510. มงคลชีวิตและ "จิต" แห่งอนาคต


ในวันเด็ก อยากทำอะไรเกี่ยวกับเด็ก เข้าร้านหนังสือก็เลยได้หนังสือมาเล่มหนึ่ง ชื่อว่า มงคบชีวิต 38 ประการ โดยสำนักพิมพ์ NANMEEBOOKS แรกเลยที่ซื้อเพราะเป็นเรื่องธรรมะสำหรับเด็ก ดูเข้าไปแล้วภาพประกอบสวย พออ่านก็โดนใจมากๆ ครับ เพราะชาดกสนุกนี้ แถม เนื้อหาก็สอดคล้องกับวิถีชีวิตใหม่ จริงแล้วเอามาอ่านเอง ก็ไม่ได้หวังว่าจะเอาให้ลูกอ่าน แต่เพราะอยากศึกษาเรื่องราวดีๆ ในทางธรรมครับ

ก็มาเจอบทหนึ่งคือ มงคลที่ 22 เรื่องการมีความเคารพ น่าสนใจมากๆ เพราะพูดถึงชาดก เรื่องเพื่อนสามตัว ที่คบหากันอย่างมีความสุข คือช้าง ลิง และนกกระทา ทั้งสามไปไหนไปกันมีนกกระทาตัวจ้อยเป็นหัวหน้า ทั้งสามให้เกียรติและเห็นความสำคัญกันมาก ดังนั้นเวลาไปในป่า ป่ารก มากๆ ช้างก็จะพาทั้งสองลุยไป เจอแหล่งอาหารอยู่สูงมากๆ เจ้าลิงก็คอยช่วยเอาอาหารมาให้ ส่วนนกกระทามีตาแหลมคม

บินได้สูง ก็จะคอยระแวดระวังภัยและเตือนภัยเพื่อนๆ ก็ไปดูเรื่องเต็มในเล่มเองอีกครับ ผมจะค่อยๆ เขียนทะยอยๆ มา และท้ายสุด พระมหาบวรศิลป์ รัตนโชโต ได้สรุปเรื่องความเคารพไว้ว่า การเคารพไม่ใช่แค่การไหว้ภายนอกเท่านั้น หากแต่เป็นการเคารพจากภายใน คือการตระหนักในคุณค่า ความดีของผู้ที่เราเคารพ

ในมุมมองของผม เมื่อเราย้อนกลับไปดูที่ชาดก จะเห็นว่าเมื่อเราตระหนักถึงคุณค่าของผู้อื่น เราจะสามารถดึงการมีส่วนร่วม ดึงเอาจุดแข็งของแต่ละคนมาใช้ได้ดีกว่า ทำให้เราไปได้ไกลและมีความสุขครับ

เรื่องนี้ทำให้ผมคิดถึงหนังสือเรา Five Minds of the Future (ไฟว์ไมน์อ๊อฟเดอะฟิวเจอร์) ที่เขียนโดยนักจิตวิทยาคนสำคัญของโลกคือ Howard Gardner โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ นักคิดคนสำคัญท่านนี้ได้สังเคราะห์ความรู้ จนเกิดเป็นแนวคิดที่ได้เตือนคนทั้งโลกว่า ตอนนี้โลกเปลี่ยนไป ด้วยปริมาณข้อมูลมหาศาล ความเปลี่ยนแปลงที่บ้าคลั่ง ทำให้เราต้องเตรียมตัว เตรียมใจให้พร้อมกับโลกอนาคต โดยเสนอทฤษฎีจิตแห่งอนาคต ครับ โดยมนุษย์ต้องพัฒนาตนเองให้มีคุณสมบัติห้าประการ ดังนี้



Ref: http://www.slideshare.net/cliotech/challenge-based...

ในมุมมองของผม มงคลข้อนี้ตรงกับ Respectful Mind เรสเป็กฟูลมายด์ของ Five Mind of the Future ครับ คือการเคารพความแตกต่าง และเห็นคุณค่าของมนุษยชาติครับ คำถามคือ เห็นแล้วดีอย่างไร ก็กลับไปดูตัวอย่างที่ชาดกครับ คือเราจะสามารถดึงศักยภาพคนรอบตัวมา แก้ปัญหาความท้าทายต่างๆ ได้ครับ รวมทั้งอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขมากกว่า

จริงแล้วมีงานวิจัยที่เป็นพื้นฐานของ Appreciative Inquiry (AI) ที่ผมใช้ในการทำ OD ของผมก็คือ The Pygmalion Effect ซึ่งเป็นการวิจัยด้านจิตวิทยา โดยได้มีการหลอก ครูให้เชื่อว่าเด็กกลุ่มหนึ่ง มีไอคิวสูง ทั้งที่จริงๆแล้วเด็กที่คัดมามีไอคิวเท่ากัน เวลาผ่านไปหนึ่งปี โดยไม่ได้ทำอะไร เด็กกลุ่มที่ครู “เชื่อ” ว่าเก่ง มีไอคิวสูงขึ้นกว่า 10 จุด นี่พิสูจน์มาตลอด ไม่รู้กี่ครั้ง ที่ไหนก็ตามผลก็เหมือนกัน นี่เป็นการทดลองเรื่องความเคารพ ตามนิยามในมงคล 38 และ Five Minds of the Future ชัดๆเลยครับ




เห็นได้ชัดว่าลิง ช้าง นกกระทาเก่งขึ้นเพราะต่างๆเห็นคุณค่ากันและกัน และให้เกียรติกัน นอกจากนี้การทำงานเป็นทีก็มีนักจิตวิทยาค้นพบอีกครับ ว่าถ้าคนในทีมเห็นคุณค่า ให้เกียรติกันความสามารถในทีมจะสูงขึ้นมากๆ แม้ว่าสมาชิกในทีมอาจมีไอคิวไม่สูงมากนัก เมื่อเคารพกันกลับสร้างผลงานมากว่าคนฉลาดที่ไม่ไว้ใจใคร ไม่เคารพใครทำงานคนเดียวอย่างชัดเจน ดู The Science of Persuasion

นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าคนที่ทำงานคนเดียวจะเสียโอกาสการใช้สมองระบบ Parallel Processing คือประเมินผลแบบคู่ขนาน ขณะที่คนที่ทำงานแล้วเคารพกัน ย่อมเปิดโอกาสให้มีการ Feedback ฟี๊ดแบ๊ค วิจารณ์กันเชิงสร้างสรรค์ตลอด ทำให้ต้องใช้สมองทำงานทีเดียวสองส่วน ที่สุดทำให้ผลงานรวมไปไกลกว่าครับ

ผมชอบชาดกตอนนี้มากๆครับ เพราะแทบจะอธิบายภาพของศาสตร์ด้านการพัฒนาองค์กร (OD หรือ Organization Development) ได้ชัดเจนทีเดียวครับ ในทาง OD เราอาศัยทุกเสียง เราเคารพทุกเสียงครับ บางครั้งเราเรียกแบบฝรั่งว่า “Every voice is heard.” เอฟเวอรี่ย์วอยซ์ อิสเฮิร์ด หมายความว่า เราเคารพ และเห็นคุณค่าของ “ทุกคน” ในองค์กรครับ กระบวนการทาง OD จึงเน้นการมีส่วนร่วมมากๆ ไม่ว่าจะเป็น Action Research, Appreciative Inquiry, KM, Learning Organization, Open Space และWorld Cafe ล้วนแต่ยืนบนฐานเดียวกันคือ การมีส่วนร่วม อย่างเต็มที่ของทุกคน ในการพัฒนาองค์กร สำหรับ Appreciative Inquiry ที่ผมถนัดก็เช่นกันครับ เราเชื่อว่า “ทุกคนทุกระบบมีเรื่องราวดีๆ อยู่ครับ” เราจะถาม เพื่อดึงเรื่องราวดีๆ ออกมาขยายผล ถ้าคุณทำถูกทางคุณจะเห็น “การเคารพ” หรือ “การเห็นคุณค่า” ซึ่งกันและกัน ซึ่งนำมาสู่ความร่วมมือกันสร้างสรรค์ พัฒนาเรื่องราวดีๆ ขึ้นมา

เราจะทำอย่างไรครับจึงดึงคุณค่าออกมาได้ ในศาสตร์ AI เราทำอย่างนี้ครับ

1. สังเกต ค้นหาเรื่องราวดีๆ จากคนอื่น

2. ให้ตั้งคำถามเชิงบวก เช่น “เล่าเรื่องที่คุณภาคภูมิใจที่สุด” ออกมา คุณจะเห็นเรื่องราวดีๆ ที่นำมาสู่การเคารพและเห็นคุณค่ากันครับ

หรือในศาสตร์แห่ง Dialogue เราก็ดึงด้วยการ “ห้อยแขวน” ครับ แล้วสร้างสรรค์ร่วมกันผ่าน U-theory

ลองดูตัวอย่างใน Link ข้างล่างสิครับ เห็นหลายที่แล้วครับ ฟังเรื่องที่ผมเล่าแล้วเกิดภาวะแบบชาดกในมงคลที่ 22 ขึ้นมาทันที

สรุปแล้ว การเคารพกันจากภายใน คือการมองเห็นคุณค่าของคนอื่น ทำให้เรา องค์กรของเรามีพลังสร้างสรรค์อย่างไม่มีขีดจำกัดครับ มาพัฒนาองค์กรให้คน “เคารพกันจากภายใน” ไม่ว่าจะเป็นการเคารพเพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง ลูกค้า คุณคิดดูสิจะเกิดอะไรดีๆ ขึ้นมากมายขนาดไหน

วันนี้ เพียงเล่าให้ฟังครับ ลองพิจารณาดูนะครับ



หมายเลขบันทึก: 516087เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2013 14:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มกราคม 2017 20:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

การนำเสนอดีมาก อ่านเข้าใจไม่ยาก  คนอ่าน อ่านได้ทุกระดับความรู้

ขอบคุณสำหรับสาระอันเป็นประโยชน์  ขอบคุณครับ

เยี่ยมมากครับ ความคิดเชิงบวก


ขอบคุณ​ค่ะอาจารย์​

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท