“สัญญาใจ” ที่มากกว่าพิธีกรรม


เด็กๆ จะได้เรียนรู้วิธีคิด วิถีชีวิตและการทำงานจากผู้ใหญ่ ปราชญ์ชาวบ้านและผู้นำชุมชน พวกเขาจะได้ซึมซับจิตวิญญาณความรักในบ้านเกิดและพื้นถิ่น มีจิตสาธารณะ เป็นธุระให้แก่ชุมชนอย่างไม่นิ่งดูดาย ...ชุมชนไม่ทอดทิ้งกัน.. นี่อย่างไรเล่า...วิถีแห่งความผาสุก

“สัญญาใจ” ที่มากกว่าพิธีกรรม

เกศินี จุฑาวิจิตร

  แม้ว่าพวกเราจะผ่านงานใหญ่ๆ มามากมาย ทั้งระดับชาติและนานาชาติ ทั้งในฐานะผู้จัดงานและผู้ร่วมงาน แต่เมื่อต้องมาเตรียมงานพิธีลงนามความร่วมมือ “โครงการนครปฐม: นครแห่งความผาสุกทุกชุมชนท้องถิ่น” ก็ยังอดตื่นเต้นและพะวักพะวงไม่ได้

  กำหนดการได้ถูกวางไว้อย่างกระชับเรียบง่าย ทว่าจงใจให้ดูจริงจัง เคร่งขรึม  เราเลือกที่จะใช้  “ศาลาเฟื่องฟ้ารมณีย์” ที่แวดล้อมด้วยสวนสวย เป็นสถานที่จัดงานแทนการใช้ห้องประชุมหรู  วัสดุอุปกรณ์ที่นำมาประดับประดาก็ล้วนสรรหามาแบบ “ตามมี ตามได้” ทั้งสิ้น ด้วยหวังให้ไม่ทำร้ายธรรมชาติ  

  สีส้มจัดของ “ลูกฟักข้าว” ที่ถูกนำมาเกาะเกี่ยวอยู่รอบต้นไทรเขียวทรงสามเหลี่ยม ชวนให้นึกถึงกลิ่นไอของความสุขในช่วงคริสต์มาศและปีใหม่   กล้วยไม้หลากสีถูกแขวนอยู่ประปรายบนราวริมระเบียง ทุกกลีบดอกล้วนบ่งบอกถึงความเข้มแข็งและคงมั่นในอุดมการณ์  ส่วนต้นปรือหรือธูปฤาษีนั้นเล่า ...สำหรับฉัน มันหมายถึงรากเหง้าของเรา ตัวตนและคนรากหญ้า

  แรกเช้าของวันงาน เมื่อละสายตาออกจากศาลาไปยังอีกฟากฝั่งหนึ่งของถนน  ฉันเห็นผู้คนมากมายสาละวนอยู่กับการจัดตกแต่งซุ้มของตนเอง... มากหน้าหลายตาล้วนเป็นตัวแทนของตำบลที่มาร่วมเปิดทุนและศักยภาพกับงานมหัศจรรย์ 20 ตำบลผาสุก ... ละลานตากับความหลากหลายของชุดแต่งกายประจำชาติพันธุ์และประจำพื้นถิ่น  แม้อาจารย์ของมหาวิทยาลัยเองที่เข้าไปทำงานในแต่ละตำบลก็ยังแต่งตัวกลมกลืนกับพื้นที่อย่าง  นึกสนุก ทั้งยังชี้ชวนและชื่นชมระคนขำขันกันเองอย่างเซ็งแซ่

  ลานสวนหย่อมที่มีถนนอยู่คดเคี้ยวนั้น ถูกจับจองแทบทุกตารางนิ้ว สังเกตได้ว่าถ้าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นองค์กรใดมีนายกหรือผู้บริหารที่เป็นนักจัดการ  ซุ้มของตำบลนั้นก็ดูจะมีสีสันและมีการนำเสนอที่เร้าใจมากกว่า

  ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่า ไม่มีอะไรดีๆ มาโชว์ แต่อยู่ที่การบริหารจัดการทุนและศักยภาพนั้นต่างหาก  แม้แต่ละตำบลจะมีต้นทุนไม่เท่ากัน แต่ทุนของนครปฐมโดยภาพรวมก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าจังหวัดอื่นใด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าเราจะร่วมกันเรียนรู้ แปรเปลี่ยนหรือต่อยอดทุนเหล่านั้นต่อไปอย่างไร 

  “ทุน”  อันหมายถึง ความดี ความงามที่มีอยู่ในพื้นที่ ทั้งในแง่ของบุคคล ศิลปะ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาและทรัพยากรธรรมชาติ  ส่วน“เรา” ในที่นี้ คือ ทุกภาคส่วน ทั้งนักวิชาการชาวมหาวิทยาลัย  แกนนำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แต่จักรกลที่สำคัญที่สุดของการขับเคลื่อนซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรง ก็คือ  ภาคท้องถิ่น อันหมายถึง “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)”  ถ้าท้องถิ่นไม่เข้ามาเป็นตัวหลัก  ไม่ทำหน้าที่หลักของตนเอง  คงปล่อยให้ภาคประชาชนเดินอยู่เพียงลำพังแล้ว  ท้ายที่สุดพวกเขาก็จะอ่อนล้า จริงอยู่เราอยากเห็นภาคประชาชนที่เข้มแข็ง แต่เราก็อยากเห็นความร่วมมือและการทำหน้าที่ในการเป็นเจ้าภาพหลักของท้องถิ่นด้วยเหมือนกัน

  การลงนามความร่วมมือระหว่างนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 20 แห่งกับมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา  นับเป็นก้าวแรกของความสำเร็จในการทำงานร่วมกับท้องถิ่นในช่วงที่ผ่านมาปีเศษๆ กับโครงการนครปฐม: นครแห่งความผาสุกทุกชุมชนท้องถิ่น

  แทบทุกองค์กรเปิดใจ การร่วมงานกันทำให้พวกเขารู้จักตัวเองมากขึ้น รู้ชัดและเห็นจริงว่าอะไรบ้างคือทุนและศักยภาพของตำบล 

  การทำงานในช่วงต่อจากนี้ คือการยกระดับให้ทุนและศักยภาพเหล่านี้แข็งแกร่งมากขึ้น มีเวทีที่จะได้พูดคุยกันและทำงานกันอย่างเชื่อมโยง  เด็กๆ จะได้เรียนรู้วิธีคิด วิถีชีวิตและการทำงานจากผู้ใหญ่ ปราชญ์ชาวบ้านและผู้นำชุมชน พวกเขาจะได้ซึมซับจิตวิญญาณความรักในบ้านเกิดและพื้นถิ่น  มีจิตสาธารณะ เป็นธุระให้แก่ชุมชนอย่างไม่นิ่งดูดาย

  ...ชุมชนไม่ทอดทิ้งกัน.. นี่อย่างไรเล่า...วิถีแห่งความผาสุก

  ในวันนั้น ท่านสมพร ใช้บางยาง ประธานคณะกรรมการแผนคณะที่ 3 พูดชัด เจตนารมณ์ของ สสส. อยู่ที่การเป็นน้ำมันหล่อลื่นให้มหาวิทยาลัยเข้ามาทำงานกับท้องถิ่น นำความรู้มาต่อยอด หนุนเสริมชุมชน  พัฒนาศักยภาพแกนนำและคนทำงาน โดยมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันและการเรียนรู้จากพื้นที่อื่นๆ   ในขณะที่ “พี่ด้วง” ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน ช่วยตอกย้ำความสำคัญของการจัดระบบฐานข้อมูลตำบล และการใช้นโยบายสาธารณะ 7 ประเด็นมาเป็นหลักไมล์ในการก้าวเดินเพื่อการขับเคลื่อนอย่างมีทิศทาง รวมทั้งการทำงานร่วมกันอย่างเป็นเครือข่ายที่มีพลัง

  การได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอกเช่นนี้ ... ฉันว่า นี่ก็คืออีกหนึ่งต้นทุนของจังหวัดนครปฐม 

  ในวันนั้นเราใช้เวลาในการพูดคุยและลงนามอยู่ประมาณครึ่งวัน ก็เป็นอันเสร็จพิธี  “พิธีกรรม” จบลงแล้วอย่างสวยงาม  “สัญญาใจ” เท่านั้นยังคงพลุ่งพล่าน

หมายเลขบันทึก: 511954เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2012 09:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 ธันวาคม 2012 19:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ตามมาเชียร์การทำงาน หายไปนานเลยครับท่านรองฯ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท