถูกเรียกขึ้นไปก็ลงตำแหน่งเครื่องที่ตนเองถนัดคนที่ขึ้นไปทีหลังจะต้องเลือกบรรเลงเครื่องดนตรีที่เหลือ(ถึงไม่ถนัดสักเท่าไรก็ตาม) จนครบทุกเครื่อง  โดยครูกำหนดเพลงลาวดวงเดือน ซึ่งคิดว่า คงไม่มีใครเล่นไม่ได้ คนที่เหลือก็ทำหน้าที่เป็นผู้ฟัง


                                                         MOV09246.MPG

                                                     เพลง ลาวดวงเดือน

 

          ข้าพเจ้าฟังไปก็แอบเก็บข้อมูลไปพลาง ถึงแม้ว่าจะบรรเลงได้ไม่เรียบนัก เมื่อนักร้อง ร้องจบจะต้องมีการสวมร้องสงสัยระนาดเอกคงจะตื่นเต้นไปหน่อย เลยทำให้การสวมร้องช้าไป เนื่องจากผู้บรรเลงมาจากคนละที่กัน
บางคนอาจจะยังไม่รู้จักกันด้วยซ้ำ แต่ทุกคนมีดนตรีอยู่ในหัวใจเหมือนกันเลยช่วยพากันจนจบเพลงลงได้ 

 

          เมื่อจบเพลงท่านวิทยากรทั้ง 4  ก็ช่วยกันแนะนำ เริ่มที่ครูนัฐพงศ์ให้ความรู้เพิ่มเติมดังนี้

         - เมื่อนักร้องเริ่มร้อง หน้าทับ และฉิ่งต้องเข้าให้ทันหน้าทับแรก (โจ๊ะ  ฉิ่ง  ติง  ฉับ) 

        -  โทน – รำมะนา ไม่ควรตีพลิกแพลง เวลาที่มีการร้อง


ครูไก่ (ครูไพฑูรย์) เสริมว่า

        - การกรอเครื่องตีให้ลงมือซ้ายก่อนมือขวาเพลงบังคับทางต้องแบ่งมือให้ถูกต้อง (ไม่ควรใช้คู่แปดมากเกินไป)

ครูจีรพล แนะนำทางด้านเครื่องสาย

        -  เครื่องสี (ซออู้ , ซอด้วง) น้ำหนักอยู่ที่คันชัก  การวางนิ้วอย่าให้เพี้ยน

        - ระนาดเอกและซอด้วงต้องไปด้วยกัน (ทางเดียวกัน)

        - จะเข้  การดีดเข้า – ออก ให้เท่ากัน การกรอให้ละเอียด

ครูมัณฑนา เสริม ทางร้อง

       - การร้องเพลงลาวดวงเดือนเป็นเพลงหวานก็ต้องร้องให้หวานชัดถ้อยชัดคำ

       - การเอื้อนต้องจบลงที่การสะกดด้วย – ย  ก่อนจะว่ากลอนต่อไป

 

         นึกถึงเมื่อเด็ก ๆ ที่คุณครูแต่ละท่านส่งขึ้นเวทีแต่ละวงบรรเลงได้ดีกันทุกวง เนื่องจากถูกฝึกซ้อมมาอย่างดี แต่เมื่อเป็นการแข่งขันก็ต้องมีวงที่ชนะและวงที่แพ้แต่ถึงจะมีใครแพ้ ชนะ แน่นอนว่าต้องมีนักดนตรีไทยเพิ่มขึ้นทุกปี

           บ่อยครั้งที่เจอลูกศิษย์ที่เคยเล่นดนตรีมาเมื่อไปเรียนในระดับอุดมศึกษา หรือ เริ่มทำงาน หลายคนก็บอกว่า ไม่ค่อยได้เล่นบางคนก็เลิกเล่น เลิกฝึกซ้อมไปเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากที่ ดนตรีไม่สามารถซึมลึกลงไปในจิตวิญญาณของเด็กเหล่านั้นได้หรือว่าผู้ใหญ่สร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการอนุรักษ์ดนตรีไทยไว้น้อยเกินไป เด็ก ๆ
คงจะไม่รู้ว่ากว่าที่ครูแต่ละท่านจะสร้างนักดนตรีได้สักคนนั้นมันเป็นเรื่องยากเย็นแค่ไหนอีกนานแค่ไหนนะที่เด็กไทย จะหันมาเห็นความสำคัญของเอกลักษณ์ของชนชาติโดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่อาเซียน ถ้าไม่ใช้วัฒนธรรมเป็นตัวบ่งบอก
ก็คงจะแยกยากว่าอะไรคือความเป็นคนไทย ครูไม่ได้หวังว่าลูกศิษย์ทุกคนจะเป็นศิลปิน แต่คาดหวังว่าให้ทุกคนมีใจที่จะอนุรักษ์มรดกของชาติสืบไป เพื่อดำรงไว้ซึ่งความเป็นไทย

              แต่อย่างน้อยวันนี้ก็ดีใจ ที่เจอลูกศิษย์ที่มาเป็นครูสอนดนตรีไทยอยู่อีกคน


                

 
                                            ผู้เขียนกับ ลูกศิษย์(พร) 
: 26  มีนาคม  2556
 
              ในช่วงบ่ายก็มีการแยกปฏิบัติเฉพาะเครื่องมือ ครั้งนี้ข้าพเจ้าได้ลงปฏิบัติซอด้วง
โดยมีครูจีรพล เป็นผู้ดูแลกลุ่มเครื่องสาย (จะเข้, ซออู้ , ซอด้วง)

                     
                                             

                                                    MOV09282.MPG
                                

                                                   บรรยากาศการฝึกซ้อม

 

                  

                                                      ผู้เขียนกับ ครูจีรพล  เพชรสม 
: 28 มีนาคม 2556

 

             เสียดายที่วันสุดท้ายของการรวมวงและสาธิตการปรับวงนั้นไม่สามารถอยู่ร่วมกิจกรรมได้  แต่ 4 วันที่ได้ร่วมฝึกซ้อมก็รู้สึกมีความสุขและประทับใจกับการได้พบเจอสมาชิกเก่าและรู้จักกับสมาชิกใหม่ ๆ หลายท่าน โอกาสหน้าคงจะได้เจอะเจอกันอีกนะคะ


            ขอบพระคุณ  คุณครูท่านวิทยากรที่เสียสละเวลามาให้ความรู้มากมาย ขอบคุณศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มอ.
ที่จัดโครงการดี ๆ และคงมีอีกในปีต่อ ๆ ไป



หมายเลขบันทึก: 531821เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2013 08:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 เมษายน 2013 09:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท