สถานการณ์ทางการเมืองไทยในปีพุทธศักราช 2556


สถานการณ์ทางการเมืองไทยในปีพุทธศักราช 2556

   สถานการณ์บ้านเมืองของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2556 นี้ เป็นที่น่าจับตาและเป็นที่สนใจของประชาชนโดยทั่วไปเป็นอย่างมาก เพราะมีปัจจัยเกื้อหนุนหลายๆ ด้านที่อาจทำให้สถานการณ์บ้านเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ทางการเมืองพลิกผันเปลี่ยนแปลงหรืออุณหภูมิทางการเมืองร้อนระอุขึ้น เป็นต้นว่า สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ความคิดเห็นของสาธารณชนต่อ กรณีประสาทเขาพระวิหารและกฎหมายปรองดอง โดยสำรวจประชาชน 2,016 คนจาก 17 จังหวัด เมื่อ 22-26 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.0 ไม่เชื่อมั่นว่า ความขัดแย้งกรณีประสาทเขาพระวิหารจะจบลงด้วยดี นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.7 คิดว่ากรณีประสาทเขาพระวิหารกลายเป็นเกมทางการเมืองในขณะที่ร้อยละ35.3ไม่คิดว่าเป็นเกมการเมือง
  สิ่งที่น่าสนใจ คือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.1 ระบุทางออกของกรณีประสาทเขาพระวิหารควรปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ในขณะที่ร้อยละ 23.9 ระบุควรนำวิถีทางการเมืองเข้ามาแก้ปัญหา อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.5 ระบุยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับคดีปราสาทเขาพระวิหารที่รัฐบาลให้ข้อมูลแก่ประชาชน แต่ที่น่าพิจารณา คือ เมื่อสอบถามถึงความต้องการของสาธารณชนต่อศาลโลกให้พิจารณาคดีประสาทเขาพระวิหารที่นำไปสู่ความสงบสุขแก่ทั้งสองประเทศ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.8 ต้องการ ในขณะที่เพียงร้อยละ 9.2 ที่ไม่ต้องการปฎิบัติตามคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของศาลโลกที่จะมีคำตัดสินภายในช่วงปลายปีนี้ [1]ในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศได้
เตรียมใช้ข้อมูลแถลงด้วยวาจาเพิ่มเติมที่ศาลโลก กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ วันที่ 15–19 เม.ย. 2556 ซึ่งวันแรกจะเป็นการแถลงด้วยภาษาอังกฤษประเทศละ 20 นาที ต่อหน้าศาลโลกทั้ง 17 คน ส่วนวันที่ 2 จะเป็นการแถลงด้วยภาษาฝรั่งเศสอีก 20 นาที และต้องลุ้นอีกครั้ง ช่วงปลายปี 2556 ว่า ศาลโลกจะมีคำสั่งพิพากษาของออกมาอย่างไร 

  อย่างไรก็ตาม บ้านเมืองจะอยู่อย่างสงบสุข เกิดความสามัคคีปรองดองของผู้คนในชาติได้นั้น ก็ต้องอาศัยประชาชนคนไทยทุกคน ช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีให้เกิดขึ้นในสังคมไทยให้ได้โดยยึดหลักของกฎหมายของบ้านเมืองเป็นหลัก เคารพสิทธิของคนอื่น ให้เกียรติซึ่งกันและกันไม่สร้างความขัดแย้งในหมู่คนไทยด้วยกัน ความคิดอาจแตกต่างกันได้ แต่ไม่ควรแตกแยกกัน ผู้มีอำนาจหรือผู้บริหารบ้านเมือง ก็จะต้องยึดหลักความถูกต้อง ให้ความเป็นธรรมในการใช้กฎหมายบังคับอย่างเสมอภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อำนาจทั้งสามตามรัฐธรรมนูญ คือ อำนาจบริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติ เป็นอำนาจสูงสุดที่จะชี้ชตากรรมของประเทศว่าจะพัฒนาไปในทิศทางไหน ให้เจริญก้าวหน้าเทียบเท่ากับอารยประเทศ ฉะนั้นผู้บริหาร นักการเมืองและข้าราชการ  จะต้องมีคุณธรรมและจริยธรรมในการบริหารราชการบ้านเมือง ให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ด้วยความซื่อสัตย์ และสุจริต[2] คือ ความประพฤติดีประพฤติชอบ และประพฤติถูกต้องตามคลองธรรม มีอยู่ ๓ คือ

๑.กายสุจริต คือ ประพฤติชอบด้วยกาย คือการทำความดีทางกาย เช่น เป็นผู้เสียสละทรัพย์ส่วนตัว เพื่อประโยชน์สุขแก่ส่วนรวม และเสียสละความสุขส่วนตน เพื่อความสุขของผู้อื่น

๒.วจีสุจริต  คือ  ประพฤติชอบด้วยวาจาคือ การทำความดีทางวาจา พูดจาไพเราะ พูดแต่ความจริง พูดยกย่องเพื่อน พูดให้กำลังใจผู้อื่น และไม่ควรพูดสิ่งที่จะเป็นการสร้างประเด็นความขัดแย้ง ที่เป็นบ่อเกิดให้สังคมเกิดความแตกแยกมากยิ่งขึ้น เป็นต้น

๓. มโนสุจริต  คือ  ประพฤติชอบด้วยใจคือการทำความดีทางใจ เช่น ปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข คิดแต่สิ่งที่ดีงามถูกต้อง  เป็นต้น

กล่าวโดยสรุป ผู้บริหารประเทศ นักการเมือง และข้าราชการ จะต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้สังคมสามารถตรวจสอบในการทำงานเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินได้ในฐานะเป็นบุคคลสาธารณะ ได้รับค่าตอบแทนซึ่งเป็นภาษีอากรของประชาชนโดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้บริหารประเทศ นักการเมืองทุกระดับ และข้าราชการ จะต้องเป็นผู้บริหาร ที่มีหลักธรรมพรหมวิหาร 4 หมายถึง ธรรมของพรหมหรือของท่านผู้เป็นใหญ่ คือนักบริหารบ้านเมือง หลักธรรมนี้ได้แก่

1.เมตตา คือ ความปรารถนาให้ผู้อื่นได้รับสุข

2.กรุณา คือ ความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์

3.มุทิตา  คือ ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี

4.อุเบกขา คือ การรู้จักวางเฉย

และนักบริหารบ้านเมืองทุกระดับชั้นควรอยู่ในฐานะที่เป็น ครู เป็นเพื่อน เป็นพี่เลี้ยง และเป็นแบบอย่างที่ดี.



[1] thaipublica.org/2013/01/soldier-defense-preah-vihear-case/ - แคช

[2] พระธรรมปิฎก, พจนานุกรมพุทธศาสน์, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, หน้า ๓๔๕.


หมายเลขบันทึก: 517670เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2013 15:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2013 08:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ตามมาให้กำลังใจอาจารย์ สบายดีนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท