ปัญหาการพัฒนาอีเลิร์นนิ่งไทย


หลักสำคัญของการทำอีเลิร์นนิ่งของคณะนั้น จะต้องทำให้ได้มาตรฐานเหมือนกับการเรียนในชั้นเรียนปกติ ต้องสร้างองค์ความรู้จากงานวิจัยและพัฒนากำลังด้านวิจัย เพื่อสร้างโอกาสในการเรียนรู้ให้ผู้เรียน พร้อมทั้งต้องพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนของคณาจารย์ด้วย
        "สกอ." ชี้อีเลิร์นนิ่งไทยยังนำมาใช้น้อยหาเทียบต่างชาติ หวังไทยน่าจะพัฒนาได้มากกว่านี้ ขณะที่ 2 นักวิชาการจาก "มหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย" เชื่อนำอีเลิร์นนิ่งให้ประโยชน์แน่นอน แต่ต้องออกแบบให้เหมาะกับผู้เรียน พร้อมเปิดหลักสูตรอบรมผู้สนใจทำอีเลิร์นนิ่งแก้ปัญหาขาดตลาด
       
        ด้าน "จุฬาฯ" เห็นประโยชน์อีเลิร์นนิ่งเปิดโอกาสให้เด็กสอนกันเอง นำร่องเปิดหลักสูตรแรกของคณะเภสัช รับรุ่นแรกแล้ว 10 คน หวังโครงการนี้เป็นหนทางพัฒนาอีเลิร์นนิ่งของคณะได้
       
        ศ.พิเศษ ภาวิช ทองโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการอุดมศึกษา กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีการนำเอาอีเลิร์นนิ่งมาใช้น้อยมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ โดยส่วนตัวต้องการให้โรงเรียนและมหาวิทยาลัยมีการนำเอาอีเลิร์นนิ่งมาใช้ให้มากขึ้น มุ่งพัฒนาอีเลิร์นนิ่งเพื่อใช้ในการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย
       
        นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยควรมีหน้าที่ในการผลิตครูพันธุ์ใหม่ หรือครูที่มีทักษะทางด้านอีเลิร์นนิ่ง เพื่อให้ครูเหล่านี้เข้าไปสอนในโรงเรียนต่อไป ซึ่งการพัฒนาในเรื่องนี้ทั้งทางตรงและทางอ้อมนั้นทางสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา หรือสกอ. พร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือเสมอ
       
        "ผมว่าครูไทยมีการพัฒนาในเรื่องอีเลิร์นนิ่งได้ แต่เขาอาจจะไม่พร้อมทางด้านการฝึก การเรียนรู้ ซึ่งถ้าเราเอาเขามาฝึกเขาก็จะทำได้ อย่างโครงการจัดสัมมนาวิชาการ e-Learning เพื่อการศึกษาแห่งชาติ ก็มีการเชิญครูมาฟังบรรยายเรื่องของการทำอีเลิร์นนิ่ง และมีการให้ครูเข้าทำเวิร์คชอปใน 3 ห้อง ซึ่งเชื่อว่าหากเขาสามารถผ่านการทำเวิร์คชอปตรงนี้ไปได้ เขาจะสามารถกลับไปทำบทเรียนอีเลิร์นนิ่งของตัวเองได้เลย"
       
        ด้าน ผศ.สุพรรณี สมบุญธรรม ผู้อำนวยการโครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย (TCU) กล่าวว่า การจะนำอีเลิร์นนิ่งเข้ามาใช้ในการศึกษาไทยนั้นนับว่าเป็นประโยชน์ แต่การจะออกแบบอีเลิร์นนิ่งให้เป็นรูปแบบใด จะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมสำหรับกลุ่มวิชาด้วย เนื่องจากกลุ่มผู้เรียนแต่ละวิชามีความแตกต่างกัน ดังนั้น ครูหรืออาจารย์ที่สอนจะต้องมีความละเอียดอ่อนในการรับรู้พฤติกรรมของผู้เรียนแต่ละคน
       
        นอกจากนี้ จะต้องเอาใจใส่ในเนื้อหาของแต่วิชาด้วย เพื่อให้การทำอีเลิร์นนิ่งในวิชานั้นๆ เกิดความคุณค่าในการเรียนการสอนมากที่สุด เพราะการเรียนการสอนแบบอีเลิร์นนิ่งจะเป็นเหมือนเครื่องมือตัวหนึ่ง ที่จะทำให้เกิดการสื่อสารระหว่างผู้สอนและผู้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพในโลกไร้พรมแดน
       
        อย่างไรก็ดี การใช้อีเลิร์นนิ่งของไทยนั้นยังติดปัญหาในเรื่องของระบบอินเตอร์เน็ตที่ยังไม่มีความพร้อม แต่อย่างไรก็ดี ต้องการให้มหาวิทยาลัยและโรงเรียนทุกแห่งมีอีเลิร์นนิ่ง เพื่อเปิดโอกาสในการพัฒนาคนให้เก่งและฉลาดขึ้น
       
        เชาวเลิศ เลิศชโลฬาร ที่ปรึกษาของมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย กล่าวว่า ทั้งโรงเรียนและมหาวิทยาลัยไทยนั้นยังขาดแคลนเรื่องบุคคลากรในด้านอีเลิร์นนิ่งอยู่ ดังนั้นทาง TCU จึงได้ร่วมมือกับอาจารย์จากมหาวิทยาลัยทั้ง 5 แห่ง คือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยศิลปากร เทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล จัดตั้งหลักสูตรผู้เชี่ยวชาญอีเลิร์นนิ่งเพื่อสอนอาจารย์ให้มีความรู้ด้านการทำอีเลิร์นนิ่งเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาตัวหลักสูตร
       
        โดยหลักสูตรดังกล่าวจะแบ่งการเรียนเป็น 3 สาขาวิชา คือสาขาการสอนอีเลิร์นนิ่ง ซึ่งจะเหมาะสำหรับครูที่ต้องการทำการเรียนการสอนอีเลิร์นนิ่ง, สาขาการออกแบบบทเรียนอีเลิร์นนิ่ง เหมาะสำหรับผู้สอน นักออกแบบ นักวิชาการ และสาขาบริหารโครงการอีเลิร์นนิ่ง เหมาะสำหรับนักการศึกษา นักออกแบบ นักบริหาร โครงการอีเลิร์นนิ่ง โดยผู้เรียนจะต้องจบปริญญาตรี และจะต้องมีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ และอินเตอร์เน็ท
       
        คาดว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่จะสร้างการเรียนอีเลิร์นนิ่งในไทย นอกจากนี้ ยังมีมหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์จะนำโครงการนี้เข้าไปจัดเป็นหลักสูตรสำหรับปริญญาโท
       
        ผศ.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ ประธานหลักสูตรเภสัชศาสตร์สังคม และบริหารมหาบัณฑิต/ดุษฎีบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การทำเปิดการเรียนการสอนแบบอีเลิร์นนิ่งมีประโยชน์ตรงที่นอกจากนักศึกษาจะได้ความรู้จากอีเลิร์นนิ่งที่เรียนแล้ว นักศึกษายังจะได้ความรู้จากข้อมูลของนักศึกษาอีกคนหนึ่ง ที่อยู่ในรูปแบบของการถามตอบต่อๆ กันไปเรื่อยๆ นอกจากนี้ การเรียนแบบนี้อาจารย์ยังสามารถเข้าไปร่วมให้ข้อมูลกับนักศึกษาได้
       
        โดยทางคณะเภสัชศาสตร์นั้นได้มีการจัดทำหลักสูตรเภสัชศาสตร์สังคม และบริหารมหาบัณฑิต/ดุษฎีบัณฑิตในรูปแบบอีเลิร์นนิ่ง เนื่องจากหลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรที่มีอยู่แล้วในการเรียนปกติซึ่งเปิดมาได้ประมาณ 5 ปีมีผู้จบในระดับปริญญาเอก 10 กว่าคน ระดับปริญญาโท 3-4 คน
       
        แต่ในปีนี้คณะได้มีการพัฒนาให้เป็นระบบอีเลิร์นนิ่งขึ้นเป็นปีแรก โดยปัจจัยที่เลือกทำหลักสูตรนี้ก็เนื่องจาก คาดว่านักศึกษาที่เรียนจบจากหลักสูตรดังกล่าวจะมีความรู้ด้านการบูรณาการความรู้ มีความคิดเชิงวิเคราะห์ และมีความรู้ความสามารถ นอกจากนี้ หวังว่าการทำหลักสูตรดังกล่าวจะเป็นมาตรฐานสำหรับหลักสูตรอื่นๆ ในการจัดทำอีเลิร์นนิ่งต่อไปด้วย
       
        ขณะนี้มีนักศึกษาที่สนใจเข้าเรียนในโครงการดังกล่าว 10 คน ถือว่าเหมาะสำหรับกับจำนวนอาจารย์ที่จบทางด้านปริญญาเอกที่คณะมีอยู่ เนื่องจากการเรียนแบบนี้ต้องมีอาจารย์เข้ามาดูแลโดยตรง ซึ่งนักศึกษาที่มาเรียนนี้จะอยู่จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 คน ตะวันออก 3 คน ภาคกลาง 1 คน และกรุงเทพฯ 3 คน คาดว่านักศึกษาทั้ง 10 คนนี้จะเป็นบทเรียนในการพัฒนาการเรียนแบบอีเลิร์นนิ่งของคณะได้
       
        อย่างไรก็ดี คณะต้องการที่จะให้ทุกจุดที่มีนักศึกษาอยู่มี Local Adviser เพื่อเข้าไปช่วยเหลือนักศึกษาซึ่งตรงนี้คงต้องมีการพัฒนาต่อไป อย่างไรก็ดี คณะได้วางกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้ามาเรียนในหลักสูตรดังกล่าว คือ ผู้ที่มีความสนใจเรื่องของยา คนที่ทำงานโรงพยาบาลศูนย์สุขภาพ เภสัชกร คนที่ทำงานในร้านขายยาก็ได้ แต่ที่ผ่านมาจุฬาฯ ยังคงเลือกรับแต่ผู้ที่เภสัชกรก่อน
       
        สำหรับหลักสำคัญของการทำอีเลิร์นนิ่งของคณะนั้น จะต้องทำให้ได้มาตรฐานเหมือนกับการเรียนในชั้นเรียนปกติ ต้องสร้างองค์ความรู้จากงานวิจัยและพัฒนากำลังด้านวิจัย เพื่อสร้างโอกาสในการเรียนรู้ให้ผู้เรียน พร้อมทั้งต้องพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนของคณาจารย์ด้วย
       
        นอกจากนี้ ต้องมองว่าอีเลิร์นนิ่งเป็นนวัตกรรมของประเทศด้านการสอนการเรียนรู้ไม่ใช่หลักสูตรเพื่อสร้างรายได้ คาดว่าการพัฒนาในหลังสูตรนี้จะช่วยให้คณะได้เป็นผู้ที่เชี่ยวชาญทางด้านอีเลิร์นนิ่ง และในอนาคตหลักสูตรปริญญาตรีของคณะก็จะนำต้นแบบนี้ไปพัฒนาการทำอีเลิร์นนิ่งเพื่อเข้าไปใช้สอนแทนการสอนของอาจารย์
       
        ส่วนแนวทางต่อไปในการพัฒนาหลักสูตรนั้นจะขยายการศึกษาไปยังต่างประเทศ เช่น ลาว ฟิลิปปินส์ เนปาล และจะขยายไปสู่รูปแบบของประกาศนียบัตร เฉพาะวิชา เนื่องจากบางคนไม่ต้องการที่จะเรียนในรูปแบบปริญญา หลังจากนั้นจะพัฒนาไปสู่การเรียนอีเลิร์นนิ่งในระดับปริญญาตรี
คำสำคัญ (Tags): #e-learning
หมายเลขบันทึก: 52658เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2006 22:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 03:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท