(3) ประสบการณ์การนำ CBT มาใช้กับตนเอง


แต่เหตุการณ์กลับพลิกผัน เมื่อดิฉันเปิดฟังเสียงเทป.. ความคิดของดิฉันที่คิดว่าสามีไม่ดีนั้นไม่ถูกต้อง เพราะทันทีที่ได้ยินเสียงตนเองที่เกรี้ยวกราดคุกคามสามีแล้วดิฉันเองก็ยอมรับไม่ได้

มกราคม 2556 ที่ผ่านมา ดิฉันได้ร่วมอบรมหลักสูตรการบำบัดผู้ป่วยซึมเศร้าโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy : CBT) หลักสูตร Advanced ระยะที่ 1 จัดที่โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ จ.อุบลราชธานี ซึ่งดิฉันปฏิบัติงานอยู่ ผศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร และ รศ.ดร.ดาราวรรณ ต๊ะปินดา มาเป็นวิทยากรให้ การเรียนการสอนดำเนินไปอย่างเข้มข้นตลอด 2 วัน ทั้งฝึกบำบัด ฝึกวิเคราะห์วิพากษ์เทคนิคต่างๆ แล้วยังมีการบ้านให้ทำอีก การบ้านพิเศษคือการนำ CBT ไปใช้กับตนเองเพื่อฝึกที่จะรับรู้อารมณ์ตนเอง ให้เกิดการตระหนักรู้ (awareness) และสามารถตั้งเป้าหมายได้ว่าจะจัดการกับอารมณ์อย่างไรเมื่อเข้าสู่กระบวนการบำบัด ซึ่งเมื่อถึงวันนี้ดิฉันยังไม่ได้ทำการบ้านพิเศษชิ้นนี้

หลังจากเขียนบทความเรื่อง '(2) ผู้ร้ายตัวจริง' แล้ว ดิฉันคิดว่าน่าจะนำเรื่องนี้มาวิเคราะห์กับหลักการของ CBT ได้ อีกประการหนึ่งคือดิฉันเชื่อว่าในชุมชน gotoknow นี้น่าจะมีผู้รู้ในเรื่องนี้จำนวนมาก หากกรุณาให้ข้อเสนอแนะหรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน จะเป็นพระคุณยิ่ง

ดิฉันจะขอวิเคราะห์ด้วยการตอบคำถามแบบแบบฟอร์มการบ้านนะคะ (กรุณาดูบทความเรื่อง '(2) ผู้ร้ายตัวจริง' ประกอบ)

ปัญหา/สถานการณ์/เรื่องที่ทำให้รู้สึกไม่ดีระยะเวลาไม่นานมานี้ดิฉันกับสามีมีเรื่องทะเลาะกันเป็นระยะ ช่วงหลังทะเลาะกันถี่ขึ้น แม้เป็นเพียงการปะทะคารมกันไม่รุนแรง แต่ดิฉันมีความคิดว่าสามีแสดงความเกรี้ยวกราดแบบไร้เหตุผล เพียงเพื่อเอาชนะภรรยาตนเอง

ความคิดสำคัญที่ตนเองมีต่อปัญหา/สถานการณ์นั้น ดิฉันคิดว่าสามีไม่ดี กล่าวคือ ไม่มีเหตุผลในเรื่องที่โต้เถียงกันหรือหาเหตุผลมาโต้แย้งไม่ได้ แล้ว 'พาล' กลบเกลื่อนด้วยการแสดงความเกรี้ยวกราดเพื่อให้เรื่องนั้นยุติลงกลางคัน


ความคิดนี้ทำให้รู้สึกอย่างไร ดิฉันรู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจและเบื่อหน่ายมาก ให้ rating ความรุนแรงในระดับ 8/10 (รุนแรง)

การตรวจสอบความคิด ในเหตุการณ์ ดิฉันตรวจสอบความคิดตนเอง 2 รอบ

รอบแรก ตรวจสอบความคิดของตนเองโดยบังเอิญ วัตถุประสงค์ที่แท้จริงนั้นดิฉันต้องการช่วยให้สามีตรวจสอบความคิดของตน ใช้วิธีการบันทึกเสียงเหตุการณ์ที่ทะเลาะกัน โดยคาดหวังว่าเมื่อสามีได้ยินเสียงตนขณะโต้เถียงกับภรรยาแล้วจะรับรู้อารมณ์ของตน แล้วนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนต่อไป แต่เหตุการณ์กลับพลิกผัน เมื่อดิฉันเปิดฟังเสียงเทปเพื่อตรวจสอบคุณภาพของเสียงที่บันทึกไว้ แล้วพบว่าความคิดของดิฉันที่คิดว่าสามีไม่ดีนั้นไม่ถูกต้อง เพราะทันทีที่ได้ยินเสียงตนเองที่เกรี้ยวกราดคุกคามสามีแล้วตนเองก็ยอมรับไม่ได้ กล่าวโดยสรุป ดิฉันตรวจสอบความคิดของตนโดยบังเอิญแล้วพบว่าความคิดของตนที่คิดว่าสามีนั้นไม่ถูกต้อง เกิดความคิดใหม่ว่าตนนั้นไม่ดี น้ำเสียงเกรี้ยวกราดคุกคามของตนน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ทะเลาะกันบ่อยขึ้น

รอบที่สอง ดิฉันเป็นผู้ตรวจสอบความคิดตนเอง วัตถุประสงค์เพื่อต้องการตรวจสอบว่าความคิดว่าตนเองไม่ดี การพูดด้วยน้ำเสียงเกรี้ยวกราดคุกคามของตนน่าจะเป็นสาเหตุทำให้ทะเลาะกันบ่อยขึ้นนั้นถูกต้องหรือไม่ เพราะดิฉันรู้สึกผิดที่ตนไม่ดีแต่กลับมีความคิดว่าสามีไม่ดี วิธีการตรวจสอบความคิดคือ ยกตัวอย่างเรื่องอื่นเพื่อเลียบเคียงถามสิ่งที่ต้องการตรวจสอบ

"เสียงเค้าไม่น่าฟังเลย มันกระตุ้นมาก บางช่วงก็คาดคั้นคุกคาม" สามีตอบด้วยน้ำเสียงราบเรียบว่า
"ก็ประมาณนั้น"

ผลการตรวจสอบความคิดของสามีจึงสอดคล้องกับความคิดของดิฉัน ความคิดของดิฉันถูกต้องแล้ว ประโยชน์ของความคิดที่ถูกต้องนี้คือ ช่วยให้ดิฉันทราบสาเหตุของปัญหา จึงแก้ปัญหาได้ที่สาเหตุ

เปลี่ยนความคิดใหม่เป็น ดิฉันได้เปลี่่ยนความคิดใหม่เป็น สามีเป็นคนดี อดทนอดกลั้นกับความร้ายกาจของภรรยาอย่างมาก ดิฉันก็เป็นคนดีเพราะพยายามค้นหาปัญหา ยอมรับความจริงได้ว่าตนเป็นสาเหตุของปัญหา และหาทางแก้ไขปัญหานั้นเพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดีภายในครอบครัว

ความคิดที่ได้ปรับเปลี่ยนแล้วนี้ทำให้ความรู้สึกเปลี่ยนไป คือ ความรู้สึกหงุดหงิด เบื่อหน่าย หายไปทั้งหมดทันที ความรู้สึกอาย รู้สึกผิดที่โยนความผิดของตนให้สามีเข้ามาแทนที่ ซึ่งได้พยายามแก้ไขตนเอง ทำให้ความรู้สึกอายรู้สึกผิดนี้เปลี่ยนไปเป็นความรู้สึกโล่งใจ อิ่มใจ ที่ได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการคิดทบทวนเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ ดิฉันได้เรียนรู้ว่า

  1. ไม่ควรด่วนสรุปหรือตัดสินใครก่อนตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะความจริงอาจไม่ได้เป็นอย่างที่เราเห็น
  2. เมื่อมีเหตุการณ์ใดมากระทบจิตใจเรา ควรตั้งสติ รับรู้อารมณ์ตนเองให้ได้โดยเร็ว แล้วทบทวนความคิดของตนเอง (ความคิดเป็นตัวกำหนดอารมณ์) อย่าตอบโต้ในทันที เพราะอาจก่อความเสียหายได้
  3. ควรฝึกการยอมรับความจริงอย่างที่เป็น การให้อภัยผู้อื่น และให้อภัยตนเอง
  4. สามารถนำ CBT มาใช้กับตนเอง (บุคคลทั่วไปที่มีสภาพจิตปกติ) ได้ผลดี เพราะฉะนั้นอย่ารอให้ป่วยนะคะ
ขอบคุณล่วงหน้าสำหรับข้อเสนอแนะ.. ดารนี
หมายเลขบันทึก: 521254เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2013 23:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤษภาคม 2015 11:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท