(15) เรียนรู้การเป็น 'ผู้ให้' จากความสุขของ 'ผู้รับ'


"เอินเข้าใจแล้วแม่ ว่ามีอะไรให้แบ่งปันกัน" ... บัดนี้ประเมินได้ว่าเธอเข้าใจคำว่า 'ผู้ให้' แล้ว หลังจากลิ้มรสความสุขในการเป็น 'ผู้รับ' ด้วยตัวเธอเอง

เช้านี้ดิฉันได้อ่านบทความของครูอ้อย (สิริพร กุ่ยกระโทก) เรื่อง 'ชีวิตคือการเรียนรู้' ครูอ้อยเปรียบตนเองเป็นต้นไม้ ที่ได้รับการรดน้ำพรวนดินและใส่ปุ๋ยให้งอกงาม แล้ววันหนึ่งครูอ้อยก็มีโอกาสทำหน้าที่นี้.. รดน้ำพรวนดินให้ต้นไม้เล็กๆ อย่างทะนุถนอม รอคอยวันที่เธอและเขาเหล่านั้นจะเจริญงอกงาม ดิฉันขอมีส่วนร่วมสรุปปิดท้ายบทความนี้ด้วยเนื้อหาท้ายบทความเรื่อง 'การเรียนรู้ด้วยการหาคำตอบ' ของครูอ้อยเองว่า ..นอกจากการเรียนรู้ของเด็กๆ จะต้องอาศัยการรดน้ำพรวนดินจากครูอาจารย์แล้ว ส่วนที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ ต้องได้รับการเตรียมดินที่ดีจากพ่อแม่ผู้ปกครอง (ขออนุญาตบิดเบือนเล็กน้อย ..อรัมภบทก่อนเข้าสู่เนื้อหาต่อไป..) ดิฉันมีประสบการณ์ในการเตรียมดินให้ดี ก่อนจะส่งให้ครูอ้อยได้รดน้ำพรวนดินต่อค่ะ

ดิฉันมีลูกสาว 2 คน ครั้งเมื่อลูกสาวคนโตเรียนอยู่ชั้นประถมต้นนั้น วันหนึ่งเธอมาบอกว่าคุณครูสอนเรื่องการขยายพันธุ์พืชว่ามีหลายวิธี แล้วมอบหมายให้เด็กๆ กลับไปฝึกเพาะชำกิ่งไม้ ขณะเล่าเธอหน้านิ่วคิ้วขมวด คงจะกลุ้มใจมาก เพราะพ่อกับแม่เป็นข้าราชการ มีบ้านพักในโรงพยาบาล ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง ลูกจึงไม่เคยเห็นพ่อแม่ปลูกต้นไม้ยืนต้นเลยสักต้น โอยย.. กลุ้มแทนลูกเนอะ

สองคนสามีภรรยาก็ปรึกษากัน แล้วพ่อเขาก็พาลูกสาวซ้อนท้ายรถจักรยาน ขี่ไปดูต้นไม้ในพื้นที่ของโรงพยาบาลทั้ง 400 ไร่ ไม่มีต้นไม้ที่จะชำกิ่งได้เลยสักต้น กลับมาหอบแฮกๆ อยู่หน้าบ้านพัก สุดท้ายก็มาได้ต้นชบาริมรั้วใกล้บ้านพักที่งานสนามเขาปลูกเอาไว้กอหนึ่ง สภาพมันแห้งเหี่ยวจะตายมิตายแหล่ เราตกลงใจเลือกชบากอนี้เพราะไม่มีทางเลือกอื่น

ยังมีปัญหาอีก ก็บอกแล้วว่าพ่อกับแม่เป็นข้าราชการ ซ้ำยังไม่เคยเพาะชำต้นไม้อีกด้วย เราจึงเห็นพ่อลูกคู่นี้กางหนังสือข้างกอชบา แล้วช่วยกันทำตามที่หนังสือบอก สีหน้าลูกสาวดีขึ้นมาก ยิ้ม-หัวเราะ-พูดคุยเสียงใสเป็นระยะ เมื่อลูกสาวมาบอกแม่ว่าทำเสร้จแล้ว ดิฉันก็เดินออกมาดู ถึงกับผงะ! โอย.. จะอับอายขายหน้าแค่ไหน คุณลองนึกภาพดูนะ ภาพต้นไม้ผลที่ออกลูกแล้วเจ้าของเขาเอาถุงพลาสติกห่อไว้ไม่ให้แมลงมาเกาะกิน ภาพที่นึกได้มันสวยงามมาก แต่นี่เป็นกิ่งชบานะ กิ่งชบาแทบทุกกิ่งมีก้อนดินก้อนใหญๆ โปะอยู่ ยังไม่น่าเกลียดเท่าเชือกฟางสีแดงพันไว้อย่างรุงรัง มองไปที่กอชบาเหมือนชบามีลูกเป็นทับทิมสีแดงสุก

ความคิดหยุดลงเพราะเสียงลูกสาวร้องถามว่า "ดีไหมคะ แม่!" หันไปมองลูก เห็นสายตาเปี่ยมสุขของลูกแล้วก็อ้อมแอ้มตอบไปว่า "ดีมากจ้ะ คนไม่เคยทำ ทำได้แค่นี้ถือว่าดีมากเลยลูก" หลังจากวันนั้น สองพ่อลูก (บางวันก็มีลูกสาวคนเล็กที่ยังอยู่อนุบาลไปร่วมวงด้วย) ก็แวะเวียนมาทักทาย รดน้ำพรวนดินชบาต้นนี้ทั้งเช้าและเย็นทุกวัน ดิฉันเคยร่ำเรียนมาว่า การปลูกต้นไม้หรือเลียงสัตว์เลี้ยงแบบอยู่เคียงข้างเรานั้นเป็นจิตวิทยาอย่างหนึ่ง การที่เราได้เฝ้าดูมันเจริญเติบโตงอกงามนั้นเป็นการหล่อหลอมจิตใจตนเองให้เจริญงอกงาม มีสุนทรียภาพ เขาจึงแนะนำให้คนที่อยู่คนเดียวโดดเดี่ยวเดียวดายปลูกต้นไม้หรือเลียงสัตว์เลี้ยงเพื่อจรรโลงใจไม่ให้รู้สึกซึมเศร้า

และแล้ววันดีเดย์ก็มาถึง สองพ่อลูกพากันไปตัดกิ่งชบาที่ชำไว้ ดิฉันเห็นหายไปนานก็ตามไปสมทบด้วย ได้ทราบว่าสองพ่อลูกตกลงกันไม่ได้ว่าจะตัดกิ่งไหนไปส่งครู เพราะมันสวยมากเหมือนกันหมด ดิฉันจึงเสนอแนะว่า "ตัดไปหลายๆ กิ่งเลยลูก เผื่อครูเขาจะเอาไปปลูกต่อ" วันนั้นลูกสาวไปโรงเรียนด้วยความสุขที่มีงานส่งครู ชวนพ่อแม่และน้องพูดคุยไปตลอดทาง

ตอนเย็นก็ไปรับลูกตามปกติ แต่บรรยากาศกลับตรงกันข้าม ลูกสาวเดินมากับพ่อเขาด้วยสีหน้ามู่ทู่ อัดอั้น บอกไม่ถูก เมื่อถามว่าเกิดปอะไรขึ้น ลูกสาวก็ตะบะแตกร้องไห้โฮ ตั้งหน้าตั้งตาร้องไห้อยู่นานสองนาน เห็นลูกร้องไห้พ่อเขาก็ใจเสีย สงสารลูก หันมาดุแม่ว่า "อยากถามอะไรก็ถาม ไม่ดูตาม้าตาเรือ" เออ.. เนอะ.. รอเดี๋ยว เดี๋ยวเจอกัน

รอจนลูกหยุดร้องไห้แล้ว แต่ยังสะอึกสะอื่นไม่หยุด จึงถามว่าซ้ำว่าเกิดอะไรขึ้น ลูกสาวเล่าว่า หลังจากเธอนำกิ่งชบาไปส่ง คุณครูชมว่าเก่งมาก เธอก็ดีใจมาก เมื่อเดินกลับออกมาเพื่อนๆ ก็ขอดู (สวยมากจนคุณครูไม่ได้ขอไว้ขยายพันธุ์เลยสักกิ่ง) ถามว่าใครทำให้ เธอตอบอย่างภาคภูมิใจว่าเธอกับพ่อช่วยกันทำ ระหว่างนั้นเพื่อนคนหนึ่งบอกว่าไม่ได้ทำการบ้านมาและขอกิ่งชบาไปส่งครู เมื่อถามว่าเธอให้หรือไม่ เธอบอกว่าให้ เพราะทนเพื่อนคะยั้นคะยอไม่ไหว ให้ไปแล้วก็ไม่มีความสุขเพราะรู้สึกว่ "มันไม่ยุติธรรมนะแม่ เขาไม่ได้ทำ แต่เขาเอาของเราไปส่ง" จึงปลอบใจลูกว่า "กิ่งชบาฝีมือแบบนี้ไม่มีขายหรอก แล้วลูกก็เพิ่งไปส่ง ครูเขาคงจำได้ แม่ว่าเพื่อนลูกจะถูกมองว่าไม่ซื่อสัตย์อีกด้วย" "จำที่แม่สอนได้ไหม ว่าให้รู้จักแบ่งปันคนอื่น" "จำได้" ตอนนี้ลูกเริ่มสะอึกสะอื่้นอีก เธอยังคงติดใจกับความรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ พ่อเขาเห็นท่าไม่ดีก็หันมาดุแม่อีกว่า "สอนอีกแล้ว ยิ่งสอนลูกยิ่งเสียใจ ไม่ต้องสอนแล้ว"

วันเวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก ลูกสาวไปเรียนระดับประถมปลายที่โรงเรียนประจำ วันหนึ่งเธอโทรศัพท์กลับมาบ้าน บอกแม่ด้วยน้ำเสียงละล่ำละลักว่า "แม่ เอินเข้าใจแล้ว" ใจเย็นๆ ลูก ค่อยๆ พูด มันเกิดอะไรขึ้น เธอเล่าต่อว่า ที่แม่เคยสอนว่ามีอะไรให้แบ่งปันกันนั้นลูกเพิ่งเข้าใจวันนี้ แล้วเล่าต่อว่า คุณครูให้เพาะถั่วงอกส่ง กำหนดส่งงานวันนี้ เมื่อคืนฝนตกหนัก ตนเองลืมเก็บตะกร้าถั่วงอกที่ระเบียงห้อง ฝนจึงชะถั่วงอกหายไปหมด ตนทำอะไรไม่ได้ก็ได้แต่นั่งร้องไห้ เพื่อนร่วมห้องเห็นก็สงสารแบ่งถั่วงอกให้ครึ่งหนึ่งเธอจึงมีงานส่งครู "เอินเข้าใจแล้วแม่ ว่ามีอะไรให้แบ่งปันกัน" เออ.. ที่จริงแม่ก็รู้ว่าสอนลูกในเรื่องนามธรรมเร็วเกินไป สอนตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ ระดับสมองส่วนที่คิดเป็นนามธรรมยังไม่พัฒนา มันจึงต้องรอเวลาสักหน่อย บัดนี้ประเมินได้ว่าเธอเข้าใจคำว่า 'ผู้ให้' แล้ว หลังจากลิ้มรสความสุขในการเป็น 'ผู้รับ' ด้วยตัวเธอเอง แม่รู้แล้วว่าลูกพร้อมแล้วที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันข้างหน้า

หลังจากนั้นไม่กี่วันก็ได้รับโทรศัพท์จากลูก เธอคุยอวดว่า "วันนี้เพื่อนกลับบ้านกันหมด เหลือเอินกับเพื่อน 2-3 คน มีรถเข็นทุเรียนมาขาย เอินซื้อทุเรียนเลี้ยงเพื่อนด้วยนะ" เอาแล้วไหมล่ะ คำว่าแบ่งปัน แม่หมายถึง แบ่งปันในสิ่งที่มีอยู่ให้แก่ผู้อื่น ยังไม่รวมการจัดหาสิ่งที่ตนไม่มีให้ผู้อื่น เพราะเธอยังเป็นเด็ก .. แต่จะท้วงลูกก็ไม่ได้เพราะจะทำให้เธอขาดความมั่นใจในตนเอง

มีประสบการณ์ในการเตรียมดินของดิฉันนี้สอนให้รู้่ว่า เราสอนใครไม่ได้ทุกเรื่องเหมือนกันหมด มันอยู่ที่ความพร้อมของผู้จะเรียนรู้ด้วย ปัจจัยที่มีผลต่อการเรียนรู้มีหลายอย่างทั้งตัวเขาเอง สิ่งแวดล้อม สิ่งเร้า และแรงจูงใจหรือรางวัล ..เสนอให้รดน้ำพรวนดินไปเรื่อยๆ อย่างที่ครูอ้อยทำอยู่ นี่แหละดีแล้ว.

หมายเลขบันทึก: 531160เขียนเมื่อ 24 มีนาคม 2013 13:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2015 09:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีปีใหม่ไทยครับ

                                    สุขสันต์วันสงกรานต์ประสานสุข

                                    นิราศทุกข์โรคภัยห่างไกลหาย

                                    สุขภาพสมบูรณ์เกื้อกูลกาย

                                    สิ่งใดหมายให้สมหวังประดังมา


ตอนนี้รู้สึกว่าสุขภาพดีขึ้น มาจากคำอวยพรของคุณธนาแน่เลย ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท