คำถาม 5 ข้อ กับอดีตที่มีประโยชน์...


ที่มา แทนคำขอบคุณ 1 และ แทนคำขอบคุณ 2

ขออนุญาตนำบันทึกเก่ามาเล่าใหม่ เพื่อที่จะเป็นประโยชน์กับสมาชิกใหม่และสมาชิกเก่า...


ขออนุญาตนำคำถามของท่านอาจารย์หมอ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ซึ่งมีคำถามมายังเราพวก “ชาวพัฒนบูรณาการศาสตร์”

หลังจากที่กระผมเองได้อ่านคำถามแล้ว กระผมคิดว่าคำตอบจากคำถามทั้ง 5 ข้อนั้น น่าจะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อสมาชิก สังคมและทุก ๆ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับ G2K ทั้งโดยทางตรงและโดยทางอ้อมครับ

สำหรับสมาชิกของ G2K ครับ โดยเฉพาะสมาชิกใหม่ที่ได้เข้าทั้งมาเป็นสมาชิกด้วยใจ โดยบังเอิญ หรือตามหน้าที่ ที่กำลังตัดสินใจหรือสับสนอยู่ว่า G2K นั้นเป็นอย่างไร มีประโยชน์อย่างไร จะลงบันทึกกับ G2K ดีไหม จะเอาเรื่องอะไรมาลง หรือจะลงไปทำไม

รวมถึงผู้ที่กำลังตัดสินใจเข้าจะเข้ามาเป็นสมาชิกว่า จะเข้ามาดีหรือไม่ดี

รวมทั้งสำหรับสมาชิกเก่าที่บางครั้งต้องตัดสินใจว่าจะเข้ามาเขียนดีไหม หรือเอาเวลาไปทำอย่างอื่นดีกว่า

ประโยชน์จากคำถามที่ท่านหมออาจารย์หมอได้กรุณาถามพวกเรามา กระผมจึงขออนุญาตตอบคำถามไว้ในบันทึกนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามหลักการของ “การจัดการความรู้” รวมถึง “แทนคำขอบคุณ” ที่มีให้กับผู้มีพระคุณทุก ๆ ท่านครับ 


1.  การเขียนบล็อกของตนเองมีเป้าหมายเพื่ออะไร

นับตั้งแต่วันแรกที่ผมเองได้มีโอกาสเข้ามาในเวปไซต์ KMI.OR.TH ผมเองก็ลองเข้าไปกดโน่นกดนี่จนได้เจอกับชุมชนชุมชนหนึ่งที่มีชื่อว่า Gotoknow และนับตั้งแต่วันนั้น ผมเองก็ได้เริ่มศึกษาและเรียนรู้ว่า Gotoknow นั้นเป็นอย่างไร

หลังจากที่ได้ลองผิดลองถูก สมัครสมาชิก สร้างบล็อก สร้างบันทึก ทดลองลงรูปและรายละเอียดต่าง ๆ คำถามถัดมาที่อยู่ในใจตอนนั้นก็คือ เราจะนำสิ่งใดมาลงในบันทึกและเราจะลงไปเพื่ออะไรคำตอบในตอนนั้นก็มีอยู่มากมายหลายประการครับ 

         ประการแรก แลกเปลี่ยนเรียนรู้สิ่งที่ตนเองได้ทำมาเพื่อการเติมเต็มและต่อยอดความตั้งใจแรกในการลงบันทึกของผมนั้น เพื่อนำเสนอสิ่งที่ตนเองได้ทำมานั้น มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และให้ผู้เชี่ยวชาญและสมาชิกทุก ๆ คน ได้ตรวจสอบสิ่งที่ผมเคยทำมา รวมทั้งร่วมแก้ไขหรือยืนยันความถูกต้องทั้งในด้านความรู้ ความคิดและการปฏิบัติเหล่านั้นครับ ซึ่งเป็นการเติมเต็มความรู้ในสิ่งที่ขาด แก้ไขในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และต่อยอดความเราควรจะทำอย่างไรต่อไป

  ประการที่สอง เชื่อมโยงและบูรณาการความรู้จากทุกศาสตร์และทุกแขนงเพื่อนำไปเป็นกรอบแนวคิดในการดำเนินชีวิตและการทำงาน           หลังจากที่ผมได้รับโอกาสจากทาง สคส. ได้มาเรียนที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทำให้ผมเองได้มีโลกทัศน์ที่กว้างขึ้น จึงเกิดเป้าหมายในการเขียนบล็อกและลงบันทึกเพื่อเชื่อมโยงความรู้จากสิ่งที่เคยได้ปฏิบัติ สิ่งที่ได้ร่ำเรียนมา สิ่งที่กำลังเรียนรู้ มาเพื่อเผยแพร่ ตรวจสอบ แก้ไข ทางทั้งทางของสังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ไสยศาสตร์ ฯลฯ เพื่อใช้เป็นหลักและกรอบแนวคิดในการดำเนินชีวิตและการทำงานให้กับชุมชนและสังคมไทยต่อไปในภายภาคหน้า

 ประการที่สาม เพื่อให้สังคมและชุมชนไทยได้รับรู้สิ่งที่ดี ๆ ของชุมชนและสังคมไทย         เป้าหมายอีกอย่างหนึ่ง หลังจากที่วิเคราะห์สื่อต่าง ๆ ที่มีการเผยแพร่ออกผ่านสื่อต่าง ๆ ทั้งทางวิทยุและโทรทัศน์นั้น ส่วนใหญ่จะนำเสนอแต่ภาพลบและภาพความเลวร้ายของสังคมไทย โดยเฉพาะสังคมในชนบท สังคมต่างจังหวัดที่มีแต่ปัญหา โดยเฉพาะปัญหาความยากจน ปัญหาความด้อยพัฒนา ผมเองจึงได้พยายามนำเสนอ “ทุน” ที่ดี ๆ ของชุมชน สังคมไทย ซึ่งตอนหลังได้สร้างบล็อก “ไดอารี่ชีวิต” ขึ้นมาโดยเฉพาะโดยมีเป้าหมายเพื่อให้สังคมและชุมชนไทย ได้รับข้อมูลและสื่อต่าง ๆ ทางด้านบวกและด้านดี ได้รับรอยยิ้มจากสิ่งที่ดี ๆ ได้ยิ้มได้รับความสุขเฉพาะหน้าที่ได้อ่าน เป็นสื่อทางเลือก บล็อคทางเลือกในการเลือกรับความสุขและความสบายหลังจากที่ได้เข้ามาอ่านเข้ามาดูครับ ให้สังคมไทยได้รับรู้ถึง “ทุนดี ๆ” ที่มีอยู่ในสังคม ได้รู้ว่าประเทศไทย เมืองไทย สังคมไทย ชุมชนไทย และคนไทย ยังมีสิ่งที่ดี ๆ อีกมากมาย

ประการที่สี่  นำเสนอผลกระทบ ผลที่เกิดขึ้นและสะท้อนกลับจากนโยบายต่าง ๆ ที่ได้สัมผัส   เป็นการนำเสนอรอยเท้าและย่างก้าวที่ได้เคยสัมผัส สิ่งดี ๆ ที่ได้รับจากสรรพสิ่งสะท้อนมุมมองต่าง ๆ ในอีกบางมิติที่กระผมเองเคยได้รับรู้ เคยได้สัมผัส ในฐานะผู้รับผลตามนโยบายต่าง ๆ โดยทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นนโยบายรัฐ นโยบายการศึกษาและนโยบายการพัฒนา สิ่งต่าง ๆ เมื่อนำไปใช้แล้วเป็นอย่างไร เกิดผลกระทบและผลย้อนกลับอย่างไร จึงอยากให้ G2K เป็นกระจกบานหนึ่งที่สะท้อนถึงผลจากนโยบายต่าง ๆ เหล่านั้นกลับไปสู่สังคมไทยอีกครั้งหนึ่งครับ

ประการสุดท้าย เป็นเทคนิคในการ "สอน แบบไม่สอน" ครับ  เพื่อให้ทุก ๆ ท่านที่ได้เข้ามาสัมผัสได้ลองนำไปคิด ลองไปใช้ครับ ยังไม่ต้องเชื่อในสิ่งที่ผมเขียน ยังไม่ต้องเชื่อในสิ่งที่ผมปฏิบัติ ลองไปคิด ลองไปทำ ถ้าคิดแล้วดีทำแล้วดี ค่อยเชื่อครับ แต่ไม่ได้เชื่อผมนะครับ แต่เชื่อตัวท่านเอง เชื่อในสิ่งที่ท่านปฏิบัติเอง เชื่อในสิ่งที่ท่านทำแล้วดี และขอให้ท่านได้ปฏิบัติสืบต่อไปและต่อยอดกันไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีจบสิ้นครับ


2.    ข้อความในบันทึกของตนมุ่งบันทึกเรื่องราวด้านไหนบ้าง 

       สำหรับข้อความในบันทึกของกระผมนั้น มุ่งบันทึกเรื่องราวทางด้านการวิจัยและพัฒนาโดยมีหลักการพื้นฐานหลักมาจากการจัดการความรู้และการปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมครับ โดยมุ่งเน้นประโยชน์ให้เกิดขึ้นโดยฉับพลับ ณ ขณะที่อ่าน สามารถนำไปใช้ได้อย่างทันที

        นำเสนอใช้เทคนิคและวิธีการที่มาอยู่บนพื้นฐานของหลักการทางจิตวิทยา ซึ่งได้มาจากทั้งส่วนของจิตวิทยาทางธุรกิจและจิตวิทยาทางด้านการทำงานร่วมกันกับชุมชนในการทำงานวิจัยแบบมีส่วนร่วม นอกเหนือจากบันทึกนำเสนอข้อมูลทางด้านวิจัยและพัฒนาแล้ว บันทึกต่าง ๆ ก็จะมีการนำเสนอการประยุกต์ใช้การจัดการความรู้เข้ากับการทำงานแบบมีส่วนร่วม , การจัดการความรู้แบบพุทธศาสตร์ , การจัดการความรู้ตามหลักจิตวิทยา , การนำเสนอบันทึกทางจิตวิทยา โดยผ่าน “นิทาน” ต่าง ๆ ในการใช้ชีวิตและการเข้าสู่ชุมชน และที่สำคัญที่สุดอีกประการหนึ่งก็คือ การนำเสนอหลักพุทธรรมที่สามารถใช้กับชีวิต การทำงาน และการจัดการความรู้ครับ  


3.    การเขียนบันทึก บล็อก ช่วยให้เกิดการเรียนรู้อะไรบ้าง

ประการแรก เรียนรู้ในการให้เกียรติและเคารพความรู้ซึ่งกันและกัน

                  การเข้ามาในบล็อกก็เปรียบเสมือนกันฝึกแบบหนึ่งเช่นเดียวกัน ฝึกให้ตัวเราเป็นเหมือนดั่งมหาสมุทร นักจัดการความรู้จะต้องทำใจตัวเองให้เปิดกว้างและลึกเหมือนมหาสมุทร กว้าง ลึก และทำตัวให้ต่ำ มหาสมุทรจึงเป็นราชาแห่งห้วงน้ำทั้งปวง คือสามารถเรียนรู้ได้จากคนทั้งปวง เรียนรู้ได้จากทุกสิ่ง  เห็นอะไรต่าง ๆ ต้องไวต่อการเรียนรู้ ไวต่อการบันทึก สังเกตกับบันทึกเป็นปัจจัยพื้นฐานของนักจัดการความรู้

ประการที่สอง เรียนรู้เรื่องการให้และการรับ

                     เพราะความตั้งใจที่เข้ามาเขียนบันทึก ความตั้งใจลึก ๆ เพียงคิดว่าใจอยากเขียน อยากให้ อยากแลกเปลี่ยนประสบการณ์ สะท้อนความคิดต่าง ๆ เขียนปุ๊บ สบายใจปั๊บครับ 

                     มีหลายคนเคยถามว่าพวกเราเขียนกันไปทำไม เขียนไปเพื่ออะไร ตอบได้อย่างเดียวครับว่า พวกเราเขียนไปเพื่อให้และไม่ได้หวังสิ่งใดตอบแทน ทำโดยไม่มุ่งหวังสิ่งใดเป็นการให้ที่บริสุทธิ์  

                     ดังนั้นการเขียนใน G2K จึงเป็นการเขียนที่สดใส สดชื่น สดใสทั้งผู้เขียนและผู้อ่าน เขียนไปยิ้มไป อ่านไปก็ยิ้มไป ยิ้มที่ใจ เพราะใจเป็นสุขครับ  เมื่อใจสุข สุขใจที่ได้เขียนเราก็จะเขียนทุกเมื่อ ทุกเวลา ทุกวินาทีที่ใจร่ำร้อง  เขียนและต่อยอดเติมเต็มซึ่งกันและกัน สร้างให้เรามีจิตใจที่เปิดกว้างยอมรับฟังในความรู้ ศรัทธาในความรู้ ลดทิฐิ อัตตา นั่นเป็นประโยชน์ที่ได้จากการฝึกฝน ฝึกรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นครับ

 ประการที่สาม   เรียนรู้เรื่องของการมีเป้าหมายในการเรียนรู้ 

                              เพราะการทำสิ่งใดที่มีเป้าหมาย จะทำให้เราจัดการสร้างแผนขึ้นมาอย่างไม่รู้ตัว ตั้งแต่การวางแผนว่า เราเข้าไปเรียนครั้งนี้ เราจะไปเรียนทำไม เราเรียนรู้วันนี้ เราจะได้เรียนรู้เพื่อให้ได้สิ่งใด หรือในขณะเรียน ในขณะที่สัมผัสกับการเรียนรู้ในชีวิต เราจะต้องใจที่จะเรียนและเรียนรู้มากขึ้นกว่าเดิม รวมทั้งหลังจากเรียนเสร็จ เรียมาแล้ว ฟังมาแล้ว  ทำให้เรามีเครื่องมือที่สามารถกลับมานั่งประมวลความคิด ความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้ ทำให้เกิดรอยหยักในสมองมากขึ้น ฟังแล้วเรียนแล้วไม่ทิ้งขว้างไปไหน รู้ว่าการเปลี่ยนจากความคิดที่อยู่ในหัวสมองมาเป็นคำพูดหรือตัวนั้นสือนั้น “มีพลัง และทรงคุณค่า” เป็นอย่างยิ่ง ทั้งที่เกิดขึ้นกับตัวเราเอง  คือ ตัวเราสามารถเรียนรู้ได้อย่างดีมากขึ้น ฝึกตัวเองทั้งในการเรียน การวิเคราะห์ สังเคราะห์ สกัด ได้อย่างดีขึ้นตามลำดับ รวมถึง “ใครทำ ใครได้ครับ” เราทำ เราได้ ทำเอง คิดเอง เราก็ได้เองครับ  

ประการที่สี่ รู้ว่าการปฏิบัติและการเรียนรู้จากสิ่งที่ปฏิบัติ (ปฏิเวธ) นั้นเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่

               เพราะ G2K เปิดฟรีสไตล์ในการคิดอยู่แล้ว คิดแล้ว เขียนแล้ว ทำได้เลย การคิดเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ แต่สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นคือการปฏิบัติ และเมื่อคิดแล้ว ปฏิบัติแล้วนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อยอดเติมเต็มซึ่งกันและกัน สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครับ 

               คิดและทำโดยกลั่นกรองออกมาเป็นการเขียน เป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก ๆ  ประโยชน์ที่มีมิได้สร้างให้เราเป็นนักเขียน อย่างเดียวนะครับ ก่อนเขียนต้องคิด คิดแล้วต้องทำ คิดแล้วเขียน ทำแล้วเขียน เขียนเสร็จแล้วก็แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพิ่มเติมอย่างไร กลับไปคิด กลับไปทำใหม่ แล้วนำมาเขียนใหม่ ทำแบบนี้เป็นวงจรที่ไม่มีวันจบสิ้น จนกลายมาเป็นวงจรการมีส่วนร่วม หรือที่เรียกว่า Participatory Action Learning and Working.

ประการที่ห้า  เรียนรู้ในการใช้ “ทุน” ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด (เวลาและเทคโนโลยี)

                ใช้ทุนเทคโนโลยีที่มีอยู่ (Internet) มีอยู่ทุกสถานที่โดยเฉพาะตามหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและระบบบริการพื้นฐานระบบโทรศัพท์ก็ดี ADSL ก็ดี เปิดใช้กันอย่างเต็มที่ ร่วมกันเรียนรู้โดยการใช้ “ทุน”  เทคโนโลยีอย่างมีประโยชน์  การมี G2K เหมือนกับ สคส. กำลังทำ PAR (Participatory Action Research) และทำการจัดการความรู้ (Knowledge Management) จัดเวทีสำหรับประชาชนและนักวิชาการทั้งประเทศ 

               เปิดเวทีคุยอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ทุกที่ทุกเวลา เปิดรับความคิดจากทั่วสารทิศ ความคิดและวิธีการปฏิบัติตามสไตล์ของแต่ละคน นำทั้งหมดมาตีแผ่ เผยแพร่ ซึ่งแล้วแต่ใครจะหยิบไปคิดหยิบไปใช้  นำสิ่งต่าง ๆ ที่เคยอยู่ในสภากาแฟ อยู่บนโต๊ะกินข้าว ร้านอาหาร หรือแม้แต่ใน “วงเหล้า” ที่เมื่อก่อนพวกเราเคยพูด เคยคุย เคยบ่น นินทาเจ้านาย บ่นรัฐบาล บ่นนโยบายต่าง ๆ บ่นทิ้งบ่นขว้าง ได้แต่บ่น ๆ ๆ ๆ แล้วก็บ่น แต่มิสามารถพูดกับเจ้านาย หน่วยงาน หรือรัฐบาลได้ เพราะด้วยขีดจำกัดทางด้านตำแหน่งหน้าที่การงาน ความก้าวหน้าในอาชีพ 

                     แต่เมื่อเรามี G2K เรานำสิ่งที่บ่น ๆ วิพากษ์ และวิจารณ์เหล่านั้น เก็บขึ้นมาตีแผย เผยแพร่  สิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นเป็นสิ่งที่เราคิด เราทำ และเราพูด เป็นสิ่งที่เราเกิดขึ้นจากการจัดเวทีโดยธรรมชาติ เวทีที่เกิดขึ้นด้วยความสบายใจ การจัดโต๊ะที่นั่งเป็นเสมอภาค สิ่งต่าง ๆ ก็จะพลั่งพรูออกมา เวทีที่ทุกคนได้พูด ได้คุย แนวความคิด แนวคิดที่ผ่านทั้งสมองและจิตใจ ผสมด้วยประสบการณ์ทั้งบวกทั้งลบ ประสบการณ์ที่แลกมาด้วยชีวิต  เราเคยได้รับผลกระทบอย่างไร ญาติเราได้ผลกระทบอย่างไร พูดคุย เมื่อก่อนจะเป็นสิ่งที่ทิ้งขว้าง และปัจจุบันสิ่งเหล่านั้นสามารถนำมาตีแผ่โดยใช้ “ทุน” ที่ทรงพลัง

                        เพราะฉะนั้นเวลาที่มีให้กับ G2K คือ ทุนที่ทรงพลังนั้น ที่ทุก ๆ สามารถสร้างบล็อค ซึ่งเมื่อก่อนอาจจะใช้คำว่า Web Page หรือ Home Page ได้อย่างง่าย ๆ ด้วยตัวของทุก ๆ คนเอง จากเวทีอย่างเป็นธรรมชาติเหล่านั้น นำออกมาเผยแพร่สู่สายตาผู้คนทั่วประเทศและทั่วโลก  ในปัจจุบันสังคมไทยเป็นสังคมฐานความรู้ (น่าจะ) เปิดกว้างทางด้านความคิด สิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นนำมาใช้ประโยชน์ได้ ถ้ามีการนำเสนอที่ถูกหลักการและมีเทคนิคเล็กน้อย ก็จะสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้และกลุ่มผู้ออกนโยบายได้อย่างไม่ยากเย็น  พูดปุ๊บ คุยปั๊บ กินข้าวเสร็จ เปิด Internet แล้วเขียนได้เลยครับ “ไม่หายไปไหน” ใครว่ากันอย่างไร เสนออย่างโน้น คิดอย่างนี้ นำมาเปิดเวทีคุยกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน  “ฉันคิดอย่างนี้ และเธอล่ะ คิดว่าอย่างไร” และทุก ๆ คนที่เข้ามาก็ร่วมกันต่อยอดเติมเต็ม เก็บเกี่ยวนำไปคิด นำไปใช้ตามสภาพการณ์หรือบริบท ตามสถานที่ เวลาที่เหมาะสมของแต่ละท่านตามที่ใจต้องการ “กัลยาณมิตร” ใช้คำนี้ได้อย่างเต็มที่เลยครับ เพราะทุก ๆ คนเป็นกัลยาณมิตรกันจริง ๆ ครับ  ใครถนัดอะไร ชอบ รัก หมกหมุน ทำสิ่งใด มาเติมเต็มกัน ต่อยอดให้กัน เพื่อกันและกัน

ประการที่หก เรียนรู้ในการให้เกียรติและเคารพความรู้ซึ่งกันและกัน

                  การเข้ามาในบล็อกก็เปรียบเสมือนกันฝึกแบบหนึ่งเช่นเดียวกัน ฝึกให้ตัวเราเป็นเหมือนดั่งมหาสมุทร นักจัดการความรู้จะต้องทำใจตัวเองให้เปิดกว้างและลึกเหมือนมหาสมุทร กว้าง ลึก และทำตัวให้ต่ำ มหาสมุทรจึงเป็นราชาแห่งห้วงน้ำทั้งปวง คือสามารถเรียนรู้ได้จากคนทั้งปวง เรียนรู้ได้จากทุกสิ่ง  เห็นอะไรต่าง ๆ ต้องไวต่อการเรียนรู้ ไวต่อการบันทึก สังเกตกับบันทึกเป็นปัจจัยพื้นฐานของนักจัดการความรู้

ประการสุดท้าย ได้เรียนรู้เรื่องการเป็นการสื่อสารแบบ All way communications

                     เพราะ G2K สอนให้เรารู้ว่า การสื่อสารตามฉบับ G2K นั้น เป็นการสื่อสารแบบแล้วแต่ใจจะร่ำร้องว่าอยากจะสื่อสารกันทางไหน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในบล็อค โทรศัพท์ อีเมลล์ เดินไปหากัน นั่งรถเมล์ไปคุยกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน และที่สำคัญที่สุด “ส่งจิตหากันครับ”  ดังเช่นที่ผมได้มีโอกาสคุยโทรศัพท์กับพี่วีรยุทธ (สิงห์ป่าสัก) พี่เขาบอกว่า “พวกเราเหมือนเป็นญาติสนิทกัน รู้จักกันมานาน”มีข้อสงสัยอะไรก็ถามกันได้เลยครับ ดังเช่นที่พี่อวยชัยจากเชียงใหม่สอบถามเรื่องหลักสูตร “พัฒนบูรณาการศาสตร์”


หมายเลขบันทึก: 519982เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2013 21:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2013 21:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อาจารย์สกัดกลั้นออกมาจากใจและมากด้วยหลักการมากครับ...อาจารย์สบายดีนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท