ขับเคลื่อน ปศพพ. สู่สถานศึกษา: กรุงเทพและปริมณฑล_02 ร่วมเป็น "วิทยากรกระบวนการ" ถอดบทเรียนโรงเรียนศรีวิชัยวิทยา (ต่อ)


วันที่ 17 มกราคม ผมได้มีโอกาสไปเรียนรู้กับ โรงเรียนศรีวิชัยวิทยา จ.นครปฐม  ทำ BAR  ไว้ในบันทึกนี้  เพื่อบันทึกผลการเรียนรู้ของตนเอง จึงเขียนบันทึกนี้เพื่อทำ AAR เผื่อว่าอาจจะมีประโยชน์สำหรับผู้อ่านที่สนใจ 

ผมสรุป Sriwichai's Sufficiency Economy  Model (SSEM) ตามการสังเคราะห์ของตนเอง ได้ดังแผนผังด้านล่างครับ 


Sriwichai_model.bmp

ก่อนจะเข้าสู่โครงการขับเคลื่อนฯ

ผู้บริหารของโรงเรียนกำหนดเป้าหมายชัดตั้งแต่แรก โดยมีแรงบันดาลใจจาก "นโยบาย" ของ สพฐ. ว่า "ต้องการเป็นสถานศึกษาพอเพียง" เมื่อชัดเจน กลุ่มแกนนำซึ่งได้แก่ ทีมบริหารและแกนนำที่นำโดย อ.สุรีย์ และ อ.วารินทร์ จึงได้เริ่มศึกษาหาแนวทางที่จะพัฒนาสู่เป้าหมาย ดังนี้ 

  • ประชุมระดมสมองค้นหาจุดเด่นของตนเอง พบในขณะนั้น (ปี  2549) ว่าสิ่งที่เด่นที่สุด คือ "ผลงานของนักเรียน เช่น สิ่งประดิษฐ์ต่างๆ จากโครงงาน ฯลฯ 
  • เริ่มขับเคลื่อน โดยให้ครูทุกคนทำแผนการสอนบูรณาการเศรษฐกิจพอเพียงอย่างน้อย 1 หน่วยการเรียน แล้วรวมเล่มเป็น แผนจัดการเรียนรู้บูรณาการเศรษฐกิจพอเพียง 
  • รับการประเมิน "สถานศึกษาพอเพียงรอบแรก" ได้รับชุมว่า สิ่งที่เป็นจุดเด่นที่สุดคือ "การบริหารจัดการภายในโรงเรียน" ที่แต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้มีเอกภาพในการทำงานสูง 
  • ผอ. จึงใช้กลุ่มสาระการเรียนรู้ เป็นแกนในการขับเคลื่อน โดยผู้อำนวยการและครูแกนนำเป็นผู้ขับเคลื่อนทีมหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยเริ่มจาก การกำหนดวิสัยทัศน์ให้ชัดเจน แล้วสื่อสารทำความเข้าใจกับกลุ่มสาระให้เข้าใจเป้าหมายตรงกัน 
  • ให้ทุกกลุ่มสาระทำแผนการสอนบูรณาการเศรษฐกิจพอเพียงที่เกี่ยวข้องกับ "ชะอม"  โดยบูรณาการทรัพยากรต่างๆ ทั้งภายในโรงเรียน และภายนอกโรงเรียน เช่น ปราชญ์ชาวบ้า หรือผู้รู้ต่างๆ  โดยกำหนดให้ หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้เป็นผู้รับผิดชอบ 
  • รับการประเมินรอบสอง ปี 2550 ผ่านเป็น "สถานศึกษาพอเพียง" และเข้าร่วมโครงการของมูลนิธิสยามกัมมาจล 
  • ขับเคลื่อนร่วมกับมูลนิธิตามแผนผัง ศรีวิชัยโมเดล 
อธิบายแผนผัง ศรีวิชัยโมเดล
รูปแบบการขับเคลื่อนของโรงเรียนศรีวิชัยอาจแบ่งได้เป็น 3 ขั้นตอน ตามยุทธศาสตร์ของโรงเรียน อ่านได้ที่นี่ครับ 
ผมสังเคราะห์ใหม่เป็นดังนี้ครับ 
  • ขั้นปรับกระบวนทัศน์ 
  • ขั้นปรับ"กระบวนการ" 
  • ขั้นปฏิบัติบูรณาการ
ขั้นปรับกระบวนทัศน์ เริ่มที่การกำหนดวิสัยทัศน์ให้ชัดเจน "โรงเรียนศรีวิชัยวิทยาเป็นโรงเรียนมาตรฐานสากล บนพื้นฐานคุณธรรม นำความรู้ และเศรษฐกิจพอเพียง" ว่าโรงเรียนจะใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นสำคัญในการบริหารจัดการ จากนั้นเริ่ม กระบวนการปรับกระบวนทัศน์ หรือ "วิธีคิด" ของครู โดยการฝึกอบรม ศึกษาดูงาน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อปรับกระบวนการเรียนรู้ สร้างเจตคติ เสริมแรงบันดาลใจ ปรับพฤติกรรม เพิ่มเติมศักยภาพโดยเฉพาะด้านการเขียนแผนการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เรียนรู้จากตัวอย่าง จากแนวปฏิบัติที่ดี กระบวนการปรับกระบวนทัศน์นี่สำคัญมากต่อการทำงานอย่างมีความสุขของครู 
ขั้นปรับ "กระบวนการ" โรงเรียนศรีวิชัย ใช้วิธีใช้ แผนการจัดการเรียนาการสอนเป็นเครื่องมือ หัวหน้ากลุ่มสาระจะต้องรับผิดชอบ ให้ครูทุกคนสามารถออกแบบการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการตามที่กำหนด โดยผู้อำนวยการลงมาล้วงลึก ตรวจ เสริม เติม หนุน ด้วยตนเอง โดยมีคำสัญว่า "เป็นแผนฯ บูรณาการตามมาตรฐานในหลักสูตร" ซึ่งตามหลักสูตร ปี 2551 ได้บรรจุไว้อย่างชัดเจน  ในขั้นตอนนี้ ทางโรงเรียนจัดให้มีการประชุมประจำเดือนสำหรับครูทั้งโรงเรียน และประชุมประจำอาทิตย์ในแต่ละกลุ่มสาระ หรือบางกลุ่มสาระก็ประชุมกันอย่างไม่เป็นทางการประจำวัน 
ในขั้นปฏิบัติบูรณาการนั้น ทางโรงเรียนได้นำความรู้ต่างๆ ที่ได้จากทั้งที่ไปฝึกอบรม ศึกษาดูงาน และแลกเปลี่ยนระดมสมองกันภายในกลุ่มสาระ จัดทำฐานการเรียนรู้ และกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ ขึ้น โดยมอบหมายให้ กลุ่มสาระสังคมศึกษา เป็นผู้รับผิดชอบในด้านความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทฤษฎีเกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ส่วนกลุ่มสาระอื่นๆ ให้ครูทุกคนนำหลักปรัชญาฯ มาสอนแทรกโดยเน้นให้นักเรียนเกิดอุปนิสัยพอเพียง "โดยไม่รู้ตัว" กิจกรรมที่โดดเด่นของศรีวิชัย คือการจัดการเรียนการสอนที่ส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน โดยเฉพาะ คลีนิกภาษาไทย และคลีนิคคณิตศาสตร์ นอกจากนั้นยังไม่กิจกรรมต่างๆ ตามความเชี่ยวชาญของครูผู้สอน เช่น การทำการ์ตูนสามมิติ การทำผลิตภัณฑ์อื่นๆ โดยผ่านกิจกรรมสำคัญคือ "กิจกรรมส่งเสริมการหารายได้ระหว่างเรียน" 
ปัจจัยของความสำเร็จ มีดังต่อไปนี้ครับ 

  • ผอ.ทิพวรรณ ยิ้มสวัสดิ์ คือปัจจัยแรก สิ่งที่ท่านทำแล้ว และสำเร็จ เพราะ 
    • ท่านมีศักยภาพในการจัดการเรียนการสอนสูงมาก สามารถตรวจแผนการสอนของครูด้วยตนเอง สามารถแนะนำครูได้ถึงขั้นตอนการปฏิบัติ หรือ "เป็นที่พึ่งได้ทุกขั้นตอน" 
    • กำหนดวิสัยทัศน์ชัด กำหนดเป้าหมายให้ทุกคนในโรงเรียนชัดเจนร่วมกัน 
    • ใช้ทรัพยากรทุกอย่างที่มี ทั้ง "คน" "เงิน" และ "เวลา" บูรณาการกันสู่เป้าหมายนั้น 
    • เป็นผู้ขับเคลื่อนด้วยตนเอง สั่งการด้วยตนเอง กำกับติดตามด้วยตนเองทุกขั้นตอน 
  • มีทีมแกนนำที่รู้เข้าใจ และมีศักยภาพด้านการจัดการความรู้ 
  • มี "ครูพอเพียง" อยู่ก่อนแล้วหลายคน ผมเรียกครูกลุ่มนี้ว่า "ครูเพื่อศิษย์" คือ ระเบิดจากข้างในอยู่แล้ว ท่านเหล่านี้จะพูดบ่อยๆ ว่า "....แต่ก่อนเราไม่รู้ว่า สิ่งที่เราทำอยู่คือ การนำหลักปรัชญาฯ มาใช้...." 
สรุปสั้นๆครับ   "ผอ. เอาจริง" 

หมายเลขบันทึก: 516933เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2013 15:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2013 07:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท