เยี่ยมผู้สูงอายุ เมืองนาคานคร ... หนองคาย (4) @ ตำบลนาหนัง



@ ตำบลนาหนัง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ที่เขาบอกว่า "คนมานาหนัง ก็ต้องตั้งใจมา" ครั้งนี้ ทีมเราก็ตั้งใจไปเยี่ยมนาหนังกันจริงๆ

ที่นี่เป็น รพ.สต.ขนาดใหญ่ มีน้องอ้อม รับผิดชอบงานทันตฯ ดูน้องอ้อมตอนนี้ ก็ใกล้คลอดแล้วละค่ะ

งานการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาวของตำบลนาหนัง ได้รับคำบอกเล่าว่า เป็นต้นแบบของจังหวัด และเขต เป็น “ตำบลต้นแบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาว” ที่ ให้การดูแลผู้สูงอายุอยู่จนวาระสุดท้าย ... ให้ผู้สูงอายุได้อยู่อย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์


ข้อมูลทั่วไปของตำบลนาหนัง ... เป็นตำบลหนึ่งใน 11 ตำบล ของ อ.โพนพิสัย ห่างจากหนองคายประมาณ 50 กม. ประชากรทั้งหมด 10,000 กว่าคน ที่รับผิดชอบของนาหนัง 8,410 คน 1,806 หลังคาเรือน อสม. 170 อผส. 70  มีผู้สูงอายุที่จะได้รับการดูแล คนละ 45 คน

ภาวะสุขภาพประชาชน ของตำบลนาหนัง กลุ่มดี เสี่ยง ป่วย ที่คัดกรองแล้ว มีดี 87.9% เสี่ยง 6.3% และป่วย 5.8%

กลุ่มผู้สูงอายุ มี 897 คน เป็นประมาณ 20% ของประชากรทั้งหมด แยกเป็นกลุ่มติดสังคม 97% ติดบ้าน 1% (21 คน) และติดเตียง 2% (28 คน)

นาหนังมีทรัพยากรที่เข้มแข็ง คือ ค่อนข้างเป็นชุมชนชนบท มีประเพณีวัฒนธรรมที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันอยู่ มีเครือข่ายองค์กร ชุมชน ทั้งภายในตำบล และนอกตำบลที่เข้มแข็ง  มาช่วยกันดูแล ทางเราก็เป็นคนที่เอาข้อมูล นำเสนอต่อคณะกรรมการ มีประชุม ก็จะนำข้อมูลคืนสู่ชุมชนว่า สาธารณสุขคัดกรองเรื่องสุขภาพ ให้กับ อบต. อปท. ว่า ภาวะสุขภาพของเราเป็นอย่างไร ถ้าเราไม่ทำอะไรให้กับประชาชน ในอนาคตจะเป็นอย่างไร เป็นส่วนหนึ่ง ที่ทำให้งานสำเร็จได้

แนวคิดที่ว่า การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาว (LTC) ที่จะให้ผู้สูงอายุนาหนังอยู่ได้อย่างมีความสุข เป็นองค์ประกอบที่จะทำให้งานสำเร็จ คือ

  • อบต.นาหนัง จะเป็นทีมบริหารที่ดูแลทั้งหมด ครอบคลุมสุขภาพของคนๆ หนึ่ง ที่จะอยู่ในสังคมได้ ว่า มีอะไรบ้าง ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเงิน อบต. เป็นเจ้าภาพหลัก 
  • ผู้สูงอายุจะไปวัดอยู่แล้ว ... วัดจะเป็นที่สองรองจากบ้าน ที่ผู้สูงอายุจะไปอยู่ ต้องไปดูแลให้เป็นวัดส่งเสริมสุขภาพ ที่จะให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพดี มีหลวงพ่อช่วยดูแล อีกทางหนึ่ง
  • เครือข่ายด้านสุขภาพ จะมี อผส. อผส. คนหนึ่งมีผู้สูงอายุอยู่ในความดูแล 4 คน อผส. จะช่วยเหลือญาติพี่น้อง และเป็นคนคอยเชื่อมโยง รพ.สต. อบต. เพราะว่า อผส. ก็จะมาจาก อสม. บ้าง มาจากผู้สูงอายุกลุ่มติดสังคมบ้าง ที่เขาจะเข้าใจกันอยู่แล้ว เป็นวัยเดียวกัน เข้าใจว่าผู้สูงอายุต้องการอะไร
  • รพ.สต. จะดูแลเรื่องข้อมูล เรื่องสุขภาพ ประสานงาน และส่งต่อผู้ที่เกินกำลัง ที่ทั้ง อผส. อสม. และเรา ที่จะดูแล ไปสู่ทุติยภูมิ ตอนนี้ ถือว่าเราเป็นกึ่งทุติยภูมิ เพราะว่ามีแพทย์มาช่วยเหลือ คนไข้เราก็ไม่ได้จำเป็นต้องไปโรงพยาบาลทั้งหมด ถ้ารอไม่ไหว ก็จะใช้ระบบสื่อสาร โทรศัพท์ ใช้ skype คุยกันกับหมอได้
  • ส่วนของทีมงาน จะมีทีมผู้สูงอายุ 

การเชื่อมโยงการทำงาน จะค่อยๆ ก้าวมาตั้งแต่ปี 2548 เรื่อยๆ เป็นสิ่งที่มีการ ลปรร. เป็นการที่ทางพื้นที่ได้ลองผิดลองถูก ต่อยอดต่อไปเรื่อยๆ

วิสัยทัศน์ของทีม คือ “ผู้สูงอายุตำบลนาหนังต้องพึ่งตัวเองได้ โดยจะไม่เป็นภาระของผู้อื่น และ สังคม”

พันธกิจ คือ “ปฏิบัติตนอยู่ใน 3 อ ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุที่ด้อยโอกาส และพัฒนา อผส. ให้ มีศักยภาพเพิ่มขึ้น”

การคัดกรองสุขภาพพื้นฐาน เจาะเลือด วัดความดัน ทีม อผส. จะไปช่วย เพราะว่าอยู่ใกล้ สะดวก ทำได้ตลอดเวลา ไม่มีวันราชการ ดูแลได้ตลอด

การขยายเครือข่ายให้มี อผส. ทุกหมู่บ้าน

นาสะเรียงเป็นหมู่ที่เริ่มแรกของตำบล ขยายมาที่เกาะขัน และวัดถ้ำอนามัย (อ.คมสัน เป็นประธานดูแล) มีเจ้าภาพใหญ่ คือ อปท. ดูแลทั้งหมด ทั้งเบี้ยยังชีพ สุขภาพ มีเชิงรุกที่ออกไปพื้นที่ร่วมกัน และอื่นๆ ที่มีการสนับสนุน คือ ผู้สูงอายุอยู่ได้โดยไม่เป็นภาระ ก็ต้องมีสิ่งที่ทำให้ดูแลตัวเองได้ ที่นี่จะมีอาชีพหลัก คือ สานเข่งปลาทู ซึ่งเป็นอาชีพหลัก และอาชีพเสริม สำหรับผู้สูงอายุบางคน

ส่วนของชมรมฯ อปท. จะสนับสนุนมาให้ และสนับสนุน อผส. เป็นค่าตอบแทนการดูแลผู้สูงอายุ และมีค่าตอบแทนเป็นรายเดือน

รูปแบบการดูแลผู้สูงอายุ

  • นาหนังมีวัดส่งเสริมสุขภาพ หลวงพ่อเป็นเจ้าคณะตำบล สามารถสั่งวัดอื่นๆ ได้ หลวงพ่อเก่ง ทั้งเทศน์ ดูดวง สะเดาะเคราะห์ ลูกศิษย์จะเชื่อ และห้ามอะไรก็เชื่อ รวมทั้งเรื่องสุขภาพด้วย
  • ผู้สูงอายุกลุ่มติดสังคม จะเข้าบวชชีพราหมณ์ อปท. จะส่งเสริมให้ผู้สูงอายุให้ความรู้ลูกหลานว่า บ้านเรามีประเพณีอะไร เพื่อให้ ลูกหลานได้รู้จัก รักถิ่น รักบ้านเกิด
  • ชมรมผู้สูงอายุ มีการออกกำลังกายทุกหมู่บ้าน มีทั้งกลุ่มวัยธรรมดา และกลุ่มผู้สูงอายุ ที่แยกต่างหาก จะมีการประกวดแข่งขัน แอโรบิค หรือการออกกำลังกายของผู้สูงอายุ
  • มีวัฒนธรรมประเพณี คือ วันผู้สูงอายุของทุกปี กองทุนหลักประกันสุขภาพสนับสนุนงบประมาณ และการจัดงานวันผู้สูงอายุ
  • ผู้สูงอายุที่เป็น อผส. จะคัดกรองภาวะสุขภาพผู้สูงอายุที่บ้าน มีเครื่องมือ เครื่องวัดความดัน สายวัด ตาชั่ง เครื่องชั่งน้ำหนัก เป็นการคัดกรองภาวะสุขภาพเบื้องต้น รวมทั้งการเจาะเลือด เบาหวาน ความดัน
  • กิจกรรมอื่นๆ กระทรวงอื่นๆ จะมาร่วมด้วยช่วยกัน
  • ส่วนของผู้ป่วยเรื้อรัง และผู้ป่วยติดเตียง มีทีมสหวิชาชีพ จากโรงพยาบาลออกไปในหมู่บ้าน คนป่วยเรื้อรังของตำบลนาหนัง ไม่ต้องไปโรงพยาบาล นอกจากข้าราชการ หรือประกันสังคม สามารถรอพบแพทย์ที่บ้านได้เลย
  • คนที่มาพบแพทย์ที่นี่ ถ้าเป็นเบาหวาน ก็จะมีเกณฑ์ เป็น flow chart ในการให้การดูแลรักษา เช่น คนไข้เบาหวาน ถ้ามีน้ำตาลมากกว่า 200 ให้มารอพบแพทย์ ที่เหลือไม่มากจะอยู่บ้าน เพราะ แพทย์จะลงไปหมู่บ้าน ให้มีเวลาคุยกันเป็นรายบุคคล เป็นการเพิ่มความเชื่อใจ และปฏิบัติตาม เพราะว่าถ้าเป็นแพทย์แนะนำ ผู้ป่วยก็จะเชื่อเต็ม 100 และต่อไปน้ำตาลก็จะลง ... เพราะฉะนั้น หมอจะออกไปพบคนไข้เบาหวานทุกวันพฤหัส เราจะ screen คนไข้หนักมาให้ ดู ที่ รพ.สต. เวลาที่เหลือจะออกไปตามบ้าน อผส. อสม. ก็จะไปเจอกันที่นั่น และนัดคนไข้ไว้ให้หมอ ... ทำให้คนไข้ที่มาโรงพยาบาลลดลง
  • ส่วน ผู้สูงอายุที่ติดบ้าน ติดเตียง (มีทั้งหมด 8 คน) อผส. ก็จะไปให้กำลังใจ
  • คนไข้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต จะมีกายอุปกรณ์ที่ทำกันเอง เป็นนวัตกรรมที่ อผส. ช่วยกัน ทำให้คนไข้ได้ใช้ที่บ้าน เราก็ได้เรียนรู้จากชุมชน ว่า ชุมชนเขาก็ช่วยกัน ได้
  • เป็นการให้การดูแลจนวาะสุดท้าย
  • ที่นี่ มีกองทุนสะสมวันละบาท สำหรับผู้สูงอายุ จ่ายวันที่มารับเงินเบี้ยยังชีพ มีสวัสดิการเจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาล นอนเกิน 3 วัน จะมีค่าใช้จ่ายให้ ถ้าเสียชีวิตก็จะมีทีม อผส. ไปมอบให้ เป็นการดูแลกันเหมือนญาติพี่น้อง ทั้งตำบล
เรื่องการดูแลช่องปากของผู้สูงอายุที่นาหนัง

  • มีน้องทันตาฯ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้งานทันตฯ ดำเนินการไปได้ดี ร่วมกับ อผส. โดย อผส. ช่วยบันทึกในแบบฟอร์ม น้องอ้อมจะออกไปพร้อมกับ อผส. ตรวจดูมีใครฟันครบ ไม่ครบ เพื่อส่งต่อโครงการฟันเทียม โดยคัดคนที่มีความเร่งด่วน ยากจน ได้รับบริการก่อน
  • การดำเนินงานทั้งเชิงรุก เชิงรับ จะออกบริการเป็นสหวิชาชีพ เช่น เจ้าหน้าที่ 10 คน จะอยู่ รพ.สต. 2 คน ที่เหลือออกไปหมด จะเก็บ case ดูแลได้ค่อนข้างเยอะ ทันตฯ ก็จะต้องรู้เรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น เบาหวาน ความดัน น้องนักวิชาการก็ต้องดูเรื่องอื่นๆ ด้วย รวมทั้งเรื่องทันตฯ นักกายมา เราก็ได้เรื่องกายภาพบำบัดไปด้วย เป็นการบูรณาการไปด้วยกัน ทำแทนกันได้
  • ชุมชนก็จะมีแปรงสีฟัน โดยใช้เงินกองทุนสนับสนุนผู้สูงอายุ
  • อผส. สอนการแปรงฟันได้
  • มีนวัตกรรมผักปั๋ง เมล็ดจะมีสีออกม่วง แทนสีย้อมฟัน ที่หาใช้ได้ง่ายสำหรับ อผส. นำไป เคี้ยว และทดสอบว่า ผส. แปรงฟันได้สะอาดหรือไม่
  • มีการทำสมุดบันทึกสุขภาพช่องปากให้ อผส. ทำง่ายๆ ตรวจง่ายๆ เป็นการ screen ผู้ที่ต้องการรับบริการ ให้เจ้าหน้าที่

ผลการดำเนินงานของนาหนังในปีนี้ สรุปได้ว่า

  • การดูแลผู้สูงอายุคัดกรองครบ 100% โดย ได้ความร่วมมือจาก อผส. อสม. ตรวจสุขภาพเบื้องต้น เจาะน้ำตาล วัดความดันให้ก่อน 
  • เยี่ยมผู้สูงอายุได้ครบ โดยเฉพาะกลุ่มติดบ้าน ติดเตียง บางคนไปล้างแผลวันละ 2 ครั้ง ถ้าไกลหน่อยจะให้ญาติมาเรียนการล้างแผล ทำแผล ให้ญาติทำตอนเย็น ตอนเช้า เจ้าหน้าที่ไปทำ
  • ส่วนของผู้ป่วยติดบ้าน มีอยู่ 21 คน ฟื้นฟูขึ้นมาจนลดเหลือ 7 คน ขึ้นไปติดสังคม โดยมีกายภาพบำบัด และมีผู้ช่วยแพทย์แผนไทย 2 คน ประคบ นวด และสอนให้ญาติทำได้
  • ติดเตียง 28 คน ขึ้นมาเป็นติดบ้าน ตอนนี้เหลือติดเตียง 21 คน เสียชีวิต 4 คน อีก 3 คน ขยับเป็นติดบ้าน ท่านที่เสียชีวิตก็มีความสุขที่ได้อยู่ในชุมชน
  • อผส. 3 ปีที่ผ่านมา มี 35 คน ตอนนี้ขยายเครือข่ายเป็น 105 คน
  • มีนวัตกรรมหลาก หลาย เช่น รอก กระดานเลื่อน ย้อมสีฟัน 

เรื่องเล่า ประสบการณ์ของ อผส.

ผม early ปี 2547 ตำแหน่งสุดท้ายคือ รองผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านนาหนัง มาร่วมทำงานกับพี่น้อง ที่ประทับใจ เพราะว่า ได้ไปเห็นผู้สูงอายุที่บ้าน เนื่องจากคุณแม่เป็นคนท่าบ่อ กลับบ้านครั้งหนึ่ง แม่ดีใจมาก พอมาเห็นชุมชนที่เป็นชนบท ตั้งแต่ปี 2527 ไปเยี่ยมคนป่วย หรือผู้สูงอายุ เพียงเราปอกแอปเปิ้ล หรือส้มให้ เขาจะดีใจจนน้ำตาไหล บางทีลูกรักพ่อแม่ แต่มีการแสดงออกที่ไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด บางครั้ง เพียงไปแตะมือ จับขา นวดมือ กำลังใจก็เกิดขึ้นแล้ว นี่เป็นแรงบันดาลใจที่ได้มาช่วยคุณหมอทำงาน ในด้านนี้ 

งานของ อผส. ผมเป็นรุ่น 2 เพื่อนช่วยเพื่อน อบรมมาจากอุดรธานี แล้วมาขยายเป็นรุ่นที่ 2 กิจกรรมที่ร่วมช่วยกันกับชุมชนโรงพยาบาล คือ

  1. เยี่ยมหลังคลอด โดยไปกับ รพ.สต. อปท. จะมีของขวัญให้ เป็นนม แป้ง เสื้อผ้าเด็ก ในนาม อผส. และมี อผส. ไปแนะนำร่วมกับ อสม. โดยมี อสม. เป็นพี่เลี้ยง และบางส่วนก็เป็นทั้ง อสม. และ อผส. 
  2. ดูแลผู้สูงอายุ เขาจะดีใจที่ได้มีเพื่อนคุย เพราะเขามักจะขาดเพื่อน ขาดความอบอุ่น
  3. ดูแลสิ่งแวดล้อมในบ้านของผู้สูงอายุ หรือถ้ามีลูกหลานอาศัยอยู่ด้วย จะแนะนำว่า จะปฏิบัติเรื่องสิ่งแวดล้อม อาหาร การช่วยเหลือ การบริหารร่างกายที่ถูกต้อง ให้กับผู้สูงอายุได้อย่างไร

การปฏิบัติงานของ อผส. ตอนแรกๆ ก็มีความอาย เพราะหนึ่ง เราไม่ใช่คุณหมอ สอง ไปไหน เขาจะเรียกว่า คุณหมอ เราก็อาย ตอนแรกเราจึงออกเป็นกลุ่มก่อน คนนี้ถือตาชั่ง คนนี้ถือ เครื่องวัดความดัน ไปกันหลายๆ คน จนนานเข้า ชุมชนชินชา และให้ความสำคัญกับเรา เราจึงฉายเดี่ยวได้ ไปหาผู้สูงอายุที่รับผิดชอบ บางครั้งไปเยี่ยมบ่อยจนเขาบอกว่า “ยังมาหยั่งแม่ดูหลาย ไม่บ่ตาย ง่ายดอก” ... "มาเยี่ยมกันบ่อย แม่ไม่ตายง่ายๆ หรอก" และบางที แค่่เดินผ่าน ก็ทักทาย เขาก็ดีใจแล้ว

จนถึงวาระสุดท้ายที่เราไปเยี่ยม คือท่านเสีย ก็จะไปช่วยงานศพ ไปอ่านประวัติ มอบเงินช่วยเหลือ นี่เป็นเพียงส่วนที่เราได้ปฏิบัติ ซึ่งถ้ามีงบประมาณก็จะขยายไปอีกทุกหมู่บ้านในตำบล นาหนัง ทั้ง 11 หมู่บ้าน


รวมเรื่อง เยี่ยมผู้สูงอายุ เมืองนาคานคร ... หนองคาย

หมายเลขบันทึก: 520045เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2013 13:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2013 14:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท