โอวาทธรรมสำหรับ “ผู้สูงอายุ...”


เราเด็ก ๆ เราก็อยู่กับการเล่นการเที่ยว โตมาเราอยู่กับการทำงาน ตอนนี้เราอายุมาก พระพุทธเจ้าท่านให้เรามาอยู่กับการมีศีล การรักษาศีล อยู่กับการฝึกปล่อยฝึกวาง ชีวิตของเรามันจึงจะคุ้มค่า มันจึงจะมีประโยชน์ พระพุทธเจ้าท่านเมตตาให้เราแก้จิตแก้ใจของเราอย่างนี้แหละ

บุคคลอย่างพระพุทธเจ้าท่านไม่เอาความสุขทางร่างกาย ไม่เอาความสุขภายนอก เพราะจิตใจท่านหมดกิเลส สิ้นอาสวะ ถึงร่างกายแก่ เจ็บ จิตใจก็ไม่ทุกข์ ไม่เหมือนเราทุกวันนี้ เดี๋ยวก็ปวดหัว ปวดท้อง ปวดแข้ง ปวดขา สารพัดปวด ไปเอาความสุขจากร่างกาย ร่างกายมันก็เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่จีรังยั่งยืน ...


ที่จริง... เรื่องความเกิด ความแก่ ความเจ็บนั้นเป็นเทวทูตมาบอก มาเตือน ว่าร่างกายไม่ใช่ของเรา เป็นสิ่งไม่จีรังยั่งยืน ไม่กี่วันก็แตกสลายไป เราจะมาห่วงอะไร ร่างกายไม่ใช่ของเรา ลูกหลานวงศ์ตระกูลก็ไม่ใช่ของเรา 

การที่เรามาประพฤติปฏิบัติถือว่าเป็นสิ่งที่ดี โชคดี เรามาฝึกปล่อยฝึกวาง แต่ก่อนเรายังเด็กเป็นหนุ่มเป็นสาว ใครก็สนใจเรา นี่เราเฒ่าเราแก่ชราแล้ว ใคร ๆ ก็ไม่สนใจเรา เพราะร่างกายของเราใช้การไม่ได้แล้ว ไปใช้การใช้งานก็ไม่ได้แล้ว ถ้าลูก ๆ หลาน ๆ ของเราไม่กตัญญูกตเวที เราก็ต้องลำบากเหมือนกัน

พระพุทธเจ้าท่านให้เราฝึกปล่อยฝึกวาง มีความสุขในการรักษาศีล ๕ ๖ ๗ เพราะเราแก่ส่วนใหญ่รักษาศีล ๘ ไม่ได้ อดอาหารคนอายุมากทำไม่ค่อยได้เพราะต้องทานยา ทีนี้เราเอาความสุขทางกายเหมือนเก่าไม่ได้แล้ว ท่านให้เรามาเอาความสุขทางจิตใจ มาฝึกปล่อยฝึกวาง


เราเป็นคนแก่ เราทำอย่างไรลูกเขาถึงจะรักเรา ลูกหลานจะรักเคารพเราได้...?

เราต้องเป็นคนมีศีล ๕  ไหว้พระสวดมนต์ ไม่เป็นคนพูดมาก ไม่เป็นคนบ่นมาก เพราะว่าคนแก่แล้วสมองมันเสื่อม เดี๋ยวพูดมากเดี๋ยวก็ลืมไปว่าเราพูดมาก พูดวกวนอยู่นั่นแหละ พูดแต่เรื่องเก่า ๆ ถ้าเปรียบเหมือนฉายหนังก็ฉายหนังม้วนเก่าอยู่นั่นแหละ

คนแก่ต้องเป็นคนมีศีล รักษาศีล ไม่พูดมาก ฝึกออกกำลังกาย อย่าไปคิดถึงแต่ลูกหลาน คิดถึงแต่ความร่ำรวยความยากจนของลูกของหลาน “เราคิดมากเราก็ไม่ได้อะไรหรอก ทำให้เราปวดหัว ทำให้เราเป็นบาปเป็นทุกข์เปล่า ๆ...!”

บางคนก็ไม่อยากให้มันคิดแต่มันก็คิด... คนแก่แล้วจะไปอยู่กับโทรทัศน์วิทยุหนังละครมันก็ไม่ถูก อายลูกอายหลานเขานะ เดี๋ยวเขาจะว่าได้ แก่แล้วเฒ่าแล้วยังไม่ยอมปล่อยไม่ยอมละยอมวาง อยู่ในโทรทัศน์ใน TV มีแต่เรื่องมอมเมาให้คนลุ่มหลงอยู่ในโลก 


พระพุทธเจ้าท่านจึงให้เราฝึกจิตใจของเราให้มันสงบ มันจะมีความสงบเราก็ต้องมีเครื่องอยู่... คนโบราณเขาให้เราท่องพุทโธ ๆ ไว้อย่างนี้ แล้วก็ไหว้พระสวดมนต์ให้มันมาก ให้ถือเคร่ง ๆ ให้มันคลัง มันศักดิ์ มันสิทธิ์หน่อย

พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราดูหนังดูละคร ดูหรือฟังสิ่งบันเทิงเหมือนอย่างเด็ก ๆ เขา ให้เราเตรียมปล่อย เตรียมละเตรียมวาง พวกเงินพวกสตางค์ บ้านพักอาศัย ของเหล่านี้มันช่วยเหลือเราได้เพียงระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่จะช่วยเหลือเราได้มาก ๆ ก็คือ “ลมหายใจนะ...”


ต้องฝึกจิตใจอยู่กับลมหายใจ หายใจเข้าสบายหายใจออกสบาย ฝึกอยู่กับลมหายใจเข้าออกกับจิตใจที่ปล่อยวางสิ่งภายนอก

แต่ก่อนร่างกายของเรามันไปเล่นเที่ยวได้ แต่เมื่อร่างกายมันแก่เฒ่าเจ็บป่วย อารมณ์จะไปเที่ยวกับเพื่อนหมดไป ของอร่อยเขาเอามาให้ทานก็ไม่อยากทาน เขาเอาอาหารมาก็ยิ่งกลัว 


สิ่งที่จะช่วยเหลือเราได้คือฝึกพุทโธไว้ เพื่อใจที่มันจะล่องลอยมันจะได้ไม่แตกกระจุยกระจายไปที่อื่น จิตใจมันจะสงบ จิตใจจะได้ปล่อยได้วางทุกอย่าง ต้องฝึกไว้ปฏิบัติไว้เพื่อเตรียมตัวละสังขาร ละญาติพี่น้องวงศ์ตระกูล ละสิ่งที่เราชอบที่เราเกลียด

เราฝึกใจเราไว้... อย่างเรานั่งสมาธิในศาลา เราก็ไม่สนใจใคร คนอื่นก็เรื่องของคนอื่น เขาหายใจของเขา เราก็หายใจของเรา หูมันได้ยินเสียงรถวิ่ง ได้ยินเสียงพระแสดงธรรมก็สักแต่ว่าเสียง หาใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา เพราะแม้แต่ตัวเราก็ไม่ใช่ของเรา 


คนแก่คนสูงอายุ ต้องฝึกจิตใจปล่อย ฝึกจิตใจให้วาง ฝึกจิตใจสงบให้มาก ๆ...

ใครเขาจะด่าจะว่า นินทา ๗ วัน ๗ คืน ก็ช่างหัวมัน โลกนี้จะแตกจะระเบิดก็ช่างหัวมัน ลูกหลานมันจะรวยจะจนก็ช่างหัวมัน ร่างกายของเรามันจะเป็นอย่างไรก็ช่างหัวมัน พระพุทธเจ้าท่านให้เราฝึกปล่อยฝึกวางอย่างนี้...

วัดเรานี้สภาพที่มันก็กว้าง อากาศก็ดี เราก็ฝึกหายใจเข้าออกเอาอ็อกซิเจนเข้าสู่หัวใจเข้าสู่สมอง 


พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราคิดถึงลูกคิดถึงหลาน คิดไปแล้วมันก็บาปเปล่า ๆ 

อย่าไปน้อยใจ ลูกหลานมาปล่อยมาทิ้ง คิดมากอย่างนั้นเดี๋ยวตายไปเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน คิดถึงสัตว์ที่เราเลี้ยงอย่างนี้ ตายไปจะไปเป็นลูกของสัตว์ที่เราเลี้ยงนะ...

ฝึกปล่อยฝึกวางทุก ๆ วัน... ถึงแม้ใจเราไม่อยากปล่อยวาง แต่ก็จำเป็นที่จะต้องปล่อยวาง 


เราเกิดมานานประสบการณ์เรามีเยอะ หลายปี เกือบร้อยปี มันจำ มันยึด มันถือ “พยายามทิ้งไปอดีตน่ะ คนไม่ทิ้งอดีตก็คือแบกโลกนะ...”


คนไม่ทิ้งอดีตคือคนแบกความโลภ ความโกรธ ความหลง จิตใจของเรามันมีอคติ มันรักใครชอบใครเกลียดใคร พวกนี้เราต้องสะสาง หยุดความรักความเกลียดความชัง “ทุกคนต้องล้างจิตใจ ล้างอดีตให้มันออกจากใจ...”


เราทำงาน... ไม่ได้อาบน้ำวันหนึ่งมันยังสกปรกแย่นะ เราอาบน้ำล้างกายด้วยสบู่ พระพุทธเจ้าท่านให้เรามาล้างใจของเรานะ ของเหม็น ของปฏิกูลมันติดใจเล็บนิดเดียวมันก็เหมือนนะ ความยึดถือเรามันเก็บไว้ พระพุทธเจ้าท่านว่ามันเป็นของเหม็นทั้งนั้น “ให้เราปล่อยวาง ใจของเรามันจะได้เบิกบานซะที จะได้เป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานด้วยธรรม”


เราเด็ก ๆ เราก็อยู่กับการเล่นการเที่ยว โตมาเราอยู่กับการทำงาน ตอนนี้เราอายุมาก พระพุทธเจ้าท่านให้เรามาอยู่กับการมีศีล การรักษาศีล อยู่กับการฝึกปล่อยฝึกวาง ชีวิตของเรามันจึงจะคุ้มค่า มันจึงจะมีประโยชน์ พระพุทธเจ้าท่านเมตตาให้เราแก้จิตแก้ใจของเราอย่างนี้แหละ 

ชีวิตบั้นปลายเป็นชีวิตที่สำคัญ เป็นชีวิตที่ต้องตัดทิ้งอดีต รับเอาของใหม่ของประเสริฐ อะไรก็ไม่ประเสริฐเท่ามรรคผลนิพพาน 

เรารวย เรามีทรัพย์สินเงินทอง เราก็ต้องแก่อยู่แล้ว ตายอยู่แล้ว การเกิดทุกคราวเป็นทุกข์อยู่ร่ำไป ถ้าไม้อ่อนมันดัดง่าย ถ้าไม้แก่มันดัดยาก เพราะว่ามันแบกอดีตมากเกิน มันสั่งสมมามาก 

ครั้งพุทธกาล ราธพราหมณ์ พราหมณ์แก่ ๆ แต่ก่อนเป็นเศรษฐีกลับยากจนเมื่อแก่ เขาเห็นภัยในวัฏฏะสงสาร ไปขอบวชที่ไหนเขาไม่ยอมให้บวช เพราะว่าคนแก่มันสั่งสมเอาอดีตมาเยอะ พระพุทธเจ้าท่านจึงประชุมสงฆ์แล้วตรัสถามว่า ใครเห็นอุปการะของราธพราหมณ์ผู้นี้บ้าง พระสารีบุตรท่านจึงกราบทูลว่า ราธพราหมณ์ผู้นี้เคยตักบาตรให้ท่านทัพพีหนึ่ง พระพุทธเจ้าจึงตรัสให้พระสารีบุตรบวชให้แก่ราธพราหมณ์ ทีนี้เวลาบวชมา ราธพราหมณ์เป็นคนว่าง่ายสอนง่าย เพราะเป็นคนละทิฐิมานะอัตตาตัวตน เอาพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง ไม่นานก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ขีณาสพ


ให้เราเชื่อมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระอริยสงฆ์ ทำตามปฏิบัติตาม ไม่ต้องคิดอะไรมาก หาเหตุผลมาก 

การรักษาศีลปฏิบัติธรรม ให้เราทำเพื่อปล่อย เพื่อละ เพื่อวาง ไม่ใช่จะมามี มาเป็น ที่เราทำเดี๋ยวนี้เป็นธรรมะเพื่อเสียสละ ถ้าเราจะเอา ไม่ได้...! มันไม่ถูก ถ้าปฏิบัติไม่ถูก ปฏิบัติถึงไหนมันก็ไม่สำเร็จ เพราะปฏิบัติไม่ถูก... 

ศีล สมาธิ ปัญญา ล้วนอยู่ในอริยมรรคมีองค์ ๘ อริยมรรคคือการปล่อย การละ การวาง ไม่เอา ไม่มี ไม่เป็นทั้งหมดเลย

พระพุทธเจ้าท่านให้เราตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ไม่ต้องคิดมาก เอาหายใจเข้าสบายออกสบายก็พอ มีเจตนาตั้งใจรักษาศีล ชาตินี้ไม่ห่วงอีกแล้ว ลูกหลานทำให้เราเวียนว่ายตายเกิด ไม่มีไม่เป็นไม่เกิดอีกดีกว่า การประพฤติปฏิบัติเพื่อเห็นภัยในวัฏฏะสงสารเราต้องทำเอาเอง...


พระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ที่องค์พ่อแม่ครูอาจารย์เมตตาให้นำมาบรรยาย

มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๖


หมายเลขบันทึก: 517444เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2013 17:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มกราคม 2013 17:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท