อบไอน้ำสมุนไพร


ฝ่ายสสม. (สาธารณสุขมูลฐาน ของรพ.สูงเนิน) เริ่มโครงการดีๆเมื่อวันพุธที่ ๑๓ มี.ค.๕๖ โดยเปิดบริการฟรี (เดือนละ ๒ ครั้ง) สำหรับบุคคลากรของรพ. แต่ถ้าต้องการอบมากกว่า ๒ ครั้งต้องเสียค่าบริการครั้งละ ๕๐ บาทค่ะ 

เราอบสมุนไพรกันที่.. อาคารสร้างสุขภาพ การแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก (อโรคยาศาลา) มีห้องอบสมุนไพร ๒ ห้อง (ชาย-หญิง) แยกส่วนกันค่ะ ภายในนั้นประกอบด้วยห้องอบสมุนไพร - ห้องอาบน้ำ - ห้องส้วม - ตู้เก็บของใช้ส่วนตัว - ที่นั่งสำหรับพักดื่มน้ำสมุนไพรร้อนๆ

kunrapee จองคิวเวลา ๑๖.๓๐ น.ไปถึง อโรคยาศาลา ก่อนเวลาเล็กน้อยได้รับการคัดกรองเบื้องต้น (ชั่งน้ำหนัก, วัดความดันโลหิต, ซักประวัติโรคประจำตัว, อาการผิดปกติต่างๆ) จากนั้นได้รับชุดสำหรับเปลี่ยนเข้าห้องอบ ซึ่งประกอบด้วยผ้าเช็ดตัวผืนเล็ก หมวกคลุมผม และผ้าถุง (เย็บรูดไว้ด้านหนึ่ง สงสัยกลัวบางคน นุ่งไม่เป็นและอาจหลุดได้ อิอิ) แล้วน้องจนท.พาไปแนะนำสถานที่ หลังจากนั้นก็เข้าไปเปลี่ยนชุด และออกมาพรมน้ำที่ตัวพอเปียกหมาด แล้วเข้าห้องอบสมุนไพร ภายในห้องอบมีเพื่อนๆอบรออยู่แล้วส่วนหนึ่ง ขณะเข้าห้องอบจะมีจนท.ของฝ่ายสสม.เข้ามาดูแล สอบถามอาการ อุณหภูมิความร้อนเป็นพักๆค่ะ ตอนแรกที่เข้าไปรู้สึกอึกอัดเล็กน้อยเหมือนกันจะหายใจไม่ออก เพราะไอน้ำเยอะเป็นควันขาวๆ มองกันเองแทบไม่เห็น แต่พอผ่านไปสักครู่ก็เริ่มชินค่ะ หายใจสะดวกดี ไม่มีปัญหาใดๆ kunrapee อบได้นาน ๑๕ นาที แล้วออกมาพักยก รับประทานน้ำสมุนไพรฝาง (น้ำจับเลี้ยง ลองแล้วค่ะขมเฝื่อนๆยังไงไม่รู้ ไม่ชอบ) พักได้ ๑๐ นาที ก็เข้าไปอบใหม่รอบ ๑๕ นาที แล้วออกมานั่งพักรอให้ตัวแห้ง แล้วไปเปลี่ยนเสื้อผ้า (หลายคนเตรียมชุดอาบน้ำมาด้วย ก็จะอาบน้ำกันเลย) หลังจากอบเสร็จออกมาวัดความดันโลหิตซ้ำ สอบถามความผิดปกติต่างๆ (ถ้ามี) บันทึกไว้ในประวัติของเรา และแจกคูปองสำหรับนำมายื่นทุกครั้งที่มาอบสมุนไพร.. มีแบบฟอร์มให้เราช่วยประเมินระบบบริการด้วย.. วันนั้น kunrapee ให้ดีทุกข้อเลยค่ะ (ลืมบอกค่ะ.. วันนั้นไม่มีชายหนุ่มมารับบริการ พวกเราสาวๆสุดสวยทั้งหลาย จึงยึดห้องอบสมุนไพรทั้งสองห้องเลยค่ะ)

กลายเป็นว่า.. พวกเราได้ที่สังสรรค์ใหม่ค่ะ ภายในห้องอบ.. สามารถเข้าได้มากที่สุด ๖ คน เราได้พูดคุย (แอบนินทาคนที่ไม่ได้เข้ามาอบ ฮิฮิ ใครกลัวโดน.. ต้องมาเข้าร่วมขบวนการด้วยตนเอง ฮ่าฮ่า) ปรับทุกข์ บำรุงสุขกันในห้องนี้แหละค่ะ ได้พบเจอเพื่อนร่วมงานที่ไม่เคยเจอกันเลยขณะทำงาน วันแรกที่เริ่มโครงการ (นอกเวลาราชการ) มีจนท.ห้อง LAB, ทันตกรรม, การเงิน, ตึกผู้ป่วยในหญิง, ห้องผ่าตัด, โรงครัว ต่อไปคาดว่า.. จะเจอกันจนครบทั้งรพ.เลยค่ะ

ใครสนใจติดต่อ.. จองคิวเข้ารับบริการอบสมุนไพร ได้ที่ "อโรคยาศาลา" นะคะ เค้าจำกัดจำนวนผู้รับบริการในแต่ละช่วงเวลาค่ะ ไม่งั้นคนจะมากเกินไป ถ้าคนจองคิวพอแล้ว คงต้องเลื่อนไปช่วงเวลาต่อไป



หน้าอโรคยาศาลา อาคารใหม่ของเรา เพิ่งทำบุญกันไปเมื่อต้นปีนี่เอง



ห้องอบสมุนไพรค่ะ หลังจากอบสมุนไพรออกมาหน้าแดงไปตามๆกันค่ะ มารู้ทีหลังว่า.. ควรเอาผ้าชุบน้ำปิดหน้าไว้ด้วย ไม่งั้นหน้าจะแห้งเกินไป อิอิ คงต้องปิดหน้า ครั้งหน้าแล้วล่ะค่ะ ^_^



เริ่มด้วยการคัดกรอง - เปลี่ยนเสิ้อผ้า -เข้าห้องอบ - พักยกดื่มน้ำสมุนไพร - เข้าห้องอบ - ออกมานั่งพัก - อาบน้ำ - ตรวจประเมินหลังอบ - กรอกแบบประเมิน - กลับบ้านค่ะ


มีรายละเอียดข้อมูลเรื่องการอบสมุนไพรมาฝากด้วยค่ะ

การอบสมุนไพร คือการอบตัวด้วยไอน้ำที่ได้จากการต้มสมุนไพร เป็นกรรมวิธีในการรักษาสุขภาพอนามัยแบบพื้นบ้าน (ความร้อนบำบัด) เป้นการช่วยล้างพิษออกทางเหงื่อ เวลาที่ร่างกายทุกส่วนได้รับความร้อน เส้นเลือดที่ผิวหนังจะขยายตัว เลือดจะพรั่งพรูมาที่ผิวหนังเป็นจพนวนมาก และพาเอาสารเคมีส่วนเกินเช่น โซเดียม โปตัสเซียม หรือสารอื่นๆที่เรารับเข้าไปเกินความต้องการนั้นถูกหลั่งออกมากับเหงื่อ


สมุนไพรที่ใช้ในการอบ ประกอบด้วย

- สมุนไพรที่มีกลิ่นหอม มีน้ำมันหอมระเหย เช่น ไพล ขมิ้น ผิวมะกรูด

- สมุนไพรที่มีรสเปรี้ยว เช่น ใบมะขาม ใบ+ฝักส้มป่อย

- สมุนไพรที่มีสารประกอบระเหิดได้ เมื่อผ่านความร้อน มีกลิ่นหอมบำรุงหัวใจ เช่น การบูร พิมเสน

- สมุนไพรที่ใช้รักษาเฉพาะโรคและอาการ เช่นสมุนไพรแก้ปวดเมื่อยและบำรุงเส้นเอ็น ได้แก่ เถาวัลย์เปรียง ไพล


ประโยชน์ของการอบสมุนไพร

- ทำให้ร่างกายสดชื่น ผิวพรรณสดใส

- คลานความเมื่อยล้า และบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย

- ช่วยให้ขับเหงื่อ และสามารถลดน้ำหนักได้ดี หากอบสมุนไพรติดต่อกันภายในระยะเวลา ๑ เดือน

- กระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น

- ช่วยบรรเทาอาการเวียนศีรษะ

- ระบบทางเดินหายใจสดชื่น ลดการระคายเคืองในลำคอ

- ช่วยละลายเสมหะ 


ขั้นตอนการอบสมุนไพร

๑. ชั่งน้ำหนัก, วัดความดันโลหิตก่อนอบ

๒. นำน้ำประพรมร่างกาย เพื่อเตรียมเส้นเลือดให้พร้อมต่อการยืดขยาย และหดตัว

๓. แต่งการด้วยผ้าน้อยชิ้น

๔. เข้าอบสมุนไพร ๒ ครั้งๆละ ๑๕ นาที (กรณีผู้ที่ไม่เคยอบมาก่อน ควรอบ ๓ ครั้งๆลำ ๑๐ นาที) 

๕. เมื่อครบจำนวนนาที ไม่ควรอาบน้ำทันที ต้องออกมานั่งพักให้เหงื่อแห้ง แล้วจึงอาบน้ำ จะช่วยให้เส้นเลือดหดตัวตามปกติ

๖. ชั่งน้ำหนัก, วัดความดันโลหิต, ซักถามอาการหลังอบ


หมายเลขบันทึก: 522393เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2013 20:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มีนาคม 2013 17:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ดีจัง  น่าไปเยี่ยมค่ะ

เชิญเลยค่ะคุณหมออ้อ 

น่าไปอบด้วยมากค่ะ สมุนไพรต่างๆน่าสนใจมาก ขอบคุณมากนะคะ

ฝ่ายสสม.ของเรามีบริการนวด - ประคบ - อบสมุนไพร - จัดกระดูก - กัวซา และอีกหลายอย่างค่ะ

ยินดีต้อนรับคุณกานดาน้ำมันมะพร้าว ว่างๆก็เชิญนะคะ (เผื่อผ่านมาแถวนี้)

เปิดบริการวันไหนมั่งคะคุณพี่ เผื่อวันไหนว่างจะได้แวะไปใช้บริการ

ถ้าแค่ต้องการอบสมุนไพรเฉยๆ สามารถเข้าไปอบได้เลยป่าว

คงไม่ต้องทำบัตร -  ยื่นบัตรโรงพยาบาลหรอกนะคะ

คงมีโอกาสได้พาเจ้าหน้าที่ รพ.สต.ไปดูงาน

เปิดบริการทุกวันเวลาราชการค่ะ (๐๘.๐๐-๑๖.๐๐ น.)

นอกเวลาราชการจะเป็นเย็นวันพุธ (๐๘.๐๐-๑๘.๐๐ น.)

เสาร์-อาทิตย์เปิดทั้งวัน (๐๘.๐๐-๑๖.๐๐ น.)

เรื่องยื่นบัตร.. ไม่แน่ใจ เดี่ยวจะถามพี่เข็มให้นะจ๊ะ tuktun

เรียนคุณอานนท์ พี่เข็มคงดีใจและยินดีต้อนรับค่ะ

จะแวะมาเมื่อไร แจ้งล่วงหน้านะคะ จะได้เตรียมต้อนรับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท