เฏไปโรงเรียนวันแรก


18 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 07:30 น.

เสียงไก่ขัน นาฬิกาปลุกจากโทรศัพท์แม่ดังขึ้นสองครั้ง เด็กน้อยยังหลับฝันหวานไม่ได้ยินเสียงใด ๆ ในขณะที่พ่อตื่นแล้ว และแม่กำลังเลื่อนเสียงไก่ขันนาฬิกาปลุกมาอยู่ข้าง ๆ เด็กน้อยขี้เซา เพราะเข้านอนเกือบเที่ยงคืนแล้ว เช้าแรกของการไปโรงเรียนจึงต้องใช้เสียงไก่ขัน เสียงโปรดเข้ามาช่วย

เสียงไก่ขันครั้งที่สามดังขึ้น เด็กน้อยลืมตาตื่น มาทักทายเจ้าไก่โทรศัพท์ว่า "คารีดู้" ตามคำทักทายของตนเองที่คิดขึ้น พร้อมรอยยิ้มดีใจที่พี่ไก่น้อยมาร้องเรียกปลุกแต่เช้า

สัญญาณดี ๆ เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่แสงแรกของวัน คิดว่าวันนี้คงเป็นการไปโรงเรียนวันแรกที่ไม่น่าหนักใจนัก

หลังจากอาบน้ำ และทานอาหารเช้า พ่อกับแม่มาส่งเฏที่โรงเรียนทั้งสองคน คิดว่าจะเฝ้าดูการมาโรงเรียนวันแรกของลูกอย่างจดจ่อ และให้ผ่านพ้นไปได้อย่างดีที่สุด

เมื่อถึงโรงเรียนเฏวิ่งฉิวไปเล่นเครื่องเล่นกลางสนาม ในขณะที่เพื่อนกำลังเข้าแถว โชคดีที่โรงเรียนนี้ไม่เคร่งครัดเรื่องเวลามาถึงโรงเรียนของเด็กนัก และไม่ถือเป็นการทำโทษ เพราะอ้างว่าเป็นการฝึกเรื่องเวลาให้กับเด็กเล็ก พี่ ๆ ที่เข้าแถวอยู่จึงมีจำนวนไม่มากนัก และยังมีนักเรียนตัวเล็ก ๆ อีกจำนวนหนึ่งที่ทยอยมา แม้ว่าจะเลยเวลาเก้าโมงเช้าไปแล้ว

น้องเฏสนุกสนานและเพลิดเพลินอยู่กับกิจกรรมที่เกิดขึ้น สมาธิจดจ่ออยู่กับเครื่องเล่นกลางสนามบ้าง ตามเพื่อน ๆ พี่ ๆ ที่ไปฟังนิทานแล้วบ้าง และไม่งอแง แม้ว่าบอกว่าจะมารับประมาณเที่ยง เฏกลับหันไปง่วนอยู่กับของเล่นมากมายที่รอให้ไปเล่นด้วย

คุณครูพี่โอ๋บอกให้มารับประมาณ 11 โมง เพราะไม่อยากให้วันแรกของการมาโรงเรียนเกิดการเสียน้ำตา ทำให้ไม่อยากมาอีกในวันรุ่งขึ้น แม่กับจึงมารับประมาณ 11 โมง แอบย่องไปดูเฏที่ห้องเด็กเล็ก พบว่ากำลังสาละวนอยู่กับของเล่น จึงไม่กวน นั่งรอต่อจนเวลาอาหารเที่ยง 11:45 เฏเข้าแถวไปทานอาหารกับเพื่อน ๆ โดยมีครูพี่นองประกบในช่วงสัปดาห์แรกของการมาโรงเรียน (โรงเรียนจะรับเด็กใหม่ครั้งละ 1 คน ไม่รับวันเปิดเทอมวันแรกทีเดียวครั้งละหลาย ๆ คน เพราะทั้งเด็กและผู้ปกครองจะเห็นภาพ เด็กร้องไห้โยเย ไม่ยอมมาโรงเรียน กลายเป็นภาพติดตากดดันกันไปจนโต เหมือนที่พ่อกับแม่กำลังกดดันตัวเอง เป็นห่วงเรื่องลูกไปโรงเรียนวันแรกอยู่)

หลังกินข้าวเฏก็ยังไม่ยอมกลับบ้าน ทุกครั้งที่แม่ถามก็บอกว่าจะอยู่โรงเรียน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าดีใจ และจริง ๆ แล้วพ่อแม่ก็ไม่ควรกังวลมากไปกับการไปโรงเรียนวันแรกของลูก คงอาจเป็นเพราะสภาพของตัวเองในวัยเด็กกับการไปโรงเรียนวันแรก และภาพเด็กร้องไห้โยเยกับการไปโรงเรียนวันแรกที่เคยเห็นจนกลายเป็นภาพชินตา

การบริหารจัดการของโรงเรียนพัฒนาเยาวชน หรือนกฮูก ค่อนข้างจะรัดกุม ผ่านการไตร่ตรองจากประสบการณ์ ซึ่งแม่คิดว่าคิดไม่ผิดที่ตัดสินใจให้เฏมาเล่น เรียนที่นี่

ที่นี่ไม่เน้นวิชาการ ไม่ใส่ความกดดัน และความเครียด ให้กับเด็ก 

ความรู้ในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศไร้พรมแดน เป็นเรื่องที่หาง่าย เข้าถึงง่าย แบบที่ไม่ต้องพึ่งโรงเรียนอีกแล้ว ในทศวรรษหน้า โรงเรียนจะกลายเป็นสถานที่พบปะสังคม ไกด์ไลน์การศึกษา เป็นที่ปรึกษาเรื่องการศึกษา แต่ไม่ใช่สถานที่ให้การศึกษาแหล่งเดียวอีกต่อไป

ที่นี่ ไม่รับเด็กวันเปิดเทอมครั้งเดียงครั้งละหลายคน

เพราะจะทำให้ไม่สามารถดูแลเด็กทั่วถึง เด็กจะถูกนัดหมายให้มาโรงเรียนห่างกันสัปดาห์ละคนหรือสองสัปดาห์คน ขึ้นอยู่กับการปรับตัวได้ของเด็กคนเก่า ทุกคนจะมีวันไปโรงเรียนวันแรกของตนเอง และมีครูคอยประกบให้เด็กใหม่ตัวน้อย ค่อย ๆ ปรับตัวให้กับโรงเรียน เพื่อน และครูได้โดยง่าย

สถานที่อาจดูไม่สวยงาม ฉูดฉาด แต่หากพิจารณาถึงโรงเรียนคือสถานที่ในการกระตุ้นการเรียนรู้แล้ว การใช้สีสันฉูดฉาดของตัวตึกมากระตุ้นให้เด็กมาโรงเรียน อาจไม่ใช่วิถีทางที่ถูกนัก เพราะสิ่งที่จะกระตุ้นได้ดีที่สุด คือครูผู้ชี้แนะแนวการเรียนการสอนของเด็ก สีสันฉูดฉาดจึงน่าจะเป็นสิ่งกระตุ้นกิเลสผู้ปกครองมากกว่า

ที่มีไม่มีกฏเกณฑ์ใดตายตัว ทุกสิ่งอย่างเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม

แม่ชอบใจเรื่องนี้มา เรื่องใด ๆ ในโลกล้วนมีที่มาที่ไปของมันเอง ไม่ควรใช้กฏระเบียบใด ๆ ตายตัว เพราะเหตุ ปัจจัย เรื่อง เวลา สถานที่ และตัวบุคคลในเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ไม่มีเรื่องใดซ้ำกันเลย การใช้เกฏเกณฑ์เดียวกัน จึงเป็นเหมือนกรอบความคิดเก่า แบบคอมมิวนิสต์ หรือการพยายามสร้างสังคมอุดมคติ ซึ่งไม่เคยและไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง

วันนี้ พ่อแม่มีความสุข  และเข้าใจแล้วว่าการไปโรงเรียนวันแรกนั้นไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอีกต่อไป ไม่เหมือนสมัยที่พ่อแม่ยังเป็นเด็ก โชคที่ลูกเกิดมาในยุคสมัยที่เรื่องของการจัดการเรียนการสอนเป็นเรื่องที่มีการตีความหลากหลาย ขึ้นอยู่กับพ่อแม่จะเลือกรูปแบบใด อย่างไรที่เหมาะสมทั้งกับครอบครัวตนเอง ให้กับลูก








หมายเลขบันทึก: 519939เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2013 15:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2013 15:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดีจังค่ะที่โรงเรียนเข้าใจเด็กๆ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท