มหาธี
อาจารย์ ธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี

เรียนรู้พระไตรปิฎก


 

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพระไตรปิฎก

ธีรวัส  บำเพ็ญบุญบารมี

ผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์คัมภีร์

มหาบัณฑิตสาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

ธรรมศึกษานี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาค้นคว้าเพื่อเป็นหลักฐานทางวิชาการทางพระพุทธศาสนา

ตามหลักสูตรวิจัยคัมภีร์พระพุทธศาสนา มูลนิธิเบญจนิกาย พุทธศักราช  ๒๕๕๐พิมพ์ครั้งที่ ๑  ๕๐๐ เล่ม

เพื่อเป็นธรรมทานไม่สงวนลิขสิทธิ์

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพระไตรปิฎก

ศาสนาทุกศาสนาย่อมมีคัมภีร์หรือตำราทางศาสนาเป็นหลักในการสั่งสอน  ในสมัยที่มนุษย์ยังไม่รู้ตัวอักษร  การบันทึกคำสอนจึงยังไม่เกิดขึ้น  ต่อเมื่อมนุษย์รู้จักประดิษฐ์อักษรขึ้นใช้แล้ว  จึงได้มีการบันทึกคำสอนไว้  ช่วงแรก ๆ บันทึกไว้ตามผนังถ้ำหรือแผ่นศิลา  ครั้นต่อมาเกิดการวิวัฒนาการขึ้นจึงบันทึกลงในใบลานหรือสมุดข่อย  จนกระทั่งปัจจุบันบันทึกลงในหนังสือเอกสารต่าง ๆ  และที่ทันสมัยที่สุดคือการบันทึกลงในแผ่นซีดีรอมหรือคอมพิวเตอร์  ซึ่งสะดวกต่อการศึกษาค้นคว้าเป็นอย่างมาก

พระไตรปิฎก  เป็นคัมภีร์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในพระพุทธศาสนา  เพราะเป็นคัมภีร์ที่บันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนาไว้ทุกด้าน

๑.  ความหมายของพระไตรปิฎก

พระไตรปิฎก  หรือที่เรียกในภาษาบาลีว่า  ติปิฏก  หรือ  เตปิฏก  นั้น  เป็นคัมภีร์หรือตำราทางพระพุทธศาสนา  เช่นเดียวกับคัมภีร์ไตรเวทของศาสนาพราหมณ์ ไบเบิ้ลของศาสนาคริสต์ อัล กุรอาน ของศาสนาอิสลามกล่าวโดยรูปศัพท์  คำว่า  ไตรปิฎก  แปลว่า  ๓  คัมภีร์  เมื่อแยกเป็นคำ ๆ จะได้ดังนี้คือ

คำว่า  พระไตรปิฎก  แยกเป็น  ๓  คำ  คือ  พระ + ไตร + ปิฎก

คำว่า  พระ  มาจากคำว่า  วร  แปลว่า  ประเสริฐ  เลิศ  เป็นคำแสดงความเคารพหรือยกย่อง

คำว่า  ไตร  แปลว่า  สาม  (ติ หรือ เต ก็แปลว่า  สาม  เช่นเดียวกัน)

คำว่า  ปิฎก  แปลได้  ๒  อย่าง  คือ

๑.  แปลว่า  คัมภีร์  หรือ  ตำรา

๒.  แปลว่า  กระจาด  หรือ  ตะกร้า  ที่แปลว่า กระจาด

หรือตะกร้า  หมายความว่า  เป็นที่รวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้เป็นหมวดหมู่ ไม่ให้กระจัดกระจาย  คล้ายกระจาดหรือตะกร้าอันเป็นภาชนะใส่ของฉะนั้น

สรุป  คำว่า  พระไตรปิฎก  หมายถึง  คัมภีร์หรือตำราทางพระพุทธศาสนาที่บรรจุรวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้เป็นหมวดหมู่  เพื่อสะดวกต่อการศึกษาค้นคว้า

๒.  ประเภทของพระไตรปิฎก

พระไตรปิฎก  เป็นคัมภีร์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในพระพุทธศาสนา  เพราะเป็นคัมภีร์ที่บรรจุคำสอนของพระพุทธเจ้า  เป็นเอกสารในการอ้างอิงคำสอนที่น่าเชื่อถือที่สุด แบ่งออกเป็น  ๓  คัมภีร์  หรือ  ๓  ประเภท  คือ

๑.  พระวินัยปิฎก    ว่าด้วยวินัยหรือศีลของภิกษุและภิกษุณี

๒. พระสุตตันตปิฎก  ว่าด้วยพระธรรมเทศนาทั่ว ๆ ไป มีนิทานชาดกประกอบ

๓.  พระอภิธรรมปิฎก  ว่าด้วยธรรมล้วน ๆ หรือธรรมที่สำคัญ  ไม่มีนิทานชาดกประกอบ

๓.  ความเป็นมาของพระไตรปิฎก

ในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงมีพระชนม์อยู่  และในช่วงแรกที่พระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานใหม่ ๆ ยังไม่มีพระไตรปิฎกซึ่งเป็นที่บรรจุรวบรวมคำสอนไว้เป็นหมวดหมู่แต่อย่างใด  คำสั่งสอนมิได้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร  ใช้วิธีการจดจำเป็นหลัก  ซึ่งเรียกว่า  มุขปาฐะ  ในขณะที่ยังทรงมีพระชนม์อยู่นั้น  คำสั่งสอนของพระองค์เรียกว่า พรหมจรรย์  ครั้นต่อมาเรียกว่า  พระธรรมวินัย  จนกระทั่งมีการทำสังคายนา  คือมีการชำระตรวจสอบ  รวบรวมคำสั่งสอนไว้เป็นหมวดหมู่แล้วจึงเกิด  พระไตรปิฎก  ขึ้นในภายหลังต่อมา

การกล่าวถึงความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก  จำเป็นต้องกล่าวถึงเหตุการณ์ตั้งแต่ยังมิได้จารึกเป็นลายลักษณ์อักษรรวมทั้งหลักฐานการท่องจำและข้อความที่กระจัดกระจายยังมิได้จัดเป็นหมวดหมู่  จนถึงมีการทำสังคายนาคือจัดระเบียบหมวดหมู่  การจารึกเป็นตัวหนังสือและการพิมพ์เป็นเล่ม

ในเบื้องต้นขอกล่าวถึงพระเถระ ๔ รูป ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก คือ

๑.พระอานนท์  ผู้เป็นพระอนุชา (ลูกพี่ลูกน้อง)  และเป็นผู้อุปัฏฐากรับใช้พระพุทธเจ้า ในฐานะที่ทรงจำพระสุตตันตปิฎก  และพระอภิธรรมปิฎกไว้ได้มาก

๒.พระอุบาลี  ผู้เชี่ยวชาญพระวินัย  ในฐานะที่ทรงจำพระวินัยปิฎกไว้ได้มาก

๓.พระโสณกุฏิกัณณะ  ผู้เคยท่องจำบางส่วนแห่งพระสุตตันตปิฎก  และกล่าวข้อความนั้นแบบปากเปล่า  ในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า  ได้รับสรรเสริญว่าทรงจำได้ดีมาก  ทั้งสำเนียงที่กล่าวข้อความออกมาก็ชัดเจนแจ่มใส  เป็นตัวอย่างแห่งการท่องจำในสมัยที่ยังไม่มีการจารึกพระไตรปิฎกเป็นตัวหนังสือ

๔.พระมหากัสสปะ  เป็นผู้ริเริ่มการทำสังคายนา  จัดระเบียบพระพุทธวจนะให้เป็น

หมวดหมู่  ในข้อนี้ย่อมโยงไปถึงพระพุทธเจ้า  พระสารีบุตร  และพระจุนทะน้องชาย
  ของพระสารีบุตร  ซึ่งเคยเสนอให้เห็นความสำคัญของการทำสังคายนา  คือจัดระเบียบ

คำสอนให้เป็นหมวดหมู่ดังจะกล่าวต่อไป

๔.  พระเถระที่เกี่ยวข้องกับพระไตรปิฎก

๔.๑  พระอานนท์

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบรรพชา  และได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว

ทรงแสดงธรรมโปรดเจ้าลัทธิต่าง ๆ กับทั้งพระราชาและมหาชนในแว่นแคว้นต่าง ๆ ในปลายปีแรกที่ตรัสรู้นั่นเอง  พระเจ้าสุทโธทนะผู้เป็นพระพุทธบิดา  ทรงส่งทูตไปทูลเชิญพระศาสดาให้ไปแสดงธรรมโปรด  ณ  กรุงกบิลพัสดุ์  เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จถึงกรุงกบิลพัสดุ์  ทรงแสดงธรรมโปรดพระพุทธบิดาและพระประยูรญาติแล้ว  พระประยูรญาติต่างพากันเลื่อมใสให้พระโอรสของตนออกบวชในสำนักของพระพุทธเจ้าเป็นอันมาก

พระอานนท์  เดิมเป็นพระโอรสของพระเจ้าสุกโกทนะ  ผู้เป็นพระอนุชาของพระเจ้า

สุทโธทนะ  เมื่อนับเชื้อสายแล้วจึงเป็นพระอนุชาหรือลูกผู้น้องของพระพุทธเจ้า  ท่านออกบวชพร้อมกับราชกุมารฝ่ายศากยวงศ์  ๔  พระองค์  คือ  อนุรุทธะ  ภัคคุ  กิมพิละ  ภัททิยะ  ฝ่ายโกลิยวงศ์  พระองค์  คือ  เทวทัต  และนายภูษามาลา  มีหน้าที่เป็นช่างกัลบก  ๑  คน  คือ  อุบาลี  รวมทั้งสิ้น  ๗  ท่าน  ในจำนวนนี้มีชื่อเสียงปรากฏและเป็นที่กล่าวถึงอยู่  ๔  ท่าน  คือ

๑.พระอานนท์  เป็นพุทธอุปัฏฐาก  มีความทรงจำพระพุทธวจนะได้มาก

๒.พระอนุรุทธะ  ชำนาญในทิพยจักษุ (มีตาทิพย์)

๓.พระอุบาลี  มีความทรงจำพระวินัยได้มาก

๔.พระเทวทัต  เป็นผู้ทำสังฆเภท  คือก่อความแตกแยกใน

หมู่สงฆ์  เป็นผู้ทำโลหิตุปบาท คือ  ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนห้อพระโลหิต  สุดท้ายถูกแผ่นดินสูบจนถึงแก่มรณภาพกล่าวถึงเฉพาะพระอานนท์  เป็นผู้ทำหน้าที่พุทธอุปัฏฐาก  คือรับใช้พระพุทธเจ้า  ก่อนที่จะรับหน้าที่นี้  ท่านได้ขอพร  ๘  ประการจากพระพุทธเจ้า  จัดเป็นเงื่อนไขฝ่ายปฏิเสธ  ๔  ประการ  และเงื่อนไขฝ่ายขอร้อง  ๔  ประการ  ดังนี้


เงื่อนไขฝ่ายปฏิเสธ  ๔  ประการ

๑.จักไม่ประทานจีวรอันประณีตแก่ข้าพระองค์

๒.จักไม่ประทานบิณฑบาต  อันประณีตแก่ข้าพระองค์

๓.จักไม่โปรดให้ข้าพระองค์อยู่ในที่ประทับเดียวกันกับพระองค์

๔.จักไม่ทรงพาข้าพระองค์ไปในที่นิมนต์ด้วย

เงื่อนไขฝ่ายขอร้อง  ๔  ประการ

๕.ขอให้พระองค์เสด็จไปสู่ที่นิมนต์ที่ข้าพระองค์รับไว้

๖.ขอให้ข้าพระองค์นำบริษัทซึ่งมาแต่ที่ไกลเข้าเฝ้าได้

๗.ถ้าความสงสัยของข้าพระองค์เกิดขึ้นเมื่อใด  ขอให้ข้าพระองค์ทูลถามได้ทุกเมื่อ

๘.ถ้าพระองค์ทรงแสดงข้อความอันใดในที่ลับหลังของข้าพระองค์  ขอให้ตรัสบอก

ข้อความอันนั้นแก่ข้าพระองค์อีก

เหตุที่ท่านขอพรฝ่ายปฏิเสธ  ๔  ประการนั้น  เพื่อป้องกันมิให้ผู้อื่นกล่าวตำหนิว่าท่าน

อุปัฏฐากพระพุทธเจ้าเพราะเห็นแก่ลาภสักการะ  ส่วนพรฝ่ายขอร้อง  ๔  ประการนั้น ๓  ข้อเบื้องต้น  เพื่อป้องกันผู้อื่นกล่าวตำหนิว่าจะอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าไปทำไม  ในเมื่อพระองค์ไม่ทรงอนุเคราะห์แม้ด้วยเรื่องเพียงเท่านี้  ส่วนข้อสุดท้าย  ถ้ามีผู้สงสัยถามว่า  คาถานี้  สูตรนี้  ชาดกนี้  พระพุทธเจ้าทรงแสดงที่ไหน  แก่ใคร  มีผลอย่างไร  ถ้าท่านตอบไม่ได้  ก็จะมีผู้ตำหนิติเตียนว่า  ตามเสด็จพระพุทธเจ้าดุจเงาตามตัว  แม้เรื่องเพียงเท่านี้ก็ไม่ทราบ

เฉพาะพรข้อที่  ๘  เป็นอุปการะแก่การที่จะรวบรวมพระพุทธวจนะให้เป็นหมวดหมู่อย่างยิ่ง  เพราะเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว  พระอานนท์ได้รับหน้าที่ตอบคำถามเกี่ยวกับพระสูตรและพระอภิธรรม  ในคราวทำสังคายนาครั้งที่  ๑  หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว  ๓  เดือน

พระอานนท์ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้ทรงจำดี  ท่านได้รับเอตทัคคะ  ๕  อย่าง  คือ

๑.เป็นพหูสูตคือ  เป็นผู้ได้ยินได้ฟังมามาก  ได้แก่  ทรงจำพระ

พุทธวจนะได้มากที่สุด

๒.เป็นผู้มีสติ  คือ  มีความระลึกนึกถึงก่อนที่จะทำพูดคิดอยู่เสมอ

๓.เป็นผู้มีคติ  คือ  มีแนวในการจำพระพุทธวจนะ

๔.เป็นผู้มีธิติ  คือ  มีความเพียร

๕.เป็นพุทธอุปัฏฐาก  คือ  ผู้ดูแลรับใช้พระพุทธเจ้า

จากการที่ท่านได้รับยกย่องว่ามีเอตทัคคะถึง ๕  อย่างดังกล่าวนี้  เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ท่าน

สามารถจดจำพระไตรปิฎกโดยเฉพาะพระสุตตันตปิฎกและพระอภิธรรมได้อย่างแม่นยำ  ในด้าน

พระสุตตันตปิฎกนั้นทุกพระสูตรจะมีคำขึ้นต้น (นิทานวจนะ) ว่า เอวมฺเม  สุตํ   แปลว่า  ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้  ซึ่งคำว่า เม   หมายถึงพระอานนท์นั่นเอง

๔.๒  พระอุบาลี

กล่าวถึงเรื่องของพระอุบาลี  ผู้เคยเป็นพนักงานภูษามาลาอยู่ในราชสำนักแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ก็น่าสนใจอยู่ไม่น้อย  ท่านออกบวชพร้อมกับพระอานนท์และราชกุมารอื่น ๆ ดังกล่าวแล้ว  ท่านเป็นคนรับใช้ในวัง  แทนที่จะได้บวชเป็นสุดท้ายแต่กลับได้บวชก่อน  เพราะเจ้าชายเหล่านั้นต้องการลดทิฏฐิมานะของตนว่าเป็นตระกูลกษัตริย์  เมื่อบวชแล้วได้ศึกษาและจดจำพระวินัยได้อย่างแม่นยำและชำนาญ  ในการทำสังคายนาครั้งที่ ๑ ท่านได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ตอบคำถามเกี่ยวกับพระวินัย  นับได้ว่าเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในการรวบรวมข้อพระวินัยต่าง ๆ ทั้งของภิกษุและภิกษุณีให้เป็นหมวดหมู่มาจนถึงทุกวันนี้

๔.๓  พระโสณกุฏิกัณณะ

ความจริงท่านผู้นี้ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับพระไตรปิฎก แต่ประวัติของท่านมีส่วนเป็นหลักฐานในการท่องจำพระไตรปิฎก ช่วยให้เกิดความเข้าใจในเรื่องความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก  จึงได้นำเรื่องของท่านมากล่าวไว้ในที่นี้ด้วย  เรื่องของท่านผู้นี้ปรากฏอยู่ในพระสุตตันตปิฎก  เล่มที่  ๒๕  หน้า  ๑๖๐  อุทาน  มีใจความว่า  เดิมท่านเป็นอุบาสก  เป็นผู้รับใช้ใกล้ชิดพระมหากัจจายนเถระ  พำนักอยู่ใกล้ภูเขาอันทอดเชื่อมเข้าไปในนครชื่อ  กุรุรฆระ  ในแคว้นอวันตี  ท่านมีความเลื่อมใสใน

พระมหากัจจายนเถระและเลื่อมใสที่จะบรรพชาอุปสมบท พระเถระกล่าวว่าเป็นการยากที่จะประพฤติ

พรหมจรรย์  ท่านจึงแนะนำให้เป็นคฤหัสถ์  ประพฤติตนแบบอนาคาริกะ  คือเป็นผู้ไม่ครองเรือน  เมื่อถูกรบเร้าบ่อย ๆ ท่านจึงให้บรรพชา  ต่อมาอีก  ๓  ปี  จึงรวบรวมภิกษุสงฆ์ได้ครบ  ๑๐  รูป  จัดการอุปสมบทให้  หมายความว่าพระโสณกุฏิกัณณะต้องบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ถึง  ๓  ปี  จึงได้อุปสมบทเป็นภิกษุ

ต่อมาท่านลาพระมหากัจจายนเถระเดินทางไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค  ณ  เชตวนาราม  กรุงสาวัตถี  เมื่อไปถึงและถูกพระพุทธเจ้าตรัสถาม  ทราบความว่า  เดินทางไกลมาจากแคว้นอวันตี  คืออินเดียตอนใต้  จึงตรัสสั่งพระอานนท์ให้จัดที่พักให้  พระอานนท์พิจารณาว่า  พระองค์คงปรารถนาจะสอบถามอะไรกับภิกษุรูปนี้เป็นแน่แท้  จึงจัดที่พักในวิหารเดียวกันกับพระพุทธเจ้า

คืนนั้น  พระผู้มีพระภาคประทับนั่งอยู่กลางแจ้งจนดึกจึงเสด็จเข้าสู่วิหาร  แม้พระโสณกุฏิกัณณะก็นั่งอยู่กลางแจ้งจนดึกจึงเข้าวิหารเช่นกัน  ครั้นเวลาใกล้รุ่ง  พระพุทธเจ้าจึงตรัสเชิญให้ท่านกล่าวธรรม  ซึ่งท่านได้กล่าวสูตรถึง  ๑๖  สูตร  (อัฏฐกวรรค  สุตตนิบาต  พระสุตตันตปิฎก  เล่มที่  ๒๕)  จนจบ  เมื่อจบแล้วพระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาสรรเสริญความทรงจำ  และท่วงทำนองในการกล่าวว่ามีความไพเราะสละสลวย  แล้วตรัสถามเรื่องส่วนตัวอย่างอื่นอีก  เช่นว่ามีพรรษาเท่าไร  ออกบวชด้วยมีเหตุผลอย่างไร

เรื่องนี้เป็นตัวอย่างอันดีในเรื่องความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎกว่า ได้มีการท่องจำกันตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่  ใครสามารถหรือพอใจจะท่องจำส่วนไหนก็ท่องจำส่วนนั้น  ถึงกับมีครูอาจารย์กันเป็นสาย ๆ เช่น สายวินัยดังจะกล่าวต่อไปข้างหน้า

๔.๔  พระมหากัสสปะ

ท่านเป็นพระเถระผู้มีอาวุโสสูงสุดในสมัยที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน  ขณะที่ท่านพร้อมศิษย์กำลังเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า  ได้ทราบจากบุรษผู้หนึ่งถือดอกมณฑารพซึ่งเป็นดอกไม้จากสวรรค์ปกคลุมศีรษะเดินผ่านมา  ถามดูจึงรู้ว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว  ภิกษุผู้ยังมีกิเลสอยู่ต่างก็พากันร้องไห้เศร้าโศกเสียใจ  แต่มีศิษย์รูปหนึ่งของท่านชื่อสุภัททวุฑฒบรรพชิต  กล่าวจ้วงจาบในลักษณะลบหลู่ดูหมิ่นด้วยคำพูดที่ว่าพระพุทธองค์ปรินิพพานก็ดีแล้ว  เพราะในขณะที่ยังมีพระชนม์อยู่ทรงห้ามภิกษุทำในสิ่งที่อยากทำไม่ได้  ต่อไปจะได้ทำอะไรตามที่ต้องการ  คำพูดเช่นนี้ทำให้พระมหากัสสปะและภิกษุรูปอื่น ๆ หดหู่เป็นอย่างมาก  แต่ในขณะนั้นไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้  จวบจนกระทั่งหลังจากถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จสิ้นแล้วล่วงไปแล้ว  ๓  เดือน  ท่านจึงยกเหตุนั้นขึ้นปรารภจัดทำสังคายนาครั้งที่  ๑  ขึ้น  คือการร้อยกรองพระธรรมวินัย  นับได้ว่าท่านเป็นผู้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการทำให้เกิดพระไตรปิฎก  ในการทำสังคายนาครั้งที่  ๑  นั้น  ท่านเป็นผู้ถามทั้งพระวินัย  พระสูตรและพระอภิธรรม  ท่านพระอุบาลีเป็นผู้ตอบพระวินัย  ท่านพระอานนท์เป็นผู้ตอบพระสูตรและพระอภิธรรม

๔.๕  พระสารีบุตร

เมื่อสาวกของนิครนถ์นาฏบุตรแตกกัน  ภายหลังที่อาจารย์สิ้นชีวิต  ค่ำวันหนึ่ง  เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมจบแล้ว  เห็นว่าภิกษุทั้งหลายใคร่จะฟังต่อไปอีก  จึงมอบหมายให้พระสารีบุตรแสดงแทน  ซึ่งท่านได้แนะนำให้รวบรวมร้อยกรองพระธรรมวินัย  โดยแสดงตัวอย่างของการจัดหมวดหมู่ธรรมเป็นข้อ ๆ ตั้งแต่ข้อ  ๑  ถึงข้อ  ๑๐  ว่ามีธรรมอะไรบ้างอยู่ในหมวด  ๑  หมวด  ๒  หมวด  ๓  จนถึงหมวด  ๑๐  ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงรับรองว่า  ข้อคิดและธรรมที่แสดงนี้ถูกต้อง (สังคีติสูตร  พระสุตตันตปิฎก  เล่มที่  ๑๑  หน้า  ๒๒๒ - ๒๘๗)  หลักฐานในพระไตรปิฎกตอนนี้มิได้แสดงว่าพระสารีบุตรเสนอขึ้นก่อน  หรือพระพุทธเจ้าตรัสแก่พระจุนทะก่อน  แต่รวมความแล้วก็ต้องถือว่า  ทั้งพระพุทธเจ้าและพระสารีบุตรได้เห็นความสำคัญของการรวบรวมพระพุทธวจนะ  ร้อยกรองให้เป็นหมวดหมู่มาแล้วตั้งแต่ยังไม่ได้ทำสังคายนาครั้งที่  ๑

๔.๖  พระจุนทะ

เมื่อกล่าวถึงเรื่องความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก  และกล่าวถึงการที่พระพุทธเจ้าทรงแนะให้ทำสังคายนาแล้ว  ถ้าไม่กล่าวถึงพระจุนทะก็ดูเหมือนจะมองไม่เห็นความริเริ่ม  เอาใจใส่  และความปรารถนาดีของท่าน  ในเมื่อรู้เห็นเหตุการณ์ที่สาวกของนิครนถ์นาฏบุตรแตกกัน  เพราะจากข้อความที่ปรากฏในพระไตรปิฎก  ท่านได้เข้าพบพระอานนท์ถึง  ๒  ครั้ง  ครั้งแรกพระอานนท์ชวนเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยกัน  เมื่อกราบทูลแล้วพระองค์ได้ตรัสตอบด้วยข้อความเป็นอันมาก  แต่มีอยู่ข้อหนึ่งที่สำคัญยิ่ง (ปาสาทิกสูตร  พระสุตตันตปิฎก  เล่มที่  ๑๑  หน้า  ๑๓๙)  พระผู้มีพระภาคตรัสบอกพระจุนทะ  แนะให้รวบรวมธรรมภาษิตของพระองค์  และทำสังคายนา  คือจัดระเบียบทั้งโดยอรรถและพยัญชนะเพื่อให้พรหมจรรย์ตั้งมั่นยั่งยืนสืบไป

หลังจากที่พระพุทธเจ้าตรัสแนะให้ทำสังคายนาดังกล่าวแล้วข้างต้น  อีกทั้งสาวกนิครนถ์นาฏบุตรแตกแยกกันมากขึ้น  ท่านก็เข้าพบพระอานนท์อีก  ขอให้กราบทูลพระพุทธเจ้าทรงทราบ  เพื่อหาทางป้องกันมิให้เหตุการณ์ทำนองนั้นเกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา  พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงธรรมแก่พระอานนท์  โดยแสดงโพธิปักขิยธรรมอันเป็นหลักของพระพุทธศาสนา  แล้วทรงแสดงมูลเหตุแห่งการทะเลาะวิวาท  ๖  ประการ  อธิกรณ์  ๔  ประการ  วิธีระงับอธิกรณ์  ๗  ประการ สุดท้าย  ได้ทรงแสดงหลักธรรมสำหรับอยู่ร่วมกันด้วยความสุก  ๖  ประการ  ที่เรียกว่าสาราณิยธรรม  อันเป็นไปในทางสงเคราะห์  อนุเคราะห์และมีเมตตาต่อกัน  มีความประพฤติและความเห็นในทางที่ดีงามร่วมกัน  เรื่องนี้ปรากฏในสามคามสูตร  พระสุตตันตปิฎก  เล่มที่  ๑๔  หน้า  ๔๙  พระพุทธภาษิตที่แนะนำให้รวบรวมพุทธวจนะร้อยกรองจัดระเบียบหมวดหมู่นี้ ถือได้ว่าเป็นการเริ่มต้นแห่งการแนะนำ  เพื่อให้เกิดพระไตรปิฎกในภายหลังนั่นเอง

๕.  การสังคายนาเป็นเหตุให้เกิดพระไตรปิฎก

ได้กล่าวถึงพระเถระที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพระไตรปิฎกมาแล้วหลายรูป  แต่พระไตรปิฎกก็เกิดขึ้นภายหลังที่พระเถระทั้งหลาย  ได้ร่วมกันร้อยกรองจัดระเบียบพระพุทธวจนะแล้ว  ในสมัยที่พระพุทธเจ้าทรงมีพระชนม์อยู่  ยังไม่มีการจัดระเบียบหมวดหมู่  ยังไม่มีการจัดเป็นพระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎกและพระอภิธรรมปิฎก  นอกจากมีตัวอย่างการจัดระเบียบวินัยในการสวดปาติโมกข์ลทุกกึ่งเดือน  ตามพระพุทธบัญญัติและการจัดระเบียบธรรมในสังคีติสูตรและทสุตตรสูตร

ที่พระสารีบุตรเสนอไว้  กับตัวอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงชี้แจงวิธีจัดระเบียบพระธรรมแก่พระจุนทและพระอานนท์ในปาสาทิกสูตร  และสามคามสูตร  ดังกล่าวมาแล้วในเบื้องต้น

ในสมัยก่อนที่พระพุทธเจ้าใกล้จะปรินิพพาน  ได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า  ธรรมและวินัยที่เราแสดงแล้ว  บัญญัติแล้วแก่ท่านทั้งหลาย  ธรรมและวินัยนั้น  จะเป็นศาสดาของท่านทั้งหลาย  เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว

จึงกำหนดเป็นหลักฐานชี้ชัดได้ว่า  ในสมัยของพระพุทธเจ้ายังไม่มีคำว่า  พระไตรปิฎก  มีแต่คำว่า  ธรรมวินัย  คำว่า  ไตรปิฎก  หรือ  ติปิฏก  ในภาษาบาลีนั้น  เกิดขึ้นภายหลังที่ทำสังคายนาแล้ว  แต่จะเป็นภายหลังสังคายนาครั้งใดนั้นจะได้กล่าวต่อไป

ถึงอย่างไรก็ตาม  แม้คำว่า  พระไตรปิฎก  จะเกิดในสมัยหลังพุทธปรินิพพาน  ก็ไม่ทำให้สิ่งที่บรรจุอยู่ในพระไตรปิฎกนั้น  คลายความสำคัญลงเลย  เพราะคำว่า  ไตรปิฎก  เป็นเพียงภาชนะ  คือกระจาดหรือตะกร้าสำหรับใส่ผลไม้สิ่งของเท่านั้น  ส่วนตัวผลไม้ที่บรรจุอยู่ในภาชนะกล่าวคือพุทธวจนะ  ได้มีมาแล้วในสมัยที่พระพุทธเจ้าทรงเผยแผ่พระพุทธศาสนา  ก็มิได้เก่าคร่ำคร่าหรือหมดยุคสมัยแต่อย่างใดเลย

๖.  การสวดปาติโมกข์ต่างจากการสังคายนา

การสวดปาติโมกข์  คือการว่าปากเปล่า  หรือการสวดข้อบัญญัติทางพระวินัย  ๑๕๐  ข้อ  ในเบื้องแรก  และ  ๒๒๗  ข้อในกาลต่อมาทุก ๆ กึ่งเดือนหรือ  ๑๕  วัน  เป็นข้อบัญญัติทางพระวินัย  ที่ให้พระภิกษุทั้งหลายต้องลงฟังการกล่าวทบทวนข้อบัญญัติทางพระวินัยนี้ทุก  ๑๕  วัน  ถ้าขาดโดยไม่มีเหตุสมควรต้องปรับอาบัติทุกกฏ  การสวดปาติโมกข์นี้  เป็นตัวอย่างอันหนึ่งของการบังคับให้ท่องจำซึ่งข้อบัญญัติทางพระวินัย  แต่ไม่ใช่ให้สวดพร้อมกันเหมือนการสวดมนต์ทั่วไป  คงมีผู้สวดรูปเดียวส่วนที่เหลือเป็นแต่เพียงนั่งฟังเท่านั้น  และมีรูปหนึ่งคอยตรวจทานเมื่อสวดผิดก็จะบอกให้สวดถูกต้อง  อนึ่งในการสวดจะต้องสวดให้ถูกอักขระฐานกรณ์  คือเปล่งเสียงออกมาโดยเน้นว่าอักขระตัวนั้นเกิดที่ใดก็ว่าให้ถูกต้องตามฐานกรณ์ที่เกิด

ส่วนการสังคายนานั้น  แปลตามรูปศัพท์ว่า  ร้อยกรอง  คือประชุมสงฆ์จัดระเบียบหมวดหมู่พระพุทธวจนะ  แล้วรับทราบทั่วกันในที่ประชุมนั้นว่าตกลงกันอย่างนี้  แล้วก็มีการท่องจำสืบ ๆ กันมา  ในชั้นเดิมการสังคายนาปรารภเหตุความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนา  จึงจัดระเบียบหมวดหมู่พระพุทธวจนะไว้  ในครั้งต่อ ๆ มาปรากฏว่ามีการถือผิด  ตีความหมายผิด  จึงมีการตรวจสอบชำระวินิจฉัยข้อที่ถือผิดและตีความหมายที่ผิดนั้น  โดยชี้ขาดว่าอะไรคือความถูกต้องแล้วก็ทำการสังคายนา  โดยการทบทวนระเบียบเดิมบ้าง  เพิ่มเติมของใหม่ในลักษณะบันทึกเหตุการณ์บ้าง  หรือจัดระเบียบใหม่ในบางข้อบ้าง  ในชั้นหลังเป็นเพียงการจารึกลงในใบลาน  การสอบทานข้อผิดในใบลาน  ก็เรียกกันว่าสังคายนา  ไม่จำเป็นต้องมีเหตุการณ์ถือผิดหรือเข้าใจผิดเกิดขึ้น  แต่ความจริงเมื่อพิจารณาตามรูปศัพท์แล้ว  การสังคายนาก็เท่ากับการจัดระเบียบ  การปัดกวาดให้สะอาด  เมื่อทำขึ้นครั้งหนึ่งก็มีประโยชน์ครั้งหนึ่ง  เหมือนกับการทำความสะอาดที่อยู่อาศัยนั่นเอง

การสังคายนาจึงแตกต่างจากการสวดปาติโมกข์ในสาระสำคัญที่ว่า  การสวดปาติโมกข์เป็นการทบทวนความจำของที่ประชุมสงฆ์ทุกกึ่งเดือน  เกี่ยวกับข้อปฏิบัติทางพระวินัย  ส่วนการสังคายนาไม่มีกำหนดว่าต้องทำเมื่อไร  โดยปกติเมื่อรู้สึกว่าควรจัดระเบียบชำระข้อถือผิดหรือเข้าใจผิดได้แล้ว  ก็ลงมือทำตามโอกาสอันสมควร  แม้เมื่อรู้สึกว่าไม่มีการถือผิดหรือเข้าใจผิด  แต่เห็นสมควรตรวจสอบชำระพระไตรปิฎก  แก้ตัวอักษร  หรือข้อความที่วิปลาสคลาดเคลื่อน  ก็ถือว่าเป็นการสังคายนาเช่นกัน

๗.  การนับครั้งในการทำสังคายนา

การนับครั้งในการทำสังคายนามีปัญหาที่ยังไม่ลงตัว  จึงทำให้การนับจำนวนครั้งไม่ตรงกันเนื่องจากมีบางประเทศไม่ให้การยอมรับการทำสังคายนาบางครั้ง  เช่น  ประเทศพม่า  ยอมรับว่าตั้งแต่เริ่มแรกมีการทังคายนามารวม ๖ ครั้ง โดยเฉพาะครั้งที่  ๖  พม่าจัดทำเป็นการใหญ่  ในโอกาสใกล้เคียงกับงานฉลอง  ๒๕  พุทธศตวรรษ  แล้วฉลองพร้อมกันทีเดียว  ทั้งการทำสังคายนาครั้งที่  ๖  และงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ แต่ตามหลักฐานของพระเถระฝ่ายไทยผู้รจนาหนังสือเรื่องสังคีติยวงศ์  หรือประวัติศาสตร์การสังคายนา  กล่าวว่า  สังคายนามี  ๙  ครั้ง  รวมทั้งครั้งที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงกระทำในรัชสมัยของพระองค์  คือการสอบทานแก้ไขพระไตรปิฎก  แล้วจารลงในใบลานเป็นหลักฐาน

โดยเหตุที่ความรู้เรื่องการสังคายนาเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเป็นที่มาแห่งพระไตรปิฎก  ดังนั้น  จะได้รบรวมมติของประเทศต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำสังคายนา  และปัญหาเรื่องการนับครั้งมารวมเป็นหลักฐานไว้ในที่นี้  รวมเป็น  ๕  หัวข้อ  คือ

๑.  การนับครั้งสังคายนาที่รู้กันทั่วไป

๒.  การนับครั้งสังคายนาของลังกา

๓.  การนับครั้งสังคายนาของพม่า

๔.  การนับครั้งสังคายนาของไทย

๕.  การนับครั้งสังคายนาของฝ่ายมหายาน

ในการจัดทำเอกสารประกอบการสอนเนื้อหาการนับครั้งสังคายนานี้  ผู้เขียนได้ศึกษาจากเอกสารชื่อพระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน  ของอาจารย์สุชีพ  ปุญญานุภาพ  ซึ่งท่านได้อ้างอิงหลักฐานจากวินัยปิฎก  เล่มที่  ๗  พร้อมทั้งอรรถกถาจากหนังสือมหาวงศ์  สังคีติยวงศ์  และบทความของท่าน B. Jinananda  ในหนังสือ  2500  Years  of  Buddhism  ซึ่งพิมพ์ในโอกาสฉลอง  ๒๕  พุทธศตวรรษในอินเดียและหนังสืออื่น ๆ

๑.  การนับครั้งสังคายนาที่รู้กันทั่วไป

การนับครั้งสังคายนาที่รู้กันทั่วไปคือ  สังคายนาครั้งที่  ๑ – ๓  ซึ่งทำในอินเดียอันเป็นของฝ่ายเถรวาท  กับอีกครั้งหนึ่งในภาคเหนือ  ซึ่งพระเจ้ากนิษกะทรงอุปถัมภ์  อันเป็นสังคายนาผสมรวมเป็น  ๔  ครั้ง  แต่ฝ่ายเถรวาทมิได้รับรู้ในการสังคายนาครั้งที่  ๔  นั้น  เพราะการสืบสายศาสนาแยกกันคนละทาง  ตลอดจนภาษาที่รองรับคัมภีร์ทางศาสนาก็ใช้ต่างกัน  คือของเถรวาทหรือศาสนาพุทธแบบที่ไทย  พม่า  ลังกา  เขมร  ลาว  นับถือนั้นใช้ภาษาบาลี  ส่วนของฝ่ายมหายานหรือศาสนาพุทธแบบญี่ปุ่น  จีน  ทิเบต  ญวน  และเกาหลี  นับถือนั้นใช้ภาษาสันสกฤต  ในสมัยที่ตำราภาษาสันสกฤตสาบสูญก็มีเฉพาะคัมภีร์ที่แปลเป็นภาษาจีนและภาษาทิเบตเป็นหลัก  แล้วมีผู้แปลสู่ภาษาอื่น ๆ เช่น  ญี่ปุ่น  อีกต่อหนึ่ง  การนับครั้งสังคายนาที่รู้กันทั่วไปมีดังนี้

หมายเลขบันทึก: 512395เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2012 18:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ธันวาคม 2012 18:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

 

๑.๑  สังคายนาครั้งที่  ๑

ทำที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา  ข้างเขาเวภาระ  กรุงราชคฤห์  ประเทศอินเดีย  พระมหากัสสปเถระเป็นประธานและเป็นผู้สอบถาม  พระอุบาลีเป็นผู้ตอบข้อซักถามทางพระวินัย  พระอานนท์เป็นผู้ตอบข้อซักถามทางธรรม  มีพระอรหันต์เข้าประชุม  ๕๐๐  รูป  ทำอยู่  ๗  เดือน  จึงสำเร็จ  ในการนี้พระเจ้าอชาตศัตรูทรงเป็นผู้อุปถัมภ์  สังคายนาครั้งนี้ทำภายหลังที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานล่วงแล้วได้ ๓  เดือน  ข้อปรารภในการสังคายนา  คือ  พระมหากัสสปะปรารภถ้อยคำของภิกษุผู้บวชเมื่อแก่ชื่อสุภัททะ  เมื่อรู้ข่าวการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า  ภิกษุทั้งหลายต่างพากันร้องไห้เศร้าโศก  แต่ภิกษุสุภัททะกลับห้ามภิกษุเหล่านั้นเสีย  โดยกล่าวว่าต่อนี้ไปจะทำอะไรได้ตามใจแล้ว  ไม่ต้องมีใครมาคอยชี้ว่า  นี่ผิด  นี่ถูก  นี่ควร  นี่ไม่ควร  ต่อไปอีก  พระมหากัสสปะสลดใจในถ้อยคำของภิกษุสุภัททะ  จึงได้นำเรื่องนั้นเสนอต่อที่ประชุมสงฆ์  แล้วเสนอชวนให้ทำสังคายนาร้อยกรองจัดระเบียบพระธรรมวินัย  ซึ่งก็ได้รับความเห็นชอบ

มีข้อที่น่าสังเกตคือ  ประวัติการทำสังคายนาครั้งที่  ๑  และครั้งที่  ๒  มีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก  เล่มที่  ๗  จุลวรรค  หน้า  ๒๗๙ – ๔๒๓  ซึ่งแสดงว่าประวัติเรื่องนี้คงเพิ่มเข้ามาในพระวินัยในการทำสังคายนาครั้งที่  ๓  นอกจากนั้น  ในครั้งที่  ๑  และครั้งที่  ๒  ไม่คำกล่าวถึงปิฎกเลย สังคายนาครั้งที่ ๑ ใช้คำว่าวินัยวิสัชนา คือตอบเรื่องพระวินัย  และธัมมวิสัชนา  คือตอบเรื่องพระธรรม

สำหรับครั้งที่  ๒  ใช้คำว่า  ทสวัตถุปุจฉาวิสัชนา  คือถามตอบเรื่องวัตถุ  ๑๐  จึงเห็นได้ว่า  สังคายนาครั้งที่  ๑  และครั้งที่  ๒  ยังไม่ได้แยกเป็น  ๓  ปิฎก  แต่เรียกว่า  ธรรมวินัย  รวมกันไป  โดยรวมสุตตันตปิฎกและอภิธัมมมปิฎกอยู่ในคำว่า  ธรรม

ในหนังสือชั้นอรรถกถา  ซึ่งแต่งขึ้นอธิบายพระไตรปิฎก  หลังพุทธปรินิพพานเกือบพันปี  อธิบายว่าสุดแต่จะจัดประเภท  จะว่าพุทธวจนะมี  ๑  ก็ได้  คือมีความหลุดพ้น  เป็นรสเหมือนทะเล  แม้จะมีน้ำมากก็มีรสเดียวคือมีรสเค็ม  จะว่ามี ๒ ก็ได้  คือเป็นพระธรรมกับพระวินัย จะว่าเป็น ๓ ก็ได้  คือไตรปิฎก  อันแยกออกเป็นวินัยปิฎก  สุตตันตปิฎก  และอภิธัมมปิฎก  จะว่าเป็น  ๕  ก็ได้  คือแบ่งออกเป็น  ๕  นิกาย  หรือ  ๕  หมวด  ได้แก่  (๑)  ทีฆนิกาย  หมวดยาว  (๒)  มัชฌิมนิกาย  หมวดปานกลาง  (๓)  สังยุตตนิกาย  หมวดประมวลเรื่องเป็นพวก ๆ (๔)  อังคุตตรนิกาย  หมวดยิ่งด้วยองค์  คือจัดข้อธรรมเป็นหมวด  ๑  หมวด  ๒  เป็นต้น  (๕)  ขุททกนิกาย  หมวดเล็กน้อยหรือหมวดเบ็ดเตล็ด  การจัดอย่างนี้ จัดตามหลักสุตตันตปิฎก  แล้วเอาวินัยปิฎกและอภิธัมมปิฎกมาย่อรวมในขุททกนิกาย  คือหมวดเบ็ดเตล็ด  นอกจากนั้นยังอธิบายถึงการแบ่งพระพุทธวจนะเป็น  ๙  ส่วน  เป็น  ๘๔,๐๐๐  ส่วน  ซึ่งจะไม่ขอนำมากล่าวในที่นี้

๑.๒  สังคายนาครั้งที่  ๒

ทำที่วาลิการาม  เมืองเวสาลี  แคว้นวัชชี  ประเทศอินเดีย  พระยสะ  กากัณฑกบุตร  เป็นผู้ชักชวนและมีพระเถระเข้าร่วมประชุมมีชื่อปรากฏ  ๘  รูป  คือ

(๑) พระสัพพกามี  (๒)  พระสาฬหะ  (๓)  พระขุชชโสภิตะ  (๔)  พระวาสภคามิกะ

ท่านเหล่านี้เป็นชาวเมืองปาจีนกะ  และอีก  ๔  รูปเป็นชาวเมืองปาฐาคือ

(๕)  พระเรวตะ  (๖)  พระสัมภูตะ สาณวาสี (๗)  พระยสะ  กากัณฑกบุตร  (๘)  พระสุมนะ

ในการนี้  พระเรวตะเป็นผู้ถาม  พระสัพพกามีเป็นผู้ตอบปัญหาทางวินัยที่เกิดขึ้น  มีพระสงฆ์ประชุมกัน  ๗๐๐  รูป  ทำอยู่  ๘  เดือนจึงแล้วเสร็จ  สังคายนาครั้งนี้ทำหลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว  ๑๐๐  ปี  ข้อปรารภในการทำสังคายนาครั้งนี้คือ  พระยสะ  กากัณฑกบุตร  ปรารภข้อปฏิบัติย่อหย่อน  ๑๐  ประการทางพระวินัยของพวกภิกษุวัชชีบุตร  เช่น  ถือว่าควรเก็บเกลือไว้ในเขนง (เขาสัตว์)  เพื่อเอาไว้ฉันได้,  ตะวันเกินเที่ยงไปแล้ว  ๒  นิ้วควรฉันอาหารได้,  ควรรับเงินและทองได้  เป็นต้น พระยสะ  กากัณฑกบุตร  จึงชักชวนพระเถระต่าง ๆ ให้ช่วยกันวินิจฉัยแก้ความถือผิดครั้งนี้

รายละเอียดของการทำสังคายนาครั้งนี้ ปรากฏในวินัยปิฎก เล่มที่ ๗ หน้า ๓๙๖ ไม่ได้กล่าวถึงการจัดระเบียบพระไตรปิฎก  คงกล่าวเฉพาะการชำระข้อถือผิด  ๑๐  ประการของพวกภิกษุวัชชีบุตร

ทั้งไม่ได้บอกว่าทำสังคายนาอยู่นานเท่าไร  ในอรรถกถากล่าวว่า  ทำอยู่  ๘  เดือนจึงสำเร็จ

อาจารย์สุชีพ  ปุญญานุภาพ  ได้ตั้งข้อสังเกตในเรื่องสังคายนาครั้งที่  ๑  แล้วว่า  หลักฐานในวินัยปิฎกที่กล่าวถึงสังคายนาครั้งที่  ๑  และครั้งที่  ๒  ไม่มีกล่าวถึงคำว่า  ไตรปิฎก  เลย  แต่ถ้ากล่าวตามหลักฐานที่ปรากฏในหนังสือสมันตปาสาทิกา ซึ่งแต่งขึ้นอธิบายวินัยปิฎกเมื่อพุทธปรินิพพานล่วงแล้วเกือบพันปี  ท่านได้กล่าวไว้ชัดเจนในหน้า  ๒๘, ๒๙, และ  ๓๓  ว่า  การทำสังคายนาจัดประเภทพระพุทธวจนะเป็นรูปพระไตรปิฎก  ได้มีมาแล้วตั้งแต่สังคายนาครั้งที่  ๑  แม้ครั้งที่  ๒  ก็ทำซ้ำอีก

เพราะฉะนั้น ถ้าถือตามหลักฐานของคัมภีร์ชั้นอรรถกถา การสังคายนาจัดระเบียบเป็นรูปพระไตรปิฎก  ก็มีมาแล้วตั้งแต่การทำสังคายนาครั้งที่  ๑  เป็นต้นมา

๑.๓  สังคายนาครั้งที่  ๓

ได้กล่าวมาแล้วว่า  เรื่องสังคายนาปรากฏในวินัยปิฎกมีเพียง  ๒  ครั้ง  คือ  ครั้งที่  ๑  และครั้งที่  ๒  ส่วนเรื่องการสังคายนาครั้งที่  ๓  มีปรากฏในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา  ซึ่งพอเก็บใจความได้ดังนี้

สังคายนาครั้งที่ ๓  ทำที่อโศการาม  กรุงปาตลีบุตร  ประเทศอินเดีย  พระโมคคลีบุตร  ติสสเถระ  เป็นหัวหน้า  มีพระสงฆ์ประชุมกัน  ๑,๐๐๐  รูป  ทำอยู่  ๙  เดือนจึงแล้วเสร็จ  สังคายนาครั้งนี้  ทำหลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว  ๒๓๔  หรือ  ๒๓๕  ปี  ข้อปรารภในการทำสังคายนาครั้งนี้คือ  พวกเดียรถีย์  หรือนักบวชศาสนาอื่นมาปลอมบวช  แล้วแสดงลัทธิศาสนาและความเห็นของตนว่าเป็นพระพุทธศาสนา  พระโมคคลีบุตร  ติสสเถระ  ได้ขอความอุปถัมภ์จากพระเจ้าอโศกมหาราช  ชำระสอบสวนกำจัดเดียรถีย์เหล่านั้นจากพระธรรมวินัยได้แล้ว  จึงสังคายนาพระธรรมวินัย

มีข้อน่าสังเกตว่า  ในการทำสังคายนาครั้งนี้  พระโมคคลีบุตรได้แต่งคัมภีร์ชื่อกถาวัตถุ  ซึ่งเป็นคัมภีร์ในอภิธัมมปิฎกเพิ่มขึ้นด้วย  ตามประวัติว่าบทตั้งมีอยู่เดิมแล้ว  แต่ได้แต่งขยายให้พิสดารออกไป  เรื่องกถาวัตถุเป็นเรื่องคำถามคำตอบเกี่ยวกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา  มีคำถาม  ๕๐๐  และคำตอบ  ๕๐๐  เมื่อทำสังคายนาเสร็จแล้ว  ก็ได้ส่งคณะทูตไปประกาศพระพุทธศาสนาในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งพระมหินทเถระ  ผู้เป็นโอรสของพระเจ้าอโศกมหาราช  ได้นำพระพุทธศาสนาไปประดิษฐานในลังกาเป็นครั้งแรก  การส่งสมณทูตไปยังทิศต่าง ๆ นั้น  ถือหลักว่าให้ไปครบ  ๕  รูป  เพื่อจะได้ให้การอุปสมบทแก่ผู้เลื่อมใสได้  แต่คงไม่ได้ระบุชื่อหมดทั้งห้า  โดยมากออกนามเฉพาะท่านผู้เป็นหัวหน้าเท่านั้น

๑.๔  สังคายนาครั้งที่  ๔

การสังคายนาครั้งนี้  เป็นการผสมกับฝ่ายมหายาน  ทำในอินเดียภาคเหนือ  โดยความอุปถัมภ์ของพระเจ้ากนิษกะ  สังคายนาครั้งนี้  ทางฝ่ายเถรวาท  คือฝ่ายที่ถือพระพุทธศาสนาแบบที่  ไทย  ลาว  เขมร  พม่า  และลังกา  นับถือ  มิได้รับรองเข้าเป็นครั้งที่  ๔  เพราะเป็นการสังคายนาของนิกายสัพพัตถิกวาท  ซึ่งแยกออกไปจากฝ่ายเถรวาททำผสมกับฝ่ายมหายาน  และเพราะมีสายแห่งการสืบต่อสั่งสอนอบรมไม่ติดต่อเกี่ยวข้องกัน  จึงไม่มีบันทึกหลักฐานเรื่องนี้ทางเถรวาท  ทั้งภาษาที่ใช้สำหรับพระไตรปิฎกก็ไม่เหมือนกัน  คือ  ฝ่ายมหายานใช้ภาษาสันสกฤต  บางครั้งก็ปนปรากฤต  ส่วนฝ่าย

เถรวาทใช้ภาษาบาลี

การสังคายนาครั้งที่  ๓  ที่ทำในประเทศอินเดียดังกล่าวแล้ว  ทางฝ่ายจีนและทิเบตก็ไม่มีบันทึกรับรองไว้  เพราะเป็นคนละสายเช่นเดียวกัน

แต่เนื่องจากการสังคายนาครั้งนี้  เป็นที่รู้กันทั่วไปในวงการของผู้ศึกษาพระพุทธศาสนา  จึงนับว่ามีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ควรนำมากล่าวไว้ด้วย และเมื่อคิดตามลำดับเวลาแล้วก็นับเป็นสังคายนาครั้งที่  ๔  ที่ทำในประเทศอินเดีย  เมื่อประมาณ  ค.ศ.  ๑๐๐ (พ.ศ.  ๖๔๓)  เรื่องปีที่ทำสังคายนานี้  หนังสือบางเล่มก็กล่าวต่างออกไป  สังคายนาครั้งนี้ทำที่  เมืองชาลันธร  แต่บางหลักฐานก็ว่าทำที่กาษมีระหรือแคชเมียร์  รายละเอียดบางประการจะได้กล่าวถึงตอนที่ว่าด้วยการสังคายนาของนิกายสัพพัตถิกวาท

มีข้อน่าสังเกตคือ หนังสือประวัติศาสตร์ของอินเดียบางเล่ม กล่าวว่า ใน ค.ศ. ๖๓๔ (พ.ศ.๑๑๗๗)  พระเจ้าศีลาทิตย์  ได้จัดให้มีมหาสังคายนาขึ้นในอินเดียภาคเหนือ  มีกษัตริย์ประเทศราชมาร่วมด้วยถึง  ๒๑  พระองค์  ในพิธีนี้มีพระสงฆ์ผู้คงแก่เรียน  และพราหมณ์ผู้ทรงความรู้มาประชุมกัน  ในวันแรกตั้งพระพุทธรูปบูชาในพิธี  ในวันที่  ๒  ตั้งรูปสุริยเทพ  ในวันที่  ๓  ตั้งรูปพระศิวะ

การสังคายนาครั้งนี้จึงมีลักษณะผสม  คือทั้งพุทธ  ทั้งพราหมณ์  ภิกษุที่เข้าประชุมก็มีทั้งฝ่ายเถรวาทและฝ่ายมหายาน  แต่เมื่อสอบดูหนังสือประวัติของภิกษุเฮี่ยนจัง  ซึ่งบันทึกเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ด้วย  กลายเป็นการประชุมเพื่อให้มาโต้แย้งกับภิกษุเฮี่ยนจังผู้แต่งตำรายกย่องพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานไป  หาใช่เป็นการสังคายนาแต่อย่างไรไม่  ที่บันทึกไว้ในที่นี้ด้วย  ก็เพื่อให้หมดปัญหาประวัติการสังคายนาในอินเดีย

๒.  การนับครั้งสังคายนาของลังกา

ลังกานับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทเช่นเดียวกับไทย  คงรับรองการสังคายนาทั้งสามครั้งแรกในอินเดีย  แต่ไม่รับรองสังคายนาครั้งที่  ๔  ซึ่งเป็นของนิกายสัพพัตถิกวาทผสมกับฝ่ายมหายาน

หนังสือสมันตปาสาทิกา  ซึ่งแต่งอธิบายวินัยปิฎกกล่าวว่า  เมื่อทำสังคายนาครั้งที่  ๓  เสร็จแล้ว  พระมหินทเถระผู้เป็นโอรสของพระเจ้าอโศกมหาราช  พร้อมด้วยพระเถระอื่น ๆ รวมกันครบ  ๕  รูป  ได้เดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในลังกา  ได้พบกับพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ  แสดงธรรมให้พระราชาเลื่อมใส  และประดิษฐานพระพุทธศาสนาได้แล้ว  ก็มีการประชุมสงฆ์  ให้พระอริฏฐะผู้เป็นศิษย์ของพระมหินทเถระ สวดพระวินัยเป็นการสังคายนาวินัยปิฎก ส่วนหนังสืออื่น ๆ เช่น สังคีติยวงศ์  กล่าวว่า  มีการสังคายนาทั้งสามปิฎก  สังคายนาครั้งนี้ทำที่ถูปาราม เมืองอนุราธปุระ มีพระมหินทเถระเป็นประธาน

สังคายนาครั้งที่  ๑  ในลังกา  การสังคายนาครั้งนี้  ต่อจากการสังคายนาครั้งที่  ๓  ในอินเดียไม่กี่ปี  คือสังคายนาครั้งที่  ๓  ทำใน  พ.ศ.  ๒๓๕  พอทำสังคายนาเสร็จแล้วไม่นาน  พ.ศ.  ๒๓๖  พระมหินทเถระก็เดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในลังกา  และในปี  พ.ศ.  ๒๓๘  ก็ได้ทำสังคายนาในลังกา  เหตุผลที่อ้างอิงในการทำสังคายนาครั้งนี้คือเพื่อให้พระศาสนาตั้งมั่น  เพราะเหตุที่สังคายนาครั้งนี้ห่างจากครั้งแรกประมาณ  ๓-๔ ปี  บางมติจึงไม่ยอมรับว่าเป็นสังคายนา เช่น มติของฝ่ายพม่าดังจะกล่าวข้างหน้า อาจารย์สุชีพ  ปุญญานุภาพ  ได้แสดงทรรศนะว่า  สังคายนาครั้งนี้  อาจเป็นการวางรากฐานให้ชาวลังกาท่องจำพระพุทธวจนะ  จึงต้องประชุมชี้แจงหรือแสดงรูปแห่งพุทธวจนะตามแนวที่ได้จัดระเบียบไว้ในการสังคายนาครั้งที่  ๓  ในอินเดีย  ดังนั้น  สังคายนาครั้งนี้  จึงนับได้ว่าเป็นสังคายนาครั้งแรกในลังกา

สังคายนาครั้งที่  ๒  ในลังกา  ทำเมื่อประมาณ  พ.ศ. ๔๓๓ ในสมัยของพระเจ้าวัฏฏคามณีอภัย  เรื่องที่ปรากฏเป็นเหตุทำสังคายนาครั้งนี้  คือเห็นกันว่า  ถ้าจะใช้วิธีท่องจำพระพุทธวจนะต่อไป  ก็อาจมีข้อวิปริตผิดพลาดได้ง่าย  เพราะปัญญาในการท่องจำของกุลบุตรเสื่อมถอยลง  จึงตกลงจารึกพระพุทธวจนะลงในใบลาน  มีคำกล่าวว่า  ได้จารึกอรรถกถาลงไว้ด้วย  สังคายนาครั้งนี้ทำที่อาโลกเลณสถาน  ณ  มตเลชนบท  ซึ่งไทยเรียกว่ามลัยชนบท  ประเทศลังกา  มีพระรักขิตมหาเถระเป็นประธาน  ได้กล่าวแล้วว่า  บางมติไม่รับรองการสังคายนาของพระมหินทเถระ  ว่าเป็นครั้งที่  ๔  ต่อจากอินเดีย  แต่สังคายนาครั้งที่  ๒  ในลังกานี้  ได้รับการรับรองเข้าลำดับโดยทั่วไป  บางมติก็จัดเข้าเป็นลำดับที่  ๕  บางมติไม่รับรองสังคายนาของพระมหินทเถระ  ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกในลังกา  ก็จัดสังคายนาครั้งที่  ๒  ในลังกานี้ว่า  เป็นครั้งที่  ๔  ต่อจากอินเดีย

สังคายนาครั้งที่  ๓  ในลังกา ทำเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๘ (ค.ศ. ๑๘๖๕) ที่รัตนปุระ พระเถระชื่อหิกขทุเว สิริสุมังคละ  เป็นหัวหน้า  ทำอยู่  ๔  เดือนจึงแล้วเสร็จ  การสังคายนาครั้งนี้  น่าจะไม่มีใครรู้มากนัก  นอกจากเป็นบันทึกของชาวลังกาเอง  การโฆษณาก็คงไม่มากมายเหมือนสังคายนาครั้งที่  ๖  ของพม่า

๓.  การนับครั้งสังคายนาของพม่า

ได้กล่าวมาแล้วว่า  พม่าไม่รับรองสังคายนาครั้งแรกในลังกา  คงรับรองเฉพาะสังคายนาครั้งที่  ๒  ของลังกาว่าเป็นครั้งที่  ๔  ต่อจากนั้นก็นับสังคายนาครั้งที่  ๕  และที่  ๖  ซึ่งทำในประเทศพม่า

สังคายนาครั้งที่  ๑  ในพม่า  หรือที่พม่านับว่าเป็นครั้งที่  ๕  ต่อจากครั้งจารึกลงในใบลานของลังกา  สังคายนาครั้งนี้มีการจารึกพระไตรปิฎกลงในแผ่นหินอ่อน  ๗๒๙  แผ่น  ณ  เมืองมันดเล  โดยการอุปถัมภ์ของพระเจ้ามินดง  พ.ศ. ๒๔๑๔ (ค.ศ. ๑๘๗๑) พระมหาเถระ ๓ รูป คือ พระชาคราภิวังสะ  พระนรินทาภิธชะ  และพระสุมังคลสามี  ได้ผลัดเปลี่ยนกันเป็นประธานโดยลำดับ  มีพระสงฆ์และพระอาจารย์ผู้แตกฉานในพระปริยัติธรรมร่วมประชุม  ๒,๔๐๐  ท่าน  ทำอยู่  ๕  เดือนจึงแล้วเสร็จ

สังคายนาครั้งที่  ๒  ในพม่า  หรือที่พม่านับว่าเป็นครั้งที่  ๖  ที่เรียกว่า  ฉัฏฐสังคายนา  เริ่มทำเมื่อวันที่  ๑๗  พฤษภาคม  พ.ศ.  ๒๔๙๗  ถึงวันที่  ๒๔  พฤษภาคม  พ.ศ.  ๒๔๙๙  ในการนี้ได้จัดให้มีการฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษด้วย เนื่องจากพม่านับปีพุทธศักราชเร็วกว่าไทย ๑ ปี  จึงครบ  ๒๕  พุทธศตวรรษในปี  พ.ศ.  ๒๔๙๙  ตามปีปฏิทินของไทย

พม่าทำสังคายนาครั้งนี้  มุ่งพิมพ์พระไตรปิฎก  อรรถกถา  และคำแปลเป็นภาษาพม่าโดยลำดับมีการโฆษณาและเชิญชวนพุทธศาสนิกชนหลายประเทศไปร่วมพิธีด้วย  โดยเฉพาะประเทศที่นับถือเถรวาท  คือ  พม่า  ลังกา  ไทย  ลาว  เขมร  ทั้งห้าประเทศนี้ถือว่าสำคัญสำหรับการสังคายนาครั้งนี้มาก  เพราะใช้พระไตรปิฎกภาษาบาลีอย่างเดียวกัน  จึงได้จัดให้มีการประชุม  ซึ่งประมุขหรือผู้แทนประมุขของทั้งห้าประเทศนี้เป็นหัวหน้า  ได้มีการก่อสร้างคูหาจำลองทำด้วยคอนกรีต  จุคนได้หลายพันคน  มีที่นั่งสำหรับพระสงฆ์ไม่น้อยกว่า ๒,๕๐๐ ที่  บริเวณที่ก่อสร้างประมาณ  ๒๐๐ ไร่เศษ  เมื่อเสร็จแล้วได้แจกจ่ายพระไตรปิฎกฉบับอักษรพม่าไปในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย

๔.  การนับครั้งสังคายนาของไทย

ตามหลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมของไทย เรายอมรับการสังคายนาครั้งที่ ๑-๒-๓ ในอินเดีย  และครั้งที่  ๑-๒  ในลังกา  รวมทั้งสิ้น  ๕  ครั้ง  ถือว่าเป็นประวัติที่ควรรู้เกี่ยวกับความเป็นมาแห่งพระธรรมวินัย  แต่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า  กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  ทรงถือว่าสังคายนาในลังกาทั้งสองครั้ง  เป็นเพียงสังคายนาเฉพาะประเทศ  ไม่ควรจัดเป็นสังคายนาทั่วไป  จึงทรงบันทึก

พระมติไว้ในท้ายหนังสือพุทธประวัติ  เล่ม  ๓

แต่ตามหนังสือสังคีติยวงศ์หรือประวัติแห่งการสังคายนา ซึ่งสมเด็จพระวันรัต วัดพระเชตุพน  รจนาเป็นภาษาบาลีในรัชกาลที่  ๑  ตั้งแต่ครั้งเป็นพระพิมลธรรม  ได้ลำดับความเป็นมาแห่งสังคายนาไว้  ๙  ครั้ง  ดังต่อไปนี้

สังคายนาครั้งที่  ๑-๒-๓  ทำในอินเดีย  ดังมีรายละเอียดได้กล่าวมาแล้วในการนับครั้งสังคายนาในอินเดีย

สังคายนาครั้งที่  ๔-๕  ทำในลังกา  ดังมีรายละเอียดได้กล่าวมาแล้วในการนับครั้งสังคายนาในลังกา

สังคายนาครั้งที่  ๖ ทำในลังกาเมื่อ พ.ศ. ๙๕๖ พระพุทธโฆสะ ได้แปลและเรียบเรียงอรรถกถาคือคำอธิบายพระไตรปิฎก  จากภาษาลังกาเป็นภาษาบาลี  ในรัชสมัยของพระเจ้ามหานามะ  เนื่องจากการแปลอรรถกถาเป็นภาษาบาลีครั้งนี้  มิใช่การสังคายนาพระไตรปิฎก  ทางลังกาเองจึงไม่ถือว่าเป็นการสังคายนาตามแบบแผนที่นิยมกันว่า  จะต้องมีการชำระพระไตรปิฎก

สังคายนาครั้งที่  ๗  ทำในลังกา  เมื่อ  พ.ศ.  ๑๕๘๗  พระกัสสปเถระเป็นประธาน  มีพระเถระร่วมด้วยกว่า  ๑,๐๐๐  รูป  ได้รจนาคำอธิบายอรรถกถาพระไตรปิฎกเป็นภาษาบาลี  กล่าวคือแต่งตำราอธิบายคัมภีร์อรรถกถา  ซึ่งพระพุทธโฆสะได้ทำเป็นภาษาบาลีไว้ในการสังคายนาครั้งที่  ๖  คำอธิบายอรรถกถานี้กล่าวตามสำนวนนักศึกษาก็คือคัมภีร์ฎีกา  ตัวพระไตรปิฎกเรียกว่าบาลี  คำอธิบายพระไตรปิฎกเรียกว่า  อรรถกถา  คำอธิบายอรรถกถาเรียกว่าฎีกา  การทำสังคายนาครั้งนี้เนื่องจากมิใช่สังคายนาพระไตรปิฎก  แม้ทางลังกาเองก็ไม่รับรองว่าเป็นสังคายนา

อย่างไรก็ตาม  ข้อความที่กล่าวไว้ในหนังสือสังคีติยวงศ์  ก็นับว่าได้ประโยชน์ในการรู้ความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก  อรรถกถา  และฎีกา  เป็นอย่างดียิ่ง

สังคายนาครั้งที่  ๘  ทำในประเทศไทย  ประมาณ  พ.ศ.  ๒๐๒๐  พระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่  ได้อาราธนาพระภิกษุผู้ทรงไตรปิฎกหลายร้อยรูป  ให้ช่วยชำระอักษรพระไตรปิฎก  ณ

วัดโพธาราม  เป็นเวลา  ๑  ปีจึงแล้วเสร็จ  ซึ่งถือว่าเป็นการสังคายนาครั้งที่  ๑  ในประเทศไทย

สังคายนาครั้งที่  ๙ ทำในประเทศไทย พ.ศ. ๒๓๓๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  ปฐมกษัตริย์แห่งบรมราชจักรีวงศ์  กรุงรัตนโกสินทร์  ได้ทรงอาราธนาพระสงฆ์ให้ชำระพระไตรปิฎก  ในครั้งนี้มีพระสงฆ์  ๒๑๘  รูป  กับราชบัณฑิตาจารย์อุบาสก  ๓๒  คน  ช่วยกันชำระพระไตรปิฎก  แล้วจัดให้มีการจารึกลงในใบลาน  สังคายนาครั้งนี้สำเร็จภายใน  ๕  เดือน  จัดว่าเป็นสังคายนาครั้งที่  ๒  ในประเทศไทย

ประวัติการสังคายนา  ๙  ครั้ง  ตามที่ปรากฏในหนังสือสังคีติยวงศ์  ซึ่งสมเด็จพระวันรัตรจนาไว้นี้  ภิกษุชินานันทะ  ศาสตราจารย์ภาษาบาลีและพุทธศาสตร์  แห่งสถาบันภาษาบาลีที่นาลันทา ได้นำไปเล่าไว้เป็นภาษาอังกฤษในหนังสือ  ๒๕๐๐  ปี  แห่งพระพุทธศาสนาในอินเดีย  ซึ่งพิมพ์ขึ้นในโอกาสฉลอง  ๒๕  พุทธศตวรรษ  ในอินเดียด้วย

๕.  การสังคายนาของฝ่ายมหายาน

การที่กล่าวถึงสังคายนาของฝ่ายมหายาน  ซึ่งเป็นคนละสายกับฝ่ายเถรวาทไว้ในที่นี้ด้วย  ก็เพื่อเป็นแนวทางการศึกษาและประดับความรู้  เพราะพระไตรปิฎกของฝ่ายเถรวาท  โดยเฉพาะสุตตันตปิฎก  ได้มีคำแปลในภาษาจีนซึ่งแสดงว่า ฝ่ายมหายานได้มีเอกสารของฝ่ายเถรวาทอยู่ด้วย จึงควรจะได้ตรวจสอบดูว่า  ความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎกนั้น  ทางฝ่ายมหายานได้กล่าวถึงไว้อย่างไร

เมื่อกล่าวตามหนังสือพุทธประวัติ  และประวัติสังฆมณฑลสมัยแรกกตามฉบับของทิเบต  ซึ่งชาวต่างประเทศได้แปลไว้เป็นภาษาอังกฤษได้กล่าวถึงการสังคายนา  ๒  ครั้ง  คือครั้งที่  ๑  และครั้งที่  ๒  ในอินเดีย  ดังที่รู้กันอยู่ทั่วไป  แต่จะขอกล่าวในที่นี้เฉพาะข้อที่น่าสังเกตดังนี้

สังคายนาครั้งที่  ๑  หลักฐานฝ่ายเถรวาทว่าสังคายนาพระธรรมกับพระวินัย  พระอานนท์เป็นผู้ตอบคำถามเกี่ยวกับพระธรรม จึงหมายถึงว่า พระอานนท์ได้วิสัชนาทั้งสุตตันตปิฎกและอภิธัมมปิฎก  แต่ในฉบับของทิเบตกล่าวว่า  พระมหากัสสปะเป็นผู้วิสัชนาอภิธัมมปิฎก  ส่วนพระอานนท์วิสัชนาสุตตันตปิฎก  และพระอุบาลีวิสัชนาวินัยปิฎก  และยังได้กล่าวพิสดารออกไปอีกว่า  สังคายนาสุตตันตปิฎกก่อน  พอพระอานนท์เล่าเรื่องปฐมเทศนาจบ  พระอัญญาโกณฑัญญะได้ยืนยันว่าถูกต้องแล้ว  เป็นพระสูตรที่ท่านได้สดับมาเอง  แม้เมื่อกล่าวสูตรที่  ๒  (อนัตตลักขณสูตร) จบ  พระอัญญาโกณฑัญญะก็ให้คำรับรองเช่นกัน  ในหนังสือที่อ้างถึงนี้ใช้คำว่า  มาติกา (มาตฺริกา)  แทนคำว่า  อภิธัมมปิฎก

สังคายนาครั้งที่  ๒  ฉบับมหายานของทิเบต  ได้กล่าวคล้ายคลึงกับหลักฐานของฝ่ายเถรวาทมาก  ทั้งได้ลงท้ายว่า  ที่ประชุมได้ลงมติตำหนิข้อถือผิด  ๑๐  ประการของภิกษุชาววัชชี  ซึ่งแสดงว่าหลักฐานของฝ่ายมหายานกลับรับรองเรื่องนี้  ผู้แปลคือ  Rockhill  อ้างว่า  ได้ตรวจสอบฉบับของจีนซึ่งมีผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษแล้ว  ก็ไม่ปรากฏว่ากล่าวถึงอะไร  นอกจากจบลงด้วยการตำหนิข้อถือผิด  ๑๐  ประการเท่านั้น

ดร. นลินักษะ  แห่งมหาวิทยาลัยกัลกัตตา  ประเทศอินเดีย  ได้พยายามรวบรวมหลักฐานฝ่ายมหายานเกี่ยวกับสังคายนาครั้งที่  ๒  ไว้อย่างละเอียดเป็น  ๓  รุ่น  คือ  รุ่นแรก  รุ่นกลางและรุ่นหลัง  แม้รายละเอียดปลีกย่อยในหลักฐานนั้น ๆ จะไม่ต่างกันออกไปก็ตาม  แต่ก็เป็นอันตกลงว่า  ฝ่ายมหายานได้รับรองการสังคายนาครั้งที่  ๑  และครั้งที่  ๒  ร่วมกัน

โดยเหตุที่คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน  มักจะมีลักษณะหลายอย่างที่แตกต่างจากฝ่ายเถรวาท  เมื่อเกิดปัญหาว่า  คัมภีร์เหล่านั้นมีมาอย่างไร  ก็มักจะมีคำตอบว่า  มีการสังคายนาของฝ่ายมหายาน  คัมภีร์เหล่านั้นเกิดขึ้นจากผู้ที่สังคายนา  ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิได้รู้ได้ฟังมาคนลายกับฝ่ายเถรวาท

เมื่อตรวจสอบจากหนังสือของฝ่ายมหายาน  แม้จะพบว่าสังคายนาผสมกับฝ่ายมหายานนั้น  เกิดในสมัยพระเจ้ากนิษกะ ประมาณ พ.ศ. ๖๔๓ ก็จริง  แต่ข้ออ้างต่าง ๆ มักจะพาดพิงไปถึงสังคายนาครั้งที่  ๑  และที่  ๒  คือมีคณะสงฆ์อีกฝ่ายหนึ่ง  ทำสังคายนาแข่งขันอีกส่วนหนึ่ง  คือ

๑.สังคายนาครั้งแรกที่พระมหากัสสปเถระเป็นประธานนั้น ทำที่ถ้ำสัตตบรรณคูหาข้างเขา

เวภาระ  กรุงราชคฤห์  มีคำกล่าวของฝ่ายมหายานว่า  ภิกษุทั้งหลายผู้มิได้รับเลือกเป็นการกสงฆ์  ได้ประชุมกันทำสังคายนาขึ้นอีกส่วนหนึ่ง  เรียกว่าสังคายนานอกถ้ำ  และโดยเหตุที่ภิกษุผู้ทำสังคายนานอกถ้ำมีจำนวนมาก  จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  สังคายนามหาสังฆิกะ  คือของสงฆ์หมู่ใหญ่  เรื่องนี้ปรากฏในประวัติของหลวงจีนเฮี่ยนจัง  ผู้เดินทางไปดูการพระพุทธศาสนาในอินเดีย  ที่นายเคงเหลียน  สีบุญเรือง  แปลเป็นภาษาไทย  หน้า ๑๖๙  และกล่าวด้วยว่าในการสังคายนาครั้งนี้แบ่งออกเป็น ๕ ปิฎก คือ พระสูตร, พระวินัย  พระอภิธรรม, ปกิณณกะ  และธารณีแต่หลักฐานของการสังคายนานอกถ้ำครั้งที่ ๑ นี้  น่าจะเป็นการกล่าวสับสนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขนานกับการสังคายนาครั้งที่  ๒  หรืออีกนัยหนึ่งเอาเหตุการณ์ในสังคายนาครั้งที่  ๑  ไปเป็นครั้งที่  ๑  คือ

๒. การสังคายนาของมหาสังฆิกะ มีเรื่องเล่าว่าเมื่อภิกษุวัชชีบุตรถือวินัยย่อหย่อน  ๑๐  ประการ

และพระยสะ  กากัณฑกบุตร  ได้ชักชวนคณะสงฆ์ในภาคต่าง ๆ  มาร่วมกันทำสังคายนา  ชำระมลทินโทษแห่งพระศาสนาวินิจฉัยชี้ว่า  ข้อถือผิด  ๑๐  ประการนั้น  มีห้ามไว้ในพระวินัยอย่างไร  แล้วได้ทำสังคายนาในขณะเดียวกัน  พวกภิกษุวัชชีบุตรซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก  ก็ได้เรียกประชุมสงฆ์ถึง  ๑๐,๐๐๐ รูป ทำสังคายนาของตนเองที่เมืองกุสุมปุระ(ปาตลีบุตร)ให้ชื่อว่ามหาสังคีติ  คือมหาสังคายนาเป็นเหตุให้เกิดนิกายมหาสังฆิกะ ซึ่งแม้จะยังไม่นับว่าเป็นมหายานโดยตรง  แต่ก็นับได้ว่าเป็นเบื้องต้นแห่งการแตกแยกจากฝ่ายเถรวาทมาเป็นมหายาน ครั้นต่อมาการสังคายนาครั้งนี้ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงของเดิมไปไม่น้อย  หลักฐานของฝ่ายมหายานบางเล่ม  ได้กล่าวถึงกำเนิดของนิกายมหาสังฆิกะ  โดยไม่กล่าวถึงวัตถุ  ๑๐  ประการก็มี  แต่กล่าวว่าข้อเสนอ  ๕  ประการของพระมหาเทวะเกี่ยวกับพระอรหันต์ว่า  ยังมิได้ดับกิเลสโดยสมบูรณ์  เป็นต้น  เป็นเหตุให้เกิดการสังคายนาครั้งที่  ๒  แล้วพวกมหาสังฆิกะก็แยกออกมาทำสังคายนาของตน

๖.  การสังคายนาของนิกายสัพพัตถิกวาท

การสังคายนาในสมัยของพระเจ้ากนิษกะ  ประมาณ  พ.ศ.  ๖๔๓ (ค.ศ. ๑๐๐)  พระเจ้ากนิษกะ

มีอำนาจอยู่ในอินเดียภาคเหนือ  ได้สนับสนุนให้มีการสังคายนา  ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า  เป็นสังคายนาแบบผสม  ณ  เมืองชาลันธร  หรือบางแห่งกล่าวว่า  เมืองกาษมีระ  ปัจจุบันคือแคว้นแคชเมียร์ (Kashmir)

หนังสือจดหมายเหตุของหลวงจีนเฮี่ยนจังเล่าว่า พระเจ้ากนิษกะหันมาสนใจพระพุทธศาสนาและตำรับตำราแห่งศาสนานี้  จึงให้อาราธนาพระภิกษุ  ๑  รูป  ไปสอนทุก ๆ วัน  และเนื่องจากภิกษุแต่ละรูปที่ไปสอนก็สอนต่าง ๆ กันออกไป  บางครั้งก็ถึงกับขัดกัน  พระเจ้ากนิษกะทรงลังเลไม่รู้จะฟังว่าองค์ไหนถูกต้อง  จึงปรึกษาข้อความนี้กับพระเถระผู้มีนามว่า  ปารสวะ  ถามว่า  คำสอนที่ถูกต้องนั้นคืออันใดกันแน่ซึ่งพระเถระแนะนำให้แล้ว

พระเจ้ากนิษกะจึงตกลงพระทัยจัดให้มีการสังคายนา  ซึ่งมีภิกษุสงฆ์นิกายต่าง ๆ ได้รับอาราธนาให้มาเข้าประชุม  พระเจ้ากนิษกะโปรดให้สร้างวัดเป็นที่พักพระสงฆ์ได้  ๕๐๐  รูป  ซึ่งเป็นผู้เขียนคำอธิบายพระไตรปิฎก  อรรถกถาสุตตันตปิฎก  มี  ๑๐๐,๐๐๐  โศลก  อรรถกถาวินัยปิฎก มี  ๑๐๐,๐๐๐  โศลก  และอรรถกถาอภิธรรมอันมีนามว่า  อภิธรรมวิภาษา  มีจำนวน  ๑๐๐,๐๐๐  โศลก  ก็ได้แต่งขึ้นในสังคายนาครั้งนี้ด้วย  เมื่อทำสังคายนาเสร็จแล้ว  ก็ได้จารึกลงในแผ่นทองแดง  เก็บไว้ในหีบศิลา  แล้วบรรจุไว้ในเจดีย์ที่สร้างขึ้นโดยเฉพาะเพื่อการนี้อีกต่อหนึ่ง  มีข้อสังเกตคือ  กำหนดกาลของสังคายนาครั้งนี้  ที่ปรากฏในคัมภีร์ฝ่ายทิเบตกล่าวว่า  ทำในยุคหลังจากที่หลวงจีนเฮี่ยนจังกล่าวไว้  แต่เรื่อง  พ.ศ.  ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ในพระพุทธศาสนา  ก็มีข้อโต้แย้งผิดเพี้ยนกันอยู่มิใช่แห่งเดียว  จึงเป็นข้อที่ควรจะได้พิจารณาสอบสวนในทางที่ควรต่อไป

การสังคายนาครั้งนี้  แยกสาขาออกไปจากเถรวาท  แต่ก็มีพระของฝ่ายมหายานร่วมอยู่ด้วย  จึงเท่ากับเป็นสังคายนาผสม

๗.  การสังคายนานอกประวัติศาสตร์

ยังมีสังคายนาอีกครั้งหนึ่ง  ซึ่งไม่ปรากฏในประวัติศาสตร์  และไม่ได้การรับรองทางวิชาการจากผู้ศึกษาค้นคว้าทางพระพุทธศาสนา  อาจถือได้ว่าเป็นความเชื่อถือปรัมปราของพุทธศาสนิกชนฝ่ายมหายานในจีนและญี่ปุ่น  คือสังคายนาของพระโพธิสัตว์มัญชุศรี  และพระโพธิสัตว์ไมเตรยะ

(พระศรีอารย์)  ทั้งนี้ปรากฏตามหลักฐานในหนังสือประวัติศาสตร์ย่อแห่งพระพุทธศาสนา  ๑๒  นิกาย  ของญี่ปุ่น  หน้า  ๕๑  ซึ่งไม่ได้บอกกาลเวลา  สถานที่  และรายละเอียดไว้  ที่นำมากล่าวในที่นี้  พอเป็นเครื่องประดับความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎกในที่มาต่าง ๆ เท่าที่จะศึกษาค้นคว้าได้

 

๘.  ลำดับอาจารย์ผู้ทรงจำพระไตรปิฎก

ในสมัยที่ยังไม่มีการจารึกพระไตรปิฎกลงในใบลานนั้นใช้วิธีท่องจำ  และการท่องจำก็แบ่งหน้าที่กัน  ตามแต่ใครจะสมัครเป็นผู้เชี่ยวชาญในส่วนไหนตอนไหนของพระไตรปิฎก  เช่น  คำว่า  ทีฆภาณกะ  แปลว่า  ผู้สวดคัมภีร์ทีฆนิกาย (พระธรรมเทศนาหมวดยาว)  มัชฌิมภาณกะ แปลว่า  ผู้สวดคัมภีร์มัชฌิมนิกาย (พระธรรมเทศนาขนาดปานกลาง)  โดยนัยนี้จึงเป็นการแบ่งงานกันทำในการท่องจำพระไตรปิฎก  และมีผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา  มีศิษย์ของแต่ละสำนักท่องจำตามที่อาจารย์สั่งสอน  เป็นทางให้เห็นความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก  ด้วยประการฉะนี้

ในหนังสืออธิบายพระไตรปิฎก  หรือที่เรียกว่า  อรรถกถา  ได้แสดงการสืบสายของอาจารย์ในแต่ละทาง  คือ  วินัยปิฎก  สุตตันตปิฎก  และอภิธรรมปิฎก  ที่เรียกว่า  อาจริยปรัมปรา  สายแห่งพระอาจารย์มีดังนี้คือ

(๑)  สายวินัยปิฎก

๑.  พระอุบาลี  ๒.  พระทาสกะ  ๓.  พระโสณกะ

๔.  พระสิคควะ  ๕.  พระโมคคลีบุตร  ติสสะ

(๒)  สายสุตตันตปิฎก

ไม่ได้ระบุไว้ในอรรถกถา  เป็นแต่ได้กล่าวถึงการมอบหน้าที่ในการท่องจำนำสืบ ๆ กันต่อไป  ดังนี้ :-

๑.  มอบให้พระอานนท์ท่องจำสั่งสอนทีฆนิกาย

๒. มอบให้นิสิตทั้งหลายของพระสารีบุตรท่องจำมัชฌิมนิกาย

๓. มอบให้พระมหากัสสปะท่องจำสังยุตตนิกาย

๔. มอบให้พระอนุรุทธะท่องจำอังคุตตรนิกาย

๕. ส่วนขุททกนิกายไม่ได้กล่าวไว้ว่ามอบหน้าที่ให้ใคร

(๓)  สายอภิธรรมปิฎก

๑.  พระสารีบุตร  ๒.  พระภัททชิ  ๓.  พระโสภิตะ

๔.  พระปิยชาลี  ๕.  พระปิยปาละ  ๖.  พระปิยทัสสี

๗.  พระโกสิยปุตตะ  ๘.  พระสิคควะ  ๙.  พระสันเทหะ

๑๐. พระโมคคลีบุตร  ๑๑.  พระติสสทัตตะ  ๑๒. พระธัมมิยะ

๑๓.พระทาสกะ  ๑๔. พระโสณกะ  ๑๕. พระเรวตะ

ตามรายนามนี้  สืบต่อมาเพียงชั่ว  ๒๓๕  ปีเท่านั้น  ต่อจากนั้นยังมีรายนามอีกมาก  ซึ่งนับแต่แผ่ศาสนาไปในลังกาแล้ว

๙.  คำอธิบายพระไตรปิฎกอย่างย่อของพระอรรถกถาจารย์

ได้ทราบมาแล้วว่า  คำอธิบายพระไตรปิฎก  เรียกว่า  อรรถกถา  จึงควรทราบต่อไปว่า  ท่านผู้แต่งตำราอรรถกถานั้น  เรียกกันว่า  พระอรรถกถาจารย์  เฉพาะคำว่า  พระไตรปิฎกนี้  มีคำอธิบายย่อ ๆ ของพระอรรถกถาจารย์ไว้  ดังนี้ :-

๑.  เทศนา

๑.  วินัยปิฎก  เป็น  อาณาเทศนา  คือ  การแสดงธรรมในลักษณะตั้งเป็น

ข้อบังคับโดยส่วนใหญ่

๒. สุตตันตปิฎก    เป็น  โวหารเทศนา  คือ  การแสดงธรรมยักย้ายสำนวนให้

เหมาะสมแก่จริตอัธยาศัยของผู้ฟัง

๓. อภิธรรมปิฎก  เป็น  ปรมัตถเทศนา  คือ  การแสดงธรรมเจาะจงเฉพาะ

ประโยชน์อย่างยิ่ง  ซึ่งเป็นธรรมชั้นสูงไม่เกี่ยวด้วยท้องเรื่องหรือโวหาร

๒.  สาสนะ

๑.  วินัยปิฎก  เป็น  ยถาปราธสาสนะ    คือ  การสอนตามความผิด  หรือโทษชนิดต่าง ๆ ที่พึงเว้น

๒. สุตตันตปิฎก  เป็น  ยถานุโลมสาสนะ  คือ  การสอนโดยอนุโลมแก่จริตอัธยาศัยของผู้ฟัง  ซึ่งมีต่าง ๆ กัน

๓. อภิธรรมปิฎก  เป็น  ยถาธัมมสาสนะ  คือ  การสอนตามเนื้อหาแท้ ๆ ของธรรม

๓.  กถา

๑.  วินัยปิฎก  เป็น  สังวราสังวรกถา  คือ  ถ้อยคำที่ว่าด้วยความสำรวมและไม่สำรวม

๒. สุตตันตปิฎก  เป็น  ทิฏฐิวินิเวฐนกถา คือถ้อยคำที่สอนให้ผ่อนคลาย

๓. อภิธรรมปิฎกเป็น  นามรูปปริจเฉทกถา  คือ  ถ้อยคำที่สอนให้

กำหนดนามรูป

ได้แก่  ร่างกายและจิตใจ

๔.  สิกขา

๑.  วินัยปิฎก  เป็น  อธิศีลสิกขา   คือ  ข้อศึกษาเกี่ยวกับศีลชั้นสูง

๒. สุตตันตปิฎก  เป็น  อธิจิตตสิกขา    คือ    ข้อศึกษาเกี่ยวกับสมาธิชั้นสูง

๓. อภิธรรมปิฎกเป็น  อธิปัญญาสิกขา  คือข้อศึกษาเกี่ยวกับปัญญาชั้นสูง

๕.  ปหาน

๑.  วินัยปิฎกเป็นวีติกกมปหาน    คือ    เครื่องละกิเลสอย่างหยาบ

ที่เป็นเหตุให้ล่วงละเมิดศีล

๒. สุตตันตปิฎก  เป็น  ปริยุฏฐานปหานคือ    เครื่องละกิเลสอย่างกลาง

อันรัดรึง  ได้แก่  นิวรณ์คือกิเลสอันกั้นจิตมิให้เป็นสมาธิ

๓. อภิธรรมปิฎกเป็น  อนุสยปหาน   คือ  เครื่องละกิเลสอย่างละเอียดอันได้แก่กิเลสที่นอนอยู่ในสันดาน  เหมือนตะกอนนอนก้นตุ่ม  ไม่มีอะไรมากวนก็ไม่แสดงตัวออกมา

๑๐.  ประวัติพระอรรถกถาจารย์

๑๐.๑  พระพุทธโฆสาจารย์

พระพุทธโฆสาจารย์  เป็นพระมหาเถระชาวอินเดีย  เกิดที่บ้าน  โฆสคาม  เมืองพุทธคยา  บิดาชื่อ  เกสะ  มารดาชื่อ  เกสี  มีชีวิตอยู่ในราว  พ.ศ.  ๙๐๐ – ๑๐๐๐  ก่อนบวชได้ศึกษาจนจบไตรเพท  ท่านบวชเป็นภิกษุในฝ่ายเถรวาท  โดยมีพระเรวตเถระเป็นพระอุปัชฌาย์  เหตุที่ได้นามว่า  พุทธโฆสะ  เพราะท่านมีเสียงกึกก้องเหมือนพระพุทธเจ้า  ท่านได้ศึกษาพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่มีอยู่ในชมพูทวีปแล้ว  จึงได้รจนาคัมภีร์ญาโณทัย  คัมภีร์อัฏฐสาลินี  อธิบายคัมภีร์อภิธัมมปิฎกธัมมสังคณี  เมื่อเสร็จแล้ว  เริ่มรจนาคัมภีร์ปริตรตอรรถกถา  ขณะนั้น  พระเรวตเถระผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ครั้นทราบแล้วจึงแนะนำว่า

ที่ชมพูทวีปนี้  นอกจากพระไตรปิฎกแล้วไม่มีอรรถกถาเลย  คำอธิบายของอาจารย์ซึ่งมีความหมายต่าง ๆ ก็ไม่มี  ที่เกาะสิงหลมีอรรถกถาภาษาสิงหล  ซึ่งท่านพระมหินทเถระได้อาศัยแนวทางตามที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้  และท่านพระสารีบุตรเถระรวบรวมไว้  ผ่านการสังคายนามาถึง  ๓  ครั้ง  แล้วแปลเป็นภาษาสิงหลศึกษากันอยู่ที่เกาะสิงหล  ท่านจงไปศึกษาอรรถกถาที่นั้น  แล้วแปลกลับมาเป็นภาษามคธ

ต่อมาท่านจึงกราบลาพระอุปัชฌาย์เดินทางยังเกาะสิงหล  พักอยู่  ณ  สำนักสงฆ์ฝ่ายมหาวิหาร  ได้ศึกษาอรรถกถาภาษาสิงหล  และหลักการของเถรวาทจนหมดสิ้น  อีกทั้งแน่ใจว่าเป็นคำอธิบายของพระพุทธองค์แล้ว  จึงขออนุญาตจากคณะสงฆ์ฝ่ายมหาวิหาร  เพื่อแปลอรรถกถาภาษาสิงหลกลับมาเป็นภาษามคธ

คณะสงฆ์ฝ่ายมหาวิหาร  ต้องการทดสอบความรู้ของท่าน  จึงได้มอบคาถาให้  ๒  คาถา  เพื่อให้ท่านรจนาและอธิบายขยายความ  ซึ่งท่านพระพุทธโฆสาจารย์ก็สามารถอธิบายได้อย่างถูกต้อง  ท่านได้รจนาเรื่องย่อพระไตรปิฎกทั้งหมด  และได้ตั้งชื่อคัมภีร์เล่มนี้ว่า  วิสุทธิมรรค  ซึ่งแปลว่า  ทางแห่งความบริสุทธิ์  ถือได้ว่าเป็น  คัมภีร์เล่มแรก  ที่ท่านได้รจนาขึ้นในขณะที่ยังอยู่ในลังกาเมื่อคณะสงฆ์ฝ่ายมหาวิหาร  ได้เห็นปัญญาความสามารถของท่านแล้ว  จึงได้อนุญาตให้ท่านแปลอรรถกถาเหล่านั้นกลับมาเป็นภาษามคธได้ตามประสงค์  ในบรรดาอรรกถาอธิบายพระไตรปิฎกที่ท่านแปลนั้น  มีอรรกถาธรรมบทรวมอยู่ด้วย  ในขณะที่พักอยู่ที่คันถการบริเวณ  ซึ่งเป็นสถานที่เรียบเรียงคัมภีร์  เมืองอนุราธปุระ  จนสามารถแปลอรรถกถาภาษาสิงหลกลับมาเป็นภาษามคธได้สำเร็จสมความตั้งใจ  จากนั้นท่านจึงเดินทางกลับไปยังประเทศอินเดีย  ไม่มีหลักฐานว่าท่านได้มรณภาพเมื่อใดและที่ใด

พระพุทธโฆสาจารย์ ถือได้ว่าเป็นพระอรรถกถาจารย์ชั้นนำ  เป็นนักปราชญ์ในประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท คัมภีร์อรรถกถาพระวินัยปิฎก อรรกถาพระสุตตันตปิฎกทั้ง ๔  นิกาย  คือ ทีฆนิกาย  มัชฌิมนิกาย  สังยุตตนิกาย  อังคุตตรนิกาย  รวมทั้งขุททกนิกายบางตอน  และอรรถกถาพระอภิธรรมปิฎก  ล้วนเป็นผลงานของท่าน  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีของคณะสงฆ์ไทย  ตั้งแต่ชั้นต้นจนถึงชั้นสูงสุด  ก็ได้อาศัยคัมภีร์ที่ท่านได้รจนาเป็นหลักสูตรในการเรียนการสอนแทบทั้งสิ้นผลงานการรจนาคัมภีร์ที่ใช้เป็นหลักสูตรการเรียนบาลี  มีดังนี้

๑.  ธัมมปทัฏฐกถา  ภาคที่  ๑ – ๘  ใช้เป็นหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับชั้น  ประโยค  ๑-๒  ถึง  ป.ธ. ๖  ทั้งที่เป็นวิชาแปลมคธเป็นไทย  และแปลไทยเป็นมคธ

ธัมมปทัฏฐกถา เป็นคัมภีร์อธิบายบทแห่งธรรมที่พระพุทธองค์แสดงไว้แก่บุคคลต่าง ๆ ในโอกาสต่างคราวต่างวาระ  พระสาวกทั้งหลายได้จดจำสืบต่อกันมา  โดยวิธีมุขปาฐะ  คือท่องจำด้วยปาก  ทรงจำด้วยใจ  จัดเป็นหมวดหมู่เมื่อคราวสังคายนาครั้งที่  ๑  จนมาจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรลงในใบลานเมื่อคราวสังคายนาครั้งที่  ๕  ที่เกาะสิงหล  เมื่อประมาณ  พ.ศ.  ๔๐๐  เรียกชื่อว่า  คัมภีร์ธัมมปทคาถาปาลิ  และมีคำอธิบายที่พระสาวกทั้งหลายได้อธิบายไว้นำสืบ ๆ ต่อกันมาจารึกไว้ด้วยภาษาสิงหล  พร้อมกันกับจารึกพระไตรปิฎก  ต่อมาประมาณ  พ.ศ.  ๙๐๐  พระพุทธโฆสาจารย์  ได้เดินทางไปยังเกาะสิงหลแล้วได้แปลคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถาเป็นภาษามคธ  ส่วนมากเชื่อกันว่า  ท่านรจนาขึ้นใหม่ในคราวนั้นเป็นครั้งแรก

คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถานี้  ได้มาปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรในประเทศไทยที่พอมีหลักฐาน  ประมาณ  พ.ศ.  ๒๐๖๐  คือ  เมื่อพระสิริมังคลาจารย์  รจนาคัมภีร์มังคลัตถทีปนี  ท่านได้อ้างข้อความจากคัมภีร์ธัมมปทัฏกถา  ได้รับการจารจารึกเป็นอักษรล้านนาลงในใบลานบ้าง  เป็นอักษรขอมบ้าง  ภายหลังได้รับการคัดลอกจากอักษรขอมเป็นอักษรไทย  จัดพิมพ์เป็นเล่มหนังสือตามที่ปรากฏในสถิติการพิมพ์ประมาณ  พ.ศ.  ๒๔๓๙  เป็นฉบับของมหามกุฏราชวิทยาลัย  และได้รับการจัดพิมพ์เรื่อยมา

๒.  สมันตปาสาทิกา  ใช้เป็นหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาแปลมคธเป็นไทย  ในชั้น ป.ธ. ๖- ๗  และเป็นวิชาแปลไทยเป็นมคธ  ในชั้น ป.ธ. ๘

สมันตปาสาทิกา  เรียกกันสั้น ๆ ว่า  สามนต์  เป็นคัมภีร์อธิบายความในพระวินัยปิฎกทั้ง  ๕  คัมภีร์  กล่าวกันว่า  เป็นคัมภีร์ที่ประมวลไว้ซึ่งประวัติศาสตร์ทางสังคม  การเมือง  ศีลธรรม  ศาสนาและปรัชญาของอินเดียสมัยโบราณ  พระพุทธโฆสาจารย์แต่งที่เมืองอนุราธปุระ  ประเทศลังกา  ประมาณ  พ.ศ.  ๙๒๗-๙๗๓  ในรัชสมัยพระเจ้าสิรินิวาส  คือ  พระมหานามะ  ซึ่งมีพระนามอื่นอีกว่า  พระเจ้าสิริกูฏ หรือพระเจ้าสิริกุฑฑะ ใช้เวลาแต่ง ๑ ปีจึงจบบริบูรณ์  โดยคำอาราธนาของพระพุทธสิริ  พระสังฆภัทร  แปลเป็นภาจีนเมื่อ  พ.ศ.  ๑๐๓๒

๓.  วิสุทธิมรรค  ใช้เป็นหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาแปลมคธเป็นไทย  ในชั้น ป.ธ. ๘ และวิชาแปลไทยเป็นมคธ  ในชั้น ป.ธ. ๙

คัมภีร์วิสุทธิมรรค เป็นการพรรณนาไตรสิกขา คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา  อธิบายชี้แจงให้รู้จักศีล  วิธีรักษาศีล  ศีลเป็นพื้นฐานของสมาธิอย่างไร  ชี้แจงให้รู้จักสมาธิ  วิธีและเครื่องมือที่จะปฏิบัติให้เกิดสมาธิ  สมาธิเป็นพื้นฐานของปัญญาอย่างไร  ชี้แจงให้รู้จักปัญญา

จะปฏิบัติให้เกิดปัญญาได้อย่างไร  จัดได้ว่าเป็นคัมภีร์สำคัญในทางพระพุทธศาสนา  ที่ผู้สนใจเรื่องการปฏิบัติพึงศึกษา

คัมภีร์วิสุทธิมรรคไม่มีคำไหว้ครูเหมือนคัมภีร์อื่น ๆ เพราะถือว่าเป็นอรรถกถากลางของพระสุตตันตปิฎก  มีคำเริ่มต้นที่เรียกว่า  นิทาน  ตั้งเป็นกระทู้  แบบเรียงความแก้กระทู้ธรรม  ยกเป็นนิกเขปบทแล้ววิสัชนา  บอกความประสงค์ของการรจนาคัมภีร์  แสดงความหมายของคำและย่อข้อความไว้เบื้องต้น  การศึกษาคัมภีร์วิสุทธิมรรคเท่ากับการศึกษาอรรถกถาพระไตรปิฎกนั่นเอง

๑๐.๒  พระสิริมังคลาจารย์

พระสิริมังคลาจารย์ เป็นพระเถระชาวเชียงใหม่ มีชีวิตอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒ ประวัติของท่านมีทั้งประวัติที่ท่านเขียนไว้เอง  ซึ่งปรากฏอยู่ในท้ายคัมภีร์ที่ท่านรจนาไว้  และประวัติที่เป็นตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่หลายฉบับ  ซึ่งรองอำมาตย์โทชุ่ม  ณ  บางช้าง  เป็นผู้พบคัมภีร์ใบลานและรวบรวมเขียนลงในหนังสือ  นำชมจังหวัดเชียงใหม่  จากหลักฐานตามที่ปรากฏในคัมภีร์ซึ่งท่านได้รจนาไว้  ปรากฏความว่า

ท่านมีนามที่ได้รับการเรียกขานว่า  สิริมังคละ  เป็นผู้ทรงไตรปิฎก  มีศรัทธา  มีความรู้ความปรารถนาให้ตนและผู้อื่นมีความรู้  ได้รจนาคัมภีร์เวสสันตรทีปนี  จักกวาฬทีปนี  สังขยาปกาสกฎีกา ขณะที่พักอยู่  ณ  วัดสวนขวัญ  ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัดพระสิงห์  ในเมืองเชียงใหม่  และได้รจนามังคลัตถทีปนี  ในขณะที่พักอยู่ที่สุญญาคาร  ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศใต้  ในช่วง  พ.ศ.  ๒๐๖๐-๒๐๖๗  ในรัชกาลของท้าวลกะเจ้านครเชียงใหม่  ซึ่งเป็นนครที่มีความเจริญอย่างยิ่ง  ผู้มีพระราชศรัทธาล้ำเลิศ  ปรารถนาพระสัพพัญญุตญาณ เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ด้วยประการฉะนี้ เอกสารที่แสดงประวัติของท่านอีกอย่างหนึ่งเป็นคัมภีร์ใบลาน  ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเขียนขึ้นภายหลังจากการมรณภาพของท่านไม่นาน  รองอำมาตย์โทชุ่ม  ณ บางช้าง  ได้พบคัมภีร์ใบลานนี้เมื่อ  พ.ศ.  ๒๔๖๔  ที่วัดข่วงสิงห์  อำเภอเมือง  จังหวัดเชียงใหม่  เขียนด้วยอักษรพื้นเมือง  ลักษณะอักษรสมัยพระเมืองแก้ว  ผู้เขียนชื่อว่าพระศรีวิชัย  เป็นเจ้าอาวาสวัดหอพระ  แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า  ปัจจุบันคัมภีร์นี้ได้สูญหายไป รองอำมาตย์โทชุ่ม  ณ  บางช้าง  ได้เล่าประวัติพระสิริมังคลาจารย์  ตามที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ใบลานดังกล่าวจากความทรงจำของท่านว่า

คัมภีร์ของพระศรีวิชัยเล่าว่า  พระสิริมังคลาจารย์  เป็นชาวเชียงใหม่  นามเดิมว่า  ศรีปิงเมือง  โดยถือเอานิมิตในวันที่คลอด  ได้เกิดพายุใหญ่จนพัดจนบ้านพังทลาย  ขณะนั้นมารดาของท่านกำลังมีครรภ์แก่  ได้หลบพายุไปอาศัยอยู่ที่โคนต้นโพธิ์ใหญ่ (ไม้ศรี)  ได้เกิดเจ็บครรภ์และคลอดบุตรที่โคนต้นโพธิ์นั้น  บิดาจึงตั้งชื่อให้แก่บุตรว่า  ศรีปิงเมือง  ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุยังน้อยคือ  ๑๓  ปี  ได้ชักชวนชาวบ้านให้ช่วยกันสร้างวัดขึ้นในหมู่บ้านตำหนัก  เรียกชื่อว่า  วัดเวฬุวนาราม (วัดป่าไผ่)  ชาวบ้านนิยมเรียกง่าย ๆ ว่า  วัดไผ่เก้ากอ  เพราะเหตุว่าวัดนี้ตั้งอยู่ภายในบริเวณไผ่  ๙  กอ  ท่านได้จำพรรษาอยู่ที่วัดเวฬุวนารามหรือวัดไผ่เก้ากอนี้มาโดยตลอด เมื่ออุปสมบทมีฉายาว่าสิริมังคละ  หลังจากอุปสมบทแล้วก็ยังจำพรรษาอยู่ที่วัดเวฬุวนารามเรื่อยมา  ต่อมาพระเมืองแก้วทรงแต่งตั้งท่านให้เป็นเจ้าอาวาสวัดมหาโพธาราม (วัดเจ็ดยอด)  ทั้งได้ถวายสมณศักดิ์ให้เป็นที่  พระสิริมังคลาจารย์  ตามฉายาเดิม  ภายหลังท่านได้เป็นเจ้าวาสวัดบุปผาราม(วัดสวนดอก)  จนกระทั่งมรณภาพ

ในมังคลัตถทีปนีระบุว่า ท่านเป็นศิษย์ของท่านพุทธวีระ ได้รับการศึกษาด้านพระไตรปิฎก  อรรถกถา  ฎีกาและคัมภีร์อื่น ๆ ทางพระพุทธศาสนาอย่างดีเยี่ยม  นับได้ว่าเป็นนักปริยัติธรรมผู้มีความรู้แตกฉานล้ำเลิศท่านหนึ่งในสมัยล้านนา

ผลงานการรจนาคัมภีร์ที่ใช้เป็นหลักสูตรการเรียนการสอนในปัจจุบัน  มีดังนี้

๑.  มังคลัตถทีปนี  เป็นหลักสูตรการเรียนการสอนระดับชั้น  ป.ธ. ๔-๕ และ ป.ธ. ๗

มังคลัตถทีปนี  ภาค  ๑  เป็นหลักสูตรการเรียนการสอน  วิชาแปลมคธเป็นไทยของชั้น  ป.ธ. ๔  และวิชาแปลไทยเป็นมคธของชั้น ป.ธ. ๗

มังคลัตถทีปนี  ภาค  ๒  เป็นหลักสูตรการเรียนการสอน วิชาแปลมคธเป็นไทย ชั้น ป.ธ. ๕

มังคลัตถทีปนี  เป็นหนังสืออธิบายความในมงคลสูตร  หรือมงคล  ๓๘  ประการ  ซึ่งมงคลสูตรนั้นมาในคัมภีร์ขุททกนิกาย  ขุททกปาฐะ  และคัมภีร์ขุททกนิกาย  สุตตนิบาต  พระสิริมังคลาจารย์รจนาขึ้นเมื่อ  ปีวอก  จ.ศ.  ๘๘๖ (พ.ศ.  ๒๐๖๗)  ในรัชสมัยของพระเจ้าติลกปนัดดาธิราช  หรือพระเมืองแก้ว  ครองราชย์อยู่ในระหว่าง  พ.ศ.  ๒๐๓๙-๒๐๖๙

มังคลัตถทีปนีที่เป็นภาษาบาลีพิมพ์ด้วยอักษรไทย  แบ่งออกเป็น  ๒  ภาค  ภาคที่  ๑  สมเด็จพระมหาสมณเจ้า  กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  ทรงชำระ  และสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ  ญาณวรเถระ)  วัดเทพศิรินทราวาส  ชำระอีก  ใช้เป็นหลักสูตรชั้นประโยค ป.ธ. ๔ และภาค  ๒  ใช้เป็นหลักสูตรชั้นประโยค ป.ธ. ๕ ทั้ง ๒ ภาคเคยใช้เป็นหลักสูตรวิชาแปลไทยเป็นมคธ  ชั้นประโยค ป.ธ. ๗  แต่ต่อมาภายหลังได้ลดลงมาเหลือเพียง  ภาคที่  ๑  เท่านั้น

ลักษณะการแต่งมังคลัตถทีปนี  เป็นร้อยกรองผสมร้อยแก้ว  สำหรับร้อยกรองนั้น  เป็นส่วนที่เป็นใจความหลัก  ซึ่งยกมาจากพระไตรปิฎกโดยตรง  ส่วนร้อยแก้ว  เป็นการอธิบายความหมายของมงคลแต่ละข้ออย่างละเอียด  พร้อมทั้งยกอุทาหรณ์  มีนิทานประกอบ  มีทั้งนิทานสมัยพุทธกาล  และนิทานในชาดก  ใช้ภาษาที่ง่าย ๆ หลักฐานอ้างอิงทุกอย่าง  ผู้รจนาบอกที่มาทุกแห่ง  เช่น อรรถกถา  ฎีกาและอนุฎีกา  เป็นต้น  ทำให้ทราบถึงที่มาของคัมภีร์ได้ทุกแห่ง  แสดงให้เห็นภูมิปัญญาอันเลิศของท่านเป็นอย่างดี  แม้กระทั่งนักปราชญ์ฝ่ายบาลีทั้งหลาย  ต่างก็ยกย่องสรรเสริญคัมภีร์เล่มนี้ว่าแต่งได้ดีที่สุดเล่มหนึ่ง ผู้แต่งมีความรู้และความเชี่ยวชาญในด้านภาษาบาลี พระไตรปิฎกและอรรถกถาเป็นอย่างดี

๑๐.๓  พระอนุรุทธาจารย์

พระอนุรุทธาจารย์  เป็นชาวอินเดีย  เกิดที่บ้านกาเวรี  เมืองกัญจิปุระ  แคว้นโจฬะ

มีชีวิตอยู่ราวพุทธศตวรรษที่๑๕  เป็นพระมหาเถระรูปหนึ่งที่มีความเชี่ยวชาญพระอภิธรรม

ผลงานการรจนาคัมภีร์ที่สำคัญ  มีดังนี้

๑.  อภิธัมมัตถสังคหะ  เป็นหลักสูตรประกอบการเรียนการสอน  วิชา แปลมคธเป็นไทย  ชั้นประโยค  ป.ธ. ๙

กล่าวถึงคัมภีร์  อภิธัมมัตถสังคหะ  พระอนุรุทธาจารย์แต่งที่วัดมูลโสมวิหาร  หรือวัตตุมูลโสมวิหาร  เมืองโปโลนารุวะ  ประเทศลังกา  ก่อน  ค.ศ.  ๑๐๐  ปี  โดยคำอาราธนาของอุบาสกสูงศักดิ์ท่านหนึ่งนามว่า  นัมพะ  หรือนัมปะ  ผู้มีใจกรุณาปรารถนาจะอนุเคราะห์คนรุ่นหลัง  ให้ได้รับความสะดวกในการเล่าเรียนปริยัติศาสนา  วัดมูลโสมวิหาร  หรือวัตตุมูลโสมวิหาร  เป็นวัดสิงหลมีเนื้อที่ประมาณ  ๖๐  ไร่  เชื่อกันว่า  พระนางโสมเทวี  พระราชินีของพระเจ้าวัฏฏคามินี  ทรงสร้างก่อน  ค.ศ.  ๘๘  ปี

คัมภีร์อภิธัมมัตสังคหะนั้น  มีชื่อเสียงมากในโลกวรรณกรรมแห่งอภิธรรม  ได้รับการนำมาใช้เป็นแบบเรียนพระอภิธรรม  ในวงการคณะสงฆ์ยุคต่อ ๆ มา  ทั้งในประเทศศรีลังกา  พม่า  และไทย  จนกระทั่งถึงปัจจุบัน  สาเหตุที่คัมภีร์นี้ได้รับการยกย่อง  คงเป็นเพราะคุณภาพแห่งเนื้อหาที่ผู้รจนาได้ใช้ความสามารถของท่านย่อพระอภิธรรมปิฎกทั้ง  ๗  คัมภีร์ (พระไตรปิฎก เล่มที่  ๓๔-๔๕  รวม  ๑๒  เล่ม)  ซึ่งมีเนื้อหารวมกันประมาณ  ๕,๐๐๐  หน้ากระดาษ  เหลือเพียง  ๕๙  หน้ากระดาษ  เรียบเรียงอย่างเป็นระเบียบแบบแผนด้วยข้อความสั้น ๆ แต่อมความของพระอภิธรรมปิฎกได้ทั้ง

  คัมภีร์

๑๐.๔  พระสุมังคลาจารย์

พระสุมังคละ  พระสุมังคลาจารย์ หรือ  พระสุมังคลสามีเถระ  ทราบแต่เพียงว่าเป็นพระเถระชาวลังกา  ส่วนประวัตินอกนี้ไม่ปรากฏ  ผลงานการรจนาคัมภีร์ที่สำคัญ  มีดังนี้

๑.อภิธัมมัตถวิภาวินี  ใช้เป็นหลักสูตรการเรียนการสอน วิชาแปลมคธเป็นไทย

ชั้นประโยค  ป.ธ. ๙

กล่าวถึงอภิธัมมัตถวิภาวินี  เป็นวรรณกรรมสมัยกลางรุ่นหลัง  คัมภีร์นี้ไทยเรียกสั้น ๆ ว่า ฎีกาสังคหะ พม่าเรียกเป็นคำสั้น ๆ ว่า วิภาวินี  และเรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า ฎีกา-จอ  แปลว่า  ฎีกาเรืองนาม  พระสุมังคละแต่งที่เมืองปุลัตถินคร  คือเมืองโปโลนารุวะ  ในประเทศลังกา  ใช้เวลารจนาเพียง  ๒๔  วันการใช้เวลาแต่งเพียง  ๒๔  วัน  ฟังดูแล้วไม่น่าเป็นไปได้  แต่เมื่อได้ศึกษาดูภูมิหลังของการรจนาคัมภีร์นี้แล้วจึงทราบว่า  ก่อนที่คัมภีร์นี้จะอุบัติขึ้น  ได้มีคัมภีร์อธิบายอภิธัมมัตถสังคหะฉบับภาษาสิงหลชื่อว่า อภิธัมมัตถสังคหะวิตถารวรรณนา  ซึ่งรจนาโดยพระสารีบุตรเถระพระอาจารย์ของพระสุมังคลาจารย์นั่นเอง ถึงแม้คัมภีร์ที่แต่งโดยพระสารีบุตรเถระจะอธิบายอภิธรรมไว้ดีแล้ว แต่เนื่องจากคัมภีร์เป็นภาษาสิงหล  พระสุมังคละจึงตัดสินใจแปลคัมภีร์นี้เป็นภาบาลีชื่อว่า  อภิธัมมัตถวิภาวินี  โดยท่านได้ยึดเอาคัมภีร์ของอาจารย์เป็นหลักในการรจนา  กล่าวกันว่ามีอยู่หลายที่ทีเดียวที่ท่านเพียงแต่แปลจากภาษาสิงหลมาเป็นภาบาลีเท่านั้น  ดังนั้น  จึงไม่แปลกเลยที่ท่านจะใช้เวลาในการรจนาเพียง  ๒๔  วัน  ซึ่งตามปกติแล้วการรจนาคัมภีร์ที่มีเนื้อหายากเช่นคัมภีร์อภิธรรมนี้  ไม่น่าที่จะเสร็จเร็วเช่นนี้เลย

คัมภีร์อภิธัมมัตถวิภาวินี  ทำหน้าที่อธิบายขยายความคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ  ได้รับความนิยมจากนักอภิธรรมทั่วทุกสารทิศ  เพราะนอกจากสำนวนและลีลาการรจนาคัมภีร์ของท่านเป็นมาตรฐานแล้ว  ทางด้านเนื้อหาของคัมภีร์เองก็นับว่ามีสาระที่ลึกซึ้ง  แต่ก็ไม่นับว่ายากจนเกินไป

๑๑.  การชำระและจารึกกับการพิมพ์พระไตรปิฎกในประเทศไทย

ได้กล่าวถึงการสังคายนาในประเทศไทยมาบ้างแล้ว  แต่ยังไม่ละเอียดนัก  โอกาสนี้ควรจะได้กล่าวโดยละเอียดต่อไป

การพิมพ์พระไตรปิฎกในประเทศไทยแบ่งออกเป็น  ๔  สมัย  ดังนี้ :-

สมัยที่ ๑  ชำระและจารลงในใบลาน  ทำที่เมืองเชียงใหม่  ในสมัยของพระเจ้าติโลกราช  ประมาณ  พ.ศ.  ๒๐๒๐

สมัยที่  ๒  ชำระและจารลงในใบลาน  ทำที่กรุงเทพมหานคร  ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  รัชกาลที่  ๑  พ.ศ.  ๒๓๓๑

สมัยที่ ๓  ชำระและพิมพ์เป็นเล่ม  ทำที่กรุงเทพมหานคร  ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่  ๕  พ.ศ.  ๒๔๓๑  ถึง  พ.ศ.  ๒๔๓๖

สมัยที่ ๔  ชำระและพิมพ์เป็นเล่ม  ทำที่กรุงเทพมหานคร  ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่  ๗  พ.ศ.  ๒๔๖๘  ถึง  พ.ศ.  ๒๔๗๓

 

สมัยที่  ๑  :  สมัยล้านนา

พระเจ้าติโลกราช  เมืองเชียงใหม่

อาณาจักรล้านนา  เริ่มขึ้นโดยพระยามังรายหรือเม็งราย  ได้สร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นเมื่อ  พ.ศ.  ๑๘๔๐  ให้ชื่อว่า  นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่   ถือว่าเป็นปฐมกษัตริย์แห่งเมืองล้านนา  พระองค์ทรงมีพระสหายกับกษัตริย์อีก  ๒ พระองค์  คือ  พ่อขุนรามคำแหงมหาราช  แห่งกรุงสุโขทัย  และ

พระยางำเมือง  แห่งเมืองพะเยา

พระเจ้าติโลกราชทรงเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนามาก  ได้อาราธนาพระธรรมทินเถระเป็นประธาน  และพระสงฆ์อีกหลายร้อยรูป  ให้ชำระอักษรพระไตรปิฎก  แล้วจารึกลงในใบลานเป็นภาษาบาลีอักษรล้านนาไทย  การสังคายนาครั้งนี้นับเป็นครั้งที่  ๘  นับต่อจากลังกา  และถือว่าเป็นครั้งที่  ๑  ในประเทศไทย  ทำที่วัดโพธาราม  เมืองเชียงใหม่  พ.ศ.  ๒๐๒๐  ทำอยู่  ๑  ปีจึงสำเร็จ  วัตถุประสงค์ของการทำสังคายนาก็เพื่อกำจัดปัญหาข้อขัดแย้งกันระหว่างสงฆ์  ๒  นิกาย คือ ลังกาเก่ากับลังกาใหม่  แล้วทรงทำการฉลองสมโภชสร้างหอมณเฑียรในวัดโพธาราม  เพื่อการประดิษฐานพระไตรปิฎก  เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ  แห่งกรุงศรีอยุธยา

ผลของการสังคายนาครั้งนี้  ทำให้พระพุทธศาสนาในล้านนาเข้มแข็งและเจริญรุ่งเรืองขึ้นอีกทั้งเป็นที่เลื่องลือไปยังประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย  เมื่อศาสนาเข้มแข็งบ้านเมืองก็เป็นปึกแผ่น  เป็นที่ยำเกรงของอาณาจักรใกล้เคียง  เช่น  สุโขทัย  และอยุธยา  เป็นต้น

สมัยที่  ๒ :  สมัยรัตนโกสินทร์

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่  ๑)

เรื่องสังคายนาพระไตรปิฎกโดยพิสดารในสมัยรัชกาลที่  ๑  มีปรากฏในหนังสือพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา  และคำประกาศเทวดาครั้งสังคายนาปีวอก  สัมฤทธิศก  พ.ศ.  ๒๓๓๑

เก็บใจความสำคัญได้ดังนี้

ในปี พ.ศ.  ๒๓๓๑  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  ทรงสละพระราชทรัพย์จ้างช่างจารจารึกพระไตรปิฎกลงในใบลาน และให้ชำระและแปลฉบับอักษรลาว อักษรรามัญ  เป็นอักษรขอม  สร้างใส่ตู้ไว้ในหอมณเฑียรธรรม  และสร้างพระไตรปิฎกถวายพระสงฆ์ไว้ทุกพระอารามลวง  มีผู้กราบทูลว่า  ฉบับพระไตรปิฎกและอรรถกถาฎีกาที่มีอยู่  ผิดเพี้ยนวิปลาสเป็นอันมาก  ผู้ที่รู้พระไตรปิฎกก็มีน้อยท่าน  ควรจะได้หาทางชำระให้ถูกต้อง  จึงทรงอาราธนาพระสังฆราช  พระราชาคณะ  ฐานานุกรมเปรียญ  ๑๐๐  รูปมาฉัน  ตรัสถามว่าพระไตรปิฎกผิดมากน้อยเพียงไร  สมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะถวายพระพรว่า  มีผิดพลาดมาก  แล้วเล่าประวัติการสังคายนาพระไตรปิฎก  ๘  ครั้งที่ล่วงมาแล้ว  เมื่อทรงทราบดังนี้แล้ว  จึงทรงอาราธนาให้พระสงฆ์ทำการสังคายนาชำระพระไตรปิฎก  ซึ่งเลือกพระสงฆ์  ๒๑๘  รูป  ราชบัณฑิตอุบาสก  ๓๒  คน  (แต่ตามประกาศเทวดาว่า  มีพระสงฆ์  ๒๑๙  รูป  ราชบัณฑิตอุบาสก  ๓๐  คน)  ทำที่วัดพระศรีสรรเพชญ์  ปัจจุบันคือวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์

การสังคายนาครั้งนี้แบ่งงานออกเป็น  ๔  กอง  สมเด็จพระสังฆราชเป็นแม่กองชำระสุตตันตปิฎก  พระวันรัตเป็นแม่กองชำระวินัยปิฎก  พระพิมลธรรมเป็นแม่กองชำระอภิธัมมปิฎก  พระพุฒาจารย์เป็นแม่กองชำระสัททาวิเสส  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและพระอนุชา  เสด็จไป  ณ  พระอารามทุกวัน ๆ ละ  ๒  ครั้ง  เวลาเช้าทรงประเคนสำรับอาหาร  เวลาเย็นทรงถวายน้ำอัฐบาน (น้ำผลไม้คั้น)  และเทียนทุกวัน  สิ้นเวลา  ๕  เดือนจึงเสร็จ  แล้วได้จ้างช่างจารจารึกลงในใบลาน  ให้ปิดทองแท่งทับทั้งใบปกหน้าหลังและกรอบทั้งสิ้น  เรียกว่า  ฉบับทองห่อด้วยผ้ายก  เชือกรัดถักด้วยไหมแพรเบญจพรรณ  มีฉลากงาแกะเขียนอักษรด้วยหมึก  และฉลากทอเป็นตัวอักษรบอกชื่อพระคัมภีร์ทุกคัมภีร์การสังคายนาครั้งนี้  นักปราชญ์รุ่นหลังมักเรียกว่า

สังคายนาแต้มหัวตะ  เช่น  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่  ๕  ทรงไว้ในพระราชวิจารณ์เทียบลัทธิพระพุทธศาสนาฝ่ายหินยานหรือเถรวาทกับมหายาน  หน้า  ๑๓  โดยเล็งไปว่าไม่ได้ทำอะไรมาก  นอกจากแก้ไขตังหนังสือที่ผิด  คำว่า  แต้มหัวตะ  หมายความว่า  อักษร  ค  กับ  ต  เมื่อเขียนด้วยอักษรขอม  จะมีลักษณะใกล้เคียงกัน  ถ้าจะให้ชัดเจนเวลาเขียน  ต  จะต้องมีขมวดหัว  การสอบทานเห็นตัวไหนไม่ชัดก็เติมขมวดหัวเสียให้ชัด

สมัยที่  ๓  :  สมัยรัตนโกสินทร์

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  (รัชกาลที่  ๕)

หลักฐานเรื่องการพิมพ์พระไตรปิฎก  ซึ่งเดิมเขียนเป็นตัวอักษรขอมอยู่ในคัมภีร์ใบลานให้เป็นเล่มหนังสือขึ้นนี้  มีในชุมนุมกฎหมายในรัชกาลที่  ๕  (หลวงรัตนาญัปติ์เป็นผู้รวบรวมพิมพ์)  หน้า  ๘๓๙  ว่าด้วยลักษณะบำรุงพระพุทธสาสนาในหัวข้อว่า  การศาสนูปถัมภ์  คือการพิมพ์พระไตรปิฎก  ประกาศการสังคายนา  และ  พระราชดำรัสแก่พระสงฆ์โดยพระองค์  ซึ่งได้แนบไว้ที่ภาคผนวกแล้ว

สาระสำคัญที่ได้ทำคือ  การคัดลอกตัวอักษรขอมในคัมภีร์ใบลานเป็นตัวไทยแล้วชำระแก้ไข  และพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มหนังสือรวม  ๓๙  เล่ม  (จากเดิมที่กะว่าจะทำ  ๔๐  เล่ม)  มีการประกาศการสังคายนา  แต่เพราะเหตุที่ถือกันว่า  การังคายนาควรจะต้องมีการชำระสะสางหรือทำลายเสี้ยนหนามพระศาสนา  เพียงพิมพ์หนังสือเฉย ๆ  คนจึงไม่นิยมถือว่าเป็นการสังคายนา  แต่ได้กล่าวไว้แล้วว่าจะเรียกว่าสังคายนาหรือไม่ไม่สำคัญ  ขอให้ได้มีการชำระตรวจสอบ  จารึกหรือจัดพิมพ์พระไตรปิฎกให้เป็นเล่มรักษาไว้เป็นหลักฐาน  ก็นับว่าเป็นกิจอันควรสรรเสริญอย่างยิ่ง  เพราะเป็นการทำให้พระพุทธวจนะดำรงอยู่เป็นหลักแห่งการศึกษาและปฏิบัติตลอดไป

มีข้อที่น่าสังเกตในการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกครั้งแรกในประเทศไทย  ดังนี้

๑.  การชำระและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกครั้งนี้  เริ่มตั้งแต่  พ.ศ.  ๒๔๓๑  สำเร็จเมื่อ  พ.ศ.  ๒๔๓๖  จำนวน  ๑,๐๐๐  ชุด  นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ได้มีการพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นเล่มด้วยอักษรไทย  เป็นการฉลองการเสวยราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครบ  ๒๕  ปี

๒.  การพิมพ์พระไตรปิฎกครั้งนี้  ใช้ราชทรัพย์ส่วนพระองค์  ซึ่งต่างจากการพิมพ์ในสมัยรัชกาลที่  ๗  เพราะใช้ราชทรัพย์ส่วนพระองค์กับของประชาชนทั่วไป

๓.  ในการพิมพ์ครั้งแรกนี้  พิมพ์ได้  ๓๙  เล่มชุด  ยังขาดหายไปมิได้พิมพ์อีก  ๖  เล่ม และได้พิมพ์เพิ่มเติมในสมัยรัชกาลที่  ๗  จนครบ  ฉบับพิมพ์ในรัชกาลที่  ๗  รวม  ๔๕  เล่ม  จึงนับว่าสมบูรณ์  เป็นการช่วยเพิ่มเติมเล่มที่ขาดหายไป  คือ

๑.  เล่มที่  ๒๖  วิมานวัตถุ  เปตวัตถุ  เถรคาถา  เถรีคาถา

๒. เล่มที่  ๒๗  ชาดก  ภาค  ๑

๓.  เล่มที่  ๒๘  ชาดก  ภาค  ๒

๔.  เล่มที่  ๓๒  อปทาน  ภาค  ๑

๕.  เล่มที่  ๓๓  อปทาน  ภาค  ๒, พุทธวงศ์, จริยาปิฎก

๖.  เล่มที่  ๔๑  อนุโลมติกปัฏฐาน  ภาค  ๒, ปัจจนียปัฏฐาน, อนุโลมปัจจนียปัฏฐาน, ปัจจนียานุโลมปัฏฐาน

นอกจากนั้น  ยังได้พิมพ์เพิ่มเติมท้ายเล่มที่  ๔๔  ที่ขาดหายไปครึ่งหนึ่ง  คืออนุโลมติกติกปัฏฐาน  และอนุโลมทุกทุกปัฏฐาน  ให้สมบูรณ์อีกด้วย  ตามจำนวนดังกล่าวนี้  เมื่อคิดเป็นเล่มจึงมีหนังสือขาดหายไปที่จะต้องพิมพ์เพิ่มเติมใหม่ถึง ๗ เล่ม  แต่เพราะเหตุที่ฉบับพิมพ์ในครั้งรัชกาลที่  ๕  แยกคัมภีร์ยมกแห่งอภิธัมมปิฎกออกเป็น ๓ เล่ม ส่วนในการพิมพ์ครั้งหลังรวมพิมพ์เหลือเพียง  ๒  เล่มเท่านั้น  จำนวนเล่มที่ขาดหายไปจึงเป็นเพียง  ๖  เล่ม  คือฉบับพิมพ์ในรัชกาลที่  ๕  มี  ๓๙  เล่ม  ฉบับพิมพ์ในรัชกาลที่  ๗  มี  ๔๕  เล่ม

สมัยที่  ๔  :  สมัยรัตนโกสินทร์

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่  ๗)

หลักฐานเรื่องนี้  ในหนังสือรายงานการสร้างพระไตรปิฎกยามรัฐ  ซึ่งพิมพ์ขึ้นในสมัยรัชกาลที่  ๗  แสดงรายละเอียดการจัดพิมพ์พระไตรปิฎก  ระหว่าง  พ.ศ.  ๒๔๖๘  ถึง  พ.ศ.  ๒๔๗๓

มีข้อที่น่าสังเกตในการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกครั้งนี้  ดังนี้

๑.  ได้ใช้เครื่องหมายและอักขรวิธี  ตามแบบของสมเด็จพระมหา

สมณเจ้า  กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  ซึ่งทรงคิดขึ้นใหม่  แม้การจัดพิมพ์จะทำในสมัยที่พระองค์สิ้นพระชนม์แล้ว

๒.  พิมพ์  ๑,๕๐๐  จบ  พระราชทานในพระราชอาณาจักร  ๒๐๐  จบ  พระราชทานในนานาประเทศ  ๔๕๐  จบ  เหลืออีก  ๘๕๐  จบ  พระราชทานแก่ผู้บริจาคทรัพย์ขอรับหนังสือพระไตรปิฎก

๓.  การพิมพ์พระไตรปิฎกครั้งนี้  นับว่าได้เพิ่มเติมส่วนที่ยังขาดอยู่ให้สมบูรณ์  โดยใช้ฉบับ

ใบลานของหลวง  (สันนิษฐานว่าฉบับนี้สืบเนื่องมาจากในสมัยรัชกาลที่  ๑)  คัดลอกแล้วพิมพ์เพิ่มเติมในส่วนที่ขาดอยู่

๔.  ผลของการส่งพระไตรปิฎกไปต่างประเทศ  ทำให้มีผู้พยายามอ่านอักษรไทย  เพื่อสามารถ

อ่านพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยได้ และได้มีผู้บันทึกสดุดีไว้  เช่น  พระนยานติโลกเถระ  ชาวเยอรมัน  ซึ่งอุปสมบทที่ประเทศลังกา  ได้ชมเชยไว้ในหนังสือ  Guide  through  the  Abhidhamma-Pitaka  ว่า  ฉบับพระไตรปิฎกของไทยสมบูรณ์กว่าฉบับพิมพ์ด้วยอักษรโรมันของสมาคมบาลีปกรณ์ในอังกฤษเป็นอันมาก

๕.  ในการพิมพ์ครั้งนี้  ได้ทำอนุกรมต่าง ๆ ไว้ท้ายเล่ม  เพื่อสะดวกในการค้น  แม้จะไม่สมบูรณ์  แต่ก็มีประโยชน์มาก  และเป็นแนวทางให้ชำระเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ต่อไป

๑๒.  พระมหากษัตริย์ไทยกับพระไตรปิฎก

ได้กล่าวมาแล้วว่า  การชำระและจารึกกับการพิมพ์พระไตรปิฎกในประเทศไทย  แบ่งออกเป็น  ๔  สมัย  แต่จากการศึกษาเอกสารทางวิชาการ  มีเรื่องที่จะต้องศึกษาเพิ่มเติมคือ  พระมหากษัตริย์ของไทยในสมัยอดีตมีความเกี่ยวข้องกับพระไตรปิฎกอย่างไรบ้าง  ผู้เรียบเรียงจึงขอสรุปประวัติโดยสังเขปดังนี้

๑.  สมัยกรุงสุโขทัย

เชื่อกันว่าพระไตรปิฎกของกรุงสุโขทัยนั้น  ครั้งแรกได้มาจากมอญสมัยทวาราวดี  แต่ในระยะเวลาห่างไกลคงจะขาดตกบกพร่อง  ไม่สมบูรณ์  ครั้นถึงสมัยลังกาวงศ์  พระไตรปิฎกคงจะสมบูรณ์  เพราะได้จากลังกามาเพิ่ม  ดังนั้น  การศึกษาของสงฆ์จึงเป็นแบบลังกา  คัมภีร์ต่าง ๆ คงจะเป็นอักษรสิงหล  และปริวรรตเป็นอักษรขอม  มีปัญหาว่า  เมื่อพ่อขุนรามคำแหงได้ทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้แล้ว  เหตุใดจึงไม่ปริวรรตออกมาเป็นอักษรไทย  คำตอบคือ  เนื่องจากคนไทยสมัยนั้นได้รับอิทธิพลจากขอมไว้ทุกด้าน  อักษรขอมมีมากก็จริง  ส่วนอักษรไทยที่ประดิษฐ์ขึ้นยังเป็นของใหม่  และยังมีอักษรไม่ครบถ้วนที่จะเขียนภาษาบาลี  จึงต้องใช้อักษรขอมไปก่อน  และก็ใช้เรื่อย ๆ มาจนเกิดความเข้าใจผิดคิดไปว่า  อักษรขอมเป็นอักษรที่ใช้เขียนจารึกพระไตรปิฎก  จนกระทั่งมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าให้พิมพ์พระไตรปิฎกด้วยอักษรไทย  เพื่อลบล้างความเข้าใจผิดและอิทธิพลของขอม

พระพุทธศาสนาเจริญถึงขีดสุดในสมัยของพระมหาธรรมราชาลิไท(พระยาลิไท) พระองค์ทรงเป็นนักปราชญ์ และเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก ทรงศึกษาพระไตรปิฎกและภาษามคธจนแตกฉาน  ดังจะเห็นได้จากพระราชนิพนธ์เรื่อง  เตภูมิกถา  หรือ  ไตรภูมิพระร่วง  นอกจากนั้นพระองค์ยังออกผนวชในขณะที่ยังครองราชย์อยู่ด้วย

๒.  สมัยล้านนา

สมัยล้านนามีกษัตริย์ปกครองหลายพระองค์ แต่ที่มีบทบาทด้านพระพุทธศาสนาเด่นที่สุดคือ  พระเจ้าติโลกราช  ผู้ครองเมืองเชียงใหม่  ในช่วง  พ.ศ.  ๑๙๘๕-๒๐๒๐  ถือได้ว่าเป็น  ยุคทองของ

พระพุทธศาสนา  คือ  ได้จัดให้มีการสังคายนาพระธรรมวินัยเป็นครั้งแรกในประเทศไทย  รายละเอียดเรื่องนี้ได้กล่าวมาแล้วเบื้องต้น  จึงไม่ขอนำมากล่าวซ้ำอีก

๓.  สมัยกรุงศรีอยุธยา

ปฐมกษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยาคือ  สมเด็จพระรามาธิบดีที่  ๑  (พระเจ้าอู่ทอง)  ทรงจัดการบ้านเมืองเป็นปึกแผ่นมั่นคง  แต่ยุคที่พระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองมาก  คือในสมัยของ  สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ  แม้จะไม่มีประวัติเกี่ยวข้องกับพระไตรปิฎกโดยตรง  แต่มีประเพณีหนึ่งที่เกิดขึ้นในสมัยนี้คือ  ประเพณีการบวชเรียน  โดยพระองค์ทรงเน้นให้เจ้านาย  และข้าราชการผู้ใหญ่ออกบวช  เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย

๔.  สมัยกรุงธนบุรี

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  ทรงครองราชย์สมบัติอยู่เพียง  ๑๕  ปี  (พ.ศ.  ๒๓๐๑-๒๓๒๕)  เป็นระยะเวลาแห่งการกอบกู้เอกราชบ้านเมือง  ถึงกระนั้นพระองค์ก็ไม่ทรงทอดทิ้งงานด้านพระศาสนาเลย

เมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่า  เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๓๑๐  วัดและบ้านเมืองถูกเผาทำลายไปเป็นจำนวนมาก  คัมภีร์พระไตรปิฎกก็สูญหายไปด้วย  จึงทรงโปรดให้รวบรวมพระไตรปิฎกฉบับหลวงขึ้น  ในคราวที่เสด็จไปปราบเจ้านครศรีธรรมราชและเจ้าพระฝางที่อุตรดิตถ์  พระองค์ก็ทรงโปรดให้นำพระไตรปิฎกในเมืองนั้นมาสมทบเพื่อสอบทานต้นฉบับด้วย  แต่การสร้างพระไตรปิฎกฉบับหลวงยังมิทันสำเร็จก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน

๕.  สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

พระพุทธศาสนาในสมัยนี้  เจริญรุ่งเรืองไม่แพ้ยุคใดที่แล้วมา  ทั้งนี้  เพราะมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก  ส่งเสริมทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาในทุก ๆ ด้าน  ซึ่งจะขอกล่าวเฉพาะบางรัชกาลที่เกี่ยวข้องกับพระไตรปิฎกเท่านั้น  ดังนี้

รัชกาลที่  ๑  :  สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

เนื้อหาเรื่องนี้ได้กล่าวมาบ้างแล้วในเบื้องต้น  จึงขอกล่าวเฉพาะเนื้อหาที่ไม่ซ้ำกันดังนี้หลังจากการชำระพระไตรปิฎกเสร็จแล้ว ก็ทรงโปรดให้คัดจำลองสร้างเป็นฉบับหลวงขึ้น  เรียกว่า  ฉบับทองใหญ่  เพราะปิดทองทั้งหมดรวม  ๓๕๔  คัมภีร์  นำไปเก็บไว้ที่วัดพระศรีรัตน-ศาสดาราม  และยังโปรดให้สร้างอีก  ๒  ฉบับ  คือ  ฉบับรองทรง  และ  ฉบับทองชุบ

รัชกาลที่  ๒  :  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

เนื่องจากพระไตรปิฎกฉบับทองใหญ่  ที่สร้างในสมัยรัชกาลที่  ๑  นั้น  สูญหายไปบางคัมภีร์  เพราะวัดต่าง ๆ ขอยืมไปคัดลอก  บางคัมภีร์ก็แตกชำรุด  จึงโปรดให้สร้างซ่อมจนบริบูรณ์  ทั้งยังโปรดให้สร้างฉบับใหม่ขึ้นอีก  เรียกว่า  ฉบับรดน้ำแดง  แต่การครั้งนี้มิได้มีการชุมนุมสงฆ์  เพียงแต่ซ่อมและจารฉบับใหม่เท่านั้น

รัชกาลที่  ๓ : พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในรัชกาลนี้มีการสร้างพระไตรปิฎกมากกว่าที่แล้วมา  และสร้างด้วยฝีมือประณีต  ตรวจสอบอักขระและพยัญชนะอย่างถี่ถ้วน  ซึ่งมีถึง  ๕  ฉบับ  คือ  ฉบับรดน้ำเอก  ฉบับรดน้ำโท  ฉบับทองน้อย  ฉบับชุบย่อ  และฉบับลายกำมะลอ  การทำครั้งนี้นับได้ว่าสมบูรณ์มาก  ได้อาศัยคัมภีร์จากลังกาและมอญมารวมกันตรวจสอบ

พระองค์ทรงเห็นว่า พระไตรปิฎกเป็นภาษาบาลีและเป็นอักษรขอม จึงมีพระราชประสงค์

จะให้แปลเป็นภาษาไทย  จึงโปรดให้วางฎีกาพระสงฆ์ที่จะถวายเทศน์เวรในพระบรมมหาราชวัง  ได้เลือกคัมภีร์เทศน์ตามลำดับในพระไตรปิฎก  โดยโปรดให้แต่งแปลเป็นสำนวนไทยไปเทศน์  ดังนั้น  เราจึงได้คัมภีร์พระไตรปิฎกเป็นอักษรไทยกันมาก

รัชกาลที่  ๔ : พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงโปรดให้ตรวจสอบพระไตรปิฎกในหอมณเฑียรธรรม  ปรากฏว่าคัมภีร์ได้หายไปจากบัญชีหลายเล่ม  จึงโปรดให้สร้างฉบับที่ขาดหายไปให้ครบ  และโปรดให้สร้างพระไตรปิฎกฉบับใหม่ขึ้นมาอีกฉบับหนึ่ง  เรียกว่า  ฉบับล่องชาด

รัชกาลที่  ๗ : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

การพิมพ์พระไตรปิฎกในสมัยนี้  สมเด็จพระสังฆราชเจ้า  กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์  ทรงเป็นประธาน  และพระมหาเถระผู้ชำนาญบาลีช่วยในการชำระตรวจทานตามความถนัด  เป็นฉบับแรกที่ได้จัดพิมพ์เป็นอักษรไทยครบบริบูรณ์  ชุดละ  ๔๕  เล่ม  และได้ขนานนามว่า  พระไตรปิฎกสยามรัฐ  มีตราช้างเป็นเครื่องหมาย  แสดงว่าเป็นของชาวไทยทั้งมวล  เพราะประชาชนได้ช่วยกันบริจาคทรัพย์ด้วยพระไตรปิฎกฉบับนี้พิมพ์ได้เรียบร้อยมาก และพิมพ์ในเวลาที่นานาชาติกำลังต้องการ  ดังนั้น  เมื่อพิมพ์เสร็จแล้วได้พระราชทานแจกจ่ายไปตามวิทยาลัย  และหอสมุดนานาชาติทั่วโลกจำนวน  ๔๕๐ จบ  นับเป็นเกียรติประวัติของประเทศสยามอย่างยิ่ง  เพราะประเทศพระพุทธศาสนาอื่น ๆ ในครั้งนั้น  ยังไม่มีประเทศใดทำได้เลย

รัชกาลที่  ๘ : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

การแปลพระไตรปิฎก เมื่อ  พ.ศ.  ๒๔๘๓  สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ  สมเด็จพระสังฆราช (แพ  ติสฺสเทวมหาเถระ)  วัดสุทัศน์เทพวราราม  ทรงปรารภว่า  พระไตรปิฎกเป็นที่ประมวลคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นธรรมรัตนะ แต่คนไทยส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสได้อ่าน เพราะยังเป็นภาษาบาลี  จึงเห็นสมควรให้แปลเป็นภาษาไทย  รัฐบาลไทยให้ความเห็นชอบ  และยินดีถวายความอุปถัมภ์คณะสงฆ์  จึงตั้งกรรมการแปล  การแปลแบ่งออกเป็น  ๒  ประเภท  คือ

๑.  แปลโดยอรรถ  คือ  แปลเอาความเป็นภาษาไทย  เรียกว่า  พระไตรปิฎกภาษาไทย

๒. แปลเป็นสำนวนเทศนา  เพื่อจัดพิมพ์ลงในใบลาน  เป็นคัมภีร์เทศน์  เรียกว่า

พระไตรปิฎกเทศนาฉบับหลวง

๓.  พระไตรปิฎกภาษาไทยนั้น  แบ่งเป็นวินัย  ๑๓  เล่ม  พระสูตร 

๔๒  เล่มพระอภิธรรม  ๒๕  เล่ม  รวมเป็น  ๘๐  เล่ม  เท่าพระชนมายุของพระพุทธเจ้า

บทที่  ๒

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพระวินัยปิฎก

๑.  ความเป็นมาแห่งการบัญญัติพระวินัย

พระวินัยนั้น  พระพุทธองค์ไม่ได้ทรงบัญญัติไว้ล่วงหน้า  ต่อเมื่อเกิดความเสียหายขึ้น  จึงทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามประพฤติเช่นนั้นอีก  ดังจะเห็นได้ว่า  ในตอนต้นพุทธกาล  คือตั้งแต่พรรษาที่  ๑  ถึงพรรษาที่  ๑๑  พระพุทธเจ้ายังไม่ได้ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แน่นอน  เพราะพระภิกษุสงฆ์ล้วนมีวัตรปฏิบัติที่ดีงาม  ศีลของพระภิกษุสงฆ์เรียกว่า  ปาติโมกขสังวรศีล   จัดเป็นจาริตตศีล  คือ  ระเบียบปฏิบัติตามแบบอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงประพฤติปฏิบัติมา  ในระยะที่ยังไม่มีพุทธานุญาตให้ภิกษุสงฆ์สวดพระปาติโมกข์ทุกกึ่งเดือนใน  ๒๐  พรรษาแรกนั้น  พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์เองทุกกึ่งเดือน

ในพรรษาที่  ๑๒  ขณะประทับอยู่  ณ  เมืองเวรัญชา  พระสารีบุตรกราบทูลอาราธนาให้ทรงบัญญัติสิกขาบท  ดังปรากฏในเวรัญชกัณฑ์  คัมภีร์มหาวิภังค์  พระวินัยปิฎกเล่ม  ๑  ว่า  ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า  ที่พระผู้มีพระภาคจะทรงบัญญัติสิกขาบท  ทรงยกปาติโมกข์แสดงแก่พระสาวกอันจะเป็นเหตุให้พรหมจรรย์ดำรงอยู่ได้ยืนนาน   พระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงบัญญัติสิกขาบท  เพราะในระยะนั้นภิกษุสงฆ์ส่วนใหญ่เป็นพระอริยบุคคล  ดังที่พระองค์ตรัสตอบพระสารีบุตรว่า  จงรอไปก่อนเถิด

สารีบุตร  ตถาคตรู้เวลาในเรื่องที่จะบัญญัติสิกขาบทนั้น  ศาสดาจะยังไม่บัญญัติสิกขาบทแก่สาวก  ไม่ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงตลอดเวลาที่ยังไม่เกิดอาสวัฏฐานิยธรรมในหมู่สงฆ์  เมื่อเกิดอาสวัฏฐานิยธรรมบางอย่างขึ้นในหมู่สงฆ์  ตถาคตจึงจะบัญญัติสิกขาบท  จะยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่สาวกเพื่อขจัดธรรมนั้น...  สารีบุตร  ก็ภิกษุสงฆ์ยังไม่มีเสนียด  ไม่มีโทษ  ไม่มีสิ่งมัวหมอง  บริสุทธิ์ผุดผ่อง  ดำรงอยู่ในสารคุณ  แท้จริง  ในภิกษุ  ๕๐๐  รูปนี้  ผู้มีคุณธรรมอย่างต่ำก็ชั้นโสดาบัน

ต่อมา  หลังจากออกพรรษาที่  ๒๐  แล้ว  พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติปาราชิกสิกขาบทที่  ๑  ห้ามภิกษุเสพเมถุน  โดยปรารภเหตุการณ์มัวหมองในคณะสงฆ์อันเนื่องมาจากการที่พระสุทินเสพเมถุนกับอดีตภรรยาที่ป่ามหาวัน  กรุงเวสาลี  การที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทครั้งนี้นับเป็นครั้งแรก  และทรงบัญญัติเรื่อยมาทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ไม่ดีงามขึ้นในคณะสงฆ์

ในการบัญญัติสิกขาบทแต่ละครั้งมีขั้นตอนดังนี้คือ

๑.เมื่อเกิดเรื่องมัวหมองขึ้นภายในคณะสงฆ์  พระพุทธเจ้าตรัสสั่งให้เรียกประชุมสงฆ์

๒.ตรัสถามภิกษุผู้ก่อเหตุให้ทูลรับ

๓.ทรงชี้โทษแห่งการประพฤติเช่นนั้น

๔.ตรัสอานิสงส์แห่งการไม่กระทำเช่นนั้นและการสำรวมระวัง

๕.ทรงตั้งพระบัญญัติห้ามมิให้ภิกษุทำอย่างนั้นอีกต่อไป

๖.ทรงกำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนหรือล่วงละเมิดเรียกว่า  ปรับอาบัติ

คำว่า  อาบัติ  แปลว่า  การต้อง  การล่วงละเมิด  คำนี้เป็นชื่อเรียกกิริยาที่ล่วงละเมิดสิกขาบท

นั้น ๆ และเป็นชื่อเรียกโทษหรือความผิดที่เกิดจากการล่วงละเมิดสิกขาบท เช่น ภิกษุกล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรมที่ไม่มีในตนต้องปาราชิก

อาบัติมี ๗  กองคือ ปาราชิก  สังฆาทิเสส  ถุลลัจจัย  ปาจิตตีย์  ปาฏิเทสนียะ  ทุกกฏ  ทุพภาสิต  อาบัติปาราชิกมีโทษหนัก  ทำให้ผู้ล่วงละเมิดขาดจากความเป็นภิกษุ  อาบัติสังฆาทิเสสมีโทษปานกลาง  ผู้ล่วงละเมิดต้องอยู่กรรมคือประพฤติวัตรอย่างหนึ่งจึงจะพ้นจากอาบัตินี้  ส่วนอาบัติ  ๕  กองที่เหลือมีโทษเบา ผู้ล่วงละเมิดต้องประกาศสารภาพผิดต่อหน้าภิกษุด้วยกันดังที่เรียกว่า ปลงอาบัติ  จึงจะพ้นจากอาบัติเหล่านี้

บทบัญญัติในพระวินัยแต่ละข้อหรือมาตราเรียกว่า  สิกขาบท  แปลว่า  ข้อที่ต้องศึกษา  นั่นคือ  บทบัญญัติสำหรับภิกษุ  มี  ๒๒๗  สิกขาบท  บทบัญญัติสำหรับภิกษุณี  มี  ๓๑๑  สิกขาบท  สิกขาบทเหล่านี้มาในพระปาฏิโมกข์  พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้สวดในที่ประชุมสงฆ์ทุกกึ่งเดือน

บทบัญญัติสำหรับภิกษุ  ๒๒๗  สิกขาบทที่มาในพระปาฏิโมกข์ แบ่งเป็นกลุ่มได้ดังนี้  ปาราชิก  ๔,  สังฆาทิเสส  ๑๓,  อนิยต  ๒,  นิสสัคคิยปาจิตตีย์  ๓๐,  ปาจิตตีย์  ๙๒,  ปาฏิเทสนียะ  ๔,  เสขิยะ  ๗๕  และ  อธิกรณสมถะ  ๗

สิกขาบทที่มาในพระปาติโมกข์นั้น  ปรับอาบัติแก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิดไว้ครบทุกอาบัติ  คือระบุอาบัติโดยตรง  ๔  กอง  ได้แก่  ปาราชิก,  สังฆาทิเสส,  ปาจิตตีย์ทั้งที่เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์และสุทธิก-ปาจิตตีย์  และปาฏิเทสนียะ  มีอาบัติที่ไม่ระบุไว้โดยตรงอีก ๓ กอง ได้แก่  ถุลลัจจัย  ทุกกฎ  ทุพภาสิต

สิกขาบทที่มาในพระปาติโมกข์เหล่านี้ยกเว้นเสขิยะ  จัดเป็น  อาทิพรหมจริยกาสิกขา  ส่วนเสขิยะและสิกขาบทจำนวนมากที่มานอกพระปาติโมกข์ล้วนเป็น  อภิสมาจาริกาสิกขา  ทั้งสิ้น

สรุป  พระพุทธบัญญัติ (อาทิพรหมจริยกาสิกขา)  และ  อภิสมาจาร (อภิสมาจาริกาสิกขา)

จึงรวมเรียกว่า  พระวินัย

๑.  อาทิพรหมจริยกาสิกขา

อาทิพรหมจริยกาสิกขา  หมายถึง  หลักการศึกษาอบรมในฝ่ายบทบัญญัติ  หรือ  ข้อปฏิบัติอัน

เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์  เรียกกันง่าย ๆ ว่า  พุทธบัญญัติ  คือข้อที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้เป็นพุทธอาณา  เพื่อป้องกันความประพฤติเสียหายและวางโทษแก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด  โดยปรับอาบัติหนักบ้าง  เบาบ้าง  พระสงฆ์สวดทุกกึ่งเดือน  เรียกว่า  พระปาติโมกข์

ในพระวินัยปิฎก  เนื้อหาที่จัดอยู่ในอาทิพรหมจริยกาสิกขา  คือสิกขาบทของภิกษุและภิกษุณีทั้งหมด  ซึ่งปรากฏอยู่ในคัมภีร์มหาวิภังค์  ภาค  ๑  และภาค  ๒  รวมทั้งภิกขุนีวิภังค์  ทั้งหมดนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  สิกขาบทที่มาในพระปาติโมกข์  เมื่อภิกษุและภิกษุณีล่วงละเมิดพระบัญญัติ  ย่อมต้องอาบัติหนักเบาตามที่ได้กำหนดโทษนั้น ๆ ไว้แล้ว

๒.  อภิสมาจาริกาสิกขา

อภิสมาจาริกาสิกขา  หมายถึง  หลักการศึกษาอบรมในฝ่ายขนบธรรมเนียมเกี่ยวกับมารยาท  และความเป็นอยู่ที่ดีงามสำหรับชักนำความประพฤติ  ความเป็นอยู่ของพระสงฆ์ให้ดีงาม  มีคุณค่า  น่าเลื่อมใสศรัทธายิ่งขึ้นไป

ในพระวินัยปิฎก  เนื้อหาที่จัดอยู่ในอภิสมาจาริกาสิกขา  คือสิกขาบทที่มานอกพระปาติโมกข์ทั้งหมด  ซึ่งไม่รวมอยู่ในสิกขาบทของภิกษุจำนวน  ๒๒๗  สิกขาบท  และไม่รวมอยู่ในสิกขาบทของภิกษุณีจำนวน  ๓๑๑  สิกขาบท  ซึ่งมีเนื้อหาปรากฏอยู่ในคัมภีร์มหาวรรคและจุลวรรค  สิกขาบทนอก

พระปาติโมกข์นี้  เมื่อภิกษุหรือภิกษุณีล่วงละเมิดย่อมต้องอาบัติทุกกฎทุกกรณี  เพราะไม่สำรวมกายวาจาให้เรียบร้อย

๓.  คำนิยามศัพท์พระวินัยที่สำคัญ

๑.  มูลบัญญัติ  คือข้อที่ทรงบัญญัติไว้เดิมหรือข้อที่ทรงบัญญัติไว้ครั้งแรก

๒.  อนุบัญญัติ  คือ  ข้อที่ทรงบัญญัติเพิ่มเติมภายหลัง  เพื่อแก้ไขมูลบัญญัติให้รัดกุมยิ่งขึ้น

๓.  อาบัติคือ  โทษที่เกิดจากการล่วงละเมิดในข้อที่พระพุทธเจ้าทรงห้าม

๔.  ครุกาบัติ  คือ  อาบัติหนัก  ได้แก่  อาบัติปาราชิก  และสังฆาทิเสส

๕.  ลหุกาบัติ  คือ  อาบัติเบา  ได้แก่  อาบัติถุลลัจจัยจนถึงทุพภาสิต

๖.  อเตกิจฉา  คือ  อาบัติที่แก้ไขไม่ได้  ได้แก่  อาบัติปาราชิก

๗.  สเตกิจฉา  คือ  อาบัติที่แก้ไขได้  ได้แก่อาบัติตั้งแต่สังฆาทิเสสลงไปจนถึงทุพภาสิต

๘.  สจิตตกะ  คือ  อาบัติที่เกิดเพราะมีเจตนา  คือมีความจงใจทำ

๙.  อจิตตกะ    คือ  อาบัติที่เกิดเพราะไม่มีเจตนา  คือไม่มีความจงใจทำก็เป็นอาบัติ

๘.  ปฏิจฉันนาบัติ  คือ  อาบัติที่ปกปิดไว้  ไม่แจ้งให้สงฆ์ทราบ

๙.  อัปปฏิจฉันนาบัติ  คือ  อาบัติที่ไม่ได้ปกปิดไว้  กล่าวคือเมื่อต้องแล้วแจ้งให้สงฆ์ทราบ

๑๐. วุฏฐานวิธี  คือ  อาบัติที่พ้นได้ด้วยการประพฤติวัตรอย่างหนึ่ง  มีปริวาสกรรมเป็นต้น

๑๑. เทสนาคามินี  คือ  อาบัติที่พ้นได้ด้วยการแสดงต่อหน้าสงฆ์หรือบุคคล

๔.  ความสำคัญของพระวินัย

พระวินัยเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับฝึกหัดอบรมกุลบุตรผู้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา  เพราะผู้เข้ามาบวชนั้นมาจากต่างตระกูล  ต่างชนชั้น  ต่างอัธยาศัย  ต่างจิตต่างใจ  หากไม่มีพระวินัยควบคุมความประพฤติให้เป็นระเบียบเรียบร้อย  ก็จะเป็นหมู่ภิกษุที่สับสนวุ่นวายไม่เป็นที่ตั้งแห่งความศรัทธาเลื่อมใส  ถ้าภิกษุทุกรูปประพฤติตามพระวินัย  ก็จะเป็นหมู่ภิกษุที่งดงาม  นำให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธา  และทำให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ยืนนาน  เปรียบเหมือนดอกไม้นานาชนิดถูกร้อยไว้ด้วยด้าย  จึงไม่แตกแยกกระจัดกระจาย  ทั้งยังคุมกันเข้าเป็นพวงมาลัยที่สวยสดงดงาม  ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในเวรัญชกัณฑ์ว่า

พระพุทธเจ้ากกุสันธะ  พระพุทธเจ้าโกนาคมนะ  และพระพุทธเจ้ากัสสปะ  ไม่ทรงผ่อนคลายที่จะแสดงธรรมโดยพิสดารแก่สาวก  สุตตะ  เคยยะ ...  เวทัลละ  ของพระพุทธเจ้า  ๓  พระองค์จึงมีมาก  ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แก่สาวก  มีการแสดงปาติโมกข์  เมื่อสิ้นพระพุทธเจ้าและสาวกผู้รู้ตามแล้ว  สาวกชั้นหลัง ๆ ต่างชื่

๔.  ความสำคัญของพระวินัย

พระวินัยเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับฝึกหัดอบรมกุลบุตรผู้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา  เพราะผู้เข้ามาบวชนั้นมาจากต่างตระกูล  ต่างชนชั้น  ต่างอัธยาศัย  ต่างจิตต่างใจ  หากไม่มีพระวินัยควบคุมความประพฤติให้เป็นระเบียบเรียบร้อย  ก็จะเป็นหมู่ภิกษุที่สับสนวุ่นวายไม่เป็นที่ตั้งแห่งความศรัทธาเลื่อมใส  ถ้าภิกษุทุกรูปประพฤติตามพระวินัย  ก็จะเป็นหมู่ภิกษุที่งดงาม  นำให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธา  และทำให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ยืนนาน  เปรียบเหมือนดอกไม้นานาชนิดถูกร้อยไว้ด้วยด้าย  จึงไม่แตกแยกกระจัดกระจาย  ทั้งยังคุมกันเข้าเป็นพวงมาลัยที่สวยสดงดงาม  ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในเวรัญชกัณฑ์ว่า

พระพุทธเจ้ากกุสันธะ  พระพุทธเจ้าโกนาคมนะ  และพระพุทธเจ้ากัสสปะ  ไม่ทรงผ่อนคลายที่จะแสดงธรรมโดยพิสดารแก่สาวก  สุตตะ  เคยยะ ...  เวทัลละ  ของพระพุทธเจ้า  ๓  พระองค์จึงมีมาก  ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แก่สาวก  มีการแสดงปาติโมกข์  เมื่อสิ้นพระพุทธเจ้าและสาวกผู้รู้ตามแล้ว  สาวกชั้นหลัง ๆ ต่างชื่อต่างโคตร  ต่างชาติวรรณะ  ได้เข้ามาบวชจากต่างตระกูล  เธอเหล่านั้นพาให้พรหมจรรย์ดำรงอยู่นาน  เหมือนดอกไม้นานาพรรณกองอยู่บนแผ่นกระดาน  เอาด้ายร้อยไว้ย่อมไม่ถูกลมพัดกระจัดกระจายไป  เพราะเหตุไร  เพราะเอาด้ายร้อยไว้

ข้อนี้แสดงว่า  การบัญญัติพระวินัยเป็นเหตุสำคัญประการหนึ่ง  ที่ทำให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ได้ยืนนาน  ดังจะเห็นได้ว่า  พระมหากัสสเถระผู้เป็นประธานสงฆ์ในการจัดทำสังคายนาครั้งที่ ๑ ได้ตกลงกับพระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายว่า จะสังคายนาพระวินัยก่อน ทั้งนี้เพราะท่านเห็นว่า พระวินัยเป็นอายุของพระพุทธศาสนา  ดังที่คัมภีร์สมันตปาสาทิกา  อรรถกถาวินัยปิฎกได้บันทึกไว้ว่า

พระวินัยจัดว่าเป็นอายุของพระพุทธศาสนา  เมื่อพระวินัยยังดำรงอยู่  พระศาสนาก็ชื่อว่ายังดำรงอยู่  ดังนั้น  จึงขอสังคายนาพระวินัยก่อน

บทที่  ๓

ความหมาย  การเรียกชื่อย่อ  การจัดหมวดหมู่

โครงสร้างและเนื้อหาของพระวินัยปิฎก

พระไตรปิฎก เป็นคัมภีร์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในพระพุทธศาสนา เพราะเป็นคัมภีร์ที่บรรจุคำสอนของพระพุทธเจ้า  เป็นเอกสารทางวิชาการและใช้ในการอ้างอิงที่น่าเชื่อถือที่สุด

ในรายวิชาพระไตรปิฎกศึกษา ๑ นี้  เป็นการศึกษาเฉพาะพระวินัยปิฎกเท่านั้น ดังนั้น  จึงยังไม่

กล่าวถึงเนื้อหาของพระสุตตันตปิฎกและพระอภิธรรมปิฎกแต่อย่างใด  ซึ่งนักศึกษาจะได้ศึกษาในภาคเรียนต่อ ๆ ไป

๑.  ความหมายของพระวินัยปิฎก

คัมภีร์สมันตปาสาทิกา (สามนต์)  ได้ให้ความหมายของคำว่า  วินัยปิฎก  ไว้ดังนี้

คำว่า  วินัย  มาจากคำว่า  วิ + นัย  มีความหมาย  ๓  อย่าง ได้แก่

๑.  วินัย  หมายถึง  นัยต่าง ๆ (วิวิธ + นัย)  เพราะมีปาติโมกข์  ๒  คือ  ภิกขุปาติโมกข์และภิกขุนีปาติโมกข์  และเพราะมีวิภังค์  ๒  คือ  ภิกขุวิภังค์และภิกขุนีวิภังค์

๒.  วินัย  หมายถึง  นัยพิเศษ (วิเสส + นัย)  เพราะมีอนุบัญญัติเพิ่มเติม  เพื่อทำให้สิกขาบทรัดกุมยิ่งขึ้น  หรือผ่อนผันให้เพลาความเข้มงวดลง

๓.  วินัย  หมายถึง  กฎสำหรับฝึกอบรมกายวาจา (วินยโต  เจว  กายวาจานํ)  เพราะเป็นเครื่องป้องกันความประพฤติที่ไม่เหมาะสมทางกายและทางวาจา

คำว่า  ปิฎก  มีความหมาย  ๒  อย่าง  ได้แก่

๑.  ปิฎก  หมายถึง  ปริยัติ  เช่น  ในข้อความว่า  มา  ปิฏกสมฺปทาเนน   แปลว่า  อย่างปลงใจเชื่อด้วยการอ้างปริยัติ

๒.  ปิฎก  หมายถึง  ภาชนะ เช่น  ในข้อความว่า  อถ  ปุริโส  อาคจฺเฉยฺย  กุทฺทาลปิฏกมาทาย แปลว่า  บุรุษถือจอบและกระบุงเดินมา

เมื่อรวมคำว่า  วินัย  เข้ากับคำว่า  ปิฏก  เข้าด้วยกันเป็น  วินัยปิฎก  จึงหมายถึงคัมภีร์ที่ประมวลกฎสำหรับฝึกอบรมกายและวาจา  หรือภาชนะที่รวบรวมกฎสำหรับฝึกอบรมกายและวาจา

๒.  การเรียกชื่อย่อคัมภีร์พระวินัยปิฎก

คัมภีร์ชื่อ วชิรสารัตถสังคหะ  ที่พระรัตนปัญญาเถระรจนาที่ชียงใหม่เมื่อ  พ.ศ.  ๒๐๗๘  แบ่ง

พระวินัยปิฎกออกเป็น  ๒  แบบ  ดังนี้

แบบที่  ๑  ปรากฏในคัมภีร์วชิรสารัตถสังคหะข้อ  ๒๒  ว่า  อาปามจุปอาทิกา    แปลว่า

พระวินัยมีคำว่า  อาปามจุป  เป็นต้น  ท่านแบ่งพระวินัยปิฎกออกเป็น  ๕  คัมภีร์  มีคำย่อหรือหัวใจว่า

อา  ปา  ม  จุ  ป  โดยมีคำเต็มดังนี้

๑.  อา    คือ  อาทิกัมมิกะ ว่าด้วยสิกขาบทที่เกี่ยวกับอาบัติหนัก คือตั้งแต่ปาราชิกถึงอนิยต

๒. ปา    คือ ปาจิตตีย์ ว่าด้วยสิกขาบทที่เกี่ยวกับอาบัติเบาตั้งแต่นิสสัคคิยปาจิตตีย์ถึงเสขิยะ  รวมตลอดถึงภิกขุนีวิภังค์ทั้งหมด

๓.      คือ  มหาวรรค  ว่าด้วยสิกขาบทที่มานอกพระปาฏิโมกข์ตอนต้น  มี  ๑๐  ขันธกะ

๔.  จุ    คือ  จุลวรรค  ว่าด้วยสิกขาบทที่มานอกพระปาฏิโมกข์ตอนหลัง  มี  ๑๒  ขันธกะ

๕.      คือ  ปริวาร  ว่าด้วยคู่มือถามตอบเรื่องพระวินัย

แบบที่  ๒  ปรากฏในคัมภีร์วชิรสารัตถสังคหะข้อ ๓๙๘ ว่า  ปาปามจุปิติ  ปญฺจวิธํ  วินยปิฏกํ    แปลว่า  พระวินัยปิฎกมี  ๕  คัมภีร์  คือ  ปา  ปา  ม  จุ  ป  ท่านแบ่งพระวินัยปิฎกออกเป็น  ๕  คัมภีร์  มีคำย่อหรือหัวใจว่า  ปา ปา  ม  จุ  ป  โดยมีคำเต็มดังนี้

๑.  ปา    คือ  ปาราชิก

๒.  ปา    คือ  ปาจิตตีย์

๓.      คือ  มหาวรรค

๔.  จุ    คือ  จุลวรรค

๕.     คือ  ปริวาร

ยังมีชื่อย่อที่สำคัญที่คัมภีร์วชิรสารัตถสังคหะมิได้กล่าวถึง  แต่นักวิชาการศาสนานิยมใช้เรียกชื่อย่อตามชื่อคัมภีร์หลักทั้ง  ๕  คัมภีร์  คือ  ม  ภิ  ม  จุ  ป  ซึ่งมีคำเต็มดังนี้

๑.  ม  คือ  มหาวิภังค์  ว่าด้วยสิกขาบทของพระภิกษุ  มีจำนวน  ๒๒๗  สิกขาบท  เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  สิกขาบทในพระปาติโมกข์ (ภิกขุปาติโมกข์)

๒. ภิ  คือ  ภิกขุนีวิภังค์  ว่าด้วยสิกขาบทของภิกษุณี  หรือภิกขุนีปาติโมกข์  มีจำนวน  ๓๑๑  สิกขาบท

๓. ม  คือ  มหาวรรค

๔. จุ  คือ  จุลวรรค

๕.   คือ  ปริวาร

ส่วนพระไตรปิฎกที่สมาคมบาลีปกรณ์พิมพ์ขึ้นในประเทศอังกฤษ  แบ่งวินัยปิฎกออกเป็น

๓ หมวด  คือ

๑.  สุตตวิภังค์  คือ  การรวมมหาวิภังค์และภิกขุนีวิภังค์เข้าด้วยกัน

๒. ขันธกะคือ  การรวมมหาวรรคและจุลวรรคเข้าด้วยกัน

๓.  ปริวาร  คือ  คัมภีร์ถาม-ตอบ  ซึ่งตรงกับคัมภีร์ที่  ๕  ข้างต้นดังกล่าวแล้ว

๓.  การจัดหมวดหมู่พระวินัยปิฎก

พระวินัยปิฎก  แบ่งออกเป็น  ๕  คัมภีร์  คือ

๑.  มหาวิภังค์  หรือ  ภิกขุวิภังค์  ว่าด้วยสิกขาบทหรือศีลของภิกษุ  ๒๒๗  ข้อที่มาใน

พระปาติโมกข์

๒.  ภิกขุนีวิภังค์  ว่าด้วยสิกขาบทหรือศีลของภิกษุณี  ๓๑๑  ข้อที่มาในพระปาติโมกข์

๓.  มหาวรรค ว่าด้วยสิกขาบทนอกพระปาติโมกข์ตอนต้น  ๑๐  ขันธกะ

๔.  จุลวรรค  ว่าด้วยสิกขาบทนอกพระปาติโมกข์ตอนปลาย  ๑๒  ขันธกะ

๕.  ปริวาร  คือคัมภีร์ประกอบ  หรือคู่มือที่บรรจุคำถามคำตอบสำหรับซ้อมความรู้เรื่อง

พระวินัยซึ่งเป็นการทบทวนเนื้อหาของ  ๔  คัมภีร์แรก

๔.  โครงสร้างและเนื้อหาของพระวินัยปิฎก

พระวินัยปิฎก  แบ่งคัมภีร์ออกเป็น  ๘  เล่ม  ในแต่ละเล่มมีเนื้อหาโดยสังเขปดังนี้

เล่มที่  ๑  :  มหาวิภังค์  ภาค  ๑  แบ่งเป็น  ๔  กัณฑ์  แต่ละกัณฑ์มีสาระสำคัญดังนี้

(๑) เวรัญชกัณฑ์  กล่าวถึงการเสด็จจำพรรษาที่เมืองเวรัญชา  สถานที่ทรงบัญญัติพระวินัย

ครั้งแรก

(๒) ปาราชิกกัณฑ์  ว่าด้วยปาราชิก  มี  ๔  สิกขาบท  ซึ่งปรับอาบัติหนัก (ครุกาบัติ)  แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด ทำให้ขาดจากความเป็นภิกษุ  ต้องสละสมณเพศ  และไม่มีสิทธิ์ที่จะอุปสมบทใหม่ได้อีก

(๓) สังฆาทิเสสกัณฑ์  ว่าด้วยสังฆาทิเสส  มี  ๑๓  สิกขาบท  ซึ่งปรับอาบัติหนักรองจากปาราชิก  เป็นอาบัติหนัก (ครุกาบัติ)  แต่เป็นอาบัติที่แก้ไขได้ (สเตกิจฉา)

(๔) อนิยตกัณฑ์  ว่าด้วยอนิยต  มี  ๒  สิกขาบท  คำว่า อนิยต  แปลว่า  ไม่แน่นอน  ขึ้นอยู่กับ

ที่ลับ  ๒  อย่าง  คือ  ที่ลับตาและที่ลับหู

เล่มที่  ๒  :  มหาวิภังค์  ภาค  ๒  แบ่งเป็น  ๔  กัณฑ์  กับ  ๑  เรื่อง  คือ

(๕)  นิสสัคคิยกัณฑ์  ตอนว่าด้วยนิสสัคคิยปาจิตตีย์  เป็นอาบัติที่ภิกษุเมื่อล่วงละเมิดแล้วจะต้องสละวัตถุที่เป็นเหตุให้ต้องอาบัติเสียก่อน  จึงจะแสดงอาบัติตก  พูดให้เข้าใจง่าย ๆ คือ  คน (ภิกษุ) เป็นปาจิตตีย์  ของ (วัตถุ) เป็นนิสสัคคีย์  จะแสดงอาบัติก่อนสละวัตถุไม่ได้  นิสสัคคิยกัณฑ์

มี  ๓๐  สิกขาบท  แบ่งเป็น  ๓  วรรค  มีวรรคละ ๑๐  สิกขาบท

(๖)  ปาจิตติยกัณฑ์  ตอนว่าด้วยอาบัติปาจิตตีย์ล้วน  เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  สุทธิกปาจิตตีย์  แปลว่า  ปาจิตตีย์ล้วน  ปาจิตติยกัณฑ์ มี  ๙๒  สิกขาบท แบ่งเป็น  ๙  วรรค  มีวรรคละ  ๑๐  สิกขาบท  ยกเว้นวรรคที่  ๘  คือสหธรรมิกวรรค  มี  ๑๒  สิกขาบท

(๗) ปาฏิเทสนียกัณฑ์  ตอนว่าด้วยอาบัติปาฏิเทสนียะ  แปลว่า พึงแสดงคืน มี  ๔  สิกขาบท  อาบัติชื่อนี้แม้เป็นอาบัติชนิดเบา (ลหุกาบัติ)  แต่ภิกษุไม่ได้แสดงแล้ว

(๘) เสขิยกัณฑ์  ตอนว่าด้วยข้อที่ควรสำเหนียก  เป็นเรื่องเกี่ยวกับมารยาท  ปรับอาบัติทุกกฎเมื่อไม่สำรวม  แบ่งเป็น  ๔  หมวด  มี  ๗๕  สิกขาบท

(๙) อธิกรณสมถะ  ว่าด้วยอธิกรณสมถะ  อธิกรณ์  แปลว่า  เหตุ  โทษ  เรื่องราว  คดีความ  แต่ในที่นี้หมายถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในสงฆ์  เป็นสิ่งที่สงฆ์จะต้องดำเนินการ  คำว่า  สมถะ  แปลว่า  การระงับ

การทำให้สงบ  ดังนั้น  อธิกรณสมถะ  แปลว่า  ธรรมเครื่องระงับอธิกรณ์  หรือ  วิธีการระงับอธิกรณ์  มี  ๗  ประการ

เล่มที่  ๓  :  ภิกขุนีวิภังค์  ว่าด้วยสิกขาบทของภิกษุณี  แบ่งเป็น  ๖  กัณฑ์  มี  ๓๑๑  สิกขาบท

ในภิกขุนีวิภังค์นี้แบ่งสิกขาบทออกเป็น  ๒  ประเภท  คือ

(๑)  สาธารณบัญญัติ  แปลว่า  ข้อบัญญัติทั่วไป  หมายถึง  สิกขาบทที่ใช้ร่วมกันระหว่างภิกษุกับภิกษุณี  มีจำนวน  ๑๘๑  สิกขาบท  ดังนั้น  ในภิกขุนีวิภังค์จึงไม่กล่าวซ้ำอีก  ผู้ศึกษาต้องไปค้นคว้าจากมหาวิภังค์

(๒) อสาธารณบัญญัติ  แปลว่า  ข้อบัญญัติที่ไม่ทั่วไป  หมายถึง  สิกขาบทที่เป็นของเฉพาะภิกษุณีเท่านั้น  มี  ๑๓๐  สิกขาบท

ในวิภังค์ทั้ง  ๓  เล่ม  เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  อุภโตวิภังค์  แปลว่า  วิภังค์ทั้งสอง  ได้แก่  ภิกขุวิภังค์และภิกขุนีวิภังค์นั่นเอง

เล่มที่  ๔  :  มหาวรรค  ภาค  ๑  กล่าวถึงสิกขาบทที่มานอกพระปาฏิโมกข์  เกี่ยวเนื่องกับ

มารยาท  ขนบธรรมเนียมของภิกษุ  ปรับอาบัติทุกกฏแก่ภิกษุผู้ไม่สำรวม  จัดเป็นหมวด ๆ เรียกว่า  ขันธกะ  มี  ๔  ขันธกะ  คือ

(๑)  มหาขันธกะ  กล่าวถึงเรื่องตั้งแต่พระพุทธเจ้าตรัสรู้จนถึงได้อัครสาวก

(๒)  อุโปสถขันธกะ  ว่าด้วยเรื่องอุโบสถ  คือการฟังพระปาฏิโมกข์ของภิกษุทุกกึ่งเดือน

(๓)  วัสสูปนายิกขันธกะ  ว่าด้วยเรื่องการเข้าพรรษาของภิกษุ

(๔)  ปวารณาขันธกะ  ว่าด้วยเรื่องการออกพรรษาของภิกษุ  เรียกว่าปวารณา

เล่มที่  ๕  :  มหาวรรค  ภาค  ๒  แบ่งเป็น  ๖  ขันธกะ  คือ

(๑)  จัมมขันธกะ  ว่าด้วยการใช้เครื่องหนังของภิกษุ  เช่น  การใช้รองเท้า  เป็นต้น

(๒)  เภสัชชขันธกะ  ว่าด้วยเรื่องยา  เช่น  ยามหาวิกัติ  ๔  เป็นต้น

(๓)  กฐินขันธกะ  ว่าด้วยเรื่องผ้ากฐิน

(๔)  จีวรขันธกะ  ว่าด้วยเรื่องจีวร  และผ้าชนิดต่าง ๆ (บริขารโจล)

(๕)  จัมเปยยขันธกะ  ว่าด้วยเรื่องภิกษุกัสสปโคตรอยู่ในแคว้นกาสี  ถูกสงฆ์ลงโทษด้วย

อุกเขปนียกรรม  เข้าไปทูลถามพระพุทธเจ้าว่าเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม

(๖)  โกสัมพิกขันธกะ  ว่าด้วยเรื่องภิกษุชาวเมืองโกสัมพีทะเลาะกันเพราะอาบัติเล็กน้อย

จนเกิดแตกแยกกัน

เล่มที่  ๖  :  จุลวรรค  ภาค  ๑  แบ่งเป็น  ๔  ขันธกะ  คือ

(๑)  กรรมขันธกะ  ว่าด้วยเรื่องกรรมต่าง ๆ เหมือนในจัมเปยยขันธกะ  แต่ในที่นี้มีความ

พิสดารกว่า

(๒) ปริวาสิกขันธกะ  ว่าด้วยเรื่องวัตรของภิกษุผู้อยู่ปริวาส  เพื่อการออกจากอาบัติสังฆาทิเสส

(๓) สมุจจยขันธกะ  ว่าด้วยเรื่องการขอและการให้ปริวาส  มานัต  ชื่อของปริวาส  ชื่อของมานัต  การขออัพภานและวิธีอัพภาน

(๔) สมถขันธกะ  ว่าด้วยเรื่องลักษณะอธิกรณ์  และวิธีพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์

เล่มที่  ๗  :  จุลวรรค  ภาค  ๒  แบ่งเป็น  ๘  ขันธกะ  คือ

(๑)  ขุททกวัตถุขันธกะ  ว่าด้วยมารยาทของภิกษุ  เรียกว่า  อภิสมาจาร  เป็นสิกขาบทนอก

พระปาติโมกข์  เช่น  การห้ามไว้หนวด  ไว้เครา  ไว้ผมยาว  เป็นต้น

(๒) เสนาสนขันธกะ  ว่าด้วยเรื่องเสนาสนะ  และเครื่องใช้ในเสนาสนะ  เป็นต้น

(๓) สังฆเภทขันธกะ  ว่าด้วยเรื่องการทำสังฆเภทของพระเทวทัต  และเรื่องต่าง ๆ  ที่เกี่ยวกับ

สังฆเภท

(๔) วัตตขันธกะ  ว่าด้วยเรื่องธรรมเนียมของภิกษุที่จะต้องประพฤติต่อบุคคลต่าง ๆ

(๕) ปาฏิโมกขัฏฐปนขันธกะ  ว่าด้วยเรื่องการสวดปาฏิโมกข์  และเรื่องอัศจรรย์ในพระธรรมวินัย

(๖)  ภิกขุนีขันธกะ  ว่าด้วยเรื่องประวัติของพระนางมหาปชาบดีโคตรมี  ทูลขอให้สตรีบวช  และว่าด้วยครุธรรม  ๘  ประการสำหรับภิกษุณี  และวัตรข้อปฏิบัติของภิกษุณีอย่างพิสดาร

(๗)  ปัญจสติกขันธกะ  ว่าด้วยเรื่องปฐมสังคายนาโดยพิสดาร

(๘)  สัตตสติกขันธกะ  ว่าด้วยเรื่องทุติยสังคายนาโดยพิสดาร

สรุป  ในมหาวรรคและจุลวรรค  ทั้งหมดนี้  จัดแบ่งเป็น  ขันธกะ  รวมทั้งสิ้น  ๒๒  ขันธกะ

เป็นสิกขาบทที่มานอกพระปาฏิโมกข์  ว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับกิริยามารยาท  และขนบธรรมเนียมของภิกษุ  หากไม่เอื้อเฟื้อและไม่สำรวม  ปรับอาบัติทุกกฎทุกกรณี

เล่มที่  ๘  :  ปริวาร  ว่าด้วยข้อปลีกย่อย  เป็นการอธิบายเรื่องราวในพระวินัยให้พิสดารขึ้น

เป็นข้อถามตอบ  วินิจฉัยอาบัติ  อนาบัติ  อาบัติที่ทั่วไปแก่ภิกษุและภิกษุณี  อาบัติที่ไม่ทั่วไปทั้ง  ๒  ฝ่าย  ตอนท้ายเป็นปัญหาวินัยเรียกว่า  เสทโมจนคาถา (คาถาเหงื่อแตก)  คือเป็นปัญหาที่ลึกลับซับซ้อน  คิดแก้กันจนเหงื่อไหล  แต่ก็มีคำเฉลยในปัญหานั้น

บทที่  ๔

ประเภทและลำดับชั้นคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา

ฐานะและความสำคัญของพระไตรปิฎกและคัมภีร์ชั้นรอง

๑.  ประเภทคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา

แม้ว่าพระไตรปิฎกจะนับว่าเป็นคัมภีร์ที่สำคัญ  และเป็นหลักฐานทางพระพุทธศาสนา  แต่ก็ยังมีคัมภีร์อื่นอีกที่เกี่ยวข้องด้วย  จึงควรทราบประเภทของคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญ ไว้ดังต่อไปนี้ :-

๑.  พระไตรปิฎก  เป็นหลักฐานชั้นที่  ๑  เรียกว่า  บาลี

๒.  คำอธิบายพระไตรปิฎก  เป็นหลักฐานชั้นที่  ๒  เรียกว่า  อรรถกถา  หรือ  วัณณนา

๓.  คำอธิบายอรรถกถา  เป็นหลักฐานชั้นที่  ๓  เรียกว่า  ฎีกา

๔.  คำอธิบายฎีกา  เป็นหลักฐานชั้นที่  ๔  เรียกว่า  อนุฎีกา

นอกจากนี้ยังมีคัมภีร์ที่แต่งขึ้นว่าด้วยไวยากรณ์ภาษาบาลีฉบับต่าง ๆ  และอธิบายศัพท์

ต่าง ๆ เรียกรวมกันว่า  สัททาวิเสส  เป็นสำนวนที่เรียกกันในวงการนักศึกษาฝ่ายไทย  ปรากฏในพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า  เมื่อทำสังคายนาในรัชกาลที่  ๑  กรุงรัตนโกสินทร์  พ.ศ. ๒๓๓๑  เพื่อชำระพระไตรปิฎกนั้น ได้มีการชำระคัมภีร์สัททาวิเสสต่างๆ ด้วย  โดยมีพระพุฒาจารย์เป็นแม่กอง

การจัดชั้นของบาลีอรรถกถา  ก็เนื่องด้วยกาลเวลานั้นเอง  พระไตรปิฎกเป็นของมีมาก่อน  ก็เป็นหลักฐานชั้น  ๑  คำอธิบายพระไตรปิฎกแต่งขึ้นประมาณ  ๙๕๖  ปีหลังพุทธปรินิพพาน  จึงจัดเป็นชั้น ๒  ส่วนฎีกานั้น  แต่งขึ้นเมื่อประมาณ  พ.ศ.  ๑๕๘๗  จึงนับเป็นหลักฐานชั้นที่  ๓  อนึ่ง  คัมภีร์อนุฎีกานั้น แต่งขึ้นภายหลังฎีกาในยุคต่อ ๆ มาเป็นคำอธิบายฎีกาอีกต่อหนึ่ง จึงนับเป็นหลักฐานชั้น  ๔

อย่างไรก็ตาม  แม้พระไตรปิฎกจะเป็นหลักฐานชั้น  ๑  เมื่อพิจารณาตามหลักพระพุทธภาษิตในกาลามสูตร  ท่านก็ไม่ให้ติดจนเกินไป  ดังคำว่า  ปิฏกสมฺปทาเทน  อย่าถือโดยอ้างตำรา  เพราะอาจมีผิดพลาดตกหล่นหรือบางตอนอาจเพิ่มเติมขึ้น  แสดงว่าพระพุทธศาสนาสอนให้ใช้ปัญญาพิจารณาเหตุผล  สอบสวนดูให้เห็นประจักษ์แก่ใจของตนเอง  เป็นการสอนอย่างมีน้ำใจกว้างขวาง  และให้เสรีภาพแก่ผู้นับถือพระพุทธศาสนาอย่างเต็มที่  นอกจากนั้นยังเป็นการยืนยันให้นำไปประพฤติปฏิบัติ  เพื่อได้ประจักษ์ผลนั้น ๆ ด้วยตนเอง  แม้จะมีพระพุทธภาษิตเตือนไว้มิให้ติดตำราจนเกินไป  แต่ก็จำเป็นต้องรักษาตำราไว้  เพื่อเป็นแนวทางแห่งการศึกษา  เพราะถ้าไม่มีตำราเลยจะยิ่งซ้ำร้าย  เพราะจะไม่มีแนวทางให้รู้จักพระพุทธศาสนาเลย  ฉะนั้น  การศึกษาให้รู้และเข้าใจในพระไตรปิฎก  จึงเป็นลำดับแรกเรียกว่า  ปริยัติ  การลงมือกระทำตามโดยควรแก่จริตอัธยาศัยเรียกว่า  ปฏิบัติ  การได้รับผลแห่งการปฏิบัตินั้น ๆ เรียกว่า  ปฏิเวธ

๒.  ลำดับชั้นคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา

คัมภีร์สำคัญของพระพุทธศาสนามี ๙ ลำดับ ดังนี้

๑. คัมภีร์พระไตรปิฎก

คัมภีร์พระไตรปิฎก ได้แก่ คัมภีร์หลักที่สำคัญของพระพุทธศาสนา ซึ่งประมวลคำสอนของพระพุทธเจ้าและพระสาวกไว้ทั้งหมด คำว่า ไตรปิฎก แปลว่า คัมภีร์ ๓ คัมภีร์ หรือ ตะกร้า ๓ ใบ หมายถึง ปิฎก ๓  คือ

(๑)  วินัยปิฎก  เป็นหมวดว่าด้วยระเบียบวินัย  แบ่งออกเป็น ๕ คัมภีร์  คือ

๑)  มหาวิภังค์    ว่าด้วยข้อห้าม หรือวินัยที่เป็นหลักใหญ่ของภิกษุ

๒) ภิกขุนีวิภังค์   ว่าด้วยข้อห้าม  หรือวินัยของนางภิกษุณี

๓) มหาวัคค์  ว่าด้วยพุทธประวัติตอนแรก  และพิธีกรรมทางพระวินัย

๔) จุลลวัคค์  ว่าด้วยพิธีกรรมทางพระวินัย ความเป็นมาของนางภิกษุณี

และประวัติการทำสังคายนา

๕) ปริวาร  ว่าด้วยข้อเบ็ดเตล็ดทางพระวินัย

(๒)  พระสุตตันตปิฎก เป็นหมวดว่าด้วยพระธรรมเทศนาทั่วไป มีประวัติและท้องเรื่องประกอบแบ่งออกเป็น ๕ คัมภีร์ คือ

๑) ทีฆนิกาย  ว่าด้วยพระสูตร หรือเทศนาขนาดยาว

๒) มัชฌิมนิกาย  ว่าด้วยพระสูตร หรือเทศนาขนาดกลาง

๓) สังยุตตนิกาย  ว่าด้วยพระสูตร เทศนาอันประมวลธรรมะ หรือเรื่องราวไว้เป็นพวก เช่นว่าด้วยเรื่องพระมหากัสสปเถระ เรียกว่า กัสสปสังยุต ว่าด้วยเหตุการณ์ในแคว้นโกศล เรียกว่า

โกศลสังยุต  เป็นต้น

๔) อังคุตตรนิกาย ว่าด้วยพระสูตรหรือเทศนาเป็นข้อ ๆ ตามลำดับจำนวน โดจัดเป็นธรรมหมวด ๑  ธรรมหมวด ๒  ธรรมหมวด ๓ เป็นต้น

๕) ขุททกนิกาย  ว่าด้วยพระสูตร หรือเทศนาเบ็ดเตล็ด รวมทั้งภาษิตของพระสาวกประวัติต่าง ๆ และชาดก

(๓)  พระอภิธรรมปิฎก  เป็นหมวดว่าด้วยข้อธรรมชั้นสูงล้วน ๆ ไม่มีประวัติ และท้องเรื่องประกอบแบ่งออกเป็น ๗ คัมภีร์ คือ

๑) ธรรมสังคณี  ว่าด้วยธรรมรวมเป็นหมวด เป็นกลุ่ม

๒) วิภังค์  ว่าด้วยธรรมแยกเป็นข้อ ๆ

๓) ธาตุกถา  ว่าด้วยธรรมจัดระเบียบความสัมพันธ์ โดยถือธาตุเป็นหลัก

๔) ปุคคลบัญญัติ  ว่าด้วยบัญญัติ ๖ ชนิด และแสดงรายละเอียดเฉพาะบัญญัติอันเกี่ยวกับบุคคล

๕) กถาวัตถุ  ว่าด้วยคำถามคำตอบในหลักธรรมชั้นสูง เป็นคำถาม ๕๐๐ ข้อ เพื่อถือเป็นหลักในการตัดสินพระธรรม

๖) ยมก  ว่าด้วยธรรมที่รวมเป็นคู่ ๆ

๗) ปัฏฐาน  ว่าด้วยปัจจัย คือ สิ่งที่เกื้อกูลสนับสนุน ๒๔ อย่าง

๒. คัมภีร์อรรถกถา

คัมภีร์อรรถกถา ได้แก่ คัมภีร์อธิบายความในพระไตรปิฎก แบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ

(๑) อรรถกถาพระวินัยปิฎก มี ๒ สมัย คือ

๑)  อรรถกถาพระวินัยปิฎก  ภาษาสิงหลสมัยโบราณ  ต้นฉบับอันตรธานแล้ว

๒)  อรรถกถาพระวินัยปิฎก ภาษาบาลีสมัยพระพุทธโฆสะ และพระอรรถกถาจารย์อื่น ๆ

อรรถกถาพระวินัยปิฎกภาษาสิงหลสมัยโบราณ  ต้นฉบับอันตรธานแล้ว มี ๖ คัมภีร์  คือ

๑) มหาอรรถกถา หรือ มูลอรรถกถา คัมภีร์นี้ เป็นของพระสงฆ์คณะมหาวิหารเมืองอนุราธปุระ ประเทศลังกา

๒) มหาปัจจารีอรรถกถา คือ อรรถกถาแพใหญ่ คัมภีร์นี้แต่งบนแพ ณ ที่แห่งหนึ่งในลังกา

๓) กุรุนทีอรรถกถา คัมภีร์นี้แต่งที่กุรุนที เวฬุวิหาร ในลังกา

๔) อันธกัฏฐกถา อรรถกถาภาษาอันธกะ คัมภีร์นี้ ท่านเขียนไว้ในภาษาอันธกะ นำสืบ ๆ กันมาที่เมืองกัญจิปุระ หรือเมืองคอนเจวาราม ในอินเดียภาคใต้

๕) สังเขปัฏฐกถา อรรถกถาย่อ สันนิษฐานว่า แต่งในอินเดียภาคใต้

๖) วินยัฏฐกถา อรรถกถาวินัยปิฎกภาษาบาลี สมัยพระพุทธโฆสะและพระอรรถกถาจารย์ อื่น ๆ มี ๓ คัมภีร์ คือ

๑. สมันตปาสาทิกา เรียกสั้น ๆว่า สามนต์ แก้วินัยปิฎกทั้ง ๕ คัมภีร์ เป็นคัมภีร์ที่ประมวลไว้ซึ่งประวัติศาสตร์ทางงานสังคม การเมือง ศีลธรรม ศาสนาและปรัชญาของอินเดียสมัยโบราณ พระพุทธโฆสะ แต่งที่เมืองอนุราธปุระ ประเทศลังกา ก่อนแต่งอรรถกถาพระสุตตันตปิฎก คัมภีร์สมันตปาสาทิกาแต่งเมื่อประมาณ พ.ศ. ๙๒๗-๙๗๓ ในสมัยพระเจ้าสิรินิวาส คือ พระมหานามะ ซึ่งมีพระนามอื่นอีกว่า พระเจ้าสิริกูฎ หรือพระเจ้าสิริกุฑฑะ ใช้เวลาแต่ง ๑ ปี จึงจบบริบูรณ์ โดยคำอาราธนาของพระพุทธสิริ พระสังฆภัทร แปลเป็นภาษาจีนเมื่อ พ.ศ. ๑๐๓๒

๒. กังขาวิตรณี หรือมาติกัฏฐกถา อรรถกถาปาฏิโมกข์ พระพุทธโฆสะ แต่งที่ลังกา

๓. วินยสังคหัฏฐกถา หรือ ปาลิมุตตกวินิจฉยสังคหะ แก้วินัยปิฎกโดยเอกเทศ

พระสารีบุตรชาวลังกา แต่งที่ลังกา ในรัชสมัยของพระเจ้าปรักกมพาหุ  หรือ ปรากรม ซึ่งแปลว่า ผู้มีแขนทรงอำนาจใหญ่โตกว้างขวาง

(๒)  อรรถกถาสุตตันตปิฎก  มี  ๒ สมัย  คือ

๑.  อรรถกถาสุตตันตปิฎกภาษาสิงหลสมัยโบราณ ต้นฉบับอันตรธานแล้ว

๒. อรรถกถาสุตตันตปิฎกภาษาบาลี สมัยพระพุทธโฆสะและพระ

อรรถกถาจารย์อื่น ๆอรรถกถาสุตตันตปิฎกภาษาสิงหลสมัยโบราณ ต้นฉบับอันตรธานแล้วมี ๗ คัมภีร์ คือ

๑.  มหาอรรถกถา  หรือ มูลอรรถกถา

๒. สุตตันตัฏฐกถา   อรรถกถาพระสูตร

๓.  อาคมัฏฐกถาอรรถกถานิกาย ๔

๔.  ทีฆัฏฐกถา  อรรถกถาทีฆนิกาย ๔

๕.  มัชฌิมัฏฐกถา  อรรถกถามัชฌิมนิกาย

๖.  สังยุตตัฏฐกถา  อรรถกถาสังยุตตนิกาย

๗.  อังคุตตรัฏฐกถา  อรรถกถาอังคุตตรนิกาย

อรรถกถาสุตตันตปิฎกภาษาบาลี สมัยพระพุทธโฆสะ และพระอรรถกถาจารย์อื่น ๆ  มี ๒๔ คัมภีร์ คือ

๑. สุมังคลวิลาสินีอรรถกถาทีฆนิกาย  พระพุทธโฆสะแต่ง

๒. ปปัญจสูทนี  อรรถกถามัชฌิมนิกาย  พระพุทธโฆสะ แต่ง

๓. สารัตถทีปนี  อรรถกถาสังยุตตนิกาย  พระพุทธโฆสะ แต่ง

๔. มโนรถปูรณี  อรรถกถาอังคุตตรนิกาย  พระพุทธโฆสะ แต่ง

๕. ปรมัตถโชติกาอรรถกถาขุททกปาฐะ บทเรียนสำหรับพระภิกษุ สามเณรบวชใหม่

พระพุทธโฆสะ แต่ง

๖. ธัมมปทัฏฐกถาอรรถกถาธรรมบท ขุททกนิกาย พระพุทธโฆสะ แต่ง

๗. ปรมัตถทีปนี  อรรถกถาอุทาน ขุททกนิกาย พระธรรมปาละ แต่ง

๘. ปรมัตถทีปนี  อรรถกถาอิติวุตตกะ ขุททกนิกาย พระธรรมปาละ แต่ง

๙. ปรมัตถโชติกา อรรถกถาสุตตนิบาต ขุททกนิกาย พระพุทธโฆสะ แต่ง

๑๐. ปรมัตถทีปนีอรรถกถาวิมานวัตถุ ขุททกนิกาย พระธรรมปาละ แต่ง

๑๑. ปรมัตถทีปนีอรรถกถาเปตวัตถุ  ขุททกนิกาย พระธรรมปาละ แต่ง

๑๒. ปรมัตถทีปนีอรรถกถาเถรคาถา ขุททกนิกาย พระธรรมปาละ แต่ง

๑๓. ปรมัตถทีปนีอรรถกถาเถรีคาถา  ขุททกนิกาย พระธรรมปาละ แต่ง

๑๔. ชาตกัฏฐกถา  อรรถกถาชาดก ขุททกนิกาย พระพุทธโฆสะ แต่ง

๑๕. สัทธัมมโชติกาอรรถกถามหานิเทส และจูฬนิเทส พระอุปเสนะ แต่ง

๑๖. สัทธัมมปกาสินีอรรถกถาปฏิสัมภิทามรรค ขุททกนิกาย พระมหานามะ แต่ง

๑๗. วิสุทธชนวิลาสินี อรรถกถาอปทาน ขุททกนิกาย ไม่ทราบนามผู้แต่ง

๑๘. มธุรัตถวิลาสินี อรรถกถาพุทธวังสะ ขุททกนิกาย พระพุทธทัตตะแต่ง

๑๙. ปรมัตถทีปนีอรรถกถาจริยาปิฎก ขุททกนิกาย พระธรรมปาละ แต่ง

๒๐. วิสุทธิมรรคปกรณวิเสส หรือ วิสุทธิมรรคอรรถกถา เป็นอรรถกถาโดยปริยาย

พระพุทธโฆสะ แต่งที่ลังกา คัมภีร์วิสุทธิมรรค เป็นหนังสือสารานุกรรม แห่งคำสอนทางพระพุทธศาสนาอุปมาเหมือนจักรวาลจำลอง เพราะสารัตถะที่บรรจุไว้ในหนังสือ มีขอบเขตกว้างขวางเหนือจักรวาล

๒๑. มังคลัตถทีปนี หรือมงคลทีปนี  นวัฏฐกถามงคลสูตร คือ อรรถกถามงคลสูตรคัมภีร์ใหม่ แก้เฉพาะมงคลสูตร พระสิริมังคลาจารย์ พระมหาเถระชาวล้านนาไทย เป็นผู้แต่งที่ จ. เชียงใหม่

๒๒. เวสสันตรทีปนี หรือ เวสสันดรทีปนี นวัฏฐกถาเวสสันดรชาดก แก้เฉพาะเวสสันดรชาดก พระสิริมังคลาจารย์ พระมหาเถระชาวล้านนา แต่งที่เชียงใหม่

๒๓. ญาโณทัย พระพุทธโฆสะ แต่ง ต้นฉบับอันตรธานแล้ว

๒๔. ปริตตัฏฐกถา  อรรถกถาพระไตรปิฎกฉบับกะทัดรัด พระพุทธโฆสะ แต่ง ต้นฉบับอันตรธานแล้ว

(๓)  อรรถกถาอภิธรรมปิฎก  มี  ๒  สมัย  คือ

๑)  อรรถกถาอภิธรรมปิฎก ภาษาสิงหลสมัยโบราณ ต้นฉบับอันตรธานแล้ว

๒) อรรถกถาอภิธรรมปิฎก ภาษาบาลีสมัยพระพุทธโฆสะ  และพระอรรถกถาจารย์อื่นๆ

อรรถกถาอภิธรรมปิฎกภาษาสิงหลสมัยโบราณ ต้นฉบับอันตรธานแล้วมี ๒ คัมภีร์ คือ

๑) มหาอรรถกถา หรือ มูลอรรถกถา แก้ครบทั้ง ๓ ปิฎก

๒) อภิธัมมัฏฐกถา  อรรถกถาอภิธรรม

อรรถกถาอภิธรรมปิฎกภาษาบาลี  สมัยพระพุทธโฆสะ  และพระอรรถกถาจารย์อื่น  ๆ  มี  ๔ คัมภีร์ คือ

๑)  อัฏฐสาลินี อรรถกถาสังคณีปกรณ์ พระพุทธโฆสะ แต่งที่อินเดีย ก่อนไปอยู่ลังกา

สัมโมหวิโนทนี  อรรถกถาวิภังคปกรณ์ พระพุทธโฆสะ แต่งที่ลังกา

๒)ปรมัตถทีปนี หรือ ปัญจปกรณัฏฐกถา อรรถกถาปกรณ์ ทั้ง ๕ คือ ธาตุกถา ปุคคล

บัญญัติ  กถาวัตถุ  ยมก  และปัฏฐาน  พระพุทธโฆสะ  แต่งที่ลังกา

๓)  อภิธัมมัตถสังคหะ อรรถกถานิ้วก้อย เป็นอรรถกถาโดยปริยาย

เป็นหนังสือย่อชั้นแบบฉบับ เป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ของโลกที่มีระดับสูงมาก พระอนุรุทธาจารย์ พระม

 

๓)  อภิธัมมัตถสังคหะ อรรถกถานิ้วก้อย เป็นอรรถกถาโดยปริยาย

เป็นหนังสือย่อชั้นแบบฉบับ เป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ของโลกที่มีระดับสูงมาก พระอนุรุทธาจารย์ พระมหาเถระชาวอินเดีย เป็นผู้แต่งที่ลังกา ก่อนประมาณ พ.ศ. ๔๔๓

๓. คัมภีร์ฎีกา

คัมภีร์ฎีกา ได้แก่ คัมภีร์รองจากอรรถกถา หมายเอามูลฎีกา ฎีกาเดิม หรือ ปุราณฎีกา ฎีกาเก่าแบ่งเป็น ๓ คัมภีร์ คือ หนังสือบาลีฎีกาวินัย  ฎีกาพระสูตร และฎีกาพระอภิธรรม

ฎีกาวินัย หนังสือบาลีฎีกาวินัย มีจำนวน ๑๐ คัมภีร์ คือ

๑.สารัตถทีปนี ฎีกาวินัย เป็นฎีกาของสมันตปาสาทิกา พระสารีบุตร ชาวลังกา แต่ง

๒.วิมติวิโนทนี หรือ วิมติวิโนทนีฎีกา ฎีกาวินัย เป็นฎีกาอธิบายศัพท์ และประโยคใน

สมันตปาสาทิกา พระมหากัสสปะ แห่งอุทุมพรคีรีวิหาร ประเทศลังกา แต่ง

๓.วชิรพุทธิ หรือ วชิรพุทธฎีกา ฎีกาวินัย ฎีกาอธิบายศัพท์ และประโยค ในสมันตปาสาทิกา พระวชิรพุทธิ แต่ง

๔.วินยัตถมัญชุสา ฎีกาปาฏิโมกข์ พระพุทธนาคะ แต่ง

๕.สุมังคลปกาสินี ฎีกาขุททกฎีกา

๖.วินยัตถสารสันทีปนี ฎีกาวินัยวินิจฉยสังคหะ

๗.ลีนัตถปกาสนา ฎีกาอุตตรวินยวินิจฉัย พระเรวตะ แต่งที่เมืองพุกาม มีชื่อเก่าเรียกว่าอริมัททนะ

๘.วินยวิมติจเฉทนี นวฎีกามูลสิกขา

๙.อนุตตานทีปนี ฎีกาปาลิมุตตกวินยวิวนิจฉยสังคหะ

๑๐.วินยาลังการ ฎีกาปาลิมุตตกวินยวินิจฉยสังคหะ พระติปิฎกลังการเถระ แต่งที่พม่า

ฎีกาพระสูตร  หนังสือบาลีฎีกาพระสูตรมีจำนวน ๗ คัมภีร์ คือ

๑.ลีนัตถปกาสนา ฎีกาทีฆนิกาย พระธรรมปาละ แต่ง

๒.ลีนัตถปกาสนา ฎีกามัชฌิมนิกาย พระธรรมปาละ แต่ง

๓.ลีนัตถปกาสนา ฎีกาสังยุตตนิกาย พระธรรมปาละ แต่ง

๔.ลีนัตถปกาสนา ฎีกานิบาตชาดก

๕.ปรมัตถมัญชูสา มหาฎีกาวิสุทธมรรค พระธรรมปาละ แต่ง

๖.สังขปัตถโชตนี จูฬฎีกาวิสุทธิมรรค

๗.ฎีกาสัจจสังเขป ท่านอาจารย์วาจิสสระ แต่งที่ลังกา

ฎีกาพระอภิธรรมหนังสือบาลีฎีกาพระอภิธรรม มีจำนวน ๒๗ คัมภีร์ คือ

๑.ลีนัตถโชตนา มูลฎีกาธรรมสังคณี พระอานันทาจารย์ แต่งที่ลังกา

๒.ลีนัตถโชตนา อนุฎีกาธรรมสังคณี

๓.ลีนัตถโชตนา มูลฎีกาวิภังค์ พระอานันทาจารย์ แต่งที่ลังกา

๔.ลีนัตถปการสินี อนุฎีกาวิภังค์

๕.ลีนัตถปกาสินี มูลฎีกาธาตุกถา พระอานันทาจารย์ แต่งที่ลังกา

๖.ลีนัตถปกาสินี อนุฎีกาธาตุกถา

๗.ลีนัตถโชตนา มูลฎีกาปุคคลบัญญัติ พระอานันทาจารย์ แต่งที่ลังกา

๘.ลีนัตถปกาสินี อนุฎีกาปคคลบัญญัติ

๙.ลีนัตถโชตนา มูลฎีกากถาวัตถุ พระอานันทาจารย์ แต่งที่ลังกา

๑๐.ลีนัตถปกาสีนี อนุฎีกากถาวัตถุ

๑๑.ลีนัตถดชตนา มูลฎีกายมก พระอานันทาจารย์ แต่งที่ลังกา

๑๒. ลีนัตถปกาสินี อนุฎีกายมก

๑๓. ลีนัตถโชตนา มูลฎีกาปัฏฐาน พระอานันทาจารย์ แต่งที่ลังกา

๑๔. ลีนัตถปกาสินี อนุฎีกาปัฏฐาน

๑๕. มธุสารัตถทีปนี ฎีกาอธิบายความแห่งมูลฎีกา พระอานันทเถระ พระเถระชาวพม่าแต่งที่

เมืองหงสาวดี ประเทศพม่า

๑๖. โปราณฎีกาอภิธีมมาวตาร

๑๗. อภิธัมมัตถวิกาสนี ฎีกาอภิธัมมาวตาร พระสุมังคละ แต่ง

๑๘. อภิธัมมัตถวิภาวินี  ฎีกาอภิธัมมัตถสังคหะ เป็นวรรณกรรมสมัยกลางรุ่นหลัง คัมภีร์นี้

ไทยเรียกสั้น ๆ ว่า ฎีกาสังคหะ แต่พม่าเรียกเป็นคำสั้น ๆ ว่า วิภาวินี และเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าฎีกาจอ แปลว่า ฎีกาเรืองนาม ฎีกาชื่อดัง พระสุมังคละ หรือสุมังคลาจารย์ พระเถระชาวลังกาเป็นผู้แต่ง ที่เมืองปุลัตถินคร คือ เมืองโปโลนารุวะ ประเทศลังกา ใช้เวลาแต่ง ๒๔ วัน จบ ประเทศไทยใช้เป็นแบบเรียนบาลีประโยค ป.ธ. ๙

๑๙. ปรมัตถมัญชุสา อนุฎีกาอภิธัมมัตถสังคหะ

๒๐. มณิสารมัญชุสา นวฎีกาอภิธัมมัตถสังคหะ คัมภีร์นี้เป็นกุญแจ

หรือหัวใจของอภิธัมมัตถวิภาวินีพระอริยวังสะเมืองสกายพม่าภาคเหนือแต่ง

๒๑. สังเขปวัณณนา ฎีกาอภิธัมมัตถุสังคหะ พระโชตะปาละ หรือ

สัทธัมมโชติปาละผู้แต่งวิสุทธิมรรคคันถี เป็นผู้แต่ง

๒๒. อเผคคุสารัตถทีปนี จูฬฎีกาอภิธัมมัตถสังคหะ พระมหาสุวัณณทีปเถระ แต่งที่พม่า

๒๓. มุขมัตตกถา โปราณฎีกาปรมัตถวินิจฉัย

๒๔. ฎีกาปรมัตถวินิจฉัย

๒๕. ฎีกาเขมปกรณ พระเขมกะ แต่ง

๒๖. ลีนัตถปกาสินี โปราณฎีกานามรูปปริจเฉท

๒๗. ปรมัตถทีปนีฎีกา เป็นคัมภีร์อธิบายอภิธัมมัตถสังคหะและ

อภิธัมมัตถวิภาวินี เป็นวรรณกรรมภาษาบาลีรุ่นปัจจุบัน ด้านความเห็นในอภิธัมมัตถวิภาวินีทุกปริจเฉท และได้ระบุชื่ออภิธัมมัตถวิภาวินีรวม ๑๗๔ ครั้ง ท่านอาจารย์เลดี คือ อู  ญาณะ  หรือ ญาณธชะ พม่าเหนือเป็นผู้แต่ง

๔. คัมภีร์อนุฎีกา

คัมภีร์อนุฎีกา ได้แก่ ฎีกาใหม่ ที่แต่งเพิ่มเติมภายหลัง คำบาลีเรียกว่า อภินวฎีกา แปลว่า ฎีกาใหม่ มีรายชื่อคัมภีร์ ดังนี้

อนุฎีกาวินัย มีรายชื่อคัมภีร์ ดังนี้

๑.วินยาลังการฎีกาใหม่ พระมุนินทโฆสะ แต่งที่ประเทศพม่า

๒.ขุททกสิกขาฎีกาคัมภีร์ใหม่ เรียกว่า สุมังคลปสาทฎีกาก็ได้ พระสังฆรักขิตะ แต่งที่เมืองอนุราธปุระ

๓.มูลสิกขาฎีกาคัมภีร์ เรียกว่า วิมติเฉทฎีกาก็ได้ พระสมันตคุณสาคระ แต่งที่เมืองวิชยะปุระ

อนุฎีกาพระสูตร มีรายชื่อคัมภีร์ ดังนี้

๑.เอกังคุตตรฎีกาคัมภีร์ใหม่ พระสารีบุตร ชาวลังกา แต่งที่ลังกา

๒.ทุกังคุตตรฎีกาคัมภีร์ใหม่ พระสารีบุตร แต่ง

๓.ติกังคุตตรฎีกาคัมภีร์ใหม่ พระสารีบุตรเถระ แต่ง

๔.จตุกังคุตตรฎีกาคัมภีร์ใหม่ พระสารีบุตร แต่ง

๕.ปัญจุกังคุตตรฎีกาคัมภีร์ใหม่ พระสารีบุตร แต่ง

๖.ฉักกังคุตตรฎีกาคัมภีร์ใหม่ พระสารีบุตร แต่ง

๗.สัตตังคุตตรฎีกาคัมภีร์ใหม่ พระสารีบุตร แต่ง

๘.อัฏฐังคุตตรฎีกาคัมภีร์ใหม่ พระสารีบุตร แต่ง

๙.นวังคุตตรฎีกาใหม่ พระสารีบุตร แต่ง

๑๐.ทสังคุตตรฎีกาคัมภีร์ใหม่ พระสารีบุตร แต่ง

๑๑.เอกาทสังคุตตรฎีกาคัมภีร์ใหม่ พระสารีบุตรี แต่ง

๑๒.ธัมมปทัฏฐกถาคัมภีร์ใหม่ พระวรสัมโพธชธิ แต่งที่ปุคันจี ประเทศพม่า

๑๓. เปฏกาลังการฎีกาคัมภีร์ใหม่ พระสังฆราช ญาณวังสะ ธรรมเสนาบดีแต่งที่พม่า

อนุฎีกาพระอภิธรรม มีรายชื่อคัมภีร์ ดังนี้

๑.อภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกาคัมภีร์ใหม่ พระสุมังคละ แต่งที่ลังกา

๒.ปรมัตถวินิจฉยฎีกาคัมภีร์ใหม่ ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง

๓.นามรูปปริจเฉทฎีกาคัมภีร์ใหม่ ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง

๔.อภิธัมมาวตารฎีกาคัมภีร์ใหม่ พระสุมังคละ แต่งที่ลังกา

๕.สัจจสังเขปฎีกาคัมภีร์ใหม่ เรียกว่า สารัตถสาลินีฎีกา ก็ได้ ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง

๕. คัมภีร์มธุ

คัมภีร์มธุ ได้แก่ คัมภีร์ที่ปรับปรุงใหม่ ให้มีรสหวานปานน้ำผึ้ง  มีรายชื่อคัมภีร์ ดังนี้

๑.มธุรสวิลาสินีอรรถกถา หรือพุทธวังสอรรถกถา พระพุทธทาส

แต่ง

๒.มธุสวาหินีวัตถุ พระเถระเมืองพุกาม ประเทศพม่า แต่ง

๓.มธุรสวาหินีสันเทสกถา มหาสิริชัยอำมาตย์ แต่ง

๔.มธุสารัตถทีปนีฎีกา พระมหานามะ เมืองหงสาวดี แต่ง

๖. คัมภีร์กนิฏฐคันถะ

กนิฏฐคันถะ แปลว่า คัมภีร์นิ้วก้อย มีคำอธิบายว่า อรรถกถาพระไตรปิฎก และฎีกาพระไตรปิฎกที่แต่งไว้เดิม เรียกว่า อรรถกถาใหญ่และฎีกาใหญ่ ส่วนอรรถกถาและฎีกาที่แต่งใหม่เรียกว่า  อรรถกถานิ้วก้อย และฎีกานิ้วก้อย โดยใจความหมายเอาอรรถกถาเล็ก และฎีกาเล็ก

คัมภีร์นิ้วก้อย มี ๒ ประเภท คือ

๑.อรรถกถานิ้วก้อย คำบาลีเรียกว่า กนิฏฐอรรถกถา

๒.ฎีกานิ้วก้อย คำบาลีเรียกว่า กนิฎฐฎีกา

รรถกถานิ้วก้อยมี ๒ อย่าง คือ

๑.อรรถกถานิ้วก้อยฝ่ายวินัย

๒.อรรถกถานิ้วก้อยฝ่ายพระอภิธรรม

อรรถกถานิ้วก้อยฝ่ายพระสูตรไม่มี

ฎีกานิ้วก้อย มี ๒ อย่าง คือ

๑.ฎีกานิ้วก้อยฝ่ายวินัย

๒.ฎีกานิ้วก้อยฝ่ายอภิธรรม

อรรถกถานิ้วก้อยฝ่ายวินัย มีรายชื่อ ดังนี้

๑.วินยสังคหอรรถกถา พระสารีบุตร ชาวลังกา แต่ง

๒.วินยสังคหอรรถกถาคัมภีร์เล็ก พระสารีบุตร ชาวลังกา แต่ง

๓.วินยสังคหอรรถกถาคัมภีร์เล็ก ชินภูมิสยาดอ แต่งที่เมืองอังวะ

๔.วินยสังเขปอรรถกถา ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง

๕.วินยวินิจฉยอรรถกถา พระพุทธทาส แต่งที่วัตกาวิลปัฏฏนะ คือ วัดท่าเรือกาวิละในลังกา

๖.อุตตรวินิจฉยอรรถกถา พระพุทธทาส แต่ง

๗.ขุททกสิกขาอรรถกถา พระธรรมสิริ แต่งที่ลังกา

๘.มูลสิกขาอรรถกถา พระมหาสามิ แต่งที่ลังกา

๙.นิปุณปทสังคหอรรถกถา ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง

๑๐.สีลาวหอรรถกถา ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง

๑๑.สีมาลังการอรรถกถา พระวาจิสสระ แต่งที่เมืองอนุราธปุระ

๑๒.สีมาสังคหอรรถกถา พระวาจิสสระ แต่งที่เมืองอนุราธปุระ

๑๓.สิกขาปทวลัญชนอรรถกถา ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง

อรรถกถานิ้วก้อยฝ่ายพระอภิธรรม มีรายชื่อคัมภีร์ ดังนี้

๑. อภิธัมมัตถสังคหะ หรือ อภิธัมมัตถสังคหอรรถกถา พระอนุรุทธาจารย์ หรือ พระอนุรุทธะชาวอินเดีย แต่งที่วัดมูลโสมวิหาร หรือวัตตุมูลโสมวิหาร เมืองโปโลนารุวะ ประเทศลังกาก่อน

ค.ศ. ๑๐๐ ปี คือ คัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ มีอายุแก่กว่าพระเยซู ราว ๑๐๐ ปี พระอนุรุทาจารย์แต่ง อภิธัมมัตถสังคหะ โดยคำอาราธนาของอุบาสกสูงศักดิ์ท่านหนึ่ง นามว่า นับพะหรือนัมปะ ผู้มีใจกรุณาปรารถนาจะอนุเคราะห์ปัจฉิมชน คนรุ่นหลัง ให้ความสะดวกในการเล่าเรียนพระอภิธรรมปริยัติศาสนา วัตตุโสมวิหาร หรือวัดมูลโสมวิหาร เป็นวัดสิงหล มีเนื้อที่ประมาณ ๖๐ ไร่ เชื่อกันว่าพระนางโสมเทวี พระราชินีของพระเจ้าวัฏฏคามินี สร้างก่อน ค.ศ. ๘๘ ปี

๒. ปรมัตถวินิจฉัย หรือ ปรมัตถวินิจฉัยอรรถกถา พระอนุรุทธาจารย์ แต่ง

๓. นามรูปปริจเฉท หรือ นามรูปปริจเฉทอรรถกถา พระอนุรุทธาจารย์ แต่ง

๔. อภิธัมมาวตาร หรือ อภิธัมมาวตารอรรถกถา พระพุทธทาส แต่งที่ลังกา

๕. รูปารูปวิภาค หรือ รูปารูปวิภาคอรรถกถา พระพุทธทาส แต่งที่ลังกา

๖. เขมาปกรณ หรือ เขมาปกรณ์อรรถกถา พระเขมาแต่งที่เมืองอนุราธปุระ

๗. โมหวิจเฉทนี หรือ โมหวิจเฉทนีอรรถกถา พระมหากัสสปะ ชาวลังกา แต่ง

ฎีกานิ้วก้อยฝ่ายวินัย มีรายชื่อคัมภีร์ ดังนี้

๑.วินยสังคหฎีกาคัมภีร์เก่า พระสารีบุตร ชาวลังกาแต่ง มิใช่พระสารีบุตร ที่เป็นอัครสาวก

๒.วินยาลังการฎีกาคัมภีร์ใหม่ พระมุนินทโฆสะ แต่งที่ประเทศพม่า

๓.ขุททสิกขาฎีกาคัมภีร์ พระเรวตะแต่งที่เมืองอนุราธปุระ

๔.ขุททกสิกขาฎีกาคัมภีร์ใหม่ พระสังฆรักขิตะ แต่งที่เมืองอนุราธปุระ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าสุมังคลปสาทนีฎีกา ก็ได้

๕.มูลสิกขาฎีกาคัมภีร์เก่า พระวิมลสาระ แต่งที่เมืองอนุราธปุระ

๖.มูลสิกขาฎีกาคัมภีร์ใหม่ พระสมันตคุณสาระ แต่งที่เมืองวิชยปุระ เรียกว่า วินยวิมติจเฉทฎีกา

๗.วินยวินิจฉยฎีกา พระมหาอุปติสสะ แต่งที่เมืองอนุราธปุระ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วินยัตถสารสันทีปนีฎีกา ก็ได้

๘.อุตตรวินิจฉยฎีกา พระมหาอุปติสสะ แต่งที่เมืองอนุราธปุระ

๙.สีมาลังกาฎีกา พระสัทธัมมโชติปาละ แต่งที่เมืองอริมัททนะ คือพุกาม

๑๐.สีมาลังการฎีกา ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง

๑๑.วินยสังเขปฎีกา ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง

ฎีกานิ้วก้อยฝ่ายพระอภิธรร มีรายชื่อคัมภีร์ ดังนี้

๑. อภิธัมมัตถสังคหฎีกาคัมภีร์เก่า พระนววิมละ ศิษย์พระสารีบุตร แต่งที่เมืองอนุราธปุระ

๒. อภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา  พระสุมังคละ  หรือ  พระสุมังคลาจารย์  แต่งที่เมืองปุลัตถินคร  ปัจจุบัน  เรียกว่า  เมืองโปโลนารุวะ  ใช้เวลาแต่ง ๒๔  วันจบ  คณะสงฆ์ไทยได้ใช้อภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา  เป็นหลักสูตรชั้น  ประโยค  ป.ธ. ๙

อภิธัมมัตถวิภาวินี เป็นวรรณกรรมภาษาบาลีสมัยกลางรุ่นหลัง หนังสือศาสนลังการ  เรียกชื่อ อภิธัมมัตถวิภาวินี ๓ ชื่อ คือ ฎีกาเละตั๊ง ๑ ฎีกาละ ๑ ฎีกาจอ ๑

ฎีกาเละตั๊ง  แปลว่า  ฎีกานิ้วก้อย

ฎีกาละ  แปลว่า  ฎีกาสวย คือประโยคสวยมาก

ฎีกาจอ  แปลว่า  ฎีกาชื่อดัง ฎีกาเรืองนาม พระมหาอริยวังสะ เรียนฎีกานี้แล้วมีชื่อเสียงโด่งดัง

๓. สังเขปวัณณนาฎีกา  พระสัทธัมมโชติปาละ  แต่งทีเมืองอริมัททนะ  คือเมืองพุกาม

๔. มณิสารมัญชุสาฎีกา  คัมภีร์นี้เป็นฎีกาอภิธัมมัตถวิภาวินี  เป็นกุญแจของอภิธัมมัตถวิภาวินีพระอริยวังสะ  หรือพระมหาอริยวังสะ  แต่งที่เมืองสกาย  พม่าภาคเหนือ  คัมภีร์มณิสารมัญชุสา นั้น  พระอริยวังสะ  ได้แต่งโดยคำอาราธนาของ เยงุงสะยาดอ  คืออาจารย์อมน้ำ  ผู้เป็นอาจารย์ของท่าน

๕.  อเผคคุสารทีปนีฎีกา  พระติปิฎกเถระ  เมืองหงสาวดี  แต่งฎีกานี้  เรียกว่า  จุฬฎีกา

๖.  ปรมัตถวินิจฉยฎีกาคัมภีร์เก่า  พระมหาโพธิ  แต่งที่เมืองอนุราธปุระ

๗.  ปรมัตถวินิจฉยฎีกาคัมภีร์ใหม่  ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง

๘.  นามรูปปริเฉทฎีกาคัมภีร์เก่า  ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง

๙.  นามรูปปริเฉทฎีกาคัมภีร์ใหม่  ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง

๑๐. อภิธัมมาตารฎีกาคัมภีร์เก่าพระวาจิสสระแต่งที่เมืองอนุราธปุระ

๑๑.  อภิธัมมาตารฎีกาคัมภีร์ใหม่  พระสุมังคละ  แต่งที่เมืองอนุราธปุระ

๑๒. รูปารูปวิภาคฎีกา  ไม่ปรากฏผู้แต่ง

๑๓. เขมาฎีกา  พระมหาโพธิแต่ง

๑๔. นามจารทีปกฎีกา พระสัทธัมมโชติปาละ  แต่งที่เมืองพุกาม

๑๕. โมหวิจเฉทนีฎีกา  พระมหากัสสปะ  แต่งที่ลังกา

๑๖. ปรมัตถพินทุฎีกา  พระมหากัสสปะ  ชาวพม่า  แต่งที่พุกาม

๑๗. สัจจสังเขปฎีกาคัมภีร์เก่า  พระวาจิสสระ  แต่ง

๑๘. สัจจสังเขปฎีกา  หรือ  สารัตถสาลินีฎีกา  ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง

๑๙. ปรมัตถทีปนฎีกา  เป็นคัมภีร์อธิบายอภิธัมมัตถสังคหะ  และอภิธัมมัตถวิภานี  เป็นวรรณกรรมภาษาบาลีรุ่นปัจจุบัน  อาจารย์เลดี  หรือพระญาณเถระ  แต่งที่ประเทศพม่า  ฎีกาคัมภีร์นี้ได้สร้างความรู้สึกตื่นเต้นใหม่บางประการขึ้นในวงการพระอภิธรรม  ความเห็นในอภิธัมมัตถวิภาวินีได้ถูกค้านทุกปริจเฉท  และได้ระบุชื่ออภิธัมมัตถวิภาวินีไว้รวม  ๑๗๔  ครั้ง

๒๐. อังกุรฎีกา ท่านจัดเป็นสังคหมหาฎีกา  เป็นหนังสือประมาณ  ๔๔๒  หน้า

๗. คัมภีร์คัณฐิ

คัมภีร์คัณฐิ ได้แก่  คัมภีร์ที่ชี้เงื่อน หรือชี้ปมสำคัญ  มีรายชื่อคัมภีร์  ดังนี้

๑.จูฬคัณฐิปทะ  พระโชติปาละ  แต่งที่ลังกา

๒.มัชฌิมคัณฐิปทะ  พระโชติปาละ  แต่งที่ลังกา

๓.มหาคัณฐิปทะ  พระโชติปาละ  แต่งที่ลังกา  คัณฐิ  ๓  คัมภีร์นี้  ไม่เคยออกจากประเทศลังกาเลย

๔.สุตตสีลขันธปาลิคัณฐิ พระสารทัสสีหรือปุพพารามสยาดอ  แต่ง

๕.สุตตสีลขันธวรรคกถาคัณฐิ  อำมาตย์ผู้หนึ่งแต่งที่เมืองอมรปุระ

๖.สุตตมหาวรรคกถาคัณฐิ  ซุงทา  สยาดอ  แต่ง

๗.สุตตปาเถยยอรรถกถาคัณฐิ  ซุงทา  สยาดอ  แต่ง

๘.ปัญจวินยอรรถกถาคัณฐิ  ปฐมสินแต สยาดอ  แต่ง

๙.กังวิตรณีอรรถกถาคัณฐิ  พระสัทธัมมทีปนี  แต่งที่ประเทศพม่า

๑๐.อัฏฐสาลินีอรรถกถาคัณฐิ  ปฐมจอ  อองซาย  สยาดอ  แต่งที่

เมืองหงสาวดี

๑๑.สัมโมหวิโนทนีอรรถกถาคัณฐิ  พระคุณาจาระ  หรือชเวดอง 

สยาดอ  แต่ง

๑๒.มาติกาคัณฐิ  พระสังฆราชญาณะ  แต่งที่เมืองอมรปุระ

๑๓.ธาตุกถาคัณฐิ  พระสังฆราชญาณะ  แต่ง

๑๔. ยมกคัณฐิ  พระสังฆราชญาณะ  แต่ง

๑๕. อภิธัมมัตถสังคหคัณฐิ  ๓  คัมภีร์  คือ

คัมภีร์ที่ ๑ เรียกว่า  สังคหคัณฐิ  พญาจี  พระชาคระ  แต่งที่เมืองมัณฑเล  พระชาคระนั้น

ภาษาพม่าเรียกว่า  พญาจีสดายอ  คัมภีร์ที่ ๑ นี้  ดีที่สุด

คัมภีร์ที่ ๒ เรียกว่า  สังคหคัณฐิ  เยสะโจ  พระวรสัมโพธิ  แต่งที่เมืองมัณฑเล

พระวรสัมโพธินั้น  ภาษาพม่าเรียกว่า  เยสะโจสดายอ

คัมภีร์ที่ ๓  เรียกว่า  สังคหคัณฐิ  จอออง  สันถา  พระชินจักกาภิ

วังสะ  แต่งที่เมืองมัณฑเล  พระชินจักกาภิวังสะ  ภาษาพม่าเรียกว่า  จอออง  สันถาสยาดอ

อภิธัมมัตถสังคหคัณฐิ  ๓  คัมภีร์  เรียกว่า  อภิธัมมัตถสังคหคัณฐิ

คัมภีร์เก่า  และอภิธัมมัตถสังคหคัณฐิคัมภีร์ใหม่ก็ได้

๑๖. ปาราชิกกัณฑคัณฐิ  พระสังราชญาณะ  แต่ง

๑๗. วินยสารคัณฐิ  พระมุนินทสาระ  หรือปฐมญองกันสยาดอ  แต่งที่เมืองอมรปุระ

๑๘. ปฏิสัมภิทามัคคอรรถกถาคัณฐิ  พระเถระลังกา  แต่งที่เมืองอนุราธปุระ

๑๙. อภิธรรมคัณฐิ  พระมหากัสสปะ  แต่งที่เมืองอรนุราธปุระ

๒๐. วิสุทธิมัคคัณฐิ  พระชาคระ  หรือชเว  จินสยาดอ และ

พระสัทธัมมโชติปาละ  แต่ง

๒๑. สมาสคัณฐิ  พระชาคระหรือชเว จินสยาดอ แต่ง (ชเว แปลว่า

ทองคำ จิน แปลว่าเว้นรับ)

๒๒. พาลาวตารคัณฐิ  พระจักกปาละ  แต่งที่เมืองมะละแหม่ง

๒๓. สัททัตถเภทจินดาคัณฐิปทะ  พระวิสุทธาจาระ  และพระจันทิมา 

แต่ง

๒๔. สัททัตถคัณฐิ  พระวิจาระ  หรือมินจอง  แต่ง  (มินจอง  แปลว่า

วัดหลวง )

๒๕. อภิธัมมัตถสังคหคัณฐิ  พระวิจาระ  แต่ง

๒๖. ทุฎฐักขรคัณฐิ  พระญาณวระ  แต่ง

๘. คัมภีร์คันถันตระ

คันถันตระ  ได้แก่  คัมภีร์นอกสายพระไตรปิฎก  อรรถกถา  ฎีกา  อนุฎีกา มธุ  กนิฏฐะ  คัณฐิ  และโยชนา คัมภีร์คันถันตระมี  ๗  ประเภทคือ๑.คันถันตระบาลี  มิใช่บาลีพระไตรปิฎก

๒. คันถันตระอรรถกถา  มิใช่อรรถกถาพระไตรปิฎก

๓. คันถันตระฎีกา  ไม่ใช่ฎีกาพระไตรปิฎก

๔. คันถันตระนิสสยะ  หรือหนังสือถอดความ

๕. คันถันตระคัมภีร์บาลีไวยากรณ์

๖. คันถันตระอภิธาน

๗. คันถันตระสุโพธาลังการ

คัมภีร์คันถันตระ  ท่านแสดงรายชื่อคัมภีร์ไว้  ๕๐  ประเภท  คือ

๑.ทีปวังสะ  พระเถระลังกา  แต่ง

๒.ทีปวังสฎีกาพระชาคราภิวังสะวัดทักขิณารามเมืองมัณฑเล 

แต่ง

๓.มหาวังสฎีกา  พระมหานามะ  แต่งที่ลังกา

๔.มหาวังสฎีกา  พระมหานามะ  แต่งที่ลังกา

๕.จูฬวังสะ  ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง

๖.มหาโพธิวังสะ  เดิมเป็นภาษาสิงหล  พระอรหันต์เป็นผู้แต่ง  ต่อมา  พระมหาอุปติสสะชาวลังกา  แปลเป็นภามคธ

๗.มหาโพธิวังสฎีกา  เรียกว่า  สหัสสรังสีฎีกาก็มี  พระมหากัสสปะ  ชาวพม่า  แต่งที่เมือง

พุกาม  ในรัชกาลพระเจ้านรปติ

๘.ทาฐาธาตุวังสะ  เดิมเป็นภาษาสิงหล  ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง ต่อมาพระธรรมกิติ

ศิษย์พระสารีบุตร  แปลเป็นภาษามคธ

๙.ทาฐาธาตุวังสฎีกา  พระมหาสามิ  แต่งที่ลังกา

๑๐.อนาคตวังสบาลี

๑๑.อนาคตวังสอรรถกถา  พระมหาอุปติสสะ  วัดกาฬวาสีวิหาร  ประเทศลังกา แต่งตามคำอาราธนาของ  พระมหาโพธิ

๑๒. มหาถูปวังสะ  พระวาจิสสรเทวปาทะ  วัดมหาวิหาร  ประเทศลังกา  แต่ง

๑๓. จูฬถูปวังสะ  พระเถระลังกา  ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง

๑๔. ลาฎธาตุวังสะ  พระเถระลังกา  ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง

๑๕. นลาฏธาตุวังสฎีกา  พระเถระลังกา  ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง

๑๖. ฉเกสธาตุวังสะ  พระเถระลังกา  ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง

๑๗. สีหฬวัตถุ  พระเถระลังกา  ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง

๑๘. สหัสสวัตถุ  พระเถระลังกา  ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง

๑๙. ต้นฉบับที่ผู้เขียนนำมาพิมพ์  พิมพ์ตก

๒๐.สิริมหามายาวัตถุ  พระเถระลังกา  ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง

๒๑. อุปาสกาลังการ  พระอานันทาจารย์  แต่งที่เมืองอนุราธปุระ  ประเทศลังกา

๒๒. มหาปริตตฎีกา  พระเตโชทีปะ  แต่งที่ประเทศพม่า

๒๓. โสตัตตกี  พระจูฬพุทธโฆสะ  วัดมหาวิหาร  ประเทศลังกา  แต่ง

๒๔. ตถาคตุปปัตติ  พระญาณคัมภีร์  แต่งที่เมืองพุกาม

๒๕. พุทธโฆสุปปัตติ  พระเถระเมืองพุกาม  แต่ง

๒๖. อรหัตตมัคควัณณนา  พระเถระเมืองพุกาม  แต่ง

๒๗. วชิรสารัตถสังคหะ  พระสิริรัตนปัญญา  วัดเชตะวัน  ทิศตะวันตกเมืองอังวะ  แต่งเมื่อ

จ.ศ. ๘๘๘  ในรัชสมัยพระเจ้าโตหันภวา

๒๘. วชิรสารัตถสังคหฎีกา  พระสิริรัตนปัญญา  เมืองอังวะ  แต่ง

๒๙. ราชินทราชนามาภิเธอยทีปนี  พระเถระเมืองปันยะ  แต่ง

๓๐. ราชินทราชนามาภิเธอยทีปนี  ตองลีลา  สยาดอ  แต่ง

๓๑. ราชาธิราชนามัตถทีปนี  พระญาณวระ  แต่ง

๓๒. ราชินทราชสุธัมมจารทีปนี  พระสังฆราช  มองถ่องสยาดอ  แต่ง

๓๓. ราชินทราชปุญญทีปนี  พระสังฆราช  สลิน  สยาดอ  แต่ง

๓๔. โลกทีปนี  พระสังฆราชปตูจี  หรือ ปตูจี  สยาดอ  แต่ง

๓๕. โลกุปปัตติปกาสินี  พระอัคคปัญฑิตะ  เมืองพุกาม  แต่ง

๓๖. โลกทีปกสาระ  พระเมธังกระ  ประเทศพม่า  แต่ง

๓๗. โลกบัญญัติ  พระเถระลังกา  ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง

๓๘.โลกวิทู  ตองยภีลา  สยาดอ  แต่ง

๓๙. สังขยาปกาสกะ  พระญาณวิลาสะ  แต่งที่เชียงใหม่  ประเทศไทย

๔๐. สังขยาปกาสกฎีกา  พระสิริมังคลาจารย์  แต่งที่เชียงใหม่  ประเทศไทย

๔๑. กัมมัฎฐานทีปนี  พระสารีบุตร  ชาวลังกา  แต่ง

๔๒. มังคลัถตถทีปนี  พระสิริมังคลาจารย์  แต่งที่เชียงใหม่

๔๓. โอกาสทีปนี  พระสังฆราชปตูจี  หรือปตูจี  สยาดอ  แต่ง

๔๔. ฉคติปีทนี  พระอสมโฆสาจารย์  แต่งที่ลังกา

๔๕. จันทสุริยคติทีปนี  พระอสมโฆสาจารย์  แต่งที่ลังกา

๔๖. คัมภีร์บาลีไวยากรณ์มูลกัจจายนะ  รูปสิทธิ  โมคคัลลานะ  และสัททนี  เป็นต้น

๔๗.คัมภีร์อภิธาน  คือ  พจนานุกรมบาลี

๔๘. คัมภีร์วุตโตทัย

๔๙. คัมภีร์สุโพธาลังการ

๕๐. โลกิยปัณณาส  หรือเชียงใหม่ปัณณาส  มหาสามเณรผู้เชี่ยวชาญในคดีโลก  และคดีธรรมแต่งที่เชียงใหม่  ประเทศไทย

เชียงใหม่ปัณณาสนั้น  ประเทศพม่านับถือมาก  พม่าใช้เป็นบทเล่นละคร  เพราะมีบทรักบทโศก  บทร้องไห้  สามารถดัดแปลงเป็นบทละครจูงใจคนได้ดีมาก  อรินทชาดก  ในเชียงใหม่ปัณณาส  พม่าได้ทำเป็นภาพยนตร์รวม  ๓  ครั้ง  คือ ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒  หลังสงครามโลก  และสมัยก่อนประเทศลังกาก็ทำเป็นภาพยนตร์เหมือนกัน  เมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๗  พระเจ้าแผ่นดินลังกาพระนามว่าพระเจ้าทุติยวิมลธรรมสุริยะ  ได้โปรดให้เขียนภาพชาดก  ๕๕๐  ชาติ  ก็ได้โปรดให้เขียนสุธรชาดกในเชียงใหม่ปัณณาส  เมื่อประมาณ  ๘-๙ ปีมาแล้ว  ชาวอังกฤษคนหนึ่ง  เที่ยวหาเชียงใหม่ปัณณาสในประเทศพม่า  ได้ถ่ายภาพเชียงใหม่ปัณณาส  จากใบลานไป  และเมื่อ  พ.ศ. ๒๕๐๘  ศาสตราจารย์ภาษาบาลีชาวเยอรมัน  ได้มาประเทศพม่า เพื่อทำปทานุกรมบาลี  มาได้ยินชื่อเชียงใหม่ปัณณาส  ได้ซื้อเป็นจำนวน  ๒  เล่ม

๙.  คัมภีร์โยชนา

โยชนา ได้แก่  คัมภีร์แสดงการสร้างประโยค  และแปลความหมาย 

คัมภีร์โยชนานั้น  มีทั้งโยชนาวินัย  โยชนาพระสูตร  และโยชนาพระอภิธรรม  ดังนี้

โยชนาวินัย  มีรายชื่อคัมภีร์  ดังนี้

๑.โยชนาวินัย  แก้ศัพท์วินัยทั้ง  ๕  คัมภีร์  พระญาณกิตติ แต่ง

๒.ปาราชิกกัณฑอรรถกถาโยชนา  พระสิริมังคลาจารย์  แต่ง

๓.ปาจิตติยาทิอรรถกถาโยชนา  พระชาคราภิวังสะวัดทักขิณาราม  เมืองมัณฑเล  แต่ง

๔.ขุททกสิกขาโยชนา  พระเถระวนวาสี  ไม่ปรากฏนาม  แต่งที่เมืองสกาย

๕.วินยวินิจฉยโยชนา  พระเถระวนวาสี  ไม่ปรากฏนาม  แต่งที่เมืองสกาย

โยชนาพระสูตร  มีรายชื่อคัมภีร์  ดังนี้

๑.นิธิกัณฑสุตตอัตถโยชนา  พระจารินทาลภะ  หรือ  พญาจี  สยาดอ  แต่ง

๒.ธัมมปทัฏฐกถาคาถาโยชนา  พระสิริสุมังคละเถระ  แต่งที่ประเทศพม่า

๓.ตุลัตถโยชนา  พระอุกกังวังสมาลา  แต่ง

๔.ปัจจเวกขณโยชนา  พระอุกกังวังสมาลา  แต่ง

โยชนาพระอภิธรรม  มีรายชื่อคัมภีร์  ดังนี้

๑.โยชนาอัฏฐสาลินี  พระญาณกิตติ  แต่ง

๒.อัฏฐสาลินีอรรถกถาโยชนา  พระสิริมังคลาจารย์  แต่ง

๓.โยชนาสัมโมหวิโนทนี  พระญาณกิตติ  แต่ง

๔.สัมโมหวิโนทนีอรรถกถา  พระสิริมังคลาจารย์  แต่ง

๕.โยชนาธาตุกถา  พระญาณกิตติ  แต่ง

๖.  ธาตุกถามูลฎีกาโยชนาพระสารทัสสีหรือปุพพาราม สยาดอ 

แต่ง

๗.สังคหโยชนา  พระกวิธชะ แต่ง

๘.ธาตุวัตถุโยชนา  พระกวิธชะ แต่ง

๙.โยชนาปุคคลบัญญัติ  พระญาณกิตติ  แต่ง

๑๐.โยชนากถาวัตถุ  พระญาณกิตติ  แต่ง

๑๑.โยชนายมก  พระญาณกิตติ  แต่ง

๑๒.โยชนาปัฏฐาน  พระญาณกิตติ  แต่ง

๑๓.โยชนาอภิธัมมัตถวิภสนี  พระญาณกิตติ  แต่ง

บรรณานุกรม

กลุ่มวิชาการพระพุทธศาสนาและจริยศึกษา  กองศาสนศึกษา  กรมการศาสนา  กระทรวงศึกษาธิการ.

อธิบายวินัย  สำหรับนักธรรมชั้นตรี.  กรุงเทพฯ  :  โรงพิมพ์การศาสนา,  ๒๕๔๑.

กองวิชาการ  สำนักงานอธิการบดี  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.  เก็บเพชรจากคัมภีร์

พระไตรปิฎก.  กรุงเทพฯ  :  โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,  ๒๕๔๕.

พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต).  รู้จักพระไตรปิฎกเพื่อเป็นชาวพุทธที่แท้.  กรุงเทพฯ  :

บริษัทสหธรรมิก  จำกัด,  ๒๕๔๓.

พระเมธีธรรมาภรณ์ (ประยูร  ธมฺมจิตฺโต).  การปกครองคณะสงฆ์ไทย.  กรุงเทพฯ  :

บริษัทสหธรรมิกจำกัด,  ๒๕๓๙.

พระราชธรรมนิเทศ (ระแบบ  ฐิตญาโณ).  พระวินัยปิฎกย่อ  เล่ม  ๑.  กรุงเทพฯ  :

โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย,  ๒๕๔๐.

_______________.  พระวินัยปิฎกย่อ  เล่ม  ๒.  กรุงเทพฯ  :  โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย,  ๒๕๔๐.

พระอมรมุนี (จับ  ฐิตธมฺโม ป. ๙).  นำเที่ยวในพระไตรปิฎก.  กรุงเทพฯ  :

สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย,  ๒๕๓๕.

สุชีพ  ปุญญานุภาพ.  พระไตรปิฎก  ฉบับสำหรับประชาชน.  กรุงเทพฯ  :

โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย,  ๒๕๓๙.

เสถียรพงษ์  วรรณปก.  คำบรรยายพระไตรปิฎก.  กรุงเทพฯ  :  ธรรมสภา,  ๒๕๔๓.

สมเด็จพระวันรัต (ทับ  พุทฺธสิริ  เปรียญ ๙).  พระวินัยแปล.  กรุงเทพฯ  :  หจก.  โรงพิมพ์ชวนพิมพ์,๒๕๓๙.

อุทัย  บุญเย็น.  พระไตรปิฎกสำหรับผู้เริ่มศึกษา. กรุงเทพฯ  :  สำนักพิมพ์โพธิ์เนตร,  ๒๕๔๘.

Sayagyi  U  ko  Lay.  Guide  to  TipitakaSelangor  Buddhist  Vipassana  Meditation  Society  :  Selangor  Malaysia,  ๒๐๐๐.

พระครูสุวัฒนธรรมาภรณ์  ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพระไตรปิฎกโดยพระครูสุวัฒนธรรมาภรณ์

  ประวัติผู้รวบรวมเรียบเรียงเขียน

ชื่อสกุล  นายธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท