ทักษะในศตวรรษที่ 21 บริบทไทย ในโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง_02 โรงเรียนชุมชนบ้านห้วยค้อมิตรภาพที่ ๒๐๖


วันที่ 29 มีนาคม 2556 ทีมขับเคลื่อน ปศพพ. อีสานตอนบน ไปเยี่ยมโรงเรียนชุมชนบ้านห้อยค้อมิตรภาพที่ ๒๐๖ ที่ อ.เมืองพล จ.ขอนแก่น เพื่อวัตถุประสงค์ 2 อย่าง คือ ไปจัดทำสารคดีการขับเคลื่อน ปศพพ. และไป KM เรื่องวิถีสร้างการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ในโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ผมออกแบบกิจกรรมแตกต่างไปนิดหน่อย เพราะจำนวนครูที่น้อยกว่าที่โรงเรียนเทศบาลวัดป่าเรไรมาก คือแทนที่จะแยกกลุ่ม แต่ใช้วิถีการถอดบทเรียน โดยผมเป็นผู้ซักถาม และเขียนลงบนกระดาษคลิป ในประเด็นคำถามเดียวกันคือ นักเรียนโรงเรียนห้วยค้อฯ มีทักษะอะไรอยู่ในกลุ่มใดบ้างต่อไปนี้ ทักษะชีวิตและการประกอบอาชีพ ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ทักษะเทคโนโลยีสารสนเทศ และสื่อ และทักษะวิชาสำหรับอนาคต

  สังเกตให้ดีครับ จะเห็นว่า นักเรียนที่นี่ไม่ธรรมดา

  ยิ่งทักษะด้าน ICT ยิ่งไม่ธรรมดาครับ 

หลังจากสนทนาแลกเปลี่ยนกันพอสมควร เราได้เป้าหมายสำคัญ ที่ครูยังไม่ค่อยพอใจนัก และต้องการพัฒนาต่อคือ ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ซึ่งผมนิยามให้ทุกคนทราบว่า ตามตำราฝรั่ง เขาบอกว่าอย่างน้อยต้องมี 3 ทักษะนี้

  • ทักษะการคิดสร้างสรรค์และการสร้างนวัตกรรม
  • ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณและการแก้ปัญหา
  • ทักษะการเรียนรู้และทำงานเป็นทีม หรือทักษะความร่วมมือและการสื่อสาร

ผอ.สวัสดิ์ และครูทุกคน เห็นตรงกันว่า 2 ทักษะล่างนั้นไม่มีปัญหาที่นี่ แต่ที่อยากมีให้ดกว่าเดิมคืออันแรกคือ ทักษะการคิดสร้างสรรค์และการสร้างนวัตกรรม ..... ผมถอดบทเรียนต่อครับ ว่าเราจะพัฒนาไปสู่เป้าหมายนี้ได้อย่างไร

ข้อสำคัญคือ เด็กคิดเอง 100%

ผมเสนกับ "วง" ในการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม ดังนี้ครับ

  1. ปัจจุบันครูหันมาเป็น นักออกแบบการเรียนรู้แล้ว เพียงแค่เพิ่ม การออกแบบให้นักเรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองให้ได้ โดยครูให้ลดการ ตีกรอบ มอบหมาย ทำลายความคิดริเริ่ม และให้เพิ่มโอกาสให้นักเรียนได้ให้มากขึ้น  หันมาเน้นกระบวนการอย่างแท้จริง
  2. ต้องมีกระบวนการเรียนรู้หนึ่ง ที่เด็กนักเรียนได้ คิดเอง ทำเอง แก้ปัญหาเอง และนำเสนอเอง 100% ปัจจุบัน ครูเปิดโอกาสแล้ว แต่ยังไม่ทั้งหมดเช่น
    • ครูมีณีรัตน์มอบหมายว่า ให้นักเรียนหาว่ากล้วยนำไปทำอะไรได้บ้าง   ดูเหมือนจะเปิดโอกาสให้คิด แต่จำกัดแล้วว่าต้องเป็นประโยชน์ของกล้วย
    • ครูสุดา บอกว่า ให้นักเรียนช่วยกันออกแบบวิธีการนำเสนอผลงานของกลุ่มตนเอง ..... ใช่ครับ เป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ช่วยกันออกแบบ แต่ยังเป็นเพียงออกแบบเพื่อทำตามโจทย์หรือเป้าหมายของครู
    • ฯลฯ
  3. ความรู้และทักษะเดิมที่นักเรียนมี จะมีผลต่อการคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม (ในที่นี้คือใหม่สำหรับผู้เรียน) ดังนั้น กระบวนการเรียนการสอนที่โรงเรียนทำอยู่ขณะนี้ ซึ่งช่วยให้นักเรียนมีทักษะการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมินค่า ยังต้องทำต่อไป แต่ให้เพิ่มการเรียนรู้แบบ โครงงานบนฐานปัญหาที่เด็กเป็นคนกำหนดปัญหา กำหนดเป้าหมาย และได้ทำ นำเสนอด้วยตนเองทั้งหมด
  4. ความมั่นใจในตนเอง ความภูมิใจในตนเอง ซึ่งสามารถสร้างด้วยการทำให้นักเรียนรู้สึกว่า ฉันทำได้ ฉันคิดได้ และฉันเป็นส่วนสำคัญของทีม  ขณะนี้ทางโรงเรียนมีความเข้มแข็งอยู่แล้ว  เพียงแต่ต้องเปิดโอกาสให้เกิด "ฉันคิดได้ และฉันเป็นส่วนหนึ่งของทีม" ให้มากขึ้น
  5. ที่นี่ การเรียนเป็นทีมสำหรับนักเรียนเกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่ ครูทำงานเป็นทีมในความหมายของ ชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ หรือ PLC (Professional Learning Community) ที่เปิดโอกาสให้เพื่อนครูได้เรียนรู้ห้องเรียน (lesson study) ยังไม่มีมากนัก
  6. ผมเสนอว่า ควรสอนแบบ Project Based Learning บนฐานปัญหาที่แท้จริง ที่เด็กกำลังประสบปัญหาอยู่

สุดท้ายผมสรุปว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ "การสะท้อนเพื่อพัฒนาแบบกัลยาณมิตร"  นั่นเองครับ 


ต่อไปนี้เป็นข้อสังเกต เพื่อการพัฒนาแบบกัลยาณมิตร (KFC) (Kanlayanamit & Friend 's Comments) ดังนี้ครับ

  1. ทักษะชีวิตและการประกอบอาชีพ ยังไม่ได้กล่าวถึงมากนักเรื่องต่อไปนี้ครับ
    • ทักษะการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม ไม่ใช่เฉพาะการยอมรับความแตกต่างระหว่างเชื้อชาติ ภาษา ศาสนา และวัฒนธรรม แต่รวมถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ระหว่างครอบครัว เช่น เด็กที่พ่อแม่เป็นคนรวย เป็นแพทย์ เป็นข้าราชการ ไม่ดูถูก เด็กลูกชาวบ้าน ชาวนา ชาวไร่ ที่ส่วนใหญ่ยังยากจน
    • ทักษะการเป็นผู้ประกอบการ และเศรษฐศาสตร์พื้นฐาน เช่น เด็กนักเรียนได้ เรียนรู้อาชีพของผู้ปกครอง ของชุมชน อย่างเป็นระบบ 
    • ฯลฯ
  2. ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม เหลือเป็นเป็นโจทย์ที่ท้าทายว่า จะทำอย่างไร ให้นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์และสามารถเป็นผู้ผลิตนวัตกรรมได้ (ในระดับของเด็กๆ นะครับ)
  3. ทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และสื่อ ยังขาดประเด็นหลัก คือ การประเมินสื่อ และการคัดเลือกสื่อที่เหมาะสม แล้วใช้สื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  4. ประเด็นเรื่องวิชาสำหรับอนาคต ที่สำคัญที่สุดได้สำเร็จแล้วที่นี่ คือ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เด็กมีอุปนิสัยพอเพียง  การฝึกฝนและลุ่มลึกและกว้างขวาง คือแนวทาง ที่จะเพิมพูนความเข้มแข็งและภูมิคุ้มกันต่อการการเปลี่ยนแปลง ครับ

ผมขอย้ำเรื่อง 5 คำถามหลัก ที่ผมบอกให้ครูทุกคนตระหนักถึงทุกเมื่อ ขณะเราทำ PLC กันนะครับ ได้แก่

  1. เนื้อหาใดที่จำเป็นต้องเรียน เนื้อหาใดไม่จำเป็นต้องเรียนแต่เด็กเรียนรู้เองได้
  2. ทักษะใดที่ต้องการให้เกิดกับนักเรียน ในหน่วยการเรียนนั้นๆ
  3. ทักษะที่ต้องการนั้น เกิดขึ้นหรือไม่ ต้องประเมินอย่างไร
  4. หากทักษะนั้นเกิดกับนักเรียน (เก่ง) จะทำอย่างไร
  5. หากทักษะนั้นไม่เกิดกับนักเรียน (อ่อน) จะทำอย่างไร

ขอบคุณครับ

เช่นกันครับ ผมมีความสุขมาก และมีความหวังว่า โรงเรียนต้นแบบในระบบ ที่ไม่ใช่โรงเรียนทางเลือก จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้

ด้วยความเคารพอย่างสูง
ป.ล. อย่าเชื่อผมนะครับ
อ.ต๋อย



หมายเลขบันทึก: 531685เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2013 12:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มีนาคม 2013 13:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ชัดเจน จริงใจ มุ่งมั่นอย่างแท้จริง จะคอยติดตามอยู่ตลอดเวลานะคะ มีอะไรให้ช่วยก็บอกนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท