คำปุน


แหล่งผ้าไหมของอุบลราชธานี

 

 

             บรรดาแขกไปไทยผ่าน ที่มาเยี่ยมเยียน จ.อุบลราชธานี ถ้าต้องการชมอุปกรณ์การทอผ้าที่เก่าแก่ และแบบบ้านที่สร้างด้วยศิลปะหลายประเทศ ถ้าไม่ได้ไปสัมผัสบรรยากาศภายในโรงงานทอผ้าไหม "คำปุน" ก็เหมือนกับมาไม่ถึงเมืองอุบลราชธานี

              โรงงานทอผ้าไหมคำปุน มี "นายมีชัย แต้สุจริยา" หนุ่มวัย 44 ปี เป็นเจ้าของ ผู้จัดการและเป็นช่างออกแบบ โรงงานตั้งอยู่ในเนื้อที่ 8 ไร่ เลขที่ 331 ถนนศรีสะเกษ ต.คำน้ำแซบ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี มีบ้านหรือโรงเรือนศิลปะประยุกต์ทั้งหมด 7 หลังจัดเป็นโรงเรือนทอผ้า 2 แถว แถวละ 3 หลัง โดยมีสระน้ำอยู่กึ่งกลาง อีกหนึ่งหลังที่มีขนาดใหญ่ตั้งอยู่กึ่งกลางหลังสุดต่อจากสระน้ำ ใช้สำหรับเป็นบ้านหรือโรงเรือนเพื่อแสดงงานศิลป์ที่มีอายุเก่าแก่ และผ้าไหมที่ทอเสร็จ ก่อนที่จะส่งผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้าบ้านหลังนี้เหมือนกับพิพิธภัณฑ์ โรงเรือนแต่ละหลังออกแบบด้วยศิลปะผสมผสานของ ขอม อีสาน รัตนโกสินทร์ และจีน แต่ละหลังทรวดทรงคล้ายหอแจก มีความงดงามกลมกลืนอย่างน่าอัศจรรย์ ประทับใจผู้ที่ได้ประสบสัมผัสรอบๆ บริเวณบ้านทั้ง 7 หลัง ตกแต่งด้วยไม้ประดับมีสภาพภูมิทัศน์ที่สวยงาม
            มีชัยกล่าวว่า เรียนการทอผ้าไหมมาตั้งแต่จำความได้ เพราะทางครอบครัวมีกิจการผ้าไหมอันเป็นมรดกสืบทอดมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ประกอบกับมีความสนใจในเชิงศิลป์ ทำให้สามารถทอผ้าและออกแบบลายผ้าได้ตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ก่อนจะมาดำเนินกิจการโรงงานทอผ้าไหมเชื่อมต่อจากคุณแม่ "คำ ศรีไล" อย่างจริงจัง ระหว่างที่ทำงานอยู่บริษัทการบินไทย มีโอกาสเดินทางไปดูผลงานที่มีชื่อเสียงตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆ หลายประเทศ ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานอันเป็นสิ่งที่สนใจมาตั้งแต่เยาว์วัย
มีชัยกล่าวว่า ในโรงงานมีช่างทั้งหมด 35 คน แยกเป็นช่างทอ 24 คน ช่างมัดหมี่ 7 คน นอกนั้นเป็นพนักงานฝ่ายการเงินการบัญชี ช่างทั้งหมดมีภูมิลำเนาอยู่ในหมู่บ้านใกล้กับที่ตั้งของโรงงาน ส่วนไหมดิบจะรับซื้อเฉพาะไหมน้อย แหล่งวัตถุดิบอยู่ใน ต.หัวเรือ ต.หนองบ่อ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี นอกนั้นจะตระเวนซื้อจาก จ.ศรีสะเกษ สุรินทร์ ยโสธร ในราคากิโลกรัมละ 1,800 บาท เป็นไหมที่ยังไม่ได้ฟอก ส่วนการทอผ้าซิ่นมัดหมี่ผสมผสานกับงานจกด้วยดิ้นเงินดิ้นทองอันเป็นเอกลักษณ์ของโรงงานคำปุนเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย สำหรับราคาผ้าไหมที่ทอจากโรงงานมีตั้งแต่ราคาหลาละ 2,000 บาท ถึงหลาละ 300,000 บาท ลูกค้าที่อุดหนุนผ้าไหมไม่ใช่ชาวต่างชาติ ล้วนเป็นชาวไทยถึงร้อยละ 90 ส่วนใบสั่งจากต่างชาติก็มีเช่นกัน
"ผ้าไหมที่ทอเสร็จไม่ค่อยได้เก็บไว้โชว์ อุปกรณ์การทอผ้า หรืองานศิลป์ที่เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านอายุกว่า 200 ปี มีหลายพันชิ้น มีมูลค่ามหาศาลซึ่งหาดูได้ยาก บางชิ้นมีลวดลายขลิบทอง จากการสะสมของคุณยายและคุณแม่มายาวนานกว่า 100 ปี ซึ่งบางชิ้นหาได้ภายในประเทศ ส่วนใหญ่จะซื้อมาจากต่างประเทศ เช่น ลาว เขมร และมีครอบครัวคนไทยที่เคยทอผ้าไหมปัจจุบันได้เลิกกิจการแล้ว ได้นำอุปกรณ์การทอผ้าไหมมามอบให้ บรรดานักท่องเที่ยวหรือผู้สนใจถ้าแวะมาเยี่ยมโรงงานคำปุน นอกจากจะได้เห็นการทอผ้าไหมด้วยอุปกรณ์ดั้งเดิม ยังจะได้ชมศิลปะเก่าแก่สวยงามอีกด้วย"
ผลงานของมีชัยที่แสดงถึงความสนใจเรื่องผ้าปรากฏเด่นชัด ไม่ว่าจะเป็นการเขียนบทความเผยแพร่ในนิตยสาร เช่น บทความเรื่อง "ทำผ้าอย่างไรให้มีคุณภาพ" ในปี 2537 "ผ้ากับสาระที่สืบทอดในครอบครัวของข้าพเจ้า" ปี 2539 และ "กว่าจะเป็นผ้ามัดหมี่" ในปี 2542
ต่อมาในปี 2543 ได้คิดค้น "ผ้ากาบบัว" และกลายเป็นเอกลักษณ์ของ จ.อุบลราชธานี รวมทั้งเขียนบทความเรื่องผ้ากาบบัว ออกพิมพ์เผยแพร่ให้รู้จักอย่างกว้างขวาง และยังเป็นกรรมการในคณะทำงานพิจารณาผ้าพื้นเมืองในโครงการ "สืบสานผ้าไหมสายใยเมืองอุบล" อีกด้วย
จากผลงานต่างๆ ส่งผลให้มีชัยได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาช่างฝีมือ ด้านทอผ้าไหม นอกจากนี้โรงงานทอผ้าไหม คำปุนยังเปิดโอกาสให้นักเรียนนักศึกษา ตลอดจนผู้สนใจทั้งชาวไทย ชาวต่างชาติ เข้าเยี่ยมชมได้แต่ขอให้มาเป็นคณะในช่วงเช้า ทางโรงงานจะจัดลำดับให้ เนื่องจากมีข้อจำกัดเพราะมีชัย จะต้องเป็นวิทยากรบรรยาย ทำให้เวลาค่อนข้างรัดตัว
มีชัยเป็นชายหนุ่มที่รักในงานทอผ้าเป็นชีวิตจิตใจ ทุ่มเททุ่มทุนตั้งโรงงานเป็นจำนวนเงินหลายสิบล้านบาท เพื่ออนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมของอีสานเอาไว้ ปัจจุบันเทคโนโลยีด้านการทอผ้าได้เข้ามามีบทบาทมาก ทำให้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตคน ส่งผลกระทบให้ช่างทอผ้าเลิกประกอบอาชีพนี้
แต่หนุ่มคนนี้ไม่ได้ตั้งความหวังอะไรมากไปกว่า อยากกลับมาตอบแทนสังคมที่เป็นบ้านเกิดเมืองนอน
และคาดหวังให้อนุชนรุ่นหลังได้มีจิตสำนึกร่วมอนุรักษ์งาน "ทอผ้าไหมมัดหมี่ด้วยมือ" ให้คงอยู่คู่อีสานสืบต่อไป

คำสำคัญ (Tags): #คำปุน
หมายเลขบันทึก: 52521เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2006 11:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 12:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท