โครงการสัมมนาเรื่อง ธุรกิจครอบครัวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน


ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เป็นการรวมตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในอาเซียน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของอาเซียน โดยการเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว การลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิก และการบูรณาการกับเศรษฐกิจโลกอย่างสมบูรณ์ รวมทั้งการเปิดให้มีการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตระหว่างประเทศสมาชิก สินค้า บริการ แรงงานฝีมือ และการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่เสรี

ด้วยกระแสของ AEC ในวันนี้ ธุรกิจครอบครัวก็เป็นธุรกิจหนึ่งที่ต้องตื่นตัวในการเตรียมความพร้อมแบบมีแนวทางและยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมโดยเฉพาะอย่างยิ่งพัฒนาทุนมนุษย์ให้มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถพัฒนาไปได้บนพื้นฐานของความยั่งยืน และพร้อมที่จะแข่งขันภายในภูมิภาคและนอกภูมิภาคอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จากความสำคัญดังกล่าว สโมสรไลออนส์(กรุงเทพ)รัตนชาติและมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศจึงจะร่วมกันจัดโครงการสัมมนาเรื่อง ธุรกิจครอบครัวกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

วัตถุประสงค์

1.เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

2.เพื่อเผยแพร่ความสำคัญของทุนมนุษย์ในยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

3.เพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจครอบครัวในยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

กลุ่มเป้าหมาย

ผู้ประกอบธุรกิจครอบครัวและผู้สนใจทั่วไป

รูปแบบกิจกรรม

·  ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศและนายกสโมสรไลออนส์(กรุงเทพ)รัตนชาติเป็นประธานในการดำเนินการอภิปรายเรื่อง โครงการสัมมนาเรื่อง ธุรกิจครอบครัวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

·  มีวิทยากรร่วมอภิปรายคือ

·  ไลออน ศักดิ์ชัย เตชะเวช  ประธานฝ่ายสมาชิกภาพ สโมสรไลออนส์(กรุงเทพ)รัตนชาติ

·  คุณอนุรัตน์ ก้องธรนินทร์ กรรมการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศและที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวที่ได้รับใบรับรองจากสถาบัน Family Firm Institution, Boston, USA (CFBA AND CFWA 2012-2013)

วันเวลาและสถานที่

วันจันทร์ที่ 11 มีนาคม 2556 เวลา 14.00-16.00 น. ณ มูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ ชั้น 7 ตึกไอบีเอ็ม ติดกับสถานีรถไฟฟ้าอารีย์ มีรายละเอียดตามแผนที่


http://www.fihrd.org/images/maps.jpg



























หมายเลขบันทึก: 521080เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2013 17:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มีนาคม 2013 14:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สรุป

โครงการสัมมนาเรื่อง ธุรกิจครอบครัวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

จัดโดย สโมสรไลออนส์(กรุงเทพ)รัตนชาติร่วมกับมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ

วันจันทร์ที่ 11 มีนาคม 2556

ณ มูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ

ไลออน ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์  เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศและนายกสโมสรไลออนส์(กรุงเทพ)รัตนชาติ

  ธุรกิจครอบครัวในประเทศไทยมีมาก เริ่มแล้วล้มเหลวก็มีมาก จนเป็นที่มาของทฤษฎีเตี่ยกับเตี่ย เตี่ยรวยแต่เตี่ยทำบกพร่องไว้มาก

  วันนี้มีวิทยากรร่วมอภิปรายคือ

  คุณอนุรัตน์ ก้องธรนินทร์กำลังทำเรื่องนี้อยู่ที่ศศินทร์ เรารู้จักกันทางวิทยุ ท่านแปลหนังสือ Three Laws of Performance

  ไลออน ศักดิ์ชัย เตชะเวชเป็นผู้บุกเบิกไลออนส์ ก็จะช่วยให้ข้อเสนอแนะว่า อาเซียนคืออะไร และมีผลต่อธุรกิจครอบครัวอย่างไร

ไลออน ศักดิ์ชัย เตชะเวช รองผู้ว่าการไลออนส์สากล คนที่ 1 ภาค 310 ซี ประเทศไทย  และประธานฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้ว่าการไลออนส์สากลภาครวม 310 ประเทศไทย

  คนไทยไม่แพ้ใครในโลก เวลาคนไทยยืนในเวทีโลกแล้วต้องเปลี่ยนพฤติกรรมว่า เราจะไม่แข่งกันเอง แต่เราจะต้องเสริมกัน

  ในอดีตที่ผ่านมา เราแข่งกันเองมากเกินไป ทำให้คนอื่นได้ แทนที่จะเป็นคนไทย

  ธุรกิจครอบครัวต้องเปลี่ยนวิธีคิด ทำเพื่อสากลไม่ใช่แค่เพื่อคนไทยเท่านั้น แล้วเราก็จะขายได้ เปอร์เซ็นการขายเพิ่มขึ้น เพิ่มรายได้เพราะเราผลิตสิ่งที่เขาเลือกบริโภค

ธุรกิจครอบครัวแบ่งออกเป็น 4 ลักษณะ

1.  มีเจ้าของเดียว ผู้บริหารและลูกจ้างเป็นคนในครอบครัว (จุดเริ่มต้น)

2.  มีเจ้าของเดียว ผู้บริหารเป็นคนในครอบครัวหรือเครือญาติเดียวกัน แต่มีลูกจ้างที่เป็นคนนอก (เมื่อธุรกิจดีขึ้นและต้องผลิตสินค้ามากขึ้น)

3.  มีหลายเจ้าของ(เพราะต้องการเงินทุนดำเนินการเพิ่มขึ้น) ผู้บริหารจึงอาจจะเป็นคนในครอบครัวเดียวกันหรือจากผู้ลงทุนร่วม ส่วนลูกจ้างก็เป็นคนนอก (เมื่อธุรกิจดีขึ้นและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค)

4.  มีหลายเจ้าของเช่นเดียวกับข้อ 3 แต่ขนาดธุรกิจใหญ่ขึ้นมาก การบริหารจึงจำเป็นต้องเป็นคนในหรือคนนอกที่มีความชำนาญการโดยเฉพาะ เพราะต้องนำระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพเข้ามาจัดการอย่างมืออาชีพ

เพื่อนผมผลิตสบู่ส่งออก แล้วก็ไปขายสินค้าที่พม่า คนพม่าไม่ค่อยใส่รองเท้า เท้าจึงแตก จึงนำครีมทาเท้าไปขายแล้วขายดี จนผลิตครีมทาเท้าไม่ทัน แทนที่จะขายสบู่ได้มากเพราะพม่ามีสบู่สมุนไพรมาก

ควรจะผลิตสินค้าให้เข้ากับความต้องการของประเทศที่จะไปขาย ขายครีมทาเท้าให้คนไทยได้ไม่มาก แต่ขายให้คนพม่าได้มาก

ธุรกิจครอบครัวควรพัฒนาความคิดและต้องมีนวัตกรรมเข้ามาเสริมในสินค้า ทำให้สินค้าของเราเหนือกว่าที่อื่น

ธุรกิจครอบครัวที่พัฒนาตนเองก็ไปได้ แต่สิ่งที่ทางรัฐป้อนให้ไม่ตรงกับสิ่งที่ธุรกิจต้องการ ถ้าเราต้องการเอง เขาพูดมาหนึ่ง เราได้สิบ เรามีช่องทางการดำเนินการ เราสามารถหาผลิตภัณฑ์และตลาดได้ดี

ตรงนี้มูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศจะมีบทบาทมากในการช่วยเหลือแบบเป็นพี่เลี้ยงแต่เราให้เขาได้เห็นภาพรวม ถ้าเขาเดินไม่ถูก เราก็ต้องบอก ถ้าเราร่วมมือกันจริงและพัฒนาให้ไปรองรับกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนต้องอาศัยการเตรียมพร้อมทั้งระบบ เยาวชนที่อยู่ในครอบครัวก็ถือว่าเขาเป็นส่วนที่จะเสริมครอบครัวในส่วนธุรกิจ นักธุรกิจใหญ่ๆก็ต้องสนใจ

ผมเคยอยู่ธุรกิจน้ำตาลมากก่อน ไม่ได้สนใจระดับเล็กๆเพราะเราขายเป็น 1 ใน 3 ผู้ส่งออกของโลก น้ำตาลเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องกินและใช้ตลอดเวลา เราไม่ต้องมีโอกาสไปโฆษณาขาย มีแต่เรามาขอร้องซื้อ เราเลือกผู้ซื้อเป็นประเทศ เลือกแล้วต้องไม่มีปัญหา เราขายให้พวกที่ไว้ใจได้

ถ้าธุรกิจครอบครัวพัฒนาตนเองตามที่ได้เสนอไปแล้ว จะไปได้ แต่ต้องเกาะกลุ่มกัน

สินค้าแต่ละชนิดที่ทำควรเสริมกัน แล้วไม่ใช่ไปขายในประเทศที่เขาผลิตได้ดีกว่าเรา แต่ไม่ใช่เราจะแพ้เขา ถ้าเรามีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เรานำทรัพยากรประเทศเขามาผลิตสินค้าเรา เราสามารถผลิตในประเทศเขาได้เพราะต้นทุนถูกว่า เขามีการเปิดเสรีแล้ว เราจ้างแรงงานที่มีศักยภาพในสาขามากขึ้น เราจะผลิตสินค้าที่มีคุณภาพแล้วมีประโยชน์มากกว่าปกติ แม้ขายในประเทศผู้ผลิตเดิม ถ้าเขาไม่พัฒนา เรายังขายได้ ถ้าเขาพัฒนา ก็จะแซงหน้า ถ้าเรายึดติดสิ่งที่เราถืออยู่ จะก้าวข้ามยาก อยากให้ช่วยกันคิดและปฏิบัติ

ไลออน ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์  เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศและนายกสโมสรไลออนส์(กรุงเทพ)รัตนชาติ

  ไลออน ศักดิ์ชัยมองเป้าหมายการสัมมนาครั้งนี้ได้ชัดเจน ไม่ใช่วิชาการ ไลออนส์กับเราก็เป็นห่วงประเทศ เราก็ต้องทำตนเป็นคนที่หวังดีกับประเทศ สิ่งที่ได้พูดมาเป็นประโยชนมากโดยเฉพาะ ถ้าเราไม่ปรับตนเอง เราก็จะถูกกระแสการแข่งขันทำให้เราล้ม แต่ที่จริง ในยุคที่เราเปิด FTA กับจีนที่เรียกว่าเป็น Early Harvest ธุรกิจจีนก็มาทำร้ายประเทศไทยไม่ใช่น้อย ถ้าเราถมทรายไปหนึ่ง แล้วมันขึ้นมาอีกหนึ่ง มันก็ยังอยู่ได้ ถ้าเราตายมาก แล้วในที่สุดมันกลายเป็นธุรกิจใหญ่

  ธุรกิจใหญ่วันนี้มีความพร้อมมาก ไม่ว่าจะเป็นเซ็นทรัล เหมืองบ้านปู ลงทุนเป็นพันๆล้าน แต่นั้นไม่ใช่ประเทศไทย ประเทศไทยคือ SMEs ธุรกิจครอบครัว

  ผมชอบที่ไลออน ศักดิ์ชัยพูดคือ วันนี้ เราไม่ได้มาฟังสัมมนา แต่มารวมพลังกันระหว่างมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศและแขกผู้มีเกียรติ ทุกคนต้องเข้ามาโดยมีปัญญา อยากเห็นกรณีศึกษาที่พบแล้วในต่างจังหวัด ยังมีธุรกิจเล็กๆที่ยังเป็นแบบธุรกิจครอบครัว เขาได้ทำงานเกี่ยวกับนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จ เพราะเราไม่ได้ให้ความสำคัญมัน

  ในห้องนี้มีหลายคนที่เก่งมาจาก Sector ต่างๆ เราควรนึกถึงด้วย เราต้องมอง Demand Side อยากให้คนไปทำในสิ่งที่มีมูลค่าเพิ่ม

  ทฤษฎีของผมเพิ่มอีก 2V คือ Value Creation ตอนหลัง อาเซียนเต็มไปด้วย Value Diversity ถ้าเราจับมือกับอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ สิ่งที่เราได้จริงคือความหลากหลาย มีประเทศมุสลิมที่มีประชากร 400-500 ล้านอยู่ใต้ประเทศเรา Value Diversity ไม่ได้เป็นความขัดแย้งอย่างเดียว

  ปัญหาธุรกิจครอบครัวไทยคือ เราอยู่ในกะลาครอบ แต่ก่อนสบาย แข่งกับใคร เราก็มีกำแพงภาษี ตอนนี้กำแพงภาษีได้ทลายลงไป ถ้าเราเก่ง ก็ไปขายให้คนอื่น ถ้าเราไม่เก่ง คนอื่นก็มาขายเรา ในหลักการค้า ถ้าขาย 1 บาท แต่ซื้อ 50 สตางค์ถือว่า ล้มละลาย มันอยู่ที่ศักยภาพของคน สินค้าที่เราจะขายได้ต้องมีความสามารถในการแข่งขัน ภาษีอย่างเดียวไม่พอ สินค้านั้นต้องมีมาตรฐาน กว่าจะทำให้คนไทยเข้าใจ ต้องใช้เวลา

คุณเชษฐ์ชัชวาล สาธิตนาถ ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิเราจะเป็นคนดี

  ที่พูดว่า ธุรกิจครอบครัวต้องพัฒนา แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยคือการขาดแคลนแรงงานมาก ธุรกิจครอบครัวล้มละลายแทบปิดตัวเอง จะแก้ปัญหาอย่างไร

ไลออน ศักดิ์ชัย เตชะเวช รองผู้ว่าการไลออนส์สากล คนที่ 1 ภาค 310 ซี ประเทศไทย  และประธานฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้ว่าการไลออนส์สากลภาครวม 310 ประเทศไทย

  ในความเห็นส่วนตัวก็คือต้องแก้ที่แนวคิดของคนไทย ตอนนี้ต้องการงานสบาย รายได้มาก ตนเองมีความรู้ไม่มากแต่คิดว่าตนเองเก่ง จะทำอย่างไรให้คนเหล่านี้ฟัง

ไลออน ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์  เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศและนายกสโมสรไลออนส์(กรุงเทพ)รัตนชาติ

  ไม่ใช่ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน แต่ขาด Productivity ด้วย

  อยากทำให้ทุนมนุษย์มีคุณภาพซึ่งไม่ใช่มีแค่ทักษะแต่บังรวมถึงความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม และสำคัญที่สุดต้องมาจากคุณธรรม จริยธรรม บางทีนักธุรกิจคิดว่า ต้องมีแรงงานมากแต่ไม่จริงใจกับประเทศ นายทุนก็ต้องปรับตัวเช่นกัน 

ไลออน  ดร.วนิดา  ลาวัณย์ทักษิณ ประธานฝ่ายบรรณาธิการหนังสือประจำปี สโมสรไลออนส์(กรุงเทพ)รัตนชาติ

  ประเทศไทยมุ่งเน้นปริญญาจนขาดแคลนแรงงานช่วงกลาง

ไลออน ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์  เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศและนายกสโมสรไลออนส์(กรุงเทพ)รัตนชาติ

  จำนวนคนเรียนจบปริญญาตรีในประเทศเวียดนามในกลุ่มที่อายุน้อยกว่าเรา มีจำนวนน้อยกว่าประเทศไทย 2 เท่า แต่ไม่มีปัญหาเรื่องคนเพราะเขามุ่งมั่นจะทำงาน แต่คนไทยยังไม่ได้ทำงานก็ถามแล้วว่าจะได้อะไร ให้เงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท คนจ่ายจริงคือราชการ แต่เอกชนไม่จ่าย เพราะบังคับแค่ข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ

คุณอนุรัตน์ ก้องธรนินทร์ กรรมการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศและที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวที่ได้รับใบรับรองจากสถาบัน Family Firm Institution, Boston, USA (CFBA AND CFWA 2012-2013)

  ในความเป็นจริง ชีวิตหมายถึง ชีวิตเราหรือองค์กร ครอบครัวก็เป็นองค์กรหนึ่งและยิ่งมีนัยของธุรกิจมาเกี่ยวข้องทำให้มีความซับซ้อน ความเป็นชีวิต ก็ต้องมีวงจรชีวิต ทุกอย่างมี เกิด แก่ เจ็บ ตาย ความเป็นองค์กรทำให้ก้าวข้ามเกิด แก่ เจ็บ ตายได้ เราต้องคิดว่า ทำอย่างไรจึงจะสู้กับความท้าทายได้ แม้ไม่มีอาเซียนเข้ามา ธุรกิจก็ถูกกดดันจากเกิด แก่ เจ็บ ตาย

  โดยทั่วไปที่มีการทำวิจัย ธุรกิจที่อยู่รอดจากรุ่นหนึ่งไปอีกรุ่นหนึ่งมีดังนี้

  รุ่น1 ไปสู่รุ่น 2 รอด 30%

  รุ่น 2 ไปสู่รุ่น 3 รอด 13%

  เมื่อคนตระหนักจุดนี้ก็ต้องทำให้เขาก้าวข้ามตรงนี้ไป ผมเป็นรุ่น 2 ตอนนี้ รุ่น 3 เพิ่งเริ่มมา

  ถ้าเราไม่วางยุทธศาสตร์ ก็เหมือนการโละ

  ธุรกิจเป็นส่วนสำคัญของ AEC แทนที่จะรับมือ ก็ควรรุกไปข้างหน้าด้วย คนก็สำคัญ แต่อื่นๆก็สำคัญด้วยเช่น ระบบ นวัตกรรม financing ทำให้การเงินลื่นไหล

  ธุรกิจครอบครัวมี 2 ระบบที่ทับซ้อนกันอยู่

  1.ครอบครัวเองก็เป็นระบบ

  2.ธุรกิจเองก็เป็นระบบ

  ต้องพัฒนาทั้ง 2 อย่างควบคู่กันไป

  ถ้าสมาชิกครอบครัวมีการวางวิสัยทัศน์และพันธกิจชัดเจน และมีแผนดำเนินการ (Execution Plan) อย่างชัดเจน จะทำให้สามารถเดินประสานคู่กันไปได้เรียกว่า มี Alignment มันดูเหมือนง่าย แต่จริงๆแล้วยาก

  สมาชิกครอบครัวโดยเฉพาะเถ้าแก่ใหญ่ คนที่เป็น Senior Members หรือคนที่อาวุโส แต่ถ้ามีอาวุโสแต่ไม่มีอำนาจในการจัดการก็จะขับเคลื่อนได้ยากและเชื่องช้า Senior Members ก็คือสมาชิกหลักที่มีอิทธิพลต่อสมาชิกครอบครัวเองและเป็น CEO สำคัญมาก 2 หมวดใหญ่นี้ต้องผนึกกำลังร่วมสร้างวิสัยทัศน์และพันธกิจ การทำธุรกิจครอบครัวจะง่ายขึ้น ต้องมอง 2 ระบบให้แยกกันก่อน แต่จริงๆแล้ว 2 ระบบต้องมีการสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกันแล้วจึงจะสร้างพันธกิจร่วมได้

  จุดเริ่มต้นธุรกิจครอบครัวคือการวางแผน สมาชิกในครอบครัวต้องหารือกันและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ต้องพัฒนาที่สมาชิกครอบครัวก่อน มีความแตกต่างด้านค่านิยม ความรู้ ประสบการณ์ ทักษะ ความเข้าใจทิศทางธุรกิจ โอกาสและภัยคุกคามมากเพียงใด ต้องวางแผนลดช่องว่างความแตกต่างเหล่านี้ ต้องกำหนดให้ชัด ผมใช้การวางแผนธุรกิจควบคู่ครอบครัวให้ไปในทิศทางเดียวกัน สมาชิกครอบครัวบางคนไม่ได้มีตำแหน่งเป็นผู้บริหารหรือพนักงานในธุรกิจ เขาก็ไปวางแผนในส่วนของครอบครัว

  ธุรกิจเองก็ต้องวางวิสัยทัศน์ โดยทำ SWOT Analysis มีจุดอ่อน จุดแข็งด้านใด โอกาสทางธุรกิจเป็นอย่างไร ผู้บริหารต้องรู้ว่า ธุรกิจตนอยู่ตำแหน่งใดของอุตสาหกรรม สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือต้องเตรียมพร้อม สร้างระบบ สร้างนวัตกรรมและการตลาดเพื่อรุกและรับ ถ้าธุรกิจต้องการรุกและเดินไปข้างหน้า ต้องใช้เงินมาก แต่ถ้าระบบครอบครัว ระบบกงสีหารือกันใจไม่ถึง ความเชื่อใจในสมาชิกครอบครัวยังไม่เกิด ก็หาเงินลำบาก ถ้าครอบครัวคิดอย่างหนึ่ง ระบบธุรกิจคิดอีกอย่างหนึ่ง ผลสุดท้ายก็ตีกันและแตกกันไปในทิศทางที่ไม่ควรจะไป ต้องวางแผน 2 ระบบควบคู่กันไป

  เราอาจมีความรู้บางศาสตร์ อาจช่วยได้เพิ่มเติม ศาสตร์การวางแผนธุรกิจครอบครัวเป็น Multidisciplinary คือนำคนเก่งๆหลายศาสตร์มารวมกัน เช่น

  คนเก่งด้านทรัพยากรมนุษย์ต้องสร้างคน ฝึกคนให้มีน้ำใจ สมองและทักษะ ต้องมีทักษะด้านจิตวิทยา พฤติกรรมมนุษย์ มีคนเชี่ยวชาญมาระดมทีม ลดความแตกต่างทางความคิดเกิด Team Spirit

  ด้านการเงิน จะรุกไปข้างหน้า แต่ไม่รู้ว่า Cash flow เป็นอย่างไร Liquidity Ratio เป็นอย่างไร จะมีความเสี่ยง

  ด้านกฎหมายก็สำคัญโดยเฉพาะ กฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมาย AEC

  เราต้องทำธุรกิจให้เข้มแข็งก่อน สร้างพื้นฐานให้มั่นคง ปีหน้าหรืออีก 2 ปีต้องคืนกำไร

  ธุรกิจจะแข็งแกร่งเติบโตได้ดีต้องมี Reinvestment ตลอดเวลา เข้าไปเพิ่มเติมในหลายๆระบบตลอดเวลา ถ้าไม่ใส่เงินเข้าไป ธุรกิจที่มีอยู่ก็จะหมดไปเพราะธุรกิจก็มีวงจรชีวิต

  ธุรกิจครอบครัวต้องเริ่มต้นที่การวางแผน ต้องมอง 2 ระบบควบคู่กัน สมาชิกครอบครัวเองทั้งที่เป็นผู้บริหารและสมาชิกครอบครัวที่อาจมีส่วนได้ส่วนเสียที่อาจรอคอยเงินปันผลมีบทบาทและเป้าหมายที่ต่างกัน

  สิ่งสำคัญคือ การวางแผนส่งต่อธุรกิจ (Succession Planning) การเตรียมทายาททางธุรกิจในอนาคต

  สรุปสิ่งสำคัญที่ต้องทำ 3 อย่างคือ

  1.ทำอย่างไรให้สมาชิกครอบครัวมีส่วนร่วมทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่นรับรู้ รับฟังข่าวสาร ร่วมคิดในส่วนที่จะคิดได้ แรงต้านจะได้น้อยลง เป็นวิสัยทัศน์ที่ต้องวางร่วมกัน

  2.จะต้องพัฒนาผู้ถือหุ้นในรุ่นปัจจุบันและอนาคตอย่างไร เราเป็นบริษัท ตอนนี้มีผู้ถือหุ้นเป็นสมาชิกครอบครัว ความเป็นเจ้าของไม่ได้อยู่แค่ตัวเจ้าของ แต่ยังมีสมาชิกที่ไม่ได้เป็นสมาชิกครอบครัวเช่น ลูกค้า ลูกจ้างแม้ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่ก็เป็นเจ้าของด้วย จะอยู่ได้ก็เพราะเขาด้วย ฉะนั้นต้องเตรียมตัวเตรียมใจพัฒนาตนเองในด้านความรู้ ข่าวสาร ทักษะให้ทันต่อเหตุการณ์แล้วพัฒนาลูกน้อง พัฒนาผู้ถือหุ้นในปัจจุบันและในอนาคต

  3.เตรียมตัวผู้บริหารและผู้นำตั้งแต่เด็ก เช่น ตอนเรียนมหาวิทยาลัยเพื่อให้เป็นผู้จัดการมืออาชีพ ต้องมีปัญญา ประสบการณ์ เรียนรู้ด้านคุณธรรม จริยธรรม ควบคุมอารมณ์ สื่อสารอย่างมีพลัง โน้มน้าวลูกน้องให้ทำงานเป็นทีม

โปรดคลิกที่ลิ้งค์นี้เพื่อดาวน์โหลดเอกสารบรรยายของศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์

http://cdn.gotoknow.org/assets/media/files/000/892/170/original_chiralionfamilybusinessandaec11march2013.pdf?1363602795

สรุป (ต่อ)

โครงการสัมมนาเรื่อง ธุรกิจครอบครัวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

จัดโดย สโมสรไลออนส์(กรุงเทพ)รัตนชาติร่วมกับมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ

วันจันทร์ที่ 11 มีนาคม 2556

ณ มูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ

ช่วงแสดงความคิดเห็น

นายประสพสุข พ่วงสาคร ผู้อำนวยการธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ

  คนไทยทำงานกันไม่เป็นทีม ชอบแข่งกันเอง จึงเป็นสาเหตุที่อาจารย์ยกตัวอย่างว่ารุ่น 2 เหลือ 30% คนจะแหวกว่ายจากธุรกิจ Microenterprise ขึ้นมาเป็นขนาดย่อม ขนาดกลางได้ ก็ตายตั้งแต่เป็น Microenterprise เพราะแข่งกันเอง

  อีกสาเหตุคือ ออกไปทำธุรกิจส่วนตัวของตนเอง เป็นธุรกิจครอบครัวอยู่แต่ไม่ได้เป็นธุรกิจเดิม ทำธุรกิจใหม่อีกคนละเรื่องกัน

  ธุรกิจครอบครัวหรือธุรกิจขนาดจิ๋ว เวลาขายดีขึ้นมา ขยายนาดก็มีปัญหาแล้ว จะหาเงินทุนจากที่ไหน ส่วนใหญ่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการกู้ธนาคาร

  เรื่องที่ 2 คือ ปัญหาเรื่องแรงงาน

  เรื่องที่ 3 คือ ปัญหาเรื่องเทคโนโลยี

  สุดท้ายคือเรื่องการรักษามาตรฐาน

  ต้องถามตนเองว่าถ้ามียอดสั่งซื้อเพิ่มอีกเท่าตัว จะส่งมอบได้ไหม

  ถ้าเรามองว่า ถ้าเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้วมีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง

  เรื่องแรกคือคุณศักดิ์ชัยบอกว่า มีคู่แข่งเข้ามามาก

  เรื่องที่ 2 มี Demand ตรงนี้คือโอกาส แล้วจะฉกฉวยโอกาสได้อย่างไร Demand มีหลากหลาย ต้องผลิตตาม Demand อาการถ้าขายในประเทศไทยก็ต้องแบบไทย ถ้าขายจีน ก็ต้องเผ็ดน้อย มันมาก ขายพม่าก็อีกแบบ ขายมาเลเซีย ก็ต้องขายต้มยำกุ้ง ต้องปรับตัว

  ถ้าจะเจาะตลาดเสื้อผ้าอินโดนีเซีย ก็ต้องอีกแบบ พม่าก็อีกแบบ ถ้าใครฉวยโอกาสได้ ก็จะได้ประโยชน์จากการรวมกลุ่ม AEC

  ทุนมนุษย์ก็ถือเป็นทุนอย่างหนึ่ง เมื่อเราพูดถึงทุนมนุษย์ มีความเอาใจใส่ในการบริหารมากกว่าทรัพยากร

  เห็นด้วยกับคุณอนุรัตน์ว่าต้องบริหารครอบครัวให้เป็นก่อน มีตัวอย่างในประเทศไทยที่ไต่เต้าจาก Microenterprise ใกล้ตัวที่สุดคือ กันตนา สมัยเด็กๆ กันตนาทำละครวิทยุ วันนี้มีหนัง เป็นเจ้าของโรงถ่ายทั้งหมดแม้ไม่ใช่สายเดียวกัน แต่ก็ใกล้เคียง แต่ละคนเรียนอะไรก็ได้ แต่ต้องกลับมาช่วยกันบริหารธุรกิจครอบครัว

  ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ซีพี ก็เป็นธุรกิจครอบครัว แต่วันนี้ ซีพีไม่ได้ขายเมล็ดพันธุ์พืชแบบเจียไต๋เหมือนในรุ่นก่อน ซีพีทำแม้กระทั่งธุรกิจโทรคมนาคม ทุกคนนามสกุลเดียวกัน เจ้าสัวเลี้ยงได้เพราะต้องบริหารครอบครัวให้ได้ก่อนแล้วค่อยไปบริหารทรัพยากรมนุษย์อื่นๆในภายหน้า ตรงนี้ทำให้นึกถึงละคร 20 ปีก่อนเรื่อง “ลอดลายมังกร” เป็นวิธีบริหารครองครัว ธุรกิจ ทรัพยากรมนุษย์  ทุนมนุษย์อื่นที่ไม่ได้อยู่ในครอบครัวในที่สุดก็แตกสาขาออกไปได้

  ผมอยู่เชียงใหม่รู้จักธุรกิจขนาดใหญ่ 2 ธุรกิจ

ธุรกิจแรก ผลิตน้ำนมผึ้งและน้ำผึ้ง มีลูกชาย 1 คน ลูกสาว 1 คน ลูกชายเรียนเก่ง ลูกสาวเรียนปานกลาง ในต่างจังหวัด พ่อ แม่ ลูกใกล้ชิดกัน ลูกชายอยากเรียนวิศวกรรมศาสตร์ แต่พ่อให้เรียนวิศวกรรมโรงงาน แล้วก็มาทำงานเป็นผู้จัดการโรงงาน ลูกสาวเรียนบัญชีแต่พ่อให้เรียนต่อปริญญาโท MBA บริหารงานบุคคลแล้วกลับมาทำงานเป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคลในโรงงาน นี่คือวิธีการที่เขาจะสืบทอดธุรกิจครอบครัวได้

อีกครอบครัวคือตระกูลวงศ์วรรณ ธุรกิจเดิมคือยาสูบ ลูกชายพ่อเลี้ยงณรงค์ วงศ์วรรณไม่ได้ทำธุรกิจยาสูบแต่เป็น Chiang Mai Frozen Food ผลิตอาหารส่งต่างประเทศ โรงงานอาหารใหญ่โตมาก ไม่ได้ดำเนินธุรกิจเดิมของครอบครัว แต่ตั้งธุรกิจครอบครัวใหม่ ก็ส่งลูกชายและลูกสาวไปเรียนต่อปริญญาโทที่ UCLA ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อให้รู้จักคนมากๆ เมื่อยึดตลาดนิวยอร์กได้แล้ว จะไปยึดตลาดฝั่งตะวันตกด้วย

ทั้งสองธุรกิจ เวลาขยายธุรกิจ

รายแรกมีนมผึ้ง 5 ไร่เพราะต้องเลี้ยงผึ้ง ปลูกสวนลำไยขยายสเกลได้มาก เทคนิคการขยายสเกลคือ เริ่มจากญาติพี่น้องเห็นผลสำเร็จก็อยากจะลงขัน ธนาคารก็ยินดีให้กู้ เพื่อนฝูงก็มาร่วมด้วย  ผมแนะนำให้ธุรกิจเขาแต่ตัวเข้า MAI การที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ ต้องแต่งตัวพอสมควร ตอนนี้แต่งอยู่ ก็คงมีโอกาสได้เข้าตลาดหลักทรัพย์ ขยายมาสเกลขนาดกลางแล้ว ก็รอที่จะขยายใหญ่กว่านี้ คนงานก็มีจำนวน 100 คนขึ้นไป ถ้าคนงานเกิน 200 คนก็กลายเป็นสเกลขนาดใหญ่

รายที่ 2 บริหารคนเป็น เห็นคนเป็นคนเพราะคนทำกำไรให้เขามากกว่าค่าแรงวันละ 300 บาท สินค้าเขาพยายามปรับขึ้น เมื่อ 2 ปีก่อน เขาไปวุ่นในแปลงนาสาธิตแปลงหนึ่ง เขานำหญ้ามาปลูกในแปลงนาสาธิตเพื่อขยายสายธุรกิจ Chiang Mai Frozen Food มีนวัตกรรมมากเพราะนำกล้วยตากมาเคลือบช็อกโกแล็ตแล้วแช่งแข็งขาย ตอนนี้ประเทศไทยมีแล้วทำมาได้ 5 ปี นำผลไม้ที่ขายไม่ค่อยออกมาเคลือบช็อกโกแล็ต ผักที่เหลือก็นำไปทำผักพะแนง ทำข้าวผักพะแนงสำหรับพวกมังสวิรัติ ขายที่นิวยอร์กราคา 3.25 ดอลล่าร์ ต้นทุน 1.12 ดอลล่าร์ นี่คือเทคโนโลยีที่เขาต้องตื่นตัวตลอดเวลา

เจ้าของกิจการควรไปหารือกับพันธมิตรทั้งหลาย แล้วนำมาเป็นหุ้นส่วน ขอให้ใช้คนเป็น ทำให้ทุกคนเป็นเลิศ ให้รู้คุณค่าของตัวเขาเอง

บางธุรกิจครอบครัวก็เป็นอีกสายเลย เหมือนซีพีที่มาทำด้านโทรคมนาคมเช่นทรูมูฟ

  เพื่อนผมคนหนึ่ง พ่อแม่เป็นเจ้าของเรือประมงอยู่แถวสมุทรสาคร แต่ตัวเขาเองเรียนพาณิชย์ ตอนนี้เป็นเจ้าของธุรกิจ Package เช่น โฟม ตอนนี้ถือว่าเป็นหนึ่งในหกธุรกิจที่มีอนาคต หลังจากเข้าประชาคมอาเซียนแล้ว

ไลออน ดร.วนิดา ลาวัณย์ทักษิณ สมาชิกสโมสรไลออนส์(กรุงเทพ)รัตนชาติ

  ธุรกิจครอบครัวมีบัญชี 2 ระบบ แทนที่จะเชื่อมโยงกับอาเซียนได้ ก็ต้องทำให้เป็นระบบเดียวกัน บัญชี 2 ระบบไม่มีใครมาเชื่อมโยงด้วย ธุรกิจครอบครัวต้องมีความโปร่งใสพอสมควร ระบบบัญชี 2 ระบบควรยกเลิกได้เลย เพราะยากที่จะก้าวต่อไป

ไลออน ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์  เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศและนายกสโมสรไลออนส์(กรุงเทพ)รัตนชาติ

  ทุนมนุษย์นอกจากความเก่งแล้วต้องมีจริยธรรมก่อนปัญญามาทีหลัง ถ้าขาดความซื่อสัตย์โร่งใส ก็ขึ้นเป็นธุรกิจที่มั่นคงไม่ได้

นายกิตติ คัมภีระ ที่ปรึกษามูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ

  จากที่มีส่วนช่วย SMEs และธุรกิจครอบครัว มีทั้งประสบความสำเร็จและไม่ประสบความสำเร็จ ทำไมการสืบทอดทายาททางธุรกิจจึงมีปัญหา รุ่น 1 -2 ไม่มีปัญหา แต่รุ่น 2-3 ส่งต่อเป็นรูปตัวที มีลูกมากกว่า 1 คน ลูกแต่ละคนก็มีความสนใจแตกต่างกันไป อีกปัญหาคือไม่สนใจสิ่งที่รุ่น 1 ทำไว้ ตั้งแต่รุ่น 3 เกียร์ขับเคลื่อนหลวม

  ต้องมีการศึกษาวิจัย สร้างเวทีรวมความแตกต่างด้านความคิด (Dialogue) สร้างแรงบันดาลใจให้ทายาท จริงๆไม่ได้เริ่มจากศูนย์ แต่ต่อยอดจากเรื่องนี้ พอถึงรุ่น 3 มีการ Diversify ธุรกิจตามถนัด เช่น บุญรอด

  การเตรียมพร้อมทางธุรกิจ พูดถึง SWOT สร้างวิสัยทัศน์และพันธกิจของธุรกิจ จะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์หรือสิ่งที่ขาดเหลือ

  การวางระบบธุรกิจสำคัญ คนไทยดีทุกอย่างแต่ทำงานไม่เป็นระบบ ถ้าเข้าระบบ ก็ชนะไปเกินครึ่ง ตอนแรกจะยากหน่อย  ที่เราพบคือ Decision to change

  AEC เป็นทั้งคู่แข่ง พันธมิตร ตลาดที่ใหญ่ขึ้นจะอยู่รอดได้ ต้องมีนวัตกรรม

  ธุรกิจครอบครัวจะต้องรวมกลุ่มแบบ Cluster ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตรงกลางเป็นธุรกิจหลัก

  ทัศนคติการมองประเทศเพื่อนบ้าน เรามองเป็นคู่แข่งแต่มองเขาเป็นพันธมิตรน้อยมาก

  เรื่องชาติพันธุ์ หรือ DNA ของคนใน AEC เช่นคนไทย ลาว กัมพูชา เรามี DNA ร่วมไม่มากก็น้อย ถ้าเรามองข้ามเส้นเขตแดนก็เป็นชาติพันธุ์ ได้หมด

  เราพูดด้านเทคนิค ต้องให้ความรู้ที่ถูกต้องด้าน Soft Side โดยเฉพาะมานุษยวิทยา

ไลออน ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์  เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศและนายกสโมสรไลออนส์(กรุงเทพ)รัตนชาติ

  สิ่งที่คุณกิตติพูดมีความสำคัญหลายเรื่อง

  โดยเฉพาะคนที่จะทำธุรกิจระดับนานาชาติ อย่าเน้นเฉพาะธุรกิจ กำไร แต่ให้เน้นภาพรวมสังคม เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ซึ่งสอนยากในประเทศไทย วิชาพวกนี้ไม่สอนใน MBA และคนไทยไม่ใฝ่รู้

  ผมไปประเทศเหล่านี้ตลอด ผู้นำเขาไว้ใจเรามาก

  เมื่อไปพม่า ท่านทูตก็บอกว่า อยากให้คนไทยเข้าใจพม่าอย่างลึกซึ้ง แทนที่จะถามเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำของพม่า ถูกกว่าเท่าไร งานที่ผมทำนี้เรียกว่าเป็น People-to-People Diplomacy

  ที่นี่เป็นที่พึ่งสำหรับคนที่ทำธุรกิจที่อยากเน้นความยั่งยืน ทุนแห่งความยั่งยืนเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย คือการวางแผนระยะสั้นเพื่อให้อยู่รอดในระยะยาว แต่ SMEs และธุรกิจครอบครัวต้องพัฒนามาตรฐาน จิตวิญญาณ Mindset

  การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ไม่ได้แข่งอย่างเดียวแต่มีความร่วมมือกันด้วย แต่การไปร่วมมือก็ต้องถ้อยทีถ้อยอาศัยกับประเทศอื่นๆ อย่าไปโกงเขา

ดร.ชีวิต สารพัตร

  จากที่ฟังผู้เข้าร่วมสัมมนาทุกท่านก็ให้องค์ความรู้ที่ดีเกี่ยวกับการพัฒนาธุรกิจครอบครัว

ผมเป็นห่วงว่า ความอ่อนแอธุรกิจครอบครัวมีมาก ประสบความสำเร็จน้อยลงคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ที่เพิ่มขึ้น

  สถาบันการเงินไม่ค่อยอนุมัติสินเชื่อให้แก่ธุรกิจครอบครัวมากเท่าไรนัก เพราะคนไทยมักใช้เงินผิดประเภท

  จะสนับสนุนแนวคิดการจัดการธุรกิจครอบครัว

  อยากเสริมเรื่องการเงิน นอกจากธุรกิจครอบครัวจะได้กำไรจากการขายสินค้าและยังได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศด้วย ถ้าเรามีเงินตราต่างประเทศเข้ามาซื้อสินค้าเรามาก เราก็จะบริหารได้ให้ได้กำไรเพิ่มขึ้น โดยเราส่งเสริมเทคโนโลยี ธนาคารทหารไทยวิเคราะห์อัตราแลกเปลี่ยนโดยใช้ดัชนีวิคส์ เราสามารถเข้าไปดูทางอินเตอร์เน็ตซึ่งบอกถึงการแข็งค่าของเงินดอลล่าร์ แต่ครอบครัวอาจจะนำเงินดอลล่าร์มาซื้อขายแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทไทย ถ้าธุรกิจใหญ่ๆ เราสามารถจะวิเคราะห์ได้ว่าช่วงใดเงินดอลล่าร์จะแข็งค่า ถ้าค่าเงินดอลล่าร์แข็งทำให้แลกเป็นเงินบาทได้น้อยลง

  ต้องเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจครอบครัวเพราะเมื่อเปิดประชาคมอาเซียนแล้ว สิ่งที่จะตามมาคือการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ แรงงานฝีมือจะเข้ามาโดยเสรี ตลาดจะใหญ่ขึ้น ผู้บริโภคจะมากขึ้น นี่เป็นโอกาสแต่ก็มีวิกฤติ แฝงมาด้วย ถ้าเราไม่เข้มแข็ง ไม่สามารถสู้กับธุรกิจประเทศต่างๆที่จะเข้ามารวมใน AEC ได้ เราก็จะแพ้เขา เพราะปัญหาธุรกิจครอบครัวไทยมีมาก

  ตอนนี้ ผมได้ทำโครงการร่วมกับหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา

นายบรรเทิง องค์วิลาวัณน์

  ผมอยากแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัว ผมเป็นนักธุรกิจมาก่อน จบมาแล้วเป็นลูกจ้าง พบว่า ในบริษัทเอกชน ทำงานแล้วต้องพัฒนาตนเอง ตอนที่ทำ ก็ยังไม่ได้ตระหนักเรื่องความรู้ ทุนทางสังคม ทุนทางไอที และทุนแห่งความยั่งยืน หลังจากทำงานไป 10 ปี ความรู้ต่างๆหายไปหมด คนที่เราติดต่อกลายเป็นวงแคบเข้าคือเฉพาะคนที่ทำงานด้วย หลังจากเป็นลูกจ้าง ก็มาทำธุรกิจของตนเอง เมื่อล้มเหลวแล้ว ทราบว่าการทำธุรกิจครอบครัวไม่ง่าย

  ครอบครัวผมทำธุรกิจครอบครัวเป็นรุ่นที่ 2 แต่ธุรกิจบางตัวปิดไปแล้ว ในฐานะที่ผมเป็นพี่คนโตของครอบครัวจึงต้อง หาหนทางทำให้ทุนที่มีอยู่สามารถพัฒนาต่อยอดธุรกิจของครอบครัว  แต่ประสบปัญหาการสื่อสารกับคุณพ่อเกี่ยวกับแนวทางบริหารธุรกิจครอบครัวให้เรามาสืบทอดต่อ เราก็มาทำงานข้างนอกส่วนใหญ่ ครอบครัวก็จะมีคนดูแลส่วนนี้อยู่แล้ว

  ผมทำเรื่องทุนทางความรู้ ทุนมนุษย์จะเป็นในส่วนที่ผ่านมาเราขาดสิ่งนี้ไป อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เราไม่สามารถพัฒนาต่อยอดตรงนี้ไป เริ่มมองกว้างขึ้นและในภาพ Macro มากขึ้น ก็มีโอกาสได้สร้างเครือข่าย เดิมได้สร้างเครือข่ายกับคนที่ทำธุรกิจด้วยกัน หลังจากที่ผ่านหลายๆจุดมา ผมมีความสุขทำเรื่องทุนทางสังคมที่เรามีอยู่แล้ว ก็อยากจะสร้างในส่วนนี้แล้วขยายออกไปถึงระดับพัฒนา ในสังคมที่ผมอยู่ การมองไปถึงสังคม ประเทศชาติ โลก มันอาจจะดูไกลไป เรารู้จักวงแคบๆในธุรกิจ จริงๆแล้ว ประทับใจที่ได้มีโอกาสมาร่วมสัมมนาครั้งนี้

ไลออน ลำเพาพรรณ ลีรพันธุ์ สโมสรไลออนส์ในพระบรมราชูปถัมภ์

  ยินดีที่ได้มีโอกาสครั้งแรกมาร่วมสัมมนากับอาจารย์จีระ

  ตนเองทำธุรกิจส่วนตัว เกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัย ซึ่งเป็นเรื่องยากเพราะต้องจับว่าอะไรคือนวัตกรรม ตลาดคืออะไร ทำอย่างไรให้คนเข้าใจในแง่ความปลอดภัยเป็นสิ่งที่จำเป็นในชีวิต ก็ต้องมาปรึกษาอาจารย์

  เรายังไม่ถึงจุดที่จะเล่าประสบการณ์ เราก็พยายามทำอย่างต่อเนื่อง ก็นำทุนที่อาจารย์แนะนำไว้แล้วนำมาประมวลและพัฒนาเป็นธุรกิจที่โตอย่างยั่งยืน ไป AEC เราก็ทำค่อนข้างมาก ส่วนตัวเราก็ทำงานมามากคือทำงานเป็นลูกจ้างบริษัท Loxley เคยอยู่ต่างประเทศ เดินทางมาก

ไลออน ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์  เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศและนายกสโมสรไลออนส์(กรุงเทพ)รัตนชาติ

  ไลออน ลำเพาพรรณได้ทำกระดาษสา สวมแล้วมีออกซิเจน เวลาลงมาจากตึกสูง ท่านสนใจเรื่องความปลอดภัยจากไฟไหม้ สังคมไทยขาดวัฒนธรรมความปลอดภัย จะไม่ลงทุนด้านการป้องกัน ท่านใช้ความคิดสร้างสรรค์ Demand เรื่องความปลอดภัยไม่ใช่ Demand ตรง

ตอนจบสัมมนานี้แล้วอยากให้รู้จักกัน

ครั้งต่อไปจะจัดเป็น Ph.D. Workshop จะเชิญลูกศิษย์ที่ทำวิทยานิพนธ์เรื่องการส่งออกและ Transaction Cost ซึ่งมี Information, Negotiation และมี Enforcement จะเชิญไลออนส์มาร่วมด้วย

ไลออน ลำเพาพรรณ ลีรพันธุ์ สโมสรไลออนส์ในพระบรมราชูปถัมภ์

ในประเทศไทยมีหลายปัญหา เพราะมีช่องว่างมากโดยเฉพาะช่องว่างระหว่างชนชั้นและวัย การส่งผ่าน Gen Y เขาคิดอย่างไร ต่างจากเรา เขาไม่มานั่งฟังสัมมนาเหมือนเรา เขากระโดดไปหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต สภาพสังคมและวัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงไป ต้องสร้างสะพานเชื่อมช่องว่าง ควรจะแก้ปัญหานี้ อยากให้ลูกมาศึกษาเพราะเป็นธุรกิจที่โตไปกับมันได้และต่อไปจะยั่งยืน

นายเชษฐ์ชัชวาล สาธิตนาถ ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิเราจะเป็นคนดี

  ธุรกิจใหม่เกิดขึ้นมาก ผมก็เป็นหนึ่งในนั้น แยกจากตัวกงสีมาทำเองได้ ถึงแม้ว่าจะลำบากแต่ก็เป็นเถ้าแก่ตนเอง ท่านอาจจะมองเฉพาะอาเซียน แต่ลูกค้าผมมีไนจีเรีย อาหรับ มาเลเซีย กัมพูชา การค้าขึ้นอยู่กับโอกาสของแต่ละคน ทุกอย่างเดินได้หมด เมืองไทยไม่ล่มสลาย ถ้าตราบใดยังมีคนไทยอยู่

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท กรรมการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ

  อยากให้จัดหลักสูตร การเตรียมตัวผู้บริหาร ผู้จัดการหรือ CEO มืออาชีพ โดยเน้นการบริหารธุรกิจ  รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การเงิน การตลาดและการบริหารคน  บริหารธุรกิจจะเน้นแต่ละธุรกิจ

    บริหารครอบครัว ประกอบด้วย

  1.ผู้มีอำนาจในการบริหาร เช่น จะบริหารหุ้นส่วนและครอบครัวให้เข้าใจได้อย่างไร

  2.ถ้าตนเองไม่ได้เป็นผู้บริหารจะทำอย่างไรให้รู้การวางบทบาทและให้การสนับสนุนผู้บริหารอย่างไร อย่าให้สร้างปัญหาการเมืองภายในองค์กร

  3.การบริหารคน แยกให้ออกระหว่างผู้บริหารกับหุ้นส่วน หรือกรรมการหุ้น เพราะบางคนทำงาน 2 ตำแหน่ง ต้องแยกให้ชัดเจนว่าเมื่อเป็นผู้บริหารต้องอยู่ภายใต้กรรมการ จากเดิมเจ้าของคนเดียวสั่งทุกอย่าง แต่รุ่น 2 ต้องเปลี่ยนระบบการจัดการจาก One Man Show เป็นแบบ Teamwork หุ้นส่วนก็มีกรรมการของหุ้นส่วนชุดหนึ่ง ขณะเดียวกันกรรมการของหุ้นส่วนก็มีส่วนหนึ่งที่ลงไปเป็นผู้บริหาร ก็ต้องแยกส่วนให้ได้ ตอนนี้ ปัญหาหนักที่สุดคือ รุ่น 2-3 มาขี่กัน ทุกคนไม่ว่าจะเป็นหุ้นส่วนหรือลูกหุ้นส่วนต่างคนต่างแย่งเพราะระบบกงสี ระบบกินเงินปันผล เมื่อก่อน การปันผลทำให้คนพอใจเพราะจำนวนคนมีน้อย พอจำนวนคนมากขึ้นแต่ธุรกิจไม่ได้ขยาย ตอนนี้เขาไม่ได้สนใจเรื่องเงินปันผลแล้ว แต่คิดว่าจะทำอย่างไรจึงจะมีอำนาจเพื่อนำเงินเดือนก้อนใหญ่เข้ามาได้

  4.การเตรียมความพร้อมเป็นธุรกิจระหว่างประเทศ เราต้องมองถึง การเป็นหุ้นส่วนที่ดี ปรับเปลี่ยนระบบครอบครัวให้เป็นระบบมืออาชีพ เตรียมการด้านการเงิน หาหุ้นส่วน สร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจจนถึงระดับหนึ่งแล้ว เพราะสูตรในการบริหารจัดการธุรกิจครอบครัวที่มีตลาดคนไทยด้วยกันเป็นรูปแบบหนึ่ง ตลาดต่างประเทศอีกลักษณะหนึ่ง ต้องแยกตรงนี้เป็นกลุ่มก้อนออกมา

  อยากให้ไลออนส์ มูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศและหอการค้าร่วมกันจัดงาน สามารถตั้งคณะทำงานได้เลย

  อยากให้คุณอนุรัตน์ไปนำเสนอที่หอการค้า

ไลออน ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์  เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศและนายกสโมสรไลออนส์(กรุงเทพ)รัตนชาติ

  อยากให้เชิญสภาอุตสาหกรรมมาร่วมด้วยเพราะตอนนี้เขาก็ยังมีจุดอ่อนเรื่องธุรกิจครอบครัว

คุณอนุรัตน์ ก้องธรนินทร์ กรรมการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศและที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวที่ได้รับใบรับรองจากสถาบัน Family Firm Institution, Boston, USA (CFBA AND CFWA 2012-2013)

หลายท่านนำเสนอประสบการณ์ได้น่าสนใจ

วิจัยที่ออกมาไม่ทันสมัย

การให้คำจำกัดความของความสำเร็จ บางธุรกิจที่ปิดลงไป ไม่ใช่ความล้มเหลว แต่เป็นส่วนหนึ่งของวงจรชีวิตของธุรกิจครอบครัวและวิสาหกิจครอบครัว (ธุรกิจครอบครัวที่มีมากกว่า 1 ธุรกิจ)

10 กว่าปีที่ผ่านมา ก็มีวิจัยต่อเนื่องกันมาเอาธุรกิจครอบครัวมีการวิจัยมาไปต่อยอด Set other business บางส่วนตายแต่งอก บางส่วนตายจริง เราอาจยังไม่คุ้น Set family office แต่เจ้าสัวใหญ่ๆคุ้นเคย

การสืบทอดธุรกิจครอบครัวอยู่ที่การสร้างหัวใจการเป็นผู้ประกอบการสำหรับสมาชิกครอบครัวและไม่ได้เป็นสมาชิกครอบครัวได้แก่ Professional และพนักงาน

เห็นด้วยกับกรณีศึกษาธุรกิจครอบครัววงศ์วรรณที่ทำธุรกิจแล้วไป Reinvest ต่อ นี่เป็นหัวใจและทำให้ธุรกิจอยู่อย่างยั่งยืน

เห็นด้วยว่า ควรพัฒนา Soft Side พลังความสำเร็จอยู่ที่การสื่อสารสร้างพลังร่วมกันและเข้าใจร่วมกัน ควรสร้างเป็น Dialogue

ม.ล.ชาญโชติพูดถึงการสร้างธรรมาภิบาล (Family Governance) ถือเป็นเรื่องสำคัญ ทำอย่างไรให้สมาชิกครอบครัวและที่ไม่ใช่สมาชิกทำงานร่วมกันได้

ต้องเตรียมพร้อม AEC และโลกาภิวัตน์

นายกิตติ คัมภีระ ที่ปรึกษามูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ

วัฒนธรรมไทยมีผลต่อการเติบโตของธุรกิจ อย่าดังแล้วแยกวง ต้องล้างแนวคิดนี้ออกไป

คุณอนุรัตน์ ก้องธรนินทร์ กรรมการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศและที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวที่ได้รับใบรับรองจากสถาบัน Family Firm Institution, Boston, USA (CFBA AND CFWA 2012-2013)

  ธุรกิจจะโตได้ต้องโตแล้วแตกและมีการ Consolidate รวม Resource

ณัชฐานันท์ พิภูเสฏฐิปภา

  70% ของธุรกิจครอบครัวที่ตาย เพราะมี 8K’s ไม่ครบ อาจมีครึ่งหนึ่ง

  การผลิตกางเกงยากมาก ใช้เวลานาน มีขั้นตอนมาก แต่เขามีทุนมนุษย์ ทุนทางจริยธรรม ทุนแห่งความรู้ ทุนแห่งความสุข แต่ไม่พัฒนาทุนทางปัญญา ทุนทางสังคมและทุนทางไอที ทำให้ขาดทุนแห่งความยั่งยืน

  เราทำธุรกิจเพราะอยากให้สินค้าทำโดยคนไทยมีมูลค่ามากกว่าที่ซื้อไปขาย มากกว่าเป็นผู้ผลิตที่เป็นผู้ค้าส่ง

  ส่วนที่เหลือก็ต้องเกิดจากความรู้

  5K’s ยังเข้าถึงได้ยาก

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท กรรมการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ

  5K’s เป็นเรื่องไม่ยากถ้าเข้าใจเรื่องการบริการ ถ้าเอาใจของการบริการใส่ 8K’s+5K’s ตอบโจทย์ภาคบริการได้

ไลออน ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์  เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศและนายกสโมสรไลออนส์(กรุงเทพ)รัตนชาติ

  นวัตกรรมไม่ได้มาจากการผลิตอย่างเดียว

ณัชฐานันท์ พิภูเสฏฐิปภา

  คนผลิตอาจไม่ได้นำไปขาย คนขายอาจซื้อไปขาย

ไลออน วีรพงศ์ ศศิวิมลพันธุ์ สมาชิกสโมสรไลออนส์(กรุงเทพ)รัตนชาติ

  อะไรก็ตายที่คนไทย

  ผมอยู่ในธุรกิจครอบครัว เริ่มจากทำเล็กๆ 2-3 คน แล้วนำพี่น้องเข้ามาร่วมด้วย เริ่มจากพนักงาน 2-3 คนจนมีพนักงาน 300 คน เราทำธุรกิจผลิตหมวกส่งออกไปญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา

  พอธุรกิจขยายถึงจุดหนึ่ง สิ่งต่างๆรุมเร้าเข้ามาทำให้เราเครียด ทำให้เกิดความแตกต่างภายใน คิดไม่เหมือนกัน อารมณ์ไม่เท่ากัน ระดับคุณธรรมไม่เท่ากัน สร้างปัญหาความวุ่นวายไปหมด ธุรกิจครอบครัวบางธุรกิจก็ตายเพราะเขยและสะใภ้

  เวลาผู้บริหารเติบโตจากเถ้าแก่มาเป็น MD และ CEO บางทีปัญญาที่สร้างขึ้นมาไม่เพียงพอ แต่งานรอไม่ได้ มีชาวต่างประเทศมาติดต่อซื้อสินค้าทุกสัปดาห์ก็ทำไม่ทัน ปัญญาไม่เกิดก็ต้องหาผู้ช่วย และคนเก่งๆพอที่จะเหลือให้เราเลือกมา เพราะเราไม่ดังพอที่จะดึงดูดให้คนเก่งเข้ามา เวลาที่ต้องตัดสินใจเรื่องใหญ่ ขาดข้อมูลพอที่จะเชื่อถือ ต้องฟังจากหลายๆคน เราไม่สามารถจะเชื่อได้จากปัญญาส่วนลึกที่ผุดขึ้นในจิตของเราได้ ก็ต้องศึกษาว่าทำอย่างไรให้รู้จริง ต้องมีสติเพื่อสร้างตัวปัญญาให้เกิดขึ้น แล้วเราก็ใช้หลักความเชื่อและสถิติต่างๆ ทำให้ไขว้เขว พี่น้องทะเลาะกัน ระแวงกัน เกิดปัญหา ต้องฝึกจิตให้มีพลังแล้วจะนิ่งเกิดปัญญามองเห็นเอง ถอยตนเองออกมาให้ธุรกิจอยู่ เสียสละเมตตาให้ธุรกิจอยู่ได้ นำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาแก้ไขอีกครั้ง ถ้าเราสามารถทำจิตของเราให้ละเอียด มีปัญญา มีความสุขและจริยธรรม เกิดทัศนคติและปัญญา สามารถนำไปกำหนด Mindset ได้ ก็จะประสบความสำเร็จ สามารถนำมาใช้ในระดับชาติ แต่ระดับนี้ในประเทศไทยยังไม่เกิดเพราะเราไม่เชื่อมั่นในตนเองว่าจะคิดหรือทำอะไรเพื่อส่วนรวม

  ควรจะนำความรู้ไปเผยแพร่เข้าสู่ระดับ Enterprise ให้ได้

  คนไทยมีสิ่งที่ดีมากที่สุดในโลกคือพระพุทธศาสนา แต่เรามัวแต่ไปดูพิธีกรรม หลักศาสนา การให้ทานและมีชื่อผู้ให้ซึ่งเป็นสิ่งสมมติทั้งนั้น จริงๆแล้วมันคือการฝึกจิตไม่ใช่ขอจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ควรนำสิ่งที่ตัวเรามีให้แก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะดีกว่า

ไลออน ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์  เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศและนายกสโมสรไลออนส์(กรุงเทพ)รัตนชาติ

  ในนามสโมสรไลออนส์(กรุงเทพ)รัตนชาติและมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศขอขอบคุณท่านวิทยากรทั้งสองท่าน โดยเฉพาะไลออน ศักดิ์ชัยก็มาเป็นตัวแทนทำหน้าที่อย่างดี ต้องขอบคุณคุณอนุรัตน์มากเพราะท่านเป็นอันดับหนึ่งด้านธุรกิจครอบครัวในประเทศไทย อยากขอให้ทุกท่านที่มาร่วมสัมมนาเป็นรุ่นที่ 1 เราอาจจะมีกิจกรรมต่อเนื่องที่จัดร่วมกัน ขอขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมสัมมนาครั้งนี้ ผมได้รับความรู้มาก หวังว่าการประชุมครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกท่าน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท