เตือนอันตรายผู้ประสบอุทกภัยเพิ่มความระวังป้องกันการเสียชีวิตจากการจมน้ำ


เภสัชกรเชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ  หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก  กล่าวว่า  จากสถานการณ์ภาวะฉุกเฉินอุทกภัยในภาคเหนือตอนล่างที่ผ่านมา  พบรายงานผู้ป่วยจากโรคและภัยน้ำท่วมส่วนใหญ่เป็นโรคน้ำกัดเท้า รองลงมาคือไข้หวัด และผื่นคันที่ผิวหนัง  ที่น่าเป็นห่วงคือมีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำจำนวน 5 ราย  และจากข้อมูลย้อนหลังที่ผ่านมาพบว่าเด็กไทยอายุต่ำกว่า15 ปีเสียชีวิตจากการตกน้ำจมน้ำปีละประมาณ 1,420 คนหรือเฉลี่ยวันละ 4 คน การจมน้ำเสียชีวิตมักมีสาเหตุจากการพลัดตกลื่น เช่น พื้นไม้ที่ผุพัง หรือมีตระใคร่ขึ้น  ทางเดินบนสะพานที่แคบและไม่แข็งแรง และที่สำคัญคือการดื่มเหล้าจนมึนเมา

        กรมควบคุมโรค มีความเป็นห่วงในสุขภาพอนามัยของผู้ประสบภัยน้ำท่วม  จึงขอเตือนภัยประชาชน และผู้ปกครองที่มีเด็กเล็กหรือลูกหลาน  ให้ระมัดระวังคำป้องกันอันตราย ระมัดระวังการเข้าใกล้แหล่งน้ำ  หากมีเด็กในความดูแลให้ความดูแลอย่างใกล้ชิดไม่ให้คลาดสายตา ป้องกันการพลัดตกจมน้ำซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้  โดยแนะนำประชาชนระวังป้องกันจากการจมน้ำดังนี้            

        1)  ประชาชนที่ประสบอุทกภัย  หรือประกอบอาชีพทางน้ำ เช่น หาปลา ต้องเข้าพื้นที่น้ำท่วม หรือต้องทำกิจกรรมทางน้ำ ขอให้เตรียมอุปกรณ์ป้องกันการจมน้ำ เช่น ถังแกลลอนเปล่าปิดฝา ขวดน้ำพลาสติกเปล่าปิดฝา ลูกมะพร้าว ห่วงยาง เสื้อชูชีพ หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่ช่วยให้ลอยตัวในน้ำได้ เพื่อป้องกันการจมน้ำ และไม่ควรออกประกอบอาชีพทางน้ำตามลำพัง

2)  ไม่ควรลงเล่นน้ำในช่วงน้ำท่วมและน้ำเชี่ยวไหลหลาก  และผู้ปกครองต้องดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด

3)  ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว หรือไม่สามารถดูแลตนเองได้  เช่น โรคลมชัก  เครียด  ความดันต่ำ ต้องมีผู้ดูแล และไม่ควรปล่อยให้อยู่ตามลำพัง

 

              เภสัชกรเชิดเกียรติ  กล่าวต่อว่า หากพบคนจมน้ำควรมีวิธีช่วยที่ถูกต้อง คือ  ตั้งสติอย่าวู่วาม  ไม่ควรลงไปในน้ำเพื่อช่วยคนจมน้ำทันทีทันใด  ควรหาอุปกรณ์ใกล้ตัว เช่น ไม้ เชือก หรืออุปกรณ์ที่ช่วยให้ผู้ช่วยเหลือ และคนจมน้ำลอยตัวได้ เพื่อโยนหรือยื่นให้คนจมน้ำแล้วลากเข้าฝั่งโดยที่คนช่วยเหลืออยู่บนฝั่ง  หากจำเป็นต้องจะลงน้ำไปช่วยเหลือ ต้องมั่นใจว่าว่ายน้ำเป็น และควรต้องมีอุปกรณ์ช่วยเหลือนำติดตัวไปด้วยเพื่อยืนให้คนจมน้ำจับแล้วลากเข้าฝั่ง ที่สำคัญไม่ควรสัมผัสคนจมน้ำโดยตรงเพราะอาจจะถูกกอดรัดและจมน้ำไปพร้อมกัน และกรณีช่วยเหลือผู้จมน้ำด้วยตนเองไม่ได้ หรือไม่มีอุปกรณ์  ให้ตะโกนร้องขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น 

            และเมื่อช่วยผู้จมน้ำได้แล้ว  ห้ามจับคนจมน้ำอุ้มพาดบ่าแล้วกระโดดหรือวิ่งไปมาเพื่อให้น้ำออก เนื่องจากเป็นวิธีที่ผิด เพราะน้ำที่ออกมาจะเป็นน้ำจากกระเพาะไม่ใช่จากปอด  และจะทำให้ผู้จมน้ำขาดอากาศหายใจนานยิ่งขึ้น อาจทำให้เสียชีวิตได้  วิธีที่ถูกต้องคือควรวางคนจมน้ำให้นอนราบ  ตะแคงหน้าเอาน้ำออกจากปาก เปิดทางเดินหายใจให้โล่ง และช่วยหายใจ ด้วยการเป่าลมเข้าออกตามจังหวะหายใจเข้าออก  แล้วรีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน พร้อมโทรแจ้ง 1669 โดยเร็วที่สุด 

 ข้อความหลัก " น้ำดื่ม อาหารสุก ร่างกายสะอาด ระวังสัตว์พิษ สุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม
ป้องกันโรคและภัยที่มาจากน้ำท่วม ”

กรมควบคุมโรค  ห่วงใย  อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี

ที่มา http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/tv/2554_08_28_drowing.html

คำสำคัญ (Tags):
หมายเลขบันทึก: 529025เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2011 09:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2013 15:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท