สถานการณ์โรค มือ เท้า ปาก จังหวัดชุมพร


สถานการณ์ในจังหวัดชุมพร จากรายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา ตั้งแต่ต้นปี ถึงวันที่ 19 กันยายน 2549 พบผู้ป่วย 10 ราย อัตราป่วย 2.07 ต่อประชากรแสน ไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิต โดยพบผู้ป่วยที่
โรคมือ  เท้า  ปาก
Hand, Foot and Mouth Disease
สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค
กระทรวงสาธารณสุข
โรคมือ  เท้า  ปาก
 เกิดจากเชื้อไวรัสลำไส้หรือเอนเทอโรไวรัสหลายชนิด  พบได้บ่อยในกลุ่มเด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โรคเกิดประปรายตลอดปี แต่จะเพิ่มมากขึ้นในหน้าฝน ซึ่งอากาศมักเย็นและชื้น   โดยทั่วไปโรคนี้มีอาการไม่รุนแรง 
การแพร่ติดต่อของโรค
 การติดต่อส่วนใหญ่เกิดจากได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ปากโดยตรง โรคแพร่ติดต่อง่ายในช่วงสัปดาห์แรกของการป่วย  โดยเชื้อไวรัสอาจติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก น้ำจากตุ่มพองและแผล  หรืออุจจาระของผู้ป่วย  และอาจเกิดจากการไอจามรดกัน  ในระยะที่เด็กมีอาการทุเลาหรือหายป่วยแล้วประมาณ 1 เดือน  จะพบเชื้อในอุจจาระได้  แต่การติดต่อในระยะนี้จะเกิดขึ้นได้น้อยกว่า 
อาการของโรค
หลังจากได้รับเชื้อ  3 - 6 วัน ผู้ติดเชื้อจะเริ่มแสดงอาการป่วย  เริ่มด้วยมีไข้ต่ำ ๆ  อ่อนเพลีย ต่อมาอีก 1-2 วัน มีอาการเจ็บปากและไม่ยอมทานอาหาร เนื่องจากมีตุ่มแดงที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม  ตุ่มนี้จะกลายเป็นตุ่มพองใส  ซึ่งบริเวณรอบ ๆ จะอักเสบและแดง  ต่อมาตุ่มจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้น ๆ  จะพบตุ่มหรือผื่น (มักไม่คัน) ที่ฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า และอาจพบที่ก้นด้วย  อาการจะทุเลาและหายเป็นปกติภายใน  7-10 วัน
สถานการณ์
            จากการที่มีข่าวการระบาดของโรคมือ เท้า ปากที่ประเทศมาเลเซีย โดยมีรายงานการเกิดโรคตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 18 เดือนกุมภาพันธ์ 2549 พบเด็กป่วย 942 รายและเสียชีวิต 4 ราย ซึ่งสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2548 เกือบ 4 เท่า กระทรวงสาธารณสุข ประเทศมาเลเซีย จึงได้สั่งปิดโรงเรียนอนุบาลในเมือง Borneo รัฐ Sarawak จำนวน 488 แห่งเป็นเวลา 2 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการระบาดของโรค และในประเทศบรูไน ก็พบเด็กป่วย 16 ราย เสียชีวิต 1 ราย ภายหลังจากมีการระบาดในประเทศมาเลเซีย
         สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย จากรายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา ของสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่ต้นปี - 8 มีนาคม 2549 พบผู้ป่วย 181 ราย อัตราป่วย 0.29 ต่อประชากรแสนคน ไม่มีผู้เสียชีวิต พบผู้ป่วยสูงกว่าค่ามัธยฐานย้อนหลัง 3 ปีในเดือนมกราคม 2549 จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูง คือ ลำพูน 5.93 ต่อประชากรแสนคน ลำปาง 4.36 และน่าน 3.93 ต่อประชากรแสนคน มีการระบาด 2 ครั้งที่จังหวัดลำปางและน่าน กลุ่มอายุที่พบมาก คือ กลุ่มอายุ 1 ปีจำนวน 46 ราย กลุ่มอายุ 2 ปี 36 ราย และ3 ปี 36 ราย และผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จำนวน25รายพบEnterovirus71จำนวน5ราย
การรักษา
โรคนี้ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ  แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้  ยาแก้ปวด ควรเช็ดตัวเพื่อลดไข้เป็นระยะ  และให้ผู้ป่วยรับประทานทานอาหารอ่อน ๆ  รสไม่จัด  ดื่มน้ำและน้ำผลไม้  และนอนพักผ่อนมาก ๆ  ถ้าเป็นเด็กอ่อน  อาจต้องป้อนนมให้แทนการดูดจากขวดตามปกติโรคมักไม่รุนแรงและไม่มีอาการแทรกซ้อน แต่เชื้อไวรัสบางชนิดอาจทำให้มีอาการรุนแรงได้  จึงควรสังเกตอาการของเด็กอย่างใกล้ชิด หากพบมีไข้สูง ซึม ไม่ยอมทานอาหารและดื่มน้ำ  อาเจียนบ่อย  หอบ  แขนขาอ่อนแรง  อาจเกิดภาวะสมองหรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือน้ำท่วมปอด  ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้  ต้องรีบพาไปโรงพยาบาลใกล้บ้านทันที
 
การป้องกันโรค
โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่ป้องกันได้โดยการรักษาสุขอนามัย ผู้ปกครองควรแนะนำบุตรหลานและผู้เลี้ยงดูเด็กให้รักษาความสะอาด  ตัดเล็บให้สั้น หมั่นล้างมือบ่อย ๆ (ด้วยน้ำและสบู่)  โดยเฉพาะหลังการขับถ่ายและก่อนรับประทานอาหาร   รวมทั้งการใช้ช้อนกลาง  และหลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน  เช่น  แก้วน้ำ  หลอดดูด  ผ้าเช็ดหน้า  และผ้าเช็ดมือ  เป็นต้น
สถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาล ต้องจัดให้มีอ่างล้างมือและส้วมที่ถูกสุขลักษณะ หมั่นดูแลรักษาสุขลักษณะของสถานที่และอุปกรณ์เครื่องใช้ให้สะอาดอยู่เสมอ  รวมถึงการกำจัดอุจจาระเด็กให้ถูกต้องด้วย หากพบเด็กป่วย  ต้องรีบป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ไปยังเด็กคนอื่น ๆ  ควรแนะนำผู้ปกครองให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์  และหยุดรักษาตัวที่บ้านประมาณ  7  วันหรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ  ระหว่างนี้ไม่ควรพาเด็กไปในสถานที่แออัด  เช่น สนามเด็กเล่น  สระว่ายน้ำ และห้างสรรพสินค้า  และผู้เลี้ยงดูเด็กต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย  หรืออุจจาระเด็กป่วย
หากมีเด็กป่วยจำนวนมาก อาจจำเป็นต้องปิดสถานที่ชั่วคราว (1-2 สัปดาห์) และทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรค  โดยอาจใช้สารละลายเจือจางของน้ำยาฟอกขาว 1 ส่วนผสมกับน้ำ 30 ส่วน
ติดต่อขอคำแนะนำเพิ่มเติม
สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง
ศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค  โทร. 0-2590-3333
สำนักโรคติดต่อทั่วไป  กรมควบคุมโรค  โทร. 0-2590-3194
ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม
เว็บไซต์สำนักโรคติดต่อทั่วไป  กรมควบคุมโรค eid_knowledge_Enterovirus.html 
เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข  http://www.moph.go.th
แจ้งการระบาดของโรค
สำนักระบาดวิทยา  กรมควบคุมโรค  โทร. 0-2590-1882
         ผู้ให้ข้อมูล    งานระบาดวิทยา         สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชุมพร
          โทร. 0-7751-1040     ต่อ 311
ข้อมูลเพิ่มเติม
          สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย จากรายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา ของสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่ต้นปี – 19  กันยายน   2549 พบผู้ป่วย 1,418 ราย อัตราป่วย 2.27 ต่อประชากรแสนคน ไม่มีผู้เสียชีวิต พบผู้ป่วยสูงกว่าค่ามัธยฐานย้อนหลัง 3 ปี
          สถานการณ์ในจังหวัดชุมพร  จากรายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา   ตั้งแต่ต้นปี ถึงวันที่   19  กันยายน   2549 พบผู้ป่วย   10 ราย อัตราป่วย    2.07   ต่อประชากรแสน   ไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิต  โดยพบผู้ป่วยที่ 
อำเภอเมืองชุมพร       จำนวน 1 ราย ที่ ตำบลปากน้ำชุมพร
อำเภอหลังสวน          จำนวน  2 ราย ที่  ตำบลวังตะกอ  2 ราย
อำเภอพะโต๊ะ             จำนวน  2  ราย  ที่ ตำบลพะโต๊ะ   2 ราย
อำเภอสวี                   จำนวน 2 ราย  ที่ ตำบลเขาทะลุ  1   ราย   ตำบลเขาค่าย
อำเภอทุ่งตะโก          จำนวน  3  ราย  ที่  ตำบลตะโก 
คำสำคัญ (Tags): #สุขภาพ
หมายเลขบันทึก: 52910เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2006 11:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤษภาคม 2012 13:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท