มานุษวิทยามาร์กซิสต์


ความรู้ขั้นต้น

 มาร์กซิสซึม (Marxism) โดยปกติแล้วจะเกี่ยวข้องกับการตีความประวัติศาสตร์ในเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งมีรากฐานมาจากงานของ Karl Mark และ Frederich Engel. Karl Mark เป็นนักปฏิวัติ มีความตั้งใจที่ศึกษาทุนนิยมและทำลายล้างทุนนิยมนั้น เมื่อมันมาเกี่ยวข้องกับมานุษยวิทยา โดยอาศัยงานของ Engel ที่ชื่อว่า The Origin of the Family, Private Property, and the State ซึ่งปีพิมพ์ในปี 1884  งานเล่มนี้ได้อาศัยงานของ Louis Henry Morgan ซึ่งได้เขียนไว้โดยใช้โครงสร้างของวิวัฒนาการของสังคม Morgan เสนอว่าสังคมจะต้องวิวัฒนาการจากสังคมดั้งเดิมสุดท้านไปสู่สังคมที่มีมีความก้าวหน้ามากขึ้น โดยนัยนี้พวก Marxist ก็จะเสนอว่าสังคมควรจะวิวัฒนาการจากสังคมคอมิวนิสต์แบบดั้งเดิม ไปสู่สังคมแบบทาส สู่สังคมทุนนิยม และสุดท้ายไปสู่สังคมแบบคอมมิวนิสต์ ในแต่ละขั้นตอนจะถูกกำหนดโดยวิถีการผลิต (modes of production) ซึ่งจะควบคุมในแต่ละขั้นตอน โดยนั้นนี้วิถีการผลิตก็จะควบคุมโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure)ของแต่ละสังคมนั่นเอง โครงสร้างพื้นฐานอันนี้ก็จะควบคุมโครงสร้างส่วนบน (กฎหมาย, รัฐบาล, ระเบียบ) ทั้งโครงสร้างพื้นฐานและโครงสร้างส่วนบนก็จะควบคุมอุดมการณ์ (ideology) หรืออีกนัยหนึ่งก็คือปรัชญา, ศาสนา และความคิดอื่นที่ปรากฏอยู่ในสังคมในระยะเวลาใดเวลาหนึ่งนั้นเอง การขัดแย้งทางชนชั้น (Class struggle) คือตัวเคลื่อนหลักในการก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงต้องเกิดขึ้น และสุดท้ายพวกชนชั้นต้องระเบียบตัวเอง แต่พวกชนชั้นสูงมีผลประโยชน์ในการหาอำนาจและพยายามหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงนั้น ถึงแม้ว่าการเปิดให้เห็นถึงความเป็นมายาของอุดมการณ์ซึ่งให้เกิดจิตสำนึกที่ผิด (false consciousness) ของพวกที่ต่ำกว่าก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของสังคมอาจเกิดช้า แต่ไม่สามารถที่จะหยุดยั้งลงได้

ข้อตกลงเบื้องต้น

พลังสุดท้ายที่กำหนดการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงปฏิวัติของสังคมทั้งปวงคือรูปแบบการผลิต ซึ่งเป็นเอกภาพของด้าน 2 ด้าน ระหว่าง 1. พลังการผลิต 2. ความสัมพันธ์การผลิต ความขัดแย้งระหว่างพลังการผลิตกับความสัมพันธ์การผลิต เป็นตัวเคลื่อนและปฏิวัติลักษณะของสังคมทั้งหมด ว่าสังคมจะมีวิถีการผลิตเป็นรูปแบบใด ระหว่างคอมมิวนิสต์พื้นฐาน หรือศักดินา หรือทุนนิยม

เพื่อที่จะรับรู้กฎอย่างเป็นรูปธรรมหรือเป็นภาวะวิสัย (objective)ร จำเป็นจะต้องศึกษาค้นคว้าให้กระจ่างชัดว่า 1. เหตุใดแบบวิธีการผลิต จึงเป็นพลังที่กำหนดการพัฒนาของสังคม 2. การพัฒนาของความขัดแย้งระหว่างพลังการผลิตและความสัมพันธ์การผลิต เป็นอย่างไร และนำไปสู่การปฏิวัติเปลี่ยนแปลง "รูปแบบการผลิต" และ "ลักษณะของสังคม" อย่างไร

1. พลังการผลิต หมายถึง เมื่อมนุษย์จะทำการผลิตวัตถุปัจจัยต่าง ๆ จำเป็นต้องใช้เครื่องมือการผลิตที่เหมาะสม  การรวมตัวกันระหว่าง ผู้ทำการผลิต กับ ปัจจัยการผลิต ที่ใช้ทำการผลิต กลายเป็น "พลังการผลิตของสังคม" ดังนั้น "พลังการผลิต"  ก็คือ แรงงานของมนุษย์ ซึ่งรวมถึงทักษะและความชำนาญ  ที่นำ "ปัจจัยการผลิต" มาทำการผลิตนั่นเอง

ปัจจัยการผลิต ได้แก่ เครื่องมือการผลิต ที่ดิน ป่าไม้ แม่น้ำ ลำธาร แหล่งแร่ เงินทุน วัตถุดิบ สิ่งก่อสร้างเพื่อการผลิต เครื่องมือการสื่อสารคมนาคม ในปัจจุบันยังรวมถึงความสามารถใน การประดิษฐ์คิดค้นและทรัพย์สินทางปัญญาด้วย ในบรรดาปัจจัยการผลิตเหล่านี้ เครื่องมือการผลิต มีความสำคัญที่สุด อีกทั้งยังเป็นเครื่องชี้วัดระดับแห่งการพัฒนาของ "พลังการผลิต" ของสังคม และสมรรถภาพของมนุษย์ในการดัดแปลงธรรมชาติ

เครื่องมือการผลิตและการใช้แรงงานอื่น ๆ (แรงงานการควบคุมตรวจสอบ แรงงานการบริหารจัดการ เป็นต้น) ในการผลิต จึงเป็นปัจจัยสำคัญทางวัตถุของ "พลังการผลิตของสังคม" แต่พลังการผลิตจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อผู้ใช้แรงงานได้นำ เครื่องมือการผลิต และ ปัจจัยการผลิต ไปใช้ในการผลิตเท่านั้น หากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไป การผลิตก็จะเกิดไม่ได้ ในแง่นี้มาร์กซจึงเห็นว่า ผู้ใช้แรงงานจึงเป็นพลังการผลิตที่สำคัญที่สุด

ในประวัติศาสตร์ การที่สังคมแต่ละยุคสามารถพัฒนาพลังการผลิตได้สูงกว่าสังคมยุคก่อนหน้านั้น ก็เพราะได้ใช้ (หรือสามารถใช้) เครื่องมือการผลิตที่ก้าวหน้ากว่าในการผลิตนั่นเอง

2. ความสัมพันธ์การผลิต นอกจากมนุษย์จะเกิดความสัมพันธ์กับโลกธรรมชาติในกระบวนการผลิตแล้ว ยังเกิดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันในกระบวนการผลิต ซึ่งมีรูปแบบที่แตกต่างกันไป

ความสัมพันธ์ทางสังคมในระหว่างมนุษย์ที่ก่อตัวขึ้นในกระบวนการผลิตนี้ ก็คือ "ความสัมพันธ์การผลิต" ของสังคมนั่นเอง มาร์กซ กล่าวว่า "เพื่อที่จะดำเนินการผลิต คนเราก็เกิดการเกี่ยวข้องและความสัมพันธ์ที่แน่นอนหนึ่งขึ้น มีแต่อยู่ในขอบเขตของการเกี่ยวข้องทางสังคมและความสัมพันธ์ทางสังคมเหล่านี้ จึงจะมีความสัมพันธ์ต่อธรรมชาติของพวกเขา จึงจะมีการผลิต" สัญลักษณ์ของความสัมพันธ์การผลิต กำหนดที่รูปแบบกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิต รูปแบบระบอบกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิต จึงเป็นรากฐานของความสัมพันธ์การผลิต รูปแบบระบอบกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตที่แตกต่างกัน กำหนดฐานะและความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ที่แตกต่างกันของคนเราในการผลิต

ส่วนรูปแบบระบอบกรรมสิทธิ์ที่แตกต่างกันกับฐานะและความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันที่แตกต่างกันของคนเรา ก็กำหนดรูปแบบการแบ่งปันผลผลิตในระหว่างคนเรา

ดังนั้น เนื้อหาของความสัมพันธ์การผลิต จึงประกอบด้วย 3 ด้าน ได้แก่

1. รูปแบบระบอบกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิต
2. ฐานะและความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันในกระบวนการผลิตของกลุ่มสังคม (กลุ่มชน) ที่แตกต่างกัน อันเกิดจากข้อ 1.
3. รูปแบบการแบ่งปันผลิตผลที่กำหนดโดยข้อ 1. และ 2.

เนื้อหาทั้ง 3 ด้านนี้ ส่งผลสะเทือนซึ่งกันและกัน แต่ "ระบอบกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิต" เป็นด้านหลักที่เป็นผู้กำหนดรูปลักษณ์ของสังคม เป็นพื้นฐานที่สุด และเป็นธาตุแท้ของความสัมพันธ์การผลิต

ดังนั้น ลักษณะของความสัมพันธ์การผลิตในสังคมยุคหนึ่ง ๆ จะเป็นแบบไหน จึงกำหนดจากด้านที่เป็นธาตุแท้ของสังคมนั้น ๆ ซึ่งแบ่งออกตามรากฐานได้  2 ชนิด คือ

1. ความสัมพันธ์การผลิตที่ถือระบอบกรรมสิทธิ์ส่วนรวมในปัจจัยการผลิตเป็นรากฐาน ได้แก่ ความสัมพันธ์การผลิตที่ถือระบอบกรรมสิทธิ์ส่วนรวมแบบคอมมูนบรรพกาลเป็นรากฐานในสังคมบุพกาล ความสัมพันธ์การผลิตของสังคม "สังคมนิยม" ในปัจจุบัน ความสัมพันธ์การผลิตของสังคม "คอมมิวนิสต์" ในอนาคต ภายใต้ความสัมพันธ์การผลิตชนิดนี้ ฐานะและความสัมพันธ์ในกระบวนการผลิตเป็นแบบเสมอภาคต่างช่วยเหลือร่วมมือซึ่งกันและกัน ส่วนรูปแบบการแบ่งปันผลผลิตนั้นสังคมบุพกาล เป็นการแบ่งปัน "โดยเฉลี่ยกันไป"  สังคม "สังคมนิยม" เป็นแบบ "ทุกคนทำตามความสามารถ ต่างแบ่งปันไปตามการใช้แรงงาน"  ส่วนสังคม "คอมมิวนิสต์" ในอนาคต  ก็จะเป็นแบบ "ทุกคนทำตามความสามารถ ต่างแบ่งปันไปตามความต้องการ"

2. ความสัมพันธ์การผลิตที่ถือระบอบกรรมสิทธิ์ส่วนตัวในปัจจัยการผลิตเป็นรากฐาน ได้แก่ ความสัมพันธ์การผลิตของสังคมระบอบทาส สังคมศักดินา และสังคมทุนนิยม

ฐานะและความสัมพันธ์ของคนเราในกระบวนการผลิต เป็นแบบที่มี "ผู้ปกครอง" และ "ผู้ถูกปกครอง"  กลุ่มสังคมหรือชนชั้นที่ครอบครองปัจจัยการผลิตอยู่ในฐานะผู้ปกครอง กลุ่มสังคมหรือชนชั้นที่มิได้ครอบครองปัจจัยการผลิตถูกบังคับให้ตกอยู่ในฐานะเชื่อฟังทำตาม

เนื่องจากฝ่ายแรกครอบครองปัจจัยการผลิตและอยู่ในฐานะปกครอง  จึงใช้วิธีการต่าง ๆ นานามาครอบครองผลผลิตจากการใช้แรงงานของฝ่ายหลัง ครอบครองดอกผลของการใช้แรงงานส่วนข้างมากไป เหลือให้ผู้ใช้แรงงานแค่พอมีปัจจัยในการยังชีพให้พอมีชีวิตอยู่รอด จึงกลายเป็นความสัมพันธ์ที่ขูดรีดและถูกขูดรีด ระบอบขูดรีด เป็นสัญลักษณ์สำคัญของความสัมพันธ์การผลิตที่ถือระบอบกรรมสิทธิ์ส่วนตัว ในปัจจัยการผลิตเป็นรากฐาน

3. รูปแบบการผลิต กำหนดการพัฒนาของสังคม
แบบวิธีการผลิตปัจจัยวัตถุหรือแบบวิธีการได้มาซึ่งปัจจัยการครองชีพที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ คือปัจจัยชี้ขาดในกระบวนการพัฒนาของสังคม เพราะมนุษย์จำเป็นจะต้องมีชีวิตอยู่ให้เสียก่อน จึงจะเคลื่อนไหวทางการเมือง ทางวิทยาศาสตร์ ทางศิลปะ ฯลฯ ได้  อย่างน้อยก็จำเป็นจะต้องกิน ดื่ม มีเสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย มียารักษาโรค รวมทั้งปัจจัยจำเป็นอย่างอื่นเช่นพลังงานเชื้อเพลิง ความบันเทิง เป็นต้น ดังนั้นโฉมหน้าของสังคมหนึ่ง ๆ จึงกำหนดโดย "แบบวิธีการผลิต" นั่นเอง ส่วนระบอบพื้นฐาน โครงสร้างชนชั้น ตลอดจนทัศนะทางการเมือง กฎหมาย ศีลธรรม ฯลฯ ของสังคมหนึ่งๆ (โครงสร้างส่วนบน) ถึงที่สุดแล้วก็กำหนดโดยแบบวิธีการผลิตด้วย

การเปลี่ยนแปลงของแบบวิธีการผลิต กำหนดให้รูปลักษณ์สังคมหนึ่งแปรเปลี่ยนไปสู่อีกรูปลักษณ์สังคมหนึ่ง เมื่อแบบวิธีการผลิตอย่างหนึ่งพัฒนาถึงระยะที่แน่นอนหนึ่งแล้ว ก็จำต้องถูกแบบวิธีการผลิตใหม่เข้าแทนที่ความขัดแย้งระหว่าง "พลังการผลิต และ ความสัมพันธ์การผลิต" นำไปสู่การปฏิวัติเปลี่ยนแปลง "แบบวิธีการผลิต และ รูปลักษณ์สังคม"

Sarah Morrow and Robert Lusteck.Marxist Anthropology).

http://anthropology.ua.edu/cultures/cultures.php?culture=Marxist%20Anthropology

อรทัย  ปิ่นเกตุมณี. พลังการผลิต และ ความสัมพันธ์การผลิต 1. http://firelamtung.com/index.php?option=com_content&view=article&id=28:---1&catid=1&Itemid=19


หมายเลขบันทึก: 518815เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2013 14:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2013 14:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท