เพลงหน้าพาทย์พระพิราบเต็มองค์


เพลงหน้าพาทย์พระพิราพเต็มองค์

          เพลงหน้าพาทย์ พระพิราพเต็มองค์ หรือเพลงองค์พระพิราพ เป็นเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูงและมีความสำคัญที่สุด ในวงการนาฏศิลป์ไทยและดุริยางค์ไทย ให้ความศรัทธา เคารพนับถือเป็นอย่างมากและเชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์
          เพลงหน้าพาทย์ พระพิราพเต็มองค์ หรือเพลงองค์พระพิราพนี้เป็นสัญลักษณ์ในการเสด็จมาของเทพอสูรที่มีฤทธานุภาพอันมีนามว่าพระพิราพซึ่งเป็นเทพอสูรที่สามารถดลบันดาลให้ผู้ที่เคารพบูชาพบกับความสุข
          เนื่องจากความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ การบรรเลงหรือการออกแสดงท่ารำหน้าพาทย์เพลงนี้ได้จึงต้องกระทำด้วยจิตอันศรัทธา หากผู้ใดที่ทำด้วยความประมาทขาดความระมัดระวัง เชื่อกันว่าจะพบกับภัยพิบัติหรืออาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
          เมื่อมองในวรรณกรรมเรื่องรามเกียรติ์ เป็นเพียงตัวละครหนึ่งที่มีบทบาทน้อยมาก เป็นเทพบุตรซึ่งพระอิศวรมีเทวราชบัญชาให้จุติมาเกิดเป็นอสูรชื่อ พิราพครองแคว้นแดนอัศกรรณ มีสวนสำหรับเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจและได้ปลูกต้นอัพวาทองไว้ โดยมีบริวารคือพวกรากษสคอยดูแลรักษา ครั้งหนึ่งพระราม พระลักษมณ์ และนางสีดา หลงเข้ามาในสวน พวกรากษสเข้าไปขับไล่ แต่ถูก พระราม พระลักษมณ์ ไล่ตีบาดเจ็บ ความทราบถึงพิราพ จึงติดตามไปรบและได้ถูกพระรามสังหารสิ้นชีวิต ความในเรื่องรามเกียรติ์มีกล่าวไว้เพียงนี้ แต่ขณะเดียวกันเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพนั้นถือว่าเป็นเพลงอัญเชิญเทพเจ้า ที่ไม่เกี่ยวข้องกับตัวละครชื่อ พิราพ ในเรื่องรามเกียรติ์ แต่เป็นการเชิญเทพอสูร อันมีนามว่า พระพิราพ ซึ่งเชื่อว่า พระพิราพ เป็นปางดุร้ายของพระอิศวร และด้วยความชาญฉลาดแห่งภูมิปัญญาของโบราณ อาจารย์ ทางด้านนาฏดุริยางค์ที่ได้ผนวกความเชื่อพระพิราพ ในรูป เทพเจ้าและ ตัวโขนเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยนำเพลงหน้าพาทย์เฉพาะ

องค์พระพิราพในฐานะเทพเจ้า ไม่มีโอกาสนำไปใช้กับการแสดงอื่น เข้ามาบรรจุในการแสดงโขน ตอนพระรามเข้าสวนพิราพ ได้อย่างลงตัว
          พระพิราพในฐานะเทพเจ้า จะปรากฏตัวอยู่ในขณะที่ตัวละคร คือ พิราพ ออกท่ารำเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพ ตามกระบวนท่า ดังนั้นเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพจึงมีความสำคัญ มีความศักดิ์สิทธิ์ และเป็นที่เกรงกลัวของศิลปินในวงการนาฏดุริยางคศิลป์ไทย ดังนั้นการถ่ายทอดท่ารำหรือบรรเลงเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพ จึงต้องมีกฎเกณฑ์และรายละเอียด ทั้งครูผู้ถ่ายทอดและศิษย์ที่จะได้รับการถ่ายทอด ซึ่งนับเป็นจารีตประเพณีสืบต่อกันมา
          สำหรับการถ่ายทอดท่ารำนั้น จะมีลักษณะการถ่ายทอดที่มีระเบียบเคร่งครัดสืบต่อกันมา กล่าวคือ ผู้ที่จะรำเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพได้ต้องได้รับพระบรมราชโองการ หรือพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือมิเช่นนั้นก็ต้องเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้ที่เคยได้รับพระบรมราชโองการ หรือพระบรมราชานุญาตโดยตรง และการถ่ายทอดท่ารำต้องใช้สถานที่เหมาะสม เพราะท่ารำนั้นเป็นท่ารำของมหาเทพคือพระอิศวรซึ่งมีฤทธานุภาพมาก ดังนั้นจึงต้องเป็น วัง หรือวัด เท่านั้น เพราะวังและวัดนั้นมีบริเวณกว้างขวาง เป็นสถานที่อันเป็นมงคล และสามารถรับรองคนที่จะเข้าร่วมพิธีได้เป็นจำนวนมาก ห้ามถ่ายทอดท่ารำในบ้านเป็นอันขาดเนื่องจากบ้านเป็นที่อยู่อาศัยของสามัญชน

หมายเลขบันทึก: 520383เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2013 21:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2013 21:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท