บทบาทของห้องสมุดและบรรณารักษ์ในศตวรรษที่ 21


 ไปต่างจังหวัดกลับมาก็เห็นอีเมล์เชิญชวนให้เขียนเรื่องเกี่ยวกับ บทบาทของห้องสมุดและบรรณารักษ์ต่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 บังเอิญว่าได้มีโอกาสไปคลุกคลีอยู่กับเรื่อง digital library อยู่พักหนึ่งเมือหลายปีก่อน ก็เลยอยากจะออกความเห็นบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ ครับ

อ้างอิงจากอนุทินของผมที่เอาเรื่องของทักษะสามด้านที่ควรพัฒนาในทศวรรษนี้ คือ ICT, ความคิดสร้างสรรค์และการร่วมไม้ร่วมมือกัน แล้วก็จะสามารถฟันธงได้เลยว่าทั้งบรรณารักษ์และห้องสมุดมีบทบาทอย่างมาก

ผมเคยได้ให้ความเห็นไว้กับบรรณารักษ์ที่ผมรู้จักบางท่านเมื่อหลายปีมาแล้วว่าบทบาทของบรรณารักษ์กำลังจะเปลี่ยนไปเพราะ

1. ทรัพยากรสารสนเทศมีมากมาย และหลากหลายมาก รูปแบบการจัดหมวดหมู่ทรัพยากรสารสนเทศที่เคยใช้มาเช่น Dewies หรือ OCLC อาจจะไม่พอแล้ว  (สมัยนั้นอินเตอร์เน็ตยังไม่มีบทบาทมากมายขนาดนี้ Facebook / Youtube ยังไม่มี Yahoo กำลังดัง และ Google กำลังจะเกิด)

2. สิ่งที่เคยมีกายภาพกำลังจะหายไปเหลือแต่ Bits กับ Bytes (ตอนนั้นเริ่มมีโครงการ Digitization หนังสือกันแล้ว)

3. คนไม่อยากเข้าห้องสมุด (เพราะอะไรไม่ทราบ) แต่อยากจะอ่านอยากจะค้นมากขึ้น แต่การเข้าถึงทรัพยากรสารสนเทศสมัยนั้นยังไม่ง่ายดายเหมือนสมัยนี้ (ADSL ยังไม่มี  3G หรือ WiFi ไม่ต้องพูดถึง)

4. สื่อผสมมีบทบาทมากขึ้นอย่างชัดเจน (ปัจจุบันไม่ต้องพูดถึง เห็นกันชัดเจนมาก) หากท่านเคยไปชมงานสัปดาห์หนังสือก็จะได้พบว่าหลายสำนักพิมพ์ได้มีการบอกรับสมาชิกแบบออนไลน์กันแล้ว

5. คนจะผลิตเนื้อหา (content) มาตรฐานที่เคยใชักันในวงการบรรณารักษ์ จะไม่มีใครสนใจใช้ ถึงแม้ว่าจะดีแต่ใช้และเรียนรู้ยาก คนที่ผลิตเนื้อหาจะใช้กระบวนการจัดการสารสนเทศตามแบบของตัวเอง สิ่งที่ตามมาคือมาตรฐานใหม่ในการจัดระเบียบเนื้อหาคือ "metadata " และ "semantic "


เรื่องของ metadata และ semantic ไม่ใช่ของใหม่อะไร บรรณารักษ์ใช้สองสิ่งนี้มาตลอด (น่าจะเริ่มตั้งแต่มีห้องสมุดขึ้นมาบนโลก) เพียงแต่ในปัจจุบันจะมีการเพิ่มคุณสมบัติเรื่อง dynamic เข้าไปเพื่อให้มันอ่อนตัวมากขึ้น

Google และ Wikipedia รวมถึงผู้ให้บริการอีกหลายรายกำลังทำหน้าที่เป็นบรรณารักษ์ของโลกไปแล้ว อีกทั้ง เขายังสามารถดึงเอาความรู้ที่ฝังอยู่ในตัวคนออกมาใช้ประโยชน์ได้อย่างไม่เคยมีมาก่อน (เหมือนที่ gotoknow ทำอยู่เลย)  ผมนึกภาพไม่ออกว่าคนทำงานพัฒนาซอฟต์แวร์ (ที่เป็นอาชีพเดียวกับผม) หากไม่ใช้บริการของสองเจ้านี้แล้วทำงานเสร็จได้ยังไง มีนักศึกษาที่ทำโครงงานส่งก่อนจบการศึกษาปริญญาตรีสาขาสารสนเทศบางคนเข้าห้องสมุดเพียงสองครั้งคือตอนไปค้นเอกสารเดิมของรุ่นพี่กับตอนที่ทำรูปเล่มเสร็จแล้วเท่านั้น นอกนั้นนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์แล้ว research ผ่านอินเตอร์เน็ตทั้งหมด จากพฤติกรรมที่ผมสังเกตุเองใกล้ ๆ ตัวมันบ่งบอกว่า "คนยุคนี้พึงพาบรรณารักษ์น้อยลง" ทั้งนี้อาจเป็นเพราะทักษะทางด้าน ICT, การทำงานร่วมกันและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน (Social Network) ของคนยุคนี้พัฒนาขึ้นมากกว่าแต่ก่อนจน "ความต้องการ ตัวกลาง" ในการเข้าถึงทรัพยากรสารสนเทศที่เป็นมนุษย์นั้นกระจายตัวไปในฝูงชนในโลกไซเบอร์ไปหมด จากที่ว่าต้องเป็นคนนั้นคนนี้ก็กลายเป็น "ใครก็ได้" ไป

แต่ถ้าพิจารณาดูต่อไปมนุษย์ต้องการบริโภค "ความรู้" มากขึ้น เพราะการดำเนินชีวิตมันซับซ้อนขึ้นเราต้องการความรู้ใหม่ ๆ ไปช่วยแก้ปัญหามากขึ้น แต่การได้มาซึ่ง "ความรู้" โดยอาศัย ICT และ Social นั้นยังไม่พอ เพราะเครื่องจักรที่เราใช้งานกันนั้นมันไม่มีวิจารณญาณ มันอาจจะหาความรู้แต่มันยังไม่สามารถหา "บริบท" ของความรู้มาให้ได้ ความรู้จะมีประสิทธิภาพได้ก็ต้องอยู่ในบริบทที่เหมาะสมด้วย  ผมเลยมีความเห็นว่านี่น่าจะเป็นช่องว่างที่บรรณารักษ์ในศตวรรษที่ 21 เข้ามามีบทบาทตรงนี้ได้ คือเป็นตัวกลางประสานระหว่าง "ความรู้" กับ "บริบท" หรือการเชื่อมโยง "ความรู้" เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้มากขึ้นก็ได้นะครับ ทางหนึ่งที่น่าจะทำได้คือการล้อกระบวนการทำงานของ Google หรือ Wikipedia ที่ใช้ประโยชน์จาก metadata และ semantic




คำสำคัญ (Tags): #ห้องสมุด
หมายเลขบันทึก: 515311เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2013 18:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มกราคม 2013 09:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท