สร้างบรรยากาศ "เพื่อนช่วยเพื่อน"


การสร้างบรรยากาศต้องมีการเตรียมการ

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ได้บันทึกเรื่องเทคนิค "เพื่อนช่วยเพื่อน" ไว้ในบล็อก (ลิงค์) บอกวิธีการแบบเต็มรูปแบบ ดิฉันอ่านบันทึกนี้หลายรอบก่อนการจัดกิจกรรม "เพื่อนช่วยเพื่อน" ระหว่างทีม รพ.เทพธารินทร์ และทีม รพ.สมเด็จพระยุพราชธาตุพนม เมื่อวันที่ ๗-๘ ตุลาคม ๒๕๔๘ จนคิดว่าตนเองมีความเข้าใจดีพอที่จะดำเนินกิจกรรมและทำหน้าที่เป็น "คุณอำนวย" ได้

ขั้นตอนเมื่อเริ่มกิจกรรม อาจารย์วิจารณ์เขียนไว้ว่า "เริ่มกิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อนด้วยกิจกรรมละลายพฤติกรรมหรือทำความคุ้นเคยกัน และสร้างบรรยากาศสบายๆ ไม่เกร็ง บรรยากาศที่เป็นอิสระ เปิดเผย ชื่นชมยินดี มีอารมณ์แจ่มใส แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นบรรยากาศที่เอาจริงเอาจัง อ่อนน้อมถ่อมตน และอยู่กับความเป็นจริงและข้อจำกัดซึ่งมีอยู่จริง คือไม่ใช่เวทีสำหรับโอ้อวดหรือโฆษณาหน่วยงานหรือตัวบุคคล............."

เราก็พยายามสร้างบรรยากาศข้างต้นให้เกิดขึ้น ดิฉันพบว่าการสร้างบรรยากาศต้องมีการเตรียมการ ตั้งแต่การเลือกสถานที่ การจัดสถานที่ เราจัดห้องประชุมให้ที่นั่งของผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้ง ๒ ทีมอยู่ใกล้ๆ กัน จะได้มองเห็นหน้ากันได้ชัด คุณสุภาพรรณ ตันติภาสวศิน จัดทำป้ายชื่อของทุกคนติดตั้งไว้ เพื่อให้ทุกคนอ่านและจำชื่อกันได้ นอกจากนี้เรายังทำป้ายต้อนรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมด้วยภาษาง่ายๆ ตั้งไว้ที่หน้าลิฟต์ชั้น ๑ ของ รพ.

ดิฉันมาถึงห้องประชุมก่อนเวลา พูดคุยทักทาย "ผู้มาเยือน" ถามไถ่เรื่องการเดินทางและการนอนหลับพักผ่อนในคืนที่ผ่านมา ในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิคของเราก็เปิดเพลง "บัญญัติ ๑๐ ประการสำหรับการดูแลเท้า" ซึ่งแต่งและขับร้องโดยอาจารย์นิเวศน์ กันไทยราษฎร์ ให้ฟังเบาๆ ไปด้วย ไม่ได้มีกิจกรรมละลายพฤติกรรมใดๆ (ส่วนหนึ่งเป็นเพราะดิฉันไม่ถนัดเรื่องกิจกรรม)

อาจารย์เทพกล่าวต้อนรับผู้มาเยือนสู่เทพธารินทร์แบบกันเอง ไม่มีพิธีการ เล่าสิ่งที่อาจารย์ไปพบไปเห็นมาที่ จ.ร้อยเอ็ด และย้ำเรื่องการ empower ให้ทีมงานได้ทำงานร่วมกับแพทย์ รวมทั้งการ empower ให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้ด้วย

หลังจากนั้นดิฉันขอให้ทั้งฝ่ายผู้ขอเรียนรู้และผู้แบ่งปัน แนะนำตนเองสั้นๆ ให้รู้ว่าเป็นใคร ทำงานอยู่ตรงไหน เกี่ยวข้องอย่างไรกับการดูแลเท้าของผู้ป่วยเบาหวาน

ดิฉันได้ข้อคิดว่าบรรยากาศที่สบายๆ ไม่เกร็ง จะเกิดขึ้นได้ง่าย หากมีสิ่งต่อไปนี้

๑. ทีมผู้ขอเรียนรู้และผู้แบ่งปัน ให้ข้อมูลสั้นๆ ของตนเองแก่กันล่วงหน้า
     เพื่อทำความรู้จักกันมาก่อน น่าจะดีกว่ามารู้จักกันในวันนั้นเลย
๒. ผู้เข้าร่วมกิจกรรมควรแต่งกายแบบเรียบง่าย สบายๆ (แต่สุภาพ)
๓. ทุกคนพูดกันด้วยภาษาง่ายๆ เป็นกันเอง ไม่ต้องให้เป็นภาษาวิชาการมากนัก  
๔. ผู้แบ่งปันควรหลีกเลี่ยงคำพูดที่จะทำให้ผู้ขอเรียนรู้เกิดความรู้สึกเกรงใจ 

ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้น แต่ละทีมควรซักซ้อมทำความเข้าใจในกิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อนมาก่อนด้วย

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๔๘

 

 ป้ายต้อนรับทีมผู้ขอเรียนรู้ ตั้งที่หน้าลิฟต์ ชั้น ๑ ของ รพ.

หมายเลขบันทึก: 5295เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2005 16:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท