ชีวิตที่พอเพียง : ๑๗๐๗. ปิดฉากชีวิตการเป็นประธาน สรพ.



          วันที่ ๒๓ พ. ย. ๕๕ ผมไปร่วมประชุมคณะกรรมการบริหาร สรพ. เป็นครั้งสุดท้าย  เพราะวาระการเป็นประธานของผมจะสิ้นสุดวันที่ ๒๗ พ.ย. ๕๕ เนื่องจากผมมีอายุครบ ๗๐ ปี  พรบ. องค์การมหาชนกำหนดไว้ว่ากรรมการบริหารขององค์การมหาชนห้ามอายุเกิน ๗๐ ปี 

          ผมจึงถือโอกาส AAR การเป็นประธาน สรพ. เสียเลย  ว่าผมเป็นประธาน สรพ. เป็นคนแรก  เพราะเดิมเป็น พรพ. มีฐานะเป็นหน่วยงานในสังกัด สวรส.  มีชื่อย่อว่า พรพ. (สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพสถานพยาบาล)  และมี ศ. นพ. จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธานอยู่ประมาณ ๑๐ ปี  ได้ก่อร่างสร้างสถาบัน และสร้างวัฒนธรรมคุณภาพให้แก่วงการสุขภาพ  และแก่ประเทศไทยอย่างมากมาย 

          ที่จริงเมื่อ ศ. นพ. สงคราม ทรัพย์เจริญ ประธานคณะกรรมการสรรหาโทรศัพท์มาทาบทาม  ผมปฏิเสธท่านแบบไม่อ้อมค้อม  ด้วยเหตุผลว่าผมไม่มีความรู้เรื่องคุณภาพโรงพยาบาล และอายุก็ใกล้ ๗๐ แล้ว  เป็นได้ไม่ครบเทอม  แต่ท่านก็ตัดบทแบบไม่อ้อมค้อมเหมือนกันว่าห้ามปฏิเสธ  คณะกรรมการสรรหาได้พิจารณาอย่างดีแล้ว เลือกผมคนเดียว  โดนผู้ใหญ่ “สั่ง” เช่นนี้ ผมก็หมดทางหนี

          สรพ. เป็นองค์กรที่เข้มแข็งทางวิชาการหรือการสร้างสรรค์ระบบพัฒนาคุณภาพ  เข้มแข็งในการทำงานแบบเครือข่าย  แต่ยังมีส่วนที่ต้องพัฒนาในด้านการจัดการภายใน  คณะกรรมการบริหาร สรพ. ชุดนี้จึงตั้งเป้าเข้าไปช่วยพัฒนาระบบการบริหารจัดการองค์กร ให้เข้มแข็งขึ้น  กรรมการที่เป็นกำลังสำคัญคือ ศ. นพ. ประสิทธิ์ วัฒนาภา 

          คณะกรรมการบริหารชุดนี้ให้วิสัยทัศน์และเป้าหมายที่ชัดเจนมาก  ว่าให้ สรพ. ทำงานพัฒนาและประเมินคุณภาพสถานบริการสุขภาพระดับชุมชน คือ รพสต. ด้วย  เท่ากับมอบงานใหม่ก้อนมหึมาให้แก่ฝ่ายบริหาร  ซึ่งก้มหน้ารับแบบไม่บ่น ไม่แสดงความวิตก ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร  ท่าทีเชิงบวกต่อภารกิจใหญ่หลวงเช่นนี้ นำไปสู่การสร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่  คือ สรพ. ใช้ยุทธศาสตร์ทำงานร่วมกับหน่วยงานในระบบสุขภาพชุมชนนั้นเอง พัฒนาระบบคุณภาพของระบบสุขภาพชุมชนขึ้นมา  ซึ่งหมายความว่าเป็นการร่วมกันพัฒนารากฐานและโครงสร้างระบบคุณภาพของบริการสุขภาพชุมชน  ที่จะต้องใช้เวลาทำงานต่อเนื่องหลายปี 

          สิ่งที่น่าจะจัดทำในช่วงต่อไป คือเขียนแผนยุทธศาสตร์ ๕ ปี ของขบวนการพัฒนาระบบคุณภาพของระบบสุขภาพชุมชน  และทำความตกลงความร่วมมือกับหน่วยงานต้นสังกัด คือกระทรวงสาธารณสุข

          อีกงานหนึ่ง ซึ่งใหญ่โตและไม่ชัดเจน (ผมเป็นคนชอบความไม่ชัดเจน เพราะมันสร้างสรรค์ดี) คือนโยบายทำงานขับเคลื่อนระบบพัฒนาคุณภาพของประเทศ ร่วมกับภาคีที่ทำงานพัฒนาคุณภาพใน sector อื่นของประเทศ  งานนี้ไม่อยู่ในตัวชี้วัดผลงานที่ทำความตกลงกับ กพร.  แต่ผมกลับมองว่ามีคุณค่าต่อบ้านเมืองอย่างยิ่ง

          สังคมไทยเราอ่อนแอจากความคิดหรือเจตคติแบบคับแคบ หรือความเป็นคนใจแคบ (เห็นแก่ตัว) ของคนระดับบริหาร  แย่งชิงผลงาน แย่งซีน กัน  หน่วยงานที่คนเหล่านั้นบริหารจึงทำงานแบบไซโล หน่วยใครหน่วยมัน ไม่ร่วมมือกัน ไม่เอื้อเฟื้อกัน  การทำงานสร้างสรรค์อย่างถึงขนาดจึงเกิดยากในสังคมไทย   ตัวอย่างที่ร้าย (และน่ารังเกียจ) ที่สุด คือพรรคการเมือง   ผลร้ายตกอยู่แก่อนาคตของบ้านเมือง

          ขอโทษครับ!  ที่ทำผิดกติกาการเขียน บล็อก ที่ต้องเน้นเขียนเชิงบวก  ห้ามใช้เป็นที่ด่าคนอื่น

          กลับมาที่ สรพ.  นโยบายของคณะกรรมการบริหาร ที่กำหนดให้ สรพ. ทำงานร่วมสร้างสรรค์ระบบการพัฒนาคุณภาพ ให้แก่สังคมไทย  ได้สร้าง “วัฒนธรรมองค์กร” ให้แก่ สรพ.  ให้เดินแนวทางวัฒนธรรมเครือข่าย  สร้างความร่วมมือรอบด้าน ทั้งภายในประเทศ และในต่างประเทศ

          ขอจารึกไว้ให้คนไทยร่วมกันภาคภูมิใจ ว่าระบบพัฒนาและรับรองคุณภาพสถานบริการสุขภาพของไทย เป็นที่ยอมรับนับถือไปทั่วโลก  เป็นการสร้างเกียรติภูมิของชาติไทยมีสังคมโลก  เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ความเป็น Global Medical Hub ของไทย ได้รับความเชื่อถือ

          ผมมีความสุขใจ ที่ได้มีส่วนร่วมในขบวนการ และในองค์กรที่ทรงคุณค่าแห่งนี้



วิจารณ์ พานิช

๔ ธ.ค. ๕๕


หมายเลขบันทึก: 511867เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 14:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 ธันวาคม 2012 19:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สักวันข้าพเจ้าคงจะได้มีโอกาสจารึก...ความภาคภูมิใจในชีวิตช้าราชการที่ดีของในหลวงกับเขาบ้าง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท