"มาตุภูมิ"กับ"ชาติภูมิ" ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น กับ ประวัติศาสตร์แห่งชาติ


"มาตุภูมิ"กับ"ชาติภูมิ" ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น กับ ประวัติศาสตร์แห่งชาติ

คอลัมน์ ภูมิสังคมวัฒนธรรม

โดย รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์



รากเหง้าของความแตกแยก และบ่อเกิดความไม่เข้าใจกันเองของคนในชาติทุกวันนี้ คือการพัฒนาเศรษฐกิจการเมืองของรัฐบาลตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพราะเป็นการพัฒนาที่ขาดมิติของเวลาในอดีต

อดีตคือที่มาของประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นของคู่กันกับความเป็นมนุษย์ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์โลกที่เป็นสัตว์สังคมต้องอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเพื่อความอยู่รอด

แต่การพัฒนาประเทศที่เน้นแต่เศรษฐกิจทุนนิยมเสรีแบบตะวันตกอย่างกลวงๆ ได้ทำให้มนุษย์ในดินแดนประเทศไทยมีสำนึกเป็นปัจเจก ซึ่งเทียบได้กับการเป็นสัตว์เดรัจฉานประเภทหนึ่ง

มนุษย์โดยธรรมชาติต้องอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม (Social group) กลุ่มเล็กที่สุด คือครอบครัวและเครือญาติ (ครัวเรือน) ถัดมาเป็นชุมชนที่แลเห็นความสัมพันธ์ทางสังคมที่เป็นรูปธรรม (Social reality) ได้แก่ชุมชนบ้าน เหนือชุมชนบ้านขึ้นไปเป็นชุมชนทางจินตนาการ (imagined community) ใช้พื้นที่หรือแผ่นดินอันมีคนอยู่ร่วมกันบูรณาการให้เกิดสำนึกร่วม

ชุมชนทางจิตนาการ หรือชุมชนสมมุติที่เกิดขึ้นในพื้นที่สองระดับ คือพื้นที่อันเป็นแผ่นดินเกิด หรือมาตุภูมิ กับพื้นที่อันเป็นประเทศชาติ หรือชาติภูมิ

การเกิดชุมชนสมมุติทั้ง 2 ระดับนี้ใช้มิติของเวลาหรือประวัติศาสตร์ เป็นสิ่งเชื่อมโยงให้เกิดสำนึกของการเป็นพวกพ้องเดียวกัน เพราะฉะนั้นประวัติศาสตร์จึงมี 2 ระดับ คือ ระดับท้องถิ่นและระดับชาติ

ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น คือประวัติศาสตร์สังคม ที่แสดงให้เห็นความเป็นมาของผู้คนในท้องถิ่นเดียวกันที่อาจมีความแตกต่างทางชาติพันธุ์ก็ได้ แต่เมื่อเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่เดียวกันตั้งแต่ 2-3 ชั่วคนสืบลงไป ก็จะเกิดสำนึกร่วมขึ้นเป็นคนในท้องถิ่นเดียวกัน มีจารีต ขนบ ประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อและกติกาในทางเศรษฐกิจและสังคมร่วมกัน โดยมีพื้นฐานทางความเชื่อและศีลธรรมเดียวกัน เช่น

ท้องถิ่นดงศรีมหาโพธิ์ ในอำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี มีความเป็นมาทางชาติพันธุ์ต่างกัน คือมีทั้งมอญ เขมร ลาว เจ๊ก ฯลฯ แต่มีสำนึกความเป็นคนศรีมหาโพธิ์หรือศรีมโหสถร่วมกัน

ประวัติศาสตร์แห่งชาติ คือประวัติศาสตร์สังคมที่แสดงให้เห็นความเป็นมาของผู้คนในประเทศเดียวกัน

เหนือระดับท้องถิ่นอันหลากหลายก็เป็นพื้นที่หรือแผ่นดินที่เป็นประเทศชาติ เช่น ดินแดนประเทศไทยเรียกว่าสยามประเทศ มีประวัติศาสตร์การเมืองและเศรษฐกิจที่ยึดโยงผู้คนในระดับท้องถิ่นที่หลากหลายให้รวมเป็นพวกเดียวกัน เช่น มีภาษากลางร่วมกัน มีระบบความเชื่อและประเพณีพิธีกรรมเดียวกัน มีสถาบันพระมหากษัตริย์และการปกครองร่วมกัน เป็นต้น

ทั้งหมดนี้หล่อหลอมและผลักดันให้คนในดินแดนสยามสมมุติชื่อเรียกตนเองอย่างหลวมๆ ว่า คนไทย เริ่มมีหลักฐานตั้งแต่สมัยอยุธยา ฉะนั้นคนไทยเป็นชื่อรวมของคนในระดับชาติภูมิ

ประวัติศาสตร์ชาติภูมิ กลายเป็นประวัติศาสตร์รัฐชาติ หรือประวัติศาสตร์แห่งชาติ ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ลงมา ต่อมาได้เจือปนกับประวัติศาสตร์อาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตก จนทำให้เกิดประวัติศาสตร์เชื้อชาตินิยม (race) ตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นต้นมา

การมองคนไทยในลักษณะของความเป็นเลิศทางกรรมพันธุ์ ได้ทำลายความเป็นคนไทยที่เป็นชื่อสมมุติท่ามกลางความหลากหลายของชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทยให้หมดไป จึงเป็นช่องทางให้เกิดกลุ่มผลประโยชน์ใช้อ้างอิงเพื่อความชอบธรรมในการปกครอง แล้วใช้ทำลายความสัมพันธ์ของคน ทั้งคนภายในประเทศไทยและคนภายนอกคือประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว เขมร เวียดนาม และมลายู สืบมาจนทุกวันนี้

เพราะถ้ามองจากประวัติศาสตร์ท้องถิ่นแล้ว คนที่อยู่ในประเทศปัจจุบันแยกไม่ออกจากบรรดาชาติพันธุ์ของผู้คนต่างๆ ในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว เขมร เวียดนาม และมาเลเซีย ฯลฯ



#อ่านเรื่องเกี่ยวข้องเป็นรายละเอียดใน www.svbhumi.com e-mail : [email protected]#

หมายเลขบันทึก: 52525เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2006 11:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 22:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
น่าคิดอยู่นะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท