เรื่องเล่าระหว่างวันที่ ๑๘ - ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ (ต่อ)



วันศุกร์ที่๒๒  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๖   เช้าจัดสัมภาระสำหรับเดินทางค้างแรม ๒ คืน แบบมินิ เดินทางไปสำนักงานเขตซึ่งก็ดูเงียบเหงาเพราะท่านรองฯ ผอ.กลุ่ม และเจ้าหน้าที่บางส่วน ได้เดินทางไปกับคณะผู้บริหารโรงเรียนตั้งแต่เย็นวาน ตามโครงการพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาของเขต ผมจะเดินทางตามไปในวันนี้ ได้ลงนามแฟ้มเอกสารจนถึง ๑๐ นาฬิกา จากนั้นขับรถไปจอดไว้ที่ชั้นจอดรถใต้อาคารผู้โดยสารในประเทศ เป็นลูกค้าประจำจนยามรู้จัก เขาจัดที่ให้จอดหน้าประตูขึ้นทุกครั้ง หลังเช็คอินเดินเตร็ดเตร่ดูสินค้าภายในอาคารผู้โดยสาร ซึ่งก็มีไม่มากเมื่อเทียบกับสุวรรณภูมิ เที่ยงจัดแจงซื้อข้าวกล่องจากร้านสะดวกซื้อมาเติมพลัง จากนั้นเดินตามแนวลูกศรชี้ไปประตูขึ้นเครื่องที่ ๗๔ ซึ่งอยู่ในส่วนที่ไกลที่สุดของสายการบินในประเทศ  ต้องลงบันไดเลื่อนไปอีกหนึ่งชั้น เรียกว่าห้องพักผู้โดยสารอยู่เสมอรันเวย์สนามบิน แปลว่าต้องขึ้นรถไปขึ้นเครื่องอีกทอดหนึ่ง ที่เป็นอย่างนี้เพราะเที่ยวบินที่จะเดินทางใช้เครื่องบินขนาดเล็ก ไม่สามารถจะไปขึ้นทางงวงช้างได้เหมือนเครื่องใหญ่  เวลา ๑๓.๒๐ น. เขาเรียกไปขึ้นรถพาวกกลับไปในสนามแล้วก็จอดหน้าเครื่องบินขนาดมินิ ๒ เครื่องยนต์แบบใบพัดหมุน ไม่ใช่ไอพ่นรุ่นใหม่ ผู้โดยสารทั้งลำประมาณ ๓๐ คน นักบิน ๒ คน แอร์โฮสเตสอีก ๑ รวม ๓ ก็สามารถบริการผู้โดยสารให้สะดวกสบายได้แล้ว  ที่นั่งผมอยู่ ๒ เอ นั่งเดี่ยวเรียงไปอีกประมาณ ๑๐ ที่นั่ง ส่วนแถวบีอยู่ขวามือ นั่งแถวละ ๒ ที่นั่ง ห้องน้ำอยู่หลังนักบิน ทำให้คิดถึงโรงเรียนขนาดเล็ก หากเราคิดย่อส่วนงานลงแต่คงการบริการที่ดีไว้ก็สามารถพาผู้โดยสารสู่จุดหมายได้เหมือนกัน เครื่องบินบินในระดับที่ไม่สูงนัก สามารถมองเห็นท้องนาและภูมิประเทศตลอดเส้นทาง ใช้เวลาประมาณ ๑ชั่วโมง ๑๕ นาทีก็ลดระดับลงจอดอย่างนิ่มนวลที่สนามบินน่าน  ลงจากเครื่องเดินไปอีกหน่อยก็เข้าอาคารผู้โดยสารหลังขนาดเล็กน่ารัก ชั้นเดียว แต่ภายในจัดส่วนบริการที่สะอาดและอบอุ่น ไม่หว้าเหว่เหมือนสนามบินขนาดใหญ่ ท่านรองฯ สมมาตร ชิตญาติ ท่านรองฯวิรัช ฐิติรัตนมงคลและคณะมารอรับ รายการแรกพาไปชมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติของจังหวัดน่าน ผมไม่เคยมาจังหวัดนี้ และฝันว่าจะเป็นเมืองในหุบเขาที่เต็มไปด้วยต้นไม้หนาทึบ กลับไม่ใช่อย่างที่คิดไว้  เป็นเมืองในที่ราบ คล้ายชุมพรหรือหลังสวน บ้านเรือนเป็นแบบชั้นเดียว อย่างมากไม่เกิน ๒ ชั้น เว้นแต่ตึกรุ่นใหม่ที่มีจำนวนน้อยกว่าของดั้งเดิม  ผ่านวัดหลายแห่งอดทึ่งในสถาปัตยกรรมของโบสถ์ไม่ได้ ช่างสวยงามเป็นเอกลักษณ์ รู้ได้ทันทีว่าคนเมืองน่านมีอารยธรรมมาช้านาน และยังคงรักษาเอาไว้ได้  พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน ตั้งอยู่ในบริเวณ คุ้มของอดีตเจ้าผู้ครองนครน่าน ที่เรียกว่า "หอคำ" โดย พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เจ้าเมืองน่านสร้างขึ้น เป็นที่ประทับ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๖ ลักษณะตัวอาคารโอ่โถง งดงาม ก่ออิฐถือปูนแข็งแรง แต่ตกแต่งให้อ่อนช้อย สวยงาม ด้วยลายลูกไม้ นับเป็น สถาปัตยกรรมก่อสร้าง ที่ดีเด่นแห่งหนึ่งของเมืองไทย นอกจากนั้น บริเวณด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ เป็นที่ตั้งอนุสาวรีย์ พระเจ้าสุริยพงศ์ผลิตเดช ผู้เป็นเจ้าของหอคำแห่งนี้ ด้วยกรมศิลปากร ได้รับมอบอาคารหอคำ เพื่อใช้เป็นอาคาร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๗ จัดแสดง โบราณวัตถุ ตลอดจนสิ่งที่น่าสนใจ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ศิลปะ โบราณคดี และชาติพันธุ์วิทยา ประจำท้องถิ่น มาจัดแสดงให้ชมอย่างมีระบบ และระเบียบสวยงาม


  ส่วนที่เป็นห้องจัดแสดงชั้นล่าง จัดแสดงชาติพันธุ์วิทยาเกี่ยวกับล้านนา เช่น ลักษณะอาคารบ้านเรือน และเครื่องใช้ ในชีวิตประจำวัน การทอผ้า และผ้าพื้นเมืองน่านแบบต่าง ๆ ที่สวยงามมาก การสาธิต งานประเพณี และความเชื่อต่างๆ เช่น การแข่งเรือ การจุดบ้องไฟ สงกรานต์ และพิธีสืบชะตา เป็นต้น ที่น่าสนใจ ในการจัดแสดง ห้องโถงชั้นล่าง นี้ยังมีการจัดแสดง เรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่ และเครื่องใช้ของชนกลุ่มน้อย ในจังหวัดน่านรวม ๕ เผ่าด้วยกัน คือ ไทลื้อ ม้ง เย้า ถิ่น และตองเหลือง  ส่วนบริเวณห้องจัดแสดง ชั้นบน เป็นการจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับ ประวัติศาสตร์ของเมืองน่าน การสร้างเมือง และโบราณสถานที่สำคัญ รูปถ่ายโบราณ งานประณีตศิลป์ เครื่องใช้เงินตรา อาวุธ ศิลาจารึก และเครื่องถ้วย ที่ค้นพบในเมืองน่าน ที่สำคัญที่สุดคือ ห้องเก็บ งาช้างดำ ซึ่งเป็นปูชนียวัตถุคู่เมืองน่าน ตามประวัติกล่าวว่า ได้มาจากเมืองเชียงตุงตั้งแต่โบราณ เมื่อเจ้ามหาพรหมสุรธาดาเจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้าย ถึงแก่พิราลัย เจ้านายบุตรหลาน จึงมอบให้เป็นสมบัติ ของแผ่นดิน พร้อมหอคำ ลักษณะของงาช้างดำนี้เป็นงาปลี ยาว ๙๔เซ็นติเมตร เปลือกสีน้ำตาลเข้ม ส่วนปลายมน มีจารึกอักษรธรรมล้านนา ภาษาไทย กำกับไว้ว่า "กิ่งนี้หนักหนึ่งหมื่นห้าพัน" หรือประมาณ ๑๘ กิโลกรัม


  ออกจากพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เดินทางไปวัดภูมินทร์ ซึ่งอยู่ใกล้พิพิธภัณฑ์ เป็นวัดที่มีลักษณะแปลกกว่าวัดอื่น ๆ คือ โบสถ์และวิหาร สร้างเป็นอาคารหลังเดียวกัน ประตูไม้ทั้งสี่ทิศ แกะสลักลวดลายงดงามโดยฝีมือช่างเมืองน่าน นอกจากนี้ฝาผนังแสดงถึงชีวิตและวัฒนธรรมของยุดสมัยที่ผ่านมา ตามพงศาวดารของเมืองน่าน วัดภูมินทร์สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๑๓๙ โดยเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ สร้างขึ้น หลังจากขึ้นครองนครน่านได้ ๖ ปี ปรากฎในคัมภีร์เมืองเหนือว่าเดิมชื่อ "วัดพรหมมินทร์ " ซึ่งเป็นชื่อของเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ ผู้สร้างแต่ตอนหลังชื่อวัดได้เพี้ยนไปจากเดิมเป็นวัดภูมินทร์ดั้งกล่าว ความสวยแปลกของวัดภูมินทร์ที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือนเป็นหนึ่งเดียวในประเทศไทยคือ เป็นพระอุโบสถและพระวิหารสร้างเป็นอาคารหลังเดียวกัน เป็นทรงจตุรมุข (กรมศิลปากร ได้สันนิษฐานว่าเป็นอุโบสถจตุรมุขหลังแรกของประเทศไทย) นาคสะดุ้งขนาดใหญ่ แห่แหนพระอุโบสถเทินไว้บนกลางลำตัว ตรงใจกลางพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่สี่องค์ ประทับนั้งบนฐานชุกชี หันพระพักตร์ออกด้านประตู ทั้งสี่ทิศ เบื้องพระปฤษฎางค์ชนกัน ภายในพระอุโบสถ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังศิลปกรรมไทลื้อ ที่เล่าเรื่องชาดก ตำนานพื้นบ้าน และความเป็นอยู่ของชาวน่านในอดีต ที่บันลือโลกที่สุดเป็นภาพ "กระซิบรัก" ถูกนำไปใช้ในการประดิษฐ์ของที่ระลึกนานาชนิด เรียกว่าแค่ภาพเดียวก็เลี้ยงคนเมืองน่านไปชั่วลูกชั่วหลาน  ภาพวัดภูมินทร์ยังไปจารึกในธนบัตรรุ่นเก่า ทางวัดได้อ้ดสำเนาทำเป็นของที่ระลึกจำหน่ายนักท่องเที่ยว  ออกจากวัดนี้เดินทางไปโรงแรมที่พักชื่อ น่านคีรีธารา บรรยายพิเศษให้ผู้บริหารฟังเรื่องกฎหมายปกครองประมาณ ๓๐ นาที 


จากนั้นเดินทางไปร้านอาหารเฮือนฮอม เพื่อชิมอาหารเมืองน่าน และชมบรรยากาศ  เป็นร้านเล็ก ๆ ธรรมดา แต่จัดร้านได้คลาสสิคมาก สั่งออเดิร์ฟเมืองเหนือประเภท ไส้ฮั่ว น้ำพริกหนุ่ม แค็ปหมู มาทาน ตามด้วยไก่ทอดสมุนไพรมะแคว่น  แกงฮังเลมาช้าจึงต้องห่อกลับไปกินต่อที่โรงแรม  รถพามาแวะนมัสการศาลหลักเมือง ที่วัดมิ่งเมือง สวยทั้งหลักเมืองและโบสถ์  สัญลักษณ์ที่รู้กันในกลุ่มคือท่านพ่อจตุคามรามเทพก็มาประดิษฐานอยู่ ณ หลักเมืองแห่งนี้ กลับไปโรงแรมร่วมงานสังสรรค์จน ๔ ทุ่ม จึงได้พักผ่อน


 วันเสาร์ที่ ๒๓ กุมภาพันธ์  ๒๕๕๖  ตื่นเช้ามาดูทีวีติดตามข่าวสารบ้านเมือง อาบน้ำแต่งตัวไปทานข้าว รถพาไปชมตลาดสดเมืองน่านยามเช้า  มีพืชผักแปลก ๆ มาจำหน่าย รวมทั้งสัตว์จำพวกกบย่าง ไข่มดแดง แอ็ปปลา สารพัดให้ชม ที่สำคัญได้ทำบุญตักบาตรต้อนรับวันใหม่ 


 เวลา ๐๘.๐๐ น. รถตู้ ๑๒ คันพาพวกเราไปศึกษาภูมิประเทศและวัฒนธรรมของน่าน ใช้เส้นทางอำเภอท่าวังผา อำเภอปัว และอำเภอบ่อเกลือ  เมื่อผ่านอำเภอปัวไปสักพักรถเลี้ยวเข้าเขตภูเขาที่เรียกว่าอุทยานแห่งชาติดอยภูคา เส้นทางคดเคี้ยวไต่ระดับสูงเหนือเมฆ หากไม่ชำนาญทางจะอัตรายมาก เพราะต้องกะจังหวะเร่งความเร็วให้ดี  แต่ก็ดีกว่าขึ้นดอยอ่างขาง  ขบวนรถถูกควบคุมโดยคันที่ ๑ ทางวิทยุมือถือ จะบอกเส้นทางและรถที่วิ่งสวนลงมา ทำให้มีความปลอดภัยสูง  เรามุ่งหน้าไปอำเภอบ่อเกลือเป็นจุดแรก  เป็นเกลือสินเธาว์ที่ได้จากน้ำในดิน มาต้มจนได้เกลือสีขาว บริเวณบ่อเหลือที่ไปชมวันนี้มีสินค้าอื่นพื้นเมืองวางขายหลายอย่าง ทั้งของกินของใช้ มาแล้วก็ลงทุนซื้อเกลือมา ๓ ถุง ปกติราคาถุงละ ๒๐ บาท ซื้อ ๓ ถุงลดเหลือ ๕๐ บาท คงใช้เวลากินหลายปีกว่าจะหมด  ออกจากบ่อเกลือมาแวะชมวิวจุดสูงสุดของดอยภูคา แล้วมาดูต้นชมพูภูคา ไม้ดึกดำบรรพ์ที่มีเฉพาะบนดอยแห่งนี้เท่านั้น ปีนี้ออกดอกให้เห็นเพียง ๒ ช่อ หากจะดูมาก ๆ ต้องเดินขึ้นไปบนเขาอีก ๕๐๐ เมตร อย่างนี้ถอยดีกว่า  ลงมาถึงพื้นราบอำเภอปัวประมาณบ่ายโมง แวะทานข้าวกลางวันที่ลานเบียร์ของชมพูภูคารีสอร์ท อิ่มแล้วไปชมของแปลก ๆ ของดีเมืองปัวกัน จุดแรกคือวัดต้นแหลง


วัดต้นแหลง เป็นวัดโบราณสร้างขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ.๒๑๒๗ หรือประมาณ ๔๐๐ กว่าปีมาแล้ว โดยช่างชาวไตลื้อ ถือเป็นศิลปกรรมสกุลไตลื้อในยุคแรก ๆ ตัววิหารถูกรื้อแล้วสร้างใหม่ เนื่องจากสร้างอยู่ริมตลิ่งทำให้ในฤดูน้ำหลากจึงถูกท่วมและพังทลายลง  สันนิษฐานว่าวัดต้นแหลงน่าจะสร้างขึ้นสมัยกรุงสุโขทัยตอนปลาย เพราะลักษณะของหลังคาเป็นทรงสามชั้นมุงด้วยไม้ทั้งหมด นาคบนหลังคาเป็นนาคสามเศียรคล้าย ๆ กับนาคของประเทศลาวลักษณะเด่นทางสถาปัตยกรรมของวัดต้นแหลงอยู่ที่ตัววิหาร ซึ่งนักโบราณคดีต่างให้ความเห็นว่าได้รับวิวัฒนาการมาจากวิหารไม้หลังเดิม หลังคาทรงคุ่มลาดเอียง ต่อมาได้เกิดการชำรุดเนื่องจากปลวกแมลงและความชื้นจากดิน จึงต้องเปลี่ยนผนังใหม่เป็นผนังก่ออิฐและเพิ่มช่องหน้าต่างขนาดเล็กขึ้น เพื่อให้แสงสว่าง ตัววิหารเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า บริเวณฐานชุกชีค่อนไปทางหลังวิหารสามารถเดินได้รอบ ฐานวิหารยกพื้นสูงประมาณ ๑ เมตรส่วนบริเวณกึ่งกลางพระวิหารมีประตูทางเข้าซึ่งเป็นประตูไม้เปิดปิดได้โดยเจาะรูผนังแกนหมุนเพื่อรับบานประตูขนาดใหญ่ ภายในวิหารยังคงกลิ่นไอแบบไตลื้อ สังเกตได้จากพระประธานซึ่งสร้างขึ้นตามแบบศิลปะไตลื้อ ภายในวิหารไตลื้อวัดต้นแหลง มีศาสนใช้สอยประกอบกันได้แก่ ฐานชุกชี ธรรมมาสน์และอาสนสงฆ์ ซึ่งถือว่ามีพื้นที่น้อยมากเมื่อเทียบกับตัววิหารซึ่งเป็นอาคารแบบโล่ง สำหรับให้ชาวบ้านใช้ฟังธรรมเทศนา นอกจากนั้นบรรยากาศของวิหารวัดต้นแหลง ยังสลัว ๆ เนื่องจากมีช่องสำหรับให้แสงเข้าน้อยมาก โดยเฉพาะพระประธานจะอยู่ความสลัวลางท่ามกลางความมึด นัยว่าเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ให้กับองค์พระมากขึ้น ในบรรยากาศยามเช้าแสงสว่างจะลอดผ่านเป็นลำพุ่งตรงจากประตูผ่านเสาวิหารที่เรียงกันเป็นทิวแถวตรงเข้าสู่องค์พระประธานซึ่งลอยเด่นอยู่ท่ามกลางแสงสลัว ๆ ทึม ๆ อันทำให้ผู้พบเห็นเกิดความปิติศรัทธาขึ้นมาอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว นอกจากนั้นความสวยงามของวิหารไตลื้อวัดต้นแหลง อยู่บริเวณหน้าบันด้านนอก ซึ่งประดับด้วยไม้โปร่งเป็นรัศมีแฉกเล่นลวดลายสีสันสวยงาม เป็นความตั้งใจของช่างสกุลไตลื้อที่ต้องการสื่อให้เป็นความโดดเด่นทางศิลปะ รวมทั้งให้ผู้ผ่านไปมาเกิดความความสนใจ จึงทำให้วิหารหลังนี้ดูแปลกกว่าวิหารทั่วไป  ลักษณะหน้าบันของวัดประกอบด้วยตัวลำยองนาคและช่อฟ้าแบบพื้นบ้าน เป็นลักษณะเริ่มต้นของศิลปะตกแต่งแบบไตลื้อ การตกแต่งเชิงชายหรือชายน้ำด้วยไม้ซี่แหลมรอบ ๆ อาคาร บริเวณหลังคาวิหารมุงด้วยกระเบื้องไม้ แต่เดิมตามประวัติของวัดกล่าวว่าหลังคามีสภาพทรุดโทรม จึงได้ทำการมุงขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ.2499 ซึ่งช่างได้ทำแบบพื้นบ้านอาจจะไม่สวยงามเหมือนงานช่างของชาวไตยวน ทว่าก็เป็นงานศิลปกรรมที่แท้จริงแบบไตลื้อที่มีความเชื่อเกี่ยวกับศาสนาของพวกเขา ปัจจุบันวัดต้นแหลง ถือเป็นวัดเก่าแก่ที่ยังคงสภาพของวัดไตลื้อที่สมบูรณ์ที่สุด และหาชมได้ยาก ทางวัดจึงได้ทำการอนุรักษ์โดยได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเพื่อเป็นสมบัติให้กับคนรุ่นได้ศึกษาค้นคว้าต่อไป 


 ออกจากวัดต้นแหลงพวกเราเดินทางไปวัดปรางค์ เพื่อไปดูต้นไม้ประหลาดชื่อต้นดิกเดียม ต้นไม้อะไรใครรู้ดูประหลาดผิดธรรมชาติ พันธุ์พฤกษาน่าฉงน แค่เห็นเป็นต้นไม้หันหลังให้แดดหันหน้า เข้าวัดก็แปลกเหลือหลายอยู่แล้ว แต่ใครจะเชื่อว่าต้นไม้ ประหลาดต้นนี้เป็นต้นอารมณ์ขัน ใบไม้จะไหวสั่นทุกครั้ง ที่ถูกคนสัมผัส ต้นดิกเดียม วันนี้มีคนไปชมหลายคณะ แต่เขาบอกว่าไม่ควรไปลูบคลำเนื่องจากในประเทศไทยมีอยู่ต้นเดียว เจ้าอาวาสที่วัดท่านจะลูบให้ดู วันนี้ไปแล้วก็ขอลูบส้กหน่อย สงสัยไม่มีบุญใบไม่ไหว จึงเติมบุญด้วยการซื้อกระเบื้องให้วัดเสีย ๓ แผ่น คงได้บุญเพิ่มแน่นอน  ไปวัด ๒ แห่งชักเครียดเขาเลยพาไปซื้อของที่บริษัทดอยซิลเวอร์แฟคตอรี่ มีทั้งเสื้อผ้าพื้นเมืองและเครื่องประดับทำด้วยเงินที่ได้มาตรฐาน ในราคาที่ต่อรองได้ ได้ใช้จ่ายพอหายเครียดเดินทางไปดูสินค้า OTOP อีกแห่งหนึ่งราคาถูกลงกว่าที่เดิมอีก มีศาลายาดองให้นั่งรับลมจากท้องทุ่ง  ด้านหน้าขายน้ำแข็งไสแบบโบราณ  บรรยากาศแบบสบาย ๆ อย่างนี้ห่างเหินชีวิตไปนาน ได้สัมผัสอีกครั้งรู้สึกว่าดีมาก ๆ รถพากลับเข้ามาตัวเมืองน่านแต่หากมาน่านแล้วไม่ไปนมัสการวัดพระธาตุแช่แห้งก็คงกลับไปคุยไม่ได้ เพราะเป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ตั้งอยู่บนเนินทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน บริเวณที่เป็นศูนย์กลางเมืองน่านเดิม หลังจากที่ย้ายมาจากเมืองปัว วัดพระบรมธาตุแช่แห้งสร้างในสมัยเจ้าพระยาการเมือง (เจ้าผู้ครองนครน่านระหว่าง พ.ศ.๑๘๖๙-๑๙๐๒) เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระมหาชินธาตุเจ้า ๗ พระองค์ พระพิมพ์เงินและพระพิมพ์ทอง ที่ได้รับพระราชทานจากพระมหาธรรมราชาลิไท เมื่อครั้งที่เจ้าพระยาการเมืองเสด็จไปช่วยสร้างวัดหลวงอภัย (วัดป่ามะม่วง จังหวัดสุโขทัยในปัจจุบัน) ในปีพ.ศ. ๑๘๙๗ องค์พระธาตุเป็นเจดีย์ทรงระฆัง รูปแบบของพระธาตุแช่แห้งสันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลจากเจดีย์พระธาตุหริภุญไชย โดยรอบองค์บุด้วยทองจังโก (ทองดอกบวบ ทองเหลืองผสมทองแดง) ทางขึ้นสู่องค์พระธาตุเป็นตัวพญานาค หน้าบันเหนือประตูทางเข้าพระวิหารเป็นปูนปั้นลายนาคเกี้ยว ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของศิลปกรรมเมืองน่าน  พระบรมธาตุแช่แห้งเป็นพระธาตุประจำปีกระต่าย ชาวล้านนาเชื่อว่า หากได้เดินทางไป “ชุธาตุ” หรือนมัสการพระธาตุประจำปีเกิดจะได้รับอานิสงส์อย่างยิ่ง  ได้บุญไหว้พระก่อนวันมาฆบูชาเป็นอะไรที่ประเสริฐมากสำหรับการมาครั้งนี้ อาหารเย็นใช้บริการของร้านสุริยาการ์เด้น สวนอาหารเพื่อสุขภาพ ริมแม่น้ำน่าน ก่อนกลับที่พักเพื่อเก็บของที่ซื้อหามาวันนี้  ยังครับยังไม่พอ พวกเราเหมารถสองแถวไปเดินที่ถนนคนเดินคืนวันเสาร์  ถนนคนเดินชุนชนบ้านหัวเวียงใต้  จะมีทุกคืนวันเสาร์เท่านั้น เป็นย่านชุมชนโบราณ มีการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าในตลาดริมทาง ณ บริเวณถนนสุมนเทวราชตั้งแต่หน้าวัดหัวเวียงใต้จนถึงธนาคารกรุงไทย การจัดถนนคนเดินนั้นเพื่อเป็นการฟื้นฟูชุมชนและย่านการค้าเมืองเก่า ซึ่งในอดีตชุมชนบ้านหัวเวียงใต้เป็นแหล่งทางด้านเศรษฐกิจการค้า เป็นท่าขนส่งสินค้าของจังหวัดน่าน มีการติดต่อเจรจาค้าขายมานานนับร้อยปี ทั้งนี้เพื่อการรองรับการท่องเที่ยว และที่นี่ยังสนับสนุนให้มีการอนุรักษ์บ้านเรือนเก่าด้วยครับ เพื่อให้เยาวชน และนักท่องเที่ยวได้รู้จักและเรียนรู้สถาปัตยกรรมในอดีตที่ยังคงสภาพให้เห็นในปัจจุบัน  สินค้าที่นับว่าเจอไม้งามเมื่อขวานบิ่น คือ อาหารการกิน เสียดายที่หม่ำมื้อเย็นกันมาแล้ว จึงพลาดของแปลกใหม่ไป  ระยะทางไปกลับประมาณ ๖๐๐ เมตร กำลังเพลิดเพลินทั้งของพื้นเมือง ของนำเข้าจากจีน ศิลปการแสดงทั้งภาพวาด และดนตรีพื้นเมือง  ใครไปเป็นกลุ่มเกิดอาการหิว เขามีโตกให้นั่งล้อมวงและชมการแสดงบนเวทีอยู่หน้าโบสถ์พอดี สวยงามมาก  เดินจนครบรอบกลับที่พักเพื่อเก็บกระเป๋า พรุ่งนี้จะกลับเที่ยวบินของ NOK AIR เวลา ๐๙.๓๕ น. และจะขับรถต่อไปพัทยา


  ลาก่อนน่านที่รัก แล้วจะมาเยือนอีก

กำจัด  คงหนู

ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต ๑



หมายเลขบันทึก: 520705เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2013 19:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2014 09:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท