CaseStudy6: ตรวจดีเอ็นเอ เพื่อพิสูจน์ความเป็นพี่น้องร่วมแม่เดียวกัน แต่คนละพ่อได้ไหมคะ


จากคำถามของน้องสมฤดี


     จากคำถามข้างบน  ถ้าบังคับให้ตอบ โดยไม่ต้องการคำอธิบายเพิ่มเติม ก็ตอบไปเลยครับว่า ตรวจได้ครับ  โดยการตรวจรูปแบบดีเอ็นเอบนสายไมโตคอนเดรีย  จบครับ ไม่ต้องอธิบายต่อ เพราะเขาไม่อยากฟัง....

     แต่ถ้าจะฟังต่อ ก็ค่อยขยายความตามที่น้องสมฤดี ได้อธิบายไปแล้ว

     เริ่มต้นที่ การตรวจรูปแบบดีเอ็นเอบนสายไมโตคอนเดรีย  สามารถตรวจได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย  แต่เวลาส่งต่อจากรุ่นพ่อแม่ มันจะส่งต่อผ่านทางสายแม่เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับสายพ่อ  เพราะฉะนั้น หากพี่-น้องสองคน เป็นลูกของแม่เดียวกัน ก็จะมีรูปแบบดีเอ็นเอ เหมือนกัน และเหมือนกับแม่ด้วย  แต่จะไม่เหมือนกับพ่อ  ดังนั้นการตรวจรูปแบบดีเอ็นเอบนสายไมโตคอนเดรีย สามารถใช้ตรวจความสัมพันธ์พี่-น้องร่วมแม่เดียวกันได้

     จากนั้นค่อยขยายความต่อ.....

     ถ้าถามว่า แล้วรูปแบบไมโตคอนเดรียของแม่ มาจากไหน ก็ต้องตอบว่ามาจากยาย ยายส่งมาให้แม่ พร้อมกันนั้นยายก็ส่งมาให้ พี่และน้องของแม่ ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย  ดังนั้น รูปแบบดีเอ็นเอบนสายไมโตคอนเดรียของหลานๆ ก็จะมีหน้าตาเหมือนของคุณลุง คุณป้า และ คุณน้า หรือญาติของแม่ด้วย 

     แล้วเราจะไปแยกออกจากกันได้อย่างไรว่า เขาเป็นพี่-น้อง หรือ ลุง-หลาน หรือ ป้า-หลาน หรือ น้า-หลาน  ก็ตอบไปเลยครับว่า การตรวจดีเอ็นเอ บนสายไมโตคอนเดรีย แยกความสัมพันธ์เหล่านี้ไม่ได้ การตรวจดีเอ็นเอ ตอบได้แต่เพียงว่า คนสองคนที่มาตรวจเปรียบเทียบกัน เป็นญาติร่วมบรรพบุรุษสายแม่เดียวกัน  ส่วนถ้าจะตอบคำถามนี้ ก็ต้องสืบพยาน หรือหาหลักฐานอื่นมาประกอบเพิ่มเติม เช่น อายุ หรือสอบพยานเพิ่มเติมว่า มีคนรู้เห็นว่าทั้งคนนี้เป็นญาติใคร อยู่บ้านใคร มีความสัมพันธ์กันอย่างไร ทำนองนั้น ดังนั้น เมื่อมีหลักฐานอื่นมาประกอบเพิ่มเติม  เช่น อายุ ไม่แตกต่างกันมาก เคยเรียนโรงเรียนเดียวกัน มีคนรู้เห็นว่า เคยอยู่บ้านเดียวกันมาในอดีต ร่วมกับผลการตรวจดีเอ็นเอบนสายไมโตคอนเดรีย ก็จะฟันธงได้ครับ ว่าเป็นพี่-น้องร่วมแม่เดียวกัน เป็นต้น

     ส่วนการตรวจรูปแบบดีเอ็นเอบนโครโมโซมร่างกาย (autosomal STR) เพื่อใช้ยืนยันการเป็นกึ่งพี่น้อง (พี่น้องร่วมพ่อเดียวกันแต่คนละแม่ หรือแม่เดียวกันแต่คนละพ่อ) ในหลักการแล้วทำได้ครับ แต่ในทางปฏิบัติยังมีข้อจำกัดอยู่ เนื่องจากค่าความไว และความจำเพาะไม่เต็ม 100% นั่นหมายความว่า ยังมีผลบวกลวง คือคนที่ไม่ใช่ญาติกัน ผลตรวจดันบอกว่าเป็นญาติกัน และยังมีผลลบลวง คือว่า คนที่เป็นญาติกัน ผลตรวจดันบอกว่าไม่ใช่ญาติกัน ดังนั้น จึงต้องระวังให้มากครับ   ผลตรวจที่น่าเชื่อถือ คือผลตรวจที่คำนวณได้ค่า likelihood ratio กรณี half sib ได้สูงๆ ครับ ค่าตัวนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับ full sib, PI และ first cousin แล้ว ค่า LR ของ half sib ต้องมากที่สุดด้วยครับ  ส่วนใหญ่ Posterior probability มากกว่า 90% ร่วมกับ ค่า half sib เป็นค่า มากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับ PI, full sib, และ first cousin  ในกรณีที่ผลการคำนวณค่า posterior probabiltiy ของ half sib ได้น้อยกว่า 90% อาจไม่สามารถยืนยันได้ครับ  หรือกรณีที่ผลคำนวณค่า posterior probabitiy มากกว่า 90% แต่เมื่อเปรียบเทียบกับค่า ตัวอื่นแล้ว แล้วปรากฎว่า ผลนี้มีค่าน้อยกว่าค่าตัวอื่นๆ ก็แปลผลว่า ทั้งสองคนไม่ได้มีความสัมพันธ์แบบ half sib ครับ

     ที่สำคัญคือ ผมไม่แน่ใจว่า ผลการใช้ค่า LR กรณี full sib สามารถใช้ยืนยันในชั้นศาลได้หรือไม่ ถึงแม้ใช้ได้ ก็อาจต้องอธิบายกันยาวครับ

     เอาเป็นว่า ผลตรวจดีเอ็นเอบนสายไมโตคอนเดรีย ร่วมกับหลักฐานอื่น ก็ตอบได้แล้วครับ ส่วนผลตรวจ autosomal STR แล้วคำนวณ LR แบบ half sib อาจใช้เป็นหลักฐานสนับสนุน ให้มีความน่าเชื่อถือสูงขึ้นครับ

    

 


หมายเลขบันทึก: 518139เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2013 17:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2013 17:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณค่ะที่ให้ความกระจ่าง

สิ่งที่กังวล คือกลัวว่าบางคนจะยึดเอาข้อความเพียงบางส่วนมาตีความเข้าข้างตัวเอง

อย่ากังวลเลยครับ เราให้ความเห็นในเชิงวิชาการ  ส่วนการนำไปใช้เป็นเรื่องของคนที่ฟัง ซึ่งจะเจอเยอะครับว่า ในกระบวนการยุติธรรม มีการเลือกใช้ข้อมูลเพียงบางส่วนที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเองเท่านั้น ไม่ได้พิจารณาในภาพรวม ดังนั้น เวลาที่มีโอกาสเล่าให้เขาฟัง ต้องเล่าให้ฟังให้หมดทุกครั้ง ทำให้เมื่อเราพูดที่ไหน เมื่อไหร่ ก็พูดได้เหมือนเดิมครับ เพราะไม่ต้องจำว่าพูดกะใครว่าอะไรบ้าง


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท