เล่าเรื่องความสำเร็จ ตอน บังเกิดความสำเร็จโดยที่เราไม่รู้


“การทำอะไรแล้วเราเกิดความพึงพอใจได้เราสามารถที่จะเรียกมันว่าความสำเร็จได้”

             เช้าวันนี้ในห้องเรียนที่ผมสอนอยู่เป็นนักศึกษาชั้นปีที่สาม อากาศยามเช้าเย็นพอประมาณแต่ไม่นับว่า “หนาว” ความเย็นอาจจะเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตในหลาย ๆ เรื่อง ที่สำคัญมันอาจส่งผลไปถึงการมาเรียนของนักศึกษาที่รักด้วย นั่นคือการตื่นสายอันจะนำไปสู่การขี้เกียจในเรื่องอื่นๆ ด้วย

             วันนี้หลังจากที่เรา(ผู้สอนและผู้เรียน)ไม่ได้พบกันหลายวัน การพบกันครั้งแรกจึงเป็นการทักทาย ซักถามความเป็นอยู่ซึ่งกันและกัน เช่น “เป็นยังไงบ้าง สบายดีไหม” “หนาวหรือเปล่า” “กินข้าวมาหรือยัง” “วันหยุดยาวเราไม่เที่ยวที่ไหนมาบ้าง” เจ้าคำถามสุดท้ายนี้ ผมได้รับคำตอบอย่างล้นหลาม นักศึกษาต่างไปเที่ยวในที่ต่าง ๆ และได้บรรยายให้เพื่อน ๆ ในห้องเรียนฟังอย่างสนุกสนาน โดยมีคำถามแทรกจากผมบ้างบางครั้งว่า “ไปกับใคร”

              หลังการทักทายสักพัก ผมนึกขึ้นในใจถึงคำ ๆ หนึ่ง “ความสำเร็จ” ผมไม่รู้ว่าคำนี้มันผุดขึ้นในสมองกลวงอันน้อย ๆ ของผมได้อย่างไร ทั้งที่เราไม่ได้พูดคุยหรือสนทนากันในเรื่องดังกล่าวเลย หรือว่าการได้เดินทางไปเที่ยวมันสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จเราได้ อย่างที่เขาเรียกว่า “ความสำเร็จอยู่แค่เอื้อม” หรือ “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั้น” ไอ้เจ้าประโยคหลังนี้ยิ่งดูว่าความสำเร็จยิ่งใหญ่และเป็นเรื่องยากมากเลย และที่สำคัญมันอาจจะทำให้ใครหลายคนไม่อยากจะพูดหรือคิดเรื่องความสำเร็จไปเลย

              “เขาคิดกันอย่างไรน๊า” ผมนั่งครุ่นคิดอยู่แต่เพียงในใจ ความสำเร็จของเขาเป็นอย่างไร? มากมายยุ่งยากแค่ไหน? ลำบากอย่างไร? เขารู้สึกอย่างไรต่อความสำเร็จ?

               ความยากรู้มันทำให้ผมไม่ลังเลที่จะหาคำตอบในข้อสงสัยเบื้องต้น ผมถามด้วยคำถามเบา ๆ ว่า “ใครเคยมีความสำเร็จยกมือขึ้น?” ร่วม ๕๐ ชีวิตที่อยู่ในห้องเริ่มเงียบและสิ้นเสียงใดๆ โต้ตอบกลับมาในคำถามที่ถามไป ผมเปลี่ยนคำถามใหม่เผื่อสถานการณ์จะดีขึ้น “ใครจะเล่าความสำเร็จในชีวิตให้เพื่อนฟัง?” ความเงียบส่งผลให้ผมต้องรบเร้าเอาคำตอบด้วยการถามซ้ำๆ อยู่หลายหน ในขณะที่ผมกำลังจะเปลี่ยนคำถามอีกรอบพลันมีเสียงสอดแทรกขึ้นมาว่า “หนูจะเล่าได้อย่างไร หนูกำลังเรียน ยังไม่ได้ทำงาน ยังไม่มีความสำเร็จใดๆ เลยในชีวิต” เสียงตอบนี้มาพร้อมๆ กับเสียงสนับสนุนที่กระหึ่มราวกับเสียงเชียร์แกนนำ นปช. หรือ พันธมิตร

              สิ้นเสียงตอบเล่นเอาผมหยุดชะงักไปชั่วครู่ “เราพลาดแล้ว?” ในใจน้อยๆ

              พลันเสียงแหลมเล็กน้อยสอดแทรกขึ้นมาในโสตประสาท “อาจารย์? ความสำเร็จเป็นเรื่องยิ่งใหญ่และยากมากที่เราจะได้มันมาและหนูก็กำลังพยายามที่จะคว้ามันมาให้ได้ในชีวิตของความเป็นคนนี้” ผมตอบไปเพื่อสร้างความรู้สึกที่ดีจากหัวใจว่า “ครูขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จ และพบกับมันทุกลมหายใจนะสาธุ? กันทั่วหน้าเสียงดังฟังชัด

                หลังเลิกงานสอนในท้ายชั่วโมงผมได้มานั่งคิดกับคำว่าความสำเร็จ “มันยิ่งใหญ่และยุ่งยากอย่างนั้นจริงหรือ?” สิ่งที่ผมได้คำตอบคือการให้คำนิยามของความสำเร็จเป็นกุญแจที่สำคัญมากในการตัดสินความสำเร็จของแต่ละคน เมื่อเปรียบเทียบกับคนส่วนใหญ่แล้วผมว่านิยามของเขาใหญ่และยากมาก ในขณะที่นิยามของผมให้ความสำเร็จเพียงง่าย ๆ แค่ “การทำอะไรแล้วเราเกิดความพึงพอใจได้เราสามารถที่จะเรียกมันว่าความสำเร็จได้” เช่น วันนี้ผมก็มีความสำเร็จที่สามารถหายใจอยู่จนครบ ๑ วัน ความสำเร็จจากการมีชีวิตรอดจากการเกิด ความสำเร็จในการขับรถมาทำงานจนถึงที่ทำงานได้อย่างปลอดภัย เป็นต้น ซึ่งหากจะว่าไปแล้วไอ้ความสำเร็จของผมนี้ “มันอยู่กับเราทุกลมหายใจ”

                 สิ่งที่เป็นสาระของข้อเขียนของผมนี้อาจจะไม่ถูกต้องหรือตรงกับความคิด ความรู้สึกของใครหลายคน แต่ผมเชื่อว่า ความสำเร็จนั้น ๆ เป็นสิ่งสำคัญที่เป็นรางวัลให้เราวิ่งไปคว้ามันมา ส่งผลให้เราได้ตามเป้าหมายของเรา เช่น เราต้องเรียนให้จบปริญญาตรีคือเป้าหมายในชีวิต ทุกคนก็จะวิ่งเข้าหาเพื่อคว้าความสำเร็จนั่นมา ความสำเร็จมันจึงเป็นเครื่องมือหรือแรงเสริมชีวิต แต่หากนิยามความสำเร็จมันสูงเกินไป เราอาจจะตกอยู่ในอำนาจของมันก็เป็นได้ เมื่ออะไรก็ไม่สำเร็จ ชีวิตนี้ก็จะไม่เคยสำเร็จ ไร้ค่าและตัดสินโทษของตัวเองโดยการ......ความเข้าใจและการให้นิยาม “ความสำเร็จ” เป็นเป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้การตั้งคำถามว่าสำเร็จหรือไม่สำเร็จ

หมายเลขบันทึก: 511884เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 17:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 ธันวาคม 2012 23:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

การหยิบยกเอาความสำเร็จมานำพา  ถือเป็นระบบและกลไกหลักของการจัดการความรู้เลยทีเดียวครับ  เพราะการเล่าความสำเร็จ  จะทำให้เราผ่อนคลายมากกว่าการเล่าถึงความล้มเหลว  --


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท