สถานการณ์ใต้ ตอนที่ 7: ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับปัตตานี : ยุคกษัตริย์สตรีแห่งปัตตานี: ราชินีกูนิง


หลังพระราชพิธีฝังพระศพราชินีอูงู สุลต่านยะโฮร์ทรงลามเหสีกูนิงกลับไปบริหารราชการแผ่นดินในรัฐยะโฮร์ของพระองค์ โดยขอให้พระมารดาและพระอนุชาประทับอยู่ต่อที่นครปัตตานี พร้อมทั้งทหารของนครยะโฮร์จำนวนหนึ่ง เพื่อถวายคำปรึกษาและอารักขามเหสีกูนิง ซึ่งได้รับการสยุมพรเป็นเจ้านครปัตตานีองค์ใหม่

เมื่อขึ้นครองบัลลังก์ สิ่งแรกที่ราชินีกูนิงทรงทำคือบริจาคราชทรัพย์ส่วนพระองค์เข้าพระคลังหลวง ซึ่งเล่ากันว่าทรัพย์สมบัติของพระนางนั้นมากมายมหาศาล ต้องใช้เวลาขนถึง 3 วัน 3 คืน. ตำนานนครรัฐปัตตานียังเล่าว่าราชินีกูนิงทรงเป็นเจ้านครที่มั่งคั่งที่สุด ทั้งจากราชทรัพย์ที่ตกทอดมาจากอดีตเจ้าผู้ครองนครหลายพระองค์ และจากกิจการค้าส่วนพระองค์. ในรัชสมัยของพระนาง, องค์กูนิงมิได้ทรงใช้งบประมาณจากพระคลังเลย ทรงมีรายได้จากการค้าขายพืชผลจากสวนเกษตรส่วนพระองค์ โดยมี "นักโฮดา ซันดัง"เป็นผู้จัดการผลประโยชน์ให้ ประชาชนเรียกนักโฮดา ซันดัง ผู้นี้ว่า "พ่อค้าของพระราชินี"

ยุคของราชินีกูนิงเป็นยุคที่การค้าของปัตตานีรุ่งโรจน์ที่สุด แต่เมื่อสุลต่านยะโฮร์ต้องกลับไปบริหารบ้านเมืองของพระองค์ พระอนุชาของสุลต่านได้ข่มเหงพระนาง หลังจากนั้นกลับเปลี่ยนผันปันใจไปมีสัมพันธ์สวาทกับนางดัง สีรัต นักร้องในคณะอุปรากรของวังหลวง ดัง สีรัต เป็นหญิงที่มีเสียงไพเราะมาก เจ้าชายยะโฮร์ทรงหลงใหลนางมาก ประทานทุกอย่างที่ดัง สีรัต ปรารถนาและวางแผนที่จะแยกไปตั้งเมืองใหม่และสถาปนานางเป็นพระชายา

พระมารดาของสุลต่านและพระอนุชาที่ยังประทับอยู่ที่ปัตตานีพร้อมพระนมของเจ้าชายเชื่อว่า นางดัง สีรัต ใช้มนต์ดำทำเสน่ห์ให้พระอนุชาลุ่มหลง บรรดาเสนาบดีและข้าราชบริพารในราชสำนักปัตตานีต่างไม่พอใจกับพฤติกรรมของเจ้าชายเมืองยะโฮร์ และเมื่อข่าวที่เจ้าชายจะสถาปนา ดัง สีรัต เป็นพระชายาแพร่สะพัดทั่วนครปัตตานี เหล่าเสนาบดีจึงเข้าเฝ้าเพื่อขอให้ราชินีกูนิงมีพระราชวินิจฉัย แต่พระราชินีกลับมอบหมายให้เป็นภารกิจของเสนาบดีที่จะตัดสินว่าจะจัดการอย่างไร เพียงแต่ขอให้ไว้ชีวิตของเจ้าชายไว้

เจ้าชายแห่งยะโฮร์มิทรงล่วงรู้ถึงแผนการใดของคณะเสนาบดีแห่งองค์ราชินีปัตตานี ด้วยอยู่ในภวังค์ลุ่มหลงนางดัง สีรัต เจ้าชายทรงเรียกคณะมนตรีแห่งนครรัฐเข้าเฝ้าและมีรับสั่งให้ตามเสด็จพระองค์ไป ณ ตัมบังงัน เพื่อร่วมพิธีสถาปนานางดัง สีรัต เจ้าชายเสด็จล่วงหน้าพร้อมนางดัง สีรัต และมหาดเล็กชาวอาเจะห์ของพระองค์ พร้อมไพร่พลทหารจากนครยะโฮร์ ประทับรอคณะเสนาบดีแห่งราชสำนักปัตตานีที่ไม่ปรากฏกายจวบจนราตรีผ่านพ้น

เจ้าชายทรงรับทราบข่าวร้ายเมื่อฟ้าสางว่า คล้อยหลังขบวนเสด็จของพระองค์ ราชสำนักปัตตานีสั่งปิดประตูเมืองและติดตั้งปืนใหญ่รอบป้อมเมือง พระองค์รับสั่งให้มหาดเล็กไปสืบข่าวและดูให้เห็นกับตา เมื่อทราบว่าข่าวร้ายเป็นจริง เจ้าชายทรงพานางดัง สีรัต โดยเสด็จมุ่งหน้าสู่ปาซีร์ เบนดาราจา ระหว่างทางขบวนเสด็จของพระองค์ถูกชาวปัตตานีตามไล่ล่า มหาดเล็กชาวอาเจะห์ของพระองค์ถูกฆ่า ไม่มีใครทราบว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อเจ้าชายทรงตัดสินพระทัยสังหารนางดัง สีรัต ด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เองที่หมู่บ้านตีนเขาตาบิห์ ศพของนางดัง สีรัต ถูกฝังไว้ ณ ตีนเขาตาบิห์แห่งนี้

เมื่อฝังศพนางดัง สีรัต แล้ว เจ้าชายยะโฮร์ประทับช้างทรงบ่ายหน้าสู่เมืองสาย เมื่อราชินีกูนิงทรงทราบข่าว จึงมีพระบัญชาไปยังเจ้าเมืองสายให้จัดเตรียมเรือไว้ให้เจ้าชาย เจ้าชายและไพร่พลที่เหลือของพระองค์ลี้ภัยกลับถึงนครยะโฮร์อย่างปลอดภัยได้ด้วยเรือ ๒ ลำและเสบียงอาหารที่เจ้าเมืองสายจัดเตรียมไว้ให้ตามพระบัญชาของราชินีแห่งนครรัฐปัตตานี

  ศึกสายเลือดเมืองกลันตัน กับบัลลังก์นครรัฐปัตตานี เกิดขึ้นในฐานะเจ้าผู้ครองนครรัฐปัตตานี อันเป็นศูนย์กลางของสหพันธรัฐปัตตานี ราชากูนิงถูกเรียกร้องให้เข้าไปจัดการปัญหาความขัดแย้งในราชสำนักกลันตันซึ่งเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐปัตตานีที่จัดตั้งขึ้นในรัชสมัยของราชาบีรู, กษัตริยาองค์ที่ 2 แห่งนครปัตตานี กับสุลต่านอับดุลกาเดร์ แห่งกลันตัน แม้ว่าเงื่อนไขในการรวมตัวเป็นสหพันธรัฐปัตตานีนั้น ระบุว่าเมืองกลันตันยังคงอำนาจปกครองเหนือดินแดนตนเอง และจะไม่ส่งเครื่องราชบรรณาการหรือภาษีจากกลันตันให้กับนครปัตตานี แต่เมื่อมีความขัดแย้งแย่งชิงอำนาจปกครองเกิดขึ้นภายในราชสำนัก เจ้าผู้ครองนครรัฐปัตตานีใหญ่ (สหพันธรัฐ) ถูกเรียกร้องให้เข้าไปจัดการปัญหา เรื่องราวความขัดแย้งภายในของเมืองกลันตัน เป็นความขัดแย้งระหว่างเชื้อสายของอดีตสุลต่านอับดุลกาเดร์ โดยเมื่อสุลต่านสิ้นพระชนม์ เกิดการแย่งชิงบัลลังก์กันระหว่างพระโอรสและพระอนุชาของสุลต่าน

ราชาอับดุลลอฮุ พระอนุชาของสุลต่าน ประกาศปลดปล่อยเมืองกลันตันออกจากนครปัตตานี ยึดอำนาจปกครองในเขตพื้นที่เมืองลอร์ และเมืองเยอลาซิน ตรงไปยังตอนเหนือ. ฝ่ายราชาซักตีที่ ๑ พระโอรสของสุลต่าน ทรงยึดอำนาจปกครองบริเวณเมืองปังกาลันดาตู และพื้นที่ตอนใต้รวมทั้งหมดของพื้นที่กลันตันตะวันตกในช่วงต้นของรัชสมัยของพระนาง ปี พ.ศ. 2184 ราชินีกูนิงทรงได้ให้การรับรองเป็นลายลักษณ์อักษรแก่ราชาซักตีที่ ๑ ว่าเป็นดาตูแห่งกลันตันที่ถูกต้อง แต่พระนางไม่ทรงจัดการใดๆ กับราชาอับดุลลอฮุที่แยกปกครองกลันตัน จนกระทั่งราชาอับดุลลอฮุสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2189 โดยมีราชาอับดุลราฮิมสืบต่ออำนาจ

การวางเฉยของราชินีกูนิงสร้างความไม่พอใจให้กับฝ่ายราชาซักตีที่ ๑ และชาวเมืองกลันตันที่อยู่ข้างพระองค์ ราชาซักตีจึงทรงรวบรวมไพร่พลเข้าโจมตีสุลต่านอับดุลราฮิมก่อน เพื่อรวบรวมกลันตันให้เป็นหนึ่งเดียว เมื่อสังหารสุลต่านอับดุลราฮิมแล้ว ราชาซักตีจึงทรงเดินทัพเข้าโจมตีอำนาจส่วนกลางที่นครปัตตานี ราชินีกูนิงทรงพ่ายแพ้ในการศึกครั้งนี้ ต้องเสด็จลี้ภัยมุ่งหน้าไปยังรัฐยะโฮร์ของอดีตพระสวามี

หากพระวรกายของพระนางมิอาจตรากตรำกับการเดินทางในสภาพขัดสน และต้องฝ่าคลื่นลมกลางทะเล พระนางทรงประชวรและต้องหยุดประทับพักที่เมืองปังกาลันดาตู ที่กลายเป็นที่ประทับของพระนางชั่วนิรันดร์ พระศพของพระนางถูกฝังไว้ ณ หมู่บ้านปันจอร์

ในยุคสมัยของราชินีกูนิงมีสงครามเกิดขึ้นกับสยาม ในปี พ.ศ. 2131 เป็นสงครามครั้งที่สี่ระหว่างสยามกับปัตตานี โดยกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาได้มามอบหมายให้ออกญาเสนาภิมุข (ยามาดา นางามาสา) นำกำลังชาวญี่ปุ่นและชาวสยามเมืองนครฯเข้าโจมตีนครปะตานี แต่เนื่องจากกองทหารปัตตานีเคยผ่านการสู้รบมาแล้ว และมีความหวงแหนในอิสรภาพ จึงพร้อมใจกันรักษาบ้านเมือง เป็นผลให้ทหารญี่ปุ่นและทหารสยามเมืองนครฯ ไม่สามารถ เข้ายึดปะตานีได้สำเร็จจึงจำเป็นต้องถอยทัพกลับเมืองนครฯและในปี พ.ศ. 2184ราชินีกูนิงได้เสด็จไปยังอยุธยา เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างปัตตานีกับสยาม ภายหลังจากเหตุการณ์นี้ปัตตานีอยู่ด้วยความสงบช่วงระยะเวลาหนึ่ง จะเห็นได้ว่าตอนปลายสมัยราชินีกูนิง เป็นช่วงอ่อนแอของปัตตานีเห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงแนวนโยบายต่างประเทศโดยประนีประนอมกับฝ่ายสยาม และในที่สุดปัตตานีก็ยินยอมที่จะถวายเครื่องราชบรรณาการหรือเศรษสัญญะ (ดอกไม้เงินดอกไม้ทอง)ไปยังกรุงศรีอยุธยา

 “แผนการของสยามในการยึดครองปัตตานีเริ่มตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2146 ไม่ทราบว่าด้วยเพราะเจ็บแค้นใจ จากสาเหตุที่ปัตตานีได้เคยโจมตีอยุธยาในปี พ.ศ. 2106 หรือว่าเพราะมีใจอิจฉาริษยาต่อความอุดมสมบูรณ์ที่ปัตตานีได้รับตลอดศตวรรษที่17 และช่วงต้นของศตวรรษที่18สยามคงดำเนินการรณรงค์ในการยึดครองนี้เป็นเป้าหมายในทางการเมืองระยะยาวของตนเอง ซึ่งยังคงที่และอย่างต่อเนื่อง การรณรงค์นี้ได้รับการสืบทอดจากกษัตริย์องค์หนึ่งไปยังอีกองค์หนึ่ง จนกระทั่งสำเร็จเมื่อปัตตานีถูกตีแตก ในปี พ.ศ. 2278ระยะเวลาทั้งหมดที่ได้กระทำการเพื่อทำให้แผนการรณรงค์นี้สำเร็จใช้เวลา172ปี” ในทัศนะของ”ผู้กระทำเช่นสยาม” อาจเนื่องด้วยความอุดมสมบูรณ์ ความเจริญทางเศรษฐกิจและเป็นที่ส่งสินค้าระหว่างตะวันออกและตะวันตกเป็นที่หมายปองต่อการขยายอำนาจของสยาม และเป็นธรรมดาของชาติที่ต้องการความยิ่งใหญ่เข้มแข็งมั่นคง ตามแนวคิดจักรพรรดิราช การได้ครอบครองย่อมหมายถึง อำนาจ ศักดิ์ศรี ความเข้มแข็งของดินแดนตนเอง จะเห็นได้ว่าสยามมีความพยายามในการกระทำให้ปัตตานีอยู่ภายใต้อำนาจ ตลอดยุคบรรดาราชินี ที่มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ การเมือง การทหารที่มั่นคง และถ้าหากปัตตานียินยอมอย่างโดยดี เช่นในตอนปลายสมัยของราชินีกูนิง ความขัดแย้งจนถึงขั้นสงครามก็จะไม่เกิดขึ้น แต่นั่นก็หมายถึงความอ่อนแอของปัตตานีด้วยเช่นกัน 

หนังสืออ้างอิง

กฤตยา อาชวนิจกุล, กุลภา วจนสาระ,และหทัยรัตน์ เสียงดัง. ความรุนแรงและความตายภายใต้นโยบายรัฐ : กรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้. http://www.ipsr.mahidol.ac.th/IPSR/AnnualConference/ConferenceII/Article/Article12.htm เข้าถึงเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2556

วศินสุข. ข้องใจในประวัติศาสตร์ปัตตานี.

http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2006/12/K4950974/K4950974.html เข้าถึงเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2556.

รัตติยา สาและ .(2544). การปฏิสัมพันธ์ระหว่างศาสนิกที่ปรากฏในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

สุภัตรา ภูมิประภาส. : สี่กษัตริยาปตานี : บัลลังก์เลือด และตำนานรักเพื่อแผ่นดิน. http://www.oknation.net/blog/print.php?id=209991 เข้าถึงเมื่อ 5 มีนาคม 2556

อ. อับดุชชะกูร์ บินชาฟิอีย์(อับดุลสุโก ดินอะ). ยุทธศาสตร์การเข้าใจ เข้าถึงและพัฒนาชุมชน

มุสลิมจังชายแดนภาคใต้. http://www.oknation.net/blog/print.php?id=84138 เข้าถึงเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2556.

.ไม่มีชื่อผู้แต่ง. บทความประวัติเมืองปัตตานี. http://atcloud.com/stories/23146. เข้าถึงเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2556.


หมายเลขบันทึก: 522470เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2013 15:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มีนาคม 2013 15:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท