เรื่องดีๆ ของสุรินทร์ที่ไม่เกี่ยวกับสุรา


เรื่องดีๆ ของสุรินทร์ที่ไม่เกี่ยวกับสุรา

เกศินี จุฑาวิจิตร

  “คนสุรินทร์ไม่กินสุรา เป็นเทวดาสุรินทร์”  เป็นคำขวัญที่ถูกโปรยอยู่ทั่วทั้งเมืองในช่วงงานช้างและงานกาชาดประจำปี จุดมุ่งหมายอาจเพื่อแสดงให้เห็น “ภาพลักษณ์ใหม่” ของคนสุรินทร์ที่ห่างไกลจากสุรา คำพังเพยเปรียบเปรยก่อนเก่าประเภท “คนสุรินทร์ชอบกินสุรา” หรือ “ไปสุรินทร์ ต้องกินสุรา” นั้น น่าจะใช้ไม่ได้เสียแล้วกับยุคสมัย

  ความจริงก็คือ เรื่องดีๆ ของสุรินทร์ที่ไม่เกี่ยวกับสุรา มีอีกมาก กิจกรรมที่น่าชื่นชมกิจกรรมหนึ่ง ซึ่งแสดงถึงความใส่ใจในคุณภาพชีวิต คือ ตลาดนัดสีเขียว ที่มีองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์และภาคีเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่เป็นเจ้าภาพหลัก และมีอีกหลายภาคีภายนอกเข้ามีส่วนร่วม รวมทั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

  ทุกเช้าวันเสาร์ของทุกเสาร์ จะมีพ่อค้าแม่ขายนำ พืช ผักสวนครัวและผลไม้มากมายหลายชนิดมาจำหน่าย  ทั้งหมดทั้งมวลล้วนปลอดสารพิษ  ผู้คนเดินกันขวักไขว่  จับจ่ายใช้สอย  ถามไถ่และต่อรองกันด้วยภาษาที่ฟังแปลกแปร่ง  ตัว ร.เรือถูกออกเสียงอย่างชัดเจนแต่เป็นธรรมชาติ   สำเนียงขึ้นลงสูงๆ ต่ำๆ  บางคำออกเสียงสั้น บางคำยาว ...เป็นเสน่ห์ของพื้นถิ่นที่แม้จะฟังไม่เข้าใจทั้งหมด หากก็เพลิดเพลิน 

  โดยผิวเผิน “ตลาดนัดสีเขียว” อาจเป็นแค่การสื่อสารการตลาดและช่องทางการตลาดของผลผลิตทางการเกษตรที่ปลูกโดยไม่ใช่สารเคมี   เป็นสัญญาใจของการพบกันระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค  แต่ถ้าจะพิจารณาอย่างลึกซึ้ง นี่อาจเป็น “สัญญะ” สำคัญของการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่นที่มีความยั่งยืน จัดการได้ ท่ามกลางความหลากหลายและความแข็งแกร่งของวัฒนธรรมทางภาษาและชาติพันธุ์

  นางกัญญา อ่อนศรี ประธานกลุ่มตลาดนัดสีเขียว เล่าให้ฟังว่า การรวมตัวกันของกลุ่มผู้ผลิตเกษตรปลอดภัยหรือเกษตรธรรมชาตินี้ เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 จากกลุ่มเล็กๆ เพียง 6 ครอบครัว ก็ได้ช่วยกันส่งเสริมทั้งโดยการให้ความรู้และโน้มน้าวใจ จนถึงทุกวันนี้มีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการประมาณ  200 ครอบครัว ครอบคลุม 6 อำเภอ  พวกเขาผันตัวเองมาทำเกษตรอินทรีย์ และเป็นสมาชิกของกลุ่มตลาดนัดสีเขียว “แต่ที่เดินทางมาขายที่นี่ทุกวันเสาร์ มีอยู่ประมาณ 80 ครอบครัว ส่วนที่เหลือก็ฝากๆ กันมา”

  สำหรับ การสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคนั้น   นายไกรศักดิ์ วรทัต  ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ ได้กล่าวว่า

  “ในเรื่องของการควบคุมให้พืชผักที่มาขายที่นี่เป็นพืชผัก “สีเขียว” คือมีความปลอดภัยจริงๆ นั้น ทางภาคีเครือข่ายเกษตรอินทรีย์และกลุ่มตลาดนัดสีเขียว ได้ควบคุม ตรวจสอบและดูแลกันเอง  โดยจะมีคณะทำงานออกไปตรวจกันที่แปลงเลย ไม่ว่าสมาชิกเก่าหรือใหม่ก็ต้องทำเหมือนกันหมด และถ้าพบว่าไม่ได้ทำตามกฎกติกา เขาก็จะไม่ให้เข้ามาขายอีก  อันนี้เป็นกฎเหล็กเพราะเขา “ขาย” ความเป็นเกษตรธรรมชาติ ปลอดภัย ไร้สารพิษ จึงต้องทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นให้ได้ ไม่เช่นนั้นก็เหมือนกับตลาดนัดทั่วไป ขายที่ไหนก็ได้” 

  นอกจากการส่งเสริมสนับสนุนเรื่องตลาดนัดสีเขียวแล้ว ทางอบจ.ยังเปิดพื้นที่ทางวัฒนธรรมให้เด็กๆ และเยาวชนได้มาเรียนรู้ แลกเปลี่ยนและแสดงออกอีกด้วย เดือนละสองครั้ง  เป็นพื้นที่ทางกายภาพของตลาดนัดวัฒนธรรม เป็นพื้นที่สาธารณะของการชม ชิมและช้อป ครบสูตรการท่องเที่ยวที่ผู้ผลิต ผู้บริโภค ผู้แสดงและผู้ชม อยู่อย่างมีความสุข

  โดยในวันที่เราไปเยือนนั้นเป็นวันที่มีทั้งตลาดพืชผักและตลาดวัฒนธรรม จึงได้เห็นการแสดงทางวัฒนธรรมทั้งของเก่า ของใหม่และการประยุกต์ประสมประสาน  เห็นสีหน้ายิ้มละไมและประกายตาความสุขของนักแสดงตัวเล็กตัวน้อย เห็นการแสดงร่วมอย่างเป็นหนึ่งเดียวกันของคนต่างวัย เด็กๆ กับ “แม่หมอ” ผู้สูงอายุ ในพิธีกรรมที่เรียกว่า “จวลมะม๊วด” ซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวเขมรสุรินทร์ที่ใช้ดนตรีในการรักษาโรค  กันตรึมและวงปี่พาทย์ได้ถูกบรรเลงด้วยท่วงทำนองที่เร้าใจ เพื่ออัญเชิญองค์เทพ  วิญญาณหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้มาประทับที่ร่างทรงของแม่หมอ  

  นับเป็นความตื่นตาตื่นใจยิ่งของคนต่างถิ่น  แต่สำหรับคนในพื้นที่เอง พวกเขาคิดว่านี่คือการสืบสานเรื่องราวอันเป็นอัตลักษณ์และการส่งต่อความดีงามที่สั่งสมมาจากรุ่นสู่รุ่น หากที่มากไปกว่านั้น พวกเขากำลังคิดหาหนทางการใช้สื่อศิลปวัฒนธรรมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง

  “ปัญหาสำคัญที่เป็นความห่วงใยของคนสุรินทร์วันนี้คือ เรื่องการพนัน มีการพนันกันทุกวัน ทุกสัปดาห์  ตัวเลขกลมๆ ของมูลค่า (ที่เปิดเผย) อยู่ที่ปีละ 15,000 ล้านบาท”  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.ประวัติ สมเป็น อาจารย์ประจำภาควิชาเกษตรและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ และคณะศิลปินพื้นบ้านช่วยกันให้ข้อมูล

  สิ่งที่น่าตกใจ คือ วันรับเบี้ยผู้สูงอายุคือวันของการหักกลบลบหนี้บัญชีหวย  ไม่ใช่ผู้สูงอายุเท่านั้นที่เล่นการพนัน แต่รวมถึงคนหนุ่มสาววัยทำงานด้วย  คนสุรินทร์ไม่ได้มีปัญหาเรื่องการมีงานทำแต่กำลังจะมีปัญหาความยากจนอันเกิดจากการเป็นหนี้... 

  นี่เป็นโจทย์ใหม่ที่คนทำงานด้านสื่อหรือด้านศิลปวัฒนธรรม น่าจะต้องมานั่งคิดกันอย่างจริงจัง   โชคดีที่สุรินทร์มีต้นทุนสูง ศิลปินพื้นบ้าน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคมและท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง  ดังนั้นเราอาจจะต้องมีเวทีที่คนหลายภาคส่วนมาช่วยกันคิด ช่วยกันคุยและลงมือทำ

  ทำอย่างไรให้เมืองสุรินทร์เป็นเมืองต้นแบบการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์  อยากเห็นเมืองสุรินทร์ เป็น “เมืองสื่อสร้างสรรค์”

 

*ขอขอบคุณเรื่องราวดีๆ ที่เกิดจาก workshop ของแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ เมื่อวันที่ 1-2 ธันวาคม ณ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์

หมายเลขบันทึก: 510893เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2012 09:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2012 16:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

“เมืองสื่อสร้างสรรค์”.....ดีจังเลย นะคะ...การสื่อสาร นั้นสำคัญมากๆๆ นะคะ

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท