ฮ่วมแฮง แปงข่าย สวัสดิการคืนสิทธิ..พี่น้องอุบล...


“ดังนก บ่มีคอนจับ”

 “ดังนก บ่มีคอนจับ” 


     วลีเปรียบเปรยชีวิตของตนเองในช่วงที่ผ่านมา ที่สะท้อนความรู้สึกเจ็บปวด หนาวเหน็บหัวใจ จากปากคำของ “กลุ่มคนลาวอพยพ” ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ผู้ตกอยู่ในฐานะที่รัฐไทยเรียกขาน ตามนิยามของสหประชาชาติ ในอนุสัญญาว่าด้วยสถานะ (ค.ส. 1954) ว่าเป็น “คนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ” โดยที่ไม่มีการปรึกษาหารือกับเจ้าของชีวิตแต่อย่างใด ซ้ำยังส่งผลให้คนกลุ่มนี้จำนวนหลายแสนคน ต่างถูกโชคชะตาหยิบยื่นความไม่เป็นธรรมให้อย่างยาวนาน โดยไม่มีโอกาสโต้แย้ง หรือมีสิทธิเลือกแม้แต่น้อย

     การเดินทางอันยากลำบาก บนเส้นทางของการหลบลี้ หนีภัยสงคราม (ในส.ป.ป.ลาว) ข้ามผ่านสายน้ำโขงกว้างใหญ่ มาสู่ดินแดนไทย ตั้งแต่ปี 2518 นำมาสู่วันคืน ที่นับรวมแล้วหลายปี กับการใช้ชีวิตในค่ายผู้อพยพ ที่นานาอารยประเทศ ให้ความอนุเคราะห์ข้าวปลาอาหาร ที่คุ้มแดด คุ้มฝนให้ ตามหลักมนุษยธรรมที่ “มนุษย์ พึงมีต่อมนุษย์ด้วยกัน” ซึ่งนั่น ก็เป็นเพียงการเยียวยาให้ชีวิต และร่างกาย ยังคงมีลมหายใจ ต่อไปได้อีกวัน แต่ทว่าในหัวใจลึกๆ ของชีวิตนับแสน  ที่ต้องรู้สึกหมดหวังลง กับสภาพที่ต้องรับรู้ว่า ยิ่งนานวันไป หมู่พี่น้องของตน เริ่มตกที่นั่งลำบาก เพราะไม่ชัดเจนว่าจะได้มีโอกาสเป็นประชาชนของรัฐชาติใด ? ด้วยว่า “คนฝั่งลาวก็คิดว่าเขา..เป็นไทย คนฝั่งไทยก็คิดว่าเขา..เป็นคนลาว” หรือที่จำต้องบอกกับตนเองและพี่น้องว่า “เป็นลาวก็บ่ได้ เป็นไทยก็บ่แท้” ก็ยิ่งทำให้ตอกย้ำความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ ในโชคชะตามากขึ้นเป็นทวีคูณ

     ปัจจุบันยังมีจำนวน “คนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ”หรือที่ทุกคนเรียกว่า “ลาวอพยพ” ที่ยังอยู่ในประเทศไทย ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีนับหมื่นคน เนื่องจากไม่ขอเลือกการส่งกลับ หรือเดินทางต่อไปประเทศที่ 3  และต่างกระจายตัวอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ ตามแนวตะเข็บชายแดน ริมฝั่งโขง ด้วยการตอบรับจากผู้อยู่ดั้งเดิมด้วยความยินดี เพราะแม้จะคนเป็นลาวฝั่งลาว แต่ภาษา วิถีวัฒนธรรม และประเพณีความเชื่อ เหมือนกับชาวลาวฝั่งไทย ดังที่หลายคนยืนแน่นหนักว่า “หมู่เฮาต่าง เป็นพี่น้องกัน” ดังนั้นแม้จะเป็นผู้เข้ามาตั้งรกรากใหม่ภายหลัง แต่ก็ต่างพึ่งพาอาศัย แบ่งปันที่อยู่ ที่กิน และอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน กับพี่น้องลาวฝั่งไทยที่อยู่มาแต่เดิม ได้เป็นอย่างดี อาจจะแตกต่างกันบ้างก็ตรงที่ “กลุ่มลาวอพยพ” เหล่านี้ มิอาจเข้าถึงสิทธิพื้นฐาน เท่าเทียมกับคนไทยได้ เนื่องจากทุกคนล้วนยังคงถูกจัดให้เป็น “คนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง” ที่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ชั่วคราวในประเทศไทย (แม้ว่าบางส่วนจะเกิดในประเทศไทย) และถูกนับให้เป็นผู้ประสบปัญหาด้านสถานะบุคคล โดยที่ส่วนใหญ่ เป็นผู้เข้ารับการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (มี ท.ร.38/1 แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้จดทะเบียนแรงงานเนื่องจากไม่ได้เป็นผู้ที่อพยพเข้ามาทำงาน)

      “กลุ่มลาวอพยพ” ที่ยังคงลงหลักปักฐานในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ยังประสบปัญหาในการดำรงชีวิตอีกหลายด้าน ทั้งที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายของรัฐ และฐานะทางด้านเศรษฐกิจสังคม รวมถึงการไม่มีอาชีพ หรือรายได้ที่แน่นอนของตนเอง อาทิเช่น 1) การไม่มีสิทธิ/ไม่สามารถเข้าถึงหลักประกันด้านสุขภาพ 2) การไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง 3) ต้องอาศัยอยู่ในบ้านเรือน/ที่อยู่อาศัยที่ไม่มีคุณภาพ หรือไม่มีที่ดินตั้งบ้านเรือนเป็นของตนเอง 4) การขาดโอกาสทางการศึกษา (เนื่องจากการกีดกันในอดีต และปัญหาพื้นฐานด้านเศรษฐกิจ) 5) การไม่มีทางเลือกมากนักในการประกอบอาชีพ (ทำให้ต้องทำงานเสี่ยงภัย หรือลักลอบเดินทางไปทำงานในเมืองใหญ่) 6) การไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนในการพัฒนาอาชีพ/ คุณภาพชีวิต 7) การถูกจำกัดด้านการเดินทางออกนอกเขตพื้นที่ควบคุม (อำเภอ) 8) ขาดหลักประกันที่มั่นคงทางด้านอาหาร เป็นต้น นอกจากนี้แล้วยังกล่าวได้ว่าคนไร้รัฐไร้สัญชาติ เป็นกลุ่มคนที่มีปัญหาในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและการพัฒนาสถานะของตนเอง ทั้งยังมีความสามารถในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง ค่อนข้างน้อยอีกด้วย (เอกสารโครงการฯ,2554)

      “เครือข่ายชุมชนคนฮักน้ำของ” ที่ก่อเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ หรือ “กลุ่มลาวอพยพ” 10 หมู่บ้านในปี 2552 ด้วยเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ ในการแก้ไขปัญหาปัญหาของ “พี่น้องกลุ่มลาวอพยพ” ที่กระจายตัวอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ ในจังหวัดอุบลราชธานี ได้เข้าร่วม “เครือข่ายชุมชนปฏิรูปสังคมและการเมือง” (คปสม.) ในเรื่องการเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานให้ที่คนกลุ่มนี้ พึงจะได้รับเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง ได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ร่วมกับ ผู้มีปัญหาเช่นเดียวกันในพื้นที่อื่นๆ เช่น การดำเนินการให้สัญชาติไทยกรณีตกหล่น (พ่อไทย แม่ไทย) การลงรายการในทะเบียนตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2551 การสำรวจและปรับปรุงทะเบียนผู้ไปจัดทำทะเบียนแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ใหม่ทั้งหมด (ท.ร.38/1) เนื่องจากผิดข้อเท็จจริงที่ว่า “กลุ่มลาวอพยพ” กลุ่มนี้ เป็นผู้พำนักอาศัยถาวรในประเทศไทย มิได้เป็นแรงงานต่างด้าว หรือผู้หลบหนีเข้ามาทำงาน ซึ่งการพิสูจน์สัญชาติที่ถูกต้องมากกว่า จะนำไปสู่การได้รับสิทธิในการเดินทาง การครอบครองทรัพย์สินโดยชอบธรรม และการรักษาพยาบาลตามหลักประกันสุขภาพ เท่าเทียมกับคนไทย ในที่สุด และการได้มาซึ่งการรับรองสิทธิต่างๆเหล่านี้ คือแสงสว่าง ณ ปลายอุโมงค์ ทำให้ทุกคนมีความหวัง กับอนาคตสดใส ที่รออยู่เบื้องหน้า จึงไม่น่าแปลกใจที่ทุกคน ต่างนำพาตนเองมาเป็นพลังหนุนซึ่งกันและกัน อย่างเหนียวแน่น แม้จะเป็นองค์กรใหม่ที่มีอายุ และประสบการณ์ไม่มากนักก็ตามที

     นับจากปี 2551 การทำงานโครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ที่นำโดยศิระศักดิ์ คชสวัสดิ์ และคำปิ่น อักษร สองเกลอผู้บุกเบิกนำเสนอข้อมูล การเข้าไม่ถึงสิทธิของกลุ่มลาวอพยพ ในจังหวัดอุบลราชธานี ผ่านงานสำรวจเพื่อจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำโขง ในประเด็นผลกระทบจากการสร้างเขื่อนบ้านกุ่ม ได้ริเริ่มกลุ่มออมทรัพย์นำร่อง 3 กลุ่ม คือพื้นที่ บ้านบะไห บ้านห้วยสะคาม บ้านหนองแปก -บ้านหนองเม็ก ให้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ ในระดับชุมชนขึ้น และปีต่อมาได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกเป็น 9 กลุ่ม รวมเป็น 12 กลุ่ม [1] และปัจจุบันเพิ่มบ้านหนองบัว รวมเป็น  “13 กลุ่มออมทรัพย์ เครือข่ายชุมชนคนฮักน้ำของ” ที่เติบโตอย่างมั่นคง มีสมาชิก รวมกว่า 800 คน มียอดเงินออม รวมกว่า 250,000 บาท และได้ก่อเกิดชุดข้อมูลสำคัญ ในการพัฒนาการรวมกลุ่มของเครือข่ายชุมชนคนฮักน้ำของ ในลักษณะของการออมเงิน ที่มีดอกผลของกองทุนมาเสริมสร้างการทำงานให้กลุ่มเข้มแข็ง และรวมเป็นเครือข่าย มีแกนนำที่มีศักยภาพ และมีความสามารถจัดกิจกรรม สื่อสารในทิศทางเดียวกันในการเรียกร้องสิทธิ ร่วมกับเครือข่ายอื่นๆ ภายนอก อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งศิระศักดิ์ คชสวัสดิ์ หรือที่ทุกคนรู้จักในชื่อ “พี่โต” บอกเล่าความสำคัญในประเด็นนี้ว่า

     “สาระของการรวมกลุ่มออมทรัพย์ ไม่ใช่ชวนกันมามุ่งคิดเรื่องเงิน แต่เป็นเรื่องที่ทำให้พี่น้องได้รับรู้เรื่องสิทธิของตัวเอง รู้ว่าตนเองมีโอกาสเข้าถึงสิทธิอื่นๆ อย่างเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายของไทย กลุ่มออมทรัพย์เป็นการเปิดพื้นที่เรียนรู้ เป็นพื้นที่กลางให้เรามาแลกเปลี่ยนรับรู้ปัญหาของพี่น้อง ช่วยกันหาทางแก้ไขด้วยกลุ่มเราเอง ทุกคนจะได้มีโอกาสเข้าถึงข่าวสาร ไม่ตกหล่น รู้แล้วกระจายข่าวต่อได้ถูกต้อง แม้เราจะเป็นกลุ่ม เล็ก ๆ แค่ไม่กี่ร้อยคน แต่เราก็ต่อสู้ เพื่อเป็นความหวังให้พี่น้องที่อยู่ข้างหลัง อีกหลายพันคน ได้ประโยชน์ร่วมกันในที่สุด”

     เป้าหมายที่ชัดเจนของการรวม “กลุ่มลาวอพยพ” ในนามของสมาชิก “เครือข่ายชุมชนคนฮักน้ำของ” ที่ถึงแม้จะเป็นเพียงแค่กลุ่มคนแค่ 1 ใน 10 ของผู้มีปัญหาสถานะบุคคล ที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน แต่ทำให้เป็นที่รับรู้ของเครือข่ายที่ร่วมเกี่ยวข้องในพื้นที่ จากการเชื่อมโยงแนวคิดของโครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนคนไร้รัฐไร้สัญชาติ จึงนำไปสู่การได้รับการเสริมพลังของกลุ่ม ฯ ให้มีโอกาสได้เรียนรู้การพัฒนากองทุน ในรูปกลุ่มออมทรัพย์เพื่อความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ซึ่งได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้จาก “ธนาคารชุมชนเมือง” หรือที่ทุกคนรู้จักในนาม “ธนาคารคนจน” องค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนากองทุนเพื่อที่อยู่อาศัยของชุมชนเมือง ร่วมกับเครือข่ายชุมชนเมือง เครือข่ายบ้านมั่นคง และเครือข่ายภัยพิบัติ

      มาสู่การโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย และศูนย์เรียนรู้ สำหรับคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ภายใต้เครือข่ายฮักน้ำของ ซึ่งเป็นการรูปแบบที่จะสามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของ “พี่น้องกลุ่มนี้” ได้ดียิ่งขึ้นอย่างแน่นอนเพราะอยู่บนความต้องการพื้นฐานที่สามารถตอบสนองปัญหาเบื้องหน้าของทุกคนได้เป็นอย่างดี ที่สุดแล้วคุณค่าที่ได้รับการตอบกลับที่มากกว่าการช่วยเหลือ “หมู่พี่น้อง ให้ยิ้มได้” ยังตามมาด้วยบทเรียนสำคัญ จากพื้นที่นำร่องผู้มีปัญหาสถานะ คือ บ้านบะไห บ้านตามุย อ.โขงเจียม และบ้านหนองแปก อ.บุญฑริก ที่นำมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ภายใต้การประชุมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน ที่จัดตั้งขึ้นจากตัวแทนของกลุ่มงานต่างๆได้พื้นที่กว่า 30 องค์กร ที่เป็นทั้งสมาชิก และคณะทำงาน ให้ได้เรียนรู้ร่วมกันว่า แม้กลุ่มลาวอพยพ จะยังคงอยู่อย่างยากลำบาก ไร้สิทธิ ไร้โอกาสในหลายเรื่อง แต่อุปนิสัยความพอเพียง ขอกู้เงินแต่พอตัว จะได้แบ่งปันให้เพื่อนได้กู้ กันถ้วนหน้า และรักษากติกาอย่างเคร่งครัด โดยยึดหลักว่า “ขอแค่ฟ้าไม่รั่วใส่ ขอแค่มีฝาอยู่ ไม่หนาว” ก็เพียงพอกับชีวิตของตนเองและครอบครัว ทำให้ เป็นการสอนกลุ่มคนไทยหลายกลุ่มโดยเฉพาะคนเมือง ให้เรียนรู้ลดความเห็นแก่ตัว “รักพวก รักพ้อง แบ่งปัน เพื่อพี่น้อง” ของตนเองมากขึ้น 

     จากการที่ฐานทุนเดิมคือกลุ่มออมทรัพย์ที่เข้มแข็ง และเครือข่ายร่วมเรียนรู้ชัดเจน จึงส่งผลให้การดำเนิน “โครงการพัฒนาระบบสวัสดิการ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง ของเครือข่ายชุมชนคนไร้รัฐไร้สัญชาติ” ในช่วงปลายปี 2554 โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)เป็นงานพัฒนาต่อยอดได้อย่างสวยงาม และเห็นผลอย่างชัดเจนในช่วงต่อมา ซึ่งคณะทำงานร่วมกับแกนนำระดับพื้นที่ ได้พัฒนารูปแบบสวัสดิการที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย คือกลุ่ม “ลาวอพยพ” แบ่งเป็น 2 รูปแบบคือ ชุดสวัสดิการสำหรับการเข้าถึงที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ในกรณีบ้านบะไห) และชุดสวัสดิการที่ครอบคลุมการเกิด-แก่-เจ็บ-ตาย (ในกรณีบ้านหนองแปก -หนองเม็ก) ซึ่งช่วงต่างๆของการดำเนินกิจกรรม ได้มีการเชื่อมโยงหน่วยงานต่างๆในพื้นที่เข้าร่วมเรียนรู้รูปแบบที่เหมาะสมกับการพัฒนาสวัสดิการ เช่น อบต.ห้วยยาง อบต.ห้วยไผ่ อบต.ห้วยข่า  โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชนหนองแปก  และหน่วยงานป่าไม้ อุทยานท่าผาแต้ม เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีกระบวนการเรียนรู้เพื่อขยายผลชุมชนอื่นๆ ในกลุ่มเครือข่ายชุมชนคนฮักน้ำของ 10 หมู่บ้าน ได้แลกเปลี่ยน ถอดบทเรียนการพัฒนาสวัสดิการ เสริมสร้างแนวทางเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อพัฒนาศักยภาพของแกนนำและสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ร่วมกัน อาทิเช่น บ้านห้วยสะคาม บ้านตามุย บ้านทุ่งนาเมือง บ้านคันท่าเกวียน บ้านปากลา บ้านสองคอน บ้านป่าข่าชุมชน บ้านทุ่งศรีอุดม บ้านหนองฟานยืน บ้านดงตาหวัง และบ้านโนนสว่าง บ้านดอนโจด ในการ “ประชุมเครือข่ายชุมชนคนฮักน้ำของ” ที่จัดสัญจรหมุนเวียนไปตามเครือข่ายทุก 3 เดือน ซึ่งมีตัวแทนซึ่งเป็นแกนนำ กลุ่มลาวอพยพทุกกลุ่ม มาเข้าร่วมประชุมแต่ละครั้ง นับร้อยคน

     นอกจากนั้นผลลัพธ์ที่สำคัญ ในการดำเนินการพัฒนาชุดสวัสดิการครั้งนี้คือ คณะทำงานได้มีโอกาสร่วมนำเสนอปัญหา ต่อคณะกรรมาธิการติดตามการบังคับใช้กฎหมายฯ วุฒิสภา และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดอุบลราชธานี ในช่วงเดือนสิงหาคม และกันยายน 2555 ทั้งที่จัดขึ้นในวาระที่ผู้แทนคณะกรรมาธิการติดตามการบังคับใช้กฎหมายเพื่อแก้ปัญหาการไร้รัฐไร้สัญชาติ วุฒิสภา เดินทางมารับฟังปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินงานแก้ไขปัญหา ด้านสิทธิและสถานะบุคคลในจังหวัดอุบลราชธานี และการนำเสนอข้อมูล ต่อคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส ซึ่งท้ายที่สุดนำมาสู่ข้อตกลง ให้มีการตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดขึ้นเพื่อติดตาม และพิจารณาหา “แนวทางแก้ไขปัญหาคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ” ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และโครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนคนไร้รัฐ (ในนามเครือข่ายคนไร้รัฐไร้สัญชาติ) ได้เสนอรายชื่อนักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน และผู้แทนคนไร้รัฐไร้สัญชาติ (ผู้มีปัญหาสถานะ) เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการชุดดังกล่าว ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ชัดว่า เกิดการยอมรับอย่างเป็นทางการถึง “ปัญหาของกลุ่มลาวอพยพ” ที่ต่อสู้มานานว่า “มีอยู่จริง” และที่ยิ่งไปกว่านั้นคือเกิดการยอมรับข้อเสนอจากการทำงานแบบมีส่วนร่วม ที่พุ่งเป้าอย่างชัดเจนในเรื่องคืนสิทธิ อีกทั้งมีต้นแบบในการพัฒนากลุ่มคนอย่างสร้างสรรค์ของพี่น้องกลุ่มลาวอพยพ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญสะท้อนให้ภาครัฐเห็นพลังมวลชน หันมาให้ความสำคัญต่อการจัดการปัญหาให้ถูกต้องตามหลักการมากยิ่งขึ้น

     ผู้ร่วมกระบวนการทุกคนต่างได้ตระหนักร่วมกันว่า การเปิดพื้นที่ให้ผู้มีปัญหาสถานะเข้ามามีส่วนร่วมกันในการคิดค้นหารูปแบบวิธีการ “จัดสวัสดิการเหมาะสม” เพื่อกลุ่มของตนเอง พร้อมกับสนับสนุนจากภาคี เครือข่ายอื่น ร่วมกันประคับประคอง ในฐานะพี่เลี้ยง ช่วยหนุนเสริม โดยใช้หลักการ “เอาปัญหาของพี่น้อง เป็นตัวตั้ง” ตลอดจนการพัฒนารูปแบบการสื่อสาร เพื่อการเรียนรู้ ใส่ใจกับกระบวนสร้างความเข้าใจกับชุมชน และสาธารณะชนอย่างชัดเจนต่อเนื่อง นอกจากจะเกิดแนวร่วมเชิงสร้างสรรค์ ยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับ “กลุ่มลาวอพยพ” ได้เป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่เห็นชัดว่าในที่สุด “เขาจะพึ่งตนเองได้” ดังที่สมศักดิ์ อินทะโสม แกนนำกลุ่มฯ ชาวลาวที่ระหกระเหิน มาปักหลักในแผ่นดินไทยกว่า 30 ปี ณ บ้านบะไห อ.โขงเจียม กล่าวว่า

     “ไม่คิดเลยว่าจะมีวันนี้ เก่าก่อนคิดหนีอย่างเดียว พอมีเครือข่าย พอได้มาเรียนรู้ จึงอยู่สู้หน้าคนอื่นได้ เฮาต้องยืนยันว่า เฮาเป็นลาวอพยพ บ่แม่น แรงงานต่างด้าว ลูกหลานหลาย ก็เกิดที่นี่ เฮาก็จะตายที่นี่ ตอนนี้มีข่ายซ่อยแล้ว เราก็ต้องซ่อยข่าย แปงข่ายเฮา ให้เข้มแข็ง เป็นที่พึงให้พี่น้องเฮาต่อไป”

หรือดังที่สุบิน ทองด้วง แกนนำลาวอพยพ คณะทำงาน กลุ่มออมทรัพย์ และสวัสดิการบ้านหนองแปก –หนองเม็ก เล่าความรู้สึกในการพัฒนากลุ่มว่า

     “พอรวมกลุ่มจึงรู้ว่าเรามีพี่น้องร่วมต่อสู่มากมาย ทั่วประเทศ มั่นใจว่าสิ่งที่เราเรียกร้องถูกต้อง มีกฎหมายรองรับ เรากล้าที่จะขึ้นไปพบปลัดอำเภอ เพื่อที่ติดตามทวงถามขั้นตอนต่างๆ ให้พี่น้องทำตามได้ถูกต้อง ตอนนี้เรายังได้รับเลือกจาก รพสต.ในพื้นที่ให้ดูแลสุขภาพในนาม อสม. เพิ่มขึ้นอีก แสดงว่ากลุ่มของเราได้รับการยอมรับมากขึ้น”

     “เครือข่ายฮักน้ำของ” ได้เข้าร่วมกิจกรรมการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิ ของตนเองอย่างต่อเนื่องร่วมกับ “เครือข่ายชุมชนปฏิรูปสังคมและการเมือง” (คปสม.) ซึ่งภายหลังเป็นองค์กรแกนนำ ในการรวมกลุ่มปัญหาของคนผู้มีปัญหาสถานะทั่วประเทศ โดยการขยายการมีส่วนร่วม เปิดรับข้อเสนอในเรื่องประเด็นปัญหาความไม่เป็นธรรมทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดการทรัพยากร สิ่งแวดล้อม รวมถึงปัญหาการเรียกร้องสิทธิของกลุ่มลาวอพยพในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดใกล้เคียง ก่อให้เกิดแนวทางการพัฒนาเป็นข้อเสนอ และกิจกรรมที่ทำให้ทุกคนที่มีโอกาสเข้าร่วมเรียนรู้ และรับรู้ว่า “กลุ่มลาวอพยพมีตัวตน” ในสังคม และยังมีเพื่อนร่วมชะตากรรมอีกนับ 10 หมู่บ้าน ตั้งอยู่ใน 3 อำเภอ คือ อ.โขงเจียม อ.บุญฑริก และอ.โพธิ์ไทร ที่พร้อมจะร่วมต่อสู่ไปร่วมกัน นอกจากนั้นการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ ยังมีการเชื่อมโยงประเด็นในพื้นที่ ไปสู่ประเด็นระดับภูมิภาค และระดับประเทศ ผ่านเครือข่ายต่างๆ อีกมากมายหลายองค์กร อาทิเช่น เครือข่ายคนพลัดถิ่นจังหวัดระนอง ขบวนการประชาชน เพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P–MOVE) สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (SWIT) ศูนย์วิจัยสังคมอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง (MSSCR) คณะศิลปศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน ด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น และสภาทนายความ เป็นต้น

     ซึ่งสารัตถะของการเชื่อมโยงระหว่างเครือข่าย มีทั้งการพัฒนาข้อเสนอเชิงประเด็นร่วมกับการนำเสนอต่อรองภาครัฐ เพื่อปรับเปลี่ยนในระดับนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีการประชุมอย่างต่อเนื่อง และเปิดพื้นที่ให้พี่น้องผู้มีปัญหาสถานะได้แลกเปลี่ยนแนวคิดซึ่งกันและกัน อย่างเท่าเทียม มีโอกาสเข้าร่วมเสนอปัญหาด้วยตนเอง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาข้อตกลงที่ชัดเจนเหมาะตามบริบทของแต่ละพื้นที่ ซึ่งแม้คณะทำงานทุกคนจะเห็นว่าการทำงานเชื่อมเครือข่ายระดับประเทศ จะเป็นการผลักดันในภาพรวมให้สัมฤทธิ์ผลได้ แต่ในกระบวนการระดับพื้นที่ ระดับกลุ่มชุมชน ก็ยังต้องมีการขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ให้ชัดเจน สอดรับกับปัญหาปัจจุบันที่พี่น้องประสบอยู่ เช่น การจัดสวัสดิการที่ดินทำกิน ความเป็นธรรมการจ้างงาน สิทธิในการศึกษา หรือสิทธิในการรักษาพยาบาล พร้อมๆ ไปกับการทำให้เหล่าพี่น้องลาวอพยพ เรียนรู้ว่า ตนเองเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ ในการขับเคลื่อนภาพใหญ่เพื่อนำไปสู่การ “คืนสิทธิ” ให้กับตนเองและเพื่อนพี่น้องอีกหลายคนข้างหลัง ประหนึ่ง “ตีนเหยียบดิน มือคว้าดาว” ที่สำคัญ จะทำการสิ่งใด ก็ได้ต้องสื่อสารบอกให้พี่น้องอื่นๆ ได้รับรู้และร่วมตัดสินใจไปด้วยกัน จึงจะเรียกว่าเป็น “ข่ายเดียวกัน”

     นุ้ย หรือที่ทุกคนรู้จักในนามนักข่าวพลเมือง คำปิ่น อักษร ผู้ทำหน้าที่สำคัญนอกเหนือจากการเป็นพี่เลี้ยงให้กลุ่มลาวอพยพในการพัฒนารูปแบบการจัดสวัสดิการ โดยปรับใช้ทักษะความรู้ด้านการทำสื่อ และมุมมองจากประสบการณ์การทำงาน ร่วมกับกลุ่มคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคมในหลายพื้นที่ โดยบอกเล่าเรื่องราวผ่านสื่อในรูปแบบต่างๆ ทั้งข่าว สารคดี เรื่องสั้น และการเล่าเรื่องราวผ่านสื่อ เฟชบุ๊ค อย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนเป็นที่รู้จักในแวดวงนักต่อสู้เพื่อสิทธิ เล่าถึงมิติของการใช้สื่อเพื่อสร้างเครือข่ายว่า

     “งานวันเด็กสองฝั่งโขง มิตรภาพไร้พรมแดน” ถูกจัดขึ้น ณ หมู่บ้านตามุย ริมฝั่งโขง ติดต่อเป็นปีที่  5 โดยมีแขกสำคัญคือเด็ก และพ่อแม่ 2 ประเทศ เดินทางมาร่วมเพิ่มจำนวนขึ้นทุกปี เกือบ 500 คน มีทั้งเด็กในฝั่งไทยจากเครือข่ายชุมชนคนฮักน้ำของ 13 หมู่บ้าน และฝั่งลาวอีก 3 หมู่บ้าน คือ บ้านสุละ บ้านดอนกุ่ม บ้านคำตื้อ แขวงจำปาศักดิ์ ซึ่งได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนเผยแพร่ ทั้งรายการทุ่งแสงตะวัน เวทีสาธารณะจากไทยพีบีเอส และซีเอ็นเอ็น นำไปสื่อสารเผยแพร่ไปทั่วโลก ภาพความสุขที่เด็ก 2 ฝั่งได้รับจากการ “ผูกเสี่ยว” (ผูกข้อมือเป็นพี่น้องร่วมทุกข์ ร่วมสุขกัน) อาจดูเป็นภาพธรรมดาทั่วไป แต่หากมองให้ลึกซึ้งจะพบว่า เป็นเสมือนภาพสะท้อนที่เปิดเผยความคิดด้านมืด ของผู้ใหญ่หลายคน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการให้สิทธิและสัญชาติ ประหนึ่งพูดว่า “ความเป็นเด็กน้อย เข้าใจความเป็นมนุษย์ และแบ่งปันทุกข์ สุข ให้กันอย่างไร้เงื่อนไข เด็กทำได้อย่างไร? คงจะดีไม่น้อย หากผู้ใหญ่ทำได้เช่นกัน มิตรภาพ โดยไร้เงื่อนไข เมื่อบังเกิดขึ้น โลกเราคงสุขสงบ ประหนึ่งรอยยิ้มแรก ของเด็กน้อยเป็นแน่แท้”

   ขอเป็นกำลังใจ กับการต่อสู้ของกลุ่มพี่น้อง ต่อไป.......



[1] อำเภอโขงเจียม ได้แก่ 1) กลุ่มออมทรัพย์บ้านบะไห 2) กลุ่มออมทรัพย์บ้านห้วยสะคาม – คำผักกูด 3) กลุ่มออมทรัพย์บ้านตามุย 4) กลุ่มออมทรัพย์บ้านทุ่งนาเมือง 5) กลุ่มออมทรัพย์บ้านคันท่าเกวียน และ 6) กลุ่มออมทรัพย์บ้านปากลา

อำเภอบุณฑริก ได้แก่ 1) กลุ่มออมทรัพย์บ้านหนองแปก – หนองเม็ก และ 2) กลุ่มออมทรัพย์บ้านดอนโจด 3) บ้านหนองบัว

อำเภอโพธิ์ไทร ได้แก่ 1) กลุ่มออมทรัพย์บ้านสองคอน 2) กลุ่มออมทรัพย์บ้านป่าข่าชุมชน 3) กลุ่มออมทรัพย์บ้านดอนเย็นใต้ – ทุ่งศรีอุดม และ 4) กลุ่มออมทรัพย์บ้านหนองฟานยืน – โนนสว่าง – ดงตาหวัง


คำสำคัญ (Tags): #สัจจะออมทรัพย์
หมายเลขบันทึก: 519751เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2013 13:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2013 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นเรื่องเล่าเชิงสารคดีที่สำคัญมากค่ะ เสียดายว่า ไม่แน่ใจว่าจะมีใครที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์ไหม ไอดินฯ ทำงานและอยู่ที่อุบลฯ มาตั้งแต่ปี 2527 จนเกษียณ และเดี๋ยวนี้ก็ยังอยู่ที่อุบลฯ และจะอยู่ไปตลอดชีวิต ยังไม่รู้อะไรเลยในเรื่องที่ "คุณลูกหมูเต้นระบำ" เขียน ขออนุญาต save in ใน Folder สารคดีที่น่ารู้ ที่เพิ่งตั้งหลังจากอ่านบันทึกนี้ นะคะ ขอบคุณมากค่ะ  

  พี่ไอดินขอบคุณมากครับที่เข้ามาเยี่ยมชมและเอาไปใช้ประโยชน์ต่อได้เลยครับ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท