BookClub:Practical Research : Planing and Design Chapter I


ส่วนที่ 1 สรุปเนื้อหา

อะไร คือ การวิจัย?

  การวิจัยถูกนำมาใช้กันอย่างกว้างขวางในหลายๆวงการ จนเกิดความสับสนว่าอะไรกันแน่คือสิ่งที่เรียกว่า “การวิจัย” กันแน่? ซึ่ง Leedy ได้ให้ความเห็นในหนังสือของเขาว่าสิ่งที่ไม่น่าจะเรียกว่า งานวิจัย ได้แก่  การแค่เก็บรวมรวมข้อมูลอย่างเดียว การแค่เอาข้อเท็จจริงจากแหล่งหนึ่งไปเผยแพร่อีกแหล่งหนึ่ง หรือการแค่นำข้อมูลมาปรับแต่งเพื่อสร้างความเร้าใจหรือน่าสนใจของข้อมูลข่าวสาร สิ่งต่างๆเหล่านี้ไม่น่าถูกเรียกว่า “การวิจัย”

  แล้วอะไรควรจะเรียกว่าการวิจัยกันเล่า ?---

  การวิจัย ควรต้องเริ่มต้นจากผู้วิจัยเกิดคำถามหรือปัญหางานวิจัย ซึ่งต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้นในการวิจัยว่าจะทำไปเพื่อแก้ไขปัญหาอะไร?  และต้องมีกระบวนการที่มีการวางแผนเป็นขั้นตอนอย่างเป็นระบบและมีการออกแบบอย่างเหมาะสม ต้องมีการศึกษาค้นคว้าทฤษฎีและงานวิชาการต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อนำปัญหาหรือคำถามงานวิจัยไปสู่การตั้งสมมติฐานการวิจัยที่ถูกต้อง สามารถเชื่อมโยงและสามารถนำไปสู่เป้าหมายการแก้ปัญหาตามที่ตั้งใจไว้ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวต้องเป็นระบบระเบียบในกระบวนการเก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล ทั้งนี้ โดยธรรมชาติแล้วการวิจัยมักเป็นกระบวนการที่เป็นวงจรซึ่งอาจต้องมีการศึกษาหลายครั้งจนกว่าจะได้คำตอบของสิ่งที่นักวิจัยต้องการค้นหาก็เป็นได้

เครื่องมือในการวิจัย

  Leedy  ได้เสนอเครื่องมือในการวิจัยที่มีประโยชน์ไว้ 6 อย่างด้วยกัน ประกอบด้วย ห้องสมุด คอมพิวเตอร์และโปรแกรม การวัดผล สถิติ ความเป็นเหตุผลของมนุษย์ และภาษา ซึ่งเขาพยายามอธิบายในรายละเอียด ซึ่งสามารถสรุปได้พอสังเขป ดังนี้

ห้องสมุด : ปัจจุบันมีการพัฒนาไปมาก ระบบเสมือนจริง หรือ ออนไลน์ ทำให้การค้นหา การยืมหนังสือทำได้สะดวกและรวดเร็วกว่าสมัยก่อนที่ใช้ Stock card หรือ index card ซึ่ง Leedy ได้กล่าวถึงการใช้ Library catalog ในการบันทึกข้อมูล คน, สถานที่ หรือ สิ่งของ ที่สำคัญเพื่อช่วยในการจดจำ และกล่าวถึง Reference Session ที่ถือเป็นหัวใจในการค้นคว้าในห้องสมุด แนะนำการทำความรู้จักและสร้างสัมพันธ์กับบรรณารักษ์ และศึกษาให้เข้าใจในระบบยืมและคืนของห้องสมุด

คอมพิวเตอร์และโปรแกรม : ถือเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากในการทำงานวิจัย เนื่องจากคอมพิวเตอร์สามารถช่วยนักวิจัยในการคำนวณ เปรียบเทียบ ค้นหา จัดเรียง และจัดการข้อมูลในการวิจัย การทำรายงานการวิจัย แต่อย่างไรก็ตาม คอมพิวเตอร์ก็ยังจำเป็นต้องอาศัยมนุษย์ในการสั่งการที่มีประสิทธิภาพอยู่ดี ทั้งนี้ Leedy เสนอแนะให้ใช้อินเตอร์เน็ตเข้ามาช่วยในการค้นหาข้อมูลที่มีมหาศาลในเครือข่าย www แนะนำการใช้ E-mail หรือการอ่าน Subscribe NEWs ต่างๆ

การวัดผล : การเข้าใจการวัดผล ถือเป็นสิ่งสำคัญมากๆ เช่น การเข้าใจระดับการวัด ที่มีอยู่ 4 ระดับ ได้แก่ 1) Nominal Scale เปรียบเทียบความแตกต่างกันไม่ได้ ต่างกันแค่ชื่อ เช่น เพศชาย-หญิง สถิติที่ใช้ได้แก่ Mode, Percentage และ Chi-square 2) Ordinal scale ลำดับที่แตกต่างกัน มีค่าแตกต่างกัน เช่น ระดับการศึกษา สถิติที่เกี่ยวข้องเช่น Median, Percentile Range และ Spearman Rank correlation 3) Interval scale ข้อมูลมีความต่อเนื่องกัน แต่ไม่มี 0 สมบูรณ์ เช่น อุณหภูมิ แม้ว่าจะวัดได้ 0 องศา แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ว่าไม่มีอุณหภูมิ สถิติที่เกี่ยวข้อง สามารถใช้ของ Nominal และ Ordinal ได้ และสามารถใช้ Mean ,SD หรือ Pearson correlation ได้ และสุดท้ายคือ 4) ratio scale คล้ายกับ Interval scale แต่มี 0 สมบูรณ์ ใช้สถิติ เช่นเดียวกับ Interval scale ซึ่งนอกจากเรื่องระดับการวัดแล้ว ควรมีความเข้าใจเรื่อง “ความเที่ยงตรง” ในการวัดด้วย ซึ่งการวัดที่ดีควรวัดได้ถูกต้อง == ความตรง (Validity) และวัดซ้ำได้ ==ความเที่ยง (reliability)

  สถิติ : ต้องเลือกใช้สถิติที่มีความเหมาะสม ซึ่งโดยทั่วไปสถิติจะมี 2 ประเภท คือ สถิติที่ใช้เพื่อพรรณนา และบรรยายข้อมูล เราเรียกว่า descriptive Statistic และสถิติที่ใช้ในการบอกความแตกต่างหรือความสัมพันธ์ของข้อมูล เราจะเรียกว่า Inferential Statistic ซึ่งทั้งสองส่วนต่างมีประโยชน์เพื่อช่วยในจัดการ วิเคราะห์และการสรุปข้อมูล อย่างไรก็ตามสถิติก็เป็นเพียงตัวช่วยเท่านั้น ยังมีความจำเป็นต้องอาศัยมนุษย์ในการ “มอง”เพื่อเลือกนำข้อมูลสถิติที่ได้มาใช้ประโยชน์ให้ถูกต้อง

  ความเป็นเหตุผลของมนุษย์ : เป็นสิ่งสำคัญมากที่คอมพิวเตอร์หรือโปรแกรมสถิติต่างๆ ยังทำงานโดยปราศจากการสั่งการและตัดสินใจของมนุษย์ไม่ได้ ซึ่งมนุษย์สามารถใช้หัวสมองที่มีความเป็น“ตรรกกะ” ความเป็นเหตุเป็นผลต่างๆ เช่น วิธีคิดแบบ Deductive Logic, คิดแบบ Inductive Reasoning, หรือคิดแบบวิทยาศาสตร์ (The Scientific Method) และการคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) ซึ่งรูปแบบการคิดที่ต่างกันทั้งหมดนี้มีประโยชน์อย่างมากในการสร้างสมมติฐาน หรือ สร้างข้อสรุปเพื่อหาคำตอบของคำถามงานวิจัย เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆต่างๆให้เกิดขึ้นในโลกได้

  ภาษา : เป็นสิ่งสำคัญมากเพราะเป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารและสร้างความร่วมมือระหว่างนักวิจัยด้วยกัน สิ่งที่ Leedy เน้นมากคือ ในการเขียนรายงานการวิจัย ผู้วิจัยต้องใช้ภาษาเขียนให้มีความชัดเจน ถูกต้อง ด้วยภาษาที่อ่านเข้าใจง่ายและมีความต่อเนื่องของเนื้อหา เพื่อประโยชน์ในการถ่ายทอดงานให้ผู้อื่นได้เรียนรู้และเข้าใจและสามารถนำความรู้ที่ได้จากการวิจัยไปทำประโยชน์ต่อไปได้

ส่วนที่ 2 วิเคราะห์เนื้อหา

  ในเนื้อหาส่วนที่ 1 ที่ได้อ่านมานี้ พบว่า Leedy ให้ความสำคัญในการทำความเข้าใจกับการวิจัย และเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการวิจัย ซึ่งเขาพยายามที่จะยกตัวอย่างเพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพหรือเข้าใจได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งสามารถทำได้ค่อนข้างดี ทำให้เกิดความเข้าใจในเนื้อหามากขึ้น เข้าใจมากขึ้นว่างานวิจัย ควรจะต้องมีลักษณะอย่างไร ซึ่งบางส่วนเหมือนกับสิ่งที่เคยเรียนมาแล้ว แต่ได้ตัวอย่างที่ Leedy เขียนอธิบาย ก็ทำให้เข้าใจมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนเครื่องมือวิจัย ที่Leedy พยายามจะเขียนในส่วนต่อมา พบว่า บางประเด็นยังอธิบายไม่ชัดเจน และตัวอย่างบางตัวอย่างก้มีความเยิ่นเย้อเกินไป อ่านแล้วดูสับสนพอสมควร จะสังเกตเห็นว่า Leedy พยายามจูงใจผู้อ่าน เพื่อเชื่อมโยงไปสู่ใน chapter  ต่อๆไปพอสมควร ในประเด็นของสถิติ และการเขียนรายงานการวิจัย ซึ่งเขาได้เขียนรายละเอียดไว้ในบทท้ายๆของหนังสือเล่มนี้

  กล่าวโดยสรุปแล้ว เนื้อหาในส่วนที่1 นี้ยังไม่มีความแตกต่างจากสิ่งที่เคยเรียนหรือรู้เห็นมาก่อนมากนัก แต่ลีลาการเขียนและยกตัวอย่าง พร้องแสดงภาพประกอบบางส่วนในเนื้อหา ทำให้ผู้อ่านมีความเข้าใจในเนื้อหามากขึ้น


   แหล่งที่มา :Practical research: Planning and design

PD Leedy, JE Ormrod - 2005 - websteronlinemba.org

โหลดเอกสารประกอบได้ที่ลิงค์ข้างล่างครับ

http://lecturer.ukdw.ac.id/othie/54963030-Res531-Practical-research-planning-design-Leedy-9th-Ed.pdf


คำถามชวนคิด ???


1. การทำ poll เช่น สวนดุสิตโพล์ เป็น การวิจัยหรือไม่ เพราะเหตุใด

ก่อนอื่นคงต้องย้อนกลับไปทบทวนก่อนครับ ว่างานวิจัย คืออะไร

งานวิจัย คืออะไร?

งานวิจัย คือ การศึกษาอย่างเป้นระบบเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งจุดตั้งต้นของการวิจัย ต้องเริ่มจาก คำถาม หรือ ปัญหาการวิจัย ต้องมีนัยยะในการศึกษา และต้องมีกระบวนการวางแผน เป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งอาจต้องมีการคิดเป็นระบบ จากคำถามการวิจัย ไปสู่การตั้งสมมติฐาน ซึ่งจำเป็นต้องมีการเก้บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบ เพื่อเป้าหมายในการคลี่คลายหรือ แก้ปัญหาหรือคำถามการวิจัย ที่ผู้วิจัยได้ตั้งไว้แต่แรก ซึ่งลักษณะที่กล่าวมาข้างต้น เป็นการดำเนินการอย่างเป็นวงจร ที่เรียกว่า Research cycling หรือบางทีอาจเป็น เกลียว (helical) แบบงาน PAR เป็นต้น

การทำโพล (Poll) ไม่ใช่ "การวิจัย"

หากดูอย่างผิวเผิน จะพบว่าการทำโพลในปัจจุบันนี้ มีลักษณะที่ค่อนข้างเป็นระบบและมีความเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้นซึ่งทำให้บางคนเข้าใจคลาดเคลื่อนว่ามีลักษณะคล้ายกับ "การวิจัยเชิงสำรวจ" อย่างไรก็ตาม โพลกับการวิจัยเชิงสำรวจยังคงมีความแตกต่างกันในหลายลักษณะ

1. การทำโพลไม่จำเป็นต้องตรวจสอบนัยสำคัญของประเด็น

หากพิจารณาในความเป็นศาสตร์ที่มีกระบวนการที่ชัดเจนในตนเอง กล่าวคือโพลเริ่มจากการคาดคะเนว่า คนส่วนใหญ่คิดกับเรื่องราว หรือปรากฏการณ์หนึ่ง ๆ อย่างไร โดยที่ปรากฏการณ์นั้น ๆ อาจจะมีผลกระทบหรือ"ไม่มี"ผลกระทบต่อสังคมโดยรวมก็ได้ จากนั้นจึงอาศัยหลักการที่มีความน่าเชื่อถือเข้าช่วยเช่น เทคนิคและกระบวนการเกี่ยวกับการสร้างเครื่องมือการสุ่มกลุ่มตัวอย่าง การเก็บรวบรวมข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูล และการเสนอผลการกำหนดประเด็นหรือปัญหาของโพลที่จะทำการสำรวจ จึงเป็นเสมือนเพียงการยืนยันในคำตอบที่คาดเดาไว้แล้วซึ่งไม่จำเป็นต้องตรวจสอบนัยสำคัญของประเด็น

แต่การวิจัย จำเป็นต้องมีการตรวจสอบนัยสำคัญของประเด็นที่จะศึกษา (essence of research) ซึ่งการวิจัยจะต้องทำไปเพื่อวัตถุประสงค์จะทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทั้งที่เป็นปัญหาและไม่เป็นปัญหา ตลอดรวมถึงการหาหนทางที่สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เหล่านั้นได้ ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์อย่างมีตรรก ซึ่งก่อนจะทำการวิจัย ผู้วิจัยจะต้องผ่านกระบวนการอ่านและคัดกรองทั้งจากทฤษฎี ประสบการณ์ วรรณกรรมต่าง ๆตลอดจนข้อเสนอแนะจากการวิจัยที่ผ่าน ๆ มาเสียก่อน เพื่อตรวจสอบให้ได้ว่าหัวข้อหรือประเด็นนั้น มีนัยสำคัญเพียงพอที่จะดำเนินการวิจัยได้ จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการการวิจัยอย่างแท้จริง

2.การสนับสนุนทางวิชาการ

จะพบว่า โพลไม่ต้องการการสนับสนุนเชิงวิชาการมากนัก และบางที่ไม่ต้องการการสนับสนุนเชิงวิชาการใดเลยกล่าวคือ โพลสะท้อนเฉพาะคำตอบของความคิดเห็นของประชาชนต่อประเด็นหรือปัญหาหนึ่งๆ ณ ช่วงเวลาหนึ่งๆเท่านั้น ในทางตรงกันข้ามการวิจัย ที่จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการสนับสนุนเชิงวิชาการ"สูง" สามารถตรวจสอบได้ และมีความน่าเชื่อถือในการนำไปใช้ในสถานการณ์จริง ๆ ได้ ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า ในการทำโพลจะไม่มีการทบทวนวรรณกรรม แนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องเหมือนกับการวิจัย ผลที่ตามมาก็คือ การนำผลไปใช้โพลอาจมีขอบเขตการนำไปใช้แคบกว่าการวิจัย

กล่าวโดยสรุปแล้ว ถ้าดูจากหนังสือของ Leedy,1993 หน้า 1-6 ใน Part I จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า การทำโพล ไม่ใช่งานวิจัย Poll เป็นเพียงแค่การรวบรวมข้อมูล (หนังสือใช้ค่าว่า information gatering) และการจัดกระทำข้อมูลให้มีความตื่นตาตื่นใจ เร้าใจ (research is not a catchword used to get attention)ซึ่งลักษณะดังกล่าว ยังไม่มีความลุ่มลึก ขาดองค์ประกอบทางวัยชาการ นัยสำคัญของปัญหาที่จะศึกษา และขาดทฤษฏีและแนวคิดทางวิชาการมาเป้นองค์ประกอบ ทำให้ผลที่ได้มีความน่าเชื่อถือน้อยกว่าการวิจัย ครับ ^_^

2. ให้ยกตัวอย่างของการเขียน ปัญหาการวิจัย ที่แยกเป็น ปัญหาหลัก และปัญหารอง จากตัวอย่างของการวิจัยทางพฤติกรรมศาสตร์ และบอกหลักของการเขียน

ปัญหาการวิจัยหลัก (Primary Research Question) เป็นปัญหาที่นักวิจัยสนใจและต้องการคำตอบมากที่สุด จะเป็นตัวกำหนดรูปแบบการวิจัย ประชากร และการวิเคราะห์ทางสถิติที่เหมาะสม โดยส่วนมากจะมีเพียง1-2 ปัญหา

ปัญหาการวิจัยรอง (Secondary research Question) เป็นปัญหาที่นักวิจัยสนใจและต้องการคำตอบเช่นเดียวกันแต่มีความสำคัญรองลงมา ซึ่งอาจมีมากกว่าหนึ่งปัญหาก็ได้ ทั้งนี้การวิจัยแต่ละครั้งอาจไม่สามารถตอบคำถามของปัญหาการวิจัยรองทั้งหมดก็เป็นได้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและข้อจำกัดในแต่ละการศึกษา

ตัวอย่างปัญหาการวิจัยทางพฤติกรรมศาสตร์

ในการวิจัยของตนเองเรื่อง “การพัฒนารูปแบบความสัมพันธ์เชิงสาเหตุและผลของโปรแกรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากและดัชนีอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น”

คำถามการวิจัยหลัก(Primary Research Question)  ในกรณีนี้มี 2 ปัญหาการวิจัย ที่ต้องการคำตอบ คือ

1.อะไรคือปัจจัยเชิงสาเหตุที่มีอิทธิพลหลักในการทำนายพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากของวัยรุ่นตอนต้นและดัชนีอนามัยช่องปาก 

2.ประสิทธิผลของโปรแกรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากและดัชนีอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้นเป็นอย่างไร

จากการที่ผู้วิจัยมีปัญหาการวิจัย 2 ปัญหาข้างต้น ทำให้เป็นตัวกำหนดรูปแบบการวิจัยทำให้มีการวิจัยเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เป็นการวิจัยเชิงสหสัมพันธ์เพื่อหาคำตอบของปัญหาที่ 1 และการวิจัยระยะที่ 2 เป็นการวิจัยเชิงทดลองเพื่อหาคำตอบของปัญหาการวิจัยที่ 2

คำถามการวิจัยรอง(Secondary research Question) เช่น

1. ปฏิสัมพันธ์ร่วมระหว่างปัจจัยการรับรู้ ปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญบางประการ และโปรแกรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปาก ที่มีต่อพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากและดัชนีอนามัยช่องปาก เป็นอย่างไร

2. มีการเปลี่ยนแปลงการรับรู้ความสามารถของตนเองหรือการการควบคุมตนเองเกิดขึ้นภายหลังนักเรียนได้รับโปรแกรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากหรือไม่อย่างไร

หลักการเขียนปัญหาการวิจัยที่ดี

การกำหนดปัญหาการวิจัย ถือเป็นขั้นตอนแรกและขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในการทำงานวิจัย เนื่องจากการกำหนดปัญหาการวิจัยที่ชัดเจนและดี ทำให้นักวิจัยสามารถกำหนดรูปแบบ วิธีการวิจัย และการดำเนินการวิจัยได้อย่างเหมาะสมตรงประเด็นและเสร็จตามกำหนดระยะเวลา และสามารถสรุปและนำผลการวิจัยไปประยุกต์ใช้เพื่อเป็นประโยชน์ทางวิชาการ หรืออื่นๆ  ซึ่งหลักการเขียนปัญหาของงานวิจัยที่ดีควรมีดังนี้

1.ควรระบุปัญหาการวิจัยหลักให้มีความจำเพาะและชัดเจน 

2. ควรเป็นปัญหาที่ผู้วิจัยมีความสนใจและคำตอบที่ได้มีความสำคัญหรือมีประโยชน์ต่อคนโดยทั่วไป คำตอบที่ได้จากการวิจัยมีอิทธิพลต่อปัญหาหรือสามารถเปลี่ยนแปลงแนวคิดหรือการปฏิบัติโดยทั่วๆไปได้

3. เป็นปัญหาที่นักวิจัยสามารถหาคำตอบได้ คือ มีความเป็นไปได้ในการสร้างและดำเนินการวิจัย มีหลักฐานทางทฤษฎีและวิชาการสนับสนุนเพียงพอ

4. เป็นปัญหาที่มีการพิจารณาอย่างรอบคอบทางจริยธรรมในการวิจัยแล้ว ว่าปัญหานั้นไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีและการวิจัยทำให้เกิดประโยชน์มากกว่าโทษต่อบุคคลอื่น

================================

3. ในการตั้งสมมติฐาน ถ้าผู้วิจัยตั้งสมมติฐานจาก ทบ. และ ตั้งจากผลการวิจัยในอดีต การทำแบบใดดีกว่า หรือด้อยกว่า เพราะเหตุผลใด

สมมติฐานการวิจัย คือ  สิ่งที่คาดคะเนอย่างมีเหตุผลว่าจะเป็นคำตอบของการวิจัย ซึ่งที่มาของสมมติฐานการวิจัยอาจมาจากหลายวิธี เช่น การทบทวนวรรณกรรม ประสบการณ์ การสังเกต ทั้งนี้ สำหรับที่มาที่ได้จากการทบทวนวรรณกรรม เราอาจแบ่งได้ อีก 2 แบบ คือ

1. สมมติฐานที่ตั้งจากแนวคิดทฤษฏี และ 

2. สมมติฐานที่ได้มาจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง 

ความแตกต่างของแหล่งที่มาของสมมติฐานทั้งสอง มีดังนี้

สมมุติฐานที่ได้มาจากทฤษฎี เป็นกระบวนการที่ได้มาแบบนิรนัย (Deduction) เป็นการทดสอบทฤษฎีกับสภาพความเป็นจริงในสังคมว่ายังใช้ได้หรือไม่ เหมาะสมกับบริบทสังคมสิ่งแวดล้อมนั้นหรือไม่ ส่วนสมมติฐานที่ได้จากผลการวิจัยในอดีต หรือข้อมูลเชิงประจักษ์อื่นๆนั้น เรียกว่ามาด้วยวิธีอุปนัย (Induction) เป็นข้อเสนอของทฤษฎี ซึ่งถ้าได้รับการพิสูจน์ยืนยันด้วยการวิจัยว่าเป็นจริงหลายๆครั้ง จะนำไปสู่การสร้างทฤษฎีใหม่ได้

แบบใดดีกว่ากัน????

การตั้งสมมติฐานทั้งสองวิธีนี้ต่างก็มีข้อดีและข้อด้อยด้วยกันทั้งคู่ สมมุติฐานที่ได้มาจากทฤษฎีที่ได้มาแบบนิรนัย (Deduction) นั้น เป็นสมมติฐานที่น่าจะแน่นอนแม่นยำกว่า แต่ก็มิได้ให้เนื้อหาอะไรที่ใหม่ไปกว่าเนื้อหาในทฤษฎีบทที่กล่าวอ้าง เนื่องจาก เป็นเพียงการดึงเอาสิ่งที่แฝงอยู่ในทฤษฎีบทออกมาให้ปรากฏชัด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการตั้งสมมติฐานที่มาจากทฤษฎีแบบนี้จะไม่มีประโยชน์หรือคุณค่าอะไร เพราะมีอยู่บ่อยครั้งที่ทฤษฎีหรือแนวคิดต่างๆที่ซับซ้อนมีข้อมูลที่มีคุณค่าแฝงอยู่ จำเป็นที่จะต้องดึงออกมาให้เห็นชัดด้วยวิธีนิรนัย 

ส่วนสมมติฐานที่ได้มาจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ที่ได้มาจากวิธีการอุปนัย(Induction) นั้น แม้จะเป็นเพียงการคาดหมายและไม่ให้ข้อสรุปที่แน่นอนตายตัว แต่ก็ให้ความรู้ใหม่เพิ่มเติมจากที่มีอยู่ในทฤษฎีและแนวคิดต่างๆ ซึ่งก็มีประโยชน์มากเช่นกัน          การตั้งสมมติฐานทั้งสองแบบนี้ จึงมีข้อดีข้อเสียต่างกัน จะบอกว่าวิธีหนึ่งดีกว่าอีกวิธีหนึ่งคงไม่ได้ เราต้องเลือกใช้ให้เหมาะสม ในการแสวงหาคำตอบของงานวิจัยที่เราสนใจ ต้องอาศัยวิธีการตั้งสมมติฐานทั้งสองวิธีนี้เป็นสำคัญ บางครั้งอาจใช้วิธีนิรนัยอย่างเดียว บางครั้งอาจใช้วิธีอุปนัยอย่างเดียว แต่บางครั้งก็ใช้ทั้งสองวิธีนี้ร่วมกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการวิจัยใหม่ๆที่ต้องการแสวงหาความรู้ที่มีความยุ่งยากซับซ้อนมากๆ

4. การกำหนดข้อตกลงเบื้องต้นของการวิจัยทำอย่างไร จำเป็นหรือไม่ ให้ยกตัวอย่างงานทางพฤติกรรมศาสตร์ ประกอบการอธิบายว่าทำได้เหมาะสมหรือไม่

ข้อตกลงเบื้องต้น (assumption) เป็นข้อความที่แสดงถึงสิ่งที่เป็นจริงอยู่แล้วโดยไม่ต้องนำมาพิสูจน์อีก และการเขียนข้อตกลงเบื้องต้นมีประโยชน์ที่จะช่วยให้ผู้อ่านและผู้วิจัยมีความเข้าใจตรงกันในประเด็นที่อาจเป็นปัญหาในการดำเนินการวิจัย และข้องใจในผลการวิจัย 

ทำอย่างไร????

ข้อตกลงเบื้องต้นอาจมาจากหลักการ ทฤษฎี หรือผลการวิจัยอื่นๆ เช่น การกำหนดข้อตกลงเบื้องต้นว่า “คำตอบของกลุ่มตัวอย่างนั้น ถือว่าเป็นคำตอบที่ตรงกับความรู้สึกที่แท้จริง” เป็นต้น เพราะถ้าไม่เชื่อว่ากลุ่มตัวอย่างจะตอบตรงความคิดหรือความรู้สึกที่เป็นจริงแล้ว ข้อมูลที่ได้จะขาดความตรง ผลการวิจัยก็จะไม่เกิดประโยชน์ 

จำเป็นไหม???

การกำหนดข้อตกลงเบื้องต้น (Assumption) มีความจำเป็น เนื่องจากเป็นการทำให้นักวิจัยและผู้อ่านงานวิจัยเกิดความชัดเจน เกี่ยวกับมุมมองของนักวิจัยในการใช้เครื่องมือต่างๆ สำหรับการวิจัย เช่น การใช้เครื่องมือในการเก็บข้อมูล การใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูล ว่านักวิจัยมีความเชื่อในสิ่งที่เป็นฐานคิดว่าอย่างไร 

ตัวอย่างงานวิจัยทางพฤติกรรมศาสตร์

ตัวอย่างงานทางพฤติกรรมศาสตร์ เช่น การศึกษาปรากฎการณ์ภาวะใกล้ตายของผู้ป่วยระยะสุดท้ายโดยผู้วิจัยเลือกใช้การเก็บข้อมูลโดยการสังเกตแบบมีส่วนร่วม และตั้งข้อตกลงเบื้องต้น(Assumption) ว่าสิ่งที่ผู้วิจัยได้รู้สึก ได้สัมผัส เป็นตัวแทนของคำตอบของคำถามที่ผู้วิจัยค้นหา เพราะผู้วิจัยมีฐานคิดว่า “reality” อยู่ที่ความเชื่อ ความคิด ของผู้ให้ข้อมูล ดังนั้นการได้ข้อมูลต้องเข้าไปสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกับผู้ให้ข้อมูล ต้องไปเข้าใจวิธีคิดของผู้ให้ข้อมูล เป็นต้น

ทั้งนี้ มีคำที่ใกล้เคียงกัน คือ “ขอบเขตการวิจัย” ซึ่ง ขอบเขตของงานวิจัย( boundary of research problem ) เป็นการบอกลักษณะของขอบเขตของการวิจัย ประกอบด้วย ขอบเขตด้านกลุ่มตัวอย่างหรือ กลุ่มผู้ร่วมวิจัย ที่ต้องระบุว่ามีลักษณะเช่นใด เกี่ยวกับ ชาติพันธุ์ เพศ เศรษฐกิจและสังคมที่จะทำให้ผู้อ่านงานวิจัย หรือนักวิจัยเองทราบว่า การตีความข้อค้นพบหรือ ผลจากการวิจัย ทำภายในขอบเขตเช่นไร การตีความต้องอยู่บนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทฤษฎีนั้น 

================================

5. ให้อธิบายพร้อมยกตัวอย่างงานวิจัยทางพฤติกรรมศาสตร์ว่า วิธีวิทยาการวิจัย มีหน้าที่ ใน “ตีความข้อมูล” อย่างไร

วิธีวิทยาการวิจัย (Research Methodology) คืออะไร??

วิธีวิทยาการวิจัย (Research Methodology) หมายถึง ขั้นตอนในการวิจัย ได้แก่ การกำหนดปัญหาการวิจัย การศึกษาและรายงานเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย การกำหนดสมมติฐานการวิจัย การกำหนดกลุ่มประชากรและการเลือกกลุ่มตัวอย่าง การสร้างเครื่องมือวิจัย การรวบรวม การนำเสนอ การวิเคราะห์ และการแปลความหมายผลการวิเคราะห์ข้อมูล

ซึ่งวิธีวิทยาการวิจัย อาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ 

1. การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research)  อธิบายความหมายของข้อมูลที่รวบรวมได้โดยวิธีการอุปมาน (Inductive) เป็นการสรุปจากส่วนย่อยไปหาส่วนใหญ่ ประมวล รวบรวมข้อมูลทั้งหมด แล้วเรียบเรียงให้เป็นภาพที่ชัดเจน

2. การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้โดยวิธีการทางสถิติ ตัดเอาประเด็นที่ค่าสถิติต่ำกว่าเกณฑ์กำหนดออกไป จากส่วนใหญ่จะเหลือส่วนย่อย เป็นลักษณะนิรนัย (Deductive)

งานวิจัยทางพฤติกรรมศาสตร์ ก็เป็นเช่นเดียวกับงานวิจัยโดยทั่วไป กล่าวคือ มีวิธีวิทยาการวิจัยทั้งแบบ

การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research)  เช่น การศึกษาพฤติกรรมของผู้ป่วยในสภาวะใกล้ตายในแผนกผู้ป่วยระยะสุดท้าย หรือ วิธีวิทยาการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) เช่น การพัฒนารูปแบบความสัมพันธ์เชิงสาเหตุและผลของโปรแกรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากและดัชนีอนามัยช่องปากของวัยรุ่นตอนต้น ซึ่งวิธีวิทยาการวิจัยที่มีความแตกต่างกันนั้น ทำให้ “การตีความข้อมูล (Interpretation)” ย่อมมีความแตกต่างกันด้วย ทั้งนี้ วิธีวิทยาการวิจัยเชิงคุณภาพ ดังตัวอย่างที่กล่าวข้างต้น มักใช้วิธีการสรุป “ตีความข้อมูล” โดยการพรรณนาปรากฏการณ์ที่ศึกษาอย่างรอบด้าน ส่วนตัวอย่างที่ใช้วิธีวิทยาการวิจัยเชิงปริมาณ จะใช้วิธีการทางสถิติเป็นหลัก โดยเฉพาะสถิติอ้างอิง และมุ่ง “ตีความข้อมูล”ตามค่าวิเคราะห์ที่ได้

===================================

6. ให้ยกตัวอย่างพร้อมทั้งอธิบายประโยชน์ของคอมพิวเตอร์และซอฟท์แวร์ในฐานะที่เป็นเครื่องมือใหม่ๆ ของการวิจัยทางพฤติกรรมศาสตร์ที่น่าสนใจ ตัวอย่างที่ยกมานี้ต้องไม่ใช่ซอฟท์แวร์วิเคราะห์ข้อมูลและไม่ซ้ำกันกับที่ระบุไว้ในหนังสือ

ประโยชน์ของคอมพิวเตอร์และซอฟท์แวร์นอกจากที่กล่าวถึงในหนังสือของ Leedy ซึ่งได้แก่การค้นหาข้อมูลผ่านระบบอินเตอร์เน็ต www, การใช้อีเมล์ในการติดต่อสื่อสาร, การอ่าน NEWS ต่างๆ รวมถึงนำคอมพิวเตอร์และโปรแกรมสถิติต่างๆ เช่น SPSS ,Epiinfo,LISREL ในการวิเคราะห์ข้อมูล

นอกจากประโยชน์ดังกล่าวที่เขียนไว้ในหนังสือแล้ว ในปัจจุบัน พบว่าคอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาทในฐานะเครื่องมือใหม่ๆของการวิจัยทางพฤติกรรมศาสตร์ ตัวอย่างเช่น

1. ช่วยในการเก็บรวบรวมข้อมูล โดยลักษณะการใช้แบบสอบถามออนไลน์ ซึ่งในปัจจุบันมีหลายเวบไซต์ให้บริการในการสร้างแบบสอบถามออนไลน์ได้ อย่างเช่น surveymonkey.com esurveyspro.com หรือ polldaddy.com เว็บไซต์พวกนี้ นักวิจัยสร้างแบบสอบถามได้ฟรี แต่ว่าจะไม่ยอมให้คุณ export ข้อมูลออกมาแบบฟรีๆ แต่ถ้านักวิจัยต้องการแบบฟรี อาจใช้บริการของ GoogleDoc ก็ได้

2. ใช้ในการสรุปรวบยอดความคิด สร้าง Concept ในการวิจัย เช่น โปรแกรมแผนที่ความคิด Mind Map, MindHelper เป็นต้น

3. ใช้ในการนำเสนอข้อมูลวิจัยที่น่าสนใจและน่าดึงดูด เช่น การใช้ Pages หรือ Keynote ในการนำเสนอรายงานการวิจัยในที่ประชุมวิชาการต่างๆ การใช้โปรแกรม Adobe Illustrator ในการสร้างโปสเตอร์นำเสนอการวิจัยที่สวยงามน่าดึงดูด

4. ใช้ในการแลกเปลี่ยนไฟล์และส่งข้อมูลทางวิชาการผ่านระบบ Clound ซึ่งระบบ Clound Application นี้ มีมาสักระยะหนึ่งแล้ว นักวิจัยอาจใช้ DropBox, iCloud ในการแลกเปลี่ยน Material ในการวิจัย ส่งผ่านข้อมูลระหว่างทีมวิจัย และประโยชน์อื่นๆ

5. ช่วยในการแปลเอกสารต่างประเทศ ซึ่งในสมัยก่อนนักวิจัยไทยบางคนอาจมีอุปสรรคในการอ่าน journal หรือ Text ภาษาต่างประเทศ แต่ในปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีแปลภาษาที่มีมากมาย และมีความถูกต้องในการแปลมากยิ่งขึ้น เช่น Google translate ทำให้นักวิจัยสามารถอ่านหนังสือและบทความต่างประเทศดีๆได้เข้าใจแล้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

6. ใช้ในการหาหนังสือ E-book ดีๆ ซึ่งในสมัยก่อนก่อรอ่าน TextBook ดีๆสักเล่มเป้นเรื่องที่ยากมาก และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายที่สูง ในปัจจุบัน ถ้านักวิจัยรู้จักการใช้ e-Book - Google การดาวโหลด หนังสือดีๆ มาอ่านก้ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป นอกจากนี้ฐานข้อมูลทางวิชาการดีๆที่ฟรี เช่น Google Scholar ก็ยังเปิดโอกาสให้นักวิจัยสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์จาก journal ที่ทาง google ซื้อไว้อย่างฟรีๆได้

7. ใช้ในการติดต่อสื่อสารและสร้างสังคมออนไลน์ นักวิจัยสามารถใช้โปรแกรมเพื่อสร้างสังคมการสื่อสารวิจัยออนไลน์ด้วย Application ต่างๆ มากมาย เช่น Facebook ,Twitter, Line ซึ่งโปรแกรมต่างๆเหล่านี้ ทำให้ผู้วิจัยสามารถสื่อสารกับ ผู้ช่วยวิจัย นักวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นเพียงบางส่วนของการนำคอมพิวเตอร์และซอฟท์แวร์มาใช้ในการวิจัย ยังมีประโยชน์อีกมากที่ไม่ได้กล่าวถึงในที่นี้ ซึ่งผู้วิจัยสามารถไปประยุกต์ใช้กับงานวิจัยของตนเองได้หากมีความสนใจ

===================================

7. เพราะเหตุใดในหนังสือจึงระบุว่า “เพียงแค่สังเกตพฤติกรรมของบุคคลในสถานการณ์หนึ่ง ไม่ใช่การวัด” ให้ยกตัวอย่างจากงานวิจัยทางพฤติกรรมศาสตร์ประกอบการอธิบาย

การสังเกตพฤติกรรม ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งในการวิจัยทางพฤติกรรมศาสตร์ เพื่อศึกษาเหตุการณ์,ปรากฏการณ์ และ พฤติกรรมของมนุษย์  แต่การสังเกตจะ”ไม่ใช่เป็นการวัด”เลย หากผู้วิจัยเพียงแค่สังเกตพฤติกรรมมนุษย์ในสถานการณ์หนึ่งเท่านั้นโดยปราศจากการวางแผนจัดระเบียบการสังเกต เพราะการที่การสังเกตจะเป็นเครื่องมือในการวัดในการวิจัยนั้น การสังเกตพฤติกรรมของบุคคลดังกล่าว ต้องมีจุดมุ่งหมายในการสังเกตที่ชัดเจน ว่าจะสังเกตพฤติกรรมอะไรโดยควรจะต้องกำหนดลักษณะพฤติกรรมที่ต้องการจะสังเกต และวิธีการบันทึกหรือการให้คะแนนให้แน่นอนชัดเจน เพื่อในกรณีที่มีผู้สังเกตมากกว่า 1 คน เมื่อเห็นพฤติกรรมที่บุคคลนั้นแสดงออก จะได้บันทึกตรงกันทันทีว่าเป็นพฤติกรรมที่ต้องบันทึกลงไปหรือไม่ ตัวอย่างงานวิจัยทางพฤติกรรมศาสตร์ เช่น ถ้าเราต้องการศึกษาพฤติกรรม “การลุกจากที่นั่งในชั้นเรียน” เราอาจต้องกำหนดลักษณะพฤติกรรมที่ต้องการสังเกต ดังนี้

“การลุกจากที่นั่งในชั้นเรียน คือ ลักษณะพฤติกรรมที่ก้นของนักเรียนไม่ได้อยู่ติดกับเบาะของเก้าอี้ รวมทั้งการเคลื่อนไหวที่ออกจากสภาพเดิมของโต๊ะและเก้าอี้ด้วย”

การกำหนดพฤติกรรมการลุกนั่งในชั้นเรียนที่ชัดเจนอย่างนี้ ทำให้ผู้สังเกตไม่ว่าคนใดก็ตาม เมื่อเห็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจะสามารถบอกได้ทันทีว่าเป็นพฤติกรรมการลุกจากที่นั่งหรือไม่

ทั้งนี้ลักษณะการบันทึกพฤติกรรมที่ได้จากการสังเกต อาจทำได้หลายวิธี เช่น บันทึกขนาดและคุณภาพ บันทึกช่วงเวลา บันทึกความถี่ และบันทึกชนิดของพฤติกรรม ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ สรุปได้ว่า การสังเกตพฤติกรรมของบุคคลในสถานการณ์หนึ่ง ต้องมีการระบุชนิดของพฤติกรรมที่ชัดเจน และรูปแบบการบันทึกการสังเกต เกณฑ์ที่ให้คะแนนให้ชัดเจน เพื่อให้ข้อมูลที่ได้จากการสังเกต เป็นส่วนหนึ่งของการวัดพฤติกรรม ซึ่งเป็นกระบวนการหนึ่งในการเก็บรวบรวมข้อมูลในการวิจัยทางพฤติกรรมศาสตร์

8.ให้อภิปรายและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นที่กล่าวถึงในหนังสือว่า งานวิจัยที่ใช้สถิติหรูหราอลังการไม่สามารถชดเชยความอ่อนด้อยของแนวคิดที่เป็นรากฐานของงานวิจัยนั้น

ในหนังสือของ Leedy เปรียบเปรยการใช้สถิติกับการวิจัย กับการทำงานช่างและเครื่องมือช่าง เช่น เราจะตอกตะปู ก็ต้องใช้ค้อน จะเซาะร่องไม้ก็ต้องใช้ลิ่ม จะติดไม้สองชิ้นก็ต้องใช้น้อตกับสกรู ซึ่งหมายความว่า เราจะทำงานอะไรก็ต้องเลือกเครื่องมือให้มีความเหมาะสม หากเลือกเครื่องมือถูกงานที่ดีก็จะเกิดขึ้นได้ การวิจัยก็เช่นกัน หากเลือกใช้สถิติที่เหมาะสมก็จะสามารถวิเคราะห์และแปรผลข้อมูลได้ถูกต้อง แต่อย่างไรก็ตาม สถิติก็เป็นเพียง “เครื่องมือ” ที่ต้องถูกเลือกมาใช้จาก “ผู้วิจัย” ที่มีความรู้ความเข้าใจในการใช้

ยกตัวอย่าง ให้ผู้อ่านเข้าใจมากขึ้น ผมขอเปรียบเทียบการทำงานวิจัยกับการสร้างบ้านหนึ่งหลัง

แบบแปลนบ้าน = กรอบแนวคิดการวิจัย

สถิติ = เครื่องมือช่างต่างๆ

นักวิจัย = ช่างสร้างบ้าน

ต่อให้ช่างมีเครื่องมือหรูหราอลังการแค่ไหน แต่ถ้าออกแบบบ้านมาไม่ดี แบบแปลนผิดๆถูกๆสร้างยังไง บ้านก็ออกมาไม่สวย ก็เปรียบเสมือนงานวิจัย ต่อให้ใช้สถิติชั้นสูงมากแค่ไหน หากพื้นฐานและกรอบแนวคิดยังไม่ถูกต้อง สิ่งที่สถิติวิเคราะห์ออกมาได้ ก็ไม่ได้ทำให้งานวิจัยชิ้นนั้นๆมีคุณค่าขึ้นมาได้ เพราะสถิติก็เป็นแค่  “เครื่องมือ” ที่ตอบคำถามตามกรอบ

คำสำคัญ (Tags): #Planing and Design Chapter I
หมายเลขบันทึก: 511902เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 20:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มกราคม 2013 23:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท