เทคนิคการจัดยาในโรงพยาบาล


เทคโนโลยีการจัดยาในโรงพยาบาล
ชุติมา สุวานิชย์
สำนักบริการวิชาการ ม.บูรพา

 ท่านผู้อ่านที่เคยใช้บริการของโรงพยาบาลไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ที่เราเริ่มก้าวเข้าสู่โรงพยาบาลนั้น เราต้องกรอกข้อมูลประวัติของเราก่อนเข้ารับบริการ เมื่อกรอกเสร็จแล้วก็ต้องรอพยาบาลเรียกชื่อเพื่อตรวจร่างกายและสอบถามอาการเบื้องต้นก่อนที่จะส่งไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยอย่างละเอียดอีกครั้ง ซึ่งหากเป็นโรคเฉพาะทางก็อาจส่งต่อไปพบแพทย์เฉพาะทางให้วินิจฉัยอย่างละเอียดอีกครั้ง เมื่อตรวจเสร็จแพทย์ก็จะส่งข้อมูลต่อให้แผนกจัดยา แผนกการเงินและแผนกทะเบียนเพื่อเก็บข้อมูลต่อไป ซึ่งในแต่ละขั้นตอนนั้นต้องได้รับการส่งข้อมูลมาจากแผนกทะเบียนผู้ป่วยที่ได้กรอกข้อมูลทำประวัติไว้ตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งหากนำระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่ายสารสนเทศมาใช้ในโรงพยาบาลก็จะช่วยให้งานบางส่วนรวดเร็วขึ้น แต่ไม่ได้ช่วยให้งานทุกแผนกและการส่งข้อมูลรวดเร็วขึ้น ต้องมี Software ที่เหมาะสมกับแผนกต่างๆ มาช่วยในการเชื่อมโยงข้อมูลนั่นก็คือระบบบริหารจัดการงานในโรงพยาบาล
         ระบบบริหารจัดการงานในโรงพยาบาล ประกอบไปด้วยระบบย่อยๆ ที่เหมาะกับแผนกและงานต่างๆ ในโรงพยาบาล เช่น ระบบเวชระเบียน ระบบบริหารจัดการผู้ป่วย ระบบบริหารจัดการด้านการเงิน การชำระค่ารักษาพยาบาล ระบบบริหารจัดการด้านเวชภัณฑ์ เภสัชกรรมและการเบิกจ่ายยา ระบบบริหารจัดการทันตกรรม เป็นต้น ซึ่งระบบเหล่านี้ช่วยให้การส่งข้อมูลไปยังแผนกต่างๆ รวดเร็วขึ้น เพราะแต่ละแผนกจะสามารถกรอกข้อมูลและเข้าถึงข้อมูลของผู้ป่วยได้โดยข้อมูลจะอยู่ที่ส่วนกลาง แต่ละแผนกจะมองเห็นข้อมูลได้ตามสิทธิ์การใช้งานที่ได้รับ ซึ่งระบบนี้ได้ถูกนำไปใช้ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่หลายแห่งแล้ว
         ในปัจจุบันได้มีบางโรงพยาบาลที่มีระบบบริหารจัดการงานในโรงพยาบาลได้นำหุ่นยนต์เข้ามาช่วยในการจัดยาให้กับผู้ป่วย โดยขั้นตอนการทำงานนั้นต้องผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศทุกขั้นตอน ซึ่งข้อมูลที่หุ่นยนต์ต้องนำไปใช้ในการจัดยาจะได้รับจากระบบบริหารจัดการงานในโรงพยาบาล โดยขั้นตอนการใช้หุ่นยนต์ในการจัดยามีดังนี้
         1. แพทย์ตรวจรักษาผู้ป่วย เลือกยาที่จะใช้ในการรักษาและทำการบันทึกข้อมูลผ่านระบบบริหารจัดการงานในโรงพยาบาลแบบออนไลน์และส่งข้อมูลใบสั่งยาให้กับหุ่นยนต์เพื่อจัดยา
         2. แขนกลของหุ่นยนต์จะควบคุมเลือกชนิดยา ปริมาณ และขนาดตามคำสั่งแล้วบรรจุยาลงกระบอกยาพร้อมพิมพ์ฉลากและบาร์โค้ด ก่อนนำยาไปจ่ายให้กับผู้ป่วยต่อไป
         3. เภสัชกรนำยาที่หุ่นยนต์ไปจัดยาและบรรจุกระบอกไว้พร้อมพิมพ์ฉลากและบาร์โค้ดแล้วนั้นมาตรวจสอบความถูกต้องด้วยบาร์โค้ดก่อนที่จะนำยาไปจ่ายให้กับผู้ป่วยต่อไป
         โดยหุ่นยนต์นั้นสามารถบรรจุยาได้ถึง 200 ชนิด และจัดยาได้ถึง 200 รายการต่อชั่วโมง ซึ่งเร็วกว่าการใช้เภสัชกรและผู้ช่วยในการจัดยา ลดขั้นตอนและเวลาการทำงานของเภสัชกรลงและลดเวลาการรอรับยาของผู้ใช้บริการ ลดการใช้กระดาษจากใบสั่งยาของแพทย์ ลดการปนเปื้อนของยาจากการใช้ภาชนะเดียวกันในการจัดยาทุกชนิดและการสัมผัสจากมือมนุษย์ โดยการจัดยาจะมีความถูกต้อง ครบถ้วนและแม่นยำ หากแพทย์ไม่ส่งข้อมูลใบสั่งยาผิดหรือเภสัชกรบรรจุยาในช่องใส่ยาของหุ่นยนต์ผิด
         ท่านผู้ฟังอาจกำลังสงสัยว่า การนำหุ่นยนต์มาใช้ในการจัดยานั้นผิดกฎหมายหรือไม่ กฎหมายนั้นได้กำหนดให้เภสัชกรเป็นผู้จ่ายยาเท่านั้น ซึ่งทางโรงพยาบาลได้นำหุ่นยนต์มาช่วยจัดยาโดยเดิมเป็นหน้าที่ของผู้ช่วยเภสัชกร ดังนั้นการตรวจสอบและการจ่ายยาให้ผู้ป่วยก็ยังเป็นหน้าที่ของเภสัชกรเหมือนเดิมค่ะ

อ้างอิง
         เปิดตัวหุ่นยนต์จัดยาอัจฉริยะตัวแรกในไทย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก :http://www.dailynews.co.th/technology/157716(วันที่ค้นข้อมูล : 27 พ.ย. 2555).
         รพ.เวชธานี เปิดตัว'หุ่นยนต์จัดยา' เน้นถูกต้อง-ปลอดภัย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก :
http://m.thairath.co.th/content/tech/294582(วันที่ค้นข้อมูล : 27 พ.ย. 2555).


หมายเลขบันทึก: 521328เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2013 14:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มีนาคม 2013 14:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดีจัง หุ่นยนต์ราคาเท่าไหร่นะ

จากรายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อสิ้นปีได้มาอีกตัว รวมสองตัวไม่แพงครับแค่ 20 ล้านบาทเอง


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท