เขาเรียกเธอว่า "บ้า"


กระบวนการดูแลผู้ป่วย Patient care process ประกอบด้วย 1.การเข้าถึงและการเข้ารับบริการ (Access + Entry) 2.การประเมินผู้ป่วย (Assessment) 3.การวางแผน (Planing) 4 การดูแลผู้ป่วย (Care Delivery) 5.การให้ข้อมูลและเสริมพลังแก่ผู้ป่วย/ครอบครัว (Empowerment) 6.การดูแลต่อเนื่อง (Continuity)

เช้าวันนี้ตื่นขึ้นมา.. ได้อ่านเรื่องเล่าดีๆเป็นแรงใจ แรงผลักดันในการทำงานเพื่อเพื่อนมนุษย์ จาก Facebook ของคุณ Worachet Khieochan ไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัว ได้อ่านเพราะพี่ยา'Junyawat Thabjan (หัวหน้า PCU ของรพ.) ได้รับ tag มา จึงขออนุญาติเจ้าของบทความเพื่อนำเรื่องเล่าดีๆมาเผยแพร่ต่อค่ะ



เรื่องเล่าจากการเดินทาง

เขาเรียกเธอว่า "บ้า" 

ผู้หญิงคนหนึ่ง เธอนอนเล่นอยู่บนเปลผืนเก่าของเธอ หน้าบ้านเก่าๆ เล็กๆ สภาพรกรุงรังทั้งบริเวณบ้าน ภายนอกบ้าน และในร่างกายของเธอ ก่อนไปหาเธอที่บ้าน ทุกคนต่างประชุมวางแผนกันว่าระวังเะอจะทำตาขวางใส่ ระวังเธอจะด่าเอานะ แต่เมื่อฉันเห็นแววตาของเธอ ฉันไม่รู้สึกหวาดกลัวสิ่งนั้นที่เป็นคำขู่ของชาวบ้านละแวกนั้นเลย ฉันบอกกับตัวเองว่า ฉันอยากคุยกับเธอด้วยความเป็นมิตร 

เธออาจจะเป็นหญิงสาววัยสวยในครั้นอดีต แต่ตอนนี้เธออายุ 48 ปีแล้ว แต่ในวัยที่ 28 ปีของเธอ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเธอคือสามีของเธอได้หนีเธอไป ก่อนไปทิ้งรอยเท้าและความบอบช้ำทางร่างกายต่อเธอ จนกระทั่งเลือดออกตามตัวและช่องคลอดของเธอ หนำซ้ำรอยช้ำทางจิตใจของเธอก็ได้รับความกระทบกระเทือนจนเธอเป็นไปอย่างที่เห็น จนชาวบ้านละแวดนี้บอกว่า "เธอบ้า"

ฉันรู้สึกถึงความบอบช้ำในใจนั้นของเธอ ฉันแค่คิดว่า การที่ผู้ชายคนหนึ่ง ได้ผู้หญิงเป็นเมีย แล้วกระทำรุนแรงใส่กันอย่างนี้ ความรุนแรงเหล่านั้นฝังรากหยั่งลึกเข้าไปในจิตใจของเธอ ผู้ชายคนนั้นอาจจะไปสุขสบายกับชีวิตใหม่ แต่ผู้หญิงคนนี้กลับอุดอู้ชีวิตตนเองจากความข่มขื่น ส่งผลต่อจิตใจของเธอ และอยู่กับเธอมาถึง 20 กว่าปีแบบไม่เลือนหาย 

อาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) กลัวว่าเธอจะเข้ามาทำร้ายฉัน หรือว่ากลัวว่าเธอจะอาละวาด อสม.คนนั้นเลยบอกเธอไปว่า “หมอใหญ่มาหา ซื้อนมมาฝาก” เธอให้มามองที่ฉัน ในขณะที่เธอนอนอยู่บนเปลผืนเก่าผืนนั้น ฉันยิ้มตอบไปกับเธอ และชวนคุยมากมายเพื่อให้เธอผ่อนคลาย 

จนกระทั่งหมอ รพ.สต. (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล) จะชวนเธอไปนอนบนเสื่อหน้าบ้าน เพื่อฉีดยาที่ก้นของเธอ เป็นยาระงับประสาท ซึ่งต้องฉีดทุกสองอาทิตย์ หลังจากนั้นฉันนั่งอยู่บนเสื่อระดับเดียวกับเธอ และชวนคุยกับเธอ (ก่อนหน้านี้เธอจะไม่ค่อยคุยกับใคร มักแสดงอาการเกรี้ยวกราดอยู่เสมอจนไม่มีใครเข้าใกล้)

เธอพูดกับฉันว่า “หมอๆ นี่ฉันปวดไปถึงข้างหลังที่หลังฉันเลือดมันคงค้างอยู่ที่นั้น”

ฉันถามว่า “เกิดอะไรขึ้นละ”

เธอตอบว่า “ก็ผัวฉันมันซี่กับฉัน” (ฉันทำหน้างง ว่า ซี่คืออะไรกัน”

ฉันถามเธอต่อว่า “ซี่คืออะไร” เธอตอบฉันว่า “ก็เหมือนเวลาคุณหมอซี่กันหน่ะ” ฉันทำหน้างงต่อไป เธอบอกอีกว่า “ก็ผู้หญิงกับผู้ชายเอากันหน่ะ คือมันทำฉันแรง ฉันยังเจ็บอยู่เลย เจ็บที่ข้างหลัง” เธอพูด (ซี คือการมีเพศสัมพันธ์) ทุกคนในบริเวณนั้นหัวเราะร่วน

แต่ฉันได้ยินอย่างนั้นลองจับไปที่หลังของเธอว่าเป็นอย่างไร เจ็บตรงไหน เธอเอามือเอื้อมมาด้านหลังและชี้ให้ฉันดู หลังจากนั้นฉันถามต่อว่า เวลากินยาไป ตัวแข็ง แข็งแบบไหน แข็งแบบหุ่นยนต์แบบนี้มั๊ย (ฉันทำตัวแข็งเหมือนหุ่นยนต์สาธิตให้เธอดู) เธอหัวเราะร่วน พร้อมตอบมาว่า “หมอนี่ตลกเนาะ” ทำให้ทุกคนที่อยู่บริเวณนั้นหยุดหัวเราไปพร้อมกับฉัน หลังจากนั้นฉันคุยกับเธออยู่สักพัก ถามเรื่องการซักเสื้อผ้า การนอน การกินยา การทำความสะอาดร่างกาย และคุยอีกมากมาย อย่างเป็นมิตรและเป็นกันเอง แต่สิ่งที่ฉันมองเห็นในสายตาของเธอคนนั้นคือ “ไม่มีสายตาอันเกรี้ยวกราดที่เกิดจากตัวเธอ” ก่อนกลับเธอยกมือไหว้ฉัน ฉันยกมือไหว้เธอ 

ชาวบ้านละแวกนั้นรวมถึง อสม.ตกใจว่าทำไมเธอจึงพูดคุยดี หัวเราะร่วน และยกมือไหว้ ไม่ด่า หรือส่งสายตาเกรี้ยวกราด จนชาวบ้านบอกว่า ขนาดนายอำเภอมายังไม่ลุกขึ้นจากเปลเลย และไม่ยกมือไหว้ด้วย ฉันเดินออกจากบ้านของเธอ ใจก็คิดไปเรื่อยเปื่อย รวมถึงมองเห็นความเป็นอยู่ของเธอคนนั้น

ฉันแค่อยากบอกว่า การทำร้าย การกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิงเพียงครั้งเดียว อาจนำไปสู่แผลในใจอีกมากมายที่ฝังลึก จนพลิกชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งให้เปลี่ยนไปตลอดชีวิต คงต้องถึงเวลาแล้วต่อการหยุดทำร้ายกัน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อีกอย่างการพูดคุยของฉันในวันนี้ ฉันคุยด้วยสายตาที่พยายามทำความเข้าใจเธอ วิถีของเธอ และเรื่องราวของเธอ ที่ไม่ใช่การยืนมองเธออย่างตัวประหลาด ว่า ที่ยืนอยู่คือคนปกติ อีกคนคือคนบ้า ฉันไม่อยากให้เกิดความคิดแบบนั้น เพราะนั่นคือ “คน” คนหนึ่งที่อยู่ร่วมสังคมกัน.... 

บ้าหรือไม่บ้า ว่ากันไม่ได้ .....

วอ รอ ชอ

9 มีนาคม 2556



จากเรื่องเล่านี้.. เราชาวจนท.สาธารณสุข ควรได้คิด.. เพราะมีผู้ด้อยโอกาสจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงระบบบริการที่ควรได้รับ ซึ่งเป็นหนึ่งใน "กระบวนการดูแลผู้ป่วย" (Patient care process) ข้อแรกคือการเข้าถึงและการเข้ารับบริการ (Access + Entry) ผู้ด้อยโอกาสหมายถึง คนยากจน, บุคคลเร่ร่อนไร้ที่อยู่อาศัย, บุคคลไร้สัญชาติ, ผู้พ้นโทษ, กลุ่มผู้ติดเชื้อเอดส์และครอบครัว (ความหมายจาก สำนักส่งเสริมและพิทักษ์ผู้ด้อยโอกาส) กลุ่มคนเหล่านี้ต้องสามารถเข้าถึงบริการต่างๆที่เหมาะสมกับความต้องการของตน ฉะนั้นทีมงานสุขภาพทุกฝ่ายต้องพยายามลดอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการ (ด้านกายภาพ ภาษา วัฒนธรรม และอุปสรรคอื่นๆ) และตอบสนองต่อผู้รับบริการอย่างรวดเร็ว ลดระยะเวลารอคอยด้วย

จากเรื่องเล่านี้.. ทำให้เห็นว่า "คุณป้า" ได้เข้าถึงบริการแล้ว อย่างน้อยก็มียารับประทานประจำจากรพ.โนนพิสัย, มีจนท.รพ.สต.ติดตามเยี่ยมดูแลอย่างใกล้ชิด, มีนายอำเภอและผู้นำชุมชนมาเยี่ยมเพื่อให้ความช่วยเหลือ 

เราหวังว่า.. ผู้ด้อยโอกาสที่เหลือในชุมชนของเราๆท่านๆ คงได้รับการดูแลเช่นนี้ คงไม่มีคนบ้าที่ถูกล่ามโซ่ไว้ใต้ถุนบ้าน ทอดทิ้งไม่ได้รับการดูแล.. เพียงแค่.. เรามองเห็นคนไข้ของเราเป็นมนุษย์หนึ่งคน ที่เป็นพ่อ-แม่-พี่-น้องของหลายๆคน เป็นหนึ่งคนที่มีความสำคัญต่อครอบครัวของเขา ด้วยความอ่อนโยนในหัวใจ ด้วยหัวใจที่มีความรักต่อกัน ซึ่งนั่นคือหน้าที่ของพวกเราชาวสาธารณสุขอย่างแท้จริง.. ใช่ไหมคะ ???

หมายเลขบันทึก: 521918เขียนเมื่อ 10 มีนาคม 2013 10:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มีนาคม 2013 10:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

อ่านจบด้วยความรู้สึก...ขอบคุณแทนคุณป้าท่านนี้

เธอไม่ได้บ้าเพราะตัวเธอ แต่สังคมและคนรอบข้างที่ไม่เข้าใจ ทำให้เธอ...บ้า  :)

ในความคิดเห็นส่วนตัวนะคะ

เมื่อสภาพจิตใจบอบช้ำรุนแรงเกินระดับที่จะรับได้ กลายเป็นบ้าไป มันเหมือนกลไกของร่างกายและจิตใจหรือเปล่า

เมื่อเจ็บจนขีดสุด ก็สลบไปไร้ความรู้สึก 

เมื่อโดนทารุณจิตใจมากๆ ไปก็เป็นบ้า ไม่ได้มีความรู้สึกตัว หรือเป็นทุกข์ อยู่ตลอดเวลาเหมือนคนปกติ

สงสารชีวิตแต่ละชีวิตนะคะ  

คุณหมอและพยาบาล ตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง ก็ทำงานแบบนี้ด้วยเสียสละและเมตตาจริงๆ ค่ะ

- การเข้าถึงตัวคนไข้ครั้งแรกสำคัญมาก.. ถ้าครั้งแรกไม่ได้รับความไว้วางใจ..เราจะไม่มีโอกาสครั้งต่อไป

- การบริการด้านสาธารณสุข.. ต้องมาจากใจ.. ยอมรับในความเป็นมนุษย์ ซึ่งไม่มีอะไรที่เหมือนกันเลย ทั้งด้านกายภาพ จิตใจ สภาพแวดล้อม อารมณ์ความรู้สึก (หลายคนทำไม่ได้นะคะ) 

ขอยกความรู้สึกดีๆ ความสุขทั้งหมดทั้งมวล หลังอ่านบันทึกนี้ให้กับคุณ Worachet Khieochan ค่ะ 

และขอบคุณทุกๆท่านที่แวะมาให้กำลังใจกันค่ะ

ใช้จิตวิทยาของวิชาชีพได้ดีจริงๆ ค่ะ ขอชื่นชมค่ะ

งานด้านสาธารณสุขเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ค่ะ 

ถ้าทำด้วยใจรัก เมตตา มักได้รับสิ่งดีๆพร้อมกับความสุขทางใจค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท