มหาธี
อาจารย์ ธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี

อำนาจพิเศษของจิตใจ


 

โครงการธรรมศึกษาวิจัย

อำนาจพิเศษทางใจ

: ศึกษาจากคัมภีร์พระไตรปิฎก

อรรถกถา ฎีกาตลอดจนคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา

ธีรวัส  บำเพ็ญบุญบารมี

ผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์คัมภีร์

มหาบัณฑิตสาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

ธรรมศึกษาวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาค้นคว้าเพื่อเป็นหลักฐานทางวิชาการ

ทางพระพุทธศาสนาตามหลักสูตรวิจัยคัมภีร์พระพุทธศาสนา มูลนิธิเบญจนิกาย  พุทธศักราช  ๒๕๕๐ พิมพ์ครั้งที่ ๑๕๐๐ เล่ม เพื่อเป็นธรรมทานไม่สงวนลิขสิทธิ์

อำนาจพิเศษทางใจหรือที่เรียกว่า อภิญญา นั้นมี ๕ อย่าง

อภิญญา ที่ต้องอาศัยรูปาวจรปัญจมฌานเป็นบาทให้เกิด นั้นมี ๕ ประการ ดังปรากฏในคาถาสังคหะ คาถาที่ ๑๐ ว่า

  อิทฺธิวิธํ ทิพฺพโสตํ  ปรจิตฺตวิชฺชานนา

  ปุพฺเพนิวาสานุสฺสติ  ทิพฺพจกฺขูติ ปญฺจธา ฯ

อภิญญา ๕ คือ อิทธิวิธ ทิพพโสต ปรจิตตวิชชานน ปุพเพนิวาสานุสสติ ทิพพจักขุ

อธิบาย

อภิญญา แปลว่า รู้ยิ่ง รู้พิเศษ ซึ่งมีความหมายในที่นี้ว่า เป็นญาณที่ประกอบด้วยรูปาวจรปัญจมฌาน สามารถให้เกิดความรู้อันยิ่งใหญ่ เกิดความรู้พิเศษ ถึงกับบันดาลให้เกิดสิ่งที่ตนปรารถนาได้

อภิญญา มี ๒ ประเภท คือ โลกุตตรอภิญญา และ โลกียอภิญญา

โลกุตตรอภิญญา มีอย่างเดียว คือ อาสวักขยญาณ รู้วิชาที่ทำให้สิ้นกิเลส อาสวะ องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิกที่ในอรหัตตมัคคจิตโดยเฉพาะเท่านั้น เป็นอภิญญาที่ไม่ต้องอาศัยรูปาวจรปัญจมฌานเป็นบาท

ส่วน โลกียอภิญญา เป็นอภิญญาที่ต้องอาศัย โลกียจิตคือ รูปาวจรปัญจมฌานเป็นบาท มี ๕ อย่าง มีชื่อว่า อิทธิวิธะ ทิพพโสต ปรจิตตวิชชานน ปุพเพนิวาสานุสสติ ทิพพจักขุ และมีรายละเอียดแต่ละอย่าง คือ

๑. อิทธิวิธอภิญญา หรือ อิทธิวิธญาณ เป็นความรู้ที่แสดงฤทธิได้ (ฤทธิ=ความสำเร็จ) ซึ่งจำแนกออกได้เป็น ๑๐ คือ

(๑) อธิฏฐานอิทธิ ความสำเร็จที่เกิดจากการอธิฏฐาน การตั้งความปรารถนาอย่างแรงกล้า เช่น คนเดียวเนรมิตให้เป็นหลายคน ตัวอย่าง พระจุฬปัณถกเถระเจ้า อธิฏฐานให้เป็นพระหลายรูปจนเต็มไปทั้งวัด

(๒) วิกัพพนอิทธิ ความสำเร็จด้วยการจำแลงกายให้เป็นคนแก่ ให้เป็นเด็ก ให้เป็นเสือ เป็นช้าง เช่น พระโมคคัลลาน์ แปลงกายเข้าไปทางปากไปเดินอยู่่ในท้องของ นันโทปนันทพยานาค แม้พยานาคนั้นจะมีฤทธิและมีพิษมากเพียงใด ก็ไม่สามารถทำอันตรายได้

(๓) มโนมยอิทธิ ความสำเร็จด้วยอำนาจกำลังใจที่ยิ่งใหญ่เป็นพิเศษ เช่น พระพุทธองค์ทรงบันดาลให้พระสรีระใหญ่โตมาก เป็นการสำแดงให้อสุรินทรยักษ์ผู้ตำหนิพระองค์ว่าทรงมีรูปร่างเล็ก เพราะเป็นมนุษย์นั้นได้เห็น ที่พระพุทธองค์ทรงกระทำได้ดังนี้ ก็เพราะทรงมีอิทธิทางมโนสูงยิ่ง

อิทธิทั้ง ๓ ข้อนี้เป็นอิทธิวิธญาณโดยตรง อันจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยอำนาจแห่งอภิญญา ที่มีรูปาวจรปัญจมฌานเป็นบาท

(๔) ญาณวิปผารอิทธิ ความสำเร็จที่ป้องกันอันตรายต่าง ๆ ได้ เช่น พวกโจรจับสามเณรสังกิจจะไป เพื่อจะฆ่าทำเครื่องเซ่นสังเวย ขณะที่โจรจะฆ่า สังกิจจะสามเณรได้เข้านิโรธสมาบัติ โจรจึงฆ่าไม่ตาย ทั้งไม่เป็นอันตรายอย่างใด ๆ ด้วย พวกโจรเลยยอมเป็นศิษย์

(๕) สมาธิวิปผารอิทธิ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจสมาธิ เช่น นันท ยักษ์ตีพระสารีบุตรด้วยกระบองเพ็ชร แต่พระสารีบุตรไม่เป็นอันตราย แม้แต่จะรู้สึกเจ็บก็ไม่มี ส่วนนันทยักษ์เมื่อตีแล้วก็ถูกธรณีสูบไปเลย

(๖) อริยอิทธิ ความสำเร็จที่เกิดจากความไม่หวั่นไหวต่อกิเลส เช่น พระอริย บุคคลที่สามารถวางเฉยต่ออิฏฐารมณ์ อารมณ์อันเป็นที่ชอบใจและอนิฏฐารมณ์ อารมณ์อันไม่เป็นที่ชอบใจ

(๗) กัมมชอิทธิ บ้างก็เรียกว่า กัมมวิปากชอิทธิ ความสำเร็จที่เกิดจากกรรม เช่น เทวดาวินิปาติกบางพวก และนก ไปมาในอากาศได้โดยไม่ต้องมีฌานมีอภิญญา เป็นความสำเร็จด้วยอำนาจกรรมในปฏิสนธิ

(๘) บุญญวโตอิทธิ บ้างก็เรียกว่า บุญญอิทธิ ความสำเร็จที่เกิดจากบุญของเขา เช่นการเป็นพระเจ้าจักรพรรดิเป็นต้น เป็นความสำเร็จด้วยอำนาจกรรมในปวัตติ

(๙) วิชชามยอิทธิ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นด้วยวิชา มีคาถาอาคมต่าง ๆ ตลอดจนมีเข้าเจ้าทรง

(๑๐) ตัตถตัตถสมาปโยคปัจจยอิทธิ บ้างก็เรียกว่า อิชฌนัฏเฐนอิทธิ ความสำเร็จที่เกิดจากความพากเพียรอย่างจริงจัง เป็นความสำเร็จที่เกิดจากการ กระทำ เช่น พากเพียรเจริญสมถภาวนา ก็สำเร็จถึงฌาน เมื่อถึงฌานแล้วก็ให้สำเร็จไปเกิดเป็นพรหม

ได้กล่าวแล้วว่า อิทธิข้อ (๑) ถึงข้อ (๓) รวม ๓ ข้อ เป็น อิทธิวิธญาณโดยตรง คือ เป็นอิทธิิฤทธิที่เกิดขึ้นเพราะอภิญญา เป็นอานิสงส์ของสมาธิ ส่วนอิทธิ ข้อ (๔) ถึงข้อ (๑๐) รวม ๗ ข้อนั้น สำเร็จด้วยการกระทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่ฌาน ไม่ใช่อภิญญา ไม่ใช่อิทธิวิธญาณอันเกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งอภิญญาที่มีรูปาวจรปัญจมฌานเป็นบาท แต่ที่นำมากล่าวไว้ด้วยก็เพื่อจะได้ทราบครบจำนวนของอิทธิ

๒. ทิพพโสตญาณ คือ หูทิพย์ ที่สามารถได้ยินเสียงที่ไกลมาก หรือเสียงที่เบาที่สุดได้ ซึ่งตามปกติแล้ว หูอย่างธรรมดาสามัญไม่สามารถที่จะได้ยินเสียงเช่นนั้นได้เลย

หูทิพย์จำแนกได้เป็น ๒ จำพวก คือ เป็นทิพย์โดยกำเนิดด้วยอำนาจของสุจริตกรรม เช่น เป็นเทวดา เป็นพรหม นั้นเป็นผู้ที่มีหูทิพย์ ได้ยินเสียงที่ไกลมากนั้นได้นี่พวกหนึ่ง อีกพวกหนึ่งเป็นทิพย์ด้วยอำนาจแห่งภาวนาที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้

วิธีบำเพ็ญให้เกิดทิพพโสตญาณนี้ ชั้นต้นให้นึกถึงเสียงที่ไกล ๆ หยาบ ๆ เช่น เสียงฆ้อง กลอง ระฆัง เหล่านี้เป็นต้นก่อน ต่อไปก็ให้ใส่ใจในเสียงทั้งที่หยาบและที่ละเอียด ไกลมากขึ้น ละเอียดยิ่งขึ้นทุกที จนทิพพโสตเกิดขึ้นทางมโนทวาร คือได้ยินเสียงนั้นทางใจชัดเจน เหมือนหนึ่งว่าได้ยินกับหู ได้ยินทั้งเสียงที่ใกล้ เสียงที่เบาจนกระซิบ เสียงที่ไกล ทั้งเสียงธรรมดา และเสียงทิพย์ทุกอย่างที่ปรารถนาจะได้ยิน

๓. ปรจิตตวิชานนญาณ หรือ เจโตปริยญาณ ญาณที่รู้จิตใจผู้อื่น ซึ่งเกิดขึ้นได้ด้วยอาศัยทิพพจักขุอีกต่อหนึ่ง และทิพพจักขุก็เกิดขึ้นจากการเจริญเตโชกสิณ โอทาตกสิณ อากาสกสิณ หรือ อาโลกกสิณ กสิณใดกสิณหนึ่งใน ๔ กสิณนี้เป็นบาทมาก่อน เมื่อมีทิพพจักขุแล้วจึงจะทำให้เกิด เจโตปริยญาณได้

วิธีบำเพ็ญให้เกิด เจโตปริยญาณ ต้องอาศัยเช่น อาโลกกสิณ เป็นต้น เป็นบาท ก็จะเกิดทิพพจักขุเห็นสีของน้ำ คือ หทยวัตถุอันเป็นที่อาศัยให้เกิดจิต ถ้าเห็นน้ำนั้นเป็นสีแดงขณะนั้นจิตใจของผู้นั้นเป็นโสมนัส น้ำเป็นสีดำจิตเป็นโทมนัส น้ำเป็นสีน้ำมันงาจิตเป็นอุเบกขา เมื่อรู้สมุฏฐานดังนี้แล้ว ก็พึงกระทำเพื่อให้รู้แจ้งโดยเจโตปริยญาณ ในอาการของจิต ๑๖ อย่าง มีจิตที่มีราคะ จิตที่ไม่มีราคะ จิตที่มีโทสะ จิตที่ไม่มีโทสะ เหล่านี้เป็นต้น เช่นเดียวกับใน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดังที่กล่าวไว้ในคู่มือ ปริจเฉทที่ ๗ นั้นแล้ว

(จิต ๑๖ อย่าง มี ๑.จิตที่มีราคะ ๒.จิตที่ไม่มีราคะ ๓.จิตที่มีโทสะ ๔.จิตที่ไม่มีโทสะ ๕.จิตที่มีโมหะ ๖.จิตที่ไม่มีโมหะ ๗.จิตที่มีถีนมิทธะ ๘.จิตที่ฟุ้งซ่าน ๙.จิตที่เป็นรูปาวจร อรูปาวจร ๑๐.จิตที่ไม่ใช่รูปาวจร อรูปาวจร (หมายถึง กามาวจร) ๑๑.จิตที่เป็นกามาวจร ๑๒.จิตที่ไม่ใช่โลกุตตร(หมายถึง รูปาวจร และอรูปาวจร) ๑๓.จิตที่เป็นสมาธิ ๑๔.จิตที่ไม่เป็นสมาธิ ๑๕.จิตที่ประหารกิเลส พ้นกิเลส ๑๖.จิตที่ไม่ได้ประหารกิเลส ไม่พ้นกิเลส)

๔. บุพเพนิวาสานุสสติญาณ การระลึกชาติแต่ปางก่อนได้ ว่าชาตินั้น ๆ ได้เกิดเป็นอะไรมาแล้ว มีการจำแนกตามความสามารถในการระลึกชาติได้นั้น ไว้เป็น ๖ อย่างได้แก่

พวกเดียรถีย์ คือ นักบวชภายนอกพระพุทธศาสนา ระลึกชาติได้ ๔๐ กัปป์

ปกติสาวก คือ พระอริยบุคคลสามัญทั่วๆไประลึกชาติได้ ๑๐๐ถึง๑๐๐๐ กัปป์

มหาสาวก คือ พระอรหันต์ที่มีวุฒิเป็นเลิศในทางใดทางหนึ่ง (ซึ่งมีรวมจำนวน ๘๐ องค์) ระลึกชาติได้ ๑ แสนกัปป์

อัคคสาวก คือ พระโมคคัลลาน์และพระสารีบุตร อัคคสาวกซ้ายขวา ระลึกชาติได้ ๑ อสงขัยกับ ๑ แสนกัปป์

พระปัจเจกพุทธเจ้า ระลึกชาติได้ ๒ อสงขัยกับ ๑ แสนกัปป์

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ระลึกชาติได้ โดยไม่มีกำหนดขีดขั้น

การระลึกชาติได้ของพวกเดียรถีย์นั้น ระลึกได้ตามลำดับของขันธ์ติดกันไป ข้ามลำดับไม่ได้คือระลึกได้ตามลำดับชาติ จะระลึกข้ามไปชาติโน้นชาตินี้ตามชอบใจ ที่ไม่เรียงตามลำดับนั้นไม่ได้

วิธีบำเพ็ญให้เกิดบุพเพนิวาสานุสสติญาณ ในขั้นแรกให้นึกถึงอิริยาบถนั่งครั้งสุดท้ายในวันนั้นก่อน ต่อจากนั้นก็ให้นึกถึงการงานที่ได้กระทำไปแล้วนั้นย้อนถอยหลังไป ตั้งแต่วันหนึ่ง สัปดาห์หนึ่ง เดือนหนึ่ง ปีหนึ่ง ต่อ ๆ ขึ้นไป จนกระทั่งถึงปฏิสนธิ ต่อไปอีกถึงรูปนามที่เป็นไปในขณะจุติในภพก่อน ดังนี้ ตลอดจนร้อยชาติพันชาติ

ถ้าหากตอนไหนระลึกไม่ได้หรือไม่ชัด ก็ต้องเข้าฌานบ่อย ๆ ออกจากฌานแล้วก็ระลึกอีก จนกว่าจะชัดแจ้งตลอดไปตามกำลังของปัญญา

๕. ทิพพจักขุญาณ ตาเป็นทิพย์ สามารถเห็นสิ่งที่อยู่ไกลมากหรืออยู่ในที่กำบังต่าง ๆ นั้นได้ ซึ่งตามปกติแล้วนัยน์ตาอย่างธรรมดาสามัญไม่สามารถที่จะเห็นเช่นนั้นได้เลย เป็นการเห็นทางมโนทวารโดยชัดเจนเหมือนกับว่าเห็นด้วยนัยน์ตาจริง ๆ (อย่างฝันก็ไม่ได้เห็นด้วยนัยน์ตา แต่ก็ชัดเจนแจ่มแจ้งเหมือนกัน) ทิพพจักขุจะเกิดได้ด้วยกสิณ ๔ คือ เตโชกสิณ โอทาตกสิณ อากาสกสิณ อาโลกกสิณ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้

จุตูปปาตญาณ เป็นอภิญญาที่สามารถรู้จุติและปฏิสนธิของสัตว์ทั้งหลายใน ๓๑ ภูมิ อภิญญานี้เกิดขึ้นโดยทิพพจักขุเป็นบาท และไม่ต้องมีการบริกรรมเป็นพิเศษอีกต่างหากแต่อย่างใดเลย เมื่อทิพพจักขุเกิดขึ้นแล้ว ก็เป็นแต่เพียงตั้งอธิฏฐานน้อมใจไปในการจุติและปฏิสนธิของสัตว์ทั้งหลายนั้น ๆ ก็็จะรู้ได้

ด้วยเหตุนี้ จึงถือว่า ทิพพจักขุญาณและจุตูปปาตญาณนี้เป็นอภิญญาเดียวกัน จะเรียกชื่อใดชื่อเดียวก็พึงเข้าใจว่ามีความหมายทั้ง ๒ อย่าง คือ ตาทิพย์ และรู้จุติปฏิสนธิของสัตว์ทั้งหลายด้วย

อนึ่ง ทิพพจักขุญาณ หรือจุตูปปาตญาณ นี้ยังมีญาณอื่นที่อาศัยเป็นบาทให้เกิดอีก ๒ ญาณ คือ

ก. ยถากัมมุปคญาณ เป็นญาณที่รู้ว่าสัตว์ที่เข้่าถึงความสุขและความทุกข์นั้น เพราะได้ทำกรรมอะไรมา

ข. อนาคตังสญาณ เป็นญาณที่รู้ในกาลต่อไปทั้งของตนเองและของผู้อื่นว่า จะเป็นไปอย่างนั้น ๆ นับตั้งแต่ล่วงหน้าไปอีก ๗ วัน จนถึงไม่มีที่สุด แล้วแต่กำลังของสมาธิว่าจะมีความสามารถเพียงใด

อภิญญา ญาณ วิชา

คำว่า อภิญญา นี้บางทีก็ใช้ว่า ญาณ หรือ วิชา แทนกันได้เพราะเป็นไวพจน์แก่กันและกัน เช่นกล่าวว่าญาณ ๓ หรือ วิชา ๓ ซึ่งเป็นองค์แห่งพระสัมมาสัมโพธิญาณ ก็ได้แก่

๑. บุพเพนิวาสานุสสติญาณ   ระลึกชาติได้

๒. ทิพพจักขุญาณ หรือ จุตูปปาตญาณ   ตาทิพย์ และรู้จุติปฏิสนธิของสัตว์ทั้งหลาย

๓. อาสวักขยญาณ   รู้วิชาที่ทำให้สิ้นกิเลสและอาสวะ

ถ้ากล่าวถึง อภิญญา ๖ ญาณ ๖ หรือ วิชา ๖ ก็ให้เพิ่มอีก ๓ คือ

๔. ปรจิตตวิชานน หรือ เจโตปริยญาณ   รู้จิตใจผู้อื่น

๕. ทิพพโสตญาณ   หูทิพย์

๖. อิทธิวิธญาณ   สำแดงฤทธิได้

เฉพาะหมายเลข ๓ อาสวักขยญาณ เป็นอภิญญาที่ไม่ได้อาศัยรูปาวจรปัญจมฌานเป็นบาทให้เกิด แต่เป็นอภิญญาที่อาศัยเกิดจาก อรหัตตมัคคจิต จึงเรียกว่า โลกุตตรอภิญญา ส่วนที่เหลืออีก ๕ เป็นอภิญญาที่ต้องอาศัยรูปาวจรปัญจมฌาน อันเป็นโลกียจิตเป็นบาทให้เกิด จึงเรียกว่า โลกียอภิญญา

อย่าว่าแต่จะได้ถึงซึ่งอภิญญาเลย แม้การเจริญสมถกัมมัฏฐาน จนกว่าจะได้ฌานนั้น ก็มิใช่ว่าจะกระทำได้โดยง่ายดายนัก ต้องมีใจรักอย่างที่เรียกว่า มีฉันทะมีความพอใจเป็นอย่างมาก มีความพากเพียรเป็นอย่างยิ่ง ประกอบด้วยเอาใจจิตใจจ่ออย่างจริงจัง ทั้งต้องประกอบด้วยปัญญารู้ว่าฌานนี้ก็เป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นบาทที่ก้าวขึ้นไปสู่ความหลุดพ้น แล้วจึงตั้งหน้าเจริญภาวนาตามวิธีการจนเกิดฌานจิต ฌานจิตที่เกิดจากการปฏิบัติเช่นที่ได้กล่าวแล้วทั้งหมดนี้ มีชื่อเรียกว่า ปฏิปทาสิทธิฌาน เป็นการได้ฌานด้วยการประพฤติปฏิบัติ ได้ฌานด้วยการเจริญสมถภาวนา

ยังมีบุคคลอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งไม่ได้เจริญสมถภาวนามาก่อน แต่ว่า เมื่อได้เจริญวิปัสสนาภาวนาแต่อย่างเดียวมาตามลำดับ จนบรรลุอรหัตตมัคค อรหัตตผล ก็ถึงพร้อมซึ่งฌานด้วยก็มี อย่างนี้เรียกว่า มัคคสิทธิฌาน เป็นการได้ฌานด้วยอำนาจแห่งมัคค บางองค์ก็ได้ถึงอภิญญาด้วย เช่น พระจุฬปัณถกเถรเจ้า เมื่อสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ก็มีอภิญญาด้วย คือมีอิทธิฤทธิถึงสำแดงปาฏิหาริย์เป็นพระภิกษุหลายรูปจนเต็มพระเชตวันวิหาร

สรุปอารมณ์ของอภิญญา

โลกียอภิญญา ๕ ซึ่งรวมนับ ยถากัมมุปคญาณ ๑ และอนาคตังสญาณ ๑ ด้วย ก็เป็น ๗ ย่อมเป็นไปในอารมณ์ ๑๐ คือ

๑. ปริตตารมณ์  อารมณ์เล็กน้อย, หมายว่าเป็นกามอารมณ์

๒. มหัคคตารมณ์  อารมณ์ที่ถึงซึ่งความเป็นใหญ่ หมายถึงอารมณ์ที่เป็นมหัคคต

๓. อัปปมาณารมณ์  อารมณ์ที่เป็นนิพพาน หมายถึงผลอารมณ์

๔. มัคคารมณ์  อารมณ์ที่เป็นมัคค

๕. ปัจจุบันอารมณ์  อารมณ์ที่กำลังมีอยู่

๖. อตีตารมณ์  อารมณ์ที่ล่วงไปแล้ว

๗. อนาคตารมณ์  อารมณ์ที่จะมีมาภายหน้า

๘. อัชฌัตตารมณ์  อารมณ์ที่เป็นภายใน

๙. พหิทธารมณ์  อารมณ์ที่เป็นภายนอก

๑๐. นวัตตัพพารมณ์  อารมณ์ที่เป็นบัญญัติ

อานิสงส์ของสมาธิ

อานิสงส์ของสมาธินั้นมี ๕ ประการ คือ

๑. ทำให้เข้าสมาบัติได้ เพื่อเป็นสุขในภพปัจจุบัน

๒. ทำให้เกิดวิปัสสนา

๓. ทำให้เกิดโลกียอภิญญา ๕ ประการ

๔. ทำให้เกิดเป็นพรหม

๕. ทำให้เข้านิโรธสมาบัติได้

๑๑. สมาสิโต จ สมถ กมฺมฏฺฐานนโย อยํ ฯ

นี่เป็นนัยแห่งสมถกัมมัฏฐาน อันแสดงแล้วโดยย่อแล

วิปัสสนากัมมัฏฐาน

วิปัสสนากัมมัฏฐาน แปลว่า อารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งการงานทางใจที่จะให้เห็นแจ้ง ซึ่งมีความหมายว่า ให้เห็นแจ้ง รูปนาม ให้เห็นแจ้ง ไตรลักษณ์ ให้เห็นแจ้ง อริยสัจจ ให้เห็นแจ้ง มัคค ผล นิพพาน

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าต่างกับ สมถกัมมัฏฐาน ที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้น เพราะสมถกัมมัฏฐานเป็นเพียงอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งการงานทางใจ ที่จะให้เกิดความสงบ แต่อย่างเดียวเท่านั้น ไม่ถึงกับให้เกิดปัญญาเห็นแจ้ง ดังที่กล่าวนี้ด้วย

บ้างก็กล่าวสั้น ๆ ว่า สมถะเป็นอุบายสงบใจ วิปัสสนาเป็นอุบายเรืองปัญญา

มีคาถาที่ ๑๒ ที่ ๑๓ ที่ ๑๔ เริ่มต้นกล่าวถึง วิปัสสนากัมมัฏฐานว่า

๑๒. วิปสฺสนา กมฺมฏฺฐาเน นโย ปน วิชฺชานโย อาทิมฺหิ สีลวิสุทฺธิ ตโต จิตฺตวิสุทฺธิ จ ฯ

๑๓. ตโต ตุ ทิฏฺฐิวิสุทฺธิ กงฺขาวิตรณาปิ จ ตโต ปรํ มคฺคามคฺค ญาณทสฺสนนามิกา ฯ

๑๔. ตถา ปฏิปทาญาณ ทสฺสนา ญาณทสฺสนา อิจฺจานุกฺกมโต วุตฺตา สตฺต โหนฺติ วิสุทฺธิโย ฯ

ตามนัยแห่งวิปัสสนากัมมัฏฐาน เพื่อให้เกิดปัญญาเห็นแจ้งนั้น พึงทราบว่า ในเบื้องต้นตรัส สีลวิสุทธิ ต่อนั้นตรัส จิตตวิสุทธิ ทิฏฐิวิสุทธิ กังขาวิตรณวิสุทธิ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ และญาณทัสสนวิสุทธิ รวมวิสุทธิ ๗ ประการ ที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วโดยลำดับฉะนี้

อธิบาย

องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก ทรงแสดงวิปัสสนากัมมัฏฐานญาณอัันสูงสุด รู้เห็นตามทัสสนะที่เป็นจริง ประดุจดวงอาทิตย์อุทัย ยังโลกให้สว่างฉะนั้น บรรดาสาวกของพระพุทธองค์ได้น้อมรับฐานที่ตั้งของการงานที่ให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงด้วยประการต่างๆ มาศึกษาปฏิบัติ จนประทับใจมนุษย์และเทวดาทั้งหลายเป็นอันมาก ยากที่จะหาสิ่งใดมาเปรียบปานได้ สิ่งนั้น คือ วิปัสสนากัมมัฏฐาน อันเป็นไปเพื่อความบริสุทธิหมดจดโดยส่วนเดียว ซึ่งเรียกว่า วิสุทธิมัคค คือทางบริสุทธิ ผู้ใดเดินทางนี้จนถึงที่สุดแล้ว ย่อมบรรลุจุดหมายปลายทาง อมตะมหานิพพาน อันเป็นที่บริสุทธิ สิ้นกิเลสและพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง

อันคำว่า มัคค หรือ ทาง มีความหมาย ๒ อย่าง คือ ปกติมคฺโค ทางปกติ ได้แก่ ทางน้ำ ทางบก เป็นต้น สำหรับคนและสัตว์เดิน และ ปฏิปทามคฺโค ทางปฏิบัติ ได้แก่ บาปบุญที่บุคคลทำ อันเป็นทางสำหรับ กาย วาจา ใจ เดิน

ปฏิปทามัคค คือทางปฏิบัตินั้น จำแนกได้เป็นหลายนัย แต่ในที่นี้ขอจำแนกว่ามี ๕ สาย คือ

๑. ทางสายไปอบายภูมิ ได้แก่ ความทุสีล หรืออกุสลกรรมบถ ๑๐ มี โลภะ โทสะ โมหะ เป็นมูล

๒. ทางสายไปมนุษยภูมิ ได้แก่ มนุษย์ธรรม คือ รักษาสีล ๕ สีล ๘ หรือ กุสลกรรมบถ ๑๐

๓. ทางสายไปกามาวจรสวรรค์ ได้แก่ มหากุสลจิต ๘ ดวง ที่มีหิริและโอตตัปปะ เป็นหัวหน้า เช่น ให้ทาน ฟังธรรม แสดงธรรม เป็นต้น

๔. ทางสายไปพรหมโลก ได้แก่ การเจริญสมถภาวนาจนเกิดฌาน

๕. ทางสายไปพระนิพพาน ได้แก่ การเจริญวิปัสสนาภาวนา จนบรรลุ มัคค ผล นิพพาน

ในทาง ๕ สายนี้ สายที่ ๕ เป็นทางแห่งสันติ เป็นทางที่ให้ถึงซึ่งความ บริสุทธิหมดจด อันเรียกว่า วิสุทธิมัคค ที่จะกล่าวต่อไปนี้ ทางสายที่ ๕ นี้เรียกอีกนัยหนึ่งว่า เอกายนมัคค เพราะอรรถว่า

ก. เป็นทางสายเดียว ที่จะให้ถึงความหมดจดได้ ไม่มีทางสายอื่นใดอีกเลย

ข. เป็นทางไปคนเดียว คือ ต้องละจากหมู่ไปสู่ที่สงัด ปฏิบัติแต่ผู้เดียว ใครจะมาช่วยทำให้ไม่ได้ และบรรลุแต่ผู้เดียว จะขอใครให้บรรลุตามไปด้วยไม่ได้

ค. เป็นทางที่ผู้เดียวค้นพบ คือ เป็นทางที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบด้วยพระองค์เองแต่ผู้เดียว ไม่ใช่มีใครมาช่วยค้นหาด้วยจึงได้พบ

ง. เป็นทางแห่งเดียว คือ มีอยู่ในพระพุทธศาสนาแต่แห่งเดียวเท่านั้น มิได้มีในศาสนาอื่นใดอีกเลย

จ. เป็นทางไปสู่จุดหมายเดียว คือ ไปสู่พระนิพพานจุดเดียวเท่านั้น ไม่ไปสู่จุดอื่นใดอีกเลย

หมายเลขบันทึก: 512805เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

 

วิสุทธิ ๗

วิสุทธิมัคค คือ ทางบริสุทธิ ที่นำไปสู่ความหมดจดจากกิเลสและกองทุกข์ทั้งปวง ซึ่งจัดเป็น ๗ ระยะ หรือ ๗ ขั้น อันเรียกว่า วิสุทธิ ๗ ประการนั้นเปรียบเหมือนรถ ๗ ผลัด หรือบรรได ๗ ขั้น จึงจะถึงซึ่งความบริสุทธิ วิสุทธิ ๗ ได้แก่

๑. สีลวิสุทธิ ความบริสุทธิแห่งสีล บุคคลที่สมบูรณ์ด้วย จาตุปาริสุทธิสีลนั้นชื่อว่า ถึงพร้อมด้วยสีล เป็นสีลวิสุทธิ จาตุปาริสุทธิสีล ได้แก่ ปาฏิโมกขสังวรสีล อินทรียสังวรสีล อาชีวปาริสุทธิสีล และปัจจยนิสสิตสีล

๒. จิตตวิสุทธิ ความบริสุทธิแห่งจิต คือ จิตที่บริสุทธิจากนิวรณ์ทั้งหลาย ขณะใดที่จิตเป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ หรือ อัปปนาสมาธิ ขณะนั้นเป็นจิตที่ปราศจากนิวรณ์ จึงได้ชื่อว่า เป็นจิตตวิสุทธิ

๓. ทิฏฐิวิสุทธิ ความบริสุทธิแห่งทิฏฐิ ปัญญาที่รู้แจ้ง รูปนามตามความเป็นจริง ได้ชื่อว่า ทิฏฐิวิสุทธิ กล่าวโดย โสฬสญาณ คือ ญาณ ๑๖ ก็เห็นแจ้งญาณที่ ๑ คือ นามรูปปริจเฉทญาณแล้ว (โสฬสญาณจะได้กล่าวต่อไปข้างหน้า)

๔. กังขาวิตรณวิสุทธิ ความบริสุทธิแห่งการข้ามพ้นจากความสงสัย เพราะเกิดปัญญาที่รู้แจ้งปัจจัยที่ให้เกิดรูปนาม คือ รูปเกิดจาก กรรม จิต อุตุ อาหาร, นามเกิดจาก อารมณ์ วัตถุ มนสิการ กล่าวโดยโสฬสญาณ ก็เห็นแจ้งญาณที่ ๒ ที่ชื่อว่า ปัจจยปริคคหญาณแล้ว

๕. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ความบริสุทธิแห่งญาณที่รู้ว่าทาง หรือ มิใช่ทาง กล่าวโดยโสฬสญาณก็เห็นแจ้งญาณที่ ๓ ที่ชื่อว่า สัมมสนญาณแล้ว และถึงญาณที่ ๔ ที่ชื่อว่า อุทยัพพยญาณ เพียง ตรุณะ คือ เพียงอย่างอ่อนเท่านั้น ยังไม่ถึง อุทยัพพยญาณ ที่เรียกว่า พลวะ คือ อย่างกล้า(ตรุณอุทยัพพยญาณ นี่แหละที่จะเกิด วิปัสสนูปกิเลส ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปข้างหน้า)

๖. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ความบริสุทธิแห่งญาณที่รู้เห็นว่า นี่แหละเป็นทางที่ชอบแล้ว กล่าวโดยโสฬสญาณก็เห็นแล้ว พลวอุทยัพพยญาณ (อย่างกล้า)นั้นแล้ว เป็นต้นไปถึง อนุโลมญาณ และนับโคตรภูญาณรวมด้วยโดยปริยายโดยอ้อม

๗. ญาณทัสสนวิสุทธิ ความบริสุทธิแห่งญาณที่รู้เห็น พระนิพพาน คือ มัคคญาณ และนับผลญาณ ปัจจเวกขณญาณ รวมด้วยโดยอนุโลม

อานุภาพแห่งญาณทัสสนวิสุทธิ ๕ ประการ

๑. ปริปุณฺณโพธิปกฺขิยภาว  บริบูรณ์ด้วยโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ

๒. วุฏฺฐาน  พ้นจากสังขารนิมิตอารมณ์

๓. ผลสมาโยค  ประกอบด้วยสมาธิพละ และปัญญาพละ

๔. เตสํปหาน  ละสังโยชน์เป็นต้นได้

๕. ปริญฺญาทีนิ  บรรลุซึ่งกิจอันมีปริญญากิจเป็นต้น

ปริญญากิจ ๓ ประการ

๑. ญาตปริญฺญา  รู้ซึ่งรูปนาม คือ นามรูปปริจเฉทญาณ, ปัจจยปริคคหญาณ และสัมมสนญาณ

๒. ตีรณปริญฺญา  รู้ไตรลักษณ์ หมายถึง อุทยัพพยญาณ ญาณเดียวเท่านั้น

๓. ปหานปริญฺญา  รู้ละกิเลส นับตั้งแต่ ภังคญาณถึงมัคคญาณ

ปหานกิจ ๓ ประการ

๑. วิกฺขมฺภนปหาน  ละนิวรณ์ด้วยโลกียฌาน อุปมา หินทับหญ้า  โลกียปัญญา

๒. ตทงฺคปหาน  ละกิเลสด้วยวิปัสสนาญาณ อุปมา ฟ้าแลบ

๓. สมุจฺเฉทปหาน  ละกิเลสด้วยมัคคญาณ อุปมา ฟ้าผ่า  โลกุตตรปัญญา

ภาวนากิจ ๒ ประการ

โลกียภาวนา

สีล สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ

สมาธิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ

ปัญญา สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ

อารมณ์ต่างๆกัน

โลกุตตรภาวนา

สีล สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ

สมาธิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ

ปัญญา สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ

มีนิพพานเป็นอารมณ์แต่อย่างเดียวเท่านั้น

สัจฉิกิริยกิจ ๓ ประการ

๑. โลกียสจฺฉิกิริยกิจฺจ  น้อมเข้าหาโลกียฌาน (ฌานในวิปัสสนาภาวนา)

๒. ทสฺสนสจฺฉิกิริยกิจฺจ  น้อมเข้าหาพระนิพพาน ด้วยโสดาปัตติมัคคญาณ

๓. ภาวนาสจฺฉิกิริยกิจฺจ  น้อมเข้าหาพระนิพพาน ด้วยมัคคญาณเบื้องบน ๓

ผังวิสุทธิ ๗


สีล

สีลวิสุทธิ


สมาธิ

จิตตวิสุทธิ

วิสุทธิ ๗


ทิฏฐิวิสุทธิ


โลกียะ

ปัญญา 

กังขาวิตรณวิสุทธิ

มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ

ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ


โลกุตตระ

ญาณทัสสนวิสุทธิ

โสฬสญาณ

เพื่อให้สะดวกแก่การศึกษา จึงขอกล่าวถึงโสฬสญาณ คือ ญาณ ๑๖ พร้อมทั้งความหมายโดยย่อ เสียในที่นี้เลยทีเดียว

๑. นามรูปปริจเฉทญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นรูปเห็นนามว่าเป็นคนละสิ่งคนละส่วน ซึ่งไม่ได้ระคนปนกันจนแยกกันไม่ได้

๒. ปัจจยปริคคหญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นถึงปัจจัยที่ให้เกิดรูป เกิดนาม คือ รูปเกิดจาก กรรม จิต อุตุ อาหาร ส่วนนามเกิดจาก อารมณ์ วัตถุ มนสิการ

๓. สัมมสนญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นไตรลักษณ์ คือ ความเกิดดับของรูปนาม แต่ที่รู้ว่ารูปนามดับไปก็เพราะ เห็นรูปนามใหม่เกิดสืบต่อแทนขึ้นมาแล้ว เห็นอย่างนี้เรียกว่า สันตติยังไม่ขาดและยังอาศัยจินตามยปัญญาอยู่ อีกนัยหนึ่งว่า สัมมสนญาณ เป็นญาณที่ยกรูปนามขึ้นสู่ไตรลักษณ์

๔. อุทยัพพยญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นไตรลักษณ์ชัดเจน โดยสันตติขาด คือ เห็นรูปนามดับไปในทันทีที่ดับ และเห็นรูปนามเกิดขึ้นในขณะที่เกิด หมายความว่า เห็นทันทั้งในขณะที่เกิดและขณะที่ดับ

อุทยัพพยญาณนี้ยังจำแนกได้เป็น ๒ คือ ตรุณอุทยัพพยญาณ เป็นญาณที่ยังอ่อนอยู่ และพลวอุทยัพพยญาณ เป็นญาณที่แก่กล้าแล้ว

๕. ภังคญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นความดับแต่อย่างเดียว เพราะความดับของรูปนามเป็นสิ่งที่ตื่นเต้นกว่าความเกิด

๖. ภยญาณ บ้างก็เรียกว่่า ภยตูปัฏฐานญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นว่ารูปนามนี้เป็นภัย เป็นที่น่ากลัว เหมือนคนกลัวสัตว์ร้าย เช่น เสือ เป็นต้น

๗. อาทีนวญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นว่ารูปนามนี้เป็นโทษ เหมือนผู้ที่เห็นไฟกำลังไหม้เรือนตนอยู่ จึงคิดหนีจากเรือนนั้น

๘. นิพพิทาญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นว่า เกิดเบื่อหน่ายในรูปนาม เบื่อหน่ายในปัญจขันธ์

๙. มุญจิตุกมยตาญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นว่าใคร่จะหนีจากรูปนาม ใคร่จะพ้นจากปัญจขันธ์ เปรียบดังปลาเป็น ๆ ที่ใคร่จะพ้นจากที่ดอนที่แห้ง

๑๐. ปฏิสังขาญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นเพื่อหาทางที่จะหนี หาอุบายที่จะเปลื้องตนให้พ้นจากปัญจขันธ์

๑๑. สังขารุเบกขาญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นว่า จะหนีไม่พ้นจึงเฉยอยู่ไม่ยินดียินร้าย ดุจบุรุษอันเพิกเฉยในภริยาที่ทิ้งขว้างหย่าร้างกันแล้ว

๑๒. อนุโลมญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นให้คล้อยไปตามอริยสัจจญาณนี้เรียกว่า สัจจานุโลมิกญาณ ก็ได้

๑๓. โคตรภูญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นพระนิพพาน ตัดขาดจากโคตรปุถุชนเป็นโคตรอริยชน

๑๔. มัคคญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นพระนิพพาน และตัดขาดจากกิเลสเป็นสมุจเฉทประหาณ

๑๕. ผลญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นพระนิพพานโดยเสวยผลแห่งสันติสุข

๑๖. ปัจจเวกขณญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นใน มัคคจิต,ผลจิต,นิพพาน, กิเลสที่ละแล้ว และกิเลสที่ยังคงเหลืออยู่

ตั้งแต่ญาณที่ ๓ สัมมสนญาณ จนถึงญาณที่ ๑๒ อนุโลมญาณ รวม ๑๐ ญาณ นี้เรียกว่า วิปัสสนาญาณ เพราะสัมมสนญาณนั้น เริ่มเห็นไตรลักษณ์แล้ว

บางแห่งก็จัดว่า วิปัสสนาญาณ มีเพียง ๙ คือ นับตั้งแต่ญาณที่ ๔ อุทยัพพยญาณ จนถึงญาณที่ ๑๒ อนุโลมญาณ เพราะอุทยัพพยญาณเป็นญาณแรกที่รู้เห็นไตรลักษณ์ ด้วยปัญญาชนิดที่เรียกว่า ภาวนามยปัญญา โดยตรงโดยไม่ต้องอาศัย จินตามยปัญญาเข้ามาช่วย

วิปัสสนาญาณ หมายถึง ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นว่าขันธ์ ๕ เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือ เห็นประจักษ์แจ้งซึ่ง ไตรลักษณ์ แห่งรูปนาม

ไตรลักษณ์

ไตรลักษณ์ คือลักษณะ ๓ ประการที่บรรดารูปธรรมนามธรรมที่เป็นสังขารทั้งหลาย จะต้องมี ต้องเป็นไปเหมือนกันหมด ไม่มียกเว้น เหตุนี้จึงเรียกว่า สามัญญ ลักษณะก็ได้ เพราะเป็นลักษณะที่เป็นธรรมดาตามธรรมชาติแห่งสังขารทั้งหลายที่จะต้องมีอันเป็นไปอย่างนี้ มีอาการอย่างนี้ มีคาถาที่ ๑๕ แสดงว่า

๑๕. อนิจฺจลกฺขณํ ทุกข ลกฺขณํ กมโต ฐิตํ อนตฺตลกฺขณญฺเจติ ตีเณว ลกฺขณานิ จ ฯ

ก็อนิจจลักษณะ ทุกขลักษณะ อนัตตลักษณะ พึงตั้งอยู่แล้วโดยลำดับแห่งลักษณะ ๓ ดังที่กล่าวนี้นั่นเทียว

มีความหมายว่า อนิจจลักษณะ มีลักษณะหรือมีอาการที่ไม่เที่ยง ไม่มั่นคง ไม่ยั่งยืน ไม่ตั้งอยู่ได้ตลอดกาล โดยมีความเกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมไปในที่สุด (อุปฺปาทวย ปวตฺตน), โดยความแปรปรวน (วิปริณาม), โดยเป็นของชั่วคราว (ตาวกาลิก), โดยต้านกับความเที่ยง (นิจฺจปฏิกฺเขป)

ทุกขลักษณะ มีลักษณะหรือมีอาการที่ทนอยู่ไม่ได้ จำต้องเสื่อมสลายสิ้นไป, โดยความบีบคั้นอยู่เสมอ (อภิญฺหสมฺปฏิปฬน), โดยความทนได้ยาก (ทุกฺขม), โดยเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ (ทุกฺขวตฺถุ), โดยต้านกับความสุข (สุขปฏิกฺเขป)

อนัตตลักษณะ มีลักษณะหรือมีอาการที่ว่างเปล่าจากตัวตน ที่ไม่ใช่ตัวตน จึงบังคับบัญชาไม่ได้ จะให้เป็นไปตามที่ใจปรารถนาก็ไม่ได้ โดยความเป็นของสูญ (ว่างเปล่า สุญฺญต), โดยความไม่มีเจ้าของ (อสฺสามิก), โดยไม่มีสิ่งอะไรที่จะพึงทำตาม (อวสวตฺตน), โดยค้านกับอัตตา (อตฺตปฏิกฺเขป)

ไตรลักษณ์นี้เป็นลักษณะสามัญตามธรรมดาที่ธรรมชาติแห่งรูปนามที่เป็นสังขารทั้งหลายจะต้องเป็นไปอย่างนี้นั่นเทียว ถ้ากล่าวโดยพิสดารแล้ว อนิจจะมีลักษณะ ๑๐ ประการ ทุกขะมีลักษณะ ๒๕ ประการ อนัตตะ มีลักษณะ ๕ ประการ รวมเป็น ๔๐ ประการ เมื่อปรับเข้ากับขันธ์ ๕ ก็เป็นไตรลักษณ์ ถึง ๒๐๐ ประการ คือ รูปขันธ์ ๔๐ ประการ เวทนาขันธ์ ๔๐ ประการ สัญญาขันธ์ ๔๐ ประการ สังขารขันธ์ ๔๐ ประการ และวิญญาณขันธ์ ๔๐ ประการ รวมเป็น ๒๐๐ ประการ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

อนิจจลักษณะ ๑๐

๑. อนิจฺจโต  ไม่เที่ยง 

๒. อทฺธุวโต  ไม่ยั่งยืน

๓. อสารกโต  ไม่เป็นแก่นสาร 

๔. จลโต  เป็นของหวั่นไหว ยุ่งยาก

๕. ปโลกโต  แตกดับ 

๖. วิปริณามธมฺมโต  เปลี่ยนแปลง กลับกลอก

๗. มรณธมฺมโต  เป็นธรรมเพื่อความตาย 

๘. วิภวโต  เป็นของฉิบหาย

๙. สงฺขตโต  เป็นของที่ต้องปรุงแต่งเนือง ๆ

๑๐. ปภงฺคุโต  ต้องทำลาย ผุพัง แตกกระจัดกระจายไป

รวม ๑๐ ประการ ๕ ขันธ์ ก็เป็น ๕๐

ทุกขลักษณะ ๒๕

๑. ทุกฺขมโต  เป็นทุกข์ 

๒. ภยโต  เป็นของน่ากลัว

๓. อีติโต  เป็นเสนียดจัญไร 

๔. อุปทฺทวโต  เป็นอันตราย ระทมทุกข์ อุบาทว์

๕. อุปสคฺคโต  เป็นความขัดข้อง 

๖. โรคโต  เป็นสิ่งเสียดแทง

๗. อาพาธโต  เป็นสภาพที่ป่วยไข้ 

๘. คณฺฑโต  เป็นประดุจหัวฝี

๙. สลฺลโต  เป็นประดุจศรปักอก 

๑๐. อฆโต  เป็นสิ่งหาคุณมิได้

๑๑. อตาณโต  เป็นสิ่งที่พ้นจากการต้านทาน

๑๒. อเลณโต  เป็นสิ่งที่พ้นจากการป้องกัน

๑๓. อสรณโต  เป็นสิ่งที่พึ่งไม่ได้

๑๔. อาทีนวโต  เป็นสิ่งที่มีแต่โทษ

๑๕. อฆมูลโต  เป็นมูลแห่งความทุกข์

๑๖. วธกโต  เป็นประดุจเพชฌฆาต

๑๗. สาสวโต  เป็นไปเพื่ออาสวะ

๑๘. มารามิสโต  เป็นเหยื่อแห่งมาร

๑๙. ชาติธมฺมโต  เป็นสิ่งที่ให้เกิด

๒๐. ชราธมฺมโต  เป็นสิ่งที่ทำให้แก่

๒๑. พยาธิธมฺมโต  เป็นสิ่งที่ทำให้เจ็บไข้ได้ป่วย

๒๒. โสกธมฺมโต  เป็นสิ่งที่ทำให้เศร้าโศก

๒๓. ปริเทวธมฺมโต  เป็นสิ่งที่ทำให้บ่นพร่ำรำพัน

๒๔. อุปายาสธมฺมโต  เป็นสิ่งที่ทำให้คับแค้นใจ

๒๕. สงฺกิเลสิกธมฺมโต  เป็นสิ่งที่เศร้าหมอง

รวม ๒๕ ประการ ๕ ขันธ์ ก็เป็น ๑๒๕

อนัตตลักษณะ ๕

๑. อนตฺตโต  ไม่ใช่ตัวตน  ๒. ปรโต  ไม่ใช่เรา เป็นสิ่งอื่น

๓. ริตฺตโต  ว่างเปล่าจากตัวเรา  ๔. ตุจฺฉโต  ว่างเปล่าจากแก่นสาร

๕. สุญฺญโต  ว่างเปล่าจากสัตว์จากบุคคล

รวม ๕ ประการ ๕ ขันธ์ ก็เป็น ๒๕

รวมทั้งหมดเป็น ๔๐ ประการ ๕ ขันธ์ ก็เป็น ๒๐๐

ไตรลักษณ์นี้เป็นลักษณะสามัญหรืออาการตามปกติตามธรรมดาของรูปนามที่เป็นสังขาร ดังนั้นก่อนที่จะเห็นไตรลักษณ์ จะต้องรู้จักรูปธรรมและนามธรรมเสียก่อน เพราะรูปธรรมนามธรรมนี่แหละเป็นสิ่งเริ่มต้นแห่งการเจริญวิปัสสนากัมมัฏ ฐาน รูปนามที่เป็นกัมมัฏฐานในการเจริญวิปัสสนานั้น เมื่อกล่าวโดยพิสดารแล้ว เรียกว่า วิปัสสนาภูมิ คือ พื้นเพในการเจริญวิปัสสนาภาวนา

วิปัสสนาภูมิ

วิปัสสนาภูมิ คือ พื้นเพในการเจริญวิปัสสนาภาวนานั้น มี ๖ ได้แก่

๑.ขันธ์ ๕ ๒.อายตนะ ๑๒ ๓.ธาตุ ๑๘ ๔.อินทรีย ๒๒ ๕.ปฏิจจสมุปปาท ๑๒ ๖.อริยสัจจ ๔ แต่ข้อ๑ ถึงข้อ ๔ และข้อ ๖ รวม  ๕ ข้อนี้ ได้แสดงไว้แล้วในคู่มือปริจเฉทที่ ๗ ส่วนข้อ ๕ ปฏิจจสมุปปาทนั้น ก็ได้กล่าวไว้ในคู่มือปริจเฉทที่ ๘ แล้ว จึงไม่ต้องกล่าวซ้ำในที่นี้อีก

วิปัสสนาภูมิ ๖ นี้ เมื่อย่อลงก็ได้แก่ รูป นาม เท่านี้เอง ชั้นต้นต้องพิจารณาให้เห็นรูปนามก่อน แล้วกำหนดดูจนเห็นปัจจัยที่ให้เกิดรูปนาม ต่อจากนั้นจึงเพ่งให้เห็นแจ้งไตรลักษณ์ว่า รูปนามมีลักษณะที่ไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ บังคับบัญชาว่ากล่าวให้เป็นไปตามใจชอบก็ไม่ได้ เมื่อเพ่งจนเห็นไตรลักษณ์ ก็จะได้ละความเห็นผิด เข้าใจผิด จำผิด ว่ารูปนามเป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นตัวตน ที่พึงบังคับบัญชาได้ ตลอดจนว่าเป็นสิ่งที่สวยงาม การเห็นผิด เข้าใจผิด จำผิดนี้เรียกว่า วิปัลลาสธรรม คือเป็นสิ่งที่วิปลาสคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง

ด้วยบุญกุศลที่ข้าพเจ้าสะสมพากเพียรฝึกอยู่เนื่อง จะใช้ศลี สมาธิและปัญญา ดับกิเลสให้สิ้นในอารมณ์ทุกขณะตื่น. ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท