ชีวิตที่พอเพียง: ๑๗๖๒. เรียนรู้ความซับซ้อนของราคายา



          จุลสารโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๑๗  กรกฎาคม - กันยายน ๒๕๕๕  ซึ่งอ่านได้ที่นี่  ลงเรื่องโรคจอตากับยาทางเลือกน่าอ่านมาก  เพื่อเรียนรู้วิธีรักษาผลประโยชน์ของประเทศในเรื่องการใช้ยา  โดยใช้ความรู้เป็นฐาน   แต่เป็นเรื่องที่บริษัทยา (โนวาร์ติส) ไม่ชอบเลย   เพราะขัดผลประโยชน์ของเขา 

          เป็นเรื่องของยารานิบิซูแม็บ ที่ขึ้นทะเบียนใช้รักษาโรคจอตาเสื่อม  กับยาบีวาศิซูแม็บ ที่ขึ้นทะเบียนใช้รักษามะเร็ง  แต่ต่อมามีการค้นพบว่ายาชนิดหลัง (ซึ่งเป็นยาเก่าใช้มานาน) ใช้รักษาโรคจอตาเสื่อมได้เพราะยา ๒ ชนิดนี้เป็นโมเลกุลเดียวกัน แตกต่างกันเพียงส่วนย่อยของโมเลกุลเท่านั้น  ราคายาชนิดหลังที่ฉีดรักษาจอตาเสื่อมตกเข็มละ ๑,๐๐๐ บาท  ในขณะที่ชนิดแรกราคาเข็มละ ๕๔,๐๐๐บาท  แตกต่างกัน๕๔ เท่า  ย้ำว่าราคาแตกต่างกัน ๕๔ เท่า นะครับ  ไม่ใช่ ๕๔%

          ข้อค้นพบว่ายาชนิดหลังใช้รักษาโรคจอตาเสื่อมได้รู้กันทั่วโลก  และมีการนำมาใช้กันอยู่แล้วแต่ยังไม่แพร่หลาย   และไม่มีระบบติดตามประสิทธิผลและความปลอดภัย   แต่บริษัทผู้ผลิตจำหน่ายบอกว่าเขาผลิตยาชนิดแรกสำหรับใช้รักษาโรคจอตาเสื่อม (ฉีดเข้าวุ้นตา)  และผลิตยาชนิดหลังสำหรับรักษาโรคมะเร็ง (ฉีดเข้าหลอดเลือด)  ยารักษาโรคมะเร็งมีพิษมากกว่าหากเอามาใช้รักษาโรคจอตาเสื่อมอาจมีผลข้างเคียง

          HITAP ได้ศึกษาทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ  และร่วมกับชมรมจอตาราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย  ให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายตามในจุลสาร  คือให้ยาชนิดหลังอยู่ในบัญชียา จ (2) และให้พัฒนาระบบแบ่งยาเพื่อฉีดเข้าวุ้นตาให้ปลอดภัย และมีการขึ้นทะเบียนผู้ป่วยที่ใช้ยานี้ทุกรายเพื่อติดตามประสิทธิผลและความปลอดภัยทั้งระยะสั้น และระยะยาว

          ที่จริงวารสารNew England Journal of Medicine ลงเรื่องนี่เมื่อกว่า ๖ ปีมาแล้วอ่านได้ที่  http://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMp068185  และBritish Medical Journal ก็ลงข่าวเมื่อปีที่แล้วที่  http://www.bmj.com/content/344/bmj.e3012   

         ที่น่าสนใจคือ บริษัทโนวาร์ติสได้ยื่นฟ้องNHS ของสหราชอาณาจักรต่อศาล ขอให้ระงับการนำยาตัวหลังไปใช้รักษาโรคจอประสาทตา  อ้างว่าไม่ปลอดภัยดังบทความในวารสารNature Medicine http://www.nature.com/nm/journal/v18/n6/full/nm.2842.html   

          ผลงานวิจัยแบบcritical review ของ HITAP ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการที่http://www.dovepress.com/the-use-of-comparative-effectiveness-research-to-inform-policy-decisio-peer-reviewed-article-CEOR  อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3520463/   

          หากผลการศึกษาของไทยออกมาในทางบวก  คนไทยก็จะได้รับบริการที่ดีขึ้น  และราคาไม่แพง ในการรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อม  รวมทั้งคนทั่วโลกก็จะได้รับประโยชน์ด้วย  แต่ก็เป็นการขัดลาภของบริษัทโนวาร์ติส


วิจารณ์  พานิช

๔ ก.พ. ๕๖



หมายเลขบันทึก: 521393เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2013 09:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มีนาคม 2013 09:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท