การพาเด็กเข้าถึงความรู้ด้วยตัวเด็กเอง คือ สุดยอดครู


"คุณครูจะไปไหนครับ?"   เสียงเรียกถามจากวงสนทนา

"ถึงเวลาต้องไปสอนหนังสือเด็กแล้วครับ"  คุณครูตอบ

"สอนหนังสือ"  คำนี้สะท้อนบทบาทของครูในวันนี้แบบตรงไป ตรงมามาก    สอนตามเนื้อหาที่อยู่ในหนังสือ หรือตำราเรียน   แต่ที่แย่สุด   คือ  อ่านเนื้อหาที่อยู่ในหนังสือให้เด็กนักเรียนฟัง   แล้วให้เด็กอ่านตาม  เพื่อท่องจำ     

ผมไม่ได้หมายความว่า การทำอย่างนี้ เป็นเรื่องผิด   แต่กำลังหมายถึงว่า  การใช้วิธีการแบบนี้ เป็นวิธีการหลัก เพียงวิธีเดียว เพื่อใช้สอนเด็กในโรงเรียนนั้น  มันไม่น่าจะใช่ วิธีปฏิบัติของ  "ครูมืออาชีพ"

ด้วยการตีความของผม  หากเราทำอย่างนั้น   เด็กก็จะได้เพียงการท่องจำเนื้อหาในตำรา หรือหนังสือ   แต่ไม่แตกฉานวิชาที่ร่ำเรียนอย่างที่ควรจะเป็น

นี่คือสภาพหนึ่งที่ผมเข้าใจว่า  การศึกษาในวันนี้ถูกสังคมวิพากษ์ วิจารณ์กันมาก   และหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็พยายามจะช่วยกันพัฒนาการศึกษาในบ้านเราให้ดีกว่าที่เป็นอยู่

ส่วนตัวผมแล้ว  มีมุมมองต่อเรื่องนี้ว่า   มันต้องปลดล็อคทั้งสองด้าน   ด้านแรก คือ  ระบบ ระบอบ ที่ทำให้ครูต้องเป็นอย่างนั้น     ส่วน ล็อคที่สอง   คือ  ล็อคที่ตัวครูผู้สอน  

แต่ก่อนที่จะปลดล็อค  ต้องกลับมาที่เป้าหมาย หรือปรัชญา หัวใจของครูว่ามันคืออะไร?

ผมมองจากมุมนี้ครับ   การพานักเรียนเข้าถึงความรู้ได้ด้วยตัวเขาเองนั้น   คือ สิ่งที่ครูมืออาชีพ พยายามทำกัน  ซึ่งยังคงทำและพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ  โดยไม่หยุดนิ่ง   สำหรับผมแล้ว   สิ่งนี้ คือหัวใจของครูผู้สอนสั่ง   เพราะครูคงไม่มีปัญญาที่จะตามไปสอนสั่งศิษย์ได้ตลอดเวลา และตลอดชีวิต  วันหนึ่งศิษย์ก็ต้องจากไป   แต่หากเขามีทักษะในการเข้าถึงความรู้ได้ตัวเขาเอง  ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหน  จะทำงานอะไร  จะเรียนเรื่องอะไร  เขาก็จะเข้าถึงและเข้าใจมันได้ไม่ยาก

แต่ด้วยการพัฒนาการศึกษาที่ไม่รู้ว่าทิศ ทางชี้ไปทางไหน   การวัดผลการเรียนรู้ของผู้เรียนวันนี้ผมถือว่าเป็นล็อคแรกที่ต้องปลดก่อนที่จะคิดพัฒนาครู    เพราะมันไม่มีประโยชน์อะไรเลย   หากเป้าหมายไปอีกทาง  แต่เราพัฒนาครูไปอีกทาง    การวัดผลการศึกษาวันนี้ยังคงให้น้ำหนักอยู่ที่  "ตำรา"  หรือ "วิชาการ"     เมื่อคราวที่ผมได้คุยกับคุณครูผู้สอนในเรื่องการพัฒนากระบวนการสอน   คุณครูสะท้อนว่าในสภาพพื้นที่นั้น ครูมีปัญหากับระบบการวัดผล  และแรงกดดันจากผู้ปกครอง เพราะจะมีคำถามจากผู้ประเมิน และผู้ปกครองว่า  "ครูมัวทำอะไรอยู่  มัวสอนอะไรอยู่  ลูกฉันใกล้จะสอบเข้าเรียนต่อแล้วนะ....?"     แล้วคุณครูก็มีคำถามกับตัวเองว่า  เราจะพัฒนากระบวนการสอนให้เสียเวลาไปทำไมกัน?  ในเมื่อมันไม่ได้ตอบโจทย์ที่ระบบวัดผล หรือสิ่งที่ผู้ปกครองต้องการ      นี่คือหลุมพรางที่ใหญ่มากของการศึกษา   ถึงเราจะพัฒนาครูไปมากสักเพียงใด  แต่หากครูยังตอบคำถามที่มีกับตนเองไม่ได้   การนำไปปฏิบัติในโรงเรียนจริงๆ  นั้นก็ดูจะไกลเสียเหลือเกิน

ส่วนล็อคที่สอง   ทักษะการออกแบบกระบวนการสอน  เพื่อช่วยให้ผู้เรียนมีความสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเขาเอง

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยังยากอยู่สำหรับคุณครู    ส่วนใหญ่ยังรอคอยกระบวนการสอนแบบสำเร็จรูป   การทำอย่างนั้นหมายความว่า  ต้องปรับพื้นฐานให้เท่าเทียมกันทุกโรงเรียน จึงจะใช้สูตรสำเร็จใดๆ ได้    ซึ่งผิดธรรมชาติของความเป็นจริง    เป็นงานที่ต้องเข็นครกขึ้นภูเขากันเลยทีเดียว   เราไม่สามารถที่จะปรับบริบทของทุกโรงเรียนให้ใกล้เคียงกันได้   เราไม่สามารถปรับบริบทชุมชนรอบโรงเรียนได้    แต่เราสามารถปรับกระบวนการสอนให้ไหลลื่นสอดคล้องอยู่ในธรรมชาติของบริบทเฉพาะของแต่ละชุมชนได้   ซึ่งเท่ากับว่า  ครูต้องรู้ว่าสาระวิชาที่ครูจะให้แก่ศิษย์นั้นมีอะไรบ้าง?   แล้วสภาพแวดล้อมในโรงเรียน  ชุมชนรอบโรงเรียนมีอะไรบ้าง?   การนำเอาสาระวิชาสอดแทรกอยู่ในบริบทเฉพาะพื้นที่นี่แหละ  ที่ผมถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็น  ผมเรียกมันว่า  "ทักษะการออกแบบกระบวนการสอน"   ที่คุณครูต้องฝึกพรือ  ทำเป็นประจำ  ยิ่งทำมาก  ยิ่งทำบ่อย  ทักษะการออกแบบกระบวนการสอนของคุณครูก็จะพัฒนาขึ้นเอง    เพราะผมเชื่อว่า คำว่า "ทักษะ"  ต้องแลกมาด้วย  "การลงมือทำ" เท่านั้น     ผมยังไม่เคยเห็นความเชียวชาญใดๆ ที่เกิดจากเพียงแค่เราไปฟัง หรือไปอ่านหนังสือมาเพียงเท่านั้น

หากครูสามารถออกแบบกระบวนการสอนให้เนียนอยู่ในวิถีชีวิตของชุมชนได้  นั่นก็เท่ากับว่า  เด็กจะมองออก หรือเชื่อมโยงได้ว่าสิ่งที่เขาเรียน  กับชีวิตเขานั้นมันเกี่ยวข้องกันอย่างไร  การเรียนใดๆที่ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงกับชีวิตเขาได้  การเรียนรู้นั่นจะมีพลังเสมอ  เพราะมีฉันทะของผู้เรียนอยู่ในนั้นด้วย

ข้อดีของการออกแบบกระบวนการสอนที่เนียนอยู่ในบริบทชุมชนอีกอย่างหนึ่งก็คือ    ลงทุนทางการเงินน้อยมาก   แต่ใช้การลงทุนทางปัญญาสูง  ซึ่งกลับกันกับที่เป็นอยู่   ผมเคยเป็นกรรมการพิจารณาโครงการด้านนวัตกรรมการสอน   จากการอ่านโครงการและแลกเปลี่ยนกับกรรมการท่านอื่นเห็นพ้องกันว่า   คุณครูจำนวนมากตีความว่านวัตกรรมด้านการสอน คือ การลงทุนกับเทคโนโลยีใหม่ๆ   ซึ่งจำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก  แต่แม้จะร้องของบประมาณจำนวนมากก็ตาม   ยังมีข้อสงสัยอยู่มากว่า  หากใช้เทคโนโลยีแบบนั้นแล้ว  การเรียนรู้ของเด็กจะดีขึ้นได้เองเลยหรือ?   เพราะผมเห็นแต่การอธิบายเหตุผลของความขาดแคลน   แต่ผมไม่เห็นคำอธิบายกระบวนการพานักเรียนเรียนรู้กับเทคโนโลยีสมัยใหม่    คิดแบบเร็วๆ เกิดคำถามว่า  มันต่างอย่างไรกับการทิ้งให้เด็กอยู่กับโทรทัศน์  หรือตู้เกมเพียงลำพัง  

การออกแบบกระบวนการสอนนั้น  ไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่    ผมเชื่อว่ามันมีอยู่ทั่วประเทศ  มีทุกภูมิภาค  แต่เราไม่ค่อยนำมันมาใช้ประโยชน์ในวงกว้าง    ผมเชื่อว่ามีคุณครูมืออาชีพ  ที่อยู่นอกสายตาอีกเยอะ  คุณครูมืออาชีพหลายท่านเหล่านี้อาจจะไม่มีดีกรีทางการศึกษาสูงสักเท่าใดก็เป็นได้   แต่หากวัดผลทางหัวจิต หัวใจที่มีต่อเด็ก   ผมเชื่อว่าครูเหล่านี้มีมากเกินพอ    ประเด็นสำคัญในมุมมองของผม  ที่จะแลกเปลี่ยนในท้ายนี้ คือ  การพาครูเรียนรู้วิธีการออกแบบกระบวนการสอนนั้น   อย่าให้ครูเรียนจากตำรา   หรือวิทยากรบรรยายที่มากด้วยทฤษฎีหลักการเพียงอย่างเดียว   ควรออกแบบกระบวนการสอน  ให้ครูได้สัมผัสกับครูมืออาชีพตัวจริง  เพื่อเรียนรู้ถอดรหัสการออกแบบกระบวนการสอนจริงๆ ว่าเขาคิดอย่างไร   เขาทำอย่างไร?    เพื่อให้ครูเข้าใจด้วยตนเองด้วยว่า   การออกแบบกระบวนการสอนมันต้องทำอย่างไร  ด้วยตัวเขาเอง    เป็นการออกแบบ ซ้อน การออกแบบอีกชั้นหนึ่ง   หลักสูตรการออกแบบกระบวนการสอน  จึงควรเป็นตัวอย่างในตัวมันเอง  เพื่อให้ครูเห้็นเป็นตัวอย่างจริงๆ อีกทางหนึ่ง   อย่าให้กลายเป็น "หลักสูตรแม่ปูสอนลูกปู"  ไปเสียหล่ะ!  ที่สำคัญ   ผู้เรียนเขาจะเชื่อถือได้อย่างไร?






หมายเลขบันทึก: 517330เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2013 10:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มกราคม 2013 15:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

.....ด้วยตัวเด็กเอง   .....เป็นเรื่องยากมาก แต่สมควรต้องทำอย่างยิ่ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท