การเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยชีวิต


เมื่อเรายังเป็นเด็กได้รับการอบรมว่า  ให้เรียนให้มากจะได้มีวิชา เหมือนบทอาขยานที่เราท่อง


                      เด็กเอ๋ย  เด็กน้อย            ความรู้เรายังด้อยเร่งศึกษา

เมื่อเติบใหญ่เราจะได้มีวิชา                     เป็นเครื่องหาเลี้ยงชีพสำหรับตน

ได้ประโยชน์หลายสถานเพราะการเรียน  จงพากเพียรไปเถิดจะเกิดผล

ถึงลำบากตรากตรำก็จำทน                      เกิดเป็นคนควรหมั่นขยันเอย


พอเราเรียนจบได้รับใบปริญญาเป็นบัณฑิตตามหลักสูตร  แต่การเรียนชีวิตยังไม่สิ้นสุด  เราได้เรียนการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยชีวิตที่ได้ลงทะเบียนเรียนโดยอัตโนมัติ  เรียนกันอย่างล้มลุกคลุกคลานบ้าง  เรียนกันมาอย่างลองผิดลองถูกบ้าง  บ้างก็พบกับความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า  บ้างก็โชคดีมีเงินทองร่ำรวยด้วยการงานที่ได้ทำมาหาเลี้ยงชีพ  


มหาวิทยาลัยชีวิตนี้ไม่มีหลักสูตรกำหนดการเรียนที่เฉพาะ  ไม่มีระยะเวลาแห่งการเรียน  และที่สำคัญไม่มีใครมาสอนด้วย นั่นคือ  ทุกท่านต้องเรียนรู้เพื่อการดำเนินชีวิตให้เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสมตามครรลองครองธรรม  จะยึดมั่นในหลักการที่ตนนับถือและศรัทธาใดใดก็ตามเพื่อให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขและถูกต้องเหมาะสม  


มหาวิทยาลัยชีวิตนี้ต้องมีบทเรียนให้เราได้เรียนกันตลอดเวลา  บ้างดำเนินการเรียนไปอย่างราบเรียบ  บ้างโลดโผนจนต้องสูญเสีย  หรือหลงทางเดินเข้าไปหมกมุ่นอยู่กับสิ่งชั่วร้าย  ทำให้ต้องวนเวียนอยู่ในความชั่วร้าย  เพราะเลือกทางผิดเลือกเรียนในมหาวิทยาลัยชีวิตที่ผิดพลาด  ผลที่เกิดขึ้นจึงเป็นบทเรียนราคาแพง  เสียเวลาในการเผชิญอยู่กับบทเรียนมหาวิทยาลัยนี้อย่างไร้ค่า


ดังนั้น  ถึงเราจะเรียนจบหลักสูตรจากมหาวิทยาลัยทางการ  หากไม่นำพาความรู้ที่ได้เรียนมาไปใช้ในการดำเนินชีวิต  มักจะถูกชักจูงไปในทางที่ผิดได้โดยง่าย  มหาวิทยาลัยชีวิตจึงต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง  คิดพิจารณา  ไตร่ตรองเสมอ ว่าการตัดสินใจทำอะไรด้วยคิดวิจารณญาณ  เป็นการเชื่อมโยงนำความรู้มาช่วยในการตัดสินใจเดินทางในการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยชีวิต  


เมื่อเราผิดพลาดด้วยการใดใด  มักจะถูกตำหนิเสมอว่า  ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด  เพราะเราอาจจะทำอะไรโดยไม่คิดพิจารณาใคร่ครวญไตร่ตรองให้รอบคอบ  


ที่ว่า การเรียนรู้มีัตลอดชีวิตคืออย่างนี้นี่เอง  ผู้คนส่วนจึงเล็งเห็นเป็นสำคัญว่า  ต้องเรียนรู้ให้จบหลักสูตรทางการ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยชีวิตต่อไป

หมายเลขบันทึก: 530866เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2013 14:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2014 15:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นบทอาขยานที่คลาสิกมากครับ อาจารย์ ว่าแต่ทุกวันนี้เด็กๆท่องกันได้หรือเปล่า....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท