เรื่องดีที่ มวล. : ปาฐกถาพิเศษ “รู้ รับ ปรับ รุก”


ความดีเด่นของมหาวิทยาลัยอยู่ที่ความแตกต่างมากกว่าความเหมือน

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2556 ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และอดีตอธิการบดีผู้ก่อตั้ง ได้ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การปรับตัวของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในบริบทของการอุดมศึกษาไทย” เนื่องในโอกาสวันสถาปนามหาวิทยาลัยฯ ครบรอบปีที่ 21

ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน เกริ่นนำด้วยการกล่าวถึงมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) ที่มีอายุ 21 ปี ที่ผู้ก่อตั้งยังมีชีวิตอยู่ ในแง่ดีคือสงสัยอะไรก็ยังถามได้ แต่จะเป็นโชคร้ายหากผู้ก่อตั้งผูกพันกับสิ่งที่ตั้งมา เวลาจะเปลี่ยนแปลงอะไรอาจทำได้ยากหากเขาไม่เห็นด้วย แต่สำหรับอาจารย์แล้วไม่เป็นเช่นนั้น



ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน


มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีความพิเศษ เนื่องจากตั้งขึ้นเพราะประชาชนชาวนครศรีธรรมราชเรียกร้อง ทำการเรียกร้องมาต่อเนื่องหลายปี และได้ถ่ายทอดความต้องการมาให้... เป็นเบื้องหลังที่ทำให้เกิดความมุ่งมั่นในการทำเรื่องนี้... อดีตเป็นประวัติให้รู้รากเหง้า แต่รากเหง้าไม่ได้กำหนดว่าจะเติบโตไปสู่อนาคต ซึ่งต้องปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา

การปรับตัวของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ใช้แนวทางง่ายๆ 4 คำคือ “รู้ รับ ปรับ รุก” เพื่อเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของประชาคมโลกและในประเทศไทย และการแข่งขันที่เข้มข้น (ด้วยคุณภาพ)

การรู้ รู้ภาพอนาคตที่จะมีผลกระทบต่อโลก ประเทศ และอุดมศึกษาไทย... เล่าที่มาของแผนอุดมศึกษาระยะยาว 15 ปี ที่ ดร.กฤณพงศ์ กีรติกร จัดทำ ภาพอนาคตมีดังนี้

1. ด้านประชากร ชีวิตชีวาของมหาวิทยาลัยอยู่ที่คน (ไม่มีนักศึกษา ไม่มีอาจารย์ ก็ไม่มีมหาวิทยาลัย) คนในอนาคตที่จะมาเป็นนักศึกษา เป็นอาจารย์... น่าตกใจมาก ประชากรไทยยังเพิ่มขึ้น แต่ในอัตราที่ลดลง จะไม่เติบโตเหมือนสมัยก่อน เพราะการคุมกำเนิด (ผลงานของคุณมีชัย วีระไวทยะ) ทำงานได้ดี การเกิดของเด็กลดลง

คนอายุ 15-17 ปี (ระดับมัธยมปลาย) ปัจจุบันมีประมาณ 3.2 ล้าน ปี 2563 จะเหลือประมาณ 2 ล้านกว่า (ลดเร็วกว่าหุ้น) ต้องคิดให้ดีว่าจะทำอย่างไร เด็กที่อยู่ในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่อายุ 18-21 ปี จะลดลงจากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 4.3 ล้าน เหลือประมาณ 3.7 ล้าน

การที่นักศึกษาลดลงอาจมีปัจจัยเยอะและปัจจัยนั้นเกี่ยวข้องกับการปรับตัว และด้วยการแพทย์ที่เจริญช่วยให้คนตายยาก อัตราเพิ่มของผู้สูงอายุจะโตเร็ว... เราจะทำอะไรกับคนสูงวัย คนสูงวัยจะเป็นลูกค้าใหม่ของอุดมศึกษา เป็นการศึกษาตลอดชีวิต

2. ด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน

3. ด้านเศรษฐกิจ เปลี่ยนแปลงเยอะ เช่น การค้าเสรี การรวมตัวกันเป็นประชาคม แม้จะแข่งขันกัน แต่ทำงานข้ามประเทศได้

4. ด้านเทคโนโลยี การมีเทคโนโลยีและรู้จักใช้เป็นเรื่องสำคัญ

5. ด้านโลกาภิวัฒน์ ทั้ง Internationalization และ Regionalization การศึกษาในระดับอุดมศึกษาต้องมีความเป็นสากลมากขึ้น (สาระ ภาษา ข้ามวัฒนธรรม) แต่ไม่ทิ้งความเป็นท้องถิ่น (ไม่ขัดกัน)

6. ด้านภาษา สังคม และวัฒนธรรม กลายเป็นเรื่องใหญ่ การพัฒนาทั้งปวงต้องอาศัยศาสตร์ทุกสาขา

เมื่อรู้ส่วนที่กล่าวมาแล้ว ต้องรู้อัตลักษณ์และศักยภาพของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ดังนี้

1. การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐตั้งแต่แรก สามารถกำหนดกฏระเบียบ ข้อบังคับ เรื่องคนเรื่องเงินได้เอง เป็นหัวใจสำคัญ... ต้องแน่วแน่ว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกๆ ของไทยที่เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับฯ ต้องมีปัญญาทำงานในระบบมหาวิทยาลัยในกำกับฯ (บางทีเพลินไปหรือไม่มีปัญญาคิด ไปทำตามแบบราชการ บางคนที่มาอยู่ก็แบกราชการมาด้วย) ราชการส่วนดีก็มี แต่ส่วนด้อยที่ไม่เหมาะกับมหาวิทยาลัยก็เยอะ

2. การเป็นเมืองมหาวิทยาลัย พื้นที่ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ไม่มีใครใหญ่เท่า (พื้นที่เดียว) เพราะไม่อยากเป็นมหาวิทยาลัยหัวแหลกหัวแตก เพราะมีพื้นที่ใหญ่จึงไม่อยากสร้างมหาวิทยาลัยแบบคนอื่น จึงมี concept เมืองมหาวิทยาลัย จะจัดบริบทอย่างไรให้คนต่างๆ อยู่อาศัยได้ ต้องมีการจัดระเบียบสังคม สร้างชุมชนที่พึ่งตนเองได้ ได้มีการทำแผนแม่บท จัดเป็น 11 โซน โซนการศึกษาเป็นรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด เป็นอุทยานการศึกษา มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ในอุทยานการศึกษา ไม่ใช่อุทยานการศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย ต้องพัฒนาให้สะอาด เขียวขจี ร่มรื่นฯลฯ ยังต้องมีการพัฒนาต่อไป

3. ความเป็นมหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบ ในแง่ของวิชาการ ให้ตอบสนองความต้องการของภาคใต้ ประเทศ และประชาคม

4. การเป็นอุทยานการศึกษา

5. การรวมบริการประสานภารกิจ อะไรที่ทำร่วมกันแล้วเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ได้ประโยชน์ไม่น้อยกว่าที่ทำเอง กำหนดสเป็คเรื่องนี้ (ทางกายภาพ) ไว้ตั้งแต่แรก

ถ้าจะปรับตัว ต้องรู้จักโลก รู้จักประเทศไทย และรู้จัก มวล. เป็นฐานข้อมูลสำคัญ

การรับและการปรับตัวด้านสังคมและวัฒนธรรมสู่ประชาคมโลกและประชาคมอาเซียน

1. ปรับหลักสูตรและการเรียนการสอน เพิ่มสาระความรู้และความตระหนักสำนึกในความเป็นสากลและความเป็นอาเซียน โดยไม่ทิ้งความเป็นไทย เช่น ปรับหมวดการศึกษาทั่วไป

2. เพิ่มทักษะความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษในฐานะภาษากลางควบคู่กับความเข้มแข็งในภาษาไทย

3.ขยายการเปิดสอนภาษาถิ่นของประเทศเป้าหมาย

4.จัดการศึกษานานาชาติในสาขาที่พร้อมและมีความต้องการสูง

การรุก เตรียมแรงงานความรู้และความเข้มแข็งทางวิชาการตามความต้องการของตลาดแรงงานยุคใหม่

  • พัฒนาสมรรถนะด้านภาษาอังกฤษให้ใช้ในการทำงานได้
  • พัฒนาสมรรถนะด้านการประกอบอาชีพและการทำงานข้ามวัฒนธรรม
  • จัดสหกิจศึกษาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
  • พัฒนาคณาจารย์ให้มีสมรรถนะสากลมากขึ้น
  • พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้มีคุณภาพและมาตรฐานระดับสากล
  • พัฒนาวิชาการและการวิจัยสู่ความเป็นเลิศ

บทสรุป

  • มหาวิทยาลัยสร้างไม่ได้ในวันเดียว สร้างแล้วดำรงอยู่คู่สังคมตลอดไป ต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จึงจะสามารถตอบสนองความต้องการของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
  • ความดีเด่นของมหาวิทยาลัยอยู่ที่ความแตกต่างมากกว่าความเหมือน จึงต้องมีอัตลักษณ์ เอกลักษณ์ และนวัตกรรม ความเป็นเลิศที่โดดเด่นเป็นการเฉพาะของแต่ละแห่ง
  • การเสริมสร้าง “วัฒนธรรมคุณภาพ” ในทุกภารกิจให้เกิดขึ้นในบุคลากรทุกกลุ่มในมหาวิทยาลัย เป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน
ดิฉันเชื่อว่าผู้บริหาร คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ ที่ได้ฟังปาฐกถาในวันนี้ คงได้ข้อคิดที่จะเอาไปใช้ในการทำงานของตนเองในฐานะสมาชิกของ มวล. ให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 531686เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2013 13:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มีนาคม 2013 13:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท