กรมควบคุมโรค เปิดโครงการสำรวจความชุกของวัณโรค 100 พื้นที่ทั่วประเทศ โดยใช้รถเอ็กซเรย์เคลื่อนที่ หลังพบปี 2553 มีผู้ป่วยวัณโรคที่ขึ้นทะเบียนรักษารวมกว่า 6 หมื่นราย


วันนี้ (31 สิงหาคม 2554) ที่ กรมควบคุมโรค  นายแพทย์มานิต   ธีระตันติกานนท์  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดโครงการการสำรวจความชุกของวัณโรคระดับชาติในประเทศไทย ว่า สถานการณ์โรควัณโรคของไทยยังเป็นปัญหาสาธารณสุข  ดังจะเห็นได้จากรายงานขององค์การอนามัยโลกในปี 2553 พบว่า  ประเทศไทยเป็น 1 ใน 22 ประเทศที่มีปัญหาวัณโรคมากที่สุดของโลก โดยประมาณการณ์คาดว่ามีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ทุกประเภทปีละ 92,300 ราย ในจำนวนนี้ประมาณ 44,400 ราย เป็นผู้ป่วยที่เสมหะพบเชื้อวัณโรค และเสียชีวิตปีละ 12,000 ราย  รายงานของกระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค พบว่า จำนวนผู้ป่วยวัณโรค ที่ขึ้นทะเบียนรักษาปี 2553 มีผู้ป่วยวัณโรคทุกประเภท จำนวน 62,000 ราย ในจำนวนนี้เป็นวัณโรคเสมหะพบเชื้อ จำนวน 32,800 ราย นั้นหมายความว่ายังมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งยังไม่มีโอกาสเข้าถึงการรักษาหรือได้รับบริการแล้วแต่ยังไม่เข้าสู่ระบบที่เป็นมาตรฐานคาดว่าประมาณ 30,000 รายทั่วประเทศ

            โครงการการสำรวจความชุกของวัณโรคระดับชาติในประเทศไทย ครั้งนี้จะเป็นการสำรวจครั้งที่ 5 ที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีการสำรวจความชุกของวัณโรคปอดมาแล้ว 4 ครั้ง (ปี 2505, 2520, 2534 และ 2549) สำหรับการสำรวจหาผู้ป่วยวัณโรคในครั้งนี้เป็นแบบเชิงรุก โดยใช้รถเอ็กซเรย์เคลื่อนที่  ซึ่งจะทำการสำรวจทั่วประเทศในกลุ่มประชากรตัวอย่างประมาณ 90,000 คน แบ่งเป็น 100 พื้นที่สำรวจ(Cluster) ใน 24 จังหวัดรวมทั้งพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งปัญหาวัณโรคจำเป็นต้องมีการสำรวจความชุกของวัณโรคระดับชาติ ถือเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดในการประเมินผลกระทบของการควบคุมวัณโรค โดยเฉพาะในด้านการลดโรค เมื่อประเทศได้ดำเนินมาตรการต่างๆ ในการควบคุมโรค

            นายแพทย์มานิต กล่าวต่อไปว่า สำหรับประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการสำรวจความชุกของวัณโรคครั้งนี้ คือ ทราบสถานการณ์วัณโรคที่แท้จริงของประเทศและสามารถเปรียบเทียบกับประเทศต่างในภูมิภาคเดียวกันได้  รวมทั้งจำนวนที่ยังไม่มีโอกาสเข้าถึงบริการเพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการแก้ไขปัญหาวัณโรคของประเทศ สำหรับประชาชนในพื้นที่สำรวจจะได้รับประโยชน์โดยตรง คือ 1.ได้รับการตรวจเอ็กซเรย์ปอดฟรีและรู้ผลภายใน 30 นาที 2.ได้รับความรู้เรื่องวัณโรคและการป้องกัน รวมถึงสามารถสังเกตอาการสงสัยที่จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจรักษา 3.หากพบว่าเป็นวัณโรคจะได้รับโอกาสเข้าถึงการรักษาวัณโรคให้หายขาด โดยกินยาให้ครบกำหนดอย่างน้อย 6 เดือน เนื่องจากตรวจพบโรคได้ในช่วงแรก 4.ลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อวัณโรคในชุมชน นอกจากนี้ กิจกรรมดังกล่าว กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข  ได้ขอความร่วมมือมาไปยังสำนักงานป้องกันควบคุมโรค สาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง และภาคส่วนต่างๆในระดับท้องถิ่น เพื่อเข้าร่วมดำเนินการในครั้งนี้ด้วย

แหล่งข่าวโดย...กลุ่มประชาสัมพันธ์และข่าว สนง.เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรม คร

ข้อความหลัก " รู้ทันวัณโรค พบก่อน รักษาหาย ไม่แพร่กระจาย "

         กรมควบคุมโรค  ห่วงใย  อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี

ที่มา http://www.ddc.moph.go.th/pnews/showimgdetil.php?id=346

คำสำคัญ (Tags):
หมายเลขบันทึก: 529050เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2011 23:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2013 15:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท